MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 21: สมเด็จพระเพทราชา

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 21: สมเด็จพระเพทราชา01, 02, 03.
First revision: May 20, 2018
Last change: Feb.27, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ชีวประวัติและวีรกรรมของพระเพทราชา เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง มีผู้เขียนบทความกล่าวถึงพระองค์ท่านไว้มาก แพร่หลายอยู่ทั่วไปนั้น ผมจะพยายามรวบรวม ประมวลและวิเคราะห์ เผยลำดับความเป็นไปเป็นมา เหตุผล ความจำเป็น เช่น การผลัดแผ่นดินจากพระนารายณ์เป็นยุคสมัยของพระองค์ ทรงป้องกันอาณาจักรไทยและพระนครกรุงศรีอยุธยาจากฝรั่งเศสไว้ได้ การจัดการกับป้อมทหารฝรั่งเศสที่บางกอก การจัดการกับพระยาวิไชเยนทร์ หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) การดำเนินการชิงไหวชิงพริบกับแต่ละฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อาทิ ฮอลันดา กลุ่มอำนาจเก่า พระประยุรญาติและพระบรมวงศานุวงศ์ (ของสมเด็จพระนารายณ์ รัชกาลก่อน) และการก่อกบฏทุรยศต่าง ๆ กล่าวกันว่าทั่วแผ่นดินลุกฮือต้านอำนาจกษัตริย์พระองค์ใหม่ ทั้งเจ้าเมืองและไพร่ แข่งบารมีกับพระเพทราชา เป็นต้น.


จัดทำไว้เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 สำหรับบรรยาย พร้อมทั้งพาเพื่อน ๆ และครอบครัวเที่ยวอยุธยา เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567.
หมายเหตุ: ภาพที่ใช้ประกอบส่วนใหญ่มาจากตัวละครในซีรี่ทีวีชุดบุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิต ตลอดจนภาพประกอบอื่น ๆ ที่สืบค้นได้จากทางอินเทอร์เน็ตทั่วไป ซึ่งประสงค์ที่ใช้เป็นสื่อประกอบความรู้ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์ มิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด.

 

       สมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 29  {เมื่อนับรวมรัชกาลขุนวรวงศาธิราช (บ้างก็เรียกขุนวรวงษาธิราช)ไว้ด้วย} แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นปฐมวงศ์แห่ง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงครองราชย์ระหว่าง 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2246.
       
 ครองราชย์  11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2246 (14 ปี 210 วัน)
 ก่อนหน้า  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 ถัดไป  สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)
 พระมเหสี  กรมพระเทพามาตย์ (กัน)
 กรมหลวงโยธาเทพ
 กรมหลวงโยธาทิพ
 นางกุสาวดี
 พระราชบุตร/บุตรี  แม่อยู่หัวนางพระยา (นิ่ม)
 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)
 ตรัสน้อย
 เจ้าพระขวัญ
 พระองค์หญิงฉิม
 พระองค์หญิงจีน
 พระองค์เจ้าชายดำ
 พระองค์เจ้าชายแก้ว
 พระองค์เจ้าชายบุนนาค
 ราชวงศ์  บ้านพลูหลวง
 พระราชบิดา  ไม่ปรากฎ
 พระราชมารดา  ท้าวศรีสัจจา (พระนมเปรม)
 ประสูติ  พ.ศ.2175 บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี อาณาจักรอยุธยา
 สวรรคต  6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2246 (71 พรรษา) กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา

พระราชประวัติ
       สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมเป็นสามัญชนชื่อ "ทองคำ" เป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันคือบ้านพลูหลวง ตั้งอยู่ใน ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) เมื่อพระองค์พำนักในกรุงศรีอยุธยานั้น นิวาสสถานของพระองค์อยู่บริเวณทางใต้ของเกาะเมือง ซึ่งต่อมาได้ในรัชกาลของพระองค์ได้มีการสร้างวัด ชื่อ วัดบรมพุทธราม ขึ้น ซึ่งวัดนี้ได้กลายเป็นวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวงในกาลต่อมา.

       พระเพทราชา เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ.2175 บางหลักฐานระบุว่า พ.ศ.2170 จุลศักราช 994 จัตวาศก ปีเดียวกับ สมเด็จพระนารายณ์ และทรงเป็นสหายกับพระนารายณ์มาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดา (พระนมเปรม) ของพระองค์เป็นพระนมโทในสมเด็จพระนารายณ์ {ส่วนพระนมเอก คือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)}



ความก้าวหน้าในการรับราชการ
       ในตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์นั้น สมเด็จพระเพทราชาทรงมีตำแหน่งเป็นจางวางกรมช้าง มีความชำนาญในศิลปศาสตร์การบังคับช้างและมีฝีมือในการสงคราม. เคยได้รับความดีความชอบจากสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2205 - เป็นช่วงที่เมืองเชียงใหม่ แห่งอาณาจักรล้านนานั้นเป็นประเทศราชในกำกับราชวงศ์อังวะแห่งพม่า โดยมีพม่าที่เคยเป็นเจ้าเมืองแพร่ปกครองอยู่) สมเด็จพระเพทราชาหรือจางวางกรมข้างในขณะนั้นได้ตามเสด็จไปทำศึกด้วย.

       การศึกในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงตีได้เมืองเชียงใหม่ บางเอกสารกล่าวว่าสมเด็จพระนารายณ์ได้มีสัมพันธ์กับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งจนตั้งครรภ์ แต่พระองค์ทรงคิดละอายที่จะรับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ไว้เป็นพระสนม เนื่องจากเชียงใหม่ถือเป็นพวกในแผ่นดินลาวเฉียง ลาวยวน ชาติพันธุ์เดียวกันกับเมืองลาวหลวงพระบาง และยังเป็นที่ดูถูกว่าต่ำต้อย จึงทรงยกนางนั้น (นางกุสาวดี) ให้แก่จางวางกรมช้าง "ทองคำ" ครั้นเมื่อเดินทางกลับจากเชียงใหม่มาถึงเมืองพิษณุโลก ตำบลโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตรในปัจจุบัน ราชธิดาองค์นั้นได้คลอดบุตรออกมาเป็นเพศชาย ตั้งชื่อให้ว่า "เดื่อ" ซึ่งก็คือหลวงสรศักดิ์ (ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร (ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเพทราชานั่นเอง.

       ต่อมาได้รับราชการดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาล มีกำลังพลในสังกัดหลายพัน


มีทัศนะจากนักวิชาการและข้อมูลจากจดหมายเหตุชาวต่างประเทศ ให้ความเห็นและเป็นข้อมูลที่ว่า พระเจ้าเสือมิได้เป็นพระโอรส (ลับ) ของสมเด็จพระนารายณ์แต่อย่างใดดังนี้
     1) ในหนังสือปฐมวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียกหลวงสรศักดิ์ว่า ดอกเดื่อ เนื่องจากประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิตร ขณะที่พระมารดาเสด็จติดตามออกพระเพทราชา โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก.
     2) จดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ.2233 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ.2233 พระสรศักดิ์ (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนม์ 20 พรรษา แสดงว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ.2213 ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลาที่พระนารายณ์ยกทัพไปตีเชียงใหม่ แล้วได้ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ห่างกันถึง 8 ปี04.
     3) ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็มิทรงเชื่อว่าหลวงสรศักดิ์จะเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์ ทรงวินิจฉัยว่าในเมื่อหลวงสรศักดิ์รู้อยู่เต็มอกว่าสมเด็จพระนารายณ์คือพระบิดา เหตุไฉนจึงร่วมมือกับพระเพทราชาบิดาบุญธรรมปราบดาภิเษกชนกแท้ ๆ แทนที่จะประจบเอาใจขอราชสมบัติกับพระราชบิดา เมื่อครั้งยังประชวร.
     4) ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ว่า "พระยาแสนหลวง" เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (หรือพระแสนเมือง ปกครองเชียงใหม่ ช่วง พ.ศ.2198 - 2202) ที่ตกเป็นเชลยมายังกรุงศรีอยุธยานั้นก็มิได้มีฐานะต่ำต้อยอันใด ซ้ำยังจะดูมีหน้ามีตาเพราะสามารถต่อโคลงกับศรีปราชญ์ กวีในรัชกาลได้ ถ้าหากพระยาแสนหลวงเป็นพระสัสสุระของสมเด็จพระนารายณ์จริง ก็น่าจะเป็นที่ความภาคภูมิมากกว่าอับอาย และยังสามารถใช้การเสกสมรสดังกล่าวเป็นเหตุผลทางการเมืองเข้าครอบครองล้านนาผ่านพระชายาได้05.
       


การผลัดแผ่นดิน
       ในปี พ.ศ.2231 เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ทรงพระประชวรใกล้สวรรคต ทรงเห็นว่าพระเพทราชาเป็นผู้ใหญ่ จึงมอบหมายให้ว่าราชการแทน. ระหว่างนั้นพระเพทราชาลวงพระอนุชาทั้งสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ คือเจ้าฟ้าน้อย และเจ้าฟ้าอภัยทศ ว่ามีรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จถึงเมืองลพบุรีก็ถูกหลวงสรศักดิ์จับไปสำเร็จโทษที่วัดทราก.
       ส่วนพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรมก็ถูกผลักตกจากชาลาพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ แล้วกุมตัวไปสำเร็จโทษ. ครั้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตแล้ว ได้สั่งให้พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เข้ามาพบ เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาถึงศาลาลูกขุนก็ถูกกุมตัวไปประหารชีวิต.
       เมื่อจัดการคู่อริ หรือผู้ที่เป็นเงื่อนไขเป็นประเด็นในการราชาธิเษกได้แล้ว จึงเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มาประดิษฐานที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แล้วรับราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท. ขณะนั้นพระเพทราชามีพระชนมายุได้ 51 พรรษา. 



วัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเพทราชา
    1. วัดบรมพุทธาราม 
    2. วัดพญาแมน 


การค้าขาย ระบบเศรษฐกิจการพาณิชย์

 

กบฏทุรยศ หัวเมืองกระด้างกระเดื่อง
1.  เมืองนครราชสีมา - แหล่งรวมรวมสินค้าท้องถิ่น ดูแลสอดส่องหัวเมืองแถบอิสานและล้านช้าง - แสดงให้เห็นถึงความไม่อ่อนน้อมของชาวลาว การไม่ยอมรับการเป็นกษัตริย์ของพระเพทราชา.
2.  เมืองนครศรีธรรมราช - แหล่งค้าดีบุก ฐานดูแลสอดส่องหัวเมืองประเทศราช หัวเมืองมลายู.
3.  กบฏธรรมเถียร (พ.ศ.2237)
4.  กบฏบุญกว้าง (พ.ศ.2241)




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 2 กรกฎาคม 2564.
02. จาก. thaipost.net/main/detail/7668, วันที่เข้าถึง 2 กรกฎาคม 2564.
03. จาก. เรื่องเล่าและตำนาน: อยุธยา อาณาจักรสยามสมัยรุ่งเรือง, วัฒนา ภาคสถาพร, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา (ร่วมรำลึก 250 ปี การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2) นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 1, กุมภาพันธ์ 2560.
04. จาก. เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ เขียน, อัมพร สายสุวรรณ แปล. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2545, หน้า 64.
05. จาก. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (17 กุมภาพันธ์ 2555). "พระปีย์ vs พระเจ้าเสือ ใครคือโอรสลับของพระนารายณ์?". มติชนสุดสัปดาห์. 32:1644, หน้า 76.






 
info@huexonline.com