MENU
TH EN

CM-006. วัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด

Thumbnail Image และ Hero Image จาก Facebook เพจ "ประวัติศาสตร์น่ารู้," วันที่เข้าถึง 13 พฤศจิกายน 2562
CM-006. วัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด
First revision: Nov.12, 2019
Last change: Sep.26, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       มหาราชติลก หรือพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1998 พระเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เลียนแบบมหาโพธิวิหาร ประเทศอินเดีย

       ต่อมาในปี พ.ศ.2020 วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นสถานที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดหักพังไปเกือบหมด

 
ภาพถ่ายสมัยที่ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ เมื่อปี พ.ศ.2472, เครดิต คุณพงศธร (หง่าว) ที่ได้แบ่งปันรูปจากสมุดภาพเก่า, ที่มา: Facebook เพจ "บันทึกสยาม," วันที่เข้าถึง 26 สิงหาคม 2564.

อัฏฐมหาสังคายนาพระไตรปิฎก
       ผลของความขัดแย้งระหว่างพระภิกษุทั้งสองฝ่าย (วัดสวนดอก-นิกายรามัญวงศ์ กับ วัดป่าแดง นิกายลังกาวงศ์ใหม่ หรือนิกายสิงหล รายละเอียดดูใน ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย ที่ 4 วัดป่าแดงมหาวิหาร) ส่งผลให้ต่างฝ่ายเกิดการแข่งขันในการศึกษาพระธรรมคัมภีร์ให้ถ่องแท้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องมิให้อีกฝ่ายหนึ่งหาจุดอ่อนเอามาโจมตีได้ นำมาซึ่งการสังคายนาพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม หรือเป็นครั้งที่ 8 ของโลกพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เรียกว่า อัฏฐมหาสังคายนา โดยใช้สถานที่ของวัดมหาโพธารามเป็นที่ชุมนุมในปี พ.ศ. 2020.
       เกี่ยวกับวัดมหาโพธาราม พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1999 เพื่อใช้เป็นที่พำนักของพระอุตตมปัญญาเถร พระมหาเถระชาวลังกาที่เข้ามาเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับพระสงฆ์ชาวล้านนาที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ให้ไปศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป อาทิ พระญาณคัมภีร์ ในการกลับมาของคณะสงฆ์ครั้งนั้นได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาด้วยจากเมืองอนุราธปุระ จึงโปรดให้ปลูกไว้ที่วัดมหาโพธาราม หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดเจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกตัวเมืองเชียงใหม่ อันเป็นทิศสัญลักษณ์ที่ใช้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า เนื่องจากที่ตั้งของชมพูทวีปหรืออินเดียนั้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของล้านนา พระองค์ทรงรับสั่งให้ตกแต่งสร้างวัดมหาโพธารามให้เป็นดุจดังสถานที่เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า "สัตตมหาสถาน".
       สัตตมหาสถาน หมายถึงสถานที่ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ณ พุทธคยา แล้วได้เสด็จประทับ ณ สถานที่ต่าง ๆ รวม 7 แห่งเพื่อทรงเสวยวิมุติสุขแห่งละ 7 วัน รวม 49 วันหรือ 7 สัปดาห์ ประกอบด้วย
       สัปดาห์ที่ 1 โพธิบัลลังก์ สมเด็จพระสัพพัญญูทรงประทับนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์เข้าสู่สมาบัติเป็นเวลา 7 วัน
       สัปดาห์ที่ 2 อนิมิสเจดีย์ จากนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จยังทิศอีสาน ทรงประทับยืนและทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์ด้วยตาไม่กะพริบ หรือทรงถวายเนตร ด้วยการยืนประสานพระหัตถ์ที่พระอุระ
       สัปดาห์ที่ 3 รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงเสด็จกลับมาจากอนิมิสเจดีย์ มาหยุด ณ หว่างกลางแห่งพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ ทรงอธิษฐานเดินจงกรมตลอด 7 วัน ทางแห่งจงกรมนั้นประดับด้วยเพชรพลอย
       สัปดาห์ที่ 4 รัตนฆรเจดีย์ ทรงเสด็จไปยังทิศเหนือ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก 7 วันในเรือนแก้วอันประดับไปด้วยเพชรพลอย ซึ่งเทวดาบันดาลถวาย
       สัปดาห์ที่ 5 อชปาลนิโครธ หรือ ต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะ โดยเสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติอยู่ใต้ร่มไทรที่เด็กเลี้ยงแพะหลบพักร้อน ณ ทิศอาคเนย์ หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงนี้มีธิดามารสามตนมาผจญพระพุทธเจ้า
สัปดาห์ที่ 6 มุจลินท์ หรือ ราชาแห่งต้นมุจละ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติใต้ต้นจิก ในขณะนั้นเกิดฝนหลงฤดู พญานาคมุจลินท์จึงได้ใช้พังพานของตนปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนตลอด 7 วัน
       สัปดาห์ที่ 7 ราชายตนะ หรือที่อยู่แห่งพระราชา โดยพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นเกด ราชายตนะ ทรงรับผลสมอ บาตร ข้าวสัตตู
การทำสังคายนาพระธรรมวินัย ณ วัดมหาโพธาราม พระเจ้าติโลกราชมอบหมายให้พระธรรมทินเถระ สายลังกาวงศ์ใหม่เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยอาราธนาพระเถรานุเถระที่แตกฉานในพระไตรปิฏกประมาณร้อยกว่ารูป จากทั่วทั้งอาณาจักรล้านนาและใกล้เคียง มาชุมนุมกันเพื่อร่วมกระทำการสังคายนา โดยรวบรวม ตรวจสอบ ชำระภาษาและอักขระในพระไตรปิฎกให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามพระธรรมวินัยดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ การทำอัฏฐมหาสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ ตลอดช่วงระยะเวลานั้นพระเจ้าติโลกราชทรงรับเป็นมหาอุบาสกอุปภัมภก ทรงสร้างพระมณฑปสำหรับใช้กระทำการสังคายนา จัดหาจตุปัจจัยถวายอุปัฏฐากแก่พระสังฆเจ้าตลอดห้วงระยะเวลา 1 ปี.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ และล้านนา," โดยผู้ใช้นามว่า Khamchompu Chaloem, วันที่เข้าถึง 26 กันยายน 2564.



 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com