MENU
TH EN

CM-098. วัดแสนขาน (วัดร้าง)

Title Thumbnail & Hero Image: วัดร้างแสนขาน01.
CM-098. วัดแสนขาน (วัดร้าง)01.
First revision: Aug.05, 2020
Last change: Aug.05, 2020

     วัดร้างแสนขาน กับจิตรกรรมเขียนสีกลางกรุ อายุ 600 ปี

     เจดีย์วัดร้างแสนขาน ตั้งอยู่บนถนนมณีนพรัตน์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ปรากฏชื่อวัดแสนขาน ในเอกสารตำนานพงศาวดาร แต่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารโยนกว่า “...พญาเมืองเกษเกล้าได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 2 ปี พระองค์ก็ทรงเสียพระจริตจึงถูกปลงพระชนม์ และทำการส่งสักการ(เผา) ณ วัดแสนขาน แล้วจึงนำเอาพระอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ ณ เจดีย์วัดโลกโมฬี..”

     อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานคือ วัดนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าแสนขาน หนึ่งในอำมาตย์ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ที่คิดช่วยให้ "เจ้าลก" พระโอรสองค์ที่ 6 ในพญาสามฝั่งแกน ขึ้นครองราชย์ในนาม พระเจ้าติโลกราช แล้วบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 1985 ซึ่งต่อมาถูกพระเจ้าติโลกราชคุมขังและลดยศเป็น "หมื่นขาน" และให้ไปครองเมืองเชียงแสนแทน

     โดยสภาพปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักอาศัยของประชาชน โดยการบุกรุกพื้นที่ของวัดจนถึงแนวขอบของฐานเจดีย์ รอบด้านเป็นอาคารบ้านพักชั้นเดียวและสองชั้น ซึ่งได้ทำการเช่าที่ดินจากราชพัสดุมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว

     สิ่งที่น่าสนใจคือจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงานจิตรกรรมฝาผนังล้านนาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีข้อมูลเพียงงานจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำคูหา วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงงานจิตรกรรมล้านนาโบราณในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว ย่อมเป็นงานที่พบได้น้อยมากและเป็นภาพลายดอกไม้และลายธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากการเวลาและสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นตัวทำลายงานจิตรกรรมเขียนสีเหล่านั้น

     จากการค้นพบครั้งนี้เกิดจากการสำรวจวัดร้างในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ ระหว่างปี 2561-2562 นำโดย รศ.ดร. สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.ธวัชชัย ทำทอง จากมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง และ อ.ฐาปกรณ์ เครือระยา จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการสำรวจวัดร้างแสนขาน ตามเอกสารที่ได้บันทึกไว้ว่า วัดร้างดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของวัดโลกโมฬี นอกจากนี้ยังพบว่าวัดร้างแสนขานยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากทางกรมศิลปากร จึงทำให้เห็นสภาพเจดีย์ร้างอยู่ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ ซึ่งก็เป็นบ้านเรือนของประชาชนที่จับจองพื้นที่รายล้อมเขตโบราณสถานดังกล่าว โดยสภาพของเจดีย์ยังค่อนข้างเห็นเป็นองค์ชัดเจน รูปแบบของเจดีย์สามารถบ่งบอกรายละเอียดได้บ้างบางส่วน สิ่งที่ทำให้เราเห็นหลักฐานภาพจิตรกรรมล้านนาโบราณในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ก็เพราะการขุดหาของมีค่าจากกรุจนกรุแตก

     ภาพเขียนฝาผนังภายในกรุของวัดร้างแสนขานนั้น เขียนขึ้นเพื่อตกแต่งภายในกรุสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก กว้าง 55 เซนติเมตร ยาว 140 เซนติเมตร และสูง 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นกรุชั้นใน ส่วนกรุชั้นนอก (กรุหลอก) จะมีการก่อปูนไม่ฉาบ ห่างออกมาจากกรุในด้านละประมาณ 40-45 เซนติเมตร โดยกรุดังกล่าวอยู่ในระดับตัวเรือนธาตุ
จิตรกรรมฝาผนังประดับกรุ ปรากฏบนผนังกรุด้านทิศเหนือ(ตัวภาพหันหน้าไปทางทิศใต้) ซึ่งเป็นผนังฝั่งเดียวที่มีงานเขียนภาพจิตรกรรม อีกทั้งภาพหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในกรุมีสภาพลบเลือนไปมาก จำเป็นต้องใช้เทคนิคคัดลอกจิตรกรรมด้วยมือและคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน โดยการคัดลอกลายเส้น เพื่อให้เห็นรายละเอียดของภาพรวมในงานจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ของศิลปะล้านนา ซึ่งมีอายุกว่า 600 ปีได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม

     จิตรกรรมดังกล่าวเป็นเทคนิคเขียนสีปูนเปียก ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมกันในยุคโบราณ เพื่อให้งานจิตรกรรมนั้นติดทนนาน ดังนั้นภายในห้องกรุเราจึงเห็นเนื้อปูนที่กะเทาะออกมาสองชั้นคือชั้นแรกคือปูนฉาบ และชั้นที่สองคือชั้นปูนเปียกเพื่อเตรียมเขียนงานจิตรกรรม สีที่ใช้เขียนพบว่ามีเพียงสองสีที่ชัดเจน คือสีแดงและสีดำ ซึ่งน่าจะเป็นสีที่มาจากชาดและยางรัก อันเป็นวัตถุให้สีที่นิยมกันในยุคโบราณ ส่วนภาพเขียนเป็นภาพเทวดา 2 องค์ องค์แรกไม่สามารถระบุได้เนื่องจากมีการกะเทาะของปูนบริเวณส่วนองค์เทวดาพอดี องค์ที่ 2 เป็นเทวดา 4 กร นั่นคือพระพรหมนั่นเอง

     พระพรหมทรงเครื่องสวมชฎามีรัศมี มือคู่แรกประนมมือไว้ มือคู่หลังกรีดกรายเหมือนถือช่อดอกไว้แต่ไม่ชัดเจน นุ่งผ้าสะบัดพลิ้ว รอบ ๆ มีดอกไม้ลอยเป็นดอกโบตั๋น ส่วนฐานล่างสุดเป็นลายหม้อดอกบูรณฆฏะในหม้อเป็นดอกบัว ส่วนด้านบนเป็นลักษณะของรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งจากการดูลายเส้นที่เลือนรางสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปทรงของฉัตรหรือไม่ก็เป็นรูปทรงของเจดีย์

     จิตรกรรมผาผนังภายในกรุวัดร้างแสนขาน ตามสภาพปัจจุบันนั้น อยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก จนหลายคนเข้าใจว่าคงไม่มีภาพจิตรกรรมหลงเหลือ แต่จากการสำรวจครั้งนี้กลับพบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสำคัญมากอีกชิ้นหนึ่งในล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการต่อไปในอนาคต
คณะสำรวจ
รศ.ดร. สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธวัชชัย ทำทอง มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง
ฐาปกรณ์ เครือระยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้
นราเดช แก้วมาเรือน
เรื่อง/ภาพ : โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook ห้อง"Art Historian", โพสต์โดยผู้ใช้นามว่า "Patison Benyasuta", วันที่เข้าถึง 5 สิงหาคม 2563. โดย:คณะสำรวจ รศ.ดร. สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ธวัชชัย ทำทอง มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง, ฐาปกรณ์ เครือระยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้, นราเดช แก้วมาเรือน, เรื่อง/ภาพ : โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา


PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-11: จาก. Facebook ห้อง"Art Historian", โพสต์โดยผู้ใช้นามว่า "Patison Benyasuta", วันที่เข้าถึง 5 สิงหาคม 2563, ภาพ : โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา


 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com