Title Thumbnail: จาก Pinterest.com และ Hero Image จาก. Facebook เพจ "ท่องไปในอดีต," วันที่เข้าถึง 10 ธันวาคม 2562.
61. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร - พิษณุโลก01, 02
First revision: Nov.14, 2019
Last change: Jan.15, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
พระพุทธชินราช ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่าง ๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ.2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 2 องค์คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา.
พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา" ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500 (หย่อนอยู่ 7 วัน???)
พ.ศ. 2423 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ พงษาวดารเหนือ เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา ซึ่งมีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย
พระพุทธชินราช, ที่มา: Facebook เพจ "ภาพเก่าในอดีต," วันที่เข้าถึง 25 กรกฎาคม 2563.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชจากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่าพระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสนแต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม และช่างผู้สร้างพระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์นั้นเป็นช่างเดียวกัน หากแต่พระศรีศาสดาเป็นช่างอื่นจากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง 3 องค์หรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ชัด และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปี พ.ศ. 1900 มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลว่า "พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแต่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไทย พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"
นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยพิชญา สุ่มจินดา ซึ่งได้กำหนดอายุเวลาของพระพุทธชินราชขึ้นใหม่จากพุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูปจากรูปแบบของเรือนแก้ว โดยเทียบเคียงกับลวดลายบนซุ้มเรือนแก้วที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช อายุเวลาของลวดลายดังกล่าวอาจกำหนดได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากสถาปัตยกรรมของพระวิหาร ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2232)
อย่างไรก็ตามความเห็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนี้คือความเห็นในแนวทางเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เชื่อว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1900 ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
หมายเหตุ :
1. ซุ้มเรือนแก้ว รูปหล่ออาฬวกยักษ์และท้าวเวสสุวัณเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นคนละยุคกับองค์พระโดยเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาโดยสังเกตจากลักษณะลวดลายและลักษณะทางสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีการบูรณะพระพุทธชินราชโดยการเพิ่มอุณาโลมบริเวณพระนลาฏในสมัยหลัง (คาดว่าน่าจะทำขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานการบูรณะเพิ่มเติม)
2. พระพุทธชินราช หล่อด้วยวัสดุทองสำริด ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก มีพุทธลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ พระวรกายสมส่วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเรียบเสมอกัน มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ พระขนงใหญ่ พระเนตรทอดต่ำ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีที่มีบัวคว่ำบัวหงาย มีซุ้มเรือนแก้วแกะสลักไม้ลงรักปิดทอง ที่มีความประณีตอ่อนช้อยงดงาม ด้านข้างซ้ายขวามีท้าวเวสสุวรรณ และท้าวอาฬวกยักษ์คอยพิทักษ์รักษา02.
เดิมพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำริดมิได้มีการลงรักปิดทองตั้งแต่แรกสร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองพิษณุโลกและพระราชดำเนินมานมัสการ พร้อมทั้งโปรดให้มีการนำเครื่องราชูปโภคมาตีแผ่เป็นทองคำเปลวสำหรับปิดทองพระพุทธชินราช ครั้งนั้นจึงถือเป็นการลงรักปิดทองครั้งแรก ต่อมายังมีการลงรักปิดทองอีก 2 ครั้งใน พ.ศ. 2444 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการถวายสังวาลย์เพชรเป็นพุทธบูชาพร้อมกับการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และ พ.ศ. 2547 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกของหมู่พระวิหารและระเบียงคต ทำให้เมื่อมีการศึกสงครามโดยเฉพาะในศึกอะแซหวุ่นกี้ พ.ศ. 2318 เมื่ออะแซหวุ่นกี้และทัพพม่าสามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ จึงเผาทำลายพระราชวังจันทน์กับพระวิหารประธานด้านตะวันออกที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสเท่านั้น พระพุทธชินราชและพระวิหารที่ประดิษฐานไม่ได้โดนเผาทำลายไปด้วย
พ.ศ. 2442 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ดังข้อความในพระราชปรารภ "เห็นพระพุทธลักษณะแห่งพระพุทธชินราชว่างาม หาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง ก็ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้สวยงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว"
พระอุณาโลม พระพุทธชินราช, อุณาโลม หมายถึง วงกลมคล้ายก้นหอย หรือจุดวงกลมที่อยู่บนหน้าผากของพระพุทธรูป แสดงถึงการตรัสรู้ เป็นสัญลักษณ์ของดวงตาที่สาม จุดที่เปิดให้เห็นโลกแห่งความทุกข์ของทุกสรรพสิ่ง ถือเป็นลักษณะสำคัญ 1 ใน 32 ประการของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมผู้เป็นมหาบุรุษ อุณาโลมเป็นลักษณะลำดับที่ 31 ของมหาบุรุษ เป็นจุดส่องแสงสีขาวออกมาจากบริเวณระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง, ที่มา: Facebook เพจ "วัดพระศรีมหาธาตุฯ พิษณุโลก," โดยผ่านผู้ใช้นามว่า "ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย" เมื่อ 23 เมษายน 2564.
แต่ด้วยเหตุที่พระพุทธชินราชไม่เคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งใดเลย และทรงเกรงว่าเมื่อราษฎรชาวพิษณุโลกทราบข่าวการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครจะพากันเศร้าโศกเหมือนเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2372 และในเวลาไล่เลี่ยกันมีพระสงฆ์รูปหนึ่งได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นแทน ดังความในพระราชปรารภที่ว่า "ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นศิริของเมืองพิศณุโลก จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช" ในปี พ.ศ. 2444 จึงได้มีการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ณ บริเวณเดิม (โพธิ์ 3 เส้า) ที่มีการหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา และอัญเชิญพระพุทธชินราช (จำลอง) ลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานครต่อไป
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ข้อมูลหลักจาก. Facebook เพจ "ท่องไปในอดีต," วันที่เข้าถึง 10 ธันวาคม 2562.
02. จาก. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 04 สิงหาคม 2563.
PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01 และ 02: ราวบันไดเก่าที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ปัจจุบันอยู่ The British Museum
บริจาคโดย Sir Ernest Mason Satow, ที่มา: https://research.britishmuseum.org/research/collection_online/collection_object_details.aspx?objectId=225783&partId=1&searchText=Phitsanulok&images=true&page=1&fbclid=IwAR3tJ4rlPQKsczKXM422FOZ4S7epNP1dBcMt9EZVMOnRjIhRvKPg5MlzcKo
วันที่เข้าถึง 18 มีนาคม 2563., สืบค้นจาก Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา,"
ภาพที่ 03: วิหารพระอัฏฐารส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิษณุโลก สองแคว, ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 7 พฤษภาคม 2563.
ภาพที่ 04: พระพุทธชินราช, ที่มา: Facebook เพจ "ภาพเก่าในอดีต," วันที่เข้าถึง 25 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 05: พระพุทธชินราช, ที่มา: Facebook เพจ "คลาสสิค บุ๊คส์," วันที่เข้าถึง 15 มกราคม 2565. ภาพถ่ายราว พ.ศ.2456 หรือ ค.ศ.1913.