MENU
TH EN
Title Thumbnail: ภาพเก่าเมืองน่าน, ที่มา: Facebook เพจ "เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น," วันที่เข้าถึง 10 สิงหาคม 2563.
เมืองน่าน
First revision: Jun.14, 2020
Last change: Jul.01, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     มีการศึกษาค้นคว้าเมืองน่านในระดับพื้นฐานไว้ไม่น้อย อาทิ กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์หนังสือในโอกาสเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน พ.ศ.2530 ได้แก่ "เมืองน่าน : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ", "เมืองน่าน", "ชาวน่าน" และในปี พ.ศ.2478 ข้าราชการเมืองน่านได้ตั้งคณะทำงานจัดพิมพ์หนังสือ "นครน่าน" เป็นที่ระลึกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
     มีหลักฐานทางโบราณคดีรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จารึกต่าง ๆ ฝาหีบธรรม และบานประตู มีการรวบรวมจารึก ศิลาจารึกน่านมี 20 ชิ้น ฯลฯ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเมืองน่านเป็นอย่างยิ่ง.
  • เมืองน่าน อุดมไปด้วยตำนาน มีทั้งตำนานเมืองหรือ "พื้น" ตำนานพระธาตุ ตำนาน "พื้นเมืองน่าน" หลายฉบับ ตำนานพระธาตุแช่แห้งก็มีหลายฉบับ

กำแพงเมืองน่าน เผยแพร่ปี พ.ศ.2443, เครดิตภาพ: Mission Pavie, Indo-Chine, 1879-1995, ที่มา: Facebood เพจ "Wisuwat Buroot," วันที่เข้าถึง: 30 มิถุนายน 2566.
 
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านและสุโขทัย01.
       เมืองน่านปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) จารึกขึ้นในราวพุทธศักราช 1835 ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 25 โดยปรากฏชื่อ “เมืองปัว” ซึ่งเป็นชื่อเมืองในสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มของเมืองน่านภายใต้ราชวงศ์ภูคา ร่วมกับชื่อหัวเมืองอื่นๆที่อยู่ในอาณาเขตของสุโขทัย ความว่า “เมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน.... เมืองพลัว (ปัว)....”.

       ต่อมาในสมัยของพระยาการเมือง (พ.ศ.1896 - 1906) ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงไปช่วยพระยาลิไทย กษัตริย์กรุงสุโขทัยสร้างวัดหลวงอภัย พระยาลิไทยจึงได้มอบพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์เงิน และพระพิมพ์ทองอย่างละ 20 องค์ ให้กับพระยาการเมือง พระยาการเมืองจึงได้นำพระธาตุและพระพิมพ์ที่ได้มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นที่ภูเพียงแช่แห้ง เรียกว่า “พระธาตุแช่แห้ง” และในปี พ.ศ.1902 พระยาการเมืองจึงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองจากเมืองปัวมาสร้างที่เวียงภูเพียงแช่แห้ง.

       โดยปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำ) ความว่า “...เจ้าพระยาครานเมืองท่านอยู่เสวยราชสมบัติแล้ว อยู่มาบ่นานเท่าใดพระยาตนหนึ่งชื่อว่า โสปัตตคันธิ อยู่เสวยเมืองสุโขทัยใช้มาราธนาเชิญเอาพระยาครานเมืองเมือช่วยพิจารณาส้าง (สร้าง) วัดหลวงอภัยกับด้วยพระยาสุโขทัยหั้นแล เมื่อนั้นพระยาครานเมืองก็ลงไปช่วยค้ำชู พระยาโสปัตตคันธิ แท้หั้นแล ครั้นสร้างบอระมวน (บรมวล)แล้ว พะยาโสปัตตคันธิ ก็มีความยินดีซึ่งพระยาครานเมืองแล้วก็เอาพระธาตุเจ้า 7 องค์ พระพิมพ์คำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ดั่งวรรณะพระธาตุเจ้านั้นต่างกัน คือ 2 องค์เท่าพันธุ์หอมป้อม มีวรรณะดั่งแก้ว 3 องค์ มีวรรณะดั่งมุก 2 องค์ มีวรรณะดั่งคำเท่าเม็ดงาดำหั้นแล...”

       ชื่อ “เมืองน่าน” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในศิลาจารึกหลักที่ 8 (จารึกเขาสุมนกูฏ) พบที่เขาพระบาทใหญ่ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจารึกขึ้นระหว่างรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลิไทย) ราวปี พ.ศ.1912 ความว่า “....เบื้องเหนือน้ำน่านถี แดนเจ้าพระญาผากองเจ้าเมืองน่านเมืองพลัว...” (ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 19-20)

       ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองการปกครอง ในด้านของการรบและการช่วยเหลือกันในยามศึกสงคราม หรือการลี้ภัยทางการเมืองเมื่อยามพ่ายแพ้สงครามระหว่างเมืองน่านและสุโขทัย ปรากฏอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ เช่น

 
  • พ.ศ.1919 พระยาผากองเจ้าเมืองน่านได้ยกทัพลงไปช่วยพระยาคำแหงรบกับพระบรมราชาธิราช ที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยาที่เสด็จขึ้นมาตีเมืองซากังราว
  • พ.ศ.1942 พระยาเถระ เจ้าเมืองแพร่ และพระยาอุ่นเมือง เข้ายึดเมืองน่านและประหารเจ้าศรีจันต๊ะ เจ้าหุงผู้เป็นน้องหนีไปพึ่งพระยาเชลียง และได้ขอกำลังจากสุโขทัยให้ยกกองทัพขึ้นมาช่วยตีเอาเมืองน่านคืนมา
  • พ.ศ. 1993 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ราชวงศ์มังราย ยกกองทัพมาตีเพื่อผนวกรวมเมืองน่านเข้าเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรล้านนา เมื่อเมืองน่านพ่ายแพ้ เจ้าอินต๊ะแก่นท้าว จึงได้นำครอบครัวลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองสุโขทัย
       
       งานศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่ปรากฏในเมืองน่าน ได้แก่ เจดีย์ช้างล้อม วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นเจดีย์ช้างล้อมทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม ส่วนล่างสุดทำเป็นฐานปัทม์ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นช้างล้อม มีช้างโผล่ออกมาครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ปลายงวงจรดแท่นฐานบัวที่รองรับอยู่ทางด้านล่าง เหนือชั้นช้างล้อมทำเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น รับฐานบัวและลูกแก้วและหน้ากระดานกลมที่อยู่ทางตอนบนชั้นมาลัยเถาทำเป็นหน้ากระดานบัวคว่ำซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับบัวปากระฆังและองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม ปล้องไฉนและปลียอด เจดีย์นี้แม้จะได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ก็ยังคงรูปแบบเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ศิลปะสุโขทัยไว้ได้มากพอสมควร เป็นต้นว่าชั้นช้างล้อม ชั้นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมและชั้นมาลัยเถาซึ่งทำเป็นบัวคว่ำซ้อนกัน 3 ชั้น.
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน ปี 2430-2438 at Phra That Chang Kham in Muang, Nan,1887-1895 Credit : Jean-Marie Auguste Pavie, ที่มา: Facebook เพจ "Wisuwat Buroot," วันที่เข้าถึง: 1 กรกฎาคม 2566.

       เจดีย์วัดสวนตาล องค์เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม) แบบสุโขทัย ต่อมาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน โปรดให้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2457 ได้แก้ไขรูปทรงเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน จากภาพถ่ายเก่าสันนิษฐานว่าส่วนฐานคงเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน รองรับเรือนธาตุย่อเก็จซึ่งยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนยอดเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ มีปล้องไฉนและปลียอด ตามแบบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะสุโขทัย เจดีย์นี้คงสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากเจ้าพระยาผากองสร้างเมืองน่านในปี พ.ศ.1911.

       พระพุทธรูปแบบศิลปะสุโขทัยในเมืองน่าน เช่น พระพุทธรูป 5 พระองค์ สร้างโดยพระยาสารผาสุม เมื่อ พ.ศ.1970 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุช้างค้ำฯ 3 องค์ และวัดพญาภู 2 องค์ โดยเป็นพระพุทธรูปปางลีลา 4 องค์ และปางประทานอภัยสองพระหัตถ์ 1 องค์ พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ มีพระพักตร์ค่อนข้างยาวรีเป็นรูปวงไข่ ขมวดเกศาม้วนเป็นก้นหอย รัศมีเหนืออุษณีษะเป็นเปลวเพลิง ส่วนพระอังสาค่อนข้างใหญ่ พระอุระนูน พระพุทธรูปปางลีลา 4 องค์ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี ส่วนปลายแยกออกเป็นเขี้ยวตะขาบ ส่วนพระพาหาและพระกรทอดลงมาเป็นเส้นโค้งจากพระอังสา จะยาวจรดลงมาที่พระชงฆ์ ส่วนพระพุทธรูปปางประทานอภัยสองพระหัตถ์ครองจีวรห่มคลุม.

       กล่าวโดยสรุปได้ว่า นอกจากจารึกคำปู่สบถ และจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด ที่มีเนื้อหาอันแสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านและสุโขทัยดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าเมืองน่านและสุโขทัยยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตลอดมา ทั้งในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การช่วยเหลือเกื้อกูลกันยามเมื่อเกิดศึกสงคราม ในด้านหลักฐานงานศิลปกรรมที่ปรากฏก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัย ที่มีต่อการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในเมืองน่านด้วยเช่นกัน อันได้แก่ เจดีย์ช้างล้อม วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดสวนตาล และพระพุทธรูป 5 พระองค์ ที่สร้างโดยพระยาสารผาสุมเจ้าเมืองน่าน.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. Facebook เพจ "์Nan National Museum - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน," วันที่เข้าถึง 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งได้อ้างรวมไว้ดังนี้:
       เอกสารอ้างอิง/ภาพประกอบ
       - สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2537.
       - สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน. พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำ. 2557.
       - สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. สังเขปประวัติศาสตร์และโบราณคดีจังหวัดน่าน ฉบับคู่มือ อส.มศ. ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
       - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกเขาสุมนกูฎ. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/201
       - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกคำปู่สบถ. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/225
       - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/107
       - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกพ่อขุนรามคำแหง. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/47
       - อริย์ธัช นกงาม. “ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับสุโขทัยและล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-22 จากหลักฐานทางโบราณคดี”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2561.




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง, ภาพจากหนังสือ AN ASIAN ARCADY (The land and People of Northern Siam.) Reginald Le May หน้าที่ 86 เป็นภาพที่มีคำอธิบายว่า “พระเจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง ใกล้เมืองน่าน”เป็นภาพพระเจดีย์หรือพระธาตุวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน, ที่มา: cmhop.finearts.cmu.ac.th, วันที่เข้าถึง 17 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 02
: ภาพเก่า, ที่มา: Facebook เพจ "เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น," ผ่านผู้ใช้นามว่า "Sudhisak Palpho", วันที่เข้าถึง 10 สิงหาคม 2563.
 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com