MENU
TH EN

35. วัดนางพญา - ศรีสัชนาลัย

Title Image: จาก Facebook ห้อง "ศิลปและสถาปัตยกรรม", วันที่เข้าถึง 3 มกราคม 2563, Hero Image: หน้าวัดนางพญา ถ่ายไว้เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2562. 
35. วัดนางพญา - ศรีสัชนาลัย
First revision: Nov.12, 2019
Last change: Apr.17, 2020

     "วัดนางพญา อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีเจดีย์ทรงระฆังรูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาต่อเนื่องกับสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย มีปูนปั้นตกแต่งผนังวิหาร เป็นศิลปะแบบภาคเหนือลวดลายพันธุ์พฤกษ์ ที่มีสภาพดีและมีความงดงาม"01 
     วัดนางพญานี้ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือในราวพุทธศตวรรษที่ 21 โบราณสถานแห่งนี้เป็นวัดขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมืองศรีสัชนาลัย จึงน่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญแต่กลับไม่ปรากฎหลักฐานการสร้างในพงศาวดารหรือเอกสารใด ๆ ซึ่ง นายเทียน (พหูสูตรชาวศรีสัชนาลัย เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเชลียงมาก่อน) กล่าวทูลแก่รัชกาลที่ 6 โดยอ้างเรื่องราวที่อ่านมาจากตำนานฉบับหนึ่งที่ไฟไหม้ไปแล้วว่า วัดนี้สร้างโดย นางพสุจเทวี ธิดาพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งเป็นมเหสีของพระร่วง อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนคำพูดดังกล่าวนี้ (ที่มา: โบราณคดี-ศรีสัชนาลัย (เว็ปไซต์นี้เข้าไม่ได้แล้ว) อ้างจาก th.wikipedia.org เมื่อ 15 เมษายน 2563)

 
          

 
          

     วิหารประธานวัดนางพญาเป็นอาคารทึบขนาดเจ็ดห้อง ก่อด้วยศิลาแลง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังทึบเจาะช่องแสงเป็นลูกกรงสี่เหลี่ยมผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหารประดับลายปูนปั้น เช่น ลายรักร้อย แข้งสิงห์ ประจำยาม เป็นต้น มีความงดงามอันวิจิตรที่แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากศิลปะล้านนาและศิลปะจีน
          

     เจดีย์ประธานของวัดนางพญาเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณที่แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม บริเวณองค์ระฆังมีการทำซุ้มจระนำยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ รูปทรงของเจดีย์คล้ายกับเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ด้วยเช่นกัน
     ลายปูนปั้นที่วัดนางพญาเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือท้องถิ่นนำไปพัฒนาเป็นลวดลายเครื่องประดับเงินและทองที่รู้จักกันในนาม "ทองโบราณศรีสัชนาลัย" สร้างรายได้ให้กับชาวอำเภอศรีสัชนาลัยเป็นจำนวนมาก02.
 
          
จุดเด่นของวัดนี้คือมีผนังเหลืออยู่ด้านหนึ่งโดยมีลวดลายปูนปั้น (Stucco Decoration) ที่สวยงามอยู่ แต่ปัจจุบันหลุดลอกออกไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้มีการสร้างหลังคาสังกะสีคลุมผนังไว้อีกทีเพื่อการอนุรักษ์ ผนังดังกล่าวเป็นผนังที่ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องอากาศตามแบบสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น (ภาพถ่ายไว้เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2562, ข้อความจาก th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 15 เมษายน 2563.)

     สีมันตริก คือ ระยะของช่องว่างที่จะต้องเว้นไว้ระหว่างมหาเสมา (พัทธเสมาใหญ่) และขัณฑเสมา (พัทธเสมาที่อยู่ภายใน มีความหมาย ถึงเขตที่ย่อยลงไป ซึ่งอยู่ในมหาเสมาอีกต่อหนึ่ง   เมื่อมีเสมาสองชั้นเช่นนี้แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง สร้างสิ่งซึ่งคั่นเสมาทั้งสองไว้ไม่ให้ปนกันนั่นคือ ‘สีมันตริก’) โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “เพื่อมิให้เขตของสีมาทั้งสองระคน(สังกระ) กัน” ในครั้งพุทธกาล มีเรื่องเกี่ยวกับสีมันตริกนี้ กล่าวคือ เมื่อพระฉัพพัคคีย์ ได้สมมติเขตเสมาทับซ้อนเสมาที่มีอยู่แล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงไปร้องต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึง ได้ห้ามไม่ให้มีเขตเสมาทับกัน และให้เว้นที่(สีมันตริก) ระหว่างเขตพัทธเสมาไว้


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  ปรับปรุงจาก: Facebook ห้อง "ศิลปและสถาปัตยกรรม", วันที่เข้าถึง 03 มกราคม 2563.
02.  ข้อมูลจาก. ป้ายด้านหน้าวัดนางพญา, วันที่เข้าถึง 16 พฤศจิกายน 2562.



Gallery
ภาพที่ 1-4 ปูนปั้นประดับตกแต่ง ผนัง จาก: Facebook ห้อง "ศิลปและสถาปัตยกรรม", วันที่เข้าถึง 03 มกราคม 2563.
 

PHOTO
GALLERY
humanexcellence.thailand@gmail.com