MENU
TH EN

เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (LCE) และธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน

First revision: May 28, 2018
Last change: Feb.15, 2022

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
การดำเนินงานธุรกิจคาร์บอนต่ำ01

"การดำเนินงานธุรกิจคาร์บอนต่ำ หมายถึง การดำเนินธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจใช้การจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือกลไกการบริหารจัดการอื่น ๆ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ในประเทศและระดับสากล)
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
  • สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
  • DJSI (Dow Jones Sustainability Indices)
  • ISO

คำไข (Key word) สำคัญสำหรับการดำเนินงานธุรกิจคาร์บอนต่ำ
  • ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
  • ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือฉลากลดโลกร้อน
  • คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
  • การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset)
  • คาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral)
  • เสื้อผ้าลดโลกร้อน (Cool Mode)
  • T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program)
  • LESS (Low Emission Support Scheme)
  • CDP (Carbon Disclosure Project)
  • DJSI (Dow Jones Sustainability Indices)
  • LCA: Life Cycle Assessment
  • Environmental Footprint
  • Sustainable/Green Supply Chain Management
  • ฉลากเขียว
  • Eco-Efficiency
  • Eco-Design
  • Eco-Factory
  • Eco-Industrial town
  • อาคารเขียว
  • โรงแรมใบไม้เขียว (Green Leaf)
  • โรงแรมสีเขียว (Green Hotel)
  • Green Industry
  • Reduce Reuse Recycle
  • จัดซื้อและจัดจ้างสีเขียว
  • มอก.๙๙๙๙: มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม
  • ISO 14001 Environmental Management System (2001)
  • ISO 50001: Energy Management System (2015)  

ที่มาและคำอธิบาย:
01  แบบสอบถาม: การสำรวจการดำเนินงานธุรกิจคาร์บอนต่ำ ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วันที่ได้รับข้อมูล 25 พฤษภาคม 2561.

 
 

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน01.

HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 1) : ภาคธุรกิจถือเป็นตัวการหนี่งในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องจากผู้เกี่ยวข้องร้องขอให้ธุรกิจตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน บทความชุดนี้ได้สืบหาองค์ความรู้และนำมาเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก โดยตอนที่ 1 นี้ มาทำความเข้าใจกับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนและผลกระทบ ตลอดจนข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ.

       ขณะที่สังคมมีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัญหาความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมก็มีมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาจากการกระทำของมนุษย์และย้อนกลับมาเป็นวัฏจักรที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติเอง

       ภาคธุรกิจเป็นตัวการหนึ่งในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อนนอกเหนือจากภาคครัวเรือน เนื่องจากกระบวนการทำธุรกิจตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การใช้พลังงาน การแปรรูป การขนส่งสินค้า ล้วนต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ ไฟฟ้า พลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากผู้เกี่ยวข้องดังขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่หน่วยงานระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติ ภาครัฐ ภาคสังคม และนักลงทุนที่ร้องขอให้ธุรกิจตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทความชุดนี้ได้สืบหาองค์ความรู้และนำมาเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก.


1. รู้จักก๊าซเรือนกระจก
       จากข้อมูลของ Wikipedia อธิบายว่า ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) หรือเรียกย่อๆ ว่า GHG คือก๊าซในบรรยากาศของโลกที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดร้อนออกมา โดยบางส่วนจะออกสู่ห้วงอวกาศ แต่บางส่วนก็จะสะท้อนความร้อนจากชั้นบรรยากาศกลับสู่พื้นผิวโลก เรียกว่า ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect)
ก๊าซเรือนกระจกเกิดตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ประกอบด้วย ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาระดับอุณหภูมิโลก หากปราศจากก๊าซเรือนกระจกโลกจะหนาวเย็นจนสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปจะทำให้อุณหภูมิบนโลกสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิต ลักษณะเดียวกับชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์.


2. ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์
       ข้อมูลจาก Wikipedia ยังเปิดเผยอีกด้วยว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2300 (ค.ศ. 1757) กิจกรรมของมนุษย์ได้เพิ่มปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เช่น จากการกร่อนสลายของหินบนแผ่นดิน การสังเคราะห์แสงของพืช และแพลงก์ตอนในทะเล ยังถือว่ากักเก็บปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างสมดุล จากการคาดการณ์พบว่าชั้นบรรยากาศของโลกสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์คงที่อยู่ระหว่าง 260-280 ส่วนในล้านส่วน เป็นเวลาต่อเนื่องประมาณ 10,000 ปี ตั้งแต่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งจนถึงการเริ่มยุคอุตสาหกรรม

แหล่งเกิดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์
  • การเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ และการทำลายป่า ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่บรรยากาศมากขึ้น การทำลายป่า (โดยเฉพาะในเขตร้อน) มีส่วนปลดปล่อย CO2 มากถึง 1 ใน 3 ของ CO2 ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด.
  • การย่อยสลายในกระเพาะลำไส้ของปศุสัตว์และการจัดการเกี่ยวกับมูลปศุสัตว์ การทำนาข้าว การใช้ที่ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ การสูญเสียก๊าซและน้ำมันจากท่อส่ง รวมถึงการปล่อยก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะ ทำให้เพิ่มปริมาณมีเทนมากขึ้นในบรรยากาศ เป็นต้น.
  • การใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งการใช้ก๊าซฮาลอน (Halon) ในระบบถังดับเพลิง และกระบวนการผลิตของผู้ผลิต.
  • กิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งรวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่เป็นตัวเพิ่ม ก๊าซไนตรัสออกไซด์.
       สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) หรือ EPA ของสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการบริโภค (End-user sectors) ตามลำดับดังนี้ คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคครัวเรือน ภาคพาณิชยกรรม และภาคเกษตรกรรม โดยแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกในภาคการบริโภคส่วนมากเกิดจากการทำความร้อนหรือความเย็นภายในกระบวนการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับขนส่ง.

3. ภาวะโลกร้อน และผลกระทบ
       Wikipedia ระบุคำจำกัดความของ ภาวะโลกร้อน (Global warming) หมายถึง การเพิ่มระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิวโลกและผิวน้ำบนมหาสมุทร ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความเข้มของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของมนุษย์.

       การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่น การถดถอยของธารน้ำแข็ง การละลายของน้ำแข็งในทะเลแถบอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือ ระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศแบบสุดโต่ง ส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ความไม่แน่นอนของผลิตผลทางเกษตร การเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำ การลดปริมาณลำธารในฤดูร้อน รวมถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด และการเพิ่มของพาหะนำโรค.


4. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
       ข้อมูลจาก guru.sanook.com สรุปว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์.

       ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. กล่าวถึงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมถึงภาคครัวเรือนในฐานะผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ อบก. จึงได้กำหนดมาตรฐานฉลาก และ/หรือ เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ติดบนผลิตภัณฑ์เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค.

       นอกจากนี้ ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย โดย ข้อมูลจาก businessconnectionknowledge.blogspot.com ได้สรุปว่าข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่แสดงบนฉลากคาร์บอน (Carbon Labeling) จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าใด อีกทั้งสามารถช่วยวัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ถูกแนะนำขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรช่วงเดือนมีนาคม 2550 ภายใต้การกำกับดูแลของ Carbon Trust.

การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะต้องทำการพิจารณาจากกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ
  • การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Primary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต เช่น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต และการขนส่งทั้งโดยรถบรรทุก ทางเรือ และทางอากาศ
  • การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อม (Secondary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ ตลอดจนการจัดการซากสินค้าหลังการใช้งาน

5. ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label)
       ข้อมูลจาก businessconnectionknowledge.blogspot.com อธิบายว่า การแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ มีลักษณะคล้ายกับป้ายบอกจำนวนแคลอรี่และสารอาหาร ในสหรัฐอเมริกาแบ่งรูปแบบของฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
  • ฉลาก Low-Carbon Seal เป็นฉลากประเภทที่ไม่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติด ดังนั้นผู้บริโภคจะไม่ทราบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในภาคการผลิตสินค้า
  • ฉลาก Carbon Score เป็นฉลากประเภทที่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้บริโภคจะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการผลิตสินค้า ระหว่างสินค้าแต่ละชนิด หรือชนิดเดียวกัน เพื่อเปิดให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ฉลาก Carbon Rating มีลักษณะคล้ายกับฉลากประหยัดพลังงาน (ซึ่งนิยมใช้รูปแบบนี้ในสหภาพยุโรป) โดยฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะแบ่งกลุ่ม โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาวจาก 1 ถึง 5 ดาว หากสินค้าใดได้ดาวจำนวนมาก หมายถึง สินค้าชนิดนั้นๆ มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสินค้าที่ได้ดาวน้อยดวง

       สำหรับประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกันกำหนดมาตรฐานฉลากคาร์บอน โดยกำหนดเป็น 5 สี 5 เบอร์ ได้แก่
  • ฉลากคาร์บอน เบอร์ 1 ฉลากสีแดง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 10%
  • ฉลากคาร์บอน เบอร์ 2 ฉลากสีส้ม แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 20%
  • ฉลากคาร์บอน เบอร์ 3 ฉลากสีเหลือง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 30%
  • ฉลากคาร์บอน เบอร์ 4 ฉลากสีน้ำเงิน แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 40%
  • ฉลากคาร์บอน เบอร์ 5 ฉลากสีเขียว แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 50%

       นับวันพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นข้อมูลฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จึงเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจซื้อและใช้พิจารณาข้อมูลว่าผู้ผลิตรายนั้น ๆ ได้ใส่ใจต่อการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ช่วยสร้างความโดดเด่นให้แก่แบรนด์สินค้าของตนให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย อีกทั้งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของภาคการผลิตด้วย.

ที่มาและคำอธิบาย:
01  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7718 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 11 กุมภาพันธ์ 2565.


HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 2) : ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกจากสถาวะโลกร้อน รวมทั้งสรุปสถานการณ์ในมิติสังคมโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่จะช่วย “ชี้เป็นชี้ตาย” ในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนนี้

       ในตอนนี้ จะขอสรุปให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกหากเราไม่ทำอะไรหรือทำแต่ไม่เพียงพอ ที่จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งจะสรุปสถานการณ์ในมิติสังคมโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน


ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน
       ข้อมูลจาก greenpeace.org สรุปผลถึงกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นในตอนเริ่มต้นที่อุณหภูมิของโลกที่เพิ่งร้อนขึ้นเล็กน้อยถึงปานกลางไว้ดังนี้
  • ระดับนํ้าทะเลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ธารนํ้าแข็งที่กำลังละลาย และอุณหภูมิทั่วโลกที่กำลังสูงขึ้น จากการขยายตัวทางความร้อนของนํ้าในมหาสมุทร
  • ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมามหาศาลจากชั้นดินเยือกแข็ง และป่าที่กำลังตาย
  • มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้งและนํ้าท่วม ในปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้น มากกว่าใน 30 ปี ที่ผ่านมา 2 เท่า
  • ผลกระทบรุนแรงในระดับภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ในยุโรป จะเกิดนํ้าท่วมจากแม่นํ้าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนมากของทวีป และตามพื้นที่ชายฝั่งจะเสี่ยงต่อนํ้าท่วม การกัดเซาะและการสูญเสียพื้นที่ในทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งในทวีปอื่น ๆ ก็จะเผชิญปัญหาเดียวกัน
  • ระบบทางธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ธารนํ้าแข็ง ปะการัง ป่าชายเลน ระบบนิเวศของทวีปอาร์กติก ระบบนิเวศของเทือกเขาสูง ป่าสนแถบหนาว ป่าเขตร้อน เขตลุ่มนํ้าในทุ่งหญ้า และเขตทุ่งหญ้าในท้องถิ่นจะถูกคุกคามอย่างรุนแรง
  • สัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ผลกระทบที่รุนแรงกว่าจะตกอยู่กับประเทศยากจน เช่น ในทวีปแอฟริกา เอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิค ที่มีความสามารถน้อยที่สุดในการป้องกันตนเองจากระดับนํ้าทะเลที่สูงขึ้น การแพร่กระจายของ เชื้อโรค และผลผลิตการเกษตรที่ตํ่าลง
       และหากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป มีการคาดการณ์ว่า ผลกระทบร้ายแรงในระยะยาวอาจปรากฎออกมาในลักษณะดังนี้
  • แผ่นนํ้าแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ และทวีปแอนตาร์กติกา จะละลาย หากไม่ควบคุม ความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจจุดชนวนในเกิดจากการละลายของแผ่นนํ้าแข็งทั้งหมดในเกาะกรีนแลนด์ ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ระดับนํ้าทะเลเพิ่มขึ้นสูงขึ้นถึง 7 เมตรได้ในที่สุด มีหลักฐานใหม่ที่แสดงว่าอัตราการไหลลงตํ่าของนํ้าแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาแสดงถึงภาวะเสี่ยงที่จะละลายทั้งหมด
  • กระแสนํ้าอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ไหลช้าลงเปลี่ยนทิศทาง หรือหยุดไหลซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงในยุโรป และทำให้ระบบการไหลเวียนของมหาสมุทรผิดปกติ
  • หายนะจากการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างมหาศาลจากมหาสมุทร ซึ่งทำให้ก๊าชมีเทนในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้โลกร้อนขึ้น
ข่าวร้าย (โลกร้อน)
       จากการสำรวจข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และผลกระทบจากโลกร้อนมีเพิ่มขึ้นตลอดเวลาข้อมูลจาก sanook.com ได้สรุปข่าวโลกร้อนในปี 2563 ไว้ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้
  • พายุ 16-17 ลูก ก่อตัวพร้อมกันเหนือแอตแลนติก ปีนี้จำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (8 ก.ย. 63)  ในเนื้อข่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (โนอา) คาดการณ์ว่าปีนี้ (2563) จะเป็นปีที่เกิดพายุเฮอร์ริเคนมากที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากอุณหภูมิผิวทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติกที่อุ่นกว่าปกติ
  • นักวิจัยชี้ “หมีขั้วโลก” จะสูญพันธ์ช่วงปลายศตวรรษเนื่องจากภาวะโลกร้อน (4 ก.ค. 2563)  เนื้อข่าวอธิบายว่า หมีขั้วโลกใช้แผ่นนํ้าแข็งกลางทะเลเพื่อล่าแมวนํ้าเป็นอาหารแต่เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น แผ่นนํ้าแข็งค่อยๆ หายไปส่งผลต่อการหาอาหารของหมีขั้วโลกซึ่งในที่สุดอาจส่งผลต่อประชากร หมีขั้วโลกลดลงจนอาจสูญพันธ์ได้
  • “วัวเรอ” ปัจจัยที่ทำให้ระดับการปล่อย “ก๊าซมีเทน” ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น (21 ก.ค. 63)   เนื้อข่าวสรุปว่า “การปศุสัตว์”  เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซมีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถมีปริมาณที่มากเท่าๆ กับอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม เช่นใช้สาหร่ายเลี้ยงวัว เพื่อลดปริมาณการเรอก๊าซมีเทนของวัว เป็นต้น หรือกรณีของเบอร์เกอร์คิง (Burger King) ได้ประกาศใช้ตะใคร้เลี้ยงวัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเปลี่ยนแปลงอาหารวัวของเบอร์เกอร์คิงในครั้งนี้จะช่วยลดก๊าซมีเทนของวัวได้มากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน
  • นักวิทย์ชี้ “คลื่นความร้อน” ในไซบีเรียมีแนวโน้มเกิดจากฝีมือมนุษย์ (17 ก.ค. 63)  เนื้อข่าวรายงานว่านับตั้งแต่ต้นปี 2563 (2020) ไซบีเรียต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน อุณหภูมิในเขตอาร์กติกสูงถึง 38 องศาเซลเซียสซึ่งวัดจากเมืองเวียร์โคยันสค์ ประเทศรัสเซีย คลื่นความร้อนในไซบีเรียส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่นี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5 องศาเซลเซียสในช่วง 6  เดือนที่ผ่านมา ทั้งยังก่อให้เกิดไฟป่า ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และนำไปสู่ภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังส่งผลให้ “ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว” (Permafrost) ละลาย ทำให้ถังเก็บนํ้ามันเชื้อเพลิงเสียหาย และนํ้ามันจำนวนมากรั่วไหลในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งการเกิดระบาดของผีเสื้อกลางคืน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชของไซบีเรีย ข่าวยังสรุปด้วยว่าต้นเหตุสำคัญน่าจะมาจากฝีมือมนุษย์
  • UN คาด “โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน” อาจเพิ่มขึ้น เหตุจากธรรมชาติถูกทำลาย (8 ก.ค. 63)  รายงานชิ้นใหม่ของสหประชาชาติเตือนว่า อัตราการเกิดโรคติดต่อที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน เช่น โรคโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัย ของสัตว์ถูกทำลาย การค้าสัตว์ป่า การทำเกษตรด้วยระบบที่ไม่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดย “เชื้อก่อโรค” หรือที่รู้จักกันว่าเป็น โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน รวมทั้งโรคอีโบลา โรคเมอร์ส โรคเอดส์และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ มีอัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้นเพราะมนุษย์รุกลํ้าที่อยู่อาศัยของสัตว์
  • นักวิจัยเผย ชาวออสเตรเลียตายด้วยโลกร้อนนับหมื่น วอนบรรจุเป็นสาเหตุการตาย (22 พ.ค. 63)  งานวิจัยเผยแพร่โดยมหาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) เปิดเผยว่า ความร้อนตามธรรมชาติที่มีมากจนเกินไปนั้นเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่าจำนวนคนที่ได้รับการบันทึกว่าเสียชีวิตเพราะสาเหตุนี้อย่างน้อย 50 เท่า จากตัวเลขสถิติพบว่าตลอด 11 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในออสเตรเลียที่ควรถูกระบุ สาเหตุการตายว่าเป็นเพราะความร้อนมากถึง 36,765 ราย แต่พวกเขากลับระบุสาเหตุการตายในใบมรณบัตรเช่นนั้นจริง ๆ เพียง 340 รายเท่านั้น ทั้งนี้ไฟป่าในหน้าร้อน เป็นผลมาจากความร้อนและความแห้งแล้งที่สูงผิดปกติ ขณะที่ผู้เสียชีวิตในเหตุไฟป่านั้นไม่ได้มีแค่นักผจญเพลิงแต่ยังมีชาวออสเตรเลียอีกไม่น้อยที่ต้องเสียชิวิตก่อนวัยอันควรเพราะสูดควันไฟ

การเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นปี 64
       ข้อมูลจาก www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_5653336 ได้สรุปไว้ว่าในปี 2564 อาจจะมีเหตุการณ์ที่จะช่วย “ชี้เป็นชี้ตาย” ในการต่อสู้กับปัญหานี้ได้แก่
  • การประชุมใหญ่ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศในเดือน พ.ย. 2564  การประชุมที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในปลายปีนี้มีความคาดหวังว่าจะเป็นเวทีที่มีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยิ่งกว่าเดิมเพราะหลังจากที่เคยร่วมประชุมกันในกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 และตกลงกันว่าจะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสแต่ก็ยังห่างไกลจากแผนอยู่มาก
  • การให้คำมั่นของประเทศต่า งๆ เพิ่มขึ้นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ เมื่อเดือน ก.ย. 2563 จีนได้ประกาศว่ามีการตั้งเป้าที่จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060) ซึ่งสร้างความตกตะลึงเพราะจีนเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกคือประมาณ 28% และการจะลดได้ต้องมีต้นทุนและความพยายามอย่างมาก แต่ก็ถือว่าช่วยทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่ดีจากคำมั่นดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ประกาศทำนองเดียวกัน สหประชาชาติประเมินว่าจะมี 110 ประเทศ ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ โดยประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันมากกว่า 65% ของทั้งโลก และมีขนาดเศรษฐกิจสูงกว่า 70% ของโลก
  • แนวโน้มการผลิตพลังงานหมุนเวียนมีมากขึ้นและราคาจะยิ่งถูกลง  ประเทศต่าง ๆ จะหันมาเพิ่มการลงทุนในพลังงานลม  พลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งโดยปกติต้นทุนการผลิตตอนนี้ไม่แพงแล้ว และมีแนวโน้มจะลดตํ่าลงอีก จนในที่สุดสามารถทำให้ปิดโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลได้
  • โลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไป  โรคระบาดนี้ช่วยยํ้าเตือนว่า โลกเราอาจเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดที่เราไม่สามารถควบคุมได้ หลังเหตุการณ์โควิด การสนับสนุนโครงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรเทาปัญหาความไม่แน่นอนเหล่านี้จะมีมากขึ้น ทั้งในมิติของประเทศ ธุรกิจ และระดับของประชาชน.

ที่มาและคำอธิบาย:
02  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7763 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.



HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 3) : แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงมาตรการในด้านต่างๆ ทั้ง 15 มาตรการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2573  ซึ่งภาคธุรกิจควรได้รับทราบจะได้สามารถวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องไปได้อย่างเหมาะสม.

       ในตอนนี้จะเริ่ม Share ให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับ Roadmap ของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจควรได้รับทราบจะได้สามารถวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องไปได้อย่างเหมาะสม


1. แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573
       ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เปิดเผยใน mitigation.onep.go.th ได้สรุปไว้ว่า จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้ระบุให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยได้รับการจัดลำดับจากองค์กร Germanwatch ให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ในขณะเดียวกันในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและมีการเติบโตของพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2543 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้) คิดเป็น 226.09 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มเป็น 318.66 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2556.

       ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงส่งผลให้เกิดความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) กำหนดให้ทุกประเทศเสนอเป้าหมายและความก้าวหน้าของการดำเนินงานภายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นระยะ ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวมีผลดีในการสร้างกลไกให้เกิดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 28 ประเทศ และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้การลดความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวต้องอาศัยความร่วมมือกันของประชาคมโลก ไม่สามารถดำเนินการโดยประเทศหนึ่งประเทศใดได้ ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประเทศไทยภายใต้ความตกลงปารีสนี้จึงมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการดำเนินการสร้างศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน.

       สำหรับการดำเนินงานของประเทศไทย นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อปี พ.ศ. 2537 ประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมกับนานาประเทศในการรักษาระดับความความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ประเทศไทยได้จัดส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี พ.ศ. 2563 (Intended Nationally Contribution : INDC) ไปยังสำนักงานเลขาธิการ UNFCC โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายหลังปี พ.ศ.2563 ที่ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ.

       ต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นนโยบายสำคัญของประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 โดยให้สำนักงบประมาณและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ซึ่งระบุแนวทางและมาตรการในรายละเอียดเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้ตั้งไว้ หรือเรียกแผนนี้ว่า NDC Roadmap on Mitigation 2021-2030.

       ในการดำเนินการเพื่อเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2573 นั้น คณะทำงานจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ยกร่างแผนที่นำทางแยกตามรายสาขาด้วย เช่น สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย เป็นสาขาที่เป็นแผนหลักของหน่วยงานที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกได้ คิดเป็นศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ.2573 รวมทั้งสิ้น 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือร้อยละ 20 จากกรณีปกติ โดยมาตรการตามแผนงานที่จะส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยมาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง 9 มาตรการ มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย 4 มาตรการ และมาตรการในกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 2 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 15 มาตรการ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก ผู้สนับสนุนและกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินมาตรการ.


2. มาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (พ.ศ.2564-2573)
       เป้าหมายการลด   ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ. 2573 เท่ากับ 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
       มาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง
       เป้าหมายการลดของสาขาพลังงานและขนส่ง  
       ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ. 2573 เท่ากับ 113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  มาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง ล้านตันคาร์บอน
ไดออกไซด์เทียบเท่า
  มาตรการด้านการผลิตไฟฟ้า 6
   1) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานจลไฟฟ้า 6
   2) มาตรการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานทดแทน 18
     
  มาตรการด้านการใช้พลังงานในครัวเรือน   
   3) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในครัวเรือน  4
   4) มาตรการผลิตไฟฟ้ามาจากทดแทนในครัวเรือน
     
   มาตรการใช้พลังงานในอาคารเชิงพาณิชย์ (รวมอาคารรัฐ)  
   5) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร  1
     
   มาตรการด้านการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม  
   6) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอุตสาหกรรม 11
   7) มาตรการใช้พลังงานทดแทนในอุตสาหกรรม  32
     
   มาตรการด้านการคมนาคมขนส่ง   
   8) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการคมนาคมขนส่ง  31
   9) มาตรการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานพาหนะ  10

มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย

เป้าหมายการลดของสาขาการจัดการของเสีย   
         
       ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ. 2573 เท่ากับ 2.0 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย  ล้านตันคาร์บอน
ไดออกไซด์เทียบเท่า
  มาตรการด้านการจัดการขยะ   
   10) มาตรการลดปริมาณขยะ 1.3
     
  มาตรการด้านการจัดการน้ำเสีย   
  11) มาตรการเพิ่มการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรมด้วยการนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ 0.7
  12) มาตรการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรมอื่น ๆ และ 
  13) มาตรการจัดการน้ำเสียชุมชน 

มาตรการในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์

เป้าหมายการลดของสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมฯ   
       

       ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ.2573 เท่ากับ  0.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  มาตรการในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  มาตรการด้านการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม  
  14) มาตรการทดแทนปูนเม็ด   0.3
  15) มาตรการทดแทน/ ปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น  0.3

      ภาคธุรกิจอาจลองพิจารณาว่าในกระบวนการทำธุรกิจของตนเกี่ยวข้องมากน้อยกับมาตรการใน 3 สาขา แล้วอาจเริ่มจากการสำรวจและประเมินสถานะว่าธุรกิจของเรามีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกอย่างไรและเท่าใด และถ้าเราร่วมสร้างเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับภาครัฐให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จากปัจจุบัน ก็อาจเป็นแนวทางตั้งต้นที่ดีเพื่อลดปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน

ที่มาและคำอธิบาย:
03  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7764 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.


HIGHLIGHT
     ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 4) : รู้จักกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และความเสียหายจากมลพิษอันเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงบทสรุปของการใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อน และในมิติของภาคธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิล สามารถมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต.

       บทความในตอนที่แล้วได้อธิบายถึง Roadmap และมาตรการกรณีของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกในช่วงปี 2564-2573 โดยที่มาตรการจำนวนหนึ่งระบุเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งในส่วนของครัวเรือน อุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งส่วนสำคัญของพลังงานดังกล่าวมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย บทความตอนนี้จะนำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งความเสียหายจากมลพิษอันเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และ การสรุปให้เห็นถึง การยิ่งใช้พลังงานฟอสซิลยิ่งที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งกระบวนการทำธุรกิจในปัจจุบันก็เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิล จึงควรมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลังงานดังกล่าว.


1. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล
       ข้อมูลจาก National Geographic  ฉบับภาษาไทย (ngthai.com) ในบทความเรื่อง เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) โดย คัดคณัฐ ชื่นวงค์อรุณ สรุปไว้ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลคือ อินทรีย์สารใต้พื้นโลกที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์ ใต้ทะเลลึกเมื่อหลายพันปีก่อน พร้อมกับได้รับความร้อนจากใต้พื้นโลก ทำให้ซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันหนาแน่นใต้ชั้นหินตะกอนเกิดการย่อยสลายกลายเป็นแหล่งสะสมของสารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ขนาดใหญ่ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและแหล่งกำเนิดพลังงานต่าง ๆ เชื้อเพลิงฟอสซิลจำแนกออกเป็น 3 ประเภทตามสถานะของสารได้แก่
  • ของแข็ง : ถ่านหิน (Coal)  เป็นหินตะกอนสีน้ำตาลดำ หรือถ่านหิน เกิดจากซากพืชในพื้นที่แฉะทับถมกันเป็นเวลานาน (ราว 300-360 ล้านปี) ภายใต้แรงดันและความร้อนสูงที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวโลก ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายและเกิดเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในสถานะของแข็ง ถ่านหินแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามองค์ประกอบทางเคมีได้แก่ พีต (Peat) ลิกไนต์ (Lignite) ซับบิทูมินัส ( Sub- Bituminous) บิทูมินัส (Bituminous) และ แอนทราไซด์ ( Anthracite) ถ่านหินเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน เพื่อใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรม ประเทศผู้ผลิตหลักถ่านหินที่สำคัญได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา.
  • ของเหลว: น้ำมันดิบ (Crude Oil)  น้ำมันดิบประกอบด้วยคาร์บอน (Carbon)  และไฮโดรเจน (Hydrogen) เป็นองค์ประกอบหลักมีสถานะเป็นของเหลวที่มีสีสันหลากหลายและมีอัตราความหนืดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี น้ำมันดิบส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นในช่วง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) หรือราว 66-252 ล้านปีก่อน โดยเกิดจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์ใต้ท้องทะเลในอดีต น้ำมันดิบไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงต้องนำไปผ่านกระบวนการกลั่นและกระบวนการผลิตแยกส่วน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Petroleum Product) หลายชนิด เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยานและน้ำมันเตา ประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และรัฐเซีย
  • ก๊าซ : ก๊าซธรรชาติ (Natural Gas)  ก๊าซธรรมชาติจะไร้สีไร้กลิ่น ประกอบด้วย มีเทน (Methane) เป็นหลัก เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตใต้พื้นดิน เมื่อหลายล้านปีก่อน เช่นเดียวกับ ถ่านหินและน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสะอาด เนื่องจากมีกระบวนการเผาไหม้ที่สมบูรณ์จึงเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซียและอิหร่าน
       นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้จากกระบวนการแยกส่วนในการกลั่นน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงฟอสซิลยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น พลาสติก ผงซักฟอก ยางสังเคราะห์ ปุ๋ยเคมี และกาวเป็นต้น.

       เมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเผาไหม้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ผลผลิตสุดท้ายที่ปล่อยออกมาคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งคงค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ก๊าซเหล่านี้มีความสามารถในการดักจับและเก็บความร้อนได้ดี ส่งผลให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหิน และน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าร้อยละ 75% ตั้งแต่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม เป็นต้นมา แม้ว่าการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ในกระบวนการสำรวจ ขุดเจาะและขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิลยังสามารถสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมของโลก.


2. อากาศพิษ : ราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิล
       ข้อมูลจาก greepeace.org เปิดเผยว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกราว 4.5 ล้านคนต่อปี มลพิษทางอากาศยังทำให้โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง และโรคเจ็บป่วยฉับพลันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนหลายล้านคนต้องเข้าโรงพยาบาลและต้องขาดงานเพราะลาป่วย รวมถึงยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ประมาณการว่าความเสียหายดังกล่าวอาจสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 3.3 % ของจีดีพีโลก และตราบใดที่ถ่านหิน น้ำมัน และบริษัทรถยนต์ยังคงผลักดันการใช้เทคโนโลยีเก่าล้าสมัย เราก็ยังคงต้องจ่ายค่าความเสียหายต่อสุขภาพของผู้คนและชุมชน.

       ในขณะเดียวกันมีความพยายามประเมินมูลค่าความเสียหายด้านมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งตัวเลขการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกราว 4.5 ล้านคนในแต่ละปี ตัวเลขดังกล่าวนี้สูงมากกว่า 3 เท่า ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก มีการวิเคราะห์ว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) 600,000 คนต่อปี เกี่ยวข้องกับฝุ่น pm 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประมาณการของมูลค่าความเสียหายของมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ฟอสซิลอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็น 3.3% ของจีดีพีโลก.

       มลพิษทางอากาศยังคงเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศรายได้ต่ำซึ่งรายงานพบว่ามีเด็กราว 40,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนครบรอบวันเกิดวัย 5 ขวบ เพราะรับฝุ่น pm 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ฝุ่น pm 2.5 ยังเป็นสาเหตุของภาวะคลอดก่อนกำหนดราว 2 ล้านคนต่อปี.



3. การใช้พลังงานฟอสซิล : ยิ่งใช้โลกยิ่งร้อน
       บทความของ Stephen Leahy ที่สรุปลงใน National Geographic ฉบับภาษาไทย (ngthai.com) เมื่อ 3 ก.ค. 2019 ระบุว่า ณ ขณะนี้โลกของเรามีโรงงานไฟฟ้า โรงงานยานพาหนะ และอาคารที่อาศัยพลังงานฟอสซิลอยู่มากมาย ถ้าสถานที่เหล่านี้ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลเช่นทุกวันนี้ไปเรื่อย ๆ อุณหภูมิของโลกจะสูงเกินความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้โลกได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกของเราควรยุติการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใด ๆ ที่มีการใช้พลังงานฟอสซิล รวมทั้งต้องพิจารณาหาทางทยอยปิดโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลที่ดำเนินการอยู่ มีงานวิจัยที่พยายามตอบคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีการสร้างโรงงานเชื้อเพลิงเผาไหม้ฟอสซิล โดยงานวิจัยได้ตรวจสอบการปล่อยก๊าซของไฟฟ้า แหล่งพลังงาน การจราจรขนส่ง ที่พักอาศัย และโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ของปี 2018 และคำนวณค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต ซึ่งใช้ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาจำนวนปีที่ได้มีการปล่อยก๊าซนี้.

       มีการยกตัวอย่างว่า โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ในทุกวันนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับล้านตันทุกปีในตลอดช่วงดำเนินงานตลอด 40 ปี ที่ผ่านมา รถยนต์คันใหม่ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4 ตันต่อปี จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 60 ตัน ในกรณีที่รถยนต์นี้มีอายุการใช้งาน 15 ปี และถึงแม้ว่าจะมีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยพื้นที่ป่าไม้และมหาสมุทรแต่ก็ยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากอยู่ในชั้นบรรยากาศและถูกขังอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายร้อยปีเว้นเสียแต่ว่าโลกจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อดูดซับก๊าซเหล่านี้จากชั้นบรรยากาศกลับมาบนโลกอีกครั้ง.

       งานวิจัยสนับสนุนให้ทำการปลดระวาง โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานฟอสซิลให้เร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้ เพราะหากรวมตัวเลขของโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ดำเนินการอยู่ ที่กำลังวางแผนก่อสร้าง หรือมีแผนจะก่อสร้าง จะยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น จนทำให้ยากลำบากที่จะทำให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่า 2 องศา และลืมเรื่องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซนเซียสไปเลย.

       นอกเหนือไปจากการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้ว ควรเร่งพัฒนาทางเลือกของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ซึ่งแม้จะมีการเติบโต แต่ก็ยังไม่ทันกับความต้องการพลังงาน ทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลไม่สามารถลดลงอย่างที่ควรจะเป็น.

       นอกจากนี้การเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าจำนวนหลายล้านตารางกิโลเมตร การใช้เทคโนโลยีที่สามารถดักจับคาร์บอนในปริมาณที่มากขึ้น จะเป็นวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาในอีกทางหนึ่ง.

       ในมิติของภาคธุรกิจนั้น ควรเริ่มต้นจากการหันไปทบทวนว่า บนกระบวนการทำธุรกิจของตนเองตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำ บริษัทและผู้เกี่ยวข้องดำเนิธุรกิจด้วยการจัดหาและใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไรและเท่าใด และบริษัทจะมีส่วนที่กำหนดนโยบาย วางเป้าหมายและแผนงานอย่างไร เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากพลังงานฟอสซิล แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่สามารถทำได้ทันทีทั้งหมดบนกระบวนการทำธุรกิจในปัจจุบัน อย่างน้อยบริษัทก็ได้ตั้งต้นในการเห็นสภาพปัญหา และความเกี่ยวข้องของธุรกิจ และได้แสดงความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในส่วนมาตรการการให้ความรู้แก่ที่ผู้เกี่ยวข้อง การกำหนดนโยบายและเป้าหมาย การกำหนดแผนงานการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการวัด การประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว บริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการบริหารพลังงานฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และยังทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งทางผลการดำเนินงาน จะได้รับความชื่นชมว่า ทำธุรกิจอย่างมีความประณีต และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจริง ๆ ไม่ใช่แค่มีคำปฎิญญาประกาศเท่านั้น การทำจริงดังกล่าวจะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กร รวมทั้งความยั่งยืนของโลกด้วย ความร่วมมือเพื่อลดโลกร้อน จากภาคธุรกิจ จึงอาจตั้งต้นกลับไปทบทวนและหาทางแก้ไข การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลซึ่งสามารถเริ่มได้เลย ไม่ต้องรอใคร!



ที่มาและคำอธิบาย:
04  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7765 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.



HIGHLIGHT
     ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 5) : การตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เริ่มได้โดยการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมของธุรกิจ เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนในการลดผลกระทบดังกล่าวในระยะสั้นและระยะยาว ถือเป็นการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในระยะยาว และส่งผลดีต่อการเติบโตของมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต.

       เราได้กล่าวไปแล้วว่าการใช้พลังงานจากฟอสซิลของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าพลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติยังจำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไม่ว่าจะใช้เพื่อทำให้เกิดพลังงานความร้อน ความเย็น ผ่านกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการอยู่อาศัย การผลิตสินค้าบริการรวมทั้งใช้เพื่อขับเคลื่อนยายยนต์ตอบสนองการคมนาคมขนส่งต่าง ๆ บทความตอนนี้จะสรุปให้เห็นถึงการใช้พลังงานฟอสซิลโดยตรงและโดยอ้อมของภาคธุรกิจ เพื่อเป็นจุดตั้งต้นให้ภาคธุรกิจหันไปตระหนักและเริ่มเก็บข้อมูลว่าในกระบวนการทำธุรกิจของตน ใช้พลังงานฟอสซิลไปเท่าใด และหากคำนวณแล้วธุรกิจมีส่วนได้สร้างมลภาวะโลกร้อนเท่าใด และจะมีแผนระยะสั้นระยะยาวอย่างไรเพื่อมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบดังกล่าว ข้อมูลเหล่านี้ในอนาคตจะเริ่มมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคู่ค้า ลูกค้า สถาบันการเงิน นักลงทุนเป็นต้น มีแนวโน้มที่อยากทราบข้อมูลเหล่านี้มากขึ้นในอนาคต และเป็นสิ่งกดดันต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะผู้ที่เพิกเฉยอาจถูกต่อต้านโดยไม่สนับสนุนสินค้าและบริการของบริษัท จนกระทบต่อการลดลงของมูลค่าของกิจการได้.


1. ธุรกิจควรมีข้อมูลการใช้พลังงานฟอสซิลของตนในปัจจุบัน
       ผู้ประกอบการและพนักงานในภาคธุรกิจ ควรทราบว่า การใช้น้ำมันเชื่อเพลิงในการขนส่งคมนาคมหรือในกระบวนการผลิตสามารถทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญ ได้แก่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดฝนกรดและปรากฎการณ์เรือนกระจก นอกจากนี้ น้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็มาจากพลังงานฟอสซิล สำหรับก๊าซธรรมชาติที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้านั้นแม้จะทำให้เกิดมลพิษน้อยกว่าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น แต่การนำก๊าซธรรมชาติมาใช้นั้นจะเกิดก๊าซมีเทนรั่วสู่บรรยากาศประมาณร้อยละ 2 และเมื่อเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติก็จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเช่นกัน ในด้านลิกในต์ที่นำมาผลิตไฟฟ้า หากไม่มีระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งหากติดตั้งระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ได้มาตราฐานก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 20-30.

       ธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิลไม่มากก็น้อย อาจผ่านการจัดหาและขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน การขนส่งระหว่างการผลิต การขนส่งสินค้าไปยังผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค ในส่วนของการใช้พลังงานไฟฟ้าผ่านเครื่องจักรในกระบวนการผลิต ไฟฟ้าส่องสว่างในโรงงานและสำนักงานการใช้ไฟฟ้าผ่านเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น ธุรกิจอาจเริ่มต้นโดยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้รูปแบบหลัก 2 ชนิด คือการขนส่งหรือการเดินทางกับการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการทำธุรกิจห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของตนเอง เช่น ช่วงก่อนการผลิต (Inbound Logistics) ช่วงการผลิต (Production) ช่วงหลังการผลิต (Outbound Logistics) โดยบันทึกความถี่ ปริมาณการใช้พลังงาน และค่าใช้จ่ายเอาใว้ การมีข้อมูลดังกล่าวจะเป็นพื้นฐาน (Benchmark) เอาไว้ให้ธุรกิจได้เห็นว่าปัจจุบันธุรกิจมีสถานะการใช้พลังงาน เช่น น้ำมัน และไฟฟ้าอย่างไร เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์เพราะสามารถนำไปวิเคราะห์จุดที่อาจใช้พลังงานสิ้นเปลืองหรือปรับปรุงการใช้ให้มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมได้.


2. ธุรกิจควรมีองค์ความรู้และวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน
       แม้ว่าพลังงาน เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้าจะยังคงเป็นพลังงานพื้นฐานที่ธุรกิจยังจำเป็นต้องใช้อยู่ในการผลิตสินค้าและบริการก็ตาม แต่ถ้าธุรกิจสามารถหาวิธีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือวิธีประหยัดกว่าเดิมที่ทำให้เกิดการลดการใช้พลังงานได้ นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนแล้วยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบทางลบในด้านภาวะโลกร้อนได้.

       ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การใช้น้ำมันหรือการใช้ไฟฟ้าเพราะสามารถสืบค้นได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งสามารถรวบรวมและเรียนรู้ได้ไม่ยากแต่มีข้อคิดสำหรับธุรกิจว่า การใช้พลังงานในธุรกิจนั้น ผู้ใช้ก็คือบุคลากรหรือพนักงานของธุรกิจนั่นเอง เช่น มีคนที่ต้องขับรถไปรับวัตถุดิบ ไปส่งสินค้า หรือมีคนที่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ต้องเปิดใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งกระจายอยู่ ณ จุดต่าง ๆ ขององค์กร คำถามก็คือกลุ่มคนเหล่านี้มีการปฎิบัติในการใช้พลังงานอย่างไร มีความตระหนักรู้ที่จะใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีความห่วงใยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน รวมทั้งมีความรู้และทักษะในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า นอกจากสามารถสร้าง DNA ความตระหนักในเรื่องดังกล่าวลงไปยังพนักงานทั่วถึงทั้งองค์กรแล้ว ในหน่วยงานย่อยต่าง ๆ ที่พนักงานสังกัดอยู่ ยังมีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายและลงปฏิบัติเพื่อควบคุมการใช้พลังงานไม่ให้สิ้นเปลือง ซึ่งการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ที่ใช้พลังงานถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด และจะสามารถหาวิธีที่จะประหยัดพลังงานได้ดีขึ้นด้วย.

       ในหัวข้อที่แล้วสถานะการใช้พลังงานในปัจจุบันขององค์กรถือเป็นจุดตั้งต้นที่จะต้องตั้งคำถามกับพนักงานว่าในจุดนั้น เป็นจุดที่ดีที่สุดให้องค์กรหรือยัง หากพนักงานได้เห็น และองค์กรได้เติมความตระหนักรู้และทักษะให้กับพนักงาน เมื่อพนักงานรู้ เข้าใจและเข้าร่วมกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนเพื่อช่วยนำไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิมขององค์กร การประหยัดพลังงานก็จะเกิดขึ้น.


3. ทำดีต้องกล้าเปิดเผย
       หัวข้อนี้ไม่ได้หมายความว่า หากเราทำดีแล้วให้เราอวดตัว แต่เป็นเรื่องที่จะชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลการประหยัดพลังงาน เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (Stakeholders) ทั้งใกล้และไกลอยากรู้ เพราะทุกภาคส่วนต่างก็กังวลกับปัญหาภาวะโลกร้อน ข้อมูลที่บอกว่าธุรกิจแต่ละแห่งได้ดำเนินการอะไรบ้างเพื่อช่วยลดปัญหานี้ การใช้และการประหยัดพลังงานก็จะเป็นหัวข้อหนึ่งของการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ธุรกิจที่ทำได้ดี เมื่อเปิดเผยข้อมูลว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ผลเป็นอย่างไร จะสะท้อนให้เห็นถึงการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ แสดงถึงความใส่ใจขององค์กรที่จะทำธุรกิจอย่างประณีต ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้เกี่ยวข้อง ในระยะยาว ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง ส่งผลดีต่อการเติบโตของมูลค่าและอยู่ในข่ายของบริษัทที่มีความยั่งยืน.

       ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ไม่ได้ทำเรื่องการประหยัดพลังงานกับกระบวนการภายในขององค์กรตนเองเท่านั้น แต่ยังแบ่งปันวิธีการไปยังคู่ค้า ลูกค้า ชุมชน เป็นต้น เพื่อช่วยให้เกิดผลลัพธ์การประหยัดพลังงานเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงจะสามารถรวมพลังแก้ไขภาวะโลกร้อนร่วมกันได้ อย่างไรก็ดีการลดการใช้พลังงานฟอสซิลโดยตรงถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น การสนับสนุนให้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดเป็นต้น ก็เป็นอีกแนวทางที่จะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลลดลงได้ ซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงในตอนต่อ ๆ ไป.


ที่มาและคำอธิบาย:
05  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7791 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.


HIGHLIGHT
     ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 6) : รู้จักกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ประเภทต่าง ๆ ที่ธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญ และสามารถเลือกนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้.

       บทความตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป จะอธิบายถึง พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ที่มีกระแสการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคธุรกิจด้วย หันมาให้ความสำคัญและนำมาใช้เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลซึ่งมักสร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่า ในขณะที่ปัจจุบันนี้พลังงานทดแทนบางประเภท เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็ถูกจัดว่าเป็นพลังงานสะอาดที่ปลอดภัย รวมทั้งเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานเหล่านี้ก็มีต้นทุนที่ต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต.


1. ลักษณะพื้นฐานของพลังงานทดแทน
       ข้อมูลจาก Wikipedia สรุปไว้ว่า พลังงานทดแทน หมายถึงพลังงานที่ใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และแก๊ซธรรมชาติ ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลอันเป็นสาเหตุให้โลกร้อน ตัวอย่างพลังงานทดแทนที่สำคัญเช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ เชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น.

       ข้อมูลจาก adheseal.com สรุปได้ว่าในปี 2560 อัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทนเทียบกับพลังงานทั้งหมดของโลกเท่ากับ 14 เปอร์เซ็นต์ และภายในอีก 20 ปี อัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทนอาจสูงขึ้นกว่า 2 เท่า เป็น 31 เปอร์เซ็นต์ โดยอัตราส่วนของการใช้พลังงานที่ลดลงนั้นเป็นส่วนของพลังงานฟอสซิล ซึ่งมีการตกค้างที่สกปรกกว่า จะเห็นได้ว่าในอนาคตพลังงานทดแทนจะมีความสำคัญมากขึ้นและจะเข้ามาแทนที่พลังงานสกปรก  อย่างไรก็ดี พลังงานทดแทนอาจจะไม่ได้มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป เช่นพลังงานชีวมวล และพลังงานน้ำอาจส่งผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และสภาพภูมิอากาศ จากการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานน้ำ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าไปบางส่วน และเขื่อนยังเป็นสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ และการอพยพที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ทำให้คุณภาพของน้ำลดลง และสามารถทำลายระบบนิเวศทางน้ำ เป็นต้น.

       ถึงกระนั้น ข้อดีของพลังงานทดแทนก็ยังมีอีกมาก เพราะพลังงานทดแทนคือ พลังงานที่เกิดมาจากทรัพยากรธรรมชาติ หรือมาจากกระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้เรื่อย ๆ อย่างไม่จำกัด เช่นแสงอาทิตย์ที่ส่องออกมาจากดวงอาทิตย์ได้ทุกวัน หรือ คลื่นในทะเลที่ซัดเข้าฝั่งได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นต้น ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก พยายามศึกษาและค้นหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และมีประสิทธิภาพดียิ่งกว่าพลังงานแบบเดิม เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมของโลก.


2. ประเภทของพลังงานทดแทน
       ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสรุปไว้ใน Wikipedia ในเรื่องการจำแนกประเภทของพลังงานทดแทนไว้ดังนี้.

     
 พลังงานแสงอาทิตย์  
       ดวงอาทิตย์ให้พลังงานจำนวนมหาศาลแก่โลกของเรา พลังงานทดแทนจากดวงอาทิตย์จัดเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ เป็นพลังงานสะอาดไม่ทำปฎิกิริยาใด ๆ อันจะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เซลล์แสงอาทิตย์เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานที่รับมาจากเซลล์แสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้สูงและในส่วนของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ในเกณฑ์สูง โดยมีพลังงานโดยเฉลี่ยซึ่งได้รับทั่วประเทศ ประมาณ 4 ถึง 4.5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาให้มีการผลิตและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น.

       ในขณะที่การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ข้อจำกัดประการหนึ่งก็คือ การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าต้องใช้พื้นที่โล่งขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งอาจใช้บนพื้นที่ทุ่งโล่ง หรือ ลอยอยู่ในอ่างน้ำขนาดใหญ่ก็ได้. 

       
พลังงานลม  
        เป็นพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ 2 ที่ ซึ่งสะอาดและบริสุทธิ์ ใช้แล้วไม่มีวันหมดสิ้นไป จากโลก ได้รับความสนใจนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน กังหันลม เป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และใช้ในการสูบน้ำได้ด้วย พลังงานลมเกิดจากพลังงานจากดวงอาทิตย์ตกกระทบโลกทำให้อากาศร้อน และลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากบริเวณอื่น ซึ่งเย็นและหนาแน่นมากกว่าจึงเข้ามาแทนที่ การเคลื่อนที่ของอากาศเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดลม และมีอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งพื้นที่แนวฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย สามารถสร้างพลังงานลมที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะพลังงานกล (กังหันสูบน้ำ และผลิตไฟฟ้า) ศักยภาพของพลังงานลมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้สำหรับประเทศไทย มีความเร็วอยู่ระหว่าง 3-5 เมตรต่อวินาที และความเข้มพลังงานลมที่ประเมินไว้ได้อยู่ระหว่าง 20-50 วัตต์ต่อตารางเมตร.

       
พลังงานความร้อนใต้พิภพ  
       เป็นการใช้ประโยชน์จากความร้อนด้านในของโลก ซึ่งที่แกนของโลกอาจร้อนถึง 9,932 องศาฟาเรนไฮท์ ความร้อนจากใต้พิภพมีลักษณะค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดปี และในที่มีแหล่งเก็บน้ำที่ใกล้กับแหล่งความร้อนจากใต้พิภพนั้น สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำร้อนได้ดีโดยสามารถส่งผ่านท่อไปช่วยทำความร้อนในบ้านทำให้เรือนกระจกอุ่นขึ้น และแม้แต่ละลายหิมะบนถนน นอกจากนี้พลังงานความร้อนใต้พิภพสามารถก่อให้เกิดพลังงานไฟฟ้าได้ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพใช้บ่อน้ำความลึกสูงสุดประมาณ 1.5 กิโลเมตร (1ไมล์) ซึ่งความร้อนจากน้ำที่เดือดจนเกิดไอน้ำจะทำให้ใบพัดหมุนและกำเนิดไฟฟ้าได้ โรงไฟฟ้าสมัยใหม่ใช้น้ำร้อนจากผิวดินเพื่อทำความร้อนให้กับของเหลว เช่น ไอโซบิวทีน ซึ่งเดือดที่อุณหภูมิต่ำกว่าน้ำ ซึ่งเมื่อระเหยกลายเป็นไอและขยายตัวก็จะทำให้ใบพัดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนได้เช่นกัน.

       การผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพแทบไม่ก่อมลพิษหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเลย พลังงานนี้เงียบและน่าเชื่อถือมาก โรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพผลิตพลังงานประมาณ 90% ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับ 65-75% ของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำร้อนที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้วนั้น แม้อุณหภูมิจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอบแห้ง และใช้ในห้องเย็นสำหรับรักษาพืชผลทางการเกษตรได้  นอกจากนั้นน้ำที่เหลือใช้ยังสามารถนำไปใช้เพื่อกายภาพบำบัดหรือเพื่อการท่องเที่ยว สุดท้ายการนำน้ำดังกล่าวที่มีความอุ่นเหลือเล็กน้อยเมื่อปล่อยลงไปผสมกับน้ำธรรมชาติในลำน้ำ ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้งได้อีกด้วย อย่างไรก็ดีการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพมีข้อควรระวัง เกี่ยวกับก๊าซพิษที่ออกมาจากความร้อนด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบการหายใจหากมีการสูดดม ต้องมีวิธีกำจัดโดยเอาก๊าซผ่านเข้าไปในน้ำ และกลายเป็นกรดซัลฟิวริก ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ในน้ำอาจมีแร่ธาตุมากเกินไปต้องแยกก่อนจะปล่อยออกสู่ลำน้ำธรรมชาติเสียก่อน อีกทั้งการดึงแหล่งน้ำสำรองที่มีความร้อน ต้องระวังการเกิดปัญหาแผ่นดินทรุดด้วย.

       
พลังงานชีวภาพ
       ได้แก่การนำของเสียจากสิ่งมีชีวิต เช่น ขยะที่เป็นสารอินทรีย์หรือมูลสัตว์ไปหมักให้ย่อยสลายโดยปราศจากอ๊อกซิเจน จะทำให้ได้ก๊าซมีเทน ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเกษตรกรได้นำก๊าซชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองเหล่านี้มาใช้ในครัวเรือนมากขึ้น ทำให้ลดการใช้พลังงานฟอสซิลได้เป็นจำนวนมาก เกษตรกรบางส่วนยังขายมูลสัตว์ให้กับโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อการพาณิชย์ด้วย.

       
พลังงานชีวมวล
       เชื้อเพลิงที่ได้จากสิ่งมีชีวิต เช่นไม้ฟืน แกลบ กากอ้อย เศษไม้ เศษหญ้าที่เหลือทิ้งจากการเกษตรใช้เผาให้ความร้อนได้ เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพแบบของแข็ง และความร้อนนี้สามารถนำไปปั่นไฟได้ มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศเกษตรกรรมจะมีวัตถุดิบเพื่อสร้างเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวนมาก เทียบได้กับน้ำมันดิบปีละไม่น้อยกว่า 6,500 ล้านลิตร.

       
พลังงานน้ำ
       พื้นผิวโลกถึง 70% ปกคลุมด้วยน้ำ ซึ่งสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย น้ำเหล่านี้มีการเปลี่ยนสถานะและหมุนเวียน ตลอดเวลาระหว่างผิวโลกและบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง น้ำที่กำลังเคลื่อนที่มีพลังงานสะสมอยู่มาก มนุษย์รู้จักนำพลังงานน้ำมาใช้หลายร้อยปีแล้ว เช่นใช้หมุนกังหันน้ำ ปัจจุบันมีการนำพลังงานน้ำไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งมักจะอยู่กับเขื่อนกักเก็บน้ำที่สร้างขึ้น.

       
พลังงานจากขยะ
       ขยะชุมชนจากบ้านเรือนและกิจการต่าง ๆ เป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง ขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมวลชีวภาพ เช่น กระดาษ เศษอาหาร และไม้เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่ถูกออกแบบให้ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงได้ โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง จะนำขยะมาเผาบนตะแกรงความร้อนที่เกิดขึ้นใช้ต้มน้ำในหม้อน้ำจนกลายเป็นไอน้ำเดือด ซึ่งจะไปเพิ่มแรงดันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
นี่คือส่วนหนึ่งของพลังงานทดแทนซึ่งธุรกิจสามารถเลือกนำมาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของธุรกิจที่มีทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับประเภทของพลังงานทดแทนในรูปแบบไหนเพื่อให้เหมาะสมกับกิจการ ซึ่งการที่ธุรกิจใส่ใจในเรื่องของการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนนั้น ถือเป็นการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และจะสะท้อนออกมาเป็นมุมมองเชิงบวกกับผู้ที่เกี่ยวข้องในระยะยาว และส่งผลดีต่อการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต


ที่มาและคำอธิบาย:
06  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7797 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.



HIGHLIGHT
     ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 7) : เทรนด์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน และพลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดโลกร้อนของไทย.

       หลังจากที่ได้นำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน ประเภทต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งมีผลต่อภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมากในบทความตอนที่แล้ว ในตอนนี้จะนำเสนอเทรนด์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน และพลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดโลกร้อนของไทย.


1. เทรนด์ใหม่ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
       ข้อมูลจาก EGAT Biznews ใน www.egat.co.th เมื่อ 23 มิถุนายน 2563 ได้สรุปความก้าวหน้าและแนวโน้มใหม่ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนไว้ 5 แนวทางดังนี้.

การก้าวสู่ตลาดพลังงานหมุนเวียนแบบ Real Time
       เนื่องจากตลาดพลังงานหมุนเวียนกำลังพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบการจัดการและการซื้อขายจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จึงเกิด Trend ของตลาดพลังงานหมุนเวียนแบบ Real Time ซึ่งจะกลายเป็นทิศทางหลักในอนาคต รายงานด้านพลังงานหมุนเวียน ปี ค.ศ. 2019 ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA: International Energy Agency) คาดการณ์ว่าตลาดพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีก 50% ภายในปี ค.ศ. 2024 การเปลี่ยนขั้วในเวลาอันสั้นจากพลังงานแบบดั้งเดิมไปสู่พลังงานแบบใหม่ที่ยังขาดความสม่ำเสมอแน่นอน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะตลาดพลังงานต้องการพัฒนาระบบตลาดพลังงานระหว่างวัน (Intraday Market) ให้อยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียง สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเวลาจริง (Real Time) มากที่สุด จะเห็นว่ามีหลายตลาดที่นำข้อกำหนดระยะเวลาในการตกลงชำระค่าพลังงานระยะสั้น (Short Energy Settlement Period) มาใช้มากขึ้น.

       ความไม่แน่นอนของผลผลิตคือจุดอ่อนสำคัญของพลังงานหมุนเวียน เพราะสภาวะธรรมชาติที่อาจควบคุมไม่ได้ในบางครั้งผู้ประกอบการจึงต้องหาวิธีรับมือ เช่นในวันที่มีแสงแดดน้อย โรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต้องหาทางชดเชยพลังงานที่ผลิตได้ไม่พอ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้มีการส่งพลังงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ปัจจัยในทำนองนี้นำไปสู่ความผันผวนด้านราคาพลังงานระหว่างวัน ด้วยเหตุนี้ประเทศออสเตรเลียจึงมีนโยบายสร้างตลาดแบบ Real Time โดยเปลี่ยนระยะเวลากำหนดราคาซื้อขายทันทีของพลังงานไฟฟ้า (Electricity Spot Prices) จากเดิมที่ตั้งราคาทุก 30 นาที เป็นทุก 5 นาที โดยจะมีผลในปี 2021 ออสเตรเลียเชื่อว่าข้อบังคับนี้จะช่วยให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาที่เหมาะสมไม่แพงเกินไป และทำกำไรได้มากขึ้น.

การค้าผ่านระบบ Algorithm และโปรแกรมต่าง ๆ
       เมื่อตลาดพลังงานก้าวไปสู่ระบบตลาดแบบ Real Time สิ่งที่ตามมาก็คือ ข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือ Big Data และการใช้ระบบ Algorithm เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและนำมาใช้ในการตัดสินใจซื้อขายจากระบบเดิมที่มีข้อมูลการเพิ่มต้นทุน (Increment) เพียง 24 รอบต่อวัน และการกำหนดราคา (Cost Settlement) เป็นรายชั่วโมง เมื่อตลาดเข้าสู่ระบบ Real Time ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นจนเมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็จะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุน 288 รอบต่อวันและกำหนดราคาทุก 5 นาที (ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้น 1,100%).

       ระบบ Algorithm จะช่วยรับมือ ในสถานการณ์เช่นนี้และช่วยให้ผู้ค้าด้านพลังงานทำกำไรได้ดีขึ้นรวมถึงช่วยลดต้นทุนทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ที่เกิดขึ้นแบบ 24 ชั่วโมงต่อวัน ตลาดพลังงานในยุโรปกำลังเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ระบบใหม่ ๆ เหล่านี้ บรรดาผู้ค้าพลังงานจะตั้งค่าตัวแปรต่าง ๆ เช่น ฐานราคาต่ำสุด และเพดานราคาสูงสุดในการซื้อขาย แล้วใช้ระบบคิดคำนวณตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ออกมาเป็นกลยุทธ์การขาย การตั้งออร์เดอร์การซื้อขายเปลี่ยนถ่ายพลังงาน เป็นต้น แล้วส่งผ่านข้อมูลเหล่านั้นด้วย Software ในกลุ่ม ETRM (Energy Trade and Risk Management) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คำนวณและบริหารจัดการความเสี่ยงในการซื้อขายพลังงานไปยังผู้เกี่ยวข้อง.

การขยายตัวของการค้าเสรีในตลาดพลังงานโลก
       เมื่อแนวโน้มพลังงานเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วทั้งภูมิภาคทำให้เป้าหมายของตลาดเป็นใปในทิศทางเดียวกัน กระทั่งประเทศที่เคยแข่งขืนก็ไม่สามารถต้านกระแสแห่งอนาคตได้ และจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดค้าพลังงานระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นหลังจากเหตุสลดใจที่เกิดขึ้นกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะเมื่อ 9 ปีก่อน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนด้านพลังงาน ญี่ปุ่นต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงเริ่มคิดถึงตลาดการค้าพลังงานแบบเสรี ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนรายย่อยมาร่วมลงทุน และเริ่มกระบวนการผลักดันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 นอกจากนี้ประเทศต่าง ๆ เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ใต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ก็ล้วนแต่ให้ความสนใจตลาดพลังงานเสรีเช่นกัน โดยกำหนดให้มีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า.

การเติบโตของ Prosumer แห่งตลาดพลังงาน
       ปัจจุบันจำนวนของ “Prosumer” หรือที่เราเรียกว่าเป็น “ผู้บริโภคมืออาชีพ” ในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน ผู้บริโภคประเภทนี้มีความรู้ในสินค้าที่ตัวเองซื้อเป็นอย่างดี หลายครั้งที่พวกเขามีบทบาทในการผลิตสินค้า หรือกลายเป็นผู้ร่วมผลิตในตลาดพลังงานก็ไม่ต่างกัน เมื่ออุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มมีราคาถูกลง รวมถึงมีขนาดเล็กลง เช่นแผงโซลาร์เซลล์ ผู้บริโภครายย่อยที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็สนใจที่จะมีแหล่งผลิตพลังงานขนาดเล็กเป็นของตนเอง ในบางประเทศมีแนวคิดสนับสนุนให้ตามบ้านเรือนอาคารหลายแห่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จุดประสงค์แรกเริ่มอาจเป็นการทดลองผลิตไฟฟ้าเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย ต่อมาก็มีผลพลอยได้เมื่อผู้บริโภครายย่อยเหล่านี้สามารถผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการและขายคืนให้ผู้ค้าหลักได้.

ความก้าวหน้าในการจัดเก็บและสำรองพลังงาน
       หนึ่งในปัญหาใหญ่ของโครงการพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ก็คือปัญหาเรื่องราคาและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์เก็บสำรองพลังงาน นักวิจัยพยายามคิดค้นว่าจะทำอย่างไรให้แบตเตอรี่เก็บพลังงานเหล่านี้มีขนาดเล็ก แต่สามารถเก็บบรรจุพลังงานได้จำนวนมากโดยที่ราคาไม่สูงเกินไป เมื่อใดที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ตลาดพลังงานหมุนเวียนก็จะยิ่งเติบโต เพราะอุปกรณ์สำรองพลังงานเหล่านี้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้ระบบ Grid ไฟฟ้า หรือระบบเครือข่ายการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีของแบตเตอรี่สามารถสำรองไฟฟ้าให้ระบบ Grid ขนาดเล็กระดับ Micro โดยเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรองในช่วง Peak หรือช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และเป็นแหล่งเก็บพลังงานส่วนเกินในช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำ.


2. พลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย
       ข้อมูลจาก www.bangkokbiznews.com ในบทความเรื่อง “พลังงานทดแทนอนาคตไทยสู่เป้าลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อ 11 มิถุนายน 2564 สรุปไว้ว่า ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน (หรือพลังงานหมุนเวียน)” ให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี พ.ศ.2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดเหล่านี้ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น โดยต้องทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่สอดประสานกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาล และนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสร่วมกันอย่งเป็นรูปธรรมอีกด้วย.

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน
       ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) ได้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการบริการไฟฟ้าไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย.

กองทุนแสงอาทิตย์ Thailand Solar Fund
       ข้อมูลเรื่อง “พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย” ใน www.greenpeace.org ชี้ให้เห็นความก้าวหน้าในเรื่องนี้ว่า กองทุนแสงอาทิตย์นี้ เป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้าง Solar Rooftop ให้กับโรงพยาบาล การรวมตัวครั้งนี้เกิดขึ้นในนาม “เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์” โดยจะติดตั้ง Solar Rooftop ใหกับโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลนำร่อง ได้แก่ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น โรงพาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร โครงการมีเป้าหมายเพื่อนำเงินที่ลดค่าไฟฟ้าไปใช้ในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มขีดความสามารถในการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป และแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้มีข้อมูลว่า Solar Rooftop ขนาด 30 เมมกะวัตต์ในโรงพยาบาล 1 แห่งนั้นจะช่วยลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ถึง 2 แสนบาทต่อปี โครงการดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ ไม่เพียงลดค่าใช้จ่ายด้านการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบเดิมเท่านั้น แต่การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย หากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เข้าร่วมโครงการรวมทั้งขยายผลไปยังองค์กรต่าง ๆ ที่ใช้ไฟฟ้า ได้เข้าร่วมก็จะเป็นพลังที่มากขึ้นที่การช่วยลดลภาวะโลกร้อนลงได้.



ที่มาและคำอธิบาย:
07  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7809 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.


HIGHLIGHT
     ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 8) :สรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่อาจใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อไป.

       บทความตอนนี้จะสรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จะได้เห็นทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเหล่านี้ของไทยและอาจใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อไป.


1. ข้อมูลพื้นฐาน
       ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกสรุปไว้ในตารางที่ 1 ดังต่อไปนี้
       จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด ในช่วงปี 2559-2561 ทั้งในส่วนการสร้างพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน โดยแหล่งของพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวลมีบทบาทมากที่สุด อย่างไรก็ดียังมีโอกาสที่จะเพิ่มกำลังการสร้างพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกได้มากขึ้นอีกในอนาตคเนื่องจากข้อมูลสัดส่วนพลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี 2561 มีอัตราส่วนเพียง 15.48% เท่านั้น.

2. นโยบายที่เกี่ยวข้อง
       ในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

2.1 นโยบายและแผนงานที่มีผลกระทบต่อการจัดหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
  • ยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง พ.ศ. 2558-2569
  • ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558-2569
  • ยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ พ.ศ. 2560-2579
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย พ.ศ. 2560
  • กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอและพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดิน พ.ศ. 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.2 นโยบายและแผนงานที่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
  • นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
  • แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579
  • พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี ( พ.ศ. 2561-2580)
  • นโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า

3. สาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580
3.1 เป้าหมายและตัวชี้วัด
       แผนพัฒนาฯ นี้กำหนดเป้าหมายไว้ดังนี้
“เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อนและเชื้อเพลิงชีวภาพ ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ร้อยละ 30 ในปี 2580”

       ตัวชี้วัดตามเป้าหมาย
“การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายร้อยละ 30 ในปี 2580”

       ทั้งนี้มีการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี 2580 อยู่ที่ระดับ 126,867 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ซึ่งจะเป็นฐานเพื่อคำนวณเป้าหมาย (30%) สำหรับให้เป็นการจัดหาและใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก.

3.2 การประเมินศักยภาพและแนวทางการจัดหาเชื้อเพลิง
พลังงานแสงอาทิตย์
       ในการวัดปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นที่หนึ่ง ๆ ในเวลาหนึ่งวันจะวัดเป็นหน่วยที่เรียกว่า “เมกะจูลต่อตารางเมตร-วัน (MJ/m²-day)” ซึ่งจะสะท้อนค่าความเข้ารังสีอาทิตย์เฉลี่ยตลอดทั้งปี จากข้อมูลปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีค่าความเข้มรังสีอาทิตย์เฉลี่ยเท่ากับ 17.6 MJ/m²-day ซึ่งถือว่ามีค่าสูง สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานได้ทุกพื้นที่ของประเทศทั้งในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน.

พลังงานลม
       ข้อมูลสรุปได้ว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรจึงมีความเร็วลมค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการใช้พลังงานลมจะต้องคัดเลือกหรือพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมที่เหมาะสมกับสภาพของลมในประเทศไทย เช่นบริเวณพื้นที่แคบ ๆ ที่เกิดจากภูมิประเทศเฉพาะที่ เช่น เนินเขา ช่องเขา หรือยอดเขา ซึ่งจะช่วยเร่งให้ความเร็วลมสูงขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้มีความเร็วลมค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างและด้านตะวันตกของภาคใต้ตอนบน เนื่องจาก ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากอ่าวไทยและมีสิ่งกีดขวางทางลมน้อย.

       สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและด้านตะวันออกของภาคที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นช่องเขาจะมีความเร็วลมเฉลี่ยที่ดี ส่วนภาคเหนือพื้นที่จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมค่อนข้างน้อยและภาคกลางเนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม ลมค่อนข้างสงบตลอดทั้งปี ดังนั้นการพัฒนาพลังงานลมจึงต้องดูพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานลมด้วย.

พลังงานน้ำ
       จนถึงปี 2561 ไทยมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 2,920 เมกะวัตต์  แม้ว่าปัจจุบันจะไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมาได้อีก ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ยังคงมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเดิมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ และพัฒนาโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระหว่างปี 2561-2580 ดังนี้
พลังงานความร้อนใต้ภิภพ
       แหล่งน้ำพุร้อนจากความร้อนใต้ภิภพของประเทศไทยมีจำนวน 120 แหล่งมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 43,000 กิโลวัตต์ กว่าร้อยละ 90 ของศักยภาพทั้งประเทศกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำพุร้อนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอุณหภูมิ อัตราการไหล และคุณสมบัติทางเคมีของน้ำพุร้อนในแต่ละแหล่ง.

       จากการประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานทดแทนที่มาจากแหล่งธรรมชาติต่างๆ รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและลักษณะของภูมิประเทศ ภาคธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบเพื่อวางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเหล่านี้นำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใว้ใช้เองได้  ซึ่งก็จะถือว่าเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานอีกด้วย.



ที่มาและคำอธิบาย:
08  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7824 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.



HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 9) : ศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนในประเทศ ทั้งในส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล รวมถึงพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างไม้โตเร็ว

       บทความตอนนี้ เป็นตอนต่อเนื่องจากบทที่แล้ว ซึ่งได้สรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 ของกระทรวงพลังงานไปบางส่วนแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวถึงศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนในประเทศ ทั้งในส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและในส่วนที่เป็นรูปแบบใหม่ ๆ .


1. ศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนประเภทเดิม
1.1 ชีวมวล
       กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ประเมินศักยภาพชีวมวลจากเศษวัสดุทางการเกษตรในประเทศในปี พ.ศ.2561 โดยแบ่งออกเป็นชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและชีวมวลที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่เพาะปลูกดังนี้
  • ชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิเช่น กากอ้อยจากอุตสาหกรรมน้ำตาล แกลบจากโรงสีข้าว ใยปาล์มและทะลายปาล์มเปล่าที่ได้จากอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้ส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อผลิตพลังงานหรือจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงแล้วเกือบทั้งหมด เช่น กากอ้อยถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำในอุตสาหกรรมน้ำตาลหรือแกลบที่เกิดขึ้นในโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ถูกจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าชีวมวลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น.
  • ชีวมวลที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก จะเกิดจากชีวมวลส่วนที่เหลือภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร ได้แก่ เหง้ามันสำปะหลัง ฟางข้าว ยอดและใบอ้อย ตอและรากไม้ยางพารา เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้ไม่นิยมนำมาผลิตพลังงานเนื่องจากมีต้นทุนสูงในการรวบรวมและขนส่งจากพื้นที่เพาะปลูกไปยังสถานที่ใช้งานที่อยู่ห่างไกล ชีวมวลเหล่านี้จึงมักถูกทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นสารปรับปรุงดิน หรือถูกเผาทำลายในพื้นที่เพาะปลูก.
       จากข้อมูลสรุปไว้ว่าในปี 2560 ชีวมวลในประเทศทุกประเภทชีวมวลที่เกิดขึ้นมีขนาดถึง 296.34 ล้านตัน/ปี ในขณะที่ชีวมวลที่ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม มีขนาด 18.2 ล้านตัน/ปี ในภาคอุตสาหรรม 118.34 ล้านตัน/ปี ทำให้มียอดคงเหลือประมาณ 159.80 ล้านตัน/ปี ซึ่งหากนำไปพัฒนาหาวิธีใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกก็จะเพิ่มปริมาณพลังงานทดแทนในประเทศได้

1.2 ขยะ
       กรมควบคุมมลพิษได้แสดงข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศในปี 2561 พบว่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.93 ล้านตัน หรือประมาณ 76,529 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยว การบริโภคที่มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยในหลายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีนโยบายให้ทุกจังหวัด รวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวนกว่า 7,800 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งกลุ่มพื้นที่ตามปริมาณขยะรวม 324 กลุ่มดังนี้

       (1) กลุ่มพื้นที่การจัดการมูลฝอยขนาดใหญ่ ขยะมากกว่า 500 ตันต่อวัน จำนวน 10 กลุ่ม
       (2) กลุ่มที่พื้นที่การจัดการมูลฝอยขนาดกลาง ขยะ 300-500 ตันต่อวัน จำนวน 11 กลุ่ม
       (3) กลุ่มพื้นที่การจัดการมูลฝอยขนาดเล็ก ขยะน้อยกว่า 300 ตันต่อวัน จำนวน 303 กลุ่ม
 
       กระทรวงมหาดไทยได้ประเมินสถานะโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของกลุ่มพื้นที่จำนวน 56 โครงการว่ามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าสู่ระบบสายส่งภายในปี พ.ศ. 2568 จำนวน 400 เมกะวัตต์ กลุ่มพื้นที่ที่เหลืออาจมีศักยภาพในการรวบรวมขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานประเภทอื่น ๆ ได้แก่ พลังงานความร้อน และน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติก เป็นต้น.

       ที่ผ่านมามีการนำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานความร้อน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ที่นำขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel : RDF) ไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากถ่านหินบางส่วนในกระบวนการผลิต ความต้องการใช้ RDF จะขึ้นอยู่กับราคาถ่านหิน หากถ่านหินมีราคาสูงปริมาณการใช้ RDF ก็จะสูงตามไปด้วย.

       ในส่วนของขยะอุตสาหกรรม ข้อมูลจากสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าในปี 2560 มีกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 32.95  ล้านตัน  และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย 1.95 ล้านตัน การนำขยะอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้นำขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการขยะที่ถูกต้องด้วย.


1.3 ก๊าซชีวภาพ
       แหล่งผลิตก๊าซชีวภาพที่สำคัญ คือ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่มีสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบหลักที่เมื่อถูกย่อยสลายด้วยกระบวนการทางชีวภาพในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ทำให้เกิดก๊าซชีวภาพที่มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบสำคัญ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม น้ำมันเตา และไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ที่ผ่านมาโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและฟาร์มปศุสัตว์ได้นำก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ของเสียมาใช้ประโยชน์ เพื่อผลิตเป็นพลังงานแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการและสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ น้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแบบไม่ใช้ออกซิเจนจะมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น จึงช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโรงงานและฟาร์มปศุสัตว์ได้อีกด้วย จากข้อมูลพบว่าในปี 2561 มีก๊าซชีวภาพ น้ำเสีย อุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ทั้งสิ้น 3,609 ล้านลูกบาตรเมตรต่อปีที่ผลิตได้ และมีปริมาณก๊าซชีวภาพที่ถูกนำไปใช้ผลิตพลังงานแล้ว 2,470 ล้านลูกบาตรเมตรต่อปี จึงคงเหลือสิ่งที่เรียกว่าปริมาณศักยภาพก๊าซชีวภาพคงเหลือ ประมาณ 1,139 ล้านลูกบาตรเมตรต่อปี.

1.4 ไบโอดีเซล
       สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันน้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล การประเมินศักยภาพวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล พิจารณาตามการทบทวนยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ โดยตามแผนจะไม่ขยายพื้นที่ปลูก แต่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตซึ่งสรุปได้ดังนี้
  • เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันซึ่งในปี 2563 อยู่ในระดับ 19% และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปลายแผนปี 2580 เป็น 23%
  • เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ปลายแผนมีเป้าหมายเป็น 3.7 ตัน/ไร่/ปี
  • เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขยายพื้นที่ในระบบแปลงใหญ่ และกลุ่มผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพ
       ทั้งนี้เป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มจะเพิ่มเติมจาก 4.88 – 7.44 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงปี 2561-2565 เป็น 10.46-10.96 ล้านลิตร/วัน ในช่วงปี 2576-2580

1.5 ไบโอเอทานอล
       ผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินที่เหลือใช้จากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกแล้วสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอเอทานอลเชิงพาณิชย์ ได้แก่ กากน้ำตาลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลจากอ้อยและมันสำปะหลัง จึงต้องพิจารณายุทธศาสตร์เกี่ยวกับสินค้าเกษตรดังกล่าว.
  1. ยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง พ.ศ.2558-2569 มีเป้าหมายคงพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 8.5 ล้านไร่ และเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 3.5 ตัน/ไร่/ปี ในปี 2557 เป็น 5 ตัน/ไร่/ปี ในปี 2562 และ 7 ตัน/ไร่/ปี ในปี 2569  ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเป็น 42.5 ล้านตัน และ 59.5 ล้านตันในปี 2562 และปี 2569 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้มีระดับผลผลิตส่วนเกินที่เหลือมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตไบโอเอทานอลได้มากขึ้น.
  2. ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558-2569 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ โดยคาดว่าจะให้ผลผลิตอ้อยได้ 182 ล้านตันในปี 2569 ปริมาณกากน้ำตาลที่คาดว่าจะใช้ผลิตไบโอเอทานอลได้ ประเมินโดยคำนึงถึงกากน้ำตาลที่ใช้ในการบริโภคในประเทศแล้ว เช่น ในการผลิตสุรา อาหารสัตว์และผงชูรส เป็นต้น และ ในอนาคตจะมีการใช้น้ำอ้อยหรือน้ำเชื่อมมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลด้วย.
       เป้าหมายในการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มจาก 1.19 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.50 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2569 ในส่วนของกากน้ำตาลจากอ้อยซึ่งในปี 2561 สามารถผลิตเอทานอลได้ 2.87 ล้านลิตรต่อวัน ถูกคาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้น 4.72 ล้านลิตรต่อวันในปี 2569

2. ศักยภาพการจัดหาวัตถุดิบพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ ๆ
ไม้โตเร็ว
       ชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตพลังงานหรือจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงแล้วเกือบหมด ในขณะที่ชีวมวลส่วนที่เหลือภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกก็ไม่เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงาน เนื่องจากมีต้นทุนในการรวบรวมและขนส่งสูง ทำให้ชีวมวลที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้จึงมีอยู่อย่างจำกัด การปลูกต้นไม้โตเร็ว จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้ในอนาคต โดยเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถจัดหาได้ในปริมาณมากและคงที่ถูกฤดูกาลตลอดปีจากพันธุ์ไม้โตเร็วที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกต้นไม้โตเร็วทั่วประเทศว่ามีศักยภาพราว 51 ล้านไร่ พื้นที่ที่พิจารณาประกอบไปด้วย นาดอนนอกเขตชลประทาน (19 ล้านไร่) พื้นที่ทำไร่ผลผลิตต่ำ (6.1 ล้านไร่) พื้นที่ที่รัฐบาลมีนโยบายปลูกพืชทดแทน (4.2 ล้านไร่) พื้นที่ทิ้งร้าง นาร้าง และรกร้างว่างเปล่า (10 ล้านไร่) พื้นที่ที่ดิน ส.ป.ก (1.7 ล้านไร่) ที่ดินป่าเสื่อมโทรมของกรมป่าไม้ (10 ล้านไร่) ซึ่งรวมแล้วคาดการณ์ว่าจะมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า 10,200-25,500 เมกะวัตต์

ที่มาและคำอธิบาย:
09  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7857 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565.



HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 10) : บทสรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580  ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติในหลายมิติ

       บทความตอนนี้จะเป็นการปิดท้ายการสรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งบทความในตอนก่อน ๆ นี้ได้อธิบายถึงสถานการณ์ เป้าหมาย และโอกาสการพัฒนาวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อใช้ผลิตพลังงานให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม.


1. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
       เมื่อมีการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องรองรับ ซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้ารายสถานีไฟฟ้า ความสามารถของสายส่งในการรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนรายสถานีไฟฟ้า การจัดลำดับการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐบาล.

       จากข้อมูลเป้าหมายในระยะใกล้ (2563-2564) สรุปเป้าหมายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะรับซื้อสะสมรวม 1,933 เมกะวัตต์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
       ในขณะที่ เมื่อมองตั้งแต่ปี 2561-2580 กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายใหม่ของกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจากโรงงานทุกประเภท ให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังข้อมูลสรุปไว้ดังนี้
       จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดเป้าหมายว่า กำลังการผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าของประเทศจะมีขนาดเพิ่มขึ้นมากในอนาคต และมีความคาดหวังว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศในปี 2579 จะมีระดับถึง 20.11% ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในระยะต่อไปนั้น ต้องพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในรูปแบบที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง และแบบที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง เนื่องจากบางพื้นที่อาจอยู่ห่างไกลจากระบบสายส่ง จึงควรพัฒนาระบบที่เหมาะสม เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อจัดทำระบบประจุแบตเตอรี่ ระบบสูบน้ำ ระบบมินิกริด (Mini Grid) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กมาก เป็นต้น

2. การผลิตความร้อน
       จากข้อมูลในปี 2561 ชีวมวลถูกนำมาใช้ผลิตความร้อนมากที่สุดถึง 90% ของการผลิตพลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนทั้งหมด ทั้งนี้ 50% ของชีวมวลจากชานอ้อยในอุตสาหกรรมน้ำตาล ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานความร้อนจากก๊าซชีวภาพ ขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในปี 2579 เดิมคาดการณ์ว่าปริมาณความร้อนจากชีวมวลต่าง ๆ ดังกล่าว มีขนาด 25,088 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่พลังงานความร้อนที่ต้องการประมาณการณ์ไว้ว่ามีระดับ 68,414 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบหรือคิดเป็น 36.67%  สำหรับในอนาคตจนถึงปี 2579 (ใหม่) ควรส่งเสริมการผลิตความร้อนรองรับความต้องการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนเพื่อผลิตความร้อนซึ่งเพิ่มขึ้นด้วยในระหว่างทางและควรเพิ่มให้อัตราส่วนความร้อนจากพลังงานทดแทนต่อพลังงานความร้อนที่ต้องการเพิ่มขึ้น 41.61% โดยการส่งสริมการผลิตการใช้พลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีแนวทางดังต่อไปนี้
  • การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อบแห้งทั้งในระดับอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็กและครัวเรือน
  • การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวล
  • การส่งเสริมระบบบ่อเลี้ยงปลาพลังงานแสงอาทิตย์
  • การส่งเสริมการผลิตชีวมวลจากไม้โตเร็วเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล
  • การส่งเสริม การผลิตการใช้ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็ก
3. การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
       การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขนส่งนั้น ในอดีตถูกมองว่ามีประโยชน์เนื่องจากน้ำมันปิโตรเลียมมีจำนวนจำกัด การหันมาใช้เชื้อเพลิงจากพืชน้ำมันไปผลิตเป็นเอทานอลแอลกอฮอล์และเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงขนส่ง จะเป็นทางออกหนึ่งแก้ไขความมีจำกัดของเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้ อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น  อีกทั้งการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นส่วนผสมก็มีความแพร่หลาย จนมีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562  ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2562 กำหนดไม่ให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันที่มีเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นส่วนผสม จากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งลดลง การกำหนดเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจึงมีระดับลดลง โดยมีการปรับเป้าหมายดังนี้
  • ปรับลดเป้าหมายการใช้เอทานอลจากเดิม 11.30 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 7.50 ล้านลิตรต่อวันในปี 2580
  • ปรับลดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลจาก 14.00 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 8.00 ล้านลิตรต่อวันในปี 2580
  • ยกเลิกเป้าหมายการผลิตไบโอมีเทนอัดในภาคขนส่ง

ประโยชน์ของการผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทน
       การผลักดันให้มีการพัฒนาการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกนั้นมีประโยชน์อยู่หลายมิติ ได้แก่
  • ด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ช่วยลดเงินตราต่างประเทศที่ต้องสูญเสียไป นอกจากนี้ยังเป็นการนำศักยภาพพลังงานธรรมชาติในประเทศมาเปลี่ยนเป็นพลังงานใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากวัสดุ ขยะของเสียมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน เกิดการลงทุนในโครงการด้านพลังงานในขนาดต่าง ๆ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • ด้านสังคม การพัฒนาพลังงานในพื้นที่ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีพลังงานใช้เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และประหยัดค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรที่ใช้พลังงานที่ผลิตได้เอง เป็นต้น
  • ด้านพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจะเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศเกิดองค์ความรู้และนำไปสู่การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานต่อไป
  • ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การนำขยะ ของเสีย น้ำเสียและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่องโดยไม่เกิดของเสีย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน.
ที่มาและคำอธิบาย:
10  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7858 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.




HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 11) : รู้จักกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ถึงความหมายและความสำคัญ ตลอดจนการนำมาสู่ ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งกำลังพัฒนาในประเทศไทย และจะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้.

       บทความตอนนี้จะกล่าวถึง “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งอาจมีธุรกิจที่บริหารจัดการให้กระบวนการทำธุรกิจสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายจนคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตออกมา ซึ่งมีมูลค่าจนสามารถนำออกขายให้แก่ธุรกิจหรือหน่วยงานที่ในกระบวนการทำงานยังมีส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม ก็สามารถมาซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย การให้ความรู้และกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องแก่ภาคธุรกิจไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกัน การพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากการลดภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่จะกระทบต่อธุรกิจไทยในอนาคต.


1. ความหมายและความสำคัญ
       จากข้อมูลของ Wikipedia คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) ได้รับการนำมาใช้เพื่อเป็นกลไกให้ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซ สามารถซื้อโควต้าคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการพัฒนาที่สะอาดที่เรียกว่า “การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก”.

       โครงการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งมีสิทธิขายคาร์บอนได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการทำลายก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น.

       เมื่อมีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (TGO) ขึ้นในปี 2550 ภารกิจหนึ่งของ TGO คือ ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่ได้รับการรับรองศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจกจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรอง และการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้การรับรอง.

       ข้อมูลจาก blog.pttexpresso.com สรุปไว้ว่าพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เป็นต้นกำเนิดของ Carbon Credit พิธีสารเกียวโตเกิดขึ้นในปี 2540 เพื่อสร้างข้อกำหนดพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 4 ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น ไฮโดรฟลูออไรคาร์บอน เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน โดยการปล่อยก๊าซทั้งหมด จะมีการระบุว่า จะปล่อยได้ขนาดใหนในแต่ละปีตามข้อตกลงของประเทศนั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการที่ประเทศอุตสาหกรรมจะทำการหยุดปล่อยก๊าซแบบกะทันหันนี้แทบเป็นไปไม่ได้ ในพิธีสารจึงมีการระบุกลไกยืดหยุ่นขึ้นมาเพื่อรองรับให้เหล่าประเทศพัฒนาแล้ว สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ซึ่งได้แก่
  • Joint Implementation (J1) การดำเนินโครงการต่าง ๆ ร่วมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด
  • Emission Trading (ET) การซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อลดภาระของเศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ
  • Clean Development Mechanism (CDM) คือโครงการพัฒนาที่สะอาด เช่นการปรับเปลี่ยนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมให้ใช้พลังงานสะอาด การทำงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนไปจนถึงการบำบัดน้ำเสียและขยะ ซึ่งตัวเลขจากโครงการทั้งหมดสามารถนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อซื้อขายได้หากมีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง
       คาร์บอนเครดิตจึงเป็นการนำปริมาณการลดการใช้ก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเป้าหมายในแต่ละประเทศหรือแต่ละหน่วยงานมาเปลี่ยนแปลงให้สามารถซื้อขายได้ เปรียบเหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่งเพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนชนบางราย โดยประเทศหรือหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อคาร์บอนเครดิตไปสำหรับการขยายขอบเขตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง.

       ผลของการกำหนดคาร์บอนเครดิตนั้นส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศจำเป็นต้องลดก๊าซเรือนกระจกไปในตัวหากไม่อยากเสียเงินเพิ่ม เพราะราคาของคาร์บอนเครดิตจะแปรผันขึ้นลงตามปัจจัยต่างๆ หากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกของปีนั้นเพิ่มสูงขึ้น ก็มีโอกาสที่ราคาของคาร์บอนเครดิดจะพุ่งขึ้นเช่นกัน.


2. แนวคิดเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิต
       ข้อมูลจากบทความ “ตลาดคาร์บอนเครดิต กฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง” 26 กรกฎาคม 2564 ใน bangkokbiznews.com สรุปไว้ว่าตลาดคาร์บอนเครดิต นอกจากจะหมายถึงสถานที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายแล้ว ยังเป็นตลาดที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตมาเป็นวัตถุในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ตลาดคาร์บอนเครดิตจึงเป็นกลไกช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยอีกทางหนึ่ง.

       ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ (Regulatory Carbon Market) โดยหน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในกรณีเช่นนี้ หากโรงงานหรือบริษัทต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด โรงงานหรือบริษัทนั้นก็มีสิทธิที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตจากโรงงานหรือบริษัทอื่นที่มีปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกินปริมาณที่กำหนดได้ จากกรณีข้างต้นจะส่งผลทำให้โรงงานหรือบริษัทที่ได้รับสิทธิการซื้อคาร์บอนเครดิตกลับมามีสิทธิปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ สามารถเห็นได้จากระบบ EU Emissions Trading System (EU-ETS) ของสหภาพยุโรป หรือ Australian Carbon Pollution Reduction Scheme ของประเทศออสเตรเลีย และ Regional Greenhouse GAS Initiative ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น.

       สำหรับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เป็นกรณีที่โรงงาน บริษัท หรือบุคคลใดที่สมัครใจดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ และโรงงานหรือบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนดสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปริมาณที่กำหนด.

       ในปัจจุบันการพัฒนาและดำเนินโครงการเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อทำให้มั่นใจว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวนั้นสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมได้จริงและมีประสิทธิภาพ.

       ล่าสุดข้อมูลจากกรมการค้าระหว่างประเทศ (ditp.go.th) ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนคือ สิงคโปร์ ได้เตรียมจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นโดยแถลงข่าวเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 ภายใต้บริษัท Climate Impact X (CIX) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า โดยรวมตัวของ 1) ธนาคาร DBS  2) ธนาคาร Standard Chartered 3) ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และ 4) บริษัท Temasek คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ในช่วงปลายปี 2564.

CIX จะมีแพลตฟอร์มทั้งใน ลักษณะ

       1) ระบบซื้อขาย (Exchange Market) ตามภาคบังคับใช้สัญญามาตราฐานเดียว ทำให้การซื้อขายจะใช้กติกาเดียวกัน
       2) ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ โดยใช้ชื่อว่า Project Marketplace โดยจะสนับสนุนผลักดันกลุ่มธุรกิจที่สนใจพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แบบสมัครใจนี้ ให้ความรู้ข้อมูลเพิ่มเติมในแนวทางการลดสภาวะโลกร้อน Natural Climate Solution (NCS) ตามข้อตกลงปารีส โดย NCS เป็นแนวทางปกป้องและฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อประโยชน์ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยภูมิภาคเอเซียซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผู้ผลิตที่สำคัญของโลก จึงคาดว่าจะสามารถขยายผลในเรื่องนี้ได้.

       สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมีพัฒนาการที่ดีที่จะนำไปสู่การจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศได้ ข้อมูลจาก Bangchak.co.th ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ว่า กลุ่มบางจากจับมือกับพันธมิตร 11 องค์กร ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัลเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าทุกวันนี้องค์กรที่เป็นผู้ผลิตหรือมีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมหนักหรือใช้พลังงานฟอสซิล ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผ่านการซื้อขายคาร์บอนหรือการจ่ายภาษีทางอ้อมเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายคาร์บอนไปอุดหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลให้เริ่มเห็นมาตราการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหรือ Non-tariff barriers จากประเทศต่าง ๆ เช่น European Green Deal เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน.

       Carbon Markets Club ที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งการซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบการซื้อขายกันโดยตรง (Over-the-counter) อยู่ ซึ่งในอนาคตสามารถสร้างเป็นแพลตฟอร์มระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ e-registration  กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง การทำ e-carbon trading และนำ Blockchain มาใช้ในการซื้อขายต่อไป


ที่มาและคำอธิบาย:
11  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7879 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.




HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 12) :  เข้าใจประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)  รวมถึงรู้จักกับวิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในลักษณะของ Carbon Emission Trading Schemes (ETS) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุโรปและอีกหลายประเทศ.

       บทความตอนนี้จะยังอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน โดยจะกล่าวถึงตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในลักษณะที่เรียกว่า Carbon Emission Trading  Schemes (ETS) ที่เป็นที่นิยมกันในยุโรปและอีกหลายประเทศ.


1. ความหมายและความสำคัญ
       ETS เป็นวิธีการหนึ่งของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจำกัดหรือลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน (Limit Climate Change) โดยเป็นตลาดที่ผู้ขายที่มีคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจเรียกว่าสิทธิ (Rights) หรือ Allowances for emission of Carbon dioxides (CO2) ที่ผู้ขายมีสิทธิดังกล่าวก็เพราะองค์กรหรือหน่วยงานของเขาดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด  โดย CO2 ที่ลดได้มากกว่าเป้าหมายกลายเป็น คาร์บอนเครดิตที่สามารถนำมาขายได้ใน ETS Platform ได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตก็จะมาจากองค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ปล่อย CO2  เกินกว่าเป้าหมายจึงมีความต้องการเข้าซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไป.

       โดยทั่วไปองค์กรที่จะมีคาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนมากและกลายเป็นผู้ขายรายใหญ่มักเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำกิจกรรมหลักที่ช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล หรือมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ประเภท Low carbon source of energy เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ส่วนองค์กรที่เป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตมักเป็นองค์กรที่แม้ว่าในกระบวนการดำเนินงานจะพยายามลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว แต่ก็ยังมีส่วนเกินกว่าเป้าหมายที่ทำได้ จึงเข้าสู่ EST Platform เพื่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ GHG ออกไป.

       ข้อมูลจาก Wikipedia  เปิดเผยว่าการใช้พลังงานฟอสซิลของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด Climate Change โดยเป็นสัดส่วนถึง 89% ในการเกิดการปล่อยก๊าซ CO2 และมีสัดส่วนสำคัญถึง 68% ในการปล่อยก๊าซ GHG ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการเกิดตลาดซื้อขายแบบ ETS นี้จึงถือว่ามีส่วนช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ที่ในกระบวนการดำเนินงานยังต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีทางออก อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดองค์กรต่าง ๆ ที่อาจช่วยลดโลกร้อนจนเกิดคาร์บอนเครดิต ที่จะขายให้กับผู้ซื้อได้ ซึ่งในมิติของประเทศก็สามารถช่วยติดตามได้ว่า โดยสุทธิแล้วประเทศของตนได้ปฎิบัตตาม Paris Agreement ได้ดีเพียงใด.


2. ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์
     2.1 ต้นทุนธุรกิจและต้นทุนทางสังคม (Private Cost and Social Cost)
       ประเด็นสำคัญประการหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์กับ Climate Change ก็คือองค์กรต่าง ๆ จะมองเห็นต้นทุนภายในที่เรียกว่า Private Cost ของตนเองเท่านั้น เช่นต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ตนใช้แต่ที่จริงแล้วต้องรวบต้นทุนเพิ่มเติมที่เรียกว่า Social Cost  หรือ External Cost ด้วย เพราะการใช้เชื้อเพลิงตามตัวอย่างดังกล่าว กระทบต่อสวัสดิการ (Welfare) ของสังคม เช่นในมิติของ Climate Change เช่น ผลของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขององค์กรทำให้เกิด GHG emissions และส่งผลต่อประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตและเกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรมีหลักการในการคำนวณเป็นเชิงปริมาณและค่าใช้จ่ายเป็นตัวเงินได้และเมื่อรวม Social Cost ที่ประมาณการกลับเข้าไปใน Private Cost แล้วจึงจะถือว่าผู้ปล่อย (Emitter) รับค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้เหมาะสมกับการกระทำของตน.

     
2.2 จริยธรรมและความเป็นธรรม (Ethics and Fairness)
       องค์กรที่ใส่ใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง กำหนดเป้าหมาย และคอยติดตามว่า องค์กรตนเองดำเนินงานจนสิ่งที่ปล่อยออกไป เมื่อเทียบกับการสร้างผลกระทบเชิงบวก หักล้างกันไปแบบ Net Zero หรือไม่ หรือมีสิ่งที่ขาดหรือเกิน ที่ต้องไปซื้อหรือนำไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ การกระทำเหล่านนี้ถือว่าเป็นอีกก้าวของการยกระดับด้านจริยธรรม ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ควรเอาเป็นแบบอย่าง อย่างไรก็ตามก็ควรมาดูประเด็นความเป็นธรรมด้วยว่าองค์กรต่าง ๆ ที่ยังไม่ปฎิบัติในเรื่องเหล่านี้และก็ยังปล่อยก๊าซ GHG ออกสู่บรรยากาศโดยไม่มีบทลงโทษอะไรและประพฤติตัวเป็น “Free Riders หรือกาฝาก” ก็จะเป็นธรรมหรือไม่ที่ผู้ทำดีต้องเป็นผู้มาแบกรับ Social Cost เหล่านั้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การคิดราคาหรือการประเมินมูลค่าสิ่งที่ทำจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมและจูงใจให้องค์กรที่จะทำความดีในเรื่องเหล่านี้มีกำลังใจด้วย.

   
 2.3 นโยบายภาษีและปริมาณ Carbon Emission (Taxes verses Caps)
       การกำหนดนโยบายมีการเก็บ (Carbon Taxes) อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโดยผู้ที่ปล่อยมากก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง และอาจให้ Incentives กับผู้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายหรือเกินเป้าหมาย โดยลดหรือยกเว้น Carbon Taxes ให้เป็นต้น โดยนโยบายดังกล่าวอาจนำมาใช้บน ETS Platform ก็ได้เพื่อส่งเสริมให้ Platform นี้ช่วยดึงดูดให้ผู้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตเข้ามาทำการซื้อขาย เพราะผู้ซื้อผู้ขายแต่ละรายมีขนาดของ Carbon Emission ที่แตกต่างกัน การกำหนดปริมาณ Carbon Emission (Caps) ให้สัมพันธ์กับช่วงราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อขายบน ETS Platform เพราะจะเกิดการจำกัดช่วงราคาที่เปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน (a limit on price increase) เช่นในปริมาณการปล่อยก๊าซที่มาก ช่วงราคาอาจห่างมากเพื่อให้เกิดโอกาสการทำกำไรขาดทุนได้มากกว่า เป็นต้น.

     
2.4 นโยบายการเก็บภาษีศุลกากรด้านสิ่งแวดล้อม (Eco-Tariffs)
       กรณีบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจขอเก็บภาษีศุลกากรด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ที่เรียกว่า Carbon surcharges กับสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกระบวนการผลิตสินค้าบริการอาจยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ และยังไม่สามารถลดปัญหาได้ ประเด็นเหล่านี้อาจกลายเป็น “Green Protectionism” แม้ว่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจทำให้สินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ลดความสามาถในการแข่งขัน ซึ่งถือว่าไม่ได้ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น อีกทั้งหากองค์กรธุรกิจของประเทศที่โดนคิด Carbon surcharges เข้ามาซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตบน ETS Platform จะต้องถูกนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาคิดอย่างไร เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่ถูกต้องก่อนการซื้อขาย.

     
2.5 กฎระเบียบและมาตราฐานการคำนวณคาร์บอนที่ปล่อยออกไป (Carbon Leakage)
       ปัจจุบันมาตราฐานการคำนวณ Carbon Leakage ของแต่ละประเทศยังอาจมีความแตกต่างกันจึงอาจยังเป็นประเด็นเมื่อต้องหาวิธียอมรับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อขาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมาตราฐานให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ ก่อนนำมาซื้อขายบน ETS Platform.

3. ระบบการซื้อขาย (Carbon Emission Trading Systems)
       หน่วยของการซื้อขายบน ETS Platform อาจระบุเป็น 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซ CO2 หรือเป็นหน่วย Carbon Credits, Kyoto Units หรือ Certified Emission Reduction Units (CER) ซึ่งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในระดับสากลถ้าอยู่นอกระบบ EU หน่วยงานที่จะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของหน่วยงานซื้อขายนี้คือ The United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) แต่ถ้าอยู่ภายใน EU จะเป็นหน่วยงาน The European Commission.

       ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของ EU ใช้ชื่อว่า The European Union Emissions Trading System (EU ETS) จะเริ่มต้นจากการตกลงร่วมกันของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกว่า แต่ละประเทศมี emission targets เท่าใดที่จะต้องช่วยลดโลกร้อนตาม The Framework of Kyoto Protocol เมื่อทราบเป้าหมายแล้วก็จะมีการจัดสรรแบ่งมายังบริษัทต่าง ๆ (Individual Companies) และเมื่อผ่านช่วงเวลาให้องค์กรต่าง ๆ ไปดำเนินการแล้วก็จะมีการสรุปผลให้เห็นว่า องค์กรใดมีคาร์บอนเครดิตเหลือและใครที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม.

       ปัจจุบันมีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต 6 แห่ง ที่ร่วมกันซื้อขายใน UNFCCC  ได้แก่ Chicago Climate Exchange, European Climate Exchange, NASDAQ OMX Commodities Europe, Power Next, Commodity Exchange Bratislava และ European Energy Exchange นอกจากนี้ยังมีตลาดของภาคเอกชนที่ชื่อ Private Electronic Market เกิดขึ้นในปี 2008 ชื่อ CantorCO2e เป็นต้น.




ที่มาและคำอธิบาย:
12  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7895 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565.





HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 13) : รู้จักกับกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งในตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Market / Compliance Market / Regulated Market)  และในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Market).

สำหรับบทความในตอนนี้จะกล่าวถึงตลาดคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม โดยอาศัยเนื้อหาที่อ้างอิงจาก Wikipedia และจาก www.environnet.in.th เป็นหลัก

       
1. การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก
       จากบทความเรื่อง การค้าขายแลกเปลียนก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading หรือ Cap and trade) ของ Wikipedia อธิบายว่าเป็นวิธีการประการหนึ่งที่จะให้แรงจูงใจทางการเงิน เพื่อให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้การพัฒนาโครงการคาร์บอนขึ้นมาใช้ล ดก๊าซเรือนกระจก และให้การตอบแทนเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ พิธีสารเกียวโตได้ให้ช่องทางนี้ไว้เพื่อลดคาร์บอนแล้วขาย (Cap and trade) ในกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) รวมทั้งการทำ Joint Implementation (JI) เป็นต้น เพื่อให้มีการยืดหยุ่นในการจัดการกับคาร์บอน
ในการซื้อขายนี้ เริ่มต้นจากผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งโดยมากจะเป็นรัฐบาล จะกำหนดจุดสูงสุด (Cap) ที่อนุญาตให้ปล่อยคาร์บอนได้ แต่ละองค์กรก็จะได้สิทธิที่จะสามารถปล่อยได้ในจำนวนหนึ่ง องค์กรที่ปล่อยคาร์บอนเกินจุดที่กำหนด จึงต้องไปซื้อสิทธิมาจากองค์กรที่ปล่อยไม่ถึงสิทธิของตนนั้น ถ้าปล่อยเกินโดยไม่ซื้อจะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น โรงงานแห่งหนึ่งก่อนเริ่มโครงการเคยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 100,000 ตันต่อปี เมื่อเข้าโครงการโดยพันธะทางกฎหมายและสมัครใจ จะต้องลดการปล่อยลง 5% คือสามารถปล่อยได้ 95,000 ตันต่อปี ถ้าทำได้สามารถนำส่วนที่ลดได้ไปขายได้แต่ถ้าลดไม่ได้ต้องเสียเงินไปซื้อส่วนที่เกินไปจากผู้ที่ลดได้.


       2. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Market / Compliance Market / Regulated Market)
       จากบทความเรื่อง ตลาดคาร์บอนของ www.environnet.in.th สรุปไว้ว่า ตลาดคาร์บอนภาคบังคับหรือ ตลาดคาร์บอนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้น สืบเนื่องจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมายซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ผู้เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฏหมาย (Legally binding target).

       ตลาดคาร์บอนภาคบังคับจะใช้การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในลักษณะ Top-down approach (การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยภาครัฐ และให้เอกชนเป็นผู้ปฎิบัติตาม) ซึ่งตลาดภาคบังคับจะมีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายคาร์บอนตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโต โดยการค้าคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวกับประเทศไทยคือ การค้า CERs (ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป).
 
      ลักษณะกลไกที่ใช้ในตลาดคาร์บอนภาคบังคับได้แก่
  • การดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน (Joint Implementation: JI)
       เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีพันธกรณีต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างต่ำ (ประเทศในภาคผนวก1*) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงของโครงการ JI จะเรียกว่า Emission Reduction Units (ERUs) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)
       กลไก CDM นี้มีลักษณะเดียวกับโครงการแบบ JI เพียงแต่ประเทศที่ทำโครงการต้องเป็นประเทศนอกภาคผนวก1 และเป็นผู้เสนอว่าโครงการจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนเท่าใด CDM เป็นกลไกเพื่อช่วยให้ประเทศอุตสาหกรรมซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 สามารถบรรลุพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยซื้อคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการทำโครงการ CDM ในประเทศกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 ซึ่งเรียกว่า Certified Emission Reduction หรือ CERs เพื่อนำไปหักลบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ.

       CERs จึงเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โครงการ CDM สามารถลดได้ และได้การรับรองจากคณะกรรมการบริหารโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board หรือ CDM EB)
การซื้อขายก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Emission Trading: ET) เป็นกลไกที่เอื้อให้เกิดการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรรระหว่างประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มนี้มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศแตกต่างกัน ประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามพันธกรณี สามารถเข้าสู่กลไก ET เพื่อซื้อ CERs และ ERUs ได้ นอกจากนี้ประเทศหรือกลุ่มของประเทศเหล่านี้ก็สามารถพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่นของตนเองได้ เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามเป้าหมายของประเทศ การซื้อ CERs และ ERUs ผ่านกลไก ET สามารถซื้อเพื่อครอบคลุมปริมาณการปล่อยก๊าซบางส่วนหรือทั้งหมดได้.

     
 3. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Market)
       คือตลาดคาร์บอนที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ การจัดตั้งตลาดเกิดความร่วมมือกันของผู้ประกอบการในภาคเอกชน ผู้ที่เข้าร่วมซื้อขายในตลาดนั้นจะยินดีเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary Cap-and-trade) แต่จะไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target) ซึ่งอาจซื้อขายผ่านกลไกตลาดที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือซื้อขายแบบ Over-the counter market ซึ่งไม่มีระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน มีเพียงการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขาย ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการจัดการต่ำกว่า และดำเนินการได้ง่ายกว่า.

       4. Cap and Trade
       การเกิดขึ้นของ ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme : ETS) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ “แรงจูงใจทางการเงิน” ในการส่งเสริมให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มจาก “เจ้าของระบบ” (ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ) กำหนดระดับเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐาน (หรือที่เรียกว่า Cap Setting) ให้กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หลังจากนั้นรัฐบาจะจัดสรรใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า “Allowance Allocation” ให้กับโรงงาน / องค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบเพื่อจำกัดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละโรงงาน / องค์กร โดยแต่ละโรงงาน / องค์กร จะไม่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกินกว่าระดับ Cap ที่กำหนดไว้ในแต่ละปี และต้องรายงานผลการตรวจวัดปริมาณการปล่อยที่ผ่านการทวนสอบ (Verification) ให้กับรัฐทุกปี.

       จากนั้นโรงงาน / องค์กรต่างๆ ต้อง “คืน” (หรือที่เรียกว่า Surrender) ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาลตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (ตามที่รายงานทุกสิ้นปี) ซึ่งหากโรงงาน / องค์กรต่าง ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าใบอนุญาตปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรร ก็ต้องทำการซื้อใบอนุญาตฯ จากโรงงาน / องค์กรอื่น ๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน หรือมีอีกทางเลือกหนึ่งก็คือ อาจซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานต่าง ๆ ที่ระบบ ETS นั้นๆ ยอมรับให้นำมาใช้แทนใบอนุญาตฯ เพื่อเป็นการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองปล่อยเกินกว่าใบอนุญาตฯ ที่ตนได้รับจัดสรรมา ในทางกลับกัน หากโรงงาน / องค์กร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตฯ ก็สามารถเก็บสะสม (Banking) ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้สำหรับปีถัดไปได้ หรือจะขายให้แก่โรงงาน / องค์กรอื่นก็ได้ ทั้งนี้ราคาซื้อขายใบอนุญาตฯ นี้จะผันแปรขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานในขณะนั้น

* ประเทศในภาคผนวก 1 ได้แก่ ประเทศบูลกาเรีย โครเอเทีย สาธารณรัฐเชค เอสโทเนีย ฮังการี แลตเวีย ลิทูเอเนีย โปแลนด์ รัสเซีย สโลเวเนีย และยูเครน


ที่มาและคำอธิบาย:
13  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7857 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565.



HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 14) : รู้จักกับ Cap and Trade กลไกที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) รวมถึงรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวกับ Cap and Trade ในสหรัฐอเมริกา.

       บทความในตอนนี้ยังเกี่ยวข้องกับเรื่อง Carbon Credits ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนเองต้องออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้แต่เริ่มต้นจากที่ไม่รู้เลยต้องไปเสาะหาความรู้เพิ่มเติมและด้วยนิสัยที่อ่านแล้วชอบสรุปเพราะกลัวลืมจึงได้โอกาสเอามาแบ่งปันทุกท่านคราวนี้ก็เช่นกัน ไปอ่านหนังสือชื่อ Cap and Trade and Carbon Credits : An Introduction ของ Ugur Akinci (2009-2014)  เลยพยายามสรุปแก่นเนื้อหามานำเสนอครับ.


1. Cap and trade คืออะไร
       เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการที่โลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากจนเกินไปและทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการผลิตและใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันเป็นต้น และในอดีตที่ผ่านมาเราก็ใช้พลังงานเหล่านี้กันอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าบริษัทใดที่มีกิจกรรมธุรกิจนั้นบนกระบวนการทำธุรกิจได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเท่าใด ดูเหมือนว่าเราจะทำได้แบบไม่มีขีดจำกัด เมื่อปัญหาโลกร้อนหรือ Greenhouse Effect  เริ่มชัดเจนขึ้น ก็เริ่มคิดกันว่าจะจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างไร เช่น การออกกฏหมายเพื่อจำกัด (Limit) ปริมาณ CO2 ที่บริษัทหรือธุรกิจจะปล่อยได้ (Allowed amount).

       คำถามก็คือว่าถ้าบริษัทบางแห่งโดยรวมปล่อย CO2 น้อยกว่า Allowed Amount คือทำได้ดีจะเกิดผลอะไรต่อไหมขณะเดียวกันบริษัทที่ปล่อย CO2  มากกว่า Allowed Amount จะต้องทำอย่างไรต่อบ้าง คำศัพท์ของ Allowed Amount บางคนก็เรียกว่า “ Carbon Emission Quota” ซึ่งเปรียบเสมือน “Right to Pollute” ดังนั้นบริษัทที่ปล่อย CO2 น้อยกว่าที่กำหนดก็จะคงเหลือ “Right to Pollute” บางส่วนซึ่งสามารถนำมาขายได้ใน Open Market (หากมี) ในขณะที่บริษัทที่ปล่อย CO2 มากกว่าที่กำหนดก็จะเป็นผู้ที่ต้องไปซื้อ “ Right to Pollute” นี้มาเพื่อมาชดเชย ส่วนที่ปล่อยเกินไป.

       Cap and Trade จึงเป็นกลไกที่สามารถถูกสร้างขึ้นโดยมีส่วนสำคัญแรกคือ Cap ที่ต้องมีการคำนวณและกำหนดว่าแต่ละธุรกิจจะปล่อย CO2 ได้เท่าใด และเมื่อครบระยะเวลาหนึ่งก็ต้องคอยตรวจสอบสถานะว่าได้ปล่อย CO2 จริงไปเท่าใดพร้อมคำนวณส่วนต่างที่เกิดขึ้นเพื่อระบุว่าธุรกิจใดอยู่ในสถานะมี Right to Pollute ส่วนเกิน (ผู้ขาย) และธุรกิจใดอยู่ในสถานะ Right to Pollute ส่วนขาด (ผู้ซื้อ) จึงจะมาสู่ส่วนสำคัญที่ 2 คือ Trade โดยกำหนดให้มีตลาดคาร์บอน (Carbon Market) ให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกันเพื่อซื้อขาย Right to Pollute (Carbon Credits, Carbon Permits) เหล่านั้นได้.

       The Cap and Trade System กำเนิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่มีนาคม 2007 เมื่อมีตลาดเกิดขึ้นในช่วงแรกราคาของ Carbon Permits เหล่านี้ได้ทะยานสูงขึ้น 3 เท่าตัวในปีแรก ๆ แต่สถานการณ์ความตกต่ำของตลาด Cap and Trade นี้ได้เกิดขึ้นต่อมาในปี 2011 เมื่อเกิดการคัดค้านซึ่งส่งผลไปถึงการเมืองในทวีปยุโรป ทำให้ปริมาณการซื้อขาย Carbon Credits ลดลงใน European Energy Exchanges ที่สำคัญหลายแห่ง อย่างไรก็ดีกระแส Global Warming ที่ยังเป็นปัญหาทำให้การส่งเสริมเรื่อง Cap and Trade ได้รับการพิจารณากลับมาอยู่ในจุดสนใจอีกครั้งในปัจจุบัน สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา บรรดา Giant Corporation ต่างก็หันมาสนใจประเด็นนี้กันมากขึ้นบนภาวะโลกร้อน และผู้คนทุกวงการต่างเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ และภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการลดการปล่อย CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก และมีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนไปกว่านี้ในเวลาที่กำหนด.

       แนวคิดเกี่ยวกับ Cap and Trade แม้ในด้านหนึ่งจะเป็นวิธีการช่วยควบคุมการปล่อย CO2 โดยให้บริษัทที่ปล่อย CO2 เกินได้มีทางออกแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า

          1) การผลิตในโลกปัจจุบันกว่า 80% ยังคงใช้เทคโนโลยีที่มีการปล่อยคาร์บอนออกมาแม้ว่าจะเริ่มมีการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นก็ตามดังนั้นบริษัทที่ปล่อย CO2 ออกมาเกินแม้ว่าจะไปซื้อ Carbon Credits มาชดเชยก็ตาม แต่ก็ยังคงใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนออกมาอยู่ดี ไม่ได้ส่งเสริมให้หยุดการปล่อย CO2 ด้วยการเลิกใช้เทคโนโลยีแบบเดิมที่มีปัญหา.
          2) หากมีการส่งเสริมให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงมาใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดจริง ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นจนทำให้ Consumer price สูงตามเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเพราะนักการเมืองที่ไม่ได้เป็นหัวก้าวหน้าพอ ก็กลัวว่าจะกระทบฐานเสียงในระยะสั้นของตนได้.
          3) ประเด็นการกำหนด Caps ที่เหมาะสมของแต่ละบริษัท ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบและวิธีการคิดว่ามีความถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่อย่างไร.


2. กฎหมายเกี่ยวกับ Cap and Trade ในสหรัฐอเมริกา
       สหรัฐอเมริกามีการออกกฏหมายที่เรียกว่า American Clean Energy and Security Act (ACES) ในปี 2009 หรือรู้จักกันในชื่อ “The Waxman-Markey Cap and Trade Bill” ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้มีการนำ “a cap-and-trade system” มาใช้และกระทบถึงผู้เสียภาษีทุกคนในสหรัฐฯ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการกำหนดปริมาณ Upper Limit ที่ประเทศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงสุดต่อปี รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับ Renewable Energy Standards มาตรฐานดังกล่าวนี้กระทบต่อบริษัทพลังงาน (Utility Companies) ที่ถูกกำหนดให้ 20% ของพลังงานที่ผลิตเพื่อตอบสนองตามความต้องการจะต้องมาจาก Renewable Source ภายในปี 2020 รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค.

       ในมิติการเมืองกฎหมาย Cap and Trade นี้กลายเป็นสมรภูมิที่เรียกว่า “Political Football” โดยพรรค Democrat เป็นฝ่ายสนับสนุนเต็มที่ แต่พรรค Republican คัดค้านอย่างดุเดือดในเรื่องดังกล่าว ทำให้การขยับเขยื้อนในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ ในทศวรรษที่แล้วไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก.

       มีการนำเสนอเรื่อง “Carbon Tax” ออกมาเป็นทางเลือกทดแทน A Cap and Trade System Carbon Tax นี้ คือภาษีที่คิดบนการเกิดคาร์บอน จากการใช้พลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งผู้ที่ใช้เยอะจะทำให้เกิด CO2 มาก ก็จะถูกคิด Carbon Tax ในระดับที่สูงขึ้นซึ่งวิธีการนี้มีลักษณะเป็น Penalty มากกว่าเป็น Incentive เหมือนกรณี Cap and Trade แต่ข้อดีก็มีคือหากธุรกิจหาวิธีลดการปล่อย CO2 ทำให้ปริมาณการปล่อยจริงลดลงก็จะเสียภาษีน้อยลงด้วย.

       การถกเถียงคือวิธีที่เหมาะสมในการลดการปล่อย CO2 ดำเนินมาจนถึงปี 2011 ซึ่งเป็นยุคของประธานาธิบดี Obama จากพรรค Democrat ซึ่งสนับสนุนแนวทาง Cap and Trade กับอีกพรรค Republican ซึ่งต่อต้านเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม Cap and Trade System  ก็ยังอยู่รอดมาโดยในระดับมลรัฐ เช่น California ได้มีการกำหนดเกณฑ์เดียวกับ The green-house gas emission level ภายในปี 2020 ขึ้น
การเกิดขึ้นของ Carbon Credit Market แบบ Cap and Trade ที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างมากในยุโรปมากกว่าในสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐไม่ได้เข้าร่วมลงนามใน The U.N. Kyoto Protocol ทำให้ไม่ได้ใช้มาตรฐาน U.N. Certification เหมือนประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งต้องมีการคำนวณปริมาณ CO2 ไม่ว่าจะมาจากโครงการ Energy Saving หรือโครงการลดการใช้พลังงานฟอสซิล โครงการผลิตและใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยน Carbon Credits ในทวีปยุโรปเป็นไปอย่างกว้างขวางมากกว่า มีข้อมูลสรุปว่าตลาด Carbon Credits  ใน London ขณะนั้นมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 60% ของตลาดรวม ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น อย่างไรก็ดีในมิติของนักลงทุน สหรัฐฯ มีฐานนักลงทุนใหญ่ซึ่งมีความคึกคัก เกิดนักลงทุนประเภท Hedge Fund ด้านนี้ขึ้นมามากใน Chicago Climate Exchange เกิดนักลงทุนที่เป็น Member ในตลาดไม่น้อยกว่า 200 คน.


ที่มาและคำอธิบาย:
14  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7969 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565.


HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 15) : เงื่อนไขสำคัญของการเข้าซื้อขาย Carbon Credits ระหว่างประเทศ และพัฒนาการด้าน Cap and Trade ในประเทศออสเตรเลีย และแคนนาดา

       บทความในตอนนี้จะกล่าวถึงแนวทางการซื้อขาย Carbon Credits ระหว่างประเทศและพัฒนาการด้าน Cap and Trade ในประเทศสำคัญ โดยเป็นเนื้อหาที่สรุปจาก Cap and Trade and Carbon Credits  : An introduction ของ Ugur Akinci (2009-2014)

1. เงื่อนไขสำคัญของการเข้าซื้อขาย Carbon Credits
       เงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่
  • ประเทศของธุรกิจที่ต้องการซื้อขาย Carbon Credits ต้องร่วมลงนามใน The Kyoto Protocol 2005 และ Carbon Credits ที่จะนำมาซื้อขายต้องมีมาตราฐานและอยู่ภายใต้กฎ Kyoto’s Clean Development Mechanism (CDM)
  • องค์กรธุรกิจนั้นจะต้องนำ Carbon Saving Project ของตนเองจดทะเบียนตามวิธีของ United National ก่อนจึงจะนำ Carbon Credits ออกซื้อขายได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทพลังงานชั้นนำของอินเดียคือ Oil and Natural Gas Corp (ONGC) ได้นำโครงการเข้าจดทะเบียนโดยคาดการณ์ว่าจะสามารถมี Carbon Credits คงเหลือออกขายได้ถึง 850,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นเงินประมาณ 600 ล้านรูปีหรือคิดเป็น 705 รูปีต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้ผลิต Carbon Credits ออกขายอาจเป็นองค์กรสาธารณะก็ได้ เช่น องค์กรที่ทำหน้าที่ปลูกและอนุรักษ์ป่า ซึ่งพื้นที่ป่าเหล่านั้นช่วยดูดซับและลด CO2 ลงได้
       สำหรับผู้ซื้อ Carbon Credits ก็มาจากองค์กรธุรกิจที่ต้องขึ้นทะเบียนเช่นกัน จากประเทศต่าง ๆ ที่ได้เข้าร่วมการลงนามใน Kyoto protocol ปี 2005 บางครั้งก็มาจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่กระบวนการทำธุรกิจยังต้องมี Carbon Emission อยู่จึงหันไปซื้อจากองค์กรผู้ขาย Carbon Credits ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากองค์กรภาคสาธารณะหรือองค์กรธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ONGC ที่ยกตัวอย่างไปดังกล่าว
ในปี 2008 ได้มีการก่อตั้ง Regional Greenhouse Gas Initiative (RGGI) โดย 10 มลรัฐทางด้าน Northeastern และ Mid-Atlantic ของสหรัฐอเมริกาเพื่อหาทางลดการปล่อย CO2 ออกจากโรงงานไฟฟ้าโดยมีการนำแนวคิด  Cap and Trade ไปใช้ครั้งแรกในขณะนั้นราคา Carbon Allowanced หรือ carbon credits อยู่ที่ 1.86 ดอลล่าร์ต่อตัน CO2 มีปริมาณซื้อขายกันถึง 12 ล้านหน่วยจาก 6 มลรัฐ หลังจากนั้นอีก 4 มลรัฐจึงมาเข้าร่วมโดยพื้นที่ 10 มลรัฐนี้มีความเหมาะสมเนื่องจากมีโรงงานไฟฟ้ารวมกันถึง 200 โรง มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากเดิมให้ได้ 10% ภายในปี 2019 ซึ่งพบว่าบรรลุเป้าหมายได้ตั้งแต่ปี 2018 และในระหว่างสามปีแรกได้มีการซื้อขาย Carbon Credits กันไปสูงถึง 912 ล้านหน่วย


2. Country Focus - Australia
       Australia เลือกใช้นโยบาย Carbon Tax ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อย CO2 ลง 5% ในปี 2020 (เมื่อเทียบกับปี 2000) หรือคิดเป็น 160 ล้านตัน CO2 ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้กระทบทางลบต่อมูลค่าส่งออกถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของ Australia ประมาณการกันว่าในช่วง 10 ปีแรกของการใช้ Carbon Tax นั้น Australia ได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 23,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ.

       ในการเก็บ Carbon Tax นั้นรัฐบาล Australia จะเก็บจาก 1,000 บริษัทที่สร้างผลกระทบในการปล่อย CO2 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2012 โดยเก็บ 23 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่อ 1 ตัน ของ CO2 ก็ถือว่า Australia เป็นประเทศแนวหน้าแห่งหนึ่งที่เห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ดีผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นทำให้ในปี 2015 Australia เริ่มเปลี่ยนนโยบายและหันมาใช้ a cap and trade scheme มาแทนเรื่อง Carbon Tax.


3.Country Focus-Canada
       Canada มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองซึ่งอยู่ในรัฐ Alberta สูงถึง 114 พันล้านบาร์เรล และถือว่าเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รัฐบาล Canada ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งเสริมนโยบาย Cap and Trade แต่ให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่าง ๆ ที่ออกกฏหมายควบคุมการปล่อย CO2 รัฐ British Columbia ที่ติดอยู่กับ Pacific Coast ดูจะเป็นรัฐที่อยู่ในระดับแนวหน้าที่ยอมรับแนวคิด Cap and Trade โดยร่วมมือกับ 7 รัฐของสหรัฐฯ และ 4 รัฐของ Canada ในการจัดตั้ง Western Climate Initiative (WCI) ขึ้นในปี 2012 รวมถึงรัฐ Alberta ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลใหญ่ที่สุดก็เข้ามาร่วมด้วย โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะมีการลดการปล่อย CO2 ลงปีละ 12% และเปิดโอกาสให้บริษัทที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ไปหาซื้อ Carbon Credits มาชดเชยได้.

       อย่างไรก็ดีมี 2 รัฐของ Canada เลือกใช้วิธีเก็บ Carbon Tax เพื่อควบคุมการปล่อย CO2  ของภาคอุตสาหกรรมและให้เงินทุนสนับสนุน Clean Alternatives Energy Projects มีข้อมูลสรุปว่ารัฐ Quebec ได้เก็บภาษี Carbon Tax ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2007 และเก็บในอัตรา 3.50 ดอลลาร์แคนาดา (3.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อตัน CO2 ส่วนรัฐ  British Columbia เริ่มเก็บ carbon tax ในเดือนกรกฎาคม 2008 โดยเก็บ 10 ดอลล่าร์แคนาดา (9.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อตัน CO2 และจะเก็บเพิ่มอีก 5 ดอลลาร์แคนาดา (4.77 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อตัน CO2 ต่อปี จนกระทั่งสูงสุดที่ 30 ดอลลาร์แคนาดา (28.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อตัน CO2 ในปี 2012.

       ด้วยความที่ Canada เป็นผู้ผลิตทรัพยากรพลังงานฟอสซิลรายใหญ่ของโลกจึงมีท่าทีที่ไม่ค่อยอยากลงนามต่อสัญญา Kyoto Protocol ปี 2005  อีกครั้งโดยแสดงท่าทีผ่านการประชุมที่ Durban Conference on Climate Changes ในปี 2011 ทั้งนี้ข้อตกลงใน Kyoto Protocol เมื่อปี 2005 ซึ่งลงนามโดย 191 ประเทศ โดยมีประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว 37 ประเทศลงนามด้วย (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) ต่างก็ให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อย CO2 โดย Canada กำหนดเป้าหมายที่จะลดการปล่อย CO2 ลงจากปี 2005 ให้ได้ 17% เมื่อถึงปี 2020.

       ท่าทีเช่นนี้ของ Canada ได้ถูกตั้งคำถามจากประเทศต่าง ๆ มาก เพราะเท่าที่ผ่านมา Canada ถือว่าเป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศในการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ดี Canada ก็ยืนยันคล้ายกับสหรัฐฯ ว่าควรให้ประเทศที่เป็นผู้ปล่อย CO2  รายใหญ่เช่น China, India, Brazil ต้องให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อย CO2 ในระดับที่เหมาะสมกับการเป็น Major Polluters ด้วย มีการวิเคราะห์ว่าหาก Canada ต้องปฏิบัติตาม Kyoto Protocol ในช่วงเวลานั้น Canada จะต้องจ่ายเงินซื้อ Carbon Credits สูงถึง 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อชดเชยการปล่อย CO2 ที่เกินข้อตกลงหรือคิดเป็น 890 ล้านตัน CO2 (ในราคา 7.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน CO2) ทำให้ประหยัดงบประมาณไม่ให้ขาดดุลไปได้มาก อย่างไรก็ดีสภาพของโลกที่ยังเป็นปัญหา ท่าทีของประเทศต่าง ๆ ในขณะนี้เริ่มเปลี่ยนไป การหันมาร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจะมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีความคาดหวังว่าหากสหรัฐอเมริกามีท่าทีที่ดีขึ้นกับการเข้าร่วม Kyoto Protocol จะทำให้พันธมิตรสำคัญเช่น Canada เปลี่ยนท่าทีตามไปด้วย.


ที่มาและคำอธิบาย:
15  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7970 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565.



HIGHLIGHT
       ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 16) : พัฒนาการเกี่ยวกับ Carbon Emission และ Carbon Credits ในประเทศจีน นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงในกลุ่มสหภาพยุโรป

       บทความในตอนนี้ยังอยู่ในเหตุการณ์ของประเทศสำคัญที่ Response ต่อการดำเนินการเกี่ยวกับ Carbon Emission และ Carbon Credits ภายหลังการเกิดขึ้นของ Kyoto Protocol ในปี 2005 ซึ่งในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงประเทศ Australia และ Canada ไป.


1. Country Focus-China
       China เป็นประเทศใหญ่ที่คาดการณ์ว่าเพียง China และ USA 2 ประเทศ ก็มีปริมาณการปล่อย CO2 ออกมาถึงประมาณ 40% ของปริมาณการปล่อย CO2 ของทั้งโลก ในการประชุม Durban Conference ปี 2011 China ได้เสนอเงื่อนไข 5 ประการ หากจะให้ลงนามต่อใน Kyoto Protocol ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเสนอ New Target ในการปล่อย CO2 ของประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว โดย China ถือว่าประเทศตนยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา และในเงื่อนไขสำคัญอีก 2 ประการคือ china ยังร้องขอความช่วยเหลือการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Climate และด้าน Low Carbon เพื่อมาช่วยให้ China พัฒนาแก้ไขปัญหาการปล่อย CO2 ให้ได้ดีขึ้น.

2. Country Focus-New Zealand
       ในอดีตที่ผ่านมา New Zealand มีช่วงเวลาสนับสนุนนโยบาย Deforestation เพื่อไปทำ Dairy Farm ซึ่งถูกวิพากย์วิจารณ์ว่าการลดพื้นที่ป่านี้เป็นเหตุให้การดูดซับ CO2 ลดลง แถมฟาร์มปศุสัตว์เหล่านี้ยังไปเพิ่ม CO2 ออกไปอีก จนถึงปี 2012 มีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ป่าของ New Zealand ได้ลดลงถึง 44,000 Hectares ในเชิงเศรษฐศาตร์มีการคำนวณว่าเกิด “Deforestation Liability” ในมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2012 เพื่อจะลดการขยายพื้นที่ฟาร์มปศุสัตว์ซึ่งเริ่มได้รับการคัดค้านมากขึ้น รัฐบาล New Zealand เริ่มเก็บภาษีที่เรียกว่า a deforestation tax ขึ้นสำหรับผู้ที่จะใช้พื้นที่ป่าที่มีการปลูกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่กลับกลายเป็นว่ามีการเร่งลดพื้นที่ป่าเพื่อทำ Dairy Farm กันอย่างเต็มที่ให้ทันก่อน Deadline ที่จะเสียภาษี.

3. Country Focus – European Union (EU)
       ทวีปยุโรปถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความก้าวหน้าและสนับสนุนการเกิดขึ้นของ Cap and Trade มากที่สุด ในเดือนมกราคม2005 EU ได้พัฒนา Emission Trading System (ETS) ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศเข้าร่วม มีการกำหนด Initiative Target ของการปล่อย CO2 ให้แก่ธุรกิจใน Utility Plants, Power Steel และ Cement Factories และขยายต่อมายังธุรกิจอื่น ๆ เช่น ในปี 2012 มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อย CO2 แก่ Airline Companies แม้ว่าการทำเช่นนี้เป็นการทำให้ต้นทุนของสายการบินสูงขึ้นและต้องไปขึ้นค่าธรรมเนียมของค่าโดยสารเครื่องบินใน EU ก็ตาม.

       EU มีการวางแผนการดำเนินงานเรื่อง Carbon Emission อย่างเป็นระบบ โดยแบ่งออกเป็น 3 phase (2005-2008, 2008-2013, 2013-2020) โดยแต่ละ phase จะมีการกำหนดอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ที่จะขยายไป โดยมีเป้าหมายว่าเมื่อสิ้นสุด phase 3 จะลดการปล่อย CO2 ทั้ง EU ลงได้ 21% เมื่อเทียบกับปี 2005 ที่เป็นจุดเริ่มต้น.

       ใน phase ที่ 1 ถือว่าเป็นช่วง Failure เพราะข้อมูลพบว่ามี Supply ของ Carbon Credits ออกมามากกว่า Demand จาก Polluting Companies ประมาณการว่าเกิด Oversupply ประมาณ 2.3% ในตลาด Carbon Credits ทำให้ราคาของ Carbon Credits ลดลง อีกทั้ง บริษัทที่ปล่อย CO2 เกินกว่ากำหนด ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อ Carbon Credits ก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่มีใครว่า ส่วนบริษัทที่มี Supply เหลือ อาจเกิดจากการกำหนดเป้าหมายปล่อยไว้สูงเกิน พอตนเองทำการปล่อย CO2 จริงน้อยกว่าเป้าที่สูงขึ้นไปนั้น ก็เหลือ Supply ของคาร์บอนเครดิตแบบฟรี ๆ ไม่ต้องทำอะไร สามารถนำออกขายสร้างผลกำไร แม้ว่าราคา Carbon Credits จะลดลงก็ตาม และเพื่อแก้ปัญหานี้ ใน phase 2 ทาง EU จึงเพิ่มปริมาณ CO2 ที่ต้องการให้ลดลงใน phase ที่ 2 นี้ อีก 5% ทำให้ Demand และ Supply มีความสมดุลกันมากขึ้น
ในปี 2010 Sandbag ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรใน UK ได้สรุปการไม่ประสบความสำเร็จของ ETS ไว้โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

       (1) Inappropriate Target
          การตั้งเป้าของ EU ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2020 เมื่อเทียบจากปีฐาน 1990 นั้นเมื่อมาถึงปี 2009 ลดลงได้เพียง 11.6% ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายอีกมากและจะไม่ประสบความสำเร็จหากดำเนินการแบบเดิม Sandbag ได้เสนอปรับเป้าหมายใหม่เป็นการลด CO2 ลง 30% เพื่อไปชดเชยปริมาณ CO2 ที่ต่ำกว่า เป้าหมายในช่วงแรก.

       (2) Sectoral Overallocation
          ในช่วง Second Phase นั้น ปริมาณ Carbon Credits ที่เป็น Over Supply มีอยู่ 233 ล้านหน่วยในตลาด โดยเฉพาะในช่วงปี 2008-2009 ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่า จะมีการปล่อย CO2 มากขึ้นในระยะต่อไป เพราะบริษัทที่ปล่อยเกินสามารถมาซื้อไปชดเชยได้ง่ายในราคาถูกลง Sandbag ได้เสนอให้มีการปรับ Caps ใหม่ให้เหมาะสมใน Phase 3.

       (3) Strategic Carbon Reserve
          Sandbag ได้แนะนำให้มีการกำหนด “Strategic Carbon Reserve” เอาไว้ กรณี Demand สำหรับ Carbon Credits มีการลดลงอย่างรวดเร็ว (หรือเกิด Oversupply ขึ้น) การเก็บ Reserve เอาไว้ เป็นการดึงไม่ให้ Carbon Credits ที่ยังไม่เป็นที่ต้องการออกมารวดเร็วจนเกินไป.


4. Country Focus-Japan
       กรณีเมืองใหญ่เช่น Tokyo ใน Japan นั้น มีประชากรทั้งในเมืองและบริเวณรอบ ๆ ครอบคลุมประชากรมากถึง 34 ล้านคน และมีการใช้พลังงานมากพอ ๆ กับ เขตตอนเหนือของยุโรปเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็หมายถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อย CO2 จำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย ในเดือนเมษายน 2010 เมือง Tokyo ได้ประกาศใช้ Cap-and-trade program มาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อควบคุมการปล่อย CO2 ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมาย การลดการปล่อย CO2 นี้ลง 25% ภายในปี 2020 เมื่อเปรียบเทียบจากปริมาณ CO2 ที่ปล่อยในปีฐาน 2000 ในระยะแรกของโครงการนี้ มีการกำหนดให้บริษัทชั้นนำใน Tokyo จำนวน 1,400 แห่งเข้าร่วมและมีเป้าหมายว่าภายในปี 2014 จะลดการปล่อย CO2 นี้ลงจากเดิม 6% และบริษัทที่ไม่สามารถบรรลุได้ จะต้องเข้าไปซื้อ Carbon Allowances  (หรือ Carbon Credits) มาชดเชยผ่านระบบ Cap and Trade อย่างไรก็ดีเมื่อมีการพยายามผลักดันให้ขยายผล Cap and Trade ออกไปสู่ระดับประเทศในขณะนั้น ก็ยังถูกคัดค้านจากนักการเมืองในรัฐสภาของ Japan.

ที่มาและคำอธิบาย:
16  จาก. https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7971 โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565.

 
info@huexonline.com