MENU
TH EN
วัดพู ถ่ายจากเนินชั้นที่ 3 ทางขึ้นปราสาทประธาน เมื่อ 17 ตุลาคม 2565
A01. ปราสาทวัดพู02.
First revision: Dec.21, 2019
Last change: Oct.18, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       ปราสาทวัดพู บ้างก็เรียก ภูมิสถานวัดพู ตั้งอยู่ในนครจำปาสัก ลาวตอนใต้ องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อ 25 ธันวาคม 2545 เป็นลำดับที่ 2 ต่อจากเมืองหลวงพระบาง

       ปราสาทวัดพู สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรกัมพูชาโบราณกำลังแผ่ไพศาล ตั้งอยู่บริเวณเขาศิวบรรพต เขาภู หรือที่ชาวลาวเรียกว่า ภูเกล้า หรือ ภูควาย ห่างจากตัวเมืองจำปาสัก 9 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มียอดลักษณะคล้ายไปศิวลึงค์ ซึ่งถ้าจะเรียกว่า สวยัมภูวลึงค์ ด้วยเหตุที่เขาศิวบรรพต นั้นคล้ายคลึงกับศิวลึงค์นั่นเอง น่าจะเป็นแรงจูงใจในการสร้างเทวาลัย เพื่อประดิษฐานรูปเคารพตามความเชื่อของฮินดูขึ้นในที่สุด ปราสาทวัดพู นั้นมีฐานะถึงขั้นเป็นอารามหลวงของอาณาจักรในสมัยนั้นเลยทีเดียว และได้รับการก่อสร้างมาก่อน เขาพระวิหาร (เปรี๊ยะวิเฮียร์) และพนมรุ้ง (วะนัมรุง) ตรงกับรัชกาลพระเจ้าศรีมเหนทรวรมเทวะ (จิตรเสน) ราว พศว.ที่ 11-12


 

ผังปราสาทวัดพู ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 21 ธันวาคม 2562

        สภาพโดยรอบเป็นภูเขาที่มีจอมภูรูปศิวลึงค์ มีแม่น้ำโขงอยู่ด้านหน้า มีทุ่งเพียง (ที่ราบลุ่ม) อยู่ตรงกลาง จึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองโบราณอันผาสุกภายใต้ร่มเงาของเทพเจ้า.

       ใกล้ปราสาทไปทางทิศตะวันออกของริมน้ำโขง มีเมืองโบราณสร้างขึ้นก่อนนครวัด มีโครงสร้างที่หลงเหลืออยู่เป็นดินเผาจำนวนมาก มีกำแพงเมืองที่เห็นได้ชัดเจน ตัวเมืองกินเนื้อที่ประมาณ 3.60 ตร.กม. ล้อมรอบด้วยกำแพงดินสองชั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 9 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 10 พบแผ่นศิลาที่บ้านพระนอนเหนือ ปรากฎจารึกพระนามกษัตริย์ว่า "เทวะนิกะ".

       ในพื้นที่เดียวกัน ยังพบจารึกศิลาอีกสองแผ่น เป็นหลักฐานว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เมืองแห่งนี้เป็นนครหลวงของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมเทวะ และต่อมาพระองค์ทรงย้ายเมืองไปตั้งในเขตซำปอไพรกุก หรือ สมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk) ห่างจากวัดพูไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 250 กม. นักโบราณคดีชี้ว่านครโบราณแห่งนี้คือ เสดถาปุระ เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ก่อนที่จะขยายลงทางใต้จนกระทั้งตั้งจักรวรรดิกัมพูชาโบราณขึ้นในแผ่นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน.

       อย่างไรก็ตามปราสาทวัดพู ยังคงใช้เป็นเทวสถานประกอบศาสนาพิธีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเรื่อยมา มีบันทึกของพ่อค้าชาวจีนกล่าวว่า ลึงคบรรพตแห่งนี้ยังเป็นที่สำคัญ มีกษัตริย์จากเมืองพระนคร เดินทางมาประกอบพระราชพิธีทุกปี จนกระทั่งจักรวรรดิกัมพุชาโบราณล่มสลาย ภายหลังรัชสมัยของพระเจ้าชยวรมเทวะที่ 7.

       กลุ่มปราสาทวัดพูนี้ ออกแบบแผนผังตามเส้นแกนตะวันออกตะวันตก จากพื้นราบทุ่งเพียวตัดขึ้นไปเชิงภู จนถึงชั้นสูงสุด มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 607 เมตร เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์ประธาน และหน้าผาศิลาทรายที่มีน้ำไหลรินตลอดปี เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์.

       ด้านตะวันออกของปรางค์ประธานมีสระขนาดใหญ่ กรุด้วยศิลาทราย กว้าง 200 ม. ยาว 600 ม. เป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อการชลประทานและศาสนพิธี ยังคงได้ใช้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้.

       ถัดจากขอบสระด้านตะวันตก มีศาลารับเสด็จ สร้างบนฐานหินเดิม สร้างเมื่อ พ.ศ.2500 กับ พ.ศ.2511 ไว้ต้อนรับเจ้านายชั้นสูงเมื่อมาทำบุญ.

       ทางเดินเข้าสู่ปราสาทปูด้วยศิลาทราย ขอบทางตั้งเสานางเรียงทั้งสองฟาก มีสระเล็ก ๆ ขนาบข้าง จนถึงชั้นพักที่ 1 คือที่ตั้งปราสาท 2 หลัง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาทราย ชาวบ้านเรียกว่า โฮงท้าวโฮงนาง ซึ่งโฮงท้าว หมายถึงที่พำนักของพระอิศวร โฮงนาง หมายถึง ที่พำนักของชายาพระอิศวร (พระแม่อุมามหาเทวี).

       ต่อจากโฮงท้าวโฮงนาง ก็เป็นทางเดินปูด้วยแผ่นหิน มีโครงสร้างหลังคาไปสู่บันไดขั้นแรกที่จะขึ้นสู่ปรางค์ประธาน ปัจจุบันหลังคาพังหมดแล้ว ด้านใต้ของทางเดินมีร่องรอยของหอไหว้หลังหนึ่ง เรียกว่า โฮงงัวอุสุพะลาด หรือ โฮงงัวนันทึน ซึ่งหมายถึง โคนนทิ (วัวเพศผู้สีขาวล้วน) พาหนะของพระอิศวร จากโฮงงัวนี้มีเส้นทางโบราณไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านธาตุ ตัดตรงไปยังเมืองพระนคร (นครวัดนครธม).
ประติมากรรมทวารบาล ศิลปะกัมพูชาโบราณแบบบายน ราว พศว.18 เดิมตั้งอยู่ริมบันไดทางขึ้นปราสาท ปรางค์ประธาน วัดพู ชาวจำปาสัก เชื่อกันว่าเป็นรูปพระยากำมะทา ผู้ก่อตั้งเมืองครั้งแรก01. ถ่ายไว้เมื่อ 17 ตุลาคม 2565.

       บันไดหินขึ้นสู่ปรางค์ประธาน แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงแรกมีเศษกองอิฐของปราสาทและกำแพงหิน ชั้นพักที่ 2 มีซุ้มประตูโขง ปัจจุบันพังไปแล้วเหลือแต่ทวารบาลในสภาพมือขวากุมไม้เท้า มือซ้ายทาบอก แสดงความเคารพต่อผู้ที่ผ่านขึ้นไปแสวงบุญ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า พระยากำมะทา ผู้ก่อสร้างปราสาท กำลังทุบอกด้วยความเสียใจที่สร้างวัดพูเสร็จทีหลังพระธาตุพนม.

       ถัดจากที่พักชั้นที่ 2 เป็นทางเดินปูด้วยศิลาทรายชันไปตามแนวลาดของภู ขึ้นสู่บันไดชั้นที่ 3 บันไดนี้เชื่อมต่อกับระเบียงพักชั้นสุดท้าย สุดระเบียงพักก็เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์ประธาน.

       ด้านใต้ของปราสาทปรางค์ประธาน มีอาคารเล็ก ๆ ที่เรียกว่า หอไตรธิบรรณาลัย ด้านตะวันตกกั้นด้วยกำแพงกมมะเลียน สร้างไว้บนพลาญหิน มีประตูสองด้านเชื่อมต่อบริเวณน้ำเที่ยง ที่ไหลรินลงมาจากชะง่อนผาด้านหลังปราสาทปรางค์ประธาน บริเวณโขดหินด้านหลังปรางค์ประธาน มีรูปสลักนูนสูงตรีมูรติ แสดงพระศิวะอยู่ตรงกลาง พระพรหมอยู่เบื้องขวา และพระวิษณุอยู่เบื้องซ้าย (แสดงให้เห็นว่าเป็นพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นใหญ่).

       สำหรับปราสาท ปรางค์ประธาน ประกอบด้วยพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง ฝาผนังส่วนหน้าห้องโถงก่อด้วยศิลาทราย มีประตูทางเข้า-ออก 3 ด้าน คือทางทิศตะวันออก เหนือ ใต้ ด้านตะวันตกของโถงประดิษฐานศิวลึงค์ มีน้ำศักดิ์สิทธิ์จากเพิงหน้าผาไหลตามร่องหินเจ้าสู่ปราสาท อาบรดศิวลึงค์ตลอดเวลา แล้วไหลออกจากปราสาทมาให้ประชาชนได้ใช้เพื่อการสิิริมงคล.

       ขอบประตูสลักเป็นรูปทวารบาลและนางอัปสรบนซุ้มประตูทางเข้าแต่ละช่อง หน้าบันและทับหลังสลักเป็นเรื่องพระกฤษณะ พระอินทร์ พระศิวะ พระฤๅษี และเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ และที่เป็นซิกเนเจอร์ คือ รูปสลักทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ขนาด 1 ม. * 2 ม.

       ลานหินบนหน้าผาด้านหลังปราสาทปรางค์ประธาน มีแท่นหินสลักร่องเป็นรูปจระเข้ เชื่อกันว่าใช้สำหรับบูชายัญ และเมื่อครั้นนครจำปาสักรับพระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักร ภูมิสถานวัดพูนี้ จึงได้กลายเป็นพุทธศาสนสถาน นิกายหินยานหรือเถรวาท จวบจนปัจจุบัน. ซึ่งวัดพูนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดงานประจำขึ้นทุกปี โดยตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม ตรงกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. ลำดับกษัตริย์ลาว สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้าที่ 332, ISBN 974-418-118-4.
02. จาก. Facebook เพจ "กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," วันที่เข้าถึง 26 สิงหาคม 2564.




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-03: จาก. Facebook เพจ "กลุ่มประวัติศาสตร์หลังเที่ยงคืน," วันที่เข้าถึง 21 ธันวาคม 2562
ภาพที่ 04-23: จาก. Facebook เพจ "Library Nokorphnom," บางส่วนก็เป็นภาพมาจาก gettyimages Sayan Chuenudomsavad, วันที่เข้าถึง 2 กันยายน 2563.

 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com