MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 14.2: สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2) (พระนเรศ)

Title Thumbnail: กองทัพสยามเทศะ, ที่มา: Facebook ห้อง "กลุ่ม..ผู้ใฝ่เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ทั่วไป", วันที่เข้าถึง 22 พฤษภาคม 2564. 
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 14.2:
สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2) (พระนเรศ)
09.
First revision: May 19, 2018
Last change: May 22, 2021

สืบค้น เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช ตอนยุทธหัตถี ภายในพระวิหารวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา, ที่มา: www.silpa-mag.com, วันที่เข้าถึง 11 กรกฎาคม 2562 ข้อมูลจาก Faiththaistory.com วันที่สืบค้น 23 สิงหาคม 2562, อธิบายว่า "ผนังที่ 15: พระเจ้านันทบุเรงทรงให้พระมหาอุปราชาพร้อมด้วยมังจาโร ยกกองทัพปราบปรามกรุงศรีอยุธยาเพื่อแก้มือ สมเด็จพระนเรศและพระเอกาทศรถจึงเคลื่อนทัพ เมื่อกองทัพปะทะกันหลังจากฝุ่นจางลง ทรงเห็นว่าเสียเปรียบจึงใช้วิธีท้าทายให้พระมหาอุปราชาออกมากระทำยุทธหัตถี หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีชัยเหนือพระมหาอุปราชา"


ข้อมูลแหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับนามพระนเรศ03, 04
     "สมเด็จพระนเรศวร" เป็นพระนามที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยากลุ่มฉบับความพิสดารใช้เรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า กษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาผู้ขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาในปี พ.ศ.2133.

พระนามพระนเรศ ตามที่ปรากฎในหลักฐานต่าง ๆ 
 พระนเรสส หรือ พฺระนเรสฺส  หลักฐานร่วมสมัย ศิลาจารึกวัดอันโลก (รามลักษณ์) หรือ ศิลาจารึกวัดโรมโลก จังหวัดตาแก้ว กัมพูชา หมายเลข K 27 พระนามร่วมสมัยของพระองค์ เมื่อคราวยกทัพไปตีเมืองละแวก พ.ศ.2131
 พระนริศ หรือ พระนเรศ  พระราชพงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้ว (Hmannan Maha Yazawindawgyi) ระบุพระนามว่า พรนรจ์ (ဗြနရစ်) ออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า Bra Narit
 พระนเรศ  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เอกสารของล้านนา
 พระนารายณ์เมืองหาง  ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช (สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในปลายสมัยศรีอยุทธยา) ด้วยสาเหตุที่พระองค์สวรรคตอย่างกระทันหันที่เมืองหาง (ห้างหลวง) ระหว่างยกทัพขึ้นไปตีอังวะใน พ.ศ.2148 การที่เรียกพระองค์ว่า "พระนารายณ์เมืองหาง" ก็เพื่อให้ต่างจาก "พระนารายณ์เมืองลพบุรี"
 นอเรศ หรือ นอเรตย์  โคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่แต่งใน พ.ศ.2157
 สมเดจ์บรมบาทบงกชลักษณอัคบุริโสดมบรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี  ออกพระนามพระองค์ในพระไอยการกระบดศึก ปีขาล จุลศักราช 955 (พ.ศ.2136) ที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนเรศเอง ในประมวลกฎหมายตราสามดวง อันเป็นพระบรมราชโองการของสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวรพระอนุชา 
  พระนริศ (Prae Naerith) และ พระนริศราชาธิราช (Pra Naerith Raetsia Thieraij)   พงศาวดารฯ ฉบับวันวลิต (The Short History of the Kings of Siam) ของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้านายสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออก (The East India Company - VOC - Vereenigde Oost-Indische Compagine) ของฮอลันดา ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ.2182
  สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า, สํมเดจพระณะรายบ่พิตรเปนเจ้า, สมเดจพระณรายเปนเจ้า หรือ ส่มเดจพระณรัายบ่อพีตรเปนเจา  พงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 4 (สมเด็จพระนารายณ์) โปรดให้เรียบเรียงขึ้นในปี พ.ศ.2223 บ้างก็ว่าชำระในปี พ.ศ.2224
 พระนริศ  คำให้การชาวกรุงเก่า (โยธยา ยาสะเวง) จากการสอบปากคำเชลยศึกชาวศรีอยุทธยาเมื่อครั้งเสียกรุงฯ ใน พ.ศ.2310
 พระนเรศร์  เอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นคำให้การของเชลยไทยสมัยเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 แปลจากภาษามอญ ได้ระบุพระนามไว้
 "พระนริสสราช (นริสฺสราชา)" หรือ "นริส์สราชา"  คัมภีร์สังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนฯ (สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม) ซึ่งรจนาเป็นภาษาบาลี (มคธ) ใน พ.ศ.2332 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1
 "พระนเรศราชบุตร", "พระนเรศร์", "สมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชราชบพิตร" "สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า" "พระนเรศวรเป็นเจ้า" "พระนเรศวร"  พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)05 
 "พระนเรจ์" "พระณะเรศเจ้า" แต่ส่วนใหญ่ออกพระนามว่า "นเรศวร" หรือบางครั้ง "ณเรศวร"  พระราชนิพลพงษาวดาร ต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน ซึ่งเมื่อครั้ง ร.2 ยังทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล นำทูลเกล้าฯ ถวาย ร.1 ใน พ.ศ.2350
 พระนเรศ  มหาราชวงศ์พงษาวดารพม่า (พงศาวดารฉบับหอแก้ว) ที่พระเจ้าอังวะจักกายแมง (พะคยีดอ) โปรดให้ราชบัณฑิตเรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ.2372
 "พระนเรศ" แต่ส่วนใหญ่ออกพระนามว่า "พระนเรศวร"  พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน ชำระโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อประมาณรัชกาลที่ 3
 พระนเรศวร  เมื่อ พ.ศ.2394 ปลายสมัย ร.3 ต่อ ร.4 แสดงในพระธรรมเทศนาพระราชพงษาวดารสังเขป ของพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
 "พระนเรศร์" "พระนเรศร์มหาราช" "พระนเรศวรมหาราช" "สมเดจพระนเรศวรมหาราช"  พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในหอพระกรมานุสร สมัยรัชกาลที่ 4
 "Naresr (นเรศร์)"  พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง (John Bowring)
 "พระนเรศวร" บ้าง "พระนเรศ" บ้าง  หลักฐานสมัยรัตนโกสินทร์ เช้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับต่าง ๆ ที่ชำระในช่วงรัชกาลที่ 1-4 มักออกพระนามเช่นนี้
 นเรศวร  พงศาวดารฉบับชำระหรือตีพิมพ์ครั้งหลัง ๆ ส่วนใหญ่ชำระแก้เป็น "นเรศวร" เกือบทั้งหมด
 สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช  ด้วยผลมาจากการที่อาลักษณ์ผู้เรียบเรียงขาดแคลนเอกสารร่วมสมัยในการสอบชำระ จึงเข้าใจผิดว่า "ราชาธิราช" เป็นสร้อยพระนามท้ายเหมือนกษัตริย์ศรีอโยทธยา (พ.ศ.1893-2112) และกษัตริย์ศรีอยุทธยา (พ.ศ.2112-2310) องค์อื่นจึงอ่านพระนาม "สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช" เป็น "สมเดดพระนะเรสวนราชาทิราด" ไพล่เข้าไปว่า "สมเด็จพระนเรศวร" เป็นพระนามร่วมสมัยของพระองค์แท้ที่จริงแล้วความอ่านว่า "สมเดดพระนะเรดวอระราชาทิราด" ซึ่งคำว่า "วรราชาธิราช" นี้เป็นสร้อยพระนาม แปลว่า "พระราชาเหนือพระราชาผู้ประเสริฐ".
 
  • กษัตริย์ศรีอยุทธยาผู้ทรงมีพระนามร่วมสมัยว่า "พระนเรศ" หรือ "พระนริศ" (นร + อีศฺ) แปลว่า "พระราชา" หรือ นร (คน) กับคำว่า อีศฺวร (พระอิศวร หรือ ผู้เป็นใหญ่) หมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งมนุษย์ แต่ภายหลังผู้ชำระพระราชพงศาวดารฯ กลุ่มฉบับความพิสดาร อันมีพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เป็นพิมพ์เขียนต้นฉบับ (สันนิษฐานว่าเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) จดพระนามผิดเพี้ยนเป็น "สมเด็จพระนเรศวร" (นร + อีศวร) หลังจากล่วงรัชกาลพระองค์มาแล้ว 100 กว่าปี
  • สร้อยพระนาม "วรราชาธิราช" พบหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1 เรียกพระนามทางการของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า (พระเฑียรราชา) พระเจ้าตาของสมเด็จพระนเรศว่า "สํเดจพฺระปรมมหาจกฺกรพตฺติวรราชาธิราช-สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิราชาธิราช" {พระธาตุศรีสองรัก สร้างขึ้นใน พ.ศ.213 รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระอัยกา (ตา) ของพระนเรศ}06
  • การที่สมเด็จพระนเรศนำเอาสร้อยพระนาม "วรราชาธิราช" มาใส่ไว้ท้ายพระนามของพระองค์ อาจต้องการแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่พระองค์มีต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า ทั้งนี้เพื่อยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมในราชบัลลังก์ศรีอยุทธยาของพระองค์06  


ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร07 
     เป็นภาพสีน้ำมันเกี่ยวกับพระราชพงศาวของสมเด็จพระนเรศหรือพระนริศมหาราช เขียนตามช่องว่างระหว่างประตูและหน้าต่างช่องละตอน ภาพจิตรกรรมเขียนโดยพระมหาเสวกตรีพระยาอนุศาสน์จิตรกร เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2474 โดยใช้เทคนิคจิตรกรรมทางตะวันตกเข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับจิตรกรรมไทย.
 
ผนังที่ 1: เมื่อ พ.ศ.2108 พระองค์ดำ (พระนเรศ) พระชันษา 13 ปี เล่นกระบี่กระบองกับมังสามเกียด
ต่อหน้าพระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) ณ เมืองหงสาวดี

 
ผนังที่ 2: พระนเรศเสด็จมาจากพิษณุโลก ทรงทราบว่าพระยาจีนจันตุลงสำเภาหนีจากพระนคร เสด็จทรงเรือกราบไล่ตามไปถึง
ปากน้ำเจ้าพระยา แต่เรือสำเภาออกน้ำลึกได้จึงตามไม่ทัน พ.ศ.2116

 
ผนังที่ 3: พระนเรศตีเมืองคัง เมื่อ พ.ศ.2121 พระชันษา 23 ปี พลกองใหญ่ของพระนเรศ
ขึ้นทางด้านข้างตีเมืองแตกและจับตัวพระเจ้าฟ้าเงี้ยวเมืองคังได้

 
ผนังที่ 4: พระนเรศเมื่ออยู่เมืองหงสาวดี เล่นชนไก่กับมังสามเกียด มังสามเกียดว่า "ไก่เชลยเก่ง" พระนเรศตอบว่า "
ไก่เชลยตัวนี้จะพนันเอาเมืองกันก็ยังได้" - เป็นการประชดซึ่งกันและกัน พ.ศ.2121 พระชันษา 23 ปี

ผนังที่ 5: พระนเรศ ทรงประกาศอิสรภาพ เมื่อ พ.ศ.2127 ณ พลับพลาที่ประชุมนายกอง ต่อหน้าพระสงฆ์และบรรดามอญรามัญ
ทรงหลั่งทักษิโณทกให้ตกเหนือพื้นดิน ประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยา.

ผนังที่ 6: พระนเรศเตรียมสู้ศึกหงสาวดี เมื่อ พ.ศ.2127 เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสวรรคโลก เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสุโขทัย
ชาวเมืองต่างพากันมาที่วัดฤๅษีชุม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธอจนะ แล้วถือน้ำพิพัฒน์.

ผนังที่ 7: พระนเรศ ตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ ที่บ้านสระเกษ จังหวัดอ่างทอง เมื่อ พ.ศ.2128 ทัพเชียงใหม่แตกยับเยิน
ทรงได้เครื่องราชูปโภคของพระเจ้าเชียงใหม่ และช้าง ม้า เป็นอันมาก

ผนังที่ 8: พระนเรศ ทรงพาทหารรักษาพระองค์ ออกนำหน้าทรงคาบพระแสงดาบขึ้นปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดี
แต่พม่าต่อสู้ป้องกันค่ายไว้ได้ เมื่อ พ.ศ.2128 ขณะพระชันษา 31 ปี 

ผนังที่ 9: ลักไวทำมูให้พวกพลล้อมพระนเรศไว้จะเข้าจับ พระนเรศเอาพระแสงทวนแทงลักไวทำมู ตาย พ.ศ.2129

ผนังที่ 10: พระนเรศ บรรทมหลับสนิท ณ พลับพลาค่ายหลวง ตำบลป่าโมก ทรงสุบินนิมิตว่า ลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่จะทำร้ายพระองค์
และพระองค์ทรงประหารจระเข้าตัวนั้น โหรทำนายว่า จะทรงชนะศึกหงสาวดี พ.ศ.2138 ขณะมีพระชนมายุ 37 ชันษา

ผนังที่ 11: สมเด็จพระนเรศ เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา (เมืองละแวก) ทรงทำปฐมกรรมแล้วให้ต้อนครัวเชลยกลับ พ.ศ.2139

ผนังที่ 12: พระยาตองอู พาพระเจ้าหงสาวดีหนีไปอยู่เมืองตองอู ทรงเผาเมืองหงสาวดีเสีย พระนเรศได้เมืองหงสาวดีในภายหลัง
ได้เสด็จไปนมัสการพระธาตุมุเตา แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ ค่ายสวนหลวง พ.ศ.2142

ผนังที่ 13: สมเด็จพระนเรศ ล้อมตีเมืองตองอู คูเมืองกว้างลึกมาก ทรงให้ขุดคลองระบายน้ำออก พม่าเรียกว่า "คลองสยาม"
จนถึงทุกวันนี้ ทัพกรุงศรีฯ ขาดเสบียงจึงหย่าทัพ กลับไทย พ.ศ.2142 

ผนังที่ 14: พระเจ้าหงสาวดีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอังวะจึงตั้งตัวเป็นใหญ่ ขยายอำนาจมาทางเมืองเงี้ยวที่มาขึ้นอยู่กับเมืองไทย
สมเด็จพระนเรศจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปทางเมืองเชียงใหม่หมายจะตีเมืองอังวะ แต่ก็เสด็จพระประชวรและสวรรคต
ที่เมืองหาง สมเด็จพระเอกาทศรถจึงเชิญพระบรมศพกลับสู่พระนคร ขณะพระชนมายุได้ 49 ชันษา พ.ศ.2147

 

เปรียบเทียบหลักฐานประวัติศาสตร์ยุทธหัตถี01,02
เอกสาร ปีที่แต่ง ยุทธหัตถี พระมหาอุปราช
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงอักษรนิติ์ ประมาณปี พ.ศ.2223 (ค.ศ.1680) เกิดขึ้น ขาดคอช้างตายในที่รบ
มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า (Myanmar Yazawin)  ประมาณปี พ.ศ.2267 (ค.ศ.1724) ไม่เกิด ถูกปืนใหญ่จากทหารอยุธยา สิ้นพระชนม์
อูกาลามหายาสะวินจี (U Kala Mahayazawingyi) ประมาณปี พ.ศ.2257-2276 (ค.ศ.1714-1733) ไม่เกิด ต้องกระสุนจากการชุลมุน
The Story History of the King of Siam (เยรามีส ฟาน ฟลีต) ประมาณปี พ.ศ.2182 (ค.ศ.1639) เกิดขึ้น ถูกหอกซัดของเจ้าชายแห่งสยาม
จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ พ.ศ.2278-2342 (ค.ศ.1735-99) ไม่ระบุ ถูกสังหาร (โดยเจ้าชายแห่งสยาม?)
สำเภากษัตริย์สุลัยมาน ประมาณปี พ.ศ.2228 (ค.ศ.1685) เกิดขึ้น พลัดตกจากหลังช้างขณะต่อสู้

รายละเอียดในหลักฐาน

ก. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงอักษรนิติ์: "เถิงวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 2 เพลารุ่งแล้ว 5 นาฬิกา 3 บาท เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรลมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์และฝ่าย (ฝ่า) ฤกษ์หน่อยหนึ่ง และเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกเถิงดิน และเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น และช้างต้นพระยาไชยานุภาพ ซึ่งทรงและได้ชนด้วยมหาอุปราชาและมีชัยชำนะนั้น พระราชทานให้ชื่อเจ้าพระยาปราบหงสา" และ
"...ศักราช ๙๕๒ ขาลศก วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนแปด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือนสิบสอง มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิม ตำบลตะเข้สามพัน
ศักราช ๙๕๔ มะโรงศก วัยศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนสิบสอง อุปราชายกมาแต่หงสา ณ วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เพดานช้างต้นพระยาไชยานุภาพตกออกมาใหญ่ประมาณ ๕ องคุลี ครั้นถึงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาถึงแดนเมืองสุพรรณบุรี แต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ เวลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน แล ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ เวลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยทางสถลมารค อนึ่ง เมื่อใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำ นั้น เห็นพระบรมสารีริกธาตุปาฏิหารย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น ถึง ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ เวลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้น มิได้ตามฤกษ์ แลฝายฤกษ์หน่อยหนึ่ง แลเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่ง เมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างเข้ามายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงถึงดิน แลเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้น มหาอุปราชาขาดคอช้างในที่นั้น แลช้างต้นพระยาไชยานุภาพซึ่งทรง แลได้ชนด้วยมหาอุปราชา แลมีชัยชำนะนั้น พระราชทานให้ชื่อ เจ้าพระยาปราบหงสา..."


ข. มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า (Myanmar Yazawin ရာဇဝင် - ยาสะวิน): "พอเปิดผ้าที่ปิดหน้าช้างไว้แล้วไสช้างนั้นเข้าชนกับช้างพระนเรศ ช้างนั้นหาชนช้างพระนเรศไม่ กลับมาชนช้างทรงของมหาอุปราชเข้า มหาอุปราชก็ไม่เป็นอันที่จะรบกับพระนเรศ มัววุ่นอยู่กับช้างที่ตกน้ำมันเปนช้านาน
เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ (อูกาลา ว่าคือปืน Jingal) ยิงระดมเข้ามา ลูกกระสุนก็ไปต้องมหาอุปราช มหาอุปราชก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้นตุลิพะละ (คุเยงพละ) พันท้ายช้างเห็นว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ค่อยประคองพระมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้างเพื่อมิให้พระนเรศรู้แล้วถอยออกไป ขณะนั้นพระนเรศก็ไม่รู้ว่ามหาอุปราชสิ้นพระชนม์ พระนเรศจึงไม่อาจตามรบ


ค. และอีกฉบับหนึ่งคือ อูกาลามหายาสะวินจี (U Kala Mahayazawingyi) - พงศาวดารฉบับนายกาลา: นายกาลา ผู้แต่งยาสะวินเป็นเศรษฐีชาวพม่าเชื้อสายอินเดียได้ทำการแต่งขึ้นโดยอิสระปราศจากการอุปถัมภ์ของราชสำนัก ในสมัยของพระเจ้าตะนินกันเหว่ (Taninganwe) แห่งราชวงศ์ตองอูหรืออังวะยุคที่สอง ยาสะวินฉบับนี้มีขอบเขตของเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมทั้งการค้า การเมือง การปกครอง การทหาร ต่างประเทศ เศรษฐกิจและสังคม - ้เหตุการณ์ยุทธหัตถีครั้งนี้ก็เกิดอยู่ชานพระนครกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น หาได้เกิดที่สุพรรณบุรีหรือกาญจนบุรี โดยเหตุที่พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ด้วยต้องกระสุน ส่วนหนึ่งเกิดจากการชุลมุนอันเนื่องมาจขากช้างของมังจาปาโร ผู้เป็นพระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชา เป็นต้นเหตุ ดังความในยาสะวิน ว่า:
"...ทัพพระมหาอุปราชานั้นเคลื่อนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ มหาอุปราชานั้นทรงพระคชาธารนาม งะเยโซง เบื้องขวาพระองค์ยืนด้วยพระคชาธารและกำลังไพร่พลของพระอนุชาตะโดธรรมราชา ส่วนเบื้องซ้ายยืนด้วยพระคชาธารและไพร่พลของนัตชินนอง แลถัดออกไปเบื้องขวาไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระคชาธารแห่งพระมหาอุปราชานั้นยืนด้วยช้างของเจ้าเมืองซามะโรซึ่งกำลังตกน้ำมันหนักถึงกับต้องใช้ผ้าคลุมหน้าช้างไว้ ข้างพระนเรศกษัตริย์อยุธยาทรงพระคชาธารชื่อพระลโบง จึงนำไพร่พลทแกล้วทหารเป็นจำนวนมากออกมาจากพระนคร

     ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่าประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโรครั้นเห็นพระนเรศขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้างประทับ ก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพาหนะแห่งตน และไสออกหมายสกัดช้างทรงองค์นเรศ แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวางกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรงองค์อุปราชาโดยกำลังแรง พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ จึ่งช้างทรงจอมทัพพม่าถึงกับจามสนั่นด้วยบาดเจ็บสาหัส แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมา กระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัดจนสิ้นพระชนม์ซบกับคอพระคชาธาร คุเยงพละ กลางช้างพระที่นั่งเห็นพระมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ก็เข้าพยุงพระศพไว้ แลบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศยังไม่ทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะเพียงยั้งรออยู่

    ขณะนั้นนัตชินนองซึ่งทรงพระคชาธารนาม อูบอตะกะ อยู่เบื้องซ้ายก็ไสพระคชาธารเข้าชนพระคชาธารทรงองค์นเรศกษัตริย์อยุธยา พระนเรศจำต้องถอยร่น แลตะโดธรรมราชาเห็นจอมทัพอยุธยาเพลี่ยงพล้ำร่นถอยก็กวัดแกว่งของ้าวขับช้างนำรี้พลตามติดเข้าตี ข้างองค์นเรศเมื่อถอยถึงคูพระนครก็รีบนำทัพเข้าภายในอาศัยพระนครนั้นตั้งรับ ข้างฝ่ายพม่าที่ไล่ตามติดมีเจ้าเมืองโทงโบและเจ้าเมืองเวงยอ ถลำรุกรบล่วงเลยเข้าไปมากจึงถูกจับเป็นเชลยสิ้น แต่ฝ่ายอยุธยาอำมาตย์ออกญาจักรีก็ถูกทหารนัตชินนองล้อมจับไว้ทั้งเป็น

     เมื่อเกิดเหตุจนพระมหาอุปราชาถึงสิ้นพระชนม์แล้ว ตะโดธรรมราชาแลเหล่าทหารน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างก็ถอยทัพไปประชุมพลอยู่ไกลว่าถึงกว่าหนึ่งตาย จากตัวพระนครโดยประมาณ แลนายทัพทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็หันหน้าปรึกษาราชการศึกว่าครั้งนี้จะจัดการพระศพองค์อุปราชาเสียในแดนอโยธยาแลระดมตีกรุงต่อไป หรือจะนำพระบรมศพกลับคืนสู่พระนคร

     ครานั้น ตะโดธรรมราชาเจ้าเมืองแปรจึงว่า มาบัดนี้ พระเชษฐามหาอุปราชาจอมทัพก็หาพระชนม์ชีพไม่แล้ว เปรียบได้แขนงไผ่อันไร้ซึ่งเชือกพันธนาไว้ การจะกลับไปกระทำการตีอยุธยาต่อไปเห็นว่าไม่สมควร อีกประการนั้นเล่าการซึ่งจะจัดการพระศพในแดนอยุธยาก็ไม่เหมาะด้วยยากจะประมาณว่าหากกระทำไปแล้วจะไม่ถูกปรามาสจากองค์บพิตรแลพระญาติพระวงศ์ แลแท้จริงราชการสงครามครั้งนี้ก็ยังนับว่ามีชัยอยู่ใช่น้อย ครั้งนี้ถึงมีอันต้องถอยกลับ แต่ภายภาคหน้าเมื่อสิ้นวสันตฤดูก็ย่อมยกมากระทำศึกได้อีก

     ฝ่ายข้าทหารใหญ่น้อยได้ฟังความตามตรัสก็เห็นคล้อย จึงต่อโลงใส่พระศพด้วยไม้มะม่วงอย่างเลิศ แลเอาปรอทรอกพระศพแล้วก็จัดกระบวนรี้พลเชิญพระศพองค์อุปราชากลับคืนพระนคร เดือนมีนาคมก็บรรลุถึงหงสาวดี องค์ธรรมราชามหากษัตริย์ ครั้นสดับข่าวว่าพระราชโอรสมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ชีพ แลพระศพนั้นถูกอัญเชิญกลับคืนมาก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระอัครมเหสีราชมารดาออกรับพระศพ แลจัดการพระศพเยี่ยงศพพระจักรพรรดิราช ห้อมล้อมด้วยช้างมาไพร่พลสกลไกร การพระศพกระทำท่ามกลางความโศกเศร้าโศกาดูรยิ่ง..."

 
ง. Beshrijving van het Koningrijk Siam อยู่ในหนังสือแปลโดยกรมศิลปากร "รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต"
"ในที่สุดพวกหงสาวดีก็ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาถึงหน้ากรุง ซึ่งพวกเขาคิดว่าจะเอาชนะได้อย่างง่ายดาย แต่เจ้าชายสยามทรงยกทัพไปต้านทานข้าศึก และปะทะกับพวกเขา ณ บริเวณเหนือตัวเมืองขึ้นไปครึ่งไมล์ ใกล้กับวัดปรักหักพังวัดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ ทั้งสองทัพยังไม่ทันจะประจันหน้ากัน เมื่อเจ้าชายของหงสาวดีและเจ้าชายของสยามผู้หนุ่มแน่น (ทั้งสองพระองค์ทรงขี่ช้างและแต่งองค์ในฉลองพระองค์ของกษัตริย์) ทรงสูญเสียการควบคุมพระองค์ ทิ้งกองทัพ และเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด เจ้าชายสยามทรงพุ่งหอกของพระองค์ไปยังร่างของเจ้าชายแห่งหงสาวดี ..."

จ. จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ (เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง)
แต่นั้นต่อไป ชาวตงมั่งงิวก๊ก (มอญ) ยกกองทัพมาย่ำยีเสมอ สืออ๋อง (เจ้าองค์ที่สืบสมบัติ) ก็มีความมุ่งหมายจะแก้แค้น ไม่ช้านานพวกข้าศึกยกกองทัพมาอิก สืออ๋องก็กระเตรียมพลทหารยกออกต่อสู้โดยความสามารถ ตีพวกข้าศึกพ่ายแพ้ฆ่าลูกตงมั่งงิวก๊กอ๋องตาย

ฉ. สำเภากษัตริย์สุลัยมาน โดยราชทูตเปอร์เซีย
รุ่งเช้าเจ้าชายก็ทรงช้างออกมา ล้อมรอบด้วยแม่ทัพนายกอง ในเวลาเดียวกัน ลูกชายของข้าหลวงก็ออกมาด้วย และให้คนถือหนังสือไปแจ้งว่า กองทัพของเจ้าชายมีจำนวนพลมากมายเหลือเกิน ให้เจ้าชายกลับเข้าไปในค่ายและสาบานต่อพระพุทธรูปก่อนว่า ขณะที่ทั้งสองกำลังต่อสู้กันอยู่นี้ กองทหารของเจ้าชายจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโจมตีด้วย เจ้าชายก็ยอมปฏิบัติตามนั้น เมื่อทั้งสองเผชิญหน้ากัน ลูกของข้าหลวงก็กล่าวว่า ถ้าจุดประสงค์ของการยกทัพมาครั้งนี้ เพื่ออยากจะได้อาณาเขตก็เอาไปได้ แต่ถ้าจะมาจับตัวตน ก็ยินดีจะไปถวายเรื่องราวพร้อมกันแด่กษัตริย์แห่งเมืองพะโค แต่เจ้าชายรู้ว่า ถ้าทำเช่นนั้นกลอุบายของตนจะแตก จึงด่าลูกของข้าหลวง
การต่อสู้เกิดขึ้นติดพันกันพัลวัน เจ้าชายก้มลงฟันลูกข้าหลวง แต่ก่อนที่เจ้าชายจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแก่ตน ก็พลัดตกลงจากหลังช้างถึงแก่ความตาย

 
 
 
     พระบรมรูปไม้แกะสลักสมเด็จท่าน ที่เก่าแก่ที่สุด ในประเทศไทย พระบรมรูปไม้แกะสลักพระนเรศวรฯที่ "ห้องเครื่องภูษามาลา" ใน "พระบรมมหาราชวัง"
บทความเขียนโดย "โกวิท วงศ์สุรวัฒน์" พระบรมรูปไม้แกะสลักของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้ทำขึ้นตั้งแต่สมัยที่พระองค์ท่านยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่เพื่อเอาไว้เป็นหุ่นเพื่อช่างภูษา จะได้ตัดฉลองพระองค์ถวายได้โดยใช้พระบรมรูปไม้นั้น เป็นหุ่นลองทรงเนื่องจากตลอดรัชสมัยของพระนเรศวรเป็นเจ้านั้นพระองค์แทบจะไม่ได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังเลยหากแต่ต้องออกตรากตรำในราชการสงครามโดยไม่เว้นว่างจนเสด็จสวรรคต พระบรมรูปไม้แกะสลักนี้ต้องถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะว่ามีเอกสารบางฉบับอ้างว่า มีผู้สามารถลักลอบพาเอาพระบรมรูปไม้แกะสลักนี้ หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาได้ ... และก็เก็บงำไว้เป็นความลับจนสิ้นรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสินมหาราช)
     ครั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์จักรีจึงได้นำขึ้นถวายเนื่องจากเห็นว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สืบเชื้อสายมาจากพระนเรศวร พระบรมรูปไม้แกะสลักมาจากพิษณุโลก ท่านราชบัณฑิต อ.จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ บรรยายว่า พระบรมรูปไม้แกะสลักสมเด็จพระนเรศวร (เจ้าพ่อห้องเครื่อง) นี้ประดิษฐานอยู่ในที่ห้องเครื่องภูษามาลา หลังศาลว่าการพระราชวัง แล้วมีผู้นำออกมาจากรุงศรีอยุธยาตอนกรุงแตก "โดยใส่เรือเอาฟางคลุมแล้วลอยน้ำมา" ต่อมาจึงนำขึ้นถวายรัชกาลที่ ๑ พระบรมรูปดังกล่าวเป็นรูปไม้แกะสลัก ขนาดประมาณตัวคนจริงปล่อยแขนแนบลำตัว ไว้เล็บยาวแบบผู้ดีสมัยก่อน เขียนหน้าตามีพระมาลาและเครื่องทรง ที่นำมาตกแต่งตัดเย็บด้วยเยียรบับเอวพระบรมรูป เจ้าพนักงานผูกผ้ากรองทองเป็นประคดไว้พร้อมสอดพระแสงขรรค์ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มโถงแบบไทยหลังคามีช่อฟ้าใบระกา
     อ.โกวิทย์ เมื่อได้มีโอกาสเข้าชมแล้วก็รู้สึกว่าการสร้างพระบรมรูปไม้แกะสลักนี้คงมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อเป็นหุ่นลองเสื้อที่วัดขนาดของพระวรกายของกษัตริย์เพื่อการตัดพระภูษาทรงซึ่งน่าจะเป็นหุ่นลองเสื้อที่มีขนาดเท่ากับพระวรกายของสมเด็จพระนเรศวรจริงเนื่องพระองค์ท่านทรงตรากตรำทำศึกอยู่ตลอดพระชนม์ชีพจนแทบไม่มีเวลาประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยาเลย
     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นข้าราชสำนักกรุงเก่ามาก่อน "ย่อมทรงทราบถึงเรื่องพระบรมรูปไม้แกะสลัก" นี้เป็นอย่างดี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถวายเครื่องสักการะเป็นการภายใน ในบางโอกาส เนื่องจากเมื่อสร้างกรุงเทพฯ ขึ้นใหม่ย่อม ต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจพอสมควร   (ที่มา: facebook จากผู้ใช้แฝงนามว่า "องค์ดำ", วันที่เข้าถึง 4 กรกฎาคม 2562)



ข้อมูลสำคัญด้านการตัดไม้ข่มนาม08.

เท่าที่ดูเรื่องการตัดไม้ข่มนามในสมัยสมเด็จพระนเรศวรตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีระบุว่า
พ.ศ.๒๑๓๕ ฟันไม้ข่มนามที่ตำบลหลมพลี(ลุมพลี) ก่อนเสด็จไปรับศึกพระมหาอุปราชาที่หนองสาหร่าย
พ.ศ.๒๑๓๘ ตัดไม้ข่มนามที่ตำบลหลมพลี ก่อนเสด็จไปตีหงสาวดีครั้งที่ ๑
พ.ศ.๒๑๔๒ ตัดไม้ข่มนามที่ตำบลหลมหลี ก่อนเสด็จไปตีหงสาวดีครั้งที่ ๒
พ.ศ.๒๑๔๗ ตัดไม้ข่มนามที่ตำบลเอกราช ก่อนเสด็จไปตีเมืองอังวะ(พงศาวดารสมัยหลังว่าทำพิธีโดยขุนแผนสะท้าน)

ส่วนในพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีระบุถึงการฟันไม้ข่มนามที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรดังนี้
พ.ศ.๒๑๒๗ (ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) พระพิชัยสงครามฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี ก่อนเสด็จยกทัพไปตำบลสามขนอน เพื่อตีทัพพญาพสิมที่เขาพระยาแมน
พ.ศ.๒๑๓๕ (ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) ขุนมหาพิชัยทำพิธีฟันไม้ข่มนามที่หนองสาหร่าย ก่อนทำยุทธหัตถี
พ.ศ.๒๑๓๖ (ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) พระยานนท์ตัดไม้ข่มนามที่ตำบลทุ่งหันตรา ก่อนเสด็จยกทัพไปตีเมืองละแวก

ทุกครั้งสงครามที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปด้วยพระองค์เอง แต่สถานที่ตัดไม้ข่มนามทุกครั้งไม่มีความสัมพันธ์กับวัดสนามไชยที่อยู่ในบางไทรใต้เกาะเมืองเลย ส่วนใหญ่จะทำพิธีตำบลลุมพลีอยู่ทางเหนือเกาะเมือง ส่วนตำบลเอกราชอยู่ในป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ส่วนสงครามครั้งอื่น ๆ ไม่ปรากฏหลักฐานระบุ.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
ก.    มีนักวิชาการได้ศึกษาค้นคว้า เสนอแนะให้อ่านเรียกพระนามพระองค์ใหม่ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สม-เด็ด-พระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มหา-ราด)
01.  จาก facebook บล็อกที่ใช้ชื่อว่า "สุวรรณภูมิ มหายุทธ์ (Suvarnabhumi Mahayuth) โพสต์ไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2557
02.  จาก facebook บล็อกที่ใช้ชื่อว่า "กรุงเก่าของชาวสยาม" โพสต์ไว้เมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ.2561.
03.  "สมเด็จพระนเรศวร" พระนามแปลกปลอมของ "สมเด็จพระนเรศ", ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549, โดย สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์, เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562,  ที่มา: https://www.silpa-mag.com/history/article_4766, วันที่เข้าถึง 02-06 สิงหาคม 2562.
04.  จาก Facebook ในห้องประวัติศาสตร์ ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 13 กรกฎาคม 2559.
05.  เชื่อว่าเป็นพระราชพงศาวดารที่น่าจะคัดลอกมาจากฉบับที่บันทึกไว้ในสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ หากจะมีการแก้ไขก็เฉพาะบางตอน มีการระบุว่าชำระใน จ.ศ.1157 หรือ พ.ศ.2338 ในสมัย ร.1. แต่อาจจะถูกชำระมาก่อนในแผ่นดินสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี.
06.  ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร, ปาฐกถา "ความสำคัญของรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในประวัติศาสตร์ไทย" ในงานรำลึกครบรอบ 400 ปีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ 19 สิงหาคม 2533.
07.  ที่มา: https://www.faiththaistory.com/suwan-vihan และ facebook ห้อง "ภารกิจเที่ยววัด", วันที่สืบค้น 23 สิงหาคม 2562
08.  จาก. ผู้ใช้นามว่า ศรีสรรเพชญ์ พาลี ความเห็นที่ 6 เมื่อ 15 ส.ค.2015 เวลา 17:56 น.ในห้อง reurnthai.com, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.
09.  ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 27 พฤศจิกายน 2563.
info@huexonline.com