MENU
TH EN

LT001. วัดตะคุ (วัดหน้าพระธาตุ) - นครราชสีมา ประเทศไทย

Title Thumbnail: วัดตะคุ ไม่ทราบปีที่ถ่าย Cr.ผู้ถ่ายภาพ, Facebook เพจ "กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," โดยผู้ใช้นามว่า รังสรร เหมัน, วันที่เข้าถึง 14 สิงหาคม 2564. Hero Image: หอไตรกลางน้ำ ที่มา: Unseen in Korat, koratstartup.com, วันที่เข้าถึง 14 สิงหาคม 2564.
LT001. วัดตะคุ (วัดหน้าพระธาตุ) - จ.นครราชสีมา ประเทศไทย01,02.
First revision: Aug.14, 2021
Last change: Aug.14, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย 
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากเทศบาลเมืองปัก (ปักธงชัย) ราว 4 กิโลเมตร วัดหน้าพระธาตุหรือชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าวัดตะคุ ถือเป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2330 ในสมัยรัชกาลที่ 1

       ตามตำนานเล่าว่า ชาวบ้านซึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ได้ช่วยกันหักร้างถางป่า เพื่อใช้เป็นที่เกษตรกรรมระหว่างนั้นได้พบองค์พระธาตุอยู่ที่กลางป่า และได้เขียนหนังสือถึงคณะสงฆ์เพื่อขอก่อตั้งวัด หลังจากนั้นชาวบ้านได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ กับวัด ด้วยหนองน้ำมีต้นตะคุขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้กลายเป็นที่มาของชื่อตำบลตะคุ ในปี พ.ศ.2539 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอุโบสถและหอไตรเป็นโบราณสถานจนถึงปัจจุบัน01.


      วัดนี้มีหอไตรกลางน้ำงดงามมาก หอไตรหลังนี้ยกพื้นสูงชั้นเดียวตั้งอยู่ในสระน้ำ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยหลังคาจั่วภาคกลาง ผนังอาคารเป็นแบบฝาปะกน เหตุที่ต้องสร้างอยู่ในน้ำเพราะหอไตรเป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ตำราคัมภีร์โบราณซึ่งทำจากใบลานเป็นส่วนใหญ่ มอดมดปลวกจึงมักมาแทะกัดกินทำให้เกิดความเสียหาย คนโบราณจึงได้สร้างสระน้ำ ป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไปทำลายพระธรรมคัมภีร์เหล่านั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปหยิบไปใช้ก็จะมีสะพานพาดไปที่บันไดทางขึ้นหอไตร เสร็จแล้วก็ยกออก ปัจจุบันหอไตรนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามหน้าที่เดิมแล้ว.

       หอไตรหลังนี้มีภาพเขียนให้ชม ด้านนอกตั้งแต่ประตูทางเข้าเป็นลายรดน้ำปิดทอง ส่วนตามผนังเป็นภาพพุทธประวัติ เทพชุมนุม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง แม่พระธรณีซึ่งอยู่ในสภาพลบเลือนไปมาก ส่วนด้านในหอไตรเป็นเทพชุมนุม ดอกไม้ร่วง เป็นต้น.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปริวรรตจาก. Facebook เพจ "กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," โดยผู้ใช้นามว่า รังสรร เหมัน, วันที่เข้าถึง 14 สิงหาคม 2564.
02. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 14 สิงหาคม 2564.


 
info@huexonline.com