MENU
TH EN
ภาพ: ข้าพเจ้ากับบริเวณลานหน้าหมู่ถ้ำอจันตา รัฐมหาราษฎระ ภารตะ, ถ่ายไว้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2566.
IND-001: (หมู่) ถ้ำอชันตา01, 02, 03, 04, 05.
First revision: Jul.27, 2023
Last change: Mar.27, 2024

สืบค้น
รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       หมู่ถ้ำอชันตา (Ajanta Caves, ภาษามราฐี: अजिंठा लेणी) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage Site) โดยองค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2526 หมู่ถ้ำนี้ตั้งอยู่ที่เมืองออรังคบัด รัฐมหาราษฎระ ภารตะ (Maharashtra State, Aurangabad District, Soyagon Taluka, Lenapur Village) ได้ชื่อว่าเป็นหมู่วัดถ้ำจำนวน 29 ถ้ำในพระพุทธศาสนาที่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างราว พ.ศ.350 (ระหว่างก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึง 1) แรกเริ่มพระภิกษุที่ค้นพบบริเวณหมู่ถ้ำแห่งนี้ เห็นว่าเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เจาะภูเขาเพื่อสร้างเป็นกุฏิ โบสถ์ วิหาร ฯลฯ เพื่อให้มีวัตรปฏิบัติของสงฆ์อย่างสันโดษ. ในยุคราชวงศ์คุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 5-6) มีการตกแต่งถ้ำอย่างสวยงาม เพิ่มเสริมขึ้นจากผู้สร้างและวาดไว้เดิม. ภาพเขียนและรูปแบบสลักของหมู่ถ้ำอชันตานี้ ถือได้ว่าเป็นงานชิ้นเอกในศิลปะของพระพุทธศาสนา และได้รับการพิจารณาว่าเป็นงานศิลปะที่มีอิทธิพล. และเป็นงานตัวอย่างของศิลปะอินเดียโบราณที่ยังคงมีอยู่ให้เห็น โดยเฉพาะการเผยถึงการระบายสีที่แสดงออกถึงอารมณ์โดยผ่านท่าทาง การวางท่า และรูปแบบต่าง ๆ .

แผนที่หมู่ถ้ำอชันตา, ที่มา: mdpi.com, วันที่เข้าถึง: 3 สิงหาคม 2566.
 
การค้นพบ
       เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2362 (ค.ศ.1819) มีทหารอังกฤษชื่อกัปตัน จอห์น สมิธ (John Smith) ได้ค้นพบหมู่ถ้ำนี้โดยบังเอิญจากการออกไปล่าเสือ (งานเลี้ยงสร้างความสนุกสนานโดยการออกไปล่าเสือของเหล่าทหารอังกฤษ) .

       หมู่ถ้ำอชันตามีการสร้างแบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะแรกเริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 2-3 (หรือศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล) และระยะที่สองเกิดขึ้นตั้งแต่ราว ก่อนพ.ศ.143 ปี ถึง พ.ศ.107 (หรือคริสต์ศักราช 400 ถึง 650) (ตามบันทึกเดิม) และมีนักวิชาการได้ค้นคว้าใหม่ระบุว่าอยู่ในช่วงคริสต์ศักราช 460-480.

       กลุ่มถ้ำอชันตาประกอบด้วยพระอารามโบราณ (พระวิหาร) และหอสักการะ (ไชทยะ - Chaityas) ของพระพุทธศาสนาที่มีนิกายแตกต่างกัน ซึ่งแกะสลักไว้ในกำแพงหินสูง 75 เมตร ภายในถ้ำได้จัดแสดงภาพเขียนอดีตชาติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการประสูติของพระองค์ในชาติต่าง ๆ ก่อนเสด็จปรินิพพาน ภาพนิทานของอรยสูร (Aryasura) ที่ชื่อชตกมละ (Jatakamala) และประติมากรรมสลักหินของเทพในพระพุทธศาสนา. มีบันทึกได้ระบุว่าหมู่ถ้ำนี้ ใช้เป็นที่หลบภัยมรสุมสำหรับพระสงฆ์ และเป็นที่พำนักสำหรับพ่อค้าวานิชและผู้แสวงบุญในยุคโบราณ ภายในหมู่ถ้ำตรงผนังและเพดานมีภาพเขียนจิตรกรรมสีสันสดใสมีอยู่มากมาย ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ถ้ำหมายเลข 1, 2, 16 และ 17 นั้น ถือเป็นคลังภาพผนังอินเดียโบราณที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่.

       หมู่ถ้ำนี้ได้ถูกระบุในบันทึกของนักเดินทางชาวจีนที่นับถือพระพุทธศาสนาในยุคกลาง (Medieval era) หลายท่าน. หมู่ถ้ำอชันตานี้ถูกปกคลุมไปด้วยป่า ซึ่งอยู่ในกำแพงหินตอนเหนือของช่องเขารูปตัวยูของแม่น้ำวกูห์ร (Waghur) บนที่ราบสูงเดคคาน (the Deccan plateau). ซึ่งภายในหุบเขานี้มีน้ำตกหลายแห่ง เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงจะได้เสียงน้ำตกไหล.

       จากการสำหรับสามารถระบุได้ว่ามี 36 ถ้ำ บางถ้ำถูกค้นพบหลังจากจำนวนถ้ำเดิมตั้งแต่ 1 ถึง 29 ถ้ำที่ค้นพบในภายหลังได้รับการต่อท้ายด้วยตัวอักษร เช่น 15A ซึ่งเป็นถ้ำที่ค้นพบใหม่อยู่ระหว่างถ้ำที่ 15 และ 16 การกำหนดหมายเลขถ้ำเป็นแบบแผนเพื่อความสะดวก และไม่ได้สะท้อนถึงลำดับเวลาของการก่อสร้างแต่อย่างใด.


หมู่ถ้ำสมัยแรก: ราชวงศ์สาตวาหนะ (Sātavāhana Dynasty) ช่วงระหว่าง พ.ศ.343-643 (หรือระหว่างก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1)
ถ้ำหมายเลข 9 มีห้องโถงบูชาหินยานยุคแรก มีสถูป แต่ไม่มีรูปเคารพ

       หมู่ถ้ำสมัยแรกนี้ประกอบด้วยถ้ำ 9, 10, 12, 13 และ 15A มีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในถ้ำแสดงเรื่องราวจากชาดก (Jatakas) ถ้ำอื่น ๆ ถัดมาได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางศิลปะของสมัยคุปตะ (the Gupta) แต่ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในเหล่านักประวัติศาสตร์ว่า หมู่ถ้ำในยุคแรกนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาใด ตามคำกล่าวของ วอลเตอร์ สไปค์ (Walter Spink) หมู่ถ้ำนี้สร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.343-643 (หรือ 200 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 100 ปีหลังคริสตกาล) ซึ่งบางทีอาจอยู่ภายใต้พระบรมศาสนูปถัมภกของราชวงศ์สาตวาหนะ (ปกครองในดินแดนมราฐีแถบนี้ราว พ.ศ.213-763 หรือ 230 ปีก่อนคริสตกาล ถึง คริสต์ศักราชที่ 220) ซึ่งตรงกับช่วงคาบเกี่ยวของจักรวรรดิเมาริยะ (the Maurya Empire) ซึ่งปกครองครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียโบราณ (พ.ศ.243-443 หรือ 300-100 ปีก่อนคริสตกาล) โดยถ้ำที่ 9 และ 10 มีสถูปที่อยู่ภายในโถงถ้ำบูชาในรูปแบบชัยทยะ-กริหะ (chaitya-griha) และถ้ำที่ 12, 13 และ 15A เป็นวิหาร (vihāras) นับเป็นหมู่ถ้ำสมัยสาตวาหนะยุคแรกที่ไม่ประติมากรรมอื่นใด โดยเน้นที่สถูปแทน.

       จากข้อมูลของสไปค์ เมื่อมีการสร้างหมู่ถ้ำสมัยราชวงศ์สาตวาหนะแล้วนั้น บริเวณหมู่ถ้ำทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 10 หรือกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5. อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ๆ หมู่ถ้ำนี้ ถูกใช้สำหรับการเยี่ยมชมสถานที่ และพักอาศัย สำหรับผู้จาริกแสวงบุญของบรรดาเหล่าพุทธมามกะ อันเป็นตามบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (法顯 - Faxian) เมื่อราว พ.ศ.943 หรือ ค.ศ.400.



หมู่ถ้ำสมัยที่สอง: ราชวงศ์วกาฏกะ (Vākāṭaka Dynasty) ระหว่างพ.ศ.1003-1023 (หรือคริสต์ศักราช 460 ถึง 480)
      การก่อสร้างหมู่ถ้ำในระยะที่สองที่ถ้ำอชันตานี้ เริ่มขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 10-11 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เชื่อกันมานานว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 ถึง 12 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 4 ถึง 7 แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา วอลเตอร์ สไปค์ได้แย้งว่างานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นมาก ระหว่าง พ.ศ.1003-1023 หรือ ค.ศ.460-480 ในรัชสมัยของพระเจ้าหริเสนะ (Harishena) พระองค์ครองราชย์ราวพุทธศตวรรษที่ 11 (พ.ศ.1003-1021) ซึ่งเป็นจักรพรรดิชาวฮินดูแห่งราชวงศ์วกาฎกะ แนวคิดนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการบางท่าน แต่ปัจจุบันได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับศิลปะอินเดียส่วนใหญ่.

       ในสมัยที่สองนี้ การก่อสร้างหมู่ถ้ำได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา มหายานนิกาย อันประกอบด้วย ถ้ำ 1-8, 11, 14-29 และบางส่วนอาจเป็นส่วนขยายของหมู่ถ้ำในสมัยแรก ถ้ำ 19, 26 และ 29 เป็นหอสักการะไชทยะ-กริหัส (Chaitya-grihas) ซึ่งเป็นวิหารที่เหลือ. กลุ่มถ้ำนี้มีความซับซ้อนที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ หมายรวมถึงการปรับปรุงและทาสีถ้ำในยุคแรก ๆ อีกด้วย.


ถ้ำหมายเลข 1:
       เป็นถ้ำที่สร้างขึ้นทางทิศตะวันออกของรอยเกือกม้า และปัจจุบันเป็นถ้ำแรกที่นักท่องเที่ยวหรือผู้ศรัทธาได้พบก่อน นับเป็นถ้ำสุดท้ายที่ทำการบูรณะขุดค้น เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นน้อยกว่า เป็นถ้ำไม่ค่อยเปิดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ศรัทธาเข้าไปชมมากนัก เห็นได้จากไม่มีคราบเขม่าจากตะเกียงเนยบนฐานของพระพุทธรูป และไม่มีความเสียหายต่อภาพวาดจากการที่ใช้ตะขอพวงมาลัยรอบพระพุทธรูป นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าจักรพรรดิในราชวงศ์วกาฏกะทรงมีคุณูปการในการสร้างเจาะขุดถ้ำแห่งนี้.
 
      
หน้าผาด้านหน้าของถ้ำหมายเลข 1 นี้มีความลาดชันมากกว่าถ้ำอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อให้ได้ส่วนหน้าถ้ำดูสูงตระหง่าน จึงจำเป็นต้องตัดกลับเข้าไปในทางลาด ทำให้มีลานใหญ่ด้านหน้าส่วนหน้าผา.
 

ส่วนหน้าของถ้ำหมายเลข 1 ด้านบน (สังเกตได้ว่ากรอบคานหินเหนือเสา มีภาพแกะสลักช้าง ม้า หงษ์ นางอัปสร และพระพุทธเจ้าทรงนั่งสมาธิ), ถ่ายไว้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2566.

 
       เป็นถ้ำวิหารขนาด 35.7*27.6 เมตร ของพุทธศาสนา มหายานนิกาย มีภาพเขียนแสดงชาดก (Jātaka) ต่าง ๆ (ซึ่งชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า) มีการขุดค้นขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1043 (หรือ ค.ศ.500) ส่วนหน้าถ้ำมีการแกะสลักอย่างประณีตที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีประติมากรรมนูนบนซุ้มและสันเขา และพื้นผิวส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยงานแกะสลัก มีการตกแต่ง มีฉากที่แกะสลักจากพุทธประวัติและลวดลายตกแต่งอีกมากมาย มุขสองเสาที่เห็นได้ในภาพถ่ายสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้พังทลายลงมา ถ้ำแห่งนี้มีลานด้านหน้าซึ่งมีห้องอยู่ด้านหน้าด้วยถ้ำห้องโถงที่มีเสาทั้งสองด้าน สิ่งเหล่านี้มีระดับฐานของรูปสลักสูง ถ้ำมีระเบียงที่มีช่องถ้ำธรรมดาอยู่ที่ปลายทั้งสองข้าง การไม่มีห้องโถงที่มีเสาอยู่ที่ปลายบ่งบอกว่าระเบียงไม่ได้ถูกขุดขึ้นมาในระยะล่าสุดของกลุ่มถ้ำอชันตา ห้องโถงถ้ำมีเสากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการเจาะขุดตกแต่งถ้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่ของระเบียงเคยถูกปกคลุมไปด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีเศษชิ้นส่วนมากมายหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะบนเพดาน มีทางเข้าออกสามทาง คือ ทางเข้าประตูกลาง และประตูด้านข้าง 2 บาน ระหว่างทางเข้าประตูมีการแกะสลักหน้าต่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสสองบานเพื่อเพิ่มความสว่างให้กับการตกแต่งภายใน.

       ผนังแต่ละด้านในห้องโถงถ้ำยาวเกือบ 40 ฟุต (12 ม.) และสูง 20 ฟุต (6.1 ม.) มีเสาสิบสองต้นทรงสี่เหลี่ยมอยู่ด้านใน รองรับเพดานและสร้างทางเดินไว้กว้างตามแนวผนัง ผนังด้านหลังมีแท่นบูชาแกะสลักไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปางประทับ พระหัตถ์ทรงอยู่ในปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรกัปวัตตนมุทรา - dharmachakrapravartanā Mudrā) มีสี่ห้องถ้ำในแต่ละผนังด้านซ้าย ด้านหลัง และด้านขวา.

 

ด้านขวาในของถ้ำมีภาพเขียนเกี่ยวกับมหาชนกชาดก เป็นภาพบนฝาผนังขนาดใหญ่แสดงกิจกรรม การแสดงออกของผู้คนที่หลากหลายในยุคนั้น, ถ่ายไว้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2566.
 

ด้านซ้ายไกลของถ้ำ ผนังมีภาพเขียนเหล่าพระโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา ปัทมปานีทรงถือดอกบัว) ในเทือกเขา (ฺBodhisattva Padmapani Kings in the mountains), ถ่ายไว้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2566.


ด้านขวาไกลของถ้ำ ผนังมีภาพเขียนเหล่าพระโพธิสัตว์ในเทือกเขา (ฺBodhisattva in the mountains), ถ่ายไว้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2566.

     
หนึ่งในสี่จิตรกรรมฝาผนังเรื่องมหาชนกชาดก: พระราชาทรงประกาศสละราชสมบัติเพื่อเป็นนักบวช, ถ่ายไว้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2566.

 

ภายในถ้ำ 1 ด้านในสุด มีรูปแกะสลักพระพุทธเจ้าในท่าขัดสมาธิเพชร หรือ ปัทมสนะ (Padmasana) พระหัตถ์ทั้งสองข้างแสดงท่าธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra mudrā), ถ่ายไว้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2566.

       การแสดงท่าธรรมจักรมุทรา (धर्मचक्र मुद्रा - Dharmachakra mudrā) บ้างก็เรียก ธรรมจักรกัปวัตตนมุทรา (dharmachakrapravartanā Mudrā) เป็นการยกพระหัตถ์จีบนิ้วเป็นวง หมายถึง การแสดงวงล้อแห่งธรรม วงกลมนี้ยังหมายถึงในแง่อภิปรัชญา การรวมกันของวิธี หรืออุบายกับปัญญา หรือปรัชญา จะปรากฎในพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงธรรมะที่แสดงต่อเหล่าปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก เป็นธรรมที่แสดงต่อโลก และจะขยายต่อไปในสัตว์ทั้งปวง. ในภาพข้างต้น ตรงใต้ฐานที่ประทับจะเห็นธรรมจักร กวางและเหล่าพุทธสาวกนั่งอยู่.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 4 สิงหาคม 2566.
02. จาก. Ajanta Paintings: A compilation of 84 abridged narratives, Rajesh K. Singh, ISBN 978-81-925107-6-7, 2019, Hari Sena Press Private Limited, Baroda, India.
03. จาก. Our Colourful World in Ajanta & Ellora, 2011, Mittal Publications, New Delhi, India.
04. จาก. A Colourful Guide Book of Ajanta Ellora Aurangabad Daulatabad Khultabad, World Famous Heritage, Mittal Publications, Year: NA., Publishing Place: NA.
05. จาก. Colourful World Heritage Ellora Ajanta, Latest Edition, Mittal Publications, Year: NA., Publishing Place: NA.



 
info@huexonline.com