MENU
TH EN

38. วัดช้างล้อม - ศรีสัชนาลัย

38. วัดช้างล้อม - ศรีสัชนาลัย02,03,04,05.
First revision: Nov.12, 2019
Last change: May.01, 2020

     วัดช้างล้อมสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยหรือในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัย สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1829 ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ขุดเอาพระบรมสารีริกธาตุออกมาจัดเฉลิมฉลองเป็นเวลาหนึ่งเดือนกับหกวัน จากนั้นจึงนำกลับไปฝัง ณ ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัยพร้อมทั้งสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ แล้วก่อเวียงผาล้อมขึ้นไว้ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้นเก้าปี. (ข้อมูลปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ 1)
 

     วัดช้างล้อม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่ภายในกำแพงศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 96 เมตร ยาว 128 เมตร ภายในมีกำแพงมีโบราณสถานประกอบด้วยพระวิหารใหญ่ วิหารน้อย ศาลา และพระเจดีย์ประธาน พระเจดีย์ประธานตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัดทางด้านหลังของวิหารใหญ่ มีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 50 เมตร สูง 1.50 เมตรล้อมรอบ และมีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ทางด้านหน้าและด้านหลังเป็นประตูสำหรับเข้าออก ส่วนประตูด้านข้างทั้งสองด้านเป็นซุ้มประตูก่อปิดตัน.

    เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานประทักษิณสูง รอบฐานประทักษิณมีประติมากรรมลอยตัวรูปช้างประดับอยู่โดยรอบ รวม 39 เชือก01 (โดยรอบเจดีย์มีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้งสี่ด้าน ด้านละเก้าเชือก ยกเว้นด้านหนึ่งซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นมีเพียงแปดเชือก และที่มุมมีช้างขนาดใหญ่ประดับอีกสี่เชือก รวมเป็น 39 เชือก) ช้างเชือกใหญ่ที่มุมเจดีย์เป็นช้างทรงเครื่องมีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ และข้อเท้าสวยงามกว่าช้างที่ฐานสี่เหลี่ยม ระหว่างช้างปูนปั้นที่ฐานนั้นจะมีเสาประทีปศิลาแลงสลับเป็นระยะ ด้านหน้าช้างแต่ละเชือกจะมีพุ่มดอกบัวตูมปูนปั้นวางตั้งอยู่

     ปัจจุบันช้างปูนปั้นได้ผุพังไปเป็นจำนวนมาก เหลือที่เห็นเป็นรูปหัวช้างอยู่จำนวนไม่กี่เชือก แต่ยังคงแสดงออกถึงความงดงามของประติมากรรมสมัยสุโขทัยอย่างเต็มที่ ช้างปูนปั้นที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศรีสัชนาลัย มีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่น ๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่เทียบเท่าหรือใหญ่กว่าช้างจริง.

     ที่ฐานประทักษิณมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 20 ซุ้ม  มีองค์ระฆังตั้งอยู่เหนือชั้นบัวถลาและบัวปากระฆังรองรับ บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ที่ก้านฉัตรประดับด้วยประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูปปางลีลา.

     คติการสร้างเจดีย์ช้างล้อมนั้น มีต้นกำเนิดมาจากประเทศศรีลังกาและสันนิษฐานว่าได้ส่งอิทธิพลมายังอาณาจักรสุโขทัยในราวพุทธศตวรรษที่ 19 โดยแนวคิดในการประดับช้างรอบฐานเจดีย์นั้น อาจมาจากการที่ช้างเป็นสัตว์มงคลและมีบทบาทในการอุปถัมภ์ค้ำจุนบวรพระพุทธศาสนา.
          


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01.  ช้าง 39 เชือก หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ ประกอบด้วยวิมุตติ 2 ประการ.
02.  จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 30 มีนาคม 2563.
03.  จาก. thailandtourismdirectory.go.th, วันที่เข้าถึง 30 มีนาคม 2563.
04.  จาก
ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ISBN 978-616-465-018-3, พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน 2562.
05.  บทความจาก. ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ได้กล่าวถึง "ช้างกับสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ไทย-ศรีลังกา" ในเว็บไซต์ ARTgazine Articles เมื่อ 30 สิงหาคม 2550 
"ถาม... ไทยเอาแบบอย่างการสร้างเจดีย์วัดช้างล้อมมาจากไหน?
ตอบ... ไทยกับศรีลังกามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยาวนานมานับพันปี นับตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในนครศรีธรรมราช เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 แล้วเผยแผ่ไปยังสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
     นอกจากเจดีย์ทรงลังกาแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือ การส้รางเจดีย์ช้างล้อมรอบฐาน เช่นที่เชียงใหม่ น่าน สุโขทัย กำแพงเพชร อยุธยา และนครศรีธรรมราช 
     ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่วัฒนธรรมชาวศรีลังกามายาวนาน เช่นเดียวกับสังคมไทย ชาวลังกาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าในอดีตชาติทรงเคยเสวยพระชาติเป็นพญาคชสาร
     นอกจากนี้ช้างยังเป็นผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาจึงเกิดธรรมเนียมการสร้างช้าง หนุนที่รอบฐานพระสถูปเจดีย์ อย่างเช่น รุวันเวลิเสยา หรือเจดีย์รุวันเวลิ สถูปช้างล้อมซึ่งสร้างในรัชสมัยพระเจ้าทุฐฏคามนี กษัตริย์ลังกา สมัยอนุราธปุระ ราว พ.ศ.705
     จึงพอสรุปได้ว่า ไทยเอาแบบอย่างการสร้างเจดีย์วัดช้างล้อมมาจากลังกานั่นเอง (คัดลอกต่อมาจาก Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า", วันที่เข้าถึง 1 พฤษภาคม 2563.)


 
info@huexonline.com