MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 14.1: สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 2) (พระนเรศ)

Title Thumbnail: ภาพยุทธหัตถี, ที่มา: https://prachathai.com, วันที่เข้าถึง 30 พฤศจิกายน 2563., Hero Image: พระนเรศ บรรทมหลับสนิท ณ พลับพลาค่ายหลวง ตำบลป่าโมก ทรงสุบินนิมิตว่า ลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่จะทำร้ายพระองค์และพระองค์ทรงประหารจระเข้าตัวนั้น โหรทำนายว่า จะทรงชนะศึกหงสาวดี พ.ศ.2138 ขณะมีพระชนมายุ 37 ชันษา, ที่มา: https://sites.google.com/site/social0020/bth-thi1/smdec-phra-nreswr-thrng-phra-subin-1, วันที่สืบค้น 30 พฤศจิกายน 2563.

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 14.1:02.
สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2) (พระนเรศ)
First revision: Nov.30, 2020
Last change: Mar.02, 2021
สืบค้น เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       เรื่องราวที่อ้างถึงพงศาวดารต่าง ๆ ของไทยนั้น (อาทิ พระนิพนธ์ไทยรบพม่า ในประชุมพงศาวดารภาคทึ่ 6 ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพงศาวดารส่วนใหญ่กล่าวแต่พระกรณียกิจ การสร้างวัด การบูรณะพระอารามเก่า ) ส่วนใหญ่ได้ถูกชำระปรับปรุงหรือเขียนขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยกเว้นแต่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แต่เขียนขึ้นมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งห่างไปถึง 76 ปี
       ดังนั้นหากบล็อกนี้ได้อ้างอิงถึงพงศาวดารแล้ว ขอให้ผู้ศึกษาพึงช่างน้ำหนักพิเคราะห์ให้มาก แต่ทั้งนี้ผู้สนใจศึกษาก็ไม่ควรตำหนิผู้ประพันธ์พงศาวดารไปเสียทั้งหมด เพราะด้วยข้อจำกัดของข้อมูลอ้างอิงในยุคนั้น เวลาที่เขียนพงศาวดารก็ห่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ผู้ให้ข้อมูลไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์หรือรับทราบเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา เจตคติหรือการคิดจิตนาการเอาเองของผู้ประพันธ์ (เพราะข้อมูลจำกัดหรือขาดตอน) การประพันธ์เบี่ยงเบนไปเพราะเกรงจะไปกระทบกับผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้น ที่มาของข้อมูลเป็นเพียงหลักฐานชั้นที่สอง หรือสาม หรือมากกว่านั้น การเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยของรัชกาลที่ 4 พร้อมด้วยบรรดาพระญาติ (อาทิ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) เสนาอำมาตย์เสนอต่อประเทศมหาอำนาจ (อังกฤษ) เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง แสดงว่าสยามมีอารยะไม่ได้ป่าเถื่อนอย่างที่เข้าใจ เป็นต้น.
       เราควรนำข้อมูลในพงศาวดารเปรียบเทียบกับบันทึกหรือหลักฐานอื่นทั้งที่เป็นของประเทศใกล้เคียง (เช่น พงศาวดารพม่าฉบับหลวง พม่ารามัญ เขมร ลาว เป็นต้น) และประเทศที่กำลังมามีอิทธิพลในย่านอุษาคเนย์ (เช่น โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา เป็นต้น) ที่เขียนขึ้นในสมัย ช่วงเวลานั้นหรือช่วงเวลาที่ใกล้ที่สุด ผู้เขียนอาจจะแสดงความคิดเห็นที่เบี่ยงเบนบ้าง แต่ก็น่าจะมีอิสระพอ (ด้วยไม่จำเป็นต้องเอาใจหรือเกรงกล้วผู้ใดที่มีอำนาจในไทย หรือในกรุงศรีฯ ในยุคนั้น) ทั้งนี้กระผมมิอาจสรุป แต่จะให้ข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้ การนำข้อมูลไปใช้ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการรับรู้ที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวงกว้างได้.


       สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (สม-เด็จ-พระ-นเรศ-วอ-ระ-ราชาธิราช) มีพระนามเดิมว่า พระนเรศ หรือ พระนริศ หรือ พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และพระวิสุทธิกษัตรีย์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ.2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองสองแควพิษณุโลก มีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว)05. เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2133 ครองราชสมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148 สิริพระชนมพรรษา 49 พรรษา.

 
   ครองราชย์   29 กรกฎาคม พ.ศ.2133 - 25 เมษายน พ.ศ.2148 (รวม 14 ปี 271 วัน)
   ก่อนหน้า  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
   ถัดไป  สมเด็จพระเอกาทศรถ
   พระอัครมเหสี    พระมณีรัตนา
 พระเอกกษัตรี
   ราชวงศ์  สุโขทัย
   พระราชบิดา  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
   พระราชมารดา  พระวิสุทธิกษัตรีย์
   พระราชสมภพ  พ.ศ.2098 ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกสองแคว
   สวรรคต  25 เมษายน พ.ศ.2148 (49 พรรษา) บ้างก็ว่า ณ เมืองหางหลวง อาณาจักรล้านนา
บ้างก็ว่าเมืองเวียงแหง จ.เชียงใหม่01.

       นักวิชาการบางท่าน03. (หน้าที่ 63) ให้ความเห็นว่าพระนเรศกำเนิดคนละมารดากับพระโอรสที่เหลือ ซึ่งพระโอรสที่เหลือ (ไม่น้อยว่า 2 พระองค์) กำเนิดจากสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระนางวิสุทธิกษัตรีย์ ดังนี้:

          ขุนพิเรนทรเทพ (ตำแหน่งยศก่อนครั้งเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา) + ภริยา?  = สมเด็จพระนเรศ (องค์ดำ)
          สมเด็จพระมหาธรรมราชา + พระนางวิสุทธิกษัตรีย์ = โอรสองค์ที่ 1: พระอนุชาองค์รอง และ โอรสองค์ที่ 2: พระอนุชาองค์เล็กพระเอกาทศรถ (องค์ขาว)06.

       ส่วนพระสุพรรณกัลยา นั้นแทบไม่มีการกล่าวถึงเลย มีบ้างในส่วนพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และหนังสือในช่วงหลัง 01. ซึ่งได้ค้นคว้าแล้ว ไม่ปรากฎหลักฐานของพระสุพรรณกัลยาทางด้านบทบาททางการเมืองในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด.


       เหตุการณ์สงครามในรัชสมัยพระนเรศนั้น มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ เล่าบันทึกเจียรจารสืบมาให้ชนรุ่นหลังได้ทราบ ทั้งการกู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก การแผ่ขยายอำนาจของราชอาณาจักรไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ตอนใต้ของสหภาพเมียนมาร์ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปถึงขอบอาณาจักรจัมปาหรือขอบชายแดนประเทศเวียดนามด้านทิศตะวันออก ทางด้านทิศใต้จรดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขง เชียงตุง เชียงรุ้งโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่หรือรัฐฉานบางรัฐ.

ขณะทรงพระเยาว์
       สมเด็จพระนเรศ พระราชสมภพที่พระราชวังจันทน์ เมืองสองแควพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2098 ทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์ ครั้งเมื่อพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนองกะยอดินนรธายักทัพมาตีพิษณุโลกคราวสงครามช้างเผือก พระบิดาคือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลกได้อ่อนน้อมแก่พระเจ้ากรุงหงสาวดี เป็นเมืองประเทศราช ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา พระนเรศขณะมีพระชนม์ได้ 9 พรรษาและพระพี่นางพระสุพรรณกัลยาต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี (เมืองพะโค ในปัจจุบัน) เพื่อกันมิให้พระมหาธรรมราชาคิดทุรยศ พระนเรศประทับที่กรุงหงสาวดีอยู่ 8 ปี และเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุได้ 17 พรรษา ในปี พ.ศ.2115.
       ในพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ได้พรรณนาถึงพระปรีชาสามารถของพระนเรศ เมื่อครั้งอยู่ที่กรุงหงสาวดีไว้เป็นอันมาก.


ปกครองเมืองพิษณุโลก
       หลังจากพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ.2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรก 11 ค่ำ และได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของหงสาวดีแล้ว พงศาวดารบางเล่มกล่าวว่าพระนเรศได้หนีกลับมากรุงศรีอยุธยา โดยที่พระเจ้าบุเรงนองทรงยินยอมเนื่องจากพระสุพรรณกัลยาทรงขอไว้ (ซึ่งควรต้องมีการสืบค้น หาข้อมูลต่าง ๆ มาเทียบเคียงและชำระกันต่อไป) ครั้นเมื่อพระนเรศกลับมายังกรุงศรีอยุธยา ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระมหาอุปราช ปกครองเมืองสองแควพิษณุโลก.
       การที่ได้ประทับอยู่เมืองหงสาวดีถึง 8 ปีนั้น ทำให้พระองค์ทราบเรื่องภาษา วัฒนธรรม อุปนิสัย ความสามารถของชาวพม่ารามัญได้เป็นอย่างดี อันเป็นประโยชน์ต่อการทำสงครามต่อต้านพม่าในภายหน้า ด้วยข้าราชการในกรุงศรีอยุธยากระด้างกระเดื่องต่อต้านพระบิดาคือพระมหาธรรมราชามาก (อาจเป็นด้วยสาเหตุที่พระองค์อยู่ข้างพระเจ้าบุเรงนอง และมีส่วนสำคัญในการที่กรุงศรีฯ แตกพ่ายไป) พระมหาธรรมราชาจึงนำเกณฑ์ข้าราชการจากเมืองพิษณุโลกมาช่วยงานราชการที่กรุงศรีฯ แทน จึงทำให้กิจการบ้านเมืองที่เมืองพิษณุโลกบกพร่องลง เป็นเหตุให้พระนเรศจัดหาข้าราชการชุดใหม่มาแทนที่ ก็นับว่ามีประโยชน์อีกด้านหนึ่งคือ สามารถปรับระบบราชการในเมืองพิษณุโลกให้สอดคล้องกับพระบรมราโชบายได้ง่ายขึ้น.


การตีกรุงศรีอยุธยาของเขมร
       ต่อมาในปี พ.ศ.2117 ในขณะที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาภายใต้การบังคับบัญชาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระนเรศได้ยกกองทัพไปช่วยหงสาวดี เพื่อตีเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาละแวกได้ถือโอกาสยกกองทัพมาทางเรือเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง แต่การศึกครั้งนี้เป็นโชคของกรุงศรีฯ กล่าวคือขณะที่กองทัพกรุงศรีฯ ยกไปถึงหนองบัวลำภู เมืองอุดรธานีนั้น พระนเรศประชวรเป็นไข้ทรพิษ ดังนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงโปรดให้กองทัพกรุงศรีฯ ยกทัพกลับไป โดยกองทัพกรุงศรีฯ กลับมาทันเวลาที่กรุงศรีฯ กำลังถูกโจมตีจากกองทัพเรือเขมร ซึ่งขึ้นมาถึงกรุงศรีฯ เมื่อเดือนอ้าย พ.ศ.2118 โดยได้ตั้งทัพชุมนุมพลอยู่ที่ตำบลขนอนบางตะนาวและลอบแฝงเข้ามาอยู่ในวัดพนัญเชิง รวมทั้งใช้เรือ 3 ลำเข้าปล้นชาวเมืองที่ตำบลนายก่าย ฝ่ายกรุงศรีฯ ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงไปยังป้อมค่ายนายก่าย ซึ่งถูกข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก แล้วให้ทหารเรือเอาเรือไปท้าทายให้ข้าศึกออกมารบพุ่ง จากนั้นก็หลอกล่อให้ข้าศึกรุกไล่เข้ามาในพื้นที่การยิงหวังผลของปืนใหญ่ เมื่อพร้อมแล้วก็ระดมยิงปืนใหญ่ถูกทหารเขมรแตกพ่ายกลับไป.

เรือกราบกันยาหลังคากระแซง (บ้างก็เรียก กระแฉ่ง เป็นเรือทรงเฉพาะเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าเท่านั้น)
ที่มา: forester32.blogspot.com/2010/09/blog-post_11.html, วันที่เข้าถึง 3 พฤศจิกายน 2563.

รบกับเขมรที่ไชยบาดาล
       เมื่อปี พ.ศ.2121 พระยาจีนจันตุ ขุนนางจีนของกัมพูชา รับอาสานักพระสัตถาหรือนักพระสัฏฐา (สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือสมเด็จพระมหินทราชา กษัตริย์กรุงละแวก กัมพูชา ระหว่าง พ.ศ.2119-2137) มาปล้นเมืองเพชรบุรี แต่ต้องพ่ายแพ้ตีเข้าเมืองไม่ได้จะกลับกัมพูชาก็เกรงว่าจะต้องถูกลงโทษ จึงพาสมัครพรรคพวกมาสวามิภักดิ์อยู่กับคนไทย โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงชุบเลี้ยงไว้ ต่อมาไม่นานก็ลงเรือสำเภาหนีออกไป เวลานั้นสมเด็จพระนเรศมีพระชนม์ได้ 24 พรรษา ตระหนักดีว่าพระยาจีนจันตุเป็นสายลับอุปนิกขิตของเขมร พระนเรศจึงเสด็จลงเรือกราบกันยารับตามไป ตามไปทันกันเมื่อใกล้จะออกปากน้ำ พระยาจีนจันตุยิงปืนต่อสู้ สมเด็จพระนเรศจึงเร่งเรือพระที่นั่ง ขึ้นหน้าเรือลำอื่นประทับยืนทรงยิงพระแสงปืนนกสับที่หน้าเรือกราบกันยา ไล่กระชั้นชิดเจ้าไปจนข้าศึกยิงมา ถูกรางพระแสงปืนแตกอยู่กับพระหัตถ์ก็ไม่ยอมหลบ พระเอกาทศรถเกรงจะเป็นอันตราย จึงตรัสสั่งให้เรือที่ทรงเข้าไปบังเรือสมเด็จพระเชษฐา ก็พอดีกับเรือสำเภาของพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นออกทะเลไป เนื่องจากเรือรบไทยเป็นเรือเล็กสู้คลื่นลมไม่ไหวจำต้องถอยขบวนกลับขึ้นมาตามลำน้ำ พบกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่คุมกำลังทหารลงเรือหนุนตามมาที่เมืองพระประแดง ทรงแจ้งให้ทราบ แล้วเคลื่อนขบวนกลับพระนคร.
       การทำสงครามกับกัมพูชายังไม่จบสิ้น ทั้งนี้เพราะเขมรยังคงเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยา (ต้องเรียกว่ากรุงศรีอยุธยา เพราะคำว่าสยามเพิ่งจะมามีในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ) ยังอ่อนแอ สามารถที่จะเข้ามาปล้นชิงได้อยู่ ต่อมาใน พ.ศ.2113 กษัตริย์กัมพูชาได้ให้พระทศราชาและพระสุรินทรราชาคุมกำลังประมาณ 5,000 นาย ประกอบด้วยช้าง ม้า ลาดตระเวณเข้ามาในหัวเมืองด้านตะวันออก แล้วเคลื่อนต่อเข้ามายังเมืองสระบุรีและเมืองต่าง ๆ หมายจะปล้นทรัพย์จับผู้คนไปเป็นเชลย.
       ประจวบเหมาะกับที่สมเด็จพระนเรศเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาพอดี เมื่อทราบข่างก็เตรียมกำลังทหารประจำพระนคร 3,000 นาย ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าเขมร แต่สมเด็จพระนเรศก็สามารถวางกลศึกหลอกล่อ กระทั่งสามารถโจมตีทัพเขมรแตกพ่ายกลับไป.
       ฝ่ายพระทศโยธา และพระสุรินทรราชาเห็นทัพหน้าแตกยับเยิน ไม่ทราบแน่ว่ากองทัพไทยมีกำลังมากน้อยเพียงใด ก็รีบถอยหนีกลับไปทางนครราชสีมา ก็ได้ถูกทัพไทยที่ดักทางคอยอยู่ก่อนแล้ว เข้าโจมตีซ้ำอีก กองทัพเขมรทั้งหมดจึงรีบถอยหนีกลับไป การรบครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระนเรศเป็นที่เคราพยำเกรงแก่บรรดาแม่ทัพนายกอง และบรรดาทหารทั้งปวงเป็นที่ยิ่ง กิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือไปถึงกรุงหงสาวดี และผลจากการรบครั้งนี้ทำให้เขมรไม่กล้าลอบมาโจมตีไทยถึงพระนครอีกเลย.


การรบที่เมืองคัง
       ครั้นเมื่อพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู สิ้นพระชนม์ (เมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2124) กรุงหงสาวดีได้มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยพระเจ้านันทบุเรง (Nanda Bayin) หรือพระเจ้าหงษางาจีสะยาง ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ สมเด็จพระนเรศก็ได้คุมทัพและเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่พระเจ้านันทบุเรงตามราชประเพณีที่มีมา.
       ทางด้านเจ้าฟ้าเมืองคัง04. ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดีเกิดแข็งเมือง ไม่ยอมส่งราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านันทบุเรง ดังนั้นทางกรุงหงสาวดีจึงจัดกองทัพขึ้น 3 กอง มีพระมหาอุปราชราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรง พระสังขฑัต โอรสเจ้าเมืองตองอู ส่วนทัพที่ 3 คือกองทัพของพระนเรศ ให้ยกไปปราบปรามเมืองคัง. กองทัพของพระมหาอุปราชบุกเข้าโจมตีเมืองคังก่อน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาก็เป็นภารกิจของกองทัพพระเจ้าสังขฑัต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน จึงต้องเป็นงานของสมเด็จพระนเรศในการเข้าโจมตีเมืองคัง.
       สมเด็จพระนเรศได้พิจารณาพิเคราะห์เห็นว่าเมืองคังตั้งอยู่บนที่สูง พระองค์จึงวางแผนการจัดยุทธการกองทัพเสียใหม่ แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าโจมตีด้านหน้า กำลังส่วนนี้มีไม่มากนัก แต่กำลังส่วนใหญ่ของพระองค์เปลี่ยนทิศทางโอบเข้าตีด้านหลัง ประกอบกับพระองค์ทรงรู้ทางลับที่จะบุกเข้าสู่เมืองคังอีกด้วย จึงสามารถโจมตีเมืองคังแตกโดยไม่ยาก สมเด็จพระนเรศจับเจ้าฟ้าเมืองคังไปถวายพระเจ้านันทบุเรงที่หงสาวดีเป็นผลสำเร็จ.
       และต่อมามีพวกเขมรยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเมืองราชสีมาและหัวเมืองชั้นใน ก็ถูกกองทัพพระนเรศโจมตีแตกกระเจิงและเลิกทัพถอยกลับไป.



การประกาศอิสรภาพ
       เรื่องนี้มีคำถามมากมาย และมีการตั้งข้อสังเกตของนักประวัติศาสตร์ว่า
       หนึ่ง) การประกาศอิสรภาพ การหลั่งน้ำทักษิโณทกนั้น ไม่มีในพิธีกรรมของชนชาวในอุษาคเนย์ในการประกาศเพื่อเป็นอิสระ
       สอง) การประกาศอิสรภาพช่างละม้ายกับพิธีในคำประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา (United States Declaration of Independence) ช่วงประธานาธิบดี โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ประธานาธิบดีแห่งสหัฐอเมริกาคนที่ 3 (ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1801 - 4 มีนาคม ค.ศ.1809) ประกาศเมื่อ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 (พ.ศ. 2319)
       สาม) ไม่มีในบันทึกตามประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้าน กล่าวไว้ถึงเหตุการณ์นี้เลย (มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า - Hmannan Mahayazawindawgyi มิได้ระบุถึงเหตุการณ์เช่นนี้) มีแต่หลักฐานชั้นรองคือ คำให้การขุนหลวงหาวัด และพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กลับกล่าวถึงการประกาศอิสรภาพครั้งนี้อย่างละเอียด.


       เรื่องราวในพงศาวดารมีบันทึกไว้ดังนี้:

       เมื่อปี พ.ศ.2126 พระเจ้าอังวะเป็นกบฎ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ จึงแข็งเมืองพร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้านันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ ในการนี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองขึ้นและประเทศราชน้อยใหญ่ อาทิ เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ยกกองทัพไปช่วย ทางฝ่ายไทยนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศยกทัพไปช่วย.
       สมเด็จพระนเรศยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ.2126 พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน ทำให้พระเจ้านันทบุเรงแคลงใจว่า ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย จึงสั่งให้พระมหาอุปราชคุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับและหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครง07. มาก และทำนองจะเป็นผู้คุ้ยเคยกับสมเด็จพระนเรศมาแต่ก่อน ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชยกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติและพระยารามคุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยารามเมื่อไปถึงเมืองแครงแล้ว ได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์ตน ทุกคนไม่มีใครเห็นด้วยกับแผนการของพระเจ้านันทบุเรง.
       กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมพร้อมทั้งพระยาเกียรติและพระยารามได้มาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนเรศ และสมเด็จพระนเรศได้เยี่ยมและสนทนากับพระมหาเถรคันฉ่อง ก็ได้ทราบว่าพระเจ้านันทบุเรงคิดร้ายกับพระองค์ เมื่อสมเด็จพระนเรศทราบความโดยตลอดแล้ว จึงดำริเห็นเป็นศัตรูกับกรุงหงสาวดี ได้ประชุมแม่ทัพนายกองพร้อมนิมนต์มหาเถรคันฉ่องและพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทอง) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า "ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรมประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดีมิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจแต่ก่อนสืบไป".
       จากนั้นก็มีกลุ่มชาวมอญเลือกข้างว่าจะอยู่กับฝั่งสมเด็จพระนเรศ จับเจ้ากรมการพม่า เอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ แล้วยกทัพจากเมืองแครงไปยังเมืองหงสาวดีเมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6. เมื่อสมเด็จพระนเรศยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงแล้ว ก็ทราบว่าทัพของพระเจ้านันทบุเรงมีชัยเหนือเมืองอังวะ ก็ตัดสินใจยกทัพกลับพระนคร ด้วยเห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีครานี้เห็นจะไม่ได้ และได้กวาดต้อนครัวไทยที่พม่าอพยพกลับบ้านเมืองราวมหมื่นเศษ โดยให้ล่วงหน้าไปก่อน สมเด็จพระนเรศยกกองทัพตามมาข้างหลัง.



พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง
       มีคำถามอยู่มากในหมู่ผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ด้วยข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีปรากฎเพียงพงศาวดารฉบับเดียว (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา) ซึ่งหลักฐานชั้นต้นและชั้นรองอื่น ๆ มิได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด.

       ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศกวาดต้อนคนไทยกลับจึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกติดตามกองทัพไทยมา กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศทรงใช้พระแสงปืนคาบชุดยาวเก้าคืบ ยิงถูกสุรกรรมาแม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค
       เมื่อสมเด็จพระนเรศเสด็จกลับถึงเมืองแครง ทรงพระราชดำริว่าพระมหาเถรคันฉองกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉองกับพระยามอญทั้งสองก็มีความยินดีพาพรรคพวกเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก ในการยกกำลังกลับครั้งนี้สมเด็จพระนเรศทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีกถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้ มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉองเป็นพระสังฆราชาที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทองควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้วังจันทน์ของสมเด็จพระนเรศ แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้สมเด็จพระนเรศทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา.



รบกับพระยาพะสิม
       (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
       ปี พ.ศ. 2127 หลังจากที่พระนเรศประกาศอิสรภาพได้ 7 เดือน พระเจ้านันทบุเรงได้จัดสองกองทัพ ยกมาตีไทย ทัพแรกมีพระยาพะสิม (เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้านันบุเรง) คุมกำลังพล 30,000 โดยยกมาทางด้านเจดีย์สามองค์ ทัพที่สองมีเจ้าเมืองเชียงใหม่ชื่อมังนรธาช่อราชอนุชา ยกทัพบกและเรือมาจากเชียงใหม่มีกำลังพล 100,000 กองทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาถึงเมืองกาญจน์ (ถึงก่อนทัพเชียงใหม่) สมเด็จพระนเรศทรงให้พระยาจักรียกทัพเรือไปยิงปืนใหญ่ดักข้าศึกแถว ๆ เมืองสุพรรณบุรี ทัพพม่าถูกปืนใหญ่แตกพ่ายหนีไปอยู่เขาพระยาแมน เจ้าพระยาสุโขทัยยกทัพไปเขาพระยาแมน เข้าตีทัพพระยาพะสิมแตกพ่ายหนีกระเจิง เจ้าพระยาสุโขทัยจึงสั่งให้ตามบดขยี้ข้าศึกจนถึงชายแดนเมืองกาญจน์ หลังจากทัพพระยาพะสิมแตกพ่ายหนีกลับไปได้สองสัปดาห์ กองทัพพระยาเชียงใหม่ได้เดินทัพมาถึงชัยนาท โดยที่ไม่ทราบข่าวการพ่ายแพ้ของพระยาพะสิม จึงส่งแม่ทัพและทหารจำนวนหนึ่งมาตั้งค่ายที่ปากน้ำบางพุทรา ทางสมเด็จพระนเรศสั่งให้พระราชมนูยกทัพไปตีข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา เมื่อไปถึงพระราชมนูเห็นว่ากำลังทัพไทยน้อยกว่ามาก (พม่ามีพล 15,000 ไทยมีพล 3,200) จึงแต่งกองโจรคอยดักตีสังหาร จนพม่าเสียขวัยกลับไปชัยนาท ในที่สุดทัพพม่าจึงถอยกลับไป.


รบกับพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ
       (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอานนท์ จิตรประภาส)
       ปี พ.ศ.2128 พระเจ้าเชียงใหม่ {เมื่อพิจารณาตาม Timeline แล้ว พระเจ้าเชียงใหม่ หมายถึง พระเจ้าอโนรธาเมงสอ หรือ นรธาเมงสอ เจ้าฟ้าสารวดี เป็นพระโอรสในพระเจ้าบุเรงนองกับพระราชเทวี (เชงทเวละ)} ยกกองทัพมาแก้แค้น โดยตั้งทัพอยู่ที่วัดสระเกศ (บ้างก็เรียก สระเกษ) ในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ สมเด็จพระนเรศและพระเอกาทศรถ ยกทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบกองทัพพม่า ซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีจนทัพพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพยกลงมาอีก สมเด็จพระนเรศสั่งให้พระราชมนู คุมกองทัพขึ้นไปลาดตระเวณดูก่อน กองทัพพระราชมนูได้ปะทะกับพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นล่าทัพกลับถอยมา แล้วสมเด็จพระนเรศและพระอนุชาเอง ก็รุกไล่ตีทัพพม่าแตกพ่ายไปทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงค่ายที่ตั้งทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกกระจายไป.
       เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้ว สมเด็จพระนเรศ ได้ติดตามพระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่นี้หนีไปอาศัยอยู่กับพระมหาอุปราชาที่เมืองกำแพงเพชรแล้ว หากติดตามไปอาจเสียทีพระมหาอุปราชาได้ จึงได้วางกำลังส่วนหนึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวณเอาไว้ที่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกทัพลงไปสมทบที่ปากน้ำบางพุทธา และถวายรายงานพร้อมคาดการณ์ว่าข้าศึกไม่น่าจะยกพลมาถึงกรุงศรีอยุธยาก่อนฤดูแล้ง ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชามีรับสั่งให้เลิกทัพเสด็จกลับพระนคร.



พระแสงดาบคาบค่าย
       (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล)
       ปี พ.ศ.2129 พระเจ้านันทบุเรงประชุมแม่ทัพนายกองจำนวนพล 250,000 ยกทัพมากรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ สมเด็จพระนเรศสั่งให้พระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว พอทัพพม่าของมหาอุปราชยกทัพมาถึงก็ให้ทัพพม่าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง สมเด็จพระนเรศพิโรธ เพราะกรุงศรีฯไม่เคยแตกพ่ายต่อข้าศึก อาจส่งผลให้ราษฎรขวัญเสียได้ สมเด็จพระนเรศและพระอนุชาลงเรือพระที่นั่งออกรบทันที (พระเอกาทศรถถูกพระแสงปืน แต่โดนฉลองพระองค์ฉีกขาด ไม่เป็นไร) สมเด็จพระนเรศนำทัพยึดค่ายมาได้ สมเด็จพระนเรศสั่งให้ประหารชีวิตเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่พระบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงขอชีวิตไว้. การศึกครั้งนี้พม่าหมายมั่นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ เสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายหลวงของพระเจ้านันทบุเรง เสด็จลงมาจากม้าคาบแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก แต่ถูกพม่าใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่างหลายครั้งจึงเสด็จกลับพระนคร พระแสงดาบนี้มีนามว่า พระแสงดาบคาบค่าย.
       ในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงทราบว่าการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศจึงตรัสว่า ถ้าพระนเรศออกมาอีกจะต้องจับพระองค์ให้ได้ ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายสักเพียงใด จึงวางแผนให้ลักไวทำมูนำทหารจำนวน 10,000 ไปดักจับ สมเด็จพระนเรศทรงออกไปปล้นค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารจำนวนน้อยเข้าล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้าจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที แต่พระองค์ยังถูกล้อมอยู่และสู้กับทหารพม่า จำนวนมากนานร่วมชั่วโมง จนทัพไทยตามมาทันจึงเสด็จกลับพระนครได้ สุดท้ายกองทัพหงสาวดีบอบช้ำจากการสู้รบกับไทยอย่างมากจึงถอยทัพกลับไปเช่นเดิม.


เสด็จขึ้นครองราชย์
       (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล)
       นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศประกาศอิสรภาพเป็นต้นมา หงสาวดีได้เพียรส่งกองทัพเข้ามาหลายครั้ง แต่ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2133 พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2133 เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนเรศ หรือสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 2 และโปรดเกล้าฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ซึ่งมีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์.



พระราชกรณียกิจ
พระมหาอุปราชายกทัพมาครั้งแรก
       สมเด็จพระนเรศครองราชย์ได้ 8 เดือนก็เกิดข้าศึกพม่าอีก เหตุที่จะเกิดศึกครั้งนี้คือเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก พระเจ้านันทบุเรงตรัสปรึกษาเสนาบดี เห็นกันว่าเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองคังได้ปราบกรุงสรีอยุธยาไม่สำเร็จ จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างบ้างตราบใดที่ยังไม่ปราบกรุงศรีอยุธยาลงได้ ถึงแม้จะปราบเมืองคังได้ เมืองอื่นก็คงแข็งข้อเอาอย่าง แต่ในเวลานั้นพระเจ้านันทบุเรงอยู่ในวัยชราทุพพลภาพ ไม่ทรงสามารถจะไปทำสงครามเอาได้ดังแต่ก่อน จึงจัดกองทัพขึ้นสองทัพให้ราชบุตรองค์หนึ่งซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นใหม่ ยกไปตีเมืองคัง ทัพหนึ่งให้พระยาพะสิม พระยาพุกามเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกทัพหนึ่ง พระมหาอุปราชายกออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อเดือน 12 พ.ศ.2133 เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทีเดียว (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 136-137)
       ฝ่ายทางกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ รู้ตัวช้าจึงเกิดความลำบาก ไม่มีเวลาจะต้อนผู้คนเข้าพระนครดังคราวก่อน ๆ สมเด็จพระนเรศทรงเห็นว่าจะคอยต่อสู้อยู่ในกรุง อาจไม่เป็นผลดีเหมือนหนหลัง จึงรีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ในเดือนยี่ เมื่อเสด็จถึงเมืองสุพรรณได้ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว จึงให้ตั้งทัพหลวงรับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย พอกองทัพพม่ายกมาถึงก็รบกันอย่างตะลุมบอน พระยาพุกามแม่ทัพพม่าคนหนึ่งตายในที่รบ กองทัพพม่าถูกไทยฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันพ่ายหนี ไทยไล่ติดตามไปจับพระยาพะสิมได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคนหนึ่ง พระมหาอุปราชาเองก้หนีไปได้อย่างหวุดหวิด เมื่อกลับไปถึงหงสาวดี บรรดาแม่ทัพนายกองก็ถูกลงอาญาไปตาม ๆ กัน พระมหาอุปราชาก็ถูกภาคทัณฑ์ให้แก้ตัวในภายหน้า. (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 141-142)

สงครามยุทธหัตถี
(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 141-142, 144-145, 145-146) (ควรตรวจสอบกับหลักอื่นตามที่แสดงไว้ใน อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 14.2: สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2) (พระนเรศ)  http://huexonline.com/knowledge/19/203/ ประกอบด้วย เนื่องจากมีข้อมูลที่แย้งกันจากหลาย ๆ แหล่ง)
       ในปี พ.ศ.2135 พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะข้าศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทองและตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย.
       เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศทรงช้างนามว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่าเจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน.
       สมเด็จพระนเรศทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศ ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"
       พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะ (บ่า) ขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง.
      
(จากรายการคุณพระช่วย ช่อง 9 อสมท. 21 มิถุนายน พ.ศ.2557) แต่ในมหายาชะเวงหรือพงศาวดารของพม่า ระบุว่า การยุทธหัตถีครั้งนี้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของพระมหาอุปราชา ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองชามะโรงสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศ เพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา แต่ปรากฎว่าช้างของเจ้าเมืองชามะโรงเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์.

สงครามตีเมืองทะวายและตะนาวศรี
(สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 121-123 และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 153-155)
       ศึกทะวายและตะนาวศรีนั้น เป็นการรบในระหว่างคนต้องโทษด้วยกัน กล่าวคือ ทางกรุงศรีอยุธยาพาพวกนายทัพที่ตามเสด็จไม่ทันในวันยุทธหัตถีนั้น มีถึง 6 คน คือ พระยาพิชัยสงคราม พระยารามกำแหง เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง และพระยาศรีไสยณรงค์ สมเด็จพระนเรศรับสั่งให้ปรึกษาโทษ ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต สมเด็จพระวันรัตสังฆปรินายกมาถวายพระพรบรรยายว่า การที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์ สมเด็จพระนเรศที่จะได้รับเกียรติคุณเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง ด้วยเหตุว่าถ้าพวกนั้นตามไปทันแล้วถึงจะชนะก็ไม่เป็นชื่อเสียงใหญ่หลวงเหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนเรศทรงเลื่อมใสในคำบรรยายข้อนี้แล้ว สมเด็จพระวันรัตก็ทูลขอโทษพวกแม่ทัพเหล่านี้ไว้ สมเด็จพระนเรศก็โปรดประทานให้ แต่พวกนี้จะต้องไปตีทะวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว จึงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพลห้าหมื่นไปตีตะนาวศรี พระยาพระคลังคุมกำลังพลหมื่นเหมือนกันไปตีทะวาย ส่วนแม่ทัพอื่น ๆ ที่ต้องโทษก็แบ่งกันไปในสองกองทัพนี้คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงไปตีเมืองทะวายกับพระยาพระคลัง และให้พระยาเทพอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปตีเมืองตะนาวศรีกับเจ้าพระยาจักรี.
       ส่วนทางหงสาวดีนั้น เมื่อพระเจ้านันทบุเรงเสียพระโอรสรัชทายาทแล้วก็โทมนัส ให้ขังแม่ทัพนายกองไว้ทั้งหมด แต่ภายหลังทรงดำริว่าไทยชนะพม่าในครั้งนี้แล้ว ก็จะต้องมาตีพม่าโดยไม่ต้องสงสัย ก่อนที่ไทยไปรบพม่าก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกับที่พม่ารบกับไทย กล่าวคือ จะต้องเอามอญไว้ในอำนาจเสียก่อนและเป็นการแน่นอนว่าไทยจะต้องเข้ามาตีทะวายและตะนาวศรี ด้วยเหตุนี้จึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปแพ้สงครามมาครั้งนี้ไปแก้ตัวรักษาเมืองตะนาวศรีและเมืองทะวาย เป็นอันว่าทั้งผู้รบและผู้รับทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในฐานะคนผิดที่จะต้องแก้ตัวทั้งสิ้น.
       ในการรบทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้แม่ทัพทั้งสองคือ เจ้าพระยาจักรีและพระยาคลังกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้สมเด็จพระนเรศจะได้แบ่งหน้าที่ให้ตีคนละเมือง ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกันและกัน ในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็รบชนะทั้งสองเมืองและบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ครองเมืองตะนาวศรี ส่วนทางเมืองทะวายนั้ันให้เจ้าเมืองทะวายคนเก่าครองต่อไป ชัยชนะครั้งนี้เป็นอันทำให้แม่ทัพทั้งหลายพ้นโทษ แต่ทางพม่าแม่ทัพกลับถูกทำโทษประการใดไปปรากฎ แต่อย่างไรก็ดีการชนะทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้ ทำให้อำนาจของไทยแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช.


ตีได้หัวเมืองมอญ
       ปี พ.ศ.2137 พระยาลาว เจ้าเมืองเมาะตะมะ เกิดวิวาทกับเจ้าพระยาพะโร เจ้าเมืองเมาะลำเลิง เจ้าพระยาพะโรกลัวพระยาลาวจะมาตีเมาะลำเลิงจึงให้สมิงอุบากองถือหนังสือมาขอบารมีสมเด็จพระนเรศเป็นที่พึ่ง ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยป้องกันเมือง สมเด็จพระนเรศจึงยอมรับช่วยเหลือพระยาพะโรทันที มีดำรัสสั่งให้พระยาศรีไศลออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งแต่บัดนี้ไปได้ยอมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของไทย ฝ่ายข้างพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ ก็ไปขอความช่วยเหลือทางหงสาวดีบ้าง ทางหงสาวดีให้พระเจ้าตองอูยกทัพมาช่วย แต่กองทัพไทยกับมอญเมาะลำเลิงได้ตีทัพพระเจ้าตองอูแตกไป.

ตีเมืองหงสาวดีครั้งแรก
       การที่สมเด็จพระนเรศ ได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นเมืองขึ้นนั้น นับว่าเป็นจุดหักเหที่มีนัยสำคัญของการสงครามไทยกับพม่า จากเดิมฝ่ายพม่าเป็นฝ่ายยกทัพมาไทยตลอด การได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ทำให้ไทยใช้เป็นฐานทัพ ที่จะยกกำลังไปตีเมืองหงสาวดีได้สะดวก.
       สมเด็จพระนเรศเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดี ออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้ายปีมะแม พ.ศ.2138 มีกำลังพล 120,000 นาย เดินทัพไปถึงเมืองเมาะตะมะ แล้วรวบรวมกองทัพมอญเข้ามาสมทบ จากนั้นได้เสด็จยกกองทัพหลวงไปยังเมืองหงสาวดี เข้าล้อมเมืองไว้ กองทัพไทยล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ 3 เดือน และได้เข้าปล้นเมือง เมื่อวันจันทร์แรม 13 ค่ำ เดือน 4 ครั้งหนึ่ง แต่เข้าเมืองไม่ได้ ครั้นเมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ได้ยกกองทัพลงมาช่วยพระเจ้านันทบุเรงถึงสามเมือง เห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากนักจึงทรงให้เลิกทัพกลับ เมื่อวันสงกรานต์เดือน 5 ปีวอก พ.ศ.2139 และได้กวาดต้อนครอบครัวในเมืองหงสาวดี มาเป็นเชลยเป็นอันมาก และกองทัพข้าศึกมิได้ยกติดตามมารบกวนแต่อย่างใด


       การสงครามครั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศเสด็จยกทัพไปครั้งนี้ เป็นการจู่ไป โดยไม่ให้ข้าศึกมีเวลาพอตระเตรียมการต่อสู้ได้พรักพร้อม และพระราชประสงค์ที่ยกไปนั้นน่าจะมีอยู่ 3 ประการคือ
  • ประการแรก ถ้าสามารถตีเอาเมืองหงสาวดีได้ก็จะตีเอาทีเดียว
  • ประการที่สอง ถ้าตีเมืองหงสาวดียังไม่ได้ครั้งนี้ ก็จะตรวจภูมิลำเนา และกำลังข้าศึกให้รู้ไว้ สำหรับการคิดคราวต่อไป.
  • ประการที่สาม คงคิดว่ากวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยให้มาก เพื่อประสงค์จะตัดทอนกำลังข้าศึก และเอาผู้คนมาเพิ่มเติม เป็นกำลังสำหรับพระราชอาณาจักรต่อไป.
       ข้อสันนิษฐานอื่น ๆ มีอยู่ว่าการกวาดต้อนผู้คนกลับพระราชอาณาจักรไทยครั้งนี้ น่าจะได้ช่วยนำคนไทย ผู้ซึ่งถูกพม่ากวาดต้อนเอาไปเป็นเชลย แล้วเอาตัวไว้ใช้งานตามเมืองต่าง ๆ กลับมาด้วย ประการต่อมา สาเหตุที่ยกทัพกลับนั้น นอกจากจะทรงเห็นว่า กองทัพข้าศึกกำลังระดมยกมาจากอีกสามเมืองใหญ่ มีกำลังมากแล้ว เสบียงอาหารของกองทัพไทยก็น่าจะขาดแคลน เพราะมีกำลังพลมาก และล้อมเมืองหงสาวดีอยู่นานถึงสามเดือน ประกอบกับใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และประการสุดท้าย การที่พระองค์ถอนทัพกลับ โดยที่พม่าไม่ได้ยกติดตามตีหรือรบกวนแต่อย่างใด ทั้งที่มีพลเรือนที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับครั้งสงครามประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ก็น่าจะเป็นเพราะพระองค์ดำเนินการถอนทัพ และนำผู้คนพลเรือนกลับมาอย่างมีระบบ โดยให้พลเรือนล่วงหน้าไปก่อน.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "จากวังจันทน์สู่เวียงแหง ตามรอย นเรศวรมหาราช นอกกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยม", สุเจน กรรพฤทธิ์, สำนักพิมพ์สารคดี, พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2558, ISBN 978-616-7767-58-1, หน้าที่ 193.
02. ข้อมูลหลัก และโครงเรื่องมาจาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 2 ธันวาคม 2563.
03. จาก. "สมเด็จพระนเรศ หลักฐาน ความจริง และภาพลวงตา บทวิเคราะห์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศ", เทพมนตรี ลิมปพยอม, กุมภาพันธ์ 2561.
04. ตามพงศาวดารเรียก เมืองรุมเมืองคัง เป็นเมืองบนภูเขาสูง นักวิชาการยังถกเถียงกันไม่แน่ชัดว่าเป็นเมืองใดแน่ บ้างก็ว่าเป็นเมืองตองจี เมืองใหญ่ในรัฐฉาน บ้างก็ว่าเป็นเมืองไทใหญ่ในแถบมณฑลยูนนาน ประเทศจีน บ้างก็ว่าอยู่แถบเทือกเขาตอนเหนือแถบรัฐกะเหรี่ยง อยู่ไม่ไกลจากกรุงหงสาวดีนัก เพราะพระเจ้านันทบุเรงจะให้เจ้านายชั้นเล็กรุ่นใหม่ ได้คุ้ยเคยมีประสบการณ์กับการทำสงคราม (บันทึกตามความเห็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ).
05.  ที่มา. คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และสำเภาสุไลมาน.
06.  ที่มา. จดหมายเหตุของ Jacques de Coutre. ซึ่งเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชั้นต้นชิ้นสำคัญในสมัยสมเด็จพระนเรศ และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าโดยตรง ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในชื่อ The Memoirs and Memorials of Jacques de Coutre: Security, Trade and Society in 16th-and 17th century Southeast Asia.
07.  เมืองแครง นั้น ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งอยู่ที่เมืองวอในสหภาพพม่า อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ซึ่งมีระยะทางเดินเท้าห่างจากเมืองหงสาวดีเป็นเวลา 1 วัน อาจารย์ ดร.สุเนตร ยังเสริมว่า เมือง "วอ" ในภาษาพม่า เดิมชื่อเมือง "โจงตู" ซึ่งก็คือเมือง "โครง" (Krun) ในภาษามอญ ฟังดูใกล้เคียงกับเมือง "แครง" หรีอ "แกรง".



 
info@huexonline.com