MENU
TH EN

CM-008. วัดป่าแดงหลวง หรือ วัดป่าแดงมหาวิหาร

Title Thumbnail & Hero Image: วัดป่าแดงหลวง ถ่ายไว้เมื่อ 5 เมษายน 2564
CM-008. วัดป่าแดงหลวง หรือ วัดป่าแดงมหาวิหาร
First revision: Mar.24, 2021
Last change: Sep.26, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียงและปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดป่าแดงมหาวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดป่าแดง" ที่ได้ชื่อว่าวัดป่าแดง เนื่องจากในอดีต บริเวณวัดมีต้นไม้แดงอยู่มาก วัดป่าแดงนี้ตั้งอยู่เลขที่ 71 หมู่ 14 ซอย 4 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ สังกัดมหานิกาย01.

       วัดป่าแดงนี้สร้างขึ้นในสมัยมหาราชติลก หรือ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 9 เมื่อ พ.ศ.1974 {ในขณะที่ยังเป็นพระราชโอรส ลำดับที่ 6 (ท้าวลก) ของพญาสามฝั่งแกน ทรงยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์} (ปี พ.ศ.ในเอกสารชั้นต้นยังมีความคลาดเคลื่อน) เพื่อเป็นที่พำนักของพระญาณคัมภีร์และคณะสงฆ์ที่มาจากลังกา เพื่อเผยแผ่ลัทธินิกายลังกาวงศ์ใหม่ หรือนิกายสิงหล ในขณะนั้นพระญาณคัมภีร์ได้อัญเชิญพระไตรปิฎก พระพุทธรูป และต้นโพธิ์มาไว้ในวัดแห่งนี้.

       ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระองค์ทรงเลื่อมใสและทำนุบำรุงพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ใหม่ อีกทั้งทรงผนวชที่วัดป่าแดงมหาวิหาร การสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสีหล (หรือสิงหล) ทำให้พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ใหม่เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เป็นที่เลื่อมใสของผู้คน วัดป่าแดงจึงเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา สายลังกาวงศ์ใหม่

       พระเจ้าติโลกราชได้ถวายพระเพลิงพระศพพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1944-1984) และพระราชมารดาที่วัดแห่งนี้ ทั้งยังได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดาและพระราชมารดา ซึ่งยังคงมีหลักฐานหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน.

       พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ หรือนิกายสีหลนี้ เป็นพุทธศาสนานิกายใหม่ ที่เข้ามาเผยแผ่ในล้านนา โดยมีพระญาณคัมภีร์เป็นผู้นำในการเผยแผ่ นำเข้ามาในเชียงใหม่ในรัชกาลของพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1973) สาเหตุที่ทำให้พระญาณคัมภีร์ตั้งนิกายลังกาวงศ์ใหม่ขึ้น เนื่องจากการเผยแผ่ลัทธิลังกาวงศ์เก่าของพระสุมนเถระ (ที่ได้อัญเชิญมาให้องค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาจากอาณาจักรสุโขทัยนั้น) ทำให้เกิดการตื่นตัวทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง นำไปสู่แนวความคิดที่ต้องการพุทธศาสนาที่มีความบริสุทธิ์ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระญาณคัมภีร์และคณะจึงเดินทางไปศึกษาและอุปสมบทที่ลังกาโดยตรง จึงเดินทางกลับมาเผยแผ่หลักการและแนวปฏิบัติใหม่ออกไปอย่างกว้างขวาง จนเกิดความขัดแย้งและแตกแยก04.กับนิกายลังกาวงศ์เก่าหรือนิกายรามัญ (วันสวนดอก).

       ในสมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984) คณะสงฆ์ฝ่ายป่าแดงกล่าวหาสงฆ์ฝ่ายสวนดอกว่า ไม่เป็นภิกษุ เพราะไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด พญาสามฝั่งแกนจึงโปรดให้จัดเวทีโต้แย้งกัน จนในที่สุดสงฆ์ฝ่ายป่าแดงชนะ หลังจากนั้นพระสงฆ์ทั้งสองนิกาย ยังเกิดการทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยครั้ง พญาสามฝั่งแกนจึงโปรดให้สงฆ์ฝ่ายป่าแดงออกจากเชียงใหม่ ในพ.ศ.1977 ทำให้นิกายป่าแดงไปเจริญรุ่งเรืองที่เชียงราย เชียงแสน พะเยา ลำปาง เชียงตุง03
จนกระทั่งสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) ทรงเลื่อมใสในนิกายวัดป่าแดง จึงทรงอุปถัมภ์จนนิกายวัดป่าแดง กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง.

       ใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” และ “พงศาวดารโยนก” กล่าวว่า ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 มีพระเถระกลุ่มพระมหาธรรมคัมภีร์ ชาวเชียงใหม่ ร่วมกับพระภิกษุจากลพบุรีและรามัญ รวมจำนวน 33 รูป ได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่เกาะลังกา โดยได้กระทำการอุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปา “แม่น้ำกัลยาณี” (Kelaniya River) ทางตะวันตกของเกาะลังกา เมื่อเดินทางกลับได้พาพระเถระชาวลังกามาด้วย 2 รูป คือพระพรหมมุนีเถรและพระโสมเถรกลับมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาที่เรียกว่า “นิกายสีหลภิกขุ” หรือ “นิกายกัลยาณีสีมา” ที่ตามพรลิงค์ อยุธยา สุโขทัย สวรรคโลกและล้านนา โดยแรกพักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เดินทางต่อไปเมืองศรีสัชนาลัยและกลับไปพำนักอยู่ที่วัดป่าแดงหลวง เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.197302.  



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปริวรรตจาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 8 กันยายน 2564.
02. จาก. วรณัย พงศาชลากร EJeab Academy, ผ่าน Facebook เพจ "กลุ่มประวัติศาสตร์หลังเที่ยงคืน # ชาวเมืองทิพย์ !!!" และผู้ใช้นามว่า "Attapong Boonsrang," วันที่เข้าถึง 13 เมษายน 2564.
03. จาก. ประวัติศาสตร์ล้านนา, โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล, ISBN 978-616-18-0026-0, สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน 2557. หน้า 162.
04จาก. Facebook เพจ "ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ และล้านนา," โดยผู้ใช้นามว่า Khamchompu Chaloem, วันที่เข้าถึง 26 กันยายน 2564. ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ความขัดแย้งระหว่างนิกายพื้นเมืองหริภุญไชยกับนิกายสวนดอก
       หลังจากที่พระญากือนาได้สถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์นิกายสวนดอกขึ้นที่เมืองเชียงใหม่แล้ว ส่งผลให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา เกิดพระราชศรัทธาในการสร้างพระอารามเพิ่มอีกหลายแห่ง.
       ดังเช่นพระญาแสนเมืองมา (พ.ศ.1928-1944) พระราชโอรสของพระองค์ ได้สถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์หลวงตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพิงค์แทนที่พระบรมธาตุหริภุญไชย ซึ่งต่อมาวัดแห่งนี้ได้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์สำคัญของชาวล้านนาอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง.
       ถึงรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน (สามประหญาฝั่งแกน พ.ศ. 1945 – 1984) พระองค์ยังคงอุปถัมภกวัดบุปผารามประหนึ่งอารามหลวงศูนย์กลางพระพุทธศาสนานิกายสวนดอกดุจเดิม นับแต่ภายหลังการมรณภาพของพระมหาสุมนสุวรรณรัตนสามีแล้ว ได้มีพระมหาเถระอีกหลายรูปเดินทางไปศึกษาพระศาสนาสายรามัญวงศ์ในเมืองพุกามและอังวะอยู่อย่างไม่ขาดสาย และเมื่อกลับมาได้ทำการอุปสมบทกุลบุตรในสายรามัญนิกายย่อยของสวนดอก เรียกว่า "หน" หมายถึงทิศ ทาง หรือฝ่าย คือหนพุกามอีกด้วย.
       โดยส่วนพระองค์แล้วพระญาสามฝั่งแกนมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสพระมหาเถระในนิกายพุกามอย่างมาก ทรงแต่งตั้ง "พระญาณรังษี" ซึ่งไปบวชเรียนมาจากพุกามเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอกไม้ ทำให้กุลบุตรชาวเชียงใหม่เกิดความนิยมในคติหนพุกามตามไปด้วย พระญาสามฝั่งแกนทรงรักษาศีลและสดับฟังพระธรรมมิได้ขาด แต่เมื่อมีนิกายซ้อนนิกายเพิ่มมากขึ้น ย่อมเกิดการกระทบกระทั่งนำไปสู่ความความขัดแย้งในวงการสงฆ์ที่ต่างชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ฝ่ายตนมีผู้อุปถัมภ์และผู้ศรัทธามากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.
       กลางรัชสมัยของพระองค์ เกิดเหตุวิวาทาธิกรณ์ครั้งใหญ่ เป็นการถกเถียงกันระหว่างพระมหาพุทธญาณเจ้าอาวาสวัดสวนดอกกับ พระมหาเถรบุญวงศ์ หรือมหาปุณณวังสะจากวัดพระยืน ลำพูน ซึ่งบวชในนิกายพื้นเมืองหริภุญไชยเดิม ขณะนั้นได้เดินทางมาพำนักที่วัดป่าขนุน นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระญาสามฝั่งแกนเสด็จมาสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดสวนดอก พระมหาเถรบุญวงศ์ ประกาศโจมตีวัดสวนดอกว่าไม่มีลักษณะเป็น "คามสีมา" แต่กลับเป็น "นครสีมา" หมายความว่าพระสงฆ์ในอารามนี้ต่างมั่งคั่งร่ำรวย ด้วยมีศรัทธาอุปถัมภ์มากเกินเหตุ สมควรให้รื้อถอนสีมาเก่าออกเสียแล้วผูกพัทธสีมาใหม่เพื่อชำระมลทิน พระญาสามฝั่งแกนทรงเห็นคล้อยตามข้อกล่าวหาว่า “เจ้าอาวาสวัดสวนดอกคลุกคลีกับชาวบ้านมากเกินไป จนเป็นเหตุให้โจรผู้ร้ายใช้วัดเป็นที่หลบซ่อน” พลันกล่าวตำหนิโทษและปลดพระมหาพุทธญาณจนต้องหนีไปอยู่ที่วัดเชตวัน (เชตุพน) เมืองลำพูน.
       ในรัชกาลพระญาสามฝั่งแกนเกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง มีทั้งศึกภายนอกที่พวกฮ่อ (ชาวจีน) เข้ามาคุกคามเมืองเชียงคำ-เชียงแสน ส่วนศึกภายในเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างสายเลือด เมื่อเสร็จจากการศึกแล้ว พระญาสามฝั่งแกนโปรดให้มีการสืบชะตาเมืองด้วยการบูชาพระญามังราย กับรุกขเทวดา ตลอดเส้นทางจากเชียงใหม่ถึงเชียงแสน พร้อมกับสร้างวัดประจำรัชกาลในบริเวณที่ทรงประสูติ ณ ตำบลฝั่งแกน ชื่อวัดเปิง (วัดมุงเมือง) ทรงเอาไร่นาแผ่นดินที่เคยถวายกัลปนาแด่วัดอื่นแล้วมาถวายให้กับวัดใหม่นี้ซ้ำซ้อน จุดชนวนความไม่พอใจแก่เหล่าสงฆ์จำนวนมาก.
และนี่คือจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์นิกายต่าง ๆ ในเชียงใหม่

พระเจ้าติโลกราช จักรพรรดิทางโลก จักรพรรดิทางธรรม
       ยุคทองของพระพุทธศาสนาในล้านนานั้นรุ่งโรจน์จนถึงขีดสุดระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช พระญายอดเชียงราย จนถึงสมัยพระเมืองแก้ว รวมเป็นเวลา 84 ปี.
       พระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) กษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย เป็นราชบุตรองค์ที่ 6 ใน10 องค์ของพระญาสามฝั่งแกน เดิมชื่อ "ท้าวลก" ทรงมีพระนามอื่นอีกว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช หรือสิริธรรมจักรวัตติโลกราช เมื่อพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ด้วยการออกผนวชชั่วคราวระหว่างครองราชย์ ณ วัดป่าแดงหลวง หรือวัดอโสการาม เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระญาสามฝั่งแกน พระบรมชนกเมื่อปี พ.ศ.1995.
       ตลอดระยะเวลานานกว่า 24 ปีพระองค์ได้ทำสงครามเครี่ยวกรำกับกรุงศรีอยุธยา ตรงกับแผ่นดินของพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ชิงหัวเมืองปลายแดนต่อแดนกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายคราว ครั้งนั้นทัพล้านนาสามารถยึดครองเมืองศรีสัชนาลัยได้ ในยุคสมัยของพระองค์อาณาจักรล้านนามีอำนาจสูงสุดรองจากกรุงจีน แผ่อิทธิพลเขตแดนออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมถึงเมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองนาย เมืองน่าน และล้านช้าง จนกระทั่งทิศเหนือจรดยูนนานของจีน ทิศใต้จรดกำแพงเพชร ทิศตะวันออกจรดริมฝั่งโขง ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำสาละวิน.
       ในยุคนั้นเมืองเชียงใหม่มีฐานะเป็นศูนย์กลางเส้นทางการค้า ที่สามารถคุมหัวเมืองตอนบนจากรัฐฉาน สิบสองปันนา เชียงแสน ให้ต้องนำสินค้ามาผ่องถ่ายผ่านเมืองเชียงใหม่ก่อน จากนั้นจึงส่งผ่านไปยังเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ทางใต้ ตะวันออก และทางตะวันตกต่อไป.
       จากฐานะทางเศรษฐกิจอันมั่งคั่ง กลางนครพิงค์เชียงใหม่จึงมีวัดราษฎร์และวัดหลวงเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นใน มีการสร้างวัดมากถึง 100 แห่ง ส่วนระหว่างกำแพงชั้นในกับกำแพงชั้นนอกมีวัดอีก 51 แห่ง รวมทั้งหมดประมาณ 150 วัดเศษ.

การสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ "นิกายป่าแดง"
       ในยุคของพระเจ้าติโลกราช คณะสงฆ์ได้เกิดการแบ่งแยกออกเป็น 3 นิกาย คือ
       1 นิกายพื้นเมืองเดิม ถูกนิกายอื่นขนานนามว่า "พระเชื้อเก่า" เป็นนิกายพระสงฆ์สายหริภุญไชยที่มีมานานหลายศตวรรษ และพระญามังรายได้รับสืบทอดนำมาสถาปนาในเมืองเชียงใหม่เป็นนิกายแรก.
       2 นิกายลังกาวงศ์เก่า หรือนิกายรามัญวงศ์ นิยมเรียกนิกายเชียงใหม่ หรือนิกายสวนดอก (หนสวนดอก) เมื่อวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยของนิกายเดิมอาจย่อหย่อนไปบ้าง พระญากือนาจึงได้อาราธนาพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยมาทำการปฏิรูปวงการสงฆ์ให้มีวัตรปฏิบัติที่งดงามและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากขึ้นตามอย่างคติมอญ ถือเป็นฝ่ายอรัญวาสีที่สืบสาขามาจากสำนักมหาวิหารในลังกา ได้รับการอุปถัมภ์มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ซึ่งเดิมเรียกว่าคณะ "ตโปวนาลี" ตั้งสำนักอยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองอนุราธปุระ.
       3 นิกายลังกาวงศ์ใหม่ หรือนิกายสีหล เป็นนิกายที่เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนามาจากกรุงลังกาสายตรงโดยไม่ผ่านเมืองมอญ นิยมเรียกนิกายป่าแดง หรือ สำนักป่าแดง (หนป่าแดง) อันที่จริงนิกายนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัยพระญาแสนเมืองมาพระราชอัยกาของพระเจ้าติโลกราชแล้ว กล่าวคือได้ส่งพระสงฆ์จำนวนหนึ่งไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกาในปี พ.ศ. 1967 หลังจากนั้น 6 ปี พระสงฆ์ที่กลับมาได้สถาปนานิกายใหม่ขึ้นที่วัดป่าแพะตึง ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ ยุคแรกเรียกสำนักนี้ว่าวัดป่ากวาง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิกายป่าแดง (วัดรัตตวนาราม) มี "พระธรรมคัมภีร์" (หรืออีกชื่อคือ "พระญาณคัมภีร์”) เป็นหัวหน้า ประพฤติปฏิบัติธรรมเคร่งครัด ถือสันโดษ และแตกฉานภาษาบาลียิ่งกว่าพระสงฆ์ในนิกายลังกาวงศ์เดิมหรือหนสวนดอก.

       ความแตกแยกของนิกายลังกาวงศ์ใหม่ เกิดจากทัศนะและแนวทางการปฏิบัติธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการกล่าวหาซึ่งกันและกันในทุก ๆ ประเด็น อาทิ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าวิธีการบวชของอีกฝ่ายนั้นไม่ถูกต้อง โดยพาดพิงไปถึงความผิดพลาดของพระบรมครูอุปัชฌาย์แต่ละสำนัก ทั้งสำนักรามัญและสำนักลังกา.
       พระนิกายสวนดอกถูกวิจารณ์จากนิกายป่าแดงว่า ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย เวลาสวดมนต์ออกเสียงคำบาลีไม่ถูกต้อง เช่น พุทธัง สรณัง กลายเป็นบุทธัม สรณัม และไม่สมควรถือไม้เท้าขณะออกบิณฑบาต ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงความขัดแย้งเดิมที่นิกายพื้นเมืองหริภุญไชยเคยวิจารณ์มาก่อนแล้วว่า พระนิกายสวนดอกนั้นมีความโลภ รับเงินทอง สะสมสมบัติพัสถานไว้มากมาย มีความเป็นอยู่อย่างฟุ้งเฟ้อท่ามกลาง "นครสีมา".
       เมื่อความขัดแย้งของพระสงฆ์ทั้งสามนิกายนั้นได้ทับถมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เดินทางมาถึงขั้นแตกหัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างนิกายสวนดอกกับนิกายป่าแดง ได้เกิดการโต้เถียงและแสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์กันอย่างรุนแรง ต่างฝ่ายต่างท้าแข่งขันประลองภูมิความรู้ สถานการณ์รุนแรงถึงกับเกิดการบุกเข้าทุบตีทำร้ายร่างกายกันหลายครั้ง ทำให้ในยุคสมัยของพระญาสามฝั่งแกน จำต้องตัดสินพระทัยขับพระนิกายสีหลป่าแดงออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ด้วยเหตุว่าเป็นนิกายใหม่ พระภิกษุล้วนแล้วแต่เป็นคนหนุ่มแต่กลับไม่ยอมลดราวาศอกให้กับผู้อาวุโสกว่า อีกทั้งสังคมล้านนาขณะนั้นยังคงนิยมสงฆ์นิกายสวนดอกของท่านสุมนเถระมากกว่า.
       แม้กระนั้นพระสงฆ์นิกายป่าแดงยังคงมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่แนวคิดและแนวทางการปฏิบัติของตนต่อไป ในระยะแรกต้องหลบหนีนิกายสวนดอกไปซุ่มอยู่ตามหัวเมือง จนค่อย ๆ สร้างวัดสาขาที่เมืองลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงของ เชียงแสน เชียงตุง แต่ละเมืองสามารถจัดการอุปสมบทพระใหม่ ๆ ได้ถึง 6 ครั้ง นับว่าเป็นนิกายใหม่ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประมุขของรัฐ และด้วยเหตุดังกล่าวความขัดแย้งรุนแรงก็ยังปะทุเป็นระยะ ๆ เช่น ภายหลังเมื่อพระนิกายสีหลขึ้นไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองเชียงตุงแล้ว ก็ยังเกิดการปะทะกันอีกกับพระนิกายสวนดอกที่นั่น.
       แต่ครั้นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช สถานการณ์ความขัดแย้งก็เริ่มมีท่าทีคลี่คลายลง เหตุเพราะพระองค์ทรงเลื่อมใสในคำสอนของนิกายลังกาวงศ์ใหม่ และด้วยความปรารถนาที่จะยุติความแตกแยกในวงการสงฆ์ ภายหลังจากพระมหาสิทธัมกิตติสวามี ประมุขสงฆ์ฝ่ายวัดสวนดอกซึ่งปกครองต่อจากพระสุมนเถระถึงแก่มรณภาพ พระองค์จึงถือโอกาสอุปถัมภ์และเลือกคณะสงฆ์จากสำนักวัดป่าแดงให้ขึ้นเป็นผู้นำทางศาสนาแทนที่ด้วยการแต่งตั้งพระมหาเมธังกรเป็นพระมหาสามีสังฆปรินายกซึ่งมีความสำคัญเหนือกว่าเจ้าอาวาสวัดสวนดอกโดยมีนัยยะทางการเมืองซ่อนเร้น ด้วยหวังที่จะให้นิกายใหม่ช่วยค้ำจุนราชบัลลังก์อีกแรงหนึ่ง เหตุที่พระองค์ทรงช่วงชิงราชสมบัติมาจากพระราชบิดา.
       เมื่อพระญาสามฝั่งแกนพระราชบิดาพร้อมด้วยพระราชมารดาของพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าติโลกราชได้ใช้สถานที่ของวัดป่าแดงหลวงเป็นที่สร้างพระเมรุสำหรับปลงพระศพ พร้อมก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ที่วัดนี้สูงถึง 96 ศอก กว้างยาว 52 ศอก วัดป่าแดงได้รับการสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางศาสนจักรเรียกว่า "วัดป่าแดงมหาวิหาร" มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากลังกาเป็นสัญลักษณ์.
       หลังจากที่ครองราชย์ได้เพียง 5 เดือน พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้พระนิกายสีหล กระทำการอุปสมบทนาคหลวง 500 รูปที่ท่าสฐานหลวงแม่น้ำปิง ปัจจุบันคือวัดศรีโขง ได้บูรณะวัดราชมณเฑียรและนิมนต์พระสงฆ์นิกายป่าแดงจำนวนมากจากลำพูนมาจำวัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ การบวชในแพกลางลำน้ำเช่นนี้เรียกว่า "พิธีอุปสมบทอุทกุกฺเขปสีมา" ซึ่ง "น้ำ" คือสัญลักษณ์ของการชำระล้างมลทินให้บริสุทธิ์.
       พระเจ้าติโลกราชทรงวางบทบาทในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของพระสงฆ์ไว้สองสถานะ สถานะแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์นิกายต่าง ๆ ทั้งสามนิกาย และอีกสถานะคือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายศาสนจักรกับฝ่ายอาณาจักร ด้วยการกำหนดให้พระสงฆ์แต่ละนิกายมีประมุขสงฆ์เป็นของตน แต่มีคณะสังฆราชาคณะหนึ่งคอยกำกับดูแลปกครองและวินิจฉัยกิจการของทุกนิกาย ซึ่งพระสังฆราชาก็เป็นพระที่มาจากนิกายป่าแดง คือพระมหาเมธังกร หรือ “พระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี”.

อัฏฐมหาสังคายนาพระไตรปิฎก
       ผลของความขัดแย้งระหว่างพระภิกษุทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ต่างฝ่ายเกิดการแข่งขันในการศึกษาพระธรรมคัมภีร์ให้ถ่องแท้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องมิให้อีกฝ่ายหนึ่งหาจุดอ่อนเอามาโจมตีได้ นำมาซึ่งการสังคายนาพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม หรือเป็นครั้งที่ 8 ของโลกพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เรียกว่า อัฏฐมหาสังคายนา โดยใช้สถานที่ของวัดมหาโพธารามเป็นที่ชุมนุมในปี พ.ศ. 2020.
       เกี่ยวกับวัดมหาโพธาราม พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1999 เพื่อใช้เป็นที่พำนักของพระอุตตมปัญญาเถร พระมหาเถระชาวลังกาที่เข้ามาเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับพระสงฆ์ชาวล้านนาที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ให้ไปศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป อาทิ พระญาณคัมภีร์ ในการกลับมาของคณะสงฆ์ครั้งนั้นได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาด้วยจากเมืองอนุราธปุระ จึงโปรดให้ปลูกไว้ที่วัดมหาโพธาราม หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดเจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกตัวเมืองเชียงใหม่ อันเป็นทิศสัญลักษณ์ที่ใช้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า เนื่องจากที่ตั้งของชมพูทวีปหรืออินเดียนั้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของล้านนา พระองค์ทรงรับสั่งให้ตกแต่งสร้างวัดมหาโพธารามให้เป็นดุจดังสถานที่เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า "สัตตมหาสถาน".
       สัตตมหาสถาน หมายถึงสถานที่ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ณ พุทธคยา แล้วได้เสด็จประทับ ณ สถานที่ต่าง ๆ รวม 7 แห่งเพื่อทรงเสวยวิมุติสุขแห่งละ 7 วัน รวม 49 วันหรือ 7 สัปดาห์ ประกอบด้วย
       สัปดาห์ที่ 1 โพธิบัลลังก์ สมเด็จพระสัพพัญญูทรงประทับนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์เข้าสู่สมาบัติเป็นเวลา 7 วัน
       สัปดาห์ที่ 2 อนิมิสเจดีย์ จากนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จยังทิศอีสาน ทรงประทับยืนและทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์ด้วยตาไม่กะพริบ หรือทรงถวายเนตร ด้วยการยืนประสานพระหัตถ์ที่พระอุระ
       สัปดาห์ที่ 3 รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงเสด็จกลับมาจากอนิมิสเจดีย์ มาหยุด ณ หว่างกลางแห่งพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ ทรงอธิษฐานเดินจงกรมตลอด 7 วัน ทางแห่งจงกรมนั้นประดับด้วยเพชรพลอย
       สัปดาห์ที่ 4 รัตนฆรเจดีย์ ทรงเสด็จไปยังทิศเหนือ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก 7 วันในเรือนแก้วอันประดับไปด้วยเพชรพลอย ซึ่งเทวดาบันดาลถวาย
       สัปดาห์ที่ 5 อชปาลนิโครธ หรือ ต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะ โดยเสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติอยู่ใต้ร่มไทรที่เด็กเลี้ยงแพะหลบพักร้อน ณ ทิศอาคเนย์ หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงนี้มีธิดามารสามตนมาผจญพระพุทธเจ้า
สัปดาห์ที่ 6 มุจลินท์ หรือ ราชาแห่งต้นมุจละ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติใต้ต้นจิก ในขณะนั้นเกิดฝนหลงฤดู พญานาคมุจลินท์จึงได้ใช้พังพานของตนปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนตลอด 7 วัน
       สัปดาห์ที่ 7 ราชายตนะ หรือที่อยู่แห่งพระราชา โดยพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นเกด ราชายตนะ ทรงรับผลสมอ บาตร ข้าวสัตตู
การทำสังคายนาพระธรรมวินัย ณ วัดมหาโพธาราม พระเจ้าติโลกราชมอบหมายให้พระธรรมทินเถระ สายลังกาวงศ์ใหม่เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยอาราธนาพระเถรานุเถระที่แตกฉานในพระไตรปิฏกประมาณร้อยกว่ารูป จากทั่วทั้งอาณาจักรล้านนาและใกล้เคียง มาชุมนุมกันเพื่อร่วมกระทำการสังคายนา โดยรวบรวม ตรวจสอบ ชำระภาษาและอักขระในพระไตรปิฎกให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามพระธรรมวินัยดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ การทำอัฏฐมหาสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ ตลอดช่วงระยะเวลานั้นพระเจ้าติโลกราชทรงรับเป็นมหาอุบาสกอุปภัมภก ทรงสร้างพระมณฑปสำหรับใช้กระทำการสังคายนา จัดหาจตุปัจจัยถวายอุปัฏฐากแก่พระสังฆเจ้าตลอดห้วงระยะเวลา 1 ปี.
       จากนั้นได้มีการคัดลอกจารพระธรรมคัมภีร์หลายพันผูกที่ถูกต้องแล้ว เพื่อมอบให้พระสงฆ์ทั่วทุกแห่งได้นำใช้เป็นแบบอย่างในการศึกษา ทำให้อักษรธรรมล้านนาหรือตั๋วเมืองได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง ที่โดดเด่นมากคือมอบหมายให้พระมหาเถรโสมจิตตะจากสำนักวัดป่าแดง เป็นพระธรรมทูตเดินทางไปเขมรัฐนครเชียงตุงปี พ.ศ.1992 พร้อมกับพระสงฆ์กลุ่มใหญ่ เพื่อปลูกฝังพระศาสนานิกายสีหลป่าแดง และเป็นที่อัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่เราได้พบว่าจวบปัจจุบัน นิกายป่าแดงยังคงรุ่งเรืองอยู่ในเมืองเชียงตุงนานกว่า 500 ปี ในขณะที่การแบ่งแยกนิกายพระพุทธศาสนา "สวนดอก-ป่าแดง" ในล้านนาล่มสลายหรือยกเลิกไปนานแล้วตั้งแต่ในช่วงที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22.
       ด้วยเหตุที่พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกด้วยความทุ่มเท จึงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระเจ้าสิริธรรมจักรวัตติโลกราช" พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2030 รวมพระชนมายุได้ 78 พรรษา.
       จากนั้นพระราชปนัดดาของพระองค์คือพระญายอดเชียงราย (โอรสของพ่อท้าวบุญเรือง) ได้ขึ้นเสวยราชย์สืบต่อ

 
info@huexonline.com