MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 2

First revision: Aug.16, 2015
Last change: Dec.22, 2019
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 2

คณะราชทูตไทยนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (เมื่อครั้งเป็น "ออกพระวิสุทธสุนทร" ราชทูต) เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2229 (ค.ศ.1686) ต้นฉบับของภาพ "Nicolas III de Larmessin" - Siamese Embassy To Louis XIV, in 1686.
 
  • พัฒนาการของกรุงศรีอยุธยา
        เท่าที่ผ่านมาตามประวัติศาสตร์ คนไทยที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เคยขาดแคลนอาหาร ธรรมชาติเรือกสวนไร่นา มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวนาปลูกข้าวเพื่อบริโภคและจัดแบ่งเป็นภาษี ผลผลิตส่วนที่เหลือก็นำมาใช้สนับสนุนค้ำจุนพระศาสนา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่คริสตศวรรษที่ 13 ถึง 15 มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในการปลูกข้าวของชาวสยาม บนที่สูงซึ่งมีปริมาณฝนไม่เพียงพอ ต้องได้รับน้ำเพิ่มจากระบบชลประทานที่ควบคุมระดับน้ำในที่นาน้ำท่วม ชาวนาหว่านเมล็ดข้าวเหนียวซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักในภาคเหนือและภาคอิสานปัจจุบัน แต่ในที่ราบน้ำท่วมถึง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชาวนาหันมาปลูกข้าวหลายชนิด ที่เรียกว่า ข้าวขึ้นน้ำ หรือข้าวนาเมือง (Floating rice) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ยาวเรียว ไม่เหนียวที่รับมาจากเบงกอล จะเติบโตอย่างรวดเร็วทันพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในที่ลุ่ม.

        ข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้เติบโตได้ง่าย ผลผลิต (Yield) สูง ทำให้ผลผลิตส่วนเกินนำไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ในราคาถูก ดังนั้นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้สุดของที่ราบน้ำท่วมถึง จึงกลายเป็นศูนย์กลางธุรกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับของ "เจ้าศักดินา" ได้มีการเกณฑ์แรงงานขุดลอกคลองให้สะดวกต่อการขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะข้าวโดยผ่านเรือหลวงและพ่อค้าวานิชส่งออกไปยังจีน.

        พัฒนาการดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงและความประจวบเหมาะทางธรรมชาติ ทำให้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา หาดโคลนระหว่างทะเลและดินแน่นซึ่งไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย ถูกถมและเตรียมดินสำหรับเพาะปลูก ตามประเพณี กษัตริย์หรือเจ้าศักดินา ผสมผสานกับเหล่าเจ้าลัทธิพราหมณ์ มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อประสาทพรในการปลูกข้าว.

        แม้ข้าวจะอุดมสมบูรณ์ในกรุงศรีอยุธยา แต่การส่งออกข้าวก็ถูกห้ามเป็นบางครั้งเมื่อเกิดทุพภิกขภัย เพราะภัยพิบัติธรรมชาติหรือสงคราม โดยปกติข้าว จะนำไปใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าฟุ่มเฟื่อยและอาวุธยุทธภัณฑ์จากชาวตะวันตก แต่การปลูกข้าวนั้นมีเพื่อการบริโภคภายในอาณาจักรเป็นหลัก และการส่งออกข้าวนั้น นโยบายของอาณาจักรก็ไม่มีความชัดเจนนัก การค้ากับชาวยุโรปมีความคึกคักในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งโดยแท้จริงแล้วพ่อค้ายุโรปต้องการขายสินค้าอาวุธสมัยใหม่ เช่น ปืนไรเฟิลและปืนใหญ่ เป็นหลัก. โดยนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากป่าในแผ่นดิน เช่น ไม้สะพาน หนังกวางและข้าว โทเม ปิเรส นักเดินเรือชาวโปรตุเกส กล่าวถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า กรุงศรีอยุธยานั้น  "อุดมไปด้วยสินค้าดี ๆ " พ่อค้าต่างชาติส่วนมากที่มายังกรุงศรีอยุธยาเป็นชาวยุโรปและชาวจีน และถูกทางการเก็บภาษี อาณาจักรกรุงศรีฯ มีข้าว เกลือ ปลาแห้ง เหล้าโรง (arrack) และพืชผักอยู่ดาษดื่น.

        การค้ากับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นชาวฮอลันด้าเป็นหลัก ถึงระดับสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กรุงศรีอยุธยากลายเป็นจุดหมายปลายทางหลัก สำหรับพ่อค้าจากจีนและญี่ปุ่น ชัดเจนว่า ชาวต่างชาติ เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการเมืองของอาณาจักรกรุงศรีฯ กษัตริย์กรุงศรีฯ ได้วางกำลังทหารรับจ้างต่างด้าว ซึ่งบางครั้งก็เข้าร่วมรบกับอริราชศัตรูในศึกสงคราม อย่างไรก็ดี หลังจากการกวาดล้างชาวฝรั่งเศสในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ค้าหลักของกรุงศรีอยุธยาเป็นชาวจีน ฮอลันดา จากบริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ ก็มีธุรกรรมการค้าอยู่เนื่อง ๆ ระบบเศรษฐกิจของอาณาจักรกรุงศรีฯ เริ่มถดถอยลงอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือปลาย ๆ สมัยพระเจ้าเอกทัศ.
  • มาตราเงินที่สำคัญในสมัยอยุธยา
        เบื้ย เป็น หน่วยเงินตรา เงินปลีกที่มีค่าน้อยที่สุดในระบบเงินตรา เป็นเปลือกหอยน้ำเค็มชนิดหอยเบี้ยที่มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นำมาใช้เป็นเงินตราเป็นหอยเบี้ยชนิด จั่น และ เบี้ยนาง มีมากบริเวณหมู่เกาะปะการังมัลดีฟ ทางตอนใต้ของเกาะศรีลังกา พ่อค้าชาวต่างประเทศเป็นผู้นำมาขายในอัตรา 600 ถึง 1,000 เบี้ยต่อเงินเฟื้องหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณเบี้ยที่มีอยู่.

        เมื้่อ เบี้ย เป็นหน่วยเงินตราที่มีค่าต่ำสุด เบี้ยจึงเป็นเงินตราในระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนสามารถมี และเป็นเจ้าจองได้ คำว่า "เบี้ย" จึงปรากฎเป็นสำนวนในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก และต่างมีความหมายว่าเป็นเงินตราทั้งสิ้น เมื่อเบี้ยเป็นเงินสามัญที่ทุกคนรู้จักและมีได้ กฎหมายจึงกำหนดการ ปรับปรับจากผู้ที่ทำผิด เบี้ยจึงเป็นชนิดของเงินตราที่สำคัญ จำเป็นต้องใช้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองที่พึ่งเงินตราชนิดราคาสูง ๆ น้อยมาก แต่เบี้ยที่เป็นเปลือกหอย เป็นสิ่งที่ไม่ทนทาน มักแตกหักกะเทาะเสียหายได้ง่าย ความต้องการหอยเบี้ยจึงมีอยู่เสมอ ดังนั้นในบางครั้งที่ไม่มีพ่อค้านำหอยเบี้ยเข้ามาขาย จนเกิดขาดแคลนเบี้ยขึ้น ทางการจึงต้องจัดทำเงินตราชั่วคราวขึ้นใช้แทน โดยทำด้วยดินเผามีขนาดเล็ก ตีตรารูปกินรี ราชสีห์ ไก่ และกระต่ายขึ้น ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.2276-2301) เรียกว่า "ประกับ".

        พดด้วง เป็นเงินตราที่มีค่าสูง ทำจากโลหะเงิน ซึ่งได้มาจากการค้าต่างประเทศ บางตามมาตรน้ำหนักของไทย ที่มีมูลค่าเหมาะสมแก่มาตรฐานการครองชีพในแต่ละรัชกาล ได้แก่ ตำลึง บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และไพ สำหรับชนิดหนักตำลึงนั้น เนื่องจากมีมูลค่าสูงเกินไป ส่วนชนิดราคากึ่งบาทนั้น มีมูลค่าไม่เหมาะสมแก่การครองชีพ ไม่สะดวกกับการใช้ จึงผลิตขึ้นน้อยมาก และมีเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น.

 
                 

        การผลิตเงินพดด้วง เป็นการดำเนินของทางราชการของอาณาจักรฯ ทั้งหมด นับตั้งแต่ชั่งน้ำหนักเศษเงิน ตัดแบ่ง นำไปหลอม เป็นรูปทรงกลมยาวเหมือนลูกสมอจีน แล้วจึงทุบปลายทั้งสองข้างเข้าหากัน  ใช้สิ่วบาก ที่ขาทั้งสองข้าง เพื่อให้เห็นเนื้อภายใน ซึ่งต่อมารอยบากนี้ค่อย ๆ เล็กลงจนหายไป แต่เกิดรอยที่เรียกว่า รอยเม็ดข้าวสารขึ้นมาแทน และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้น โดยยอมรับเงินพดด้วงว่าเป็น 'เงินตรา" ในหมู่ประชาชน ทั้งเป็นการแสดงถึงความถูกต้องของน้ำหนักและอำนาจหน้าที่ในการผลิตเงินตรา จึงมีการประทับตราของทางการลงบนพดด้วงทุกเม็ดมาตั้งแต่เริ่มแรก.

        พดด้วงชนิดหนักหนึ่งบาทในสมัยอยุธยานั้น ประทับตราสองดวง ด้านบนเป็นตราจักรสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ ใช้แทนองค์พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นสมมติเทพของพระนารายณ์ ส่วนด้านหน้าประทับตรารัชกาลที่ผลิตเงินพดด้วงขึ้น เท่าที่พบนั้นปรากฎว่ามีตราทั้งสอง ประมาณ 20 แบบ น้อยกว่ากษัตริย์ที่ครองกรุงศรีฯ ซึ่งมีถึง 33 พระองค์มาก เนื่องจากหลายรัชกาลที่ครองราชสมบัติในระยะสั้น ๆ หรือมีพระชันษาน้อย ยังไม่ทันดำริให้ผลิตเงินตรา ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน นอกจากนี้ยังมีเพียงตราพุ่มข้าวบิณฑ์เพียงตราเดียวที่ทราบจากบันทึกของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loube're) ผู้เข้ามากับคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ว่า เป็นตราในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231).


 

Simon De La Loube're, (21 เมษายน พ.ศ.2185 - 26 มีนาคม พ.ศ.2272)

        พดด้วงชนิดอื่น ๆ นิยมตีตราเพียงตราเดียว ได้แก่ ตราสังข์ ช้าง สังข์กระหนก ที่ออกแบบให้ต่างกัน ออกไปในแต่ละรัชกาล นอกจากนี้ยังมีการผลิตพดด้วงทองคำขึ้นใช้บ้าง ในรัชกาลที่มีการค้าเฟื่องฟูมาก แต่ก็เป็นพดด้วงขนาดเฟื้องเท่านั้น และโดยเหตุที่การค้าต่างประเทศผูกผันกับปริมาณเงินพดด้วง โดยตรงอย่างใกล้ชิด เมื่อการค้ารุ่งเรืองมีเงินแท่งเข้ามามาก ทางการก็ผลิตเงินพดด้วงจำนวนมากขึ้นด้วย เพื่อใช้ซื้อสินค้าส่งไปขายต่างประเทศ ปริมาณเงินพดด้วงที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจึงมีมาก ในทางกลับกัน เมื่อการค้าต่างประเทศซบเซาลง ปริมาณเงินพดด้วงในระบบเศรษฐกิจก็ลดตามไปด้วย ด้วยความเกี่ยวพันกันนี้เอง ปริมาณเงินพดด้วงที่มีตราประจำรัชกาลเดียวกันจะมีจำนวนมากหรือน้อย นอกจากจะบอกให้ทราบถึงความสั้นหรือยาวนานในการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของระบบเศรษฐกิจในแต่ละยุคแต่ละรัชกาล ได้เป็นอย่างดี.

        นอกจากนี้การที่ในสมัยอยุธยามีพดด้วงขนาดตั้งแต่น้ำหนักสลึงลงไปเป็นจำนวนมากที่สุด ในขณะที่พดด้วงขนาดกึ่งบาทและขนาดตำลึงมีการผลิตขึ้นใช้เฉพาะสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น และหลังจากนั้นแล้ว ไม่มีการผลิตขึ้นอีก ก็ย่อมแสดงให้เราทราบถึงระดับค่าครองชีพ ตลอดจนฐานะของผู้คนที่อยู่ในระบบไพร่ ตลอดสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี.

       
ระบบมาตราเงินที่สำคัญในสมัยอยุธยา
  • 1 ชั่ง เท่ากับ 20 ตำลึง
  • 1 ตำลึง เท่ากับ 4 บาท
  • 1 บาท เท่ากับ 4 สลึง
  • 2 สลึง เท่ากับ 1 เฟื้อง
  • 1 เฟื้อง เท่ากับ 4 ไพ
  • 1 ไพ เท่ากับ 100 เบี้ย
  • 2 กล่ำ เท่ากับ 1 ไพ
  • พัฒนาการทางสังคมและการเมือง
        นับตั้งแต่การปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์ได้อยู่ ณ ศูนย์กลางแห่งลำดับชั้นทางสังคมชั้นสูง ซึ่งแผ่ไปทั่วอาณาจักรกรุงศรีฯ ด้วยขาดหลักฐานจึงเชื่อกันว่า หน่วยพื้นฐานของการจัดระเบียบสังคมในอาณาจักรกรุงศรีฯ คือ ชุมชนหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยครัวเรือนครอบครัวขยาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่กับผู้นำ ที่ถือไว้ในนามของชุมชน แม้ชาวนาเจ้าของทรัพย์สินจะพอใจการใช้ที่ดินเฉพาะที่ใช้เพาะปลูกเท่านั้น ผู้นำก็ค่อย ๆ กลายเป็น ขุนนาง ๆ ก็ค่อย ๆ กลายเป็นข้าราชสำนัก (หรืออำมาตย์) และผู้ปกครองบรรณาการ (Tributary ruler) ในเมืองที่สำคัญรองลงมา. ท้ายที่สุด กษัตริย์ก็รับเอาวัฒนธรรมฮินดูมาปรับใช้กับวิถีชีวิตและการปกครอง โดยยอมรับว่าตนเป็นพระศิวะ (Siva) หรือไม่ก็พระนารายณ์ (พระวิษณุ) ลงมาจุติบนโลกมนุษย์ และกลายมาเป็นสิ่งมงคลแก่พิธีปฏิบัติในทางการเมือง-ศาสนา ที่มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในราชสำนัก ในบริบทของพระพุทธศาสนาแนวมหายาน เทวราชาเป็นพระโพธิสัตว์ ความเชื่อในเทวราชย์ (Divine Kingship) คงอยู่ถึงพุทธศตวรรษที่ 23 แม้ถึงขณะนั้น นัยทางศาสนาของฮินดูนั้น จะมีผลกระทบที่จำกัดก็ตาม.
 
พระบรมรูปสมเด็ตพระบรมไตรโลกนาถ (สมภพ พ.ศ.1974, ครองราชย์ พ.ศ.1991, สวรรคต พ.ศ.2031),
ณ หน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า

 
         เมื่ออาณาจักรกรุงศรีฯ มีที่ดินสำรองเพียงพอสำหรับการกสิกรรม อาณาจักรกรุงศรีฯ จึงอาศัยการได้มาและการควบคุมกำลังคนอย่างเพียงพอ เพื่อใช้เป็นผู้ใช้แรงงานในไร่นาและการป้องกันประเทศ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอาณาจักรกรุงศรีฯ นั้น นำมาซึ่งการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากไม่มีแว่นแคว้นใดในภูมิภาคมีความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี ผลแห่งการรบ จึงมักตัดสินด้วยขนาดของกองทัพ หลังจากที่กองทัพอาณาจักรกรุงศรีฯ ได้ชัยชนะในแต่ละครั้ง อาณาจักรกรุงศรีฯ ได้กวาดต้อนผู้คนที่ถูกพิชิต กลับมายังอาณาจักรกรุงศรีฯ ส่วนหนึ่ง ที่ซึ่งพวกเขาจะถูกกลืนและเพิ่มเข้าไปในกำลังแรงงาน. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.2034-2072) ได้สถาปนาระบบกอร์เว (Corve'e)2 แบบไทยขึ้น ซึ่งเสรีชน (คนไทยที่ทำมาหากินการค้า เกษตรกรรมทั่วไป) จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นข้า (หรือ ไพร่) กับเจ้านายท้องถิ่น เป็นการใช้แรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ไพร่ชายต้องถูกเกณฑ์ในยามเกิดศึกสงคราม เหนือกว่าไพร่คือ นาย ผู้รับผิดชอบต่อราชการทหาร แรงงานกอร์เวในการโยธาสาธารณะ และบนที่ดินของข้าราชการที่ไพร่สังกัด ไพร่ส่วย จ่ายภาษีแทนการใช้แรงงาน หากไพร่ ชิงชังต่อการใช้แรงงานแบบบังคับภายใต้นาย ไพร่ก็สามารถขายตัว เป็นทาสแก่นายหรือเจ้าที่น่าดึงดูดกว่า ผู้ที่จะจ่ายค่าตอบแทนแก่การสูญเสียแรงงานกอร์เว จนถึงคริสตศตวรรษที่ 19 กำลังคนกว่าหนึ่งในสามเป็นไพร่.
 
         ระบบไพร่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากเมื่อเทียบกับสมัยสุโขทัย โดยกำหนดให้ชายทุกคนที่สูงตังแต่ 1.25 เมตรขึ้นไปต้องลงทะเบียนไพร่ ระบบไพร่มีความสำคัญต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพราะหากเจ้านายหรือขุนนางเบียดบังไพร่ไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของราชบัลลังก์ ตลอดจนส่งผลให้กำลังในการป้องกันอาณาจักรอ่อนแอ ไม่เป็นปึกแผ่น นอกจากนี้ ระบบไพร่ยังเป็นการเกณฑ์แรงงานเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานชีวิตและความมั่นคงของอาณาจักร.
 
        ความมั่งคั่ง สถานภาพ และอิทธิพลทางการเมืองสัมพันธ์ร่วมกัน พระมหากษัตริย์ทรงแบ่งสรรไร่นาให้แก่ข้าราชสำนัก อำมาตย์ เจ้าเมืองชั้นในชั้นนอกต่าง ๆ นายทหาร ขุนศึกต่าง ๆ เป็นการตอบแทนความดีความชอบที่มีต่อพระองค์ ตามระบอบศักดินา ขนาดของการแบ่งสรรแก่ข้าราชบริพาร อำมาตย์แต่ละคนนั้นตัดสินจากจำนวนไพร่หรือสามัญชนที่เขาสามารถบัญชาให้ทำงานได้ จำนวนกำลังคนที่ผู้นำหรืออำมาตย์สามารถบัญชาได้นั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพของอำมาตย์แต่ละคน ลำดับขั้นต่าง ๆ และความมั่งคั่งของอำมาตย์ ที่ยอดของลำดับขั้น กษัตริย์เป็นเสมือนผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักร โดยหลักการแล้วกษัตริย์บัญชาปกครองไพร่จำนวนมากที่สุด เรียกว่า ไพร่หลวง มีหน้าที่จ่ายภาษี รับราชการในกองทัพ และทำงานบนที่ดินของกษัตริย์.
 
        อย่างไรก็ดี การเกณฑ์กองทัพขึ้นอยู่กับมูลนาย ที่บังคับบัญชาไพร่สมของตนเอง มูลนายเหล่านี้จำต้องส่งไพร่สมให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกษัตริย์ในยามศึกสงคราม ฉะนั้นมูลนายจึงเป็นบุคคลสำคัญในการเมืองของอยุธยา มีมูลนายอย่างน้อยสองคนก่อรัฐประหารยึดราชบัลลังก์มาเป็นของตน ขณะที่การสู้รบนองเลือดระหว่างกษัตริย์กับมูลนายหลังจากการกวาดล้างข้าราชสำนัก พบเห็นได้บ่อยครั้ง.
 
        สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงกำหนดการแบ่งสรรที่ดินและไพร่ที่แน่นอนให้แก่ข้าราชการในแต่ละขั้น ลำดับชั้นการบังคับบัญชา ซึ่งกำหนดโครงสร้างสังคมของประเทศ กระทั่งมีการนำระบบเงินเดือนมาใช้แก่ข้าราชการในสมัยรัตนโกสินทร์.
 
        พระสงฆ์อยู่นอกระบบนี้ ซึ่งชายไทยทุกชนชั้นสามารถเข้าสู่ชนชั้นนี้ได้ รวมถึงชาวจีนด้วย วัดได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรม ระหว่างช่วงนี้ ชาวจีนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา และไม่นานก็เริ่มควบคุมชีวิตเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นสั่งสมเป็นปัญหาอีกประการหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา.
 
        พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้รวบรวมธรรมศาสตร์ (Dharmashastra) ประมวลกฎหมายที่อิงที่มาในภาษาฮินดูและธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ธรรมศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือสำหรับกฎหมายไทยกระทั่งปลายคริสตศตวรรษที่ 19 มีการนำระบบข้าราชการประจำที่อิงลำดับชั้นบังคับบัญชาของข้าราชการที่มีชั้นยศและบรรดาศักดิ์มาใช้ และมีการจัดระเบียบสังคมในแบบที่สอดคล้องกัน แต่ไม่มีการนำระบบวรรณะในศาสนาฮินดูมาใช้.

         หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พระนเรศ) ทรงประกาศอิสรภาพจากราชวงศ์ตองอู (Taungoo Dynasty) พระองค์ทรงจัดการรวบรวมการปกครองประเทศอยู่ใต้ราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยาโดยตรง เพื่อป้องกันมิให้ซ้ำรอยพระราชบิดา ที่แปรพักตร์เข้ากับฝ่ายราชวงศ์ตองอู เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง พระองค์ทรงยุติการเสนอชื่อเจ้านายไปปกครองหัวเมืองของราชอาณาจักร แต่แต่งตั้งข้าราชสำนักที่คาดว่าจะดำเนินนโยบายที่พระมหากษัตริย์ส่งไป ฉะนั้น เจ้านายทั้งหลายจึงถูกจำกัดอยู่ในพระนคร การช่วงชิงอำนาจยังคงมีต่อไป แต่อยู่ในสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์.

        เพื่อประกันการควบคุมของพระองค์เหนือชนชั้นเจ้าเมืองใหม่นั้น พระนเรศมีกฤษฎีกาให้เสรีชนทุกคนที่อยู่ในระบบไพร่มาเป็นไพร่หลวง ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งจะเป็นผู้แจกจ่ายการใช้งานแก่ข้าราชการ วิธีการนี้ในทางทฤษฎี ทำให้กษัตริย์ผูกขาดแรงงานได้ทั้งหมดเบ็ดเสร็จ กษัตริย์ได้ครอบครองที่ดินทั้งหมดด้วย ตำแหน่งเสนาบดี และเจ้าเมือง และศักดินาที่ติดอยู่กับตำแหน่ง โดยปกติเป็นตำแหน่งที่ตกทอดถึงทายาทในไม่กี่ตระกูลที่มักมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์โดยการแต่งงานระหว่างกัน ข้ามไขว้ตระกูล อันที่จริงกษัตริย์ไทยได้ใช้การแต่งงานบ่อยครั้ง เพื่อเชื่อมไมตรีระหว่างกษัตริย์กับตระกูลต่าง ๆ ที่มีอำนาจ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ผลของนโยบายนี้ ทำให้เจ้าจอมของกษัตริย์มักมีหลายสิบองค์.

        หากแม้จะมีการปฏิรูปโดยสมเด็จพระนเรศก็ตาม ประสิทธิภาพของรัฐในอีก 150 ปีต่อมาก็ยังขาดเสถียรภาพ พระราชอำนาจนอกที่ดินของกษัตริย์ แม้จะมีความเด็ดขาดในทางทฤษฎี และในทางปฏิบัติจะถูกจำกัดโดยความหละหลวมของการปกครองพลเรือน อิทธิพลของศูนย์กลางรัฐและกษัตริย์อยู่ไม่เกินพระนคร เมื่อเกิดสงครามกับพม่า หัวเมืองต่าง ๆ ทิ้งพระนครอย่างง่ายดาย เนื่องจากกำลังที่บังคับใช้ไม่สามารถเกณฑ์มาป้องกันพระนครได้โดยง่าย กรุงศรีอยุธยาจึงไม่อาจต้านทานผู้รุกรานได้.
 
  • ประชากรศาสตร์
        กลุ่มชาติพันธุ์    
        ในช่วงปลายพุทธศตรวรรษที่ 20 อาณาจักรอยุธยามีประชากรประมาณ 1,900,000 คน ซึ่งนับชายหญิงและเด็กอย่างครบถ้วน แต่ลาลูแบร์กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากมีผู้หนีการเสียภาษีอากรไปอยู่ตามป่าตามดงอีกมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือไทยสยาม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได ซึ่งบรรพบุรุษของไทยสยาม ปรากฎหลักแหล่งของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะไดเก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 3,000 ปี ซึ่งมีหลักแหล่งแถบกวางสี คาบเกี่ยวไปถึงกวางตุ้งและแถบลุ่มแม่น้ำดำ-แดงในเวียดนามตอนบน ซึ่งกลุ่มชนนี้มีความเคลื่อนไหวไปมากับดินแดนไทยในปัจจุบันทั้งทางบกและทางทะเลและมีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างไม่ขาดสาย. ในยุคอาณาจักรทวารวดีในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงหลังปี พ.ศ.1100 ก็มีประชากรตระกูลไทย-ลาว เป็นประชากรพื้นฐานรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มชนอพยพลงมาจากบริเวณสองฝั่งโขงลงทางลุ่มน้ำน่านแล้วลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก แถบสุพรรณบุรี ราชบุรี ถึงเพชรบุรีและเกี่ยวข้องไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในส่วนนี้ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเกี่ยวกับชาวสยามว่า ชาวลาวกับชาวสยามเกือบจะเป็นชนชาติเดียวกัน.
        เอกสารจีนที่บันทึกโดยหม่าฮวนได้กล่าวไว้ว่า ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาพูดจาด้วยภาษาอย่างเดียวกับกลุ่มชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน คือ พวกที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้งกับกวางสี และด้วยความที่ดินแดนแถบอุษาคเนย์เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายตั้งหลักแหล่งอยู่ปะปนกัน จึงเกิดการประสมประสานทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษาจนไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน และด้วยการผลักดันของรัฐละโว้ ทำให้เกิดรัฐอโยธยาศรีรามเทพนคร ภายหลังปี พ.ศ.1700 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมหลายอย่าง.
 

ภาพชาวสยามจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ พ.ศ.2236

 
        ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ได้อพยพเข้ามาพึงพระบรมโพธิสมภาร เชลยที่ถูกกวาดต้อน ตลอดจนถึงชาวเอเชียและชาวตะวันตกที่เข้ามาเพื่อค้าขาย ในกฎมณเฑียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ได้เรียกชื่อชนพื้นเมืองต่าง ๆ ได้แก่ "แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสงจีนจามชวา..." ซึ่งมีการเรียกชนพื้นเมืองที่อาศัยปะปนกันโดยไม่จำแนกว่า ชาวสยาม ในจำนวนนี้มีชาวมอญอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช(พระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มหาราช)), สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากชาวมอญไม่สามารถทนการบีบคั้นจากการปกครองของพม่าในช่วงราชวงศ์ตองอู จนในปี พ.ศ.2295 พม่าได้ปราบชาวมอญอย่างรุนแรง จึงมีการลี้ภัยเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก โดยชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ เช่น บ้านขมิ้นริมวัดขุนแสน ตำบลบ้านหลังวัดนก ตำบลสามโคก และวัดท่าหอย ชาวเขมรอยู่วัดค้างคาว ชาวพม่าอยู่วัดมณเฑียร ส่วนชาวตังเกี๋ยและชาวโคชินไชน่า (ญวน) ก็มีหมู่บ้านเช่นกัน เรียกว่าหมู่บ้านโคชินไชน่า นอกจากนี้ชาวลาวก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระราเมศวรครองราชย์ครั้งที่สอง ได้กวาดต้อนครัวลาวเชียงใหม่ส่งไปยัง จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และจันทบุรี และในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงยกทัพไปตีล้านนาในปี พ.ศ.2204 ได้เมืองลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงแสน และได้กวาดต้อนมาจำนวนหนึ่ง เป็นต้น โดยเหตุผลที่กวาดต้อนเข้ามา ก็เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร และนอกจากกลุ่มประชาชนแล้ว กลุ่มเชื้อพระวงศ์ที่เป็นเชลยสงครามและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีทั้งเชื้อพระวงศ์ลาว เชื้อพระวงศ์เชียงใหม่ (Chiamay) เชื้อพระวงศ์พะโค (Banca) และเชื้อพระวงศ์กัมพูชา.
 
        นอกจากชุมชนชาวเอเชียที่ถูกกวาดต้อนมาแล้ว ก็ยังมีชุมชนของกลุ่มผู้ค้าขายและผู้เผยแพร่ศาสนาทั้งชาวเอเชียจากส่วนอื่นและชาวตะวันตก เช่น ชุมชนชาวฝรั่งเศสที่บ้านปลาเห็ด ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะอยุธยาใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งภายหลังบ้านปลาเห็ดได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเซนต์โยเซฟ หมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ริมแม่น้ำระหว่างหมู่บ้านชาวมอญและโรงกลั่นสุราของชาวจีน ถัดไปเป็นชุมชนชาวฮอลันดา ทางใต้ของชุมชนฮอลันดา เป็นถิ่นพำนักของชาวอังกฤษ มลายู และมอญจากพะโค นอกจากนี้ก็ยังมีชุมชนของชาวอาหรับ เปอร์เซีย และกลิงก์ (คนจากแคว้นกลิงคราษฎร์ จากอินเดีย) ส่วนชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งอยู่ตรงข้ามชุมชนญี่ปุ่น ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่มักสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวสยาม จีน และมอญ ส่วนชุมชนชาวจาม มีหลักแหล่งแถบคลองตะเคียนทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเรียกว่า ปทาคูจาม มีบทบาทสำคัญด้านการค้าทางทะเล และตำแหน่งในกองทัพเรือ เรียกว่า อาษาจาม และเรียกตำแหน่งหัวหน้าส่า พระราชวังสัน.
 
โขนต้องเจรจาด้วยเสียงเหน่อ ซึ่งถือเป็นสำเนียงหลวงเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา

        ภาษา
        สำเนียงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยามีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำยมที่เมืองสุโขทัยลงมาทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในแถบสุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ซึ่งสำเนียงดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง โดยเฉพาะสำเนียงเหน่อของสุพรรณบุรีมีความใกล้เคียงกับสำเนียงหลวงพระบาง ซึ่งสำเนียงเหน่อดังกล่าวเป็นสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาทั้งพระเจ้าแผ่นดินจนถึงไพร่ฟ้าราษฎรก็ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นขนบอยู่ในการละเล่นโขนที่ต้องใช้สำเนียงเหน่อ โดยหากเปรียบเทียบกับสำเนียงกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้ ที่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสำเนียงบ้านนอกถิ่นเล็ก ๆ ของราชธานีที่แปร่งและเยื้องจากสำเนียงมาตรฐานของกรุงศรีอยุธยาและถือว่าผิดขนบ.

        ภาษาดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาปรากฎอยู่ในโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นร้อยกรองที่เต็มไปด้วยฉันทลักษณ์ที่แพร่หลายแถบแว่นแคว้นสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง มาแต่ดึกดำบรรพ์ และภายหลังได้พากันเรียกว่า โคลงมณฑกคติ เนื่องจากเข้าใจว่าได้รับแบบแผนมาจากอินเดีย ซึ่งแท้จริงคือโคลงลาว หรือ โคลงห้า ที่เป็นต้นแบบของโคลงดั้น และโคลงสี่สุภาพ โดยในโองการแช่งน้ำเต็มไปด้วยศัพท์แสงพื้นเมืองของไทย-ลาว ส่วนคำที่มาจากบาลี-สันสกฤต และเขมรอยู่น้อย โดยหากอ่านเปรียบเทียบก็จะพบว่าสำนวนภาษาใกล้เคียงกับข้อความในจารึกสมัยสุโขทัย และพงศาวดารล้านช้าง.

        ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ใกล้ทะเลและเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ทำให้สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต่างกับบ้านเมืองแถบสองฝั่งโขงที่ห่างทะเล อันเป็นเหตุที่ทำให้มีลักษณะที่ล้าหลังกว่า จึงสืบทอดสำเนียงและระบบความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ได้เกือบทั้งหมด ส่วนภาษาในกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับอิทธิพลของภาษาจากต่างประเทศ จึงรับคำในภาษาต่าง ๆ มาใช้ เช่นคำว่า กุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ บ้างก็เรียกกุลฮับ ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้ และยืมคำว่า ปาดรี (Padre) จากภาษาโปรตุเกส แล้วออกเสียงเรียกเป็น บาทหลวง เป็นต้น.
 
  • ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแล้วก็จะได้เครื่องราชบรรณาการกลับมาเป็นมูลค่าสองเท่า ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง จึงมักจะมีขุนนางและพ่อค้าเดินทางไปพร้อมกับการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายด้วย.อาณาจักรอยุธยามักส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนเป็นประจำทุกสามปี เครื่องบรรณาการนี้เรียกว่า "จิ้มก้อง" นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการส่งเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวแฝงจุดประสงค์ทางธุรกิจไว้ด้วย คือ เมื่ออาณาจักรอยุธยา         
 
ป้อมของโปรตุเกสที่เมืองมะละกา ช่วง พ.ศ. 2173 (ค.ศ.1630)
 
        พ.ศ.2054 ทันทีหลังจากที่โปรตุเกสยึดครองมะละกา โปรตุเกสได้ส่งผู้แทนทางการทูต นำโดย ดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) มายังราชสำนักสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  (กษัตริย์องค์ที่ 10 ของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) หลังได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกสและราชอาณาจักรอยุธยาแล้ว ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสก็ได้กลับประเทศแม่ไปพร้อมกับผู้แทนทางทูตของอยุธยา ซึ่งมีของกำนัลและพระราชสาสน์ถึงกษัตริย์ของโปรตุเกส (King of Portugal Manuel I) ด้วย ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสชุดนี้ อาจเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศก็เป็นได้ ห้าปีให้หลังการติดต่อครั้งแรก ทั้งสองได้บรรลุสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา สนธิสัญญาที่คล้ายกันใน พ.ศ.2135 ได้ให้พวกดัทช์มีฐานะเอกสิทธิ์ในการค้าข้าว.
 
        ชาวต่างชาติได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงมีทัศนะสากลนิยม (Cosmopolitan) และทรงตระหนักถึงอิทธิพลจากภายนอก ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับญี่ปุ่น บริษัทการค้าของดัทช์และอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงาน และมีการส่งคณะผู้แทนทางการทูตของอยุธยาไปยังกรุงปารีสและกรุงเฮก ด้วยการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ ราชสำนักอยุธยาได้ใช้ดัทช์คานอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชำนาญ ทำให้สามารถเลี่ยงมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป.
 

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน)
 
        อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ.2207 ดัทช์ใช้กำลังบังคับเพื่อให้ได้สนธิสัญญาที่ให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่น เดียวกับการเข้าถึงการค้าอย่างเสรี คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon)  (เจ้าพระยาวิชเยนทร์) 03 นักผจญภัยชาวกรีกผู้เข้ามาเป็นเสนาบดีต่างประเทศในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กราบทูลให้พระองค์หันไปพึ่งความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส วิศวกรฝรั่งเศสก่อสร้างป้อมค่ายแก่คนไทย และสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่ลพบุรี นอกเหนือจากนี้ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในการศึกษาและการแพทย์ ตลอดจนนำแท่นพิมพ์เครื่องแรกเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ทรงสนพระราชหฤทัยในรางานจากมิชชันนารีที่เสนอว่า สมเด็จพระนารายณ์อาจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้.
 
        อาณาจักรอยุธยามีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกในด้านการค้าขายและการเผยแพร่ศาสนา โดยชาวตะวันตกได้นำเอาวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาด้วย และลดระดับความสำคัญกับชาติตะวันตกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของอาณาจักรอยุธยา.

        อย่างไรก็ดี การเข้ามาของฝรั่งเศสกระตุ้นให้เกิดความแค้นและความหวาดระแวงแก่หมู่ชนชั้นสูงของไทยและพระในศาสนาพุทธ ทั้งมีหลักฐานว่าคบคิดกับฝรั่งเศสจะยึดกรุงศรีอยุธยา เมื่อข่าวสมเด็จพระนารายณ์กำลังจะเสด็จสวรรคตแพร่ออกไป พระเพทราชา ผู้สำเร็จราชการ ก็ได้สังหารรัชทายาทที่ทรงแต่งตั้ง (พระปีย์ หรือ ออกพระปีย์ หรือ หม่อมปีย์ (เกิด:? - อสัญกรรม พ.ศ.2231) เป็นพระโอรสบุญธรรมของพระนารายณ์มหาราช) คริสเตียนคนหนึ่ง และสั่งประหารชีวิตฟอลคอน รวมทั้งมิชชันนารีอีกจำนวนหนึ่ง การมาถึงของเรือรบอังกฤษยิ่งยั่วยุให้เกิดการสังหารหมู่ชาวยุโรปมากขึ้นอีก พระเพทราชา เมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงขับชาวต่างชาติออกจากราชอาณาจักร รายงานการศึกษาบางส่วนระบุว่า อยุธยาเริ่มต้นสมัยแห่งการตีตัวออกห่างพ่อค้ายุโรป ขณะที่ต้อนรับวาณิชจีนมากขึ้น แต่ในการศึกษาปัจจุบันอื่น ๆ เสนอว่า สงครามและความขัดแย้งในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นเหตุให้พ่อค้ายุโรปลดกิจกรรมในทางตะวันออก อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ ยังทำธุรกิจกับอยุธยาอยู่ แม้จะประสบกับความยากลำบากทางการเมือง.


อยุธยา ศูนย์กลางการค้านานาชาติมีตลาดน้ำ-บก, ในเมือง-นอกเมือง, ย่านการผลิต04
อยุธยาไม่มีประวัติศาสตร์สังคม จึงไม่มีการค้านานาชาติ มีแต่สงครามกับเพื่อนบ้าน เมื่อไม่ศึกษาการค้านานาชาติ ก็อธิบายไม่ได้ว่าอยุธยาเติบโตมาอย่างไร? เพราะอะไร? แล้วมั่งคั่งจากไหนจึงสร้างวัดวาอารามใหญ่โต และแน่นขนัดทั้งในเกาะและนอกเกาะเมือง สุดท้ายไม่รู้จะทำยังไงเลยสรรเสริญส่ง ๆ ไปว่า "อยุธยายศยิ่งฟ้า" เพราะ "ลอยสวรรค์" ลงมาตั้งบนดิน อยุธยาศูนยืกลางนานาชาจิ ผม (สุจิตต์) เคยรวบรวมแล้วเรียบเรียงไว้ง่าย ๆ ในหนังสืออยุธยา ยศยิ่งฟ้า (พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2552) จะคัดมาแบ่งปันไว้ ต่อไปนี้


การค้านานาชาติ
อยุธยาเป็น "ศูนย์กลางการค้านานาชาติ" ที่พ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตกมาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้า ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ "ส่งผ่าน" สินค้าจากตะวันออกไปตะวันตก และจากตะวันตกไปตะวันออก พร้อมทั้งขาย "ของป่า" จากภูมิภาคอุษาคเนย์ให้จีนและฝรั่งด้วย. บรรยากาศความเป็น "ศูนย์กลางการค้านานาชาติ" ของกรุงศรีอยุธยามีอยู่ในกลอน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า

เป็นที่ปรากฎรจนา                           สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล                           จบสกลลูกค้าวาณิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา                  ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคนิต
ประชาราษฎร์ปราศจากจากภัยพิษ      ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์


ที่กลอนเพลงยาวบอกว่า "ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวาณิช" และ "ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาอยู่อัคนิต" เป็นพวกไหนบ้าง? เรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในกฎมณเฑียรบาลที่กล่าวถึงชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในพระนครศรีอยุธยาว่ามี "พิริยหมู่แขกขอมลาวพม่าเมงมอญ มสุมแสงจีนจามชวานานา ประเทษทังปวง" และยังมีร่องรอยอยู่ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ตอนหนึ่งว่า

"ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เปนมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพานิชสำเภาจีน แลลูกค้าแขกสลุปลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราช แลพวกลูกค้าแขกสุรัด แขกชวามลายู แขกเทศ ฝรั่งเสศ ฝรั่งโลสง โปรตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน อังกฤษ แลฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยา ตามที่ของตนซื้อแลเช่าต่าง ๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา" (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ตามรายชื่อในคำให้การฯ จะเห็นว่ามีพ่อค้า "นานาชาติ" เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาจริง ๆ คือ สำเภทจีน (เรือจีน) สลุปแขก (เรือแขก) กำปั่นฝรั่ง (เรือฝรั่ง) ประกอบด้วย พ่อค้าจากเมืองต่าง ๆ คือ แขกกุศราช (เมืองคุชราตในอินเดีย) แขกสุรัด (เมืองสุราษในอินเดีย) แขกชวา (เกาะชวา) มลายู (มลายู) แขกเทศ (ไม่รู้เป็นพวกไหน) ฝรั่งเสศ (ฝรั่งเศส) ฝรั่งโลสง (ไม่รู้ฝรั่งที่ไหน) โปรตุเกศ (โปรตุเกส) วิลันดา (ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์) อิศปันยอน (สเปน) อังกฤษ (อังกฤษ) ฝรั่งดำ (สงสัยเป็นพวกตะวันออกกลาง?) ฝรั่งเมืองลังกุนี (ไม่รู้ว่าเป็นพวกไหน) แขกเกาะ (คงเป็นพวกหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น "มักกะสัน")

 
กำปั่นฮอลันดาสลักบนแผ่นจารึกทองแดงที่ชาวดัตท์ในประเทศไทยร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ.2499 ประดับโบราณสถานที่ตั้งบ้านฮอลันดา จ.พระนครศรีอยุธยา.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:

01. จาก. th.wikipedia.org/wiki/อาณาจักรอยุธยา, วันที่สืบค้น 16 สิงหาคม 2558.
02. หมายถึง แรงงานเกณฑ์ (ฝรั่งเศส: Corve'e) เป็นแรงงานไม่เสรี มักไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่มีฐานะทางสังคมต่ำ และรัฐหรือผู้ที่เหนือกว่า (เช่น ชนชั้นสูงหรือขุนนาง) การเกณฑ์แรงงานเป็นการเก็บภาษีอากรรูปแบบเก่าแก่ที่สุดและแพร่หลายที่สุด แรงงานในระบบแรงงานเกณฑ์ ยังมีอิสระโดยสมบูรณ์ในหลายด้าน นอกเหนือจากการใช้แรงงานของตน และงานนั้นมีเว้นระยะโดยปกติ ซึ่งมีกำหนดเป็นจำนวนวันหรือเดือนที่แน่นอนในแต่ละปี เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการชดเชย หรือได้รับการชดเชยไม่เต็มที่ ระบบแรงงานเกณฑ์ไม่จำเป็นต้องอาศัยประชากรที่มีที่ดิน พืชผลหรือเงินทุน ดังนั้นแรงงานเกณฑ์จึงมักเป็นที่นิยมในเศรษฐกิจที่ขาดแคลนเงินทุน กอร์เวแรงงานเกณฑ์ ยังพบมากในเศรษฐกิจที่การแลกเปลี่ยน ยังเป็นวิธีการค้าเป็นปกติ หรือในเศรษฐกิจยังชีพ.
03. คอนแสตนติน ฟอลคอน ได้แต่งงานกับมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา(Maria Guyomar de Pinha) แต่มักจะเรียกกันว่า มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ซึ่งภายหลัง เป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยหลายอย่าง.
04. จาก. www.matichon.co.th/news/205555, โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ, วันที่สืบค้น 23 กรกฎาคม 2559.
info@huexonline.com