MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 18: สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5)

ภาพข้างต้น: เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5), ที่มา: www.silpa-mag.com, วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2561. (ภาพที่เป็น Title thumbnail: ภาพกระบวนเสด็จพระราชกุมาร จากเวสสันดรชาดก ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6: ที่มา: www.bloggang.com, วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2561)

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 18: สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5)
First revision: May 19, 2018
Last change: Feb.15, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
       สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 5 (ครองราชย์ พ.ศ.2173-2199) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 24 แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง
 
   สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 หรือ
สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
   ครองราชย์  พ.ศ.2173-2199 (26 ปี)
   ก่อนหน้า  สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์
   ถัดไป  สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
   สมุหนายก  เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น)
   พระราชสมภพ  พ.ศ.2143
   สวรรคต  พ.ศ.2199 (56 พรรษา)
   พระราชบุตร  สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 กรมหลวงโยธาทิพ
 เจ้าฟ้าอภัยทศ
 เจ้าฟ้าน้อย
 ฯลฯ
   ศาสนา  พุทธ
     



พระราชประวัติ
       สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เดิมเป็นขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ และมีความชอบจากการปราบกบฎญี่ปุ่น จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และได้รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมาก.
       เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชสืบราชสมบัติต่อมาได้ 4 เดือน มารดาเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่กรรม มีข้าราชการใหญ่น้อยไปช่วยงานมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงเชื่อว่าเจ้าพระยากลาโหมเตรียมการจะก่อกบฏ จึงโปรดให้ตั้งกองทหารไว้ แล้วให้ขุนมหามนตรีไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมมาดูมวย แต่เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีส่งข่าวไปแจ้งแผนการก่อน เจ้าพระยากลาโหมจึงบอกขุนนางว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง" แล้วยกกองกำลังเข้ายึดพระราชวังได้ ส่วนสมเด็จพระเชษฐาธิราชกับข้าหลวงเดิมลงเรือหนีไป เจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเดโชและพระยาท้ายน้ำออกติดตามในคืนนั้นจนตามจับได้ที่ป่าโมกน้อย แล้วให้นำไปสำเร็จโทษ.
       จากนั้นจึงอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ขึ้นสืบราชสมบัติต่อ แต่ผ่านไปได้ประมาณ 6 เดือน เหล่ามุขมนตรีก็เห็นว่าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์เกินไป ไม่รู้จักว่าราชการจนเสียการแผ่นดิน จึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยากลาโหมให้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง ส่วนในกฎหมายพระธรรมนูญ กรมศักดิ์ ลักษณะอาญาหลวง ออกพระนามว่าสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร แล้วทรงปูนบำเหน็จมากมายแก่ขุนนางที่สวามิภักดิ์ และทรงตั้งพระอนุชาเป็นพระศรีสุธรรมราชา.
       ถึงปี พ.ศ.2199 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองประชวรหนัก ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งเบญจรัตน์ ได้ตรัสมอบราชสมบัติและพระแสงขรรค์ชัยศรีแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชัย (ไชย) หลังจากนั้น 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต ครองราชย์ได้ 27 ปี.


พระราชกรณียกิจ
ด้านพระศาสนา
       สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างวัดไชยวัฒนาราม วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร สร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุ ในช่วงพระราชพิธีลบศักราชได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามกว่าร้อยแห่ง เช่น วัดหน้าพระเมรุ เป็นต้น และโปรดเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ เช่น สมโภชพระพุทธบาท เป็นต้น.

ด้านเศรษฐกิจ
       รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่การค้าทางเรือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังรุ่งเรือง โดยเฉพาะบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฟโอเซ - VOC - Vereenigde Oostindische Compagnie) ที่เข้ามารับซื้อของป่า หนังกระเบน ดีบุกและข้าวสาร ต่อมายังได้รับพระราชทานสิทธิ์ขาดในการส่งออกหนังสัตว์ด้วย นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าสเปน โปรตุเกส อินเดีย เปอร์เซีย และอาร์มีเนีย เข้ามาค้าขาย ทำให้การเงินของประเทศมั่งคั่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดรัชกาล.

ด้านสถาปัตยกรรม
       สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างปราสาทนครหลวง พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระตำหนักธารเกษม และพระที่นั่งวิหารสมเด็จ นอกจากนี้ยังโปรดให้ตกแต่งพระตำหนักท่าเจ้าสนุกและสร้างศาลาตามรายทางที่ไปนมัสการพระพุทธบาทเพื่อให้ประชาชนได้พักผ่อนและอาศัย.

ด้านการปกครอง
       สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปรับการบริหารให้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยให้เจ้าเมืองต่าง ๆ มาปฏิบัติหน้าที่เข้าเฝ้าที่ศาลาลูกขุนในพระราชวังทุกวัน แล้วส่งผู้รั้งเมืองไปปกครองหัวเมืองแทน นอกจากนี้ยังโปรดให้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ เช่น พระไอยการทาส พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ และกฎหมายพระธรรมนูญ อันเป็นรากฐานแห่งกฎหมายตราสามดวง



ความโหดเหี้ยมของพระเจ้าปราสาททอง
ล้างบางขุนนาง (บันทึกของ เจเรเมียส ฟอน ฟลีต หรือ วันวลิต)
       "ขุนนางที่แสดงออกนอกหน้าว่าฝักใฝ่อยู่กับพระมหาอุปราชพระอนุชาธิราชของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน หรือ ผู้ที่ไม่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นพวกใด เมื่อคราวที่พระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ (สมเด็จพระเชษฐาธิราช) ทรงประสงค์จะทราบความรู้สึกในเรื่องนี้ ต่างถูกจับกุมทันที และถูกพันธนาการอย่างแน่นหนา บ้านเรือนตลอดจนทรัพย์สมบัติถูกปล้นสะดม ข้าทาสบริวารถูกคร่าเอาไปสิ้น.
ในเวลาเดียวกัน พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ทรงรับสั่งให้นำนักโทษตัวการสำคัญทั้งสาม ออกมาจากคุก และให้สับเป็นท่อน ๆ ที่ท่าช้าง (Thacham) คือทวารประตูหนึ่งของพระราชวัง ในฐานะที่เป็นผู้รบกวนความสงบสุขของประชาชน และในฐานะที่ร่วมกันต่อต้านผู้สืบราชสมบัติ ที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาล ศีรษะและร่างกายส่วนอื่น ๆ ของคนเหล่านั้นถูกเสียบประจานไว้ตามที่สูงในเมืองหลายแห่ง เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจผู้คนทั้งหลาย ซึ่งอาจต้องการขัดขวางการสืบราชบัลลังก์นี้

       ส่วนทรัพย์สมบัติของคนเหล่านั้นทั้งหมดถูกริบเป็นราชบาตร และพระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานทรัพย์เหล่านี้ เฉลี่ยกันไปในบรรดาคนโปรดของพระองค์.
ขุนนางซึ่งถูกประหารชีวิตทั้งสามคน เป็นผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด มีตำแหน่งราชการสูงที่สุดในอาณาจักร และเป็นที่เคารพอย่างสูงของประชาชน ทั้งเป็นที่โปรดปรานยิ่งนักของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน คนหนึ่งคือ ออกญากลาโหมแม่ทัพช้าง ผู้เป็นหนึ่งในบรรดาขุนนางสำคัญ 6 คน และร่ำรวยที่สุดในประเทศ มีข้าทาสมากกว่า 2,000 คน ช้าง 200 เชือก และม้างาม ๆ อีกเป็นจำนวนมาก.
คนที่สอง คือ ออกพระท้ายน้ำ (Opera Taynam) แม่ทัพม้า เป็นออกญาพระคลังมาก่อนเป็นเวลา 5 ปี กับ 2 เดือน ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งนั้น ได้รวบรวมทรัพย์สินเงินทองไว้มากมาย พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนทรงยกย่องและโปรดปรานเป็นพิเศษ เพราะเป็นผู้สามารถในราชการและช่างเจรจา คนที่สามคือ ออกหลวงธรรมไตรโลก (Oloangh Thamtraylocq) เจ้าเมืองตะนาวศรี เป็นขุนนางสูงอายุ และได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากบรรดาขุนนาง.

       ด้วยความจงเกลียดจงชังของออกญาศรีวรวงศ์ ขุนนางเหล่านี้จึงต้องถูกลงทัณฑ์และสิ้นชีวิตอย่างน่าเวทนายิ่งโดยไม่สมควรเลย"

***ออกญาศรีวรวงศ์ คือ ตำแหน่งถัดจาก จมื่นศรีสรรักษ์ (ได้สังหารพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน - บันทึกของ เจเรเมียส ฟอน ฟลีต หรือ วัน วลิต)

"พระองค์ปรารถนาจะได้พระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่เพิ่งสวรรคตซึ่งเป็นสตรีที่งามที่สุดคนหนึ่ง ในอาณาจักรมาเป็นสนม 

 

วัดไชยวัฒนาราม, ถ่ายไว้เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560.





 
info@huexonline.com