MENU
TH EN

CM-010. วัดโลกโมฬี

Title Thumbnail: วัดโลกโมฬี, ถ่ายไว้เมื่อ 5 เมษายน 2564. Hero Image: เจดีย์วัดโลกโมฬี เมื่อ 50 ปีก่อน ถ่ายโดย Hans Manndorff, ที่มา: Facebook ห้อง "เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น", วันที่เข้าถึง 15 มิถุนายน 2564.
CM-010. วัดโลกโมฬี
First revision: Mar.27, 2021
Last change: Jul.12, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดโลกโมฬี01,02. ตั้งอยู่ที่ 298/1 ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ใกล้แจ่งหัวริน ปรากฎชื่อครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้ากือนา หรือ กิลนา หรือ โกฏินา ในตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ต่อมาในรัชสมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ.2070 โปรดฯ ให้สร้างวิหาร และพระเจดีย์.

       ต่อมาในปี พ.ศ.2088 พระเมืองเกษเกล้าถูกปลงพระชนม์ พระมหาเทวีจิรประภา ทรงนำพระอัฐิมาประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดโลกโมฬี และในปีเดียวกันนั้น พระไชยราชา แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ พระมหาเทวีจิรประภา ได้ยินยอมเป็นไมตรีด้วย พระไชยราชาทรงเสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่ และได้เสด็จมาบูชาพระอัฐิของพระเมืองเกษเกล้า.

       ต่อมาในปี พ.ศ.2121 พระนางวิสุทธิราชเทวี ผู้ครองนครเชียงใหม่ทิวงคต ได้ทำการถวายพระเพลิง ณ ทุ่งวัดโลกโมฬี และบรรจุอัฐิไว้ในเจดีย์ที่วัดนี้ด้วย.

       กล่าวกันว่า วัดเชียงทอง ที่หลวงพระบาง ได้รับการถอดแบบมาจากวัดโลกโมฬีแห่งนี้

 
     วัดโลกโมฬี03....ที่พระธาตุเจดีย์ไม่ใช่กู่(เจ้า)
       เดิมมีเนื้อที่มากกว่านี้หลายเท่า และ ทุ่งวัดโลกโมฬี สถานที่ "เผา" พระศพพระเมืองเกษเกล้า กับ พระนางวิสุทธิราชเทวี.
       ตอนผมเป็นเด็กนักเรียนชั้นป.5-ม.ศ.3 (ปี 2510-2515) เป็นเวลา 6 ปี ที่ต้องเดินเท้าจากบ้าน ที่บ้านช้างเผือก ชุมชนเงี้ยว ไปเรียนหนังสือที่ร.ร.สิริมังคลาฯ ใกล้แจ่งหัวลิน(ปัจจุบันเป็นร.ร.นานาชาติสิงคโปร์ อยู่ตรงข้ามกับกงสุลเมียนมาร์;ถ.หัสดิเสวี).

       โดยต้องเดินเฉียดข้างเหนือ หลังวัดโลกฯ ร้างเสมอ หรือตอนแอบหนีเที่ยว กับ ตามพ่อเข้าเวียงฯ ไปประตูสวนดอก-พระสิงห์ ก็ต้องผ่านเส้นทางนี้เป็นประจำ จึงทำให้เห็นซากสิ่งโบราณปรักหักพังหลายอย่าง หลายสถานที่ ซึ่งไม่มีให้เห็นแล้วในตอนนี้.

       วิหารหลวง จะอยู่ใกล้เจดีย์ มากกว่าวิหารหลวงปัจจุบันและ กว้างใหญ่กว่าแม้ว่าที่เห็นจะเหลือเพียงตัววิหารช่วงท้าย มีหลังคาคลุมบัง เฉพาะพระเจ้าหลวงประธาน บนแท่นแก้ว (น่าจะ) มีเสาเพียง 4 เสา ด้านละ 2 เสา วิหารหันหน้า (ล่อง) ไปทางใต้ พระประธานเป็นปูนองค์ใหญ่ดำคล้ำ ในความรู้สึกตอนเด็กดูน่ากลัวมากกว่า เพราะเห็นครั้งแรก ผมอายุยังไม่ถึง 10 ขวบ.

       ข้างวิหารทางตะวันตก มีวิหารหลังเล็ก (อาจเป็นอุโบสถ) มีพระพุทธรูปปูนปั้นบนแท่นแก้วองค์เล็กกว่าแต่ดู (หน้า) ขาวกว่าองค์ในวิหาร นั่งหันหน้ามาทางตะวันออก เข้าหาวิหารหลวง อุโบสถ???หลังนี้ยังมีหลังคาแต่ไม่สมบูรณ์.

       ต่อมาราวปี 2510 +- ทางการได้ปรับพื้นที่โดยรอบกับโค่นพังวิหารลง เพื่อสร้างเป็น สนง.ปศุสัตว์ จว.ช.ม. สร้างเรือนไม้ชั้นเดียว 2 หลัง หลังตะวันออกสร้างทับ ลงบนตัววิหารส่วนหน้า หลังตะวันตก สร้างอยู่ทางใต้อุโบสถ อยู่เยื้องไปทางตึกแถวร้าน S&P เดี๋ยวนี้. ยังมีบ้านพักไม้อีก 2 หลัง ๆ หนึ่ง สร้างทับลงบนวิหารหลวง ส่วนอีกหลัง สร้างเกือบชิดอุโบสถ โดยซากอุโบสถกับองค์พระยังอยู่ แต่ไม่ได้รับการดูแล รกเป็นพงไม้ขึ้นเต็ม และ จำไม่ได้ว่าถูกรื้อไปเมื่อใด.

      ช่วงหลังราวปี 2530+ ได้เอา สุนัขไปรักษาหลายครั้ง ไปชะโงกดูก็ไม่เห็นตัวอุโบสถ กับ องค์พระเจ้าฯ แล้ว เหลือแต่กรอบพื้นยกสูงมีหญ้าขี้นรก ..กระทั่งสำนักงานปศุสัตว์ ย้ายออกไปอยู่ ตรงข้ามสวนรุกขชาติห้วยแก้วราวปี 2540+- ได้เข้าไปดูร่องรอย เห็นเหลือเพียงพื้นอุโบสถ เศษเสาเศษปูนกำแพงไม่มี ซากองค์พระเจ้าฯ ก็ไม่เห็น? (อย่างเดียวกับที่ไม่เห็นซากพระเจ้าบนวิหารหลวง).

      ครั้นพอวัดโลกโมฬี ได้มีการบูรณะกลับฟื้นมาอีกครั้ง ทางวัดได้สร้างกุฏิสมเด็จฯ ทับบนพื้นอุโบสถเดิมไว้. อุ๊ยหม่อนของผม (พ.ศ.2436-2534) เล่าว่า วิหารวัดโลกเป็น วิหารโล่ง"บ่มีกำแปงข้าง" (วิหารเปลือย) เป็นไม้หลังใหญ่"สีดำ" บนวิหารมีพระบฏ (งาม) หลายผืน" อย่างพระบฏปู่แสะย่าแสะ"และว่า เป็นวัดห่างวัดร้างไปช่วงหลังสงครามโลก 2 เพราะเป็นวัดใหญ่ "วัดหน้าหมู่" บ่มีศรัทธาขึ้นวัดแน่นอน บ่มีบ้านผู้คนอยู่รอบวัด อาศัยศรัทธาจากวัด"มูนเตียน",วัด"ปวงก่ำม้า, ปวงก่าม้า"จัดแบ่งกันมาดูแลขึ้นวิหาร โดยเฉพาะวันศีลใหญ่.

       จนเมื่อเเรกร้าง ได้ปิดวิหารทิ้งไว้ ต่อมาจึงเคลื่อนย้ายพระเจ้าฯ ข้าวของ แบ่งปันกันเอาไปไว้วัดในเวียง (เคยอ่านนสพ., วิทยุ, ทีวี?? จำไม่ได้แน่นอน แต่ราว ก่อนปี 2530 ว่า..ได้เจอพระบฏของวัดโลกฯในพิพิธภัณฑ์? หอสมุด? ที่ประเทศอังกฤษ )




ที่มา คำศัพท์ คำอธิบาย:
01. ปรับเสริมโดยใช้แกนข้อมูลหลักจากFacebook เพจ เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น", ข้อมูลจาก Wutthinan Promrat, วันที่เข้าถึง 15 มิถุนายน 2564.
02. 
ปรับเสริมโดยใช้แกนข้อมูลหลักจากth.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 15 มิถุนายน 2564.
03. 01. ได้อ้างอิงจาก. วุฒินันท์ พรหมรัตน์ ที่โพสต์ไว้ก่อนโดย Baibuayoga Uttaradit เมื่อ 13 มิถุนายน 2564. 
info@huexonline.com