MENU
TH EN
Title Thumbnail และ Hero Image: ปราสาทเขาพระวิหาร ถ่ายไว้เมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
34. ปราสาทเขาพระวิหาร01.
First revision: Jan.30, 2020
Last change: Jun.01, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
ปราสาทพระวิหาร (เทวสถานศรีศิขรีศวร)
 
  • ปราสาทเขาพระวิหารนี้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2551 เป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของกัมพูชา (ซึ่งก่อนหน้านี้ ปราสาทนครวัด ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งแรกไว้ก่อนแล้วเมื่อปี พ.ศ.2547) โดย องค์การทางวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ยูเนสโก (UNESCO)
         
ภาพซ้าย: ภาพหินทรายแกะสลักเป็นพญานาคเจ็ดเศียร (เป็นนาคทอดตัว มีหัวหางอย่างรูปงูธรรมดา - ชาวพื้นเมืองเรียก "งูซวง") ที่ลานนาคราช ตรงทางเดินไปมณเฑียรชั้นที่ 1 ภาพขวา: ภาพถ่ายสูงจากจุดที่วางเศียรพญานาคเจ็ดเศียร ถ่ายลงไปด้านล่าง ซึ่งเป็นบันไดสูง 162 ขั้น, ถ่ายไว้เมื่อ 14 ตุลาคม 2560.

       ปราสาทพระวิหาร (กัมพูชา: ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร; อังกฤษ: Temple of Preah Vihear) เป็นปราสาทหินตามแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ตั้งอยู้บริเวณทิวเขาพนมดงรัก (กัมพูชา:ភ្នំដងរែក ภฺนํฎงแรก; "ภูเขาไม้คาน") สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร ที่ตั้งของศาสนสถานแห่งนี้รู้จักกันในนาม เขาพระวิหาร (กัมพูชา: ភ្នំព្រះវិហារ ภฺนํพฺระวิหาร) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "เขาพระวิหาร") เขาพระวิหารนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดพระวิหาร ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นทางขึ้นสู่ปราสาทที่สะดวกที่สุด.

       เขาพระวิหารนี้ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบกัมพูชา สร้างตามแนวเหนือใต้ ซึ่งผิดแปลกไปจากปราสาทกัมพูชาโบราณส่วนใหญ่ ไทยและกัมพูชามีประวัติพิพาทเหนือตัวปราสาทแห่งนี้มาเป็นเวลาช้านาน โดยในปี พ.ศ.2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) พิพากษาให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท และวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2551 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกในราชอาณาจักรกัมพูชา. 

แผนผังเขาพระวิหาร, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 1 มิถุนายน 2564.

คำอธิบายแผนผัง
       หมายเลข  1: บันไดหิน
       หมายเลข  2: ลานนาคราชหรือสะพานนาค
       หมายเลข  4: สระสรง
       หมายเลข  5: ทางเดินหินที่มีเสานางเรียง
       หมายเลข  7: ทางเดินหินที่มีเสานางเรียง
       หมายเลข  8: สระหัวสิงห์
       หมายเลข 10: ปรางค์ขนาดเล็ก
       หมายเลข 11: เฉลียงซ้ายขวา
       หมายเลข 12: มณเฑียรขวางสองหลัง
       หมายเลข 13: สะพานนาค
       หมายเลข 15: บรรณาลัย
       หมายเลข 16: บรรณาลัย
       หมายเลข 17: ระเบียงคด
       หมายเลข 18: ปรางค์ประธานและมณฑป
       อักษร A: โคปุระ I
       อักษร B: โคปุระ II
       อักษร C: โคปุระ III
       อักษร D: โคปุระ IV
       อักษร E: โคปุระ V


ชื่อ
       เขาพระวิหารมีชื่อเรียกเก่าที่สุดว่า "ภวาลัย" ตามรายงานของกรมวิชาการ และมีชื่ออื่น ได้แก่ "ศรีศิขรีศวร" "วีราศรม" และ "ตปัสวีนทราศรม"
       นามของเขาพระวิหารตามที่ปรากฎในศิลาจารึก คือ "ศีรศิขเรศวร" (
ស្រីសិខៈ រិ ស្វារៈ) ประกอบด้วย "ศีร" (ศรี หรือสิริ เป็นคำนำหน้า) กับ "ศิขเรศวร" มาจาก "ศิขร" (ภูเขา) และ "อิศวร" (ผู้เป็นใหญ่ หรือ หมายถึง พระอิศวร) แปลได้ว่า ผู้เป็นใหญ่หรือพระอิศวรแห่งภูเขา.
       เมื่อปี พ.ศ.2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปยังเขาพระวิหารนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพรหมวิหาร".
       บางครั้ง ชาวกัมพูชาเรียกปราสาทนี้ว่า "พนมพระวิหาร" (
ភ្នំព្រះវិហារ) ขณะที่ชาวไทยมักเรียกว่า "เขาพระวิหาร" และนับแต่ประมาณ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา มีการละคำว่า "เขา" ไว้ในชื่อเพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างตัวปราสาทและเนินเขาที่ตั้งปราสาท.

คุณปรียา รุ่งเรือง (พ.ศ.2483-2527) ดาราไทยในอดีต เคยเป็นดารานำเรื่องแม่นาคพระโขนง (พ.ศ.2502)
และมีฉายาในวงการบันเทิงสมัยนั้นว่า นางเอกอกเขาพระวิหาร, ที่มา: classicmovieshop.Inwshop.com และ board.postjung.com, วันที่เข้าถึง 1 มิถุนายน 2564. (ซึ่งสะท้อนถึงความโด่งดังในกรณีเขาพระวิหาร เชื่อมโยงกับสภาพสังคมไทย กิจกรรม บันเทิงและแนวคิดของคนไทยในยุค พ.ศ.2502-2505 ได้ตามสมควร).

ที่ประดิษฐาน
       เขาพระวิหารประดิษฐานอยู่บนผาเป้ยตาดีของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ณ ละติจูดที่ 104 องศาตะวันออก 41 ลิปดา. แต่เดิมก่อนที่ศาลโลกจะมีคำพิพากษา (คดีปราสาทเขาพระวิหาร พ.ศ.2505) ผาเป้ยตาดีอยู่ในเขตหมู่บ้านภูมิซร็อล ตำบลเสาธงชัย (เดิมขึ้นกับ ตำบลบึงมะลู) อำเภอกันทรลักษ์ ห่างจากอำเภอเมืองศรีสะเกษ 110 กิโลเมตร.
       และเมื่อศาลโลก ได้มีคำพิพากษาในปี พ.ศ.2505 นั้นเอง จึงเป็นผลทำให้ปัจจุบันปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในจังหวัดพระวิหารของราชอาณาจักรกัมพูชา อยู่ห่างจากกลุ่มปราสาทในเมืองพระนคร (นครวัดนครธม) ไปทางทิศใต้ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงพนมเปญ ลงไปทางทิศใต้ (เยื้องตะวันออกเล็กน้อย) ราว 320 กิโลเมตร.
       ศาลโลกมิได้ชี้ขาดว่าเขตแดนไทย-กัมพูชาดังกล่าวมีเส้นอยู่ตรงจุดใด ศาลฯ ชี้ขาดเพียงว่า กัมพูชามีอธิปไตยทางดินแดนเหนือปราสาทพระวิหาร แต่ก็มีชาวไทยบางท่านเข้าใจว่า ศาลโลกชี้ขาดเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ไม่รวมถึงอาณาบริเวณอันเป็นที่ประดิษฐานปราสาทแต่อย่างใด.







ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. แกนและโครงข้อมูลหลักนำมาจาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 1 มิถุนายน 2564.
 

PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-16 เป็นภาพปี พ.ศ.2472 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนเขาพระวิหาร, ที่มา: Facebook ห้อง "สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์", วันที่เข้าถึง 30 มกราคม 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com