MENU
TH EN

31. อาณาจักรเกาะแกร์ เมืองโฉกครรกยาร์

Title Thumbnail: ปราสาทธม (Prasat Thom) ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2560
Hero Image: หน้าบันปราสาทเนียงเขมา (Prasat Neang Khmau) ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2560

31. อาณาจักรเกาะแกร์, เมืองโฉกครรกยาร์01, 02
First revision: Dec.25, 2019
Last change: Dec.26, 2019

     อ้างอิง ทบทวน และปรับเสริมจากการบรรยายของอาจารย์เทพมนตรี อาจารย์สร้อยนภา และ nhoomthonburi.blogspot.com/2016/10/economical-traveler.html, วันที่สืบค้น 18 ตุลาคม 2560. กลุ่มปราสาทเกาะแกร์ (Koh Ker, เกาะฮ์เก) เป็นแหล่งโบราณสถานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพระนคร ห่างออกไปราว 100 กิโลเมตร อยู่กลางป่าและมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง การที่เกาะแกร์อยู่กลางป่าห่างไกลจากเมืองพระนคร ("ยโศธรปุระ"-Yasodharapura หรือ นครวัด-นครธม") ทำให้การดูแลในช่วงที่เมืองพระนครเริ่มเป็นที่รู้จักสู่โลกภายนอกนั้น มีความยากลำบาก และได้รับความเสียหายจากการขุดค้นหาโบราณวัตถุอยู่บ่อยครั้ง (เท่าที่สังเกตเห็น ศิวลึงค์ เศียรเทพหรือทั้งองค์เทพหายไปมาก หรือเกือบทั้งหมด ด้วยมีการลักลอบค้าวัตถุโบราณกันต่อเนื่อง) 
แผนที่แสดงพื้นที่บริเวณเกาะแกร์ ซึ่งมีบาราย(สระน้ำขนาดใหญ่) ราฮาล บ้างก็เรียก ระหาล (Rahal Baray) ยาว 1.2 กิโลเมตร
กว้าง 560 เมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่สำคัญของเมือง ซึ่งปัจจุบันนี้ บารายราฮาลได้ตื้นเขินไปเกือบหมดแล้ว
 
ภาพจำลองจากมุมเฉียงแสดงพื้นที่เกาะแกร์ มีทั้งบารายราฮาลหรือระหาล และศาสนสถานโดยรอบ ลูกศรสีแดงแสดงทิศที่
แต่ละปราสาทหน้าหน้าไป ส่วนปราสาทธม รวมทั้งปิรามิดขนาดใหญ่ของปราสาท จะอยู่ทางขวาล่างของภาพ
ที่มาของสองภาพข้างต้น: http://nhoomthonburi.blogspot.com/2016/10/economical-traveler.html, ซึ่งอ้างอิงจาก
Archaeology & Development Foundation – Phnom Kulen Program, วันที่สืบค้น 18 ตุลาคม 2560.
 
        พื้นที่อนุรักษ์ของเกาะแกร์รวม 81 ตารางกิโลเมตร มีโบราณสถานที่ถูกค้นพบแล้ว 108 แห่ง แต่มีเพียงโบราณสถานเพียง 20 กว่าแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้ เนื่องจากโบราณสถานส่วนใหญ่อยู่ในป่าลึก และพื้นที่ส่วนหนึ่งยังไม่ได้เข้าไปกอบกู้ระเบิดสมัยเขมรแดง (Khmer Rough) 
        "เกาะแกร์" ยังเป็นชื่อของเมืองในอดีตที่สำคัญของอาณาจักรกัมพูชายุคโบราณเมืองหนึ่ง โดยในศิลาจารึกกล่าวถึง "ลึงคปุระ" (เมืองแห่งศิวลึงค์) หรือ "โฉกครรคยาร์-Chok Garyar" (บ้างก็ว่า "เมืองแห่งแร่เหล็กแดง" หรือ "ป่าต้นตะเคียน")
        เกาะแกร์เคยเป็นเมือง(หลวง ที่มีพระญาติหลังรัชกาลพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ตั้งตนเป็นกษัตริย์มีพระนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ตั้งเมืองหลวงที่โฉกครรคยาร์) ของอาณาจักรกัมพูชาโบราณได้ไม่นานนัก ช่วงปี ค.ศ.928-944 ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 และพระเจ้าหรรษวรมันที่ 2 (ตรงกับสมัยอาณาจักรหริภุญชัย-ละโว้-ตามพรลิงก์ ที่เคยตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน) โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในเมืองนี้ขึ้น ประกอบด้วย บารายขนาดใหญ่ และศาสนสถานพราหมณ์ฮินดูราว 40 แห่งในรัชสมัยของพระองค์ โดยมีปราสาทธม (บ้างก็เรียก "ปราสาทธม-ปราสาทปรางค์") ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของเมือง.
        ข้อมูลที่แสดงบทบาทของกลุ่มปราสาทเกาะแกร์นั้น มีไม่มากนัก ซึ่งเชื่อมโยงกับกษัตริย์กัมพูชาโบราณสองพระองค์ระหว่างรัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 และพระเจ้าอิสาณวรมันที่ 2) ที่มีอยู่น้อยมาก.
        อีกทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 นั้น แต่เดิมเป็นพระญาติที่สมรสเข้าราชวงศ์ นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 อาจทรงครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษกหรือครองราชย์โดยการสนับสนุนของขุนนางอำมาตย์ แก้และผ่านกฎมณเฑียรขึ้นมา.
        ในปี ค.ศ.921 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 นั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ที่อยู่ในฐานะผู้นำท้องถิ่นบริเวณเกาะแกร์ (โฉกครรคยาร์/ลึงคปุระ) ได้ดำริให้สร้างวัดพราหมณ์-ฮินดูขนาดใหญ่ขึ้น (ปราสาทธม) ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระองค์เป็นใหญ่ในแผ่นดินอาณาจักรกัมพูชาโบราณ และเป็นการเปิดโฉมหน้าสร้างเมืองเกาะแกร์ที่เทียบเทียมรัศมีกับเมืองยโศธรปุระ.
        เมื่อพระองค์ได้เตรียมความพร้อม แสวงหาการสนับสนุนทางการเมือง-การทหาร กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมจนได้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 มิได้ทรงประทับที่ยโศธรปุระ แต่ทรงประทับที่เกาะแกร์ตลอดรัชกาล ทำให้ประวัติศาสตร์กัมพูชาโบราณถือเอาว่า พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจากยโศธรปุระมายังเกาะแกร์.
        ยังมีสมมติฐานของนักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า การย้ายเมืองหลวงมายังภูมิลำเนาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 นั้น ก็เพื่อความมั่นคง และหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มอำนาจอีกฝ่ายที่ยโศธรปุระ.
        และเหตุใดที่พื้นที่เกาะแกร์ซึ่งไม่ค่อยมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์มากเท่าไร เหมือนเช่นเมืองหริหราลัย (กลุ่มปราสาทโรลัวะ) จึงสามารถพัฒนาศักยภาพเป็นเมืองหลวงได้.
        เกาะแกร์มีข้อด้อยตรงที่ว่าพื้นที่บริเวณนั้นค่อนข้างแห้งแล้ง ถึงพอจะทำนาข้าวได้ แต่ก็ได้ผลผลิตไม่มากเทียบเท่ากับบริเวณเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ) ผลผลิตทางการเกษตรของเกาะแกร์ไม่น่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงประชากรที่มีจำนวนมากได้ (หลักศิลาจารึกกล่าวถึงประชากรของเกาะแกร์ช่วงที่เป็นเมืองหลวงนั้นว่ามีเกิน 10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ หากเทียบตามเกณฑ์ในสมัยนั้น).

        เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาะแกร์ธำรงความเป็นเมืองหลวงเอาไว้ได้คือ:
        หนึ่ง) เกาะแกร์มีวิทยาการและแร่เหล็กสำหรับทำยุทธภัณฑ์ ยุทธปัจจัย สามารถนำไปแลกเปลี่ยน ค้าขายหรือเก็บภาษีได้ (แต่คำอธิบายนี้ก็มีช่องโหว่ คือ โรงตีหรือถลุงเหล็กในสมัยนั้นอยู่ห่างจากเกาะแกร์ไปนับร้อยกิโลเมตร)
        สอง) เกาะแกร์เป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยเป็นชุมทางของ "ถนนสายราชมรรคา" (Royal road) โดยตั้งอยู่บนถนนสายราชมรรคาเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อมระหว่างเมืองยโศธรปุระ (เมืองพระนคร) - ปราสาทเบ็งเมเลีย - เกาะแกร์ - เมืองเศรษฐปุระ (ปราสาทวัดพู แขวงจำปาสัก ลาวใต้) และทางคมนาคมอีกเส้นหนึ่งหนึ่ง จากเกาะแกร์ไปยังศรีสิขเรศวร (ประสาทเขาพระวิหาร).
        นอกจากนี้ยังพบสิ่งก่อสร้างสำคัญสนับสนุนการเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของเกาะแกร์คือ "ธรรมศาลา" (เรือนพักหรือป้อมตรวจการที่ตั้งอยู่บนเแนวถนนสายราชมรรคา) และ "อโรคยศาลา" (โรงพยาบาลเล็ก ๆ สร้างตามแหล่งชุมชนโบราณ) อีกด้วย.
แผนที่แสดงเครือข่าย "ถนนสายราชมรรคา" ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ยโศธรปุระ (นครวัด-นครธม)
ที่มา :  http://nhoomthonburi.blogspot.com/2016/10/economical-traveler.html, วันที่สืบค้น 31 ตุลาคม 2560.


    อาณาจักรเกาะแกร์ (บ้างก็เรียก "เกาะฮ์เก") มีกลุ่มปราสาทอยู่มากมาย 
   
 ปราสาทแห่งแรกคือ ปราสาทปรำ/ปราม (Prasat Pram) เป็นปราสาทรอบนอก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งอยู่ในกลุ่มปราสาทเกาะแกร์อยู่ห่างจากนครวัด-นครธมไปทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ราว ๆ 120 กิโลเมตร ชื่อปราสาทแห่งนี้มาจากคำว่า "ปรำ" ที่แปลว่า "ห้า" ตามจำนวนเทวสถานห้าหลังของชุดปราสาทนี้ ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และบรรณาลัย (ห้องสมุด-ขณะนี้ขอใช้คำว่าบรรณาลัยไปก่อน ทั้งนี้ด้วยมีนักประวัติศาสตร์ถกเถียงกัน ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน) ที่อยู่ซ้ายขวา ปรางค์บางแห่งของชุดปราสาทนี้มีรากต้นไม้ใหญ่เลื้อยพันอยู่ ขณะที่ "บรรณาลัย" ของปราสาทปรำมีช่องระบายอากาศอยู่ด้านบน ทำให้มีนักประวัติศาสตร์เสนอว่า ปรางค์ดังกล่าวอาจใช้เป็นเมรุเผาศพ หรืออาจเป็น "ธรรมศาลา" (บ้านมีไฟ) ปรางค์ที่ใช้จุดไฟไว้ข้างใน เพื่อใช้เป็นเพลิงศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบศาสนพิธี ก็ได้
     ปราสาทธม (Prasat Thom, "ปราสาททุม") ปราสาทธมตั้งอยู่กลางเมืองเกาะแกร์ (โฉกครรคยาร์) มีฐานสูงขึ้นไปเจ็ดชั้น (เป็นปิรามิดที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา มีฐานกว้าง 55 เมตร สูง 40 เมตร ที่สำคัญคือยังเป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สอง รองจากปราสาทอังกอร์วัดอีกด้วย)  เพื่อแสดงความเป็นเขาไกรลาส (บ้างก็ว่าเป็นพระสุเมรุ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเขาไกรลาสมากกว่า เพราะมีศิวลึงค์และแท่นโยนี ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว อันเป็นตัวแทนของพระศิวะที่ประทับบนยอดเขาไกรลาสนั่นเอง) บนชั้นยอดประดิษฐานไตรภูวเนศวร (Tribhuvaneshvara) เรียกว่ากัมรเตงชคตะราชยะ
ปราสาทธมนี้ มีนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานเพิ่มเติมว่า เป็นเพื่อเป็นตัวแทนของภูเขาสัตตบริภัณฑ์คีรี (Sattabariphan Khiri) บนสวรรค์
     ปราสาทลึงค์ (Prasat Linga) เป็นกลุ่มปราสาทขนาดเล็ก 3 หลัง โดยตัวปราสาทที่มีศิวลึงค์ขนาดใหญ่นั้น เส้นรอบวงประมาณสอง-สามคนโอบ ตั้งอยู่บนฐานโยนี เมื่อพราหมณ์ทำพิธีอภิเษกองค์ศิวลึงค์ ก็จะรดน้ำไปยังศิวลึงค์ น้ำจะไหลไปตามร่องตรงฐานโยนี ร่องและท่อที่ให้น้ำที่ผ่านพิธีนี้ไปภายนอกเรียกว่า "ท่อโสมสูตร" น้ำดังกล่าวจะเป็นสิริมงคลในการอาบ หรือชำระล้างต่อไป
     ปราสาทเนียงเขมา (Prasat Neang Khmau)
บ้างก็เรียกปราสาทนางเขม่า หรือ เนียงคเมา หรือ ปราสาทนางดำ โดยปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในชุมชน ตามคติพราหมณ์ไศวนิกายของเกาะแกร์
ในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีนั้น ต้องถือว่าปราสาทเนียงเขมามีชื่อเสียงมาก เพราะในอดีตมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาสำรวจเป็นครั้งแรก ภายในปราสาทมีหลักฐานพัฒนาการของภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง รูปของพระนารายณ์ตรีวิกรม (พระวิษณุย่างสามขุม อันเป็นนารายณ์อวตาร ปางที่ 5 วามนาวตาร) และพระศิวะ ฯลฯ ที่สวยงามเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพเหล่านั้นได้หลุดร่อนหายไปจนหมด เมื่อครั้งสงครามกลางเมือง
จุดเด่นอีกประการหนึ่งของปราสาทเนียงเขมาคือ การที่ตัวปราสาทเป็นสีดำต่างจากปราสาทอื่น ๆ ซึ่งในเรื่องนี้นั้นยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร บ้างก็สันนิษฐานว่าในสมัยก่อนตัวปราสาทมีลายปูนปั้นและปิดทองทาสีในส่วนต่าง ๆ ต่อมาสีได้หลุดหายไป อีกทั้งยังถูกเขม่าสีดำจากไฟไหม้ด้านนอกเข้ามาติดสะสม
บ้างก็ว่าตัวปราสาทถูกทาสีให้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้น ฯลฯ เดิมปราสาทนี้มีศิวลึงค์ประดิษฐานอยู่ ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐานเท่านั้น.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01.  Michel Petrotchenko, Focusing On The Angkor Temples, The Guidebook 2017 Edition, ISBN 978-616-423-531-1, จัดพิมพ์ที่ บมจ.อมรินทร์ พรินติ้ง ประเทศไทย, ครั้งที่ 4 พ.ศ.2560.
02.  Michael Freeman และ Claude Jacques, ANCIENT ANGKOR Book guides, ISBN 974 8225 27 5, จัดพิมพ์ที่ บมจ.อมรินทร์ พรินติ้ง ประเทศไทย, ครั้งที่ 11 พ.ศ.2556.
info@huexonline.com