MENU
TH EN

CM-041 คุ้มหลวง หอคำ เวียงแก้ว

Hero Image และ Title Thumbnail จาก. Facebook ห้องชุมชนคนรักษ์โบราณสถาน
ผ่านผู้ใช้นามว่า Thawatchai Ramanatta ผู้เขียนคือ คุณสุรพล ดำริห์กุล วันที่เข้าถึง 01 เมษายน 2564.

CM-041 คุ้มหลวง หอคำ เวียงแก้ว
First revision: Apr.01, 2021
Last change: Apr.01, 2021

สวนประวัติศาสตร์ “คุ้มหลวง หอคำ เวียงแก้ว” หัวใจสำคัญของชาวเชียงใหม่01.
       เรื่องสำคัญที่อยู่ในกระแสความสนใจของชาวเมืองเชียงใหม่หลายปีมาแล้วและปีนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว คือพระราชวังหลวงของกษัตริย์ล้านนา ที่สร้างขึ้นมานับแต่ปฐมกษัตริย์พระเจ้ามังรายในพุทธศตวรรษที่ 19 มาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ยุครัตนโกสินทร์ในสายวงศ์เชื้อเจ้าเจ็ดตน เมื่อล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้วได้ถูกใช้ให้เป็นเรือนจำ จนกระทั่ง พ.ศ. 2532 จึงได้ย้ายเรือนจำออกไป
และมีโครงการจะสร้างเป็นสวนสาธารณะมานานนับ 10 ปีแล้ว ที่จะปรับปรุงคุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว (พื้นที่ทัณฑสถานหญิง) กลางเวียงเชียงใหม่ให้เป็นสวนสาธารณะ
ต่อมามีการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของคุ้มหลวงหอคำเวียงแก้วพบหลักฐานจำนวนมาก และได้มีการประชุมทั้งส่วนราชการ เสวนาทางวิชาการในภาคประชาชนและนักวิชาการมาหลายปีแล้ว แต่ก็หาข้อยุติไม่ได้สักที

       ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าจะยาวและเป็นปัญหามาก เพราะทุกอย่างก็ลงตัวและทุกๆฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องปรับปรุงพื้นที่คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว (บริเวณที่ทัณฑหญิงเชียงใหม่)ให้เป็นสวนสาธารณะ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากสองหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นแตกต่างกันกล่าวคือ

       เทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ที่จะดำเนินการปรับปรุงคุ้มหลวงหอคำเวียงแก้วให้เป็นสวนสาธารณะ มีแนวคิดที่จะจัดทำสวนสาธารณะสมัยใหม่ โดยตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 158 ล้านบาท ออกแบบสวน รวมทั้งประกวดแบบอาคาร เพื่อจะสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ขึ้นในบริเวณสวน ก่อนที่จะได้ข้อมูลทางโบราณคดี
ต่อมาสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายให้ขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้วก่อน ก่อนที่จะดำเนินใดๆ ซึ่งผลการขุดค้นได้พบแนวโบราณสถานกำแพงเวียงแก้ว และร่องรอยของหอคำ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ อยู่ทั่วไปในพื้นที่ ดังนั้นจึงเกิดปัญหาในการดำเนินการที่จะสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ใด ๆ ทับลงไปในพื้นที่โบราณสถาน การดำเนินงานจึงหยุดชะงัก เพราะเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ยังยืนยันที่จะสร้างสวนสาธารณะโดยจะสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ขึ้นในพื้นที่สวน โดยต่อรองขอปรับแบบอาคาร (ที่ประกวดออกแบบ) ซึ่งก็ยังหาข้อยุติไม่ได้




       ขณะเดียวกันทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ซึ่งมีหน้าที่อนุรักษ์โบราณสถานตามกฎหมาย ก็มีแนวคิดที่จะปรับแผนงานให้เป็นสวนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว หรือพระราชวังหลวงล้านนา ซึ่งก็คือสวนสาธารณะ ที่มีต้นไม้ผสมผสานกับร่องรอยโบราณสถาน และจัดการเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (โดยไม่มีการสร้างสิ่งใหม่ใด ๆ )

       ปัจจุบันแนวคิดทั้งสองแนวนี้ ยังไม่มีข้อยุติและไม่มีผู้ตัดสิน เพราะทั้งสองฝ่ายก็ยึดถือกฎหมายไปคนละฉบับ แต่ผลจากการจัดประชุมและเสวนาทางวิชาการหลาย ๆครั้งที่ผ่าน เห็นแนวโน้มว่าภาคประชาชนและนักวิชาการชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่สนับสนุนที่จะให้อนุรักษ์รักษามรดกประวัติศาสตร์คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้วไว้ มากกว่าที่จะอยากให้มีการสร้างสวนสาธารณะสมัยใหม่ ที่จะก่อสร้างสิ่งใหม่ทับลงไปในพื้นที่คุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว ทั้งนี้เพราะคุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความภาคภูมิใจที่อยู่ในหัวใจของชาวเชียงใหม่ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาได้ต่อสู้รณรงค์ด้วยความเหนื่อยยาก ให้ย้ายคุกออกไปจากคุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว จนประสบผลสำเร็จ
ดังนั้นกองอิฐเศษปูนที่เป็นร่องรอยของคุ้มหลวงหอคำเวียงแก้ว จึงเป็นโบราณสถานที่เป็นเกียรติ ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่ที่จะต้องช่วยกันรักษาให้คงไว้สืบไป.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01.  จาก. Facebook ห้องชุมชนคนรักษ์โบราณสถาน ผ่านผู้ใช้นามว่า Thawatchai Ramanatta ผู้เขียนคือ คุณสุรพล ดำริห์กุล วันที่เข้าถึง 01 เมษายน 2564.
info@huexonline.com