MENU
TH EN

ล้านนามหาปกรณัม ตอนที่ 3

Hero Image &  Title Thumbnail: วัดเจดีย์เจ็ดยอด
ล้านนามหาปกรณัม ตอนที่ 3
First revision: Mar.11, 2021
Last change: Apr.01, 2021

    ผมใช้ข้อมูลหลักจากการบรรรยายของ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ที่ได้บรรยายตามสื่อต่าง ๆ และที่จะท่านได้บรรยาย "ล้านนามหาปกรณัม" ให้กับผู้สนใจตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 มาแสดงในบล็อกนี้ รวมทั้งจากอาจารย์ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ที่ได้ร่วมเขียนในหัวข้อ "ปอเล่อ (ปกเลือง) ในเอกสารจีน "หมิงสือลู่" ตอนว่าด้วยรัชกาล 'ตาวเจาส้าน' (ท้าวเจ้าสาม) แห่งปาไป่สีฟู่" โดยเสริมเนื้อหาที่ได้ค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ มาประกอบโดยอ้างอิงด้วยความเคารพ.
 
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
การบรรยายเรื่อง

ล้านนามหาปกรณัม ความทรงจำแห่งอภินวบุรี-ศรีหริภุญชัย

ณ ห้อง 601 ชั้น 6 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ
เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี แขวง/เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ครั้งที่ 
6 ศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 ช่วง 10:00-11:30 และ 13:00-14:30 น.
 
 
"ความสำคัญของรัชกาลท้าวเจ้าสาม (มหาราชท้าวสามฝั่งแก่น)"

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชกาล
 ค.ศ.1401/พ.ศ.1945  พรญาแสนเมือง (ท้าวพันเมือง) มาสิ้นพระชนม์เมื่อชันษา 39 ปี ทรงครองราชย์ได้ 25 ปี (ขึ้นครองราชย์ 763-24 = 739/1377) -ท้าวสามฝั่งแก่นขึ้นครองราชย์ แต่ท้าวยี่กุมกาม (ญี่กุมกาม) พี่ต่างพระมารดายกพลจากเชียงรายมาชิงเมืองไม่สำเร็จ จึงหนีไปพึ่งพระยาไสลือไทสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาที่ 2 - ไส แปลว่า สี่ น่าจะเป็นลูกคนที่สี่ เป็นสวามีของท้าวศรีจุฬาลักษณ์). (น่าจะดีกันมากับสุโขทัยครั้งพรญากือนา) (พรญาแสนเมืองมา น่าจะมีลูกสามคน คนโตน่าจะตายไปเสียก่อน)
 ตอนนั้น จักรพรรดิจีนราชวงศ์หมิง "ย่งเล่อ" กำลังรุุ่งเรืองมากเตรียมขยายอำนาจแผ่ไพศาลไปทั่ว ขอผ่านดินแดนปาไป่ต้าเตี้ยน (มหารัฐ) ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ พม่ายอมให้ผ่าน แต่เชียงใหม่ไม่ยอมให้ผ่าน (อาจเป็นเพราะเสนาอำมาตย์-"เมิ่งไน่เผิง - ...เจ้าเมืองนาย.." ปรึกษากันแล้ว ไม่ยอม เพื่อรักษาประโยชน์ล้านนาไว้)
 กรมการที่ยูนนานอาจส่งทูตมาว่า ส่วยที่ส่งให้จีนนั้นมากน้อยเท่าใด
 ค.ศ.1402/พ.ศ.1946  ไสลือไทยกมาตีเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่อาการหนัก..........พระยาฮ่อยกทัพมาตี ราชวงศ์ปกรณ์เชียงใหม่ จีนระบุว่าทูตจีนมาในราว ปี ค.ศ.1402-3/พ.ศ.1945-6
  ค.ศ.1404/พ.ศ.1947  6 กรกฎาคม: ราชสำนักจีน (มีพระบรมราชโองการ) ให้จัดตั้งสำนักเจ้าเมืองปกครองทหารและพลเรือนปาไป่เจ่อไน่ (เชียงราย) และปาไป่ต้าเดี้ยน รวม 2 แห่ง; แต่งตั้งตาวเจาหนี้ เจ้าเมืองชนพื้นเมืองเป็นเจ้าเมืองปาไป่เจ่อไน่ และตาวเจาส้าน ซึ่งเป็นอนุชาของเจ้าเมืองแห่งนั้นเป็นเจ้าเมืองปาไป่ต้าเตี้ยน; จัดส่งจั่วเสียงซึ่งมีตำแหน่งเป็นเอี๋ยนว่ายหลาง ไปพระราชทานตราตั้ง เครื่องสวมศีรษะพร้อมสายยศและเครื่องนุ่งห่มเป็นชุด นอกจากนั้นยังได้จัดส่งราชทูตไปพระราชทานตราตั้งแก่สำนักเจ้าเมืองแห่งลู่ชวนผิงเหมียน พม่า และลาว ตลอดทั้งเมิงติ้ง ปอเล่อ และอุยเอี่ยน ซึ่งเป็นเมืองระดับฝู่กับโจว (เมืองระดับแขวง) ก็ได้กระทำเช่นเดียวกัน
 4 และ 5 พฤศจิกายน: หมิงสือลู่ระบุว่าราชสำนักหมิงได้ส่งราชทูตไปมอบตราตั้ง (ลายจุ้มเจีย-ลายจุ้มลายเจีย) แก่ราชสำนักเชียงใหม่.
  ค.ศ.1405/พ.ศ.1948  13 สิงหาคม: ตาวเซียนต๋า (ท้าวแสนไท) เจ้าเมืองแห่งเชอหลี่ (เชียงรุ่ง) ได้จัดส่งทูตนามว่า หล่านเซี่ยนซือ (ล่ามแสนสือ?) มากราบบังคมทูล ขอนำกองทัพไปตีตาวเจาส้านเจ้าเมืองปาไป่ต้าเตี้ยน องค์จักรพรรดิมีพระราชดำรัสว่า ทราบแล้วสำหรับคำกราบบังคมทูล และทราบอย่างถ่องแท้ถึงความสัตย์ซื่อและจงรักภักดีของท่าน อันปาไป่หยาบช้า ตระบัดสัตย์ และอกตัญญูต่อราชสำนัก กระทำการโอหังอวดดีอย่างอหังการ โดยขัดขวางการเดินทางของราชทูต ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนทำนองคลองธรรม ตัวเรานี้ เป็นเจ้าชีวิตแก่ชนทั้งหลายทั่วพื้นพิภพ มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสรวงสวรรค์ ที่มีเมตตาต่อมวลมนุษยชาติ หากมีชนผู้ใดตกระกำลำบาก เราก็จะมีอันไม่เป็นสุข อันทางปาไป่นั้นที่ได้กระทำการอันมิดีมิงาม ก็คงเกิดจากบุคคลผู้เป็นหัวหน้าเพียงไม่กี่คน บรรดาทหารและพลเรือนทั้งหลาย ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของคนเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นพสกนิกรของเรา เมื่อจะต้องมีการทำสงคราม จะไม่ให้มีการบาดเจ็บล้มตายอย่างมากมายได้อย่างไรเล่า นอกจากนั้น บุคคลผู้เป็นเจ้าเมือง ซึ่งเป็นชนท้องถิ่นนั้นก็ยังเยาว์วัยและไร้เดียงสา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงเนื่องมาจากได้รับการเสี้ยมสอนจูงใจจากคนถ่อยชั่วช้าเสียมากกว่า ดังนั้นขณะนี้ จึงได้จัดส่งทูตนำพระบรมราชโองการไปแจ้งให้แก้ไขปรับปรุงกลับตัวกระทำความดี และให้นำส่งเมิ่งน่ายเผิงกับพวกซึ่งเป็นกลุ่มคนชั่วร้าย บัดนี้ขอให้ท่านจัดส่งทูตไปปอเล่อ (สุโขทัย-พิษณุโลก) มู่ปาง (แสนหวี) และเมิ่งเกิ้น (เมืองเขิน-เชียงตุง) แจ้งความประสงค์เรา หากปาไป่ต้าเตี้ยนยังคงดื้อรั้นขาดสติยับยั้ง หรือนำส่งตัวกลุ่มคนชั่วร้ายไม่ครบถ้วน ก็ขอให้พวกท่านรวมตัวกันเข้าโจมตีปราบปรามได้ แต่ให้จับกุมเฉพาะหัวโจกผู้ชั่วร้าย และจงปลอบขวัญราษฎรทั้งหลายซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ อย่าได้ฆ่าฟันทำร้ายกันมากนัก จากนั้นให้สรรหาบุคคลผู้ประเสริฐ อันเป็นเชื้อสายของตระกูลเจ้าเมืองนั้น แล้วจึงกราบบังคมทูลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป แต่ถ้าฝ่ายนั้นมีความสำนึกในความผิดและยอมรับผิด ก็ขอให้ถอนทัพกลับได้และอย่าเข้าโจมตี ฯลฯ.
  ค.ศ.1405/พ.ศ.1948  11 พฤศจิกายน : หมาฮาตั้นหมาลา (มหาธรรมราชา) เจ้าเมืองชนพื้นเมืองปอเล่อ และตาวเจาหนี่ (ท้าวเจ้าญี่กุมกาม) เจ้าเมืองชนพื้นเมืองปาไป๋เจ๋อไน่ (เชียงราย) แห่งยูนนานได้จัดส่งทูตชื่อ ไน่ซานฮาเคอ (นายสาม...) และคณะมาถวายพระสุพรรณบัฏ และถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นหมวกผ้าแพรประดับทองคำ รวมทั้งสิ่งของพื้นเมือง จักรพรรดิมีพระบรมราชโองการ พระราชทานเงินตราและแพรสีลายดอกตามลำดับฐานานุศักดิ์
 29 ธันวาคม: ผู้สำเร็จราชการยูนนานรายงานเข้ามาว่า กองทัพยูนนาน (ประมาณ 17,000 คน...ตัวเลขจำนวนคนมีเป็นไปได้น้อย) ด้วยความร่วมมือจากกองทัพของเชอหลี่ (เชียงรุ่ง) เมิ่งเกิ้น (เมืองเขิน-เชียงตุง) และปอเล่อรวมหลายทางได้ตีรุกเข้าไปในดินแดนปาไป่ต้าเตี้ยนและตีได้เมิ่งหลี่ (เมืองลี้ แต่เมืองลี้ที่ลำปาง อยู่ต่ำ อาจจะไม่ใช่ก็ได้) สืออ่าย (เมืองสาย) เจ่อต้า (เชียง...) และเจียงเซี่ย (เชียงแสน) ผลของสงคราม ทำให้ปาไป่หวาดเกรงมาก จึงส่งผู้แทนเข้าพบแม่ทัพเพื่อขอขมาลาโทษ ครั้งนั้น จักรพรรดิทรงชมเชยความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของเชอหลี่ มู่ปาง ปอเล่อ และเมิ่งเกิ้น พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการให้กองทัพเหล่านี้ยุติการโจมตี 
 พวกฮ่อมาร้องท้าศึก พระศีลวงศ์สืบชะตาเมืองเชียงแสน (แสดงว่าชะตาเมืองขาด เสียเมืองแก่จีนไปแล้ว --- ตามราชวงศ์ปกรณ์เชียงใหม่)  และเอกสารรุ่นหลัง ๆ ก็แสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่เสียเมืองไปแล้ว.
(เจดีย์ทรงน้ำเต้า ... เป็นเรื่องชาวไทใหญ่ เดือนห้าบวชลูกแก้ว นายพลจีนชื่ออู่เท่า สร้างไว้เป็นที่ระลึก เป็นเรื่องเล่า เป็นสีสัน)
ตอนสืบชะตาเมือง ก็เชิญพระศีลวงศ์ สวด "อุปาตะขันติ" (ปัดความอุบาท) วัดท่ามะโอ ได้มาเป็นภาษาพม่า
คัมภีร์นี้หายไปจากดินแดนล้านนา แต่พม่ารู้จัก (ครั้งไหนก็ตามที่พม่าทำศึกกับจีน จะต้องมีการสวด อุปาตะขันติ) โด่งดังในพม่า เนื้อหาจะโยงถึงเรื่องราวสังฆเพทในเชียงใหม่ด้วย. เชิญเทวดาและปีศาจร้าย ๆ ทั้งหลายมาช่วยกันป้องกันเมืองเชียงใหม่ ... ซึ่งไม่น่าจะเป็นพระในนิกายเถรวาท
ราชวงศ์หมิงเบนความสนใจมาที่ไดเวียด เพราะมีการแย่งชิงราชสมบัติกันในเวียนดนาม ต่อมาก็มีการรบ ราชวงศ์หมิงก็ยึดได้ ได้เมืองเกียวจี้ ... แกว
 ค.ศ.1406/พ.ศ.1949  12 มีนาคม: ราชสำนักจีนมีคำสั่งกำชับไปยังท้าวเจ้าสามให้ปฏิบัติตามสัญญา เรื่องส่วย และการขอผ่านดินแดน
 29 กันยายน: ท้าวเจ้าสามส่งทูตไปถึงเมืองหลวงจีน แต่ราชสำนักหมิง กลับไม่ยินดีให้คณะทูตลาวยวนเข้าเฝ้า โดยอ้างว่าราชสำนักเชียงใหม่ไม่บริสุทธิ์ใจ. (อาจมีการเบี้ยว ต่อรองกัน) การไม่รับเสียหาย เพราะจีนจะให้ของตอบแทนที่มีมูลค่าสูงกว่า แพรภัณฑ์ เงินทอง.
  ค.ศ.1407/พ.ศ.1950  1 ตุลาคม: ท้าวเจ้าสาม เจ้าเมืองปาไป่ต้าเตียน ตาวแสนไท เจ้าเมืองลาว และมหาธรรมราชา เจ้าเมืองชนพื้นเมืองแห่งปอเล่อ (ปกเลือง....ปก มาจาก เปาะ (ศัพท์ทางเมืองเหนือ) มาจากคำว่าชุมชน ดินแดน...) ต่างแต่งทูตมาเข้าเฝ้า ถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นเครื่องเงิน เครื่องทอง และสิ่งของพื้นเมืองต่าง ๆ จักรพรรดิมีพระบรมราชโองการ ให้มอบเงินตราแก่ผู้เป็นหัวหน้าเหล่านั้นตามฐานานุศักดิ์
 น่าสังเกตว่าไม่ปรากฎทูตจากปาไป่เจ้อไน่. (เชียงราย) น่าจะโดนราชสำนักเชียงใหม่ปราบปรามไปแล้ว หรือ เจ้าญี่กุมกาม หนีเจ้าสามฝั่งแกนไปอยู่สุโขทัย (อาจจะให้เจ้าญี่กุมกามไปเป็นเจ้าเมือง ๆ หนึ่ง...ดูในจารึกบูรพาราม)
  ค.ศ.1409/พ.ศ.1952  เกิดท้าว (เจ้า) ลก (มหาบุรุษแห่งล้านนา) 
  ค.ศ.1423/พ.ศ.1966  สิทธันตะพร้อมด้วยศิษย์ 3 รูปเดินทางไปลังกา กลับมายังเชียงใหม่แล้วบอกว่า พระที่เชียงใหม่ไม่เป็นพระสักรูป เพราะสวดปาติโมกข์ผิด จึงไม่สามารถร่วมสังฆกรรมกับพระลังกาได้
 - สมเด็จพระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดโชติการามได้ให้ศิษย์คือ พระญาณคัมภีร์ (ชินกาลฯ เรียกธรรมคัมภีร์) ขออนุญาตท้าวสามฝั่งแก่นเดินทางไปสืบศาสนาในลังกา มีเมธังกร มหาญาณมงคล มหาศีลวงศ์ มหาสารีบุตร มหารัตนากร และมหาพุทธสาครไปด้วย
 ชินกาลฯ ว่า มีพระภิกษุเชียงใหม่ไป 15 รูป อโยธยาไปด้วย 8 รูป และพระสงฆ์มอญ 8 รูป ...และอื่น ๆ รวม 39 รูป บวชในสำนักพระมหาสามีวนรัต. 
  ค.ศ.1424/พ.ศ.1967  13 เมษายน: ท้าวเจ้าสาม เจ้าเมืองแห่งปาไป่ต้าเตี้ยน ท้าวทรงเมือง เจ้าเมืองแห่งจิ้งอานเชอหลี่ และศรีรามราช เจ้าเมืองชนพื้นเมืองแห่งปอเล่อ ต่างแต่งทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่ ม้า ช้าง เครื่องเงิน และเครื่องทอง จักรพรรดิมีพระบรมราชโองการให้มอบเงินตราให้แก่ทูตเหล่านี้ตามฐานานุศักดิ์.
  ค.ศ.1429/พ.ศ.1972  มหาธรรมคัมภีร์เถระมาถึงอยุธยา
  ค.ศ.1430/พ.ศ.1973  มหาธรรมคัมภีร์เถระมาถึงเชียงใหม่ หลังไปอยู่อโยฌชปุระ ศรีสัชนาลัย สุโขทัย แล้วมาอยู่ที่มหาวิหารป่าแดง
  ค.ศ.1431/พ.ศ.1974  สงครามแย่งชิงราชสมบัติที่เมืองน่าน ท้าวแพงกับท้าวเหาะร่วมกันเป็นกบฎจับพรญาอินทรแก่นท้าวไว้ได้ (เป็นเรื่องเล่าไว้ในพงศาวดารเมืองน่าน และพงศาวดารในหอพระสมุดวชิรญาณ ฉบับไมเคิล วีคลี่ย์ นางสาวอุบลศรี อรรถพันธุ์) แต่ต่อมาพรญาอินทรแก่นท้าว เจ้าเมืองน่านได้รับการช่วยเหลือ (วิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นบุคลาธิษฐานของพระธาตุเมืองน่านมาช่วยไว้) จึงหนีจากน่าน ผ่านเตาไห สวางคบุรี (ฝาง) และตรอน (หรือตรอนตรีสินธุ์ - เมืองแม่น้ำสามสาย หรือเมืองที่มีทรัพย์ก็ได้, อุตรดิตถ์) จนไปพบกับพรญาเชลียงผู้เป็นบิดา ครั้งนั้น พรญาเชลียงเจ้าเมืองสวรรคโลกได้พาตัวพรญาแก่นท้าวไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ที่พระนครศรีอยุธยา ในปีถัดมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงให้ชุมนุมทัพสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก ขึ้นไปช่วยพรญาเชลียงต่อสู้ชิงเมืองน่านคืน. (เอกสารอยู่ในพงศาวดารฉบับหอสมุดพระวชิรญาณ) {เสียพระสวัสดิ์ = เสียหน้า}
  ค.ศ.1432/พ.ศ.1975  1. ญาณคัมภีร์ไปเขลางคนครในสมัยที่มหาอำมาตย์สุระเป็นเจ้าเมืองอยู่ ได้บวชจันทรเถระ แล้วเดินทางต่อไปที่หริภุญชัย
 2. วันที่ 18 พฤศจิกายน: ท้าวเจ้าสาม เจ้าเมืองชนพื้นเมืองปาไป่ต้าเตี้ยน ได้ส่งทูตมาถวายสิ่งของพื้นเมืองเป็นราชบรรณาการ พร้อมกันนี้ได้กราบบังคมทูลว่า ปอเล่อได้นำกองทหารถู่หย่า (อโยธยา) ของเจ้าเมืองชนพื้นเมืองมารุกรานเป็นอาจิณ (ด้วยสาเหตุเมืองน่าน) ฆ่าฟันล้มตายและปล้นสะดมเอาทรัพย์สินสิ่งของไป จึงขอให้ยกกองทัพไปปราบปราม จักรพรรดิมีพระราชดำรัสแก่ขุนนางผู้ใกล้ชิดว่า ทราบว่าปาไป่ต้าเตี้ยนอยู่ห่างจากยูนนานถึงห้าพันกว่าลี้ เป็นดินแดนอันไกลโพ้น ส่วนปอเล่อและถู่หย่า กับเจ้าเมืองชนพื้นเมือง ก็ยังไม่เคยมาสวามิภักดิ์ จะให้เราเกณฑ์ราษฎรคนจีน ไปทำศึกสงครามเพื่ออนารยชนอยู่แดนไกลได้อย่างไรเล่า นอกจากนั้น อันอุปนิสัยใจคอของอนารยชนย่อมจะห้าวหาญ...คงจะด้วยขิงก็ราข่าก็แรง (เพราะไม่มีจริยธรรมแบบขงจื้อ) ไม่สู้จะดีทั้งคู่ จะโทษว่า เป็นความผิดของปอเล่อลำพังฝ่ายเดียวจะถูกหรือ จึงเห็นสมควรให้มีพระบรมราชโองการสั่งสอนตักเตือน ขอให้ปรองดองสมานมิตรไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้าน พิทักษ์รักษาเขตแคว้นแดนดินและบำรุงรักษาอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข หากที่สุดปรากฎว่า ยังคงรุกรานปล้นสะดมภ์ไม่หยุดหย่อน ก็ให้ถวายบังคมกราบทูลให้ทรงทราบอีกครั้งหนึ่ง
  ค.ศ.1435/พ.ศ.1978  29 พฤศจิกายน : จักรพรรดิจีนได้มีรับสั่งให้ปาไป่ต้าเตี้ยนอำนวยความสะดวกในการคุ้มกันทูตลาวเดินทางกลับประเทศตนเอง
 ค.ศ.1436/พ.ศ.1979 ถึง ค.ศ.1438/พ.ศ.1981  ซือเยิ่นฝ่า*** กษัตริย์ไทมาวโหลงผู้ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อต้นปี ค.ศ.1413/พ.ศ.1956 ได้ทรงเริ่มทำสงครามรื้อฟื้นอำนาจของอาณาจักรนั้นขึ้นใหม่ โดยทรงรบแย่งชิงดินแดนคืนจากพม่า หลังจากนั้น ทรงหันความสนใจมาทางยูนนานและทรงเข้าโจมตีเมืองสำคัญหลายแห่งในยูนนานตะวันตกรวมทั้งเถิงจง หนานเตี้ยน (เมืองตี้) และลู่เจียง เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งคือ การที่พระองค์ทรงรบชนะกองทัพจีนครั้งใหญ่ทั้งในกลางปี ค.ศ.1438 และตอนต้นปี ค.ศ.1439. (อาจจะเป็นแนวคิดของชาวไทหมาวโหลงที่ต้องการจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนกับอาณาจักรน่านเจ้าในอดีต)
  ค.ศ.1437/พ.ศ.1980  25 มกราคม: ได้มีการกล่าวพาดพิงที่ราชสำนักจีนถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ทูตลาวเดินทางกลับมาถึงบ้านเมืองตน และได้ทราบว่า กษัตริย์ลาวได้สิ้นพระชนม์และปาไป่ต้าเตี้ยนกับลาวกำลังรบกัน เอกสารของมหาราชธีระวงศ์ (ทางลาว)... ทางปาไป่สีฟู่เข้าไปแทรกแซงวุ่นวายในเมืองชวา..ซ่าว... หลวงพระบาง
 [ระหว่างปี ค.ศ.1421/พ.ศ.1964 ถึง ค.ศ.1456/พ.ศ.1999 เป็นสมัยของความวุ่นวายจลาจลในลาว อันเนื่องมาจากการขึ้นมามีบทบาทของมหาเทวีนางแก้วเกดสี (แก้วเกษศรี) และนางทรงแต่งตั้งกษัตริย์ขึ้นมาครองราชย์ช่วงสั้น ๆ ถึง 9 พระองค์!]
  ค.ศ.1441/พ.ศ.1984  ท้าวลกขึ้นครองราชสมบัติเมื่ออายุได้ 32 ปี (ชินกาลมาลีนี)

*** สิ่งประหลาดที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับกษัตริย์ไทมาวผู้ทรงได้รับการกล่าวขวัญมากก็คือจริง ๆ นั้นพระองค์มีพระนามว่า กระไรกันแน่ คำว่า ซือเยิ่นฝ่า เป็นการออกเสียงแบบจีนใต้ซึ่งอาจารย์ประพฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชายเอกสารจีนเห็นว่า ถูกต้องกว่าสำเนียงจีนหลวงที่อ่านว่า ซือเหรินฝ่า พม่าซึ่งรู้จักกษัตริย์ไทมาวพระองค์นี้ดีที่สุด เพราะเป็นผู้จับกุมพระองค์ส่งให้แก่จีนในปี ค.ศ.1446 เรียกพระองค์ว่า เจ้างานฟ้า (Chau Ngan Pha) พม่าไม่มีเสียง /m/ ปิด ดังนั้นเจ้าเสืองานฟ้า จึงควรเป็น เจ้าเสืองำฟ้า หรือ 'พระเจ้าเสือครองฟ้า'
  • ปัจจุบันใช้ ราชวงศ์ปกรณ์ ตำนานสิบห้าราชวงศ์ (วงศ์เล็ก ๆ รวมกัน) เป็นเอกสารหลักในการศึกษาประวัติศาตร์ ซึ่งจริง ๆ แล้วมีมากถึง 200 กว่าเอกสารหลักที่สำคัญ. ชั้นต้น
  • พระภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่ตุลาการด้วย เป็นเจ้าไท เป็นภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ประธานการตัดสิน. (ตำแหน่งด้านการปกครอง) ล่ามแสนสือ หรือแสนซื่อ (ซื่อตรง) นาซ้าย นาขวา
 
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับรัชกาลท้าวเจ้าสาม
1.  พัฒนาการทางการเมือง
     1.1  สงครามการสืบราชสมบัติและการเข้าแทรกแซงของสุโขทัย
     1.2  การปกครอง: บทบาทของพระราชมารดาและกลุ่มขุนนาง
  • การยึดอำนาจของเจ้าลก ต่อเจ้าสามฝั่งแก่น ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีขุนนางรวมหัวกันยกเจ้าลกขึ้นมา
  • แสดงให้เห็นว่าขุนนางล้านนาในสมัยก่อนมีอำนาจมาก เช่น สมัยพระไชยเชษฐาธิราชมาปกครองเชียงใหม่ ก็มีขุนนางมาเกี่ยวข้องเยอะมาก ทำให้พระไชยเชษฐาธิราชกลับไปปกครองหลวงพระบางตามเดิม
     1.3  การยึดอำนาจของเจ้าลก
  • เจ้าลก หรือเจ้าลูก มิได้ทำปิตุฆาตแต่อย่างใด เพียงแต่ให้พรญาสามฝั่งแก่นไปครองเมืองเล็ก ๆ 
  • หมื่นนคร เป็นลุงเจ้าลก เป็นผู้กอบกู้อาสาเจ้าลกไว้ ในช่วงที่อำมาตย์มีอำนาจ
2.  ความสัมพันธ์กับจีนสมัยราชวงศ์หมิง
     2.1  ที่มาของความขัดแย้ง

จักรพรรดิย่งเล่อ มีปัญหากับพระนัดดา แต่แก้ปัญหาเสร็จก็มาสนใจล้านนา ยูนนาน. การยอมใต้อำนาจจีนก็มีข้อดีคือ แม้ส่งส่วยแล้วก็ได้ของขวัญกลับคืนมาก เมืองใหญ่ไม่สามารถรังแกเมืองเล็ก แต่จีนจะเข้ามารุกคืบเมืองข้าง ๆ ขอผ่านทางไปตีเมืองอื่น เป็นการกระทบต่อเศรษฐกิจ 
     2.2  วิกฤตการณ์สงคราม
     2.3  ผลของการสงคราม
3.  การพระศาสนาและสังฆเภทของล้านนา
     3.1  ภาพลักษณ์ของท้าวเจ้าสามฝั่งแก่น
     3.2  สาเหตุของสังฆเภท (เอกสารพบได้ใน ตำนานวัดสวนดอกฉบับสมบูรณ์ ตำนานมูลศาสนาวัดป่าแดง งานเขียนของพระมหารัตนเถระ - ชินกาลมาลีนี (ความรุ่งโรจน์ของพระพุทธเจ้า) จบที่เป็นพระมหาสามีสังฆราชวัดป่าแดง)) 
            -  พระธรรมกิตติเถระ VS ญาณคัมภีร์ (ธรรมคัมภีร์) เรื่องการรับสังฆทาน
            -  การเข้าของลัทธิลังกาวงศ์และการตั้งสำนึกวัดป่าแดง
            -  ความขัดแย้งเรื่องการตีความพระวินัยและวัตรปฏิบัติ
 
    ข้อกล่าวหาของฝ่ายวัดป่าแดงต่อวัดสวนดอก
     1.  ถือไม้เท้าไปรับบิณฑบาตทำตัวเหมือนขอทาน มีนาจังหันมาก รับเงินทอง แบ่งเหมี่ยงบุหรี่หมากแก่คฤหัสถ์ ทำให้ไม่บริสุทธิ์
     2.  ออกเสียงสวดปาติโมกข์ไม่ถูก
     3.  ฝ่ายวัดสวนดอกใช้อักขระสันสกฤตซึ่งเกินไปกว่าบาลี ไม่เป็นไปตามแบบแผนของพระพุทธโฆสาจารย์
     4.  ภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมสำคัญ เช่น การถวายผ้าพระกฐินเป็นแบบสันสกฤต
     5.  การบวชพระของพระมหาสามีอุทุมพรเถระกลางสมุทรตอนกลับจากลังกา ไม่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เพราะเอาพระพุทธรูปมาตั้งแทนที่พระภิกษุที่มรณภาพไปเพียงเพื่อให้ครบ 5 รูป

    ข้อกล่าวหากลับของฝ่ายวัดสวนดอก
     1.  พระธรรมคัมภีร์ทะเลาะกับพระอุปัชฌาย์ และกล่าวหาว่าพระสำนักสวนดอก "ไม่เป็นพระเป็นชีสักรูป" ใครอยากบวชให้ถูกต้องให้ไปบวชที่ลังกา
     2.  ตอนไปลังกาได้ไปเรียนเวทมนตร์กับพ่อค้าและชีเปลือย ซึ่งเคยขโมยทองจังโกจากพระเจดีย์จนพระลังกาไล่ออกไป
     3.  ไปบอกพระลังกาว่าเชียงใหม่ไม่มีภิกษุสักรูปเลยเพราะสวดสำเนียงไม่ถูกต้อง
     4.  สอนให้ประชาชนเอาพระพุทธรูปไปทิ้งน้ำ.
     5.  ตอนกลับมาพักที่อโยธยา พระบรมราชาธิราชไม่ยอมให้บวชประชาชน เมืองละโว้ พระบางก็ต้องทำตามเช่นกัน แต่พระยาบาลเมืองเลื่อมใสพระธรรมคัมภีร์ และผิดคำสาบานกับพระภิกษุเก่าเป็นเหตุให้ลูกตายและพระองค์เองตามในการสงคราม ส่วนพระยารามราชยอมให้บวชพระภิกษุ 204 รูป พระยาแสนสอยดาว เมืองกำแพงเพชรและพระยาไสยศรียศไม่ยอมให้บวชประชาชน.
     6.  การนับพรรษาและสิทธิในการบวชพระภิกษุใหม่.   


วัดสวนดอก เป็นวัดเดิม (รามัญวงศ์) 
วัดป่าแดง (ลังกาวงศ์) ถือว่าตนของแท้กว่า
[ep.6 2/2 :37:12]


 
"ปอเล่อ (ปกเลือง) ในเอกสารจีน "หมิงสือลู่" ตอนว่าด้วยรัชกาล 'ตาวเจาส้าน' (ท้าวเจ้าสาม) แห่งปาไป่สีฟู่"

1.  ความสำคัญของปัญหา
       เรื่องราวของรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกน ในเอกสารท้องถิ่นของไทยวน คือ ราชวงศ์ปกรณ์เชียงใหม่ และชินกาลมาลีนี หรือ ชินกาลมาลีปกรณ์นั้น มีเนื้อความอยู่ไม่มากนักประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงมีอยู่เพียง 4 ประเด็นคือ
       1. เรื่องรบแย่งชิงราชสมบัติกับท้าวยี่กุมกาม
       2. เรื่อง พระญา ไสลือ (เจ้าเมืองสุโขทัย) ยกมารบเมืองเชียงใหม่
       3. เรื่องฮ่อมาทวงส่วยและรบกันในปี ค.ศ.1402/3 ครั้งหนึ่งกับในปี พ.ศ.1404/5 ซึ่งเสียเมืองเชียงแสนอีกครั้งหนึ่ง และ
       4. เรื่องการที่ท้าวเจ้าสามถูกพระราชโอรสคือ เจ้าลก แย่งชิงราชสมบัติ

       เอกสารจีน หมิงสือลู่ ส่วนที่ว่าด้วย "ปอเล่อ" (ปกเลือง/ปกเลิง) เป็นเอกสารร่วมสมัยที่ช่วยให้เราเข้าใจรายละเอียดของเรื่อบางเรื่องได้ดีขึ้น ในการใช้เอกสารนี้ ผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า ปอเล่อ เป็นคำที่จีนถ่ายทอดเสียงจากคำว่า ปกเลือง ที่ปรากฎอยู่ในจารึกวัดบูรพาราม ปีจุลศักราช 774 (ค.ศ.1412/พ.ศ.1955) ซึ่งเป็นคำเรียกอาณาจักรสุโขทัยในสมัยนั้น เอกสารนี้มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่ จีน และสุโขทัย บทความนี้ได้ปรับปรุงขึ้นจากผลงานค้นคว้าของ อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร และอาจารย์ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ซึ่งทั้งสองท่านได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ เมื่อหลายปีก่อน ส่วนสำนวนการแปลภาษาจีนเป็นของอาจารย์ประพฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเอกสารจีนโบราณ.
       เมื่อครั้งที่ อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร และ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ไปร่วมประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 4 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1990 นั้น ทั้งสองท่านได้มีโอกาสเข้าฟังการเสนอผลงานที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยของ ดร.ซุนไหลเฉิน นักวิชาการจีนรุ่นใหม่แห่งภาควิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออกของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรื่อง 'The Origin of "Bo-Le": On the Relations Between the Kingdom of Sukhothai and the Ming Dynasty in the Early Fifteenth Century' (ความเป็นมาของ "ปอเล่อ": ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์หมิงในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15). คณาจารย์ทั้งสองท่านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการกับนักวิชาการจีนท่านนี้ด้วยความกระตือรือร้น และได้รับประโยชน์มาก.
       อาจารย์ ดร.วินัย รู้สึกว่า เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว ต้องค้นคว้าเรื่อง 'ปอเล่อ' ต่อ ด้วยเหตุผลสองประการคือ การค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ 'ปอเล่อ' ในเอกสารจีนของ ดร.ชุนไหลเฉิน ยังหาครบถ้วนไม่ และข้อมูลจากหลักฐานฝ่ายไทยที่เขาใช้วินิจฉัยตีความในทางประวัติศาสตร์นั้นยังขาดตกบกพร่องหรือล้าสมัยไปแล้ว เพราะได้ค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก อาจารย์ ดร.วินัยได้เรียนขอความกรุณาจากคุณประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ ผู้เชี่ยวชาญเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ เป็นผู้ค้นคว้าข้อมูลด้านจีนเกี่ยวกับ 'ปอเล่อ' เท่าที่จะหาได้จากเอกสารที่มีอยู่ในเมืองไทย. การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ นี้ใช้เวลาอยู่นานพอสมควร. การอ้างอิงถึงหลักฐานฝ่ายจีนและข้อความต่าง ๆ ที่ยกมาในงานนี้ถือว่าเป็นผลงานของท่าน (คุณประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี) ส่วนการวินิจฉัยตีความและอคติใด ๆ ที่ปรากฎในบทความนี้ให้ถือว่าเป็นของท่านอาจารย์ ดร.วินัย เป็นส่วนใหญ่ (นี่คือความรับผิดชอบและความไม่ติดยึดของปราชญ์จริง ๆ ).
       ความจริงแล้ว คำว่า 'ปอเล่อ' ปรากฎอยู่ในเอกสารจีนเพียงไม่กี่แห่งและนักวิชาการจีนศึกษาเองก็ไม่ค่อยสนใจนัก เพราะต่างมุ่งความสนใจไปที่รัฐใหญ่ ๆ อีกทั้งยังไม่มีใครศึกษาอย่างลึกซึ้งจนกำหนดได้ว่า 'ปอเล่อ' นั้นอยู่ที่ไหน ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่เคยมีนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยก่อนหน้านี้ที่ให้ความสนใจอย่างจริงจังแก่เอกสารประเภท สือลู่ 'จดหมายเหตุประจำรัชกาล' หากไปสนใจเน้นที่เอกสารประเภท เจิ้งสื่อ 'ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฉบับหอหลวง' ซึ่งมีรายละเอียดน้อยกว่าและรวบรวมขึ้นทีหลัง.
       นับว่าเป็นโชคดีอย่างมากที่ในปัจจุบันเอกสารที่เรียกว่า หมิงสือลู่ 'จดหมายเหตุประจำรัชกาลสมัยแผ่นดินหมิง' ยังคงหลงเหลืออยู่ค่อนข้างมาก คุณค่าของ หมิงสือลู่ ในฐานะที่เป็นหลักฐานร่วมสมัย เป็นที่ยอมรับของนักจีนวิทยาโดยทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการที่ศาสตราจารย์วูลฟ์กัง ฟรังเก้อ (Wolfgang Franke, An Introduction to the Sources of Ming History, (Kuala Lumpur: University of Malaya Press, 1968); "Some Remarks on Chinese Historical Sources in Southeast Asia, with Particular Consideration of the Ming Period, (1368-1644)" in Sino-Malaysiana;(Singapore: South Seas Society, 1989): 476-488; "The Veritable Records of the Ming Dynasty (1368-1644)" in W.G. Beasley and E.G. Pulleyblank, eds., Historians of China and Japan, (London: Oxford University Press, 1961); 60-77) และศาสตราจารย์ ดร.หวาง เกิงหวู่ ต่างได้ใช้ หมิงสือลู่ เป็นเอกสารหลักในการฉายภาพลักษณ์อดีตของมะละกาในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ใหม่อย่างถูกต้อง (Wang Gungwu, "The Opening of Relations between China and Malacca, 1403-5," in John Bastin and R. Roolvink, eds., Malayan and Indonesian Studies, (London;: Oxford University Press, 1964): 87-104.) ยกเว้นข้อเสียในเรื่องลีลาประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งต้องอยู่ในกรอบของปรัชญาการเมืองแบบขงจื่อแล้ว ไม่เคยมีนักจีนวิทยาคนใดเคยตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับความถูกต้องของหมิงสือลู่ ในเรื่องการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักราชและวันเวลาโดยละเอียดลออตามที่เหตุการณ์นั้นถูกรายงานต่อราชสำนักจีน นายเจฟ เวด ซึ่งเสนอผลงานการค้นคว้าอย่างละเอียดลออที่สุดตั้งแต่เคยทำกันมาเกี่ยวกับหมิงสือลู่ (Geoff Wade, "The 'Ming Shi-lu' as a Source for Southeast Asian History, 14th to 17th Centuries," Paper presented at the 12th Conference of International Association of Historians of Asia, University of Hong Kong, June 24-28, 1991.) ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หมิงสือลู่ เป็นหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์จะขาดมิได้เลย ในการศึกษาระบบรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึง 17.

หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, ที่มา: www.matichonbook.com, วันที่เข้าถึง 12 มีนาคม 2564.

       คำว่า 'ปอเล่อ' ปรากฎอยู่ใน หมิงสือลู่ เพียง 8 รายการเท่านั้น (ตรงกันทั้งของอาจารย์ประพฤทธิ์และนายเจฟ เวด) เทียบกับ 'ปาไป่ต้าเตี้ยน' (อาณาจักรล้านนา) ซึ่งมี 67 รายการ และเซียนหลัว (สยาม) ซึ่งมีอยู่ 140 รายการ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน. (Geoff Wade, "The 'Ming Shi-lu' as a Source for Southeast Asian History, 14th to 17th Centuries," Paper presented at the 12th Conference of International Association of Historians of Asia, University of Hong Kong, June 24-28, 1991.)
       อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับปอเล่อที่มีอยู่เพียง 8 รายการนั้น ก็นับว่ามีความสำคัญมากต่อการมองความคลี่คลายของประวัติศาสตร์ไทยในดินแดนสยามประเทศเดิม (ตามข้อเท็จจริงใน ชินกาลมาลีปกรณ์) (G.
Cœdès, "Documents sur l'histoire politique et religieuse du Laos occidental", BEFEO, 25 (1925): 73, 95, 96 และ 98; แสง มนวิฑูร, แปล ชินกาลมาลีปกรณ์, (กรมศิลปากร จัดพิมพ์เนื่องในการบูรณะโบราณสถาน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย, พฤษภาคม 2501): 81, 97 และ 100; และ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร, "สยาม", วารสารแห่งสมาคมค้นคว้าวิชาประเทศไทย, ฉบับที่ 4, เล่ม 3 (สิงหาคม 2488): 17-19) ประเด็นที่อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียรเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ 'ปอเล่อ' มีดังนี้

       1.  'ปอเล่อ' นั้นเป็นความพยายามของจีนในการถ่ายเสียงคำเดิมว่าอะไร? ทั้งนี้เราทราบอย่างแน่นอนจากพระนามของกษัตริย์ เช่น หมาฮาตั้นหมา หรือ หมาฮาตั้นหมาลา 'มหาธรรมราชา' ป่านหยางหล่าน 'พรญาราม' และ ซี่ลี่หลานหมาลา 'ศรีรามราช' ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากศิลาจารึกแล้ว น่าจะเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองการปกครองของอาณาจักร 'สุโขทัย/พิษณุโลก'
       2.  ความสัมพันธ์ระหว่าง 'ปอเล่อ' กับราชสำนักจีนและปาไป่ต้าเตี้ยน (พิงครัฐ-เชียงใหม่)
       3.  ความเป็นไปได้ในการวินิจฉัยตีความประวัติศาสตร์สุโขทัย/พิษณุโลกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือกลางพุทธศตวรรษที่ 20 บนพื้นฐานของหลักฐานที่เพิ่มเข้ามาใหม่



2.  ความเป็นมาของการสืบหา 'ปอเล่อ'
       ประเด็นที่ว่า 'ปอเล่อ' ใน หมิงสือลู่ อยู่ ณ ที่ใดนั้น ได้รับความสนใจ ศาสตราจารย์ ฟางกั๋วหวี เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1958 แต่ท่านก็ไม่สู้แน่ใจว่าจะเป็นที่ใดกันแน่ (Sun Laichen, "The Original of 'Bo-le': On the Relations between the Kingdom of Sukhothai and the Ming Dynasty in the Early Fifteenth Century". (Paper presented at the 4th International Conference on Thai Studies, Kunming, PRC, May 11-13, 1990):2.) ต่อมาแนวความคิดเกี่ยวกับ 'ปอเล่อ' ก็แบ่งเป็นสองทางด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า 'ปอเล่อ' คือ พิษณุโลก เช่นใน ค.ศ. 1962 ศาสตราจารย์ เฉินซี่จิง ได้เขียนไว้ว่า
       "ถึงแม้เสียงอ่านคำว่า ปอเล่อ จะใกล้เคียงกันกับคำว่า 'ซ่งเจียกลั่ว' (สวรรคโลก) แต่ใกล้เคียงกับเผิงซื่อลั่ว (พิษณุโลก) มากกว่า คำแปลทับศัพท์ของจีนมักย่นย่อให้สั้นลง พิษณุโลก ซึ่งย่นย่อเหลือ เผิงซื่อลั่ว จึงอาจย่นย่อลงไปอีกเป็น 'เผิงลั่ว' คำอ่านออกเสียงของ 'เผิง' ใกล้เคียงกับคำว่า 'ปอ' กล่าวคือ ออกเสียง /p/ หรือ /b/ ด้วยกัน ส่วนคำว่า 'ลั่ว' ใกล้เคียงกับคำว่า 'เล่อ' เพราะเป็นหน่วยเสียง /l/ ด้วยกัน คำว่า เผิงซื่อลั่ว เมื่ออ่านอย่างเร็ว ๆ อาจกลายเป็นเผิงลั่วได้ ดังนั้น จึงน่าจะถือว่า 'เผิงลั่ว' เทียบเสียงได้ตรงกับ 'ปอเล่อ' อาจเป็นไปได้ว่าบุคคลสมัยราชวงศ์หมิงเข้าใจว่า หลังจากที่เซียน (สยาม) ยอมจำนนต่อหลัวหูแล้ว เมืองพิษณุโลกที่กษัตริย์ราชวงศ์เซียนประทับอยู่ ยังมีฐานะเป็นราชอาณาจักรอยู่ นอกจากนั้นอาณาจักรเซียนนี้ ถึงแม้จะยอมจำนนต่อหลัวหูแล้ว แต่ราชวงศ์นี้ยังมิได้สิ้นสุดลงทันที แต่คงดำรงต่อเนื่องไปอีกระยะเวลาหนึ่ง" (เฉินซี่เจิง, ประวัติศาสตร์โบราณซ่านไท, (1962): 73-79.)
       ศาสตราจารย์ ฟางกั๋วหวี ได้แสดงความเห็นไว้เมื่อ ค.ศ. 1987 เช่นเดียวกันว่า ปอเล่อ น่าจะหมายถึงพิษณุโลก (ฟางกั๋วหวี, คำอธิบายภูมิ-ประวัติศาสตร์ของจีนทางตะวันตกเฉียงใต้. (ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์จงหัว, 1987): 1020.) ส่วนนายชุนไหลเฉิน ได้อาศัยพระนามกษัตริย์แห่งปอเล่อที่ปรากฎในหมิงสือลู่ มายืนยันว่า ปอเล่อ ก็คือ พิษณุโลก หรือ 'เซียน" ในยุคก่อนนั่นเอง (Sun Laichen, op.cit.,: 3.)
       นักจีนวิทยาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น นายเฉินเจียหยง, (เฉินเจียหยง และคณะ, ประมวลคำอธิบายชื่อสถานที่ทางทะเลใต้ในสมัยโบราณ, (ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์จงหัว, 1986): 543-544.) นายจิ่งเจิ้นกั๋ว (จิ่งเจินกั๋ว, ประมวลเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับลาวในเอกสารโบราณของจีน, (เหอหนาน: สำนักพิมพ์ประชาชนแห่งเหอหนาน, 1985): 108 เชิงอรรถที่ 36.) และนายหวังจี้หมิน (หวังจี้หมิน, ความสัมพันธ์ระหว่างเมือเชอหลี่กับเมืองปาไป่ซีฟูในพุทธศตวรรษที่ 19, วิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531: 89, 91.) ลงความเห็นตรงกันว่า 'ปอเล่อ' น่าจะหมายถึงเมืองแพร่
       ในการวินิจฉัยตำแหน่งแหล่งที่ทางภูมิศาสตร์ของปอเล่อ เราจะพบว่าเอกสารจีนให้ข้อมูลที่คล้าย ๆ กัน กล่าวคือ
       หมิงสื่อ, "ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงฉบับหอหลวง" มีความว่า
       "สถานที่แห่งนั้น (ปาไป่สีฟู) มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกของเชอหลี่ ทิศใต้จรดปอเล่อ ทิศตะวันตกติดต่อกู่ลา ซึ่งติดต่อกับพม่า ทิศเหนือถึงเมิ่งเกิ้น จาก เอี๋ยวกวน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง 50 เฉิง ก็ถึงที่นั้น มีพื้นที่ราบหลายพันลี้ ทางใต้มีภูเขาเก๋อลา เชิงเขา มีแม่น้ำ ฝั่งใต้คือปาไป่ ฝั่งเหนือคือ เชอหลี่"

 
 
แผนที่แสดงถิ่นฐานชนเผ่าไทหรือไต ภาพจากหนังสือ "กว่าจะรู้ค่า...คนไทในอุษาคเนย์" โดยธีรภาพ โลหิตกุล, ที่มา: ngthai.com, วันที่เข้าถึง 14 มีนาคม 2564.
 
ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวนฉบับใหม่ มีข้อความว่า
"อันปาไป่สีฟู่ มีชื่อเรียกของเผ่าชนพื้นเมืองว่า จิ่งไม่ (เชียงใหม่) ยุคสมัยก่อนโน้นเล่าขานกันว่า ประมุขแห่งเผ่าชนนั้นมีชายา 800 นาง แต่ละนางรับผิดชอบปกครองชุมชนหนึ่งแห่ง (พันนาหนึ่ง) จึงมีชื่อเรียกดังกล่าว ดินแดนแห่งนี้ แต่โบราณกาลมาไม่เคยติดต่อสัมพันธ์กับจีน เมื่อครั้งรัชศกจงถ่ง (ค.ศ.1260/พ.ศ.1803) แห่งรัชกาลจักรพรรดิซื่อจู่ (กุบไลข่าน) ได้มีพระบรมราชโองการให้ยกทัพไปปราบปราม แต่ไปไม่ถึงจึงยกทัพกลับ ต่อมาองค์จักรพรรดิจึงทรงแต่งตั้งราชทูตไปเกลี้ยกล่อมให้มาสวามิภักดิ์ จึงได้มีการจัดตั้งสำนักเจ้าเมืองปกครองทหารและพลเรือนปาไป่ต้าเตี้ยนขึ้น ดินแดนแห่งนี้ทางทิศตะวันออกติดต่อกับลาว ทางใต้จรดดินแดนแห่งชนเผ่าปอเล่อ ทางตะวันตกถึงต้ากู่ลา (น่าจะหมายถึง กุลาใหญ่ ลางท่านว่า อัสสัม ถ้าใกล้เข้ามากกว่านั้นก็เห็นจะเป็นมณีปุระ) และทางเหนือติดกับเมืองเมิ่งเกิ้น ประชากรล้วนแต่เป็นชอเผ่าป๋อ สักลวดลายระหว่างคิ้วกับนัยน์ตา" (หยวนสื่อ (ฉบับชำระใหม่) ตอน 'ปาไป่สีฟู่', 1931.)


 
info@huexonline.com