MENU
TH EN

39. วัดเขาพนมเพลิง - ศรีสัชนาลัย

Title Thumbnail พระประธานในวิหารวัดเขาพนมเพลิง (พระเศียรจัดทำขึ้นใหม่) และ Hero Image: ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี ถ่ายไว้เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2562
39. วัดเขาพนมเพลิง - ศรีสัชนาลัย01, 02.
First revision: Nov.12, 2019
Last change: Mar.22, 2020

     วัดเขาพนมเพลิง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งอยู่ใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่บนเขาพนมเพลิง สูงประมาณ 25 เมตร ใกล้กำแพงเมือง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทางขึ้นวัดมีสองทาง คือ ทางด้านหน้าวัดตรงแก่งหลวง และข้างวัด ซึ่งทำเป็นบันไดศิลาแลงขนาดกว้างขวางประมาณ 6 เมตร. 


     เขาพนมเพลิงปรากฎในพงศาวดารเหนือตอนที่เกี่ยวกับการสร้างเมืองสวรรคโลก โดยกำหนดให้เขาพนมเพลิงอยู่กลางเมืองและได้สร้างวัดไว้บนเขาพนมเพลิง ดังกล่าวอ้างไว้ดังนี้ กล่าวสำหรับเขาพนมเพลิงนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีบูชาไฟดังปรากฎข้อความในพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงฤๅษีสัชนาลัยสั่งสอนบาธรรมราชาว่า "สูเจ้าจงเอาพนมเพลิงเข้าไว้ในเมือง เป็นที่สร้างพรตบูชากูณฑ์ผู้เฒ่าจะสั่งสอน จงทำตามคำ" {สันนิษฐานว่า ฤๅษีสัชนาลัยนี้ เป็น ชลิฏบูชาไฟ ตามที่ปรากฎในพุทธประวัติ "ชลิฏสามพี่น้อง" (อุรุเวลกัสสปะ, นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ) เป็นลัทธิโบราณ ที่เรียกว่า โซโรอัสเตอร์ (Zoroaster - Mazdayasna) ที่แพร่หลายในแถบเปอร์เซีย อิหร่านปัจจุบัน แม้แต่ในวรรณกรรมของกิมย้ง เรื่อง ดาบมังกรหยก ยังกล่าวถึงลัทธินี้ นั่นคือ พรรคจรัส โดยมี เตียบ่อกี่ เป็นเจ้าลัทธิ เจ้าสำนัก}
 

ฟาร์วาฮาร์ (Faravahar) สัญลักษณ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์

     จากประวัติในพงศาวดารดังกล่าวหมายถึงเคยมีการใช้เขาพนมเพลิงเป็นแหล่งประกอบพิธีบำเพ็ญพรต แล้วจุดอัคคีบูชาเทวะเป็นเจ้า โดยกำหนดให้วัดเขาพนมเพลิงตั้งอยู่กลางเมืองศรีสัชนาลัย เป็นชัยภูมิของการสร้างเมืองให้โดดเด่น นั่นคือการสร้างเมืองศรีสัชนาลัยที่โอบล้อมภูเขานี้ไว้ใจกลางเมือง เพื่อให้เป็นชัยภูมิอันเหมาะสมยิ่งในการประกอบพิธีดังกล่าว.

     โบราณสถานที่อยู่บนเนินเขานี้ประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงลังกา ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งแต่ก้านฉัตรขึ้นไปพังทลายหมด เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังแบบสุโขทัยทั่วไปที่ใช้ชุดบัวถลารองรับองค์ระฆัง แต่มีส่วนที่แตกต่างคือ บัวถลามีขนาดเล็ก และมีส่วนฐานบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับหนึ่งชั้น คล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยาที่วัดนางพญา และเป็นเจดีย์ที่ไม่มีบัวคว่ำ-บัวหงายแบบที่พบอยู่ในเมืองศรีสัชนาลัย ดังนั้นจึงจัดเป็นเจดีย์ในระยะหลังของศิลปะสุโขทัยที่น่าจะสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 แล้ว.

     และวัดเขาพนมเพลิงนี้ยังมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปที่ยังมีความสมบูรณ์อยู่พอสมควร ส่วนด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายสามองค์ และมีทางเดินลงมายังลานกว้างซึ่งมณฑปก่อด้วยศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลมขนาดใหญ่พอสมควรที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี ลักษณะของศาลนี้มีความคล้ายคลึงกับมณฑปที่พบที่วัดบริเวณทางเข้า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย

01. ปรับปรุงจาก. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ISBN 978-616-465-018-3, พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน 2562.
02. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 22 มีนาคม 2563.

 
humanexcellence.thailand@gmail.com