MENU
TH EN
Title Thumbnail: ภาพจาก Sarakadee Lite, โดยผ่าน Facebook เพจ "สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ - Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university," วันที่เข้าถึง 9 ธันวาคม 2564. Hero Image: กุหลาบ สายประดิษฐ์, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 9 มิถุนายน 2561.
ศรีบูรพา01, 02.
First revision: Dec.09, 2021
Last change: May 13, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       “ศรีบูรพา” เป็นนามปากกาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทในวงวรรณกรรมไทยตั้งแต่ราว พ.ศ. 2472-2500.

          อันประชาสามัคคี มีจัดตั้ง
          เป็นพลังแกร่งกล้า มหาศาล
          แสนอาวุธแสนศัตรู หมู่อันธพาล
          ไม่อาจต้านแรงมหา ประชาชน

                                         กุหลาบ สายประดิษฐ์ "ศรีบูรพา"
                                         เทพศิรินทร์ (ท.ศ.1484)

       บทบาทของศรีบูรพาในการบุกเบิกนวนิยายไทยมีหลายประการ กล่าวคือ ประการแรก ในยุคทศวรรษ 2470 ศรีบูรพาร่วมกับนักเขียนหนุ่มสาวในยุคนั้น อาทิ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ ดอกไม้สด บุกเบิกนวนิยายไทยให้นำเสนอปัญหาของสังคมไทยแทนที่จะแปลหรือแปลงนวนิยายจากต่างประเทศและนำเสนอแต่เรื่องรักสุขแบบพาฝัน นวนิยายในช่วยแรกของศรีบูรพาไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาสังคมไทยแต่ยังนำเสนอความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวในยุคนั้น ซึ่งมีความหวังว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหากพากเพียรศึกษาหาความรู้และเป็นคนดี.

       ประการที่สอง ศรีบูรพามีบทบาทสำคัญยิ่งในการบุกเบิกนวนิยายเพื่อชีวิตโดยใช้แนวทาง “ศิลปะเพื่อชีวิต” เช่นเดียวกับนักเขียนนวนิยายในยุคนั้น อาทิ เสนีย์ เสาวพงศ์ และอิศรา อมันตกุล ที่มุ่งวิเคราะห์วิจารณ์และวิพากษ์ปัญหาสังคมและการเมืองไทยพร้อมทั้งนำเสนออุดมคติโดยใช้การสร้างตัวละครอุดมคติ บทสนทนา และบทบรรยาย.

       ประการที่สาม ศรีบูรพามีความสามารถเชิงวรรณศิลป์ในการนำเสนอนวนิยายที่มีเนื้อหาหนักแน่นทางสังคมและการเมืองให้ประทับใจผู้อ่าน ตัวละครเอกทั้งหญิงและชายมีชีวิตชีวาและมีลักษณะเด่นที่อยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน ศรีบูรพาใช้แม่แบบด้านบุคลิกรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และกิริยาท่าทางจากบุคคลจริง เพื่อให้ตัวละครมีชีวิตชีวาแล้วนำมาประกอบกับจินตนาการและเรื่องราวที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงในสังคมไทย ทำให้นวนิยายทุกเรื่องมีจุดเด่นและสร้างพัฒนาการให้นวนิยายนับตั้งแต่เริ่มการประพันธ์นวนิยาย จนถึงเรื่องสุดท้าย คือ “แลไปข้างหน้า” ที่แม้จะแต่งไม่จบแต่ก็น่าประทับใจด้วยศิลปะในการเล่าเรื่องและความเฉียบคมในการนำเสนอปัญหาในสังคมไทย.

       นวนิยายเล่มสำคัญของศรีบูรพา ได้แก่ ลูกผู้ชาย สงครามชีวิต (จุดเริ่มต้นของสำนักทางมนุษยชาติต่อผู้ยากไร้) ข้างหลังภาพ (ความตายของกรอบจารีตใน “โลกเก่า”) ป่าในชีวิต (ปัจเจกชนกับผลกระทบจากการเมือง) จนกว่าเราจะพบกันอีก (จุดเริ่มต้นของนวนิยายเพื่อชีวิต) แลไปข้างหน้า (เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน).



กุหลาบ สายประดิษฐ์
       กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อปีมะโรง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448 ที่กรุงเทพมหานคร ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 บิดาชื่อนายสุวรรณ เป็นเสมียนเอก ทำงานอยู่กรมรถไฟ มารดาชื่อนางสมบุญ เป็นชาวนาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี พี่น้องทางแม่มีอาชีพ ทำนา แต่นางสมบุญคนเดียวที่ไม่ชอบทำนา เมื่อโตเป็นสาวจึงเข้ามาอยู่กับญาติที่ กรุงเทพมหานคร เคยอยู่ในวังเจ้าฟ้ากรมหลวง นครราชสีมา หรือ "วังสวนกุหลาบ" ที่ถนนประชาธิปไตย จนได้พบกับ นายสุวรรณ และได้แต่งงานกัน ต่อมาได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้าน พ่อของนายสุวรรณ ซึ่งเป็นหมอยาแผนโบราณ มีบ้านเป็น เรือนแฝดสองหลังอยู่ในตรอกพระยาสุนทรพิมล ใกล้ ๆ หัวลำโพง นายสุวรรณกับนางสมบุญ ได้ให้กำเนิดบุตรสองคน คนโตเป็นหญิง ชื่อจำรัส นิมาภาส (แต่งงานกับนายกุหลาบ นิมาภาส) ส่วนคนเล็กเป็นชายชื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ภายหลังต่อมา สี่ชีวิตพ่อแม่ลูกได้แยกครอบครัวมาเช่าห้องแถว ที่เป็นของพระยาสิงหเสนีอยู่แถว ๆ หัวลำโพง.

       เมื่ออายุสี่ขวบ กุหลาบเริ่มต้นเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนถึงชั้นประถม 4 นายสุวรรณได้ ช่วยสอน หนังสือให้ลูกชายคนเดียวก่อนเข้า โรงเรียนด้วย เนื่องจากทำงานอยู่กับผู้จัดการฝรั่งที่กรมรถไฟ นายสุวรรณ จึงพอพูดภาษาอังกฤษได้ เข้าใจว่ากุหลาบคงจะได้อิทธิพลเรื่องการเรียนรู้ภาษา อังกฤษมาจากพ่อของเขาไม่มากก็น้อย แต่พ่อของกุหลาบอายุสั้น ป่วยเป็นไข้ เสียชีวิตแต่เมื่ออายุเพียงแค่ 35 ปี ตอนนั้นกุหลาบเพิ่งอายุหกขวบ แม่และพี่สาว ได้เลี้ยงดูเขาต่อมา โดยแม่รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าและส่งพี่สาวไปฝึกเล่นละครรำ และละครร้อง เพื่อหาเงิน มาช่วยจุนเจือ และส่งเสียให้กุหลาบได้เรียนหนังสือ โดยไม่ติดขัด เมื่อจบชั้นประถม 4 แม่ก็ได้เอากุหลาบไปฝากเข้าเรียนต่อ ที่โรงเรียนทหารเด็ก ของกรมหลวงนครราชสีมา โรงเรียนแห่งนี้เป็น โรงเรียนประจำสอนทั้งวิชาทั่วไปและวิชาทหาร กุหลาบได้เรียน อยู่ที่โรงเรียนนี้สองปี แม่ก็รู้สึกสงสาร เพราะเห็นว่าลูกชายต้องอยู่เวรยามแบบทหารและ เห็นว่าอยากให้กุหลาบ ได้เรียนวิชาทั่วไปมากกว่า ดังนั้นจึงเอาออกจากโรงเรียนทหารให้มาอยู่ที่ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โดยเริ่มต้นเรียน ในชั้นมัธยม 2 และได้เรียนเรื่อยมาจนจบชั้นมัธยม 8 เมื่อ พ.ศ. 2468 กุหลาบได้เห็นชีวิตลูกผู้ดี และลูกชาวบ้าน ที่โรงเรียนนี้ รักการเขียนหนังสือมาตั้งแต่อยู่โรงเรียนนี้ เมื่ออยู่มัธยมชั้นสูง ได้ทำหนังสืออ่านกันใน ชั้นเรียน ออกหนังสือชื่อ "ดรุณสาร" และ "ศรีเทพ" มี มจ.อากาศดำเกิงและเพื่อนคนอื่นอีกทำร่วมด้วย.

       ภาพชีวิตในช่วงอายุ 17-23 ปีของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่าเต็มไปด้วยพลังมุ่งมั่นที่ต้องการจะเป็นนักเขียน นักประพันธ์และต้องการฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวด เริ่มต้นตั้งแต่การออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน การเขียนบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย เขียนเรื่องจากภาพยนตร์ กลอนเซียมซี กลอนลำตัด แปลหนังสือ และเริ่มชีวิตวัยหนุ่มในฐานะนักหนังสือพิมพ์อาชีพ ขณะเดียวกันก็ "ทดลองเรียนกฎหมาย" และฝึกฝน "การต่อยมวย" ไปพร้อมกันด้วย พ.ศ. 2465 อายุ 17 ปี เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือ และทำหนังสือ โดยใช้พิมพ์ดีด พ.ศ. ๒๔๖๖ อายุ ๑๘ ปีเริ่มเขียนบทกวีและ เขียนเรื่องจากภาพยนตร์ ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ภาพยนตร์สยาม มีข้อมูลเกี่ยวกับนามปากกาที่เคยใช้ในช่วงนั้น อย่างเช่น "ดาราลอย", "ส.ป.ด. กุหลาบ", "นางสาวโกสุมภ์", "หนูศรี", "ก. สายประดิษฐ์", "นายบำ เรอ" และ "หมอต๋อง".

       กุหลาบ สายประดิษฐ์เริ่มต้นใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" เป็นครั้งแรก โดยเขียนงานชื่อ "แถลงการณ์" ลงตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ทศวารบรรเทิง ในช่วงนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้มาทำงานเป็นครูสอน ภาษาอังกฤษ อยู่ที่โรงเรียน รวมการสอนและเป็นนักประพันธ์อยู่ในสำนักรวมการแปล ของนายแตงโม จันทวิมพ์แล้วและเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในปีนี้ คือได้พบกับนักเขียนรุ่นพี่ ชื่อบุญเติม โกมลจันทร์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "โกศล") บุญเติม หรือ โกศลทำหน้าที่เป็น ผู้จัดการอยู่ที่สำนักทั้งสองนี้ มีชื่อเสียงเป็นนักแปล และนักเขียนกลอนลำตัดในรุ่นนั้น และเป็นผู้เริ่มใช้นามปากกา ที่มีชื่อว่า "ศรี" นำหน้า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เด็กหนุ่มอายุ 18 ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักประพันธ์ จึงได้มาฝึกการประพันธ์ อยู่ที่สำนักพิมพ์นี้ ด้วยความมุ่งหวังอยากเรียนร้ และหารายได้จากงานเขียนไปจุนเจือครอบครัว ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พร้อมกันนั้นก็ ได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่น อีกสองคน คือ ชะเอม อันตรเสนและสนิท เจริญรัฐให้มาช่วยกันที่ สำนักรวมการแปลด้วย บุญเติม หรือ โกศล โกมลจันทร์เจ้าสำนักแห่งตระกูล "ศรี" มีนามปากกาเริ่มต้นตระกูล "ศรี" ของตนเองว่า "ศรีเงินยวง" ส่วนบรรดารุ่นน้อง ที่มาเข้าสำนัก เช่น ชะเอม อันตรเสน ได้นามปากกาว่า "ศรีเสนันตร์" สนิท เจริญรัฐ ได้นามปากกาว่า "ศรีสุรินทร์" และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้นามปากกาว่า "ศรีบูรพา".

       พ.ศ. 2467 อายุ 19 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้นามจริงของตัวเองเป็นครั้งแรก ในการเขียนกลอนหกชื่อ ต้องแจวเรือจ้าง พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนชื่อ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ หนังสือพิมพ์โรงเรียนเล่มนี้ มีหลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์) ซึ่งเป็นครูวิชาภาษาไทยของเขาเป็นบรรณาธิการ ครูภาษาไทยคนนี้ได้สร้างความประทับใจและแบบอย่างที่ดีให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์สืบต่อมาจนเมื่อเขาเขียน นวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า (2497, 2500) ตัวละครที่เป็นครูชื่อ "ขุนวิบูลย์วรรณวิทย์" แห่งโรงเรียนเทเวศร์สฤษดิ์ นั้นก็ได้จำลองแบบมาจาก ครู "หลวงสำเร็จวรรณกิจ" แห่งโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์คนนี้ นอกจากนั้น งานเขียนกลอนหก เรื่อง ต้องแจวเรือจ้าง ที่ตีพิมพ์อยู่ใน แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ เมื่อปี 2469 เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่เปี่ยมไป ด้วยความรักในแรงงานของมนุษย์ที่หล่อเลี้ยงโลก ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ กุหลาบก็ได้เริ่มใช้นาม ปากกา "ศรีบูรพา" เขียนบทประพันธ์ขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว.

       พ.ศ.2468 อายุ 20 กุหลาบ สายประดิษฐ์เรียนจบชั้นมัธยม 8 ได้ทดลองเรียนกฏหมายอยู่พักหนึ่ง ที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม (เวลานั้นยังไม่เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ที่กุหลาบสอบได้ ธรรมศาสตร์บัณฑิตในภายหลัง) พร้อมกับ ได้ออกทำงานโดยทำหนังสือพิมพ์กับเพื่อน เริ่มชีวิตการเป็นบรรณาธิการ ครั้งแรกในทันที เป็นหัวหน้าออกหนังสือรายทสชื่อ สาส์นสหาย แต่ออกมาได้ 7 เล่มก็ 'หมดกำลัง' หนังสือรายทส (รายสิบวัน) ที่ชื่อ สาส์นสหาย นี้ นายแตงโม จันทวิมภ์เป็นผู้ออกทุนให้ ทั้งนี้เพื่อหารายได้ ให้แก่ครูผู้สอนที่มาสอนเด็ก ในโรงเรียนรวมการสอนและ สำนักรวมการแปล ซึ่งคุณโกศล โกมลจันทร์เป็นผู้จัดการ แต่ในที่สุดก็ต้องเลิกไปพร้อมกับ สำนักทั้งสอง เพราะ "หมดกำลัง".

       ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2468 กุหลาบได้เข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ โดยมีตำแหน่งเป็น "เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์" ได้เงินเดือนเดือนละ 30 บาท การที่กุหลาบไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการที่เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เพราะสืบเนื่องมาจากเคยส่งเรื่องไป ลงพิมพ์ที่นี่จนเป็นที่พอใจของพ.ท. พระพิสิษฐพจนาการ (ชื่น อินทรปาลิต) ผู้เป็นบรรณาธิการในขณะนั้น ซึ่งต้องการ "ผู้ช่วย" ที่มีความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปทำงาน.

       พ.ศ. 2469 อายุ 21 เริ่มเขียนงานประพันธ์อีกหลายชิ้น ได้ลงตีพิมพ์ที่เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (รายเดือน), สมานมิตร บรรเทิง (รายปักษ์), มหาวิทยาลัย (รายเดือน), สวนอักษร (รายปักษ์), สาราเกษม (รายปักษ์), ปราโมทย์นคร (รายสัปดาห์), ดรุณ เกษม (รายปักษ์), เฉลิมเชาว์ (รายเดือน), วิทยาจารย ์(รายเดือน) ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ได้ไปช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์ ธงไทย ราย สัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ซึ่งออกในงานรื่นเริงของ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ หนังสือพิมพ์ ธงไทย มีเฉวียง เศวตะทัตเพื่อนร่วมรุ่นของกุหลาบเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นหนังสือว่าด้วย "กลอนลำตัด" ออกอยู่ได้ 20 เล่มก็เลิกไป ปัจจุบันถือเป็นหนังสือเก่า "หายาก" ประเภทหนึ่งเพราะ ในรุ่นเก่าก่อนเมื่อประมาณ 70-80 ปี หนังสือ "กลอนลำตัด" ถือว่าจัดอยู่ในจำพวกขายได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จึงหมดความนิยม และได้ออกเรื่องสั้นชื่อ อะไรกัน ? พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ศัพท์ไทย ประจำเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2469 ใช้นามปากกา "ศรีบูรพา".

       ขณะที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ของโรงเรียนนายร้อย อยู่ประมาณสองปีเศษจนได้เงินเดือนเต็มขั้น ขึ้นอีกไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นนายทหารได้มี เหตุการณ์ที่ทำให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ตัดสินใจเลิกคิดที่จะเอาดีทางรับราชการ และได้เบนชีวิตหันมาประกอบ อาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์โดยอิสระเพียงอย่างเดียว ระหว่างทำงานอยู่ที่นั่นก็ได้พบท่าทีวางเขื่องของ นายทหารสมัยนั้นต่อผู้ทำงานที่เป็นพลเรือน "ระหว่างเงินเดือนถูกกดเพราะไม่ได้เป็นนายทหาร คุณกุหลาบได้สมัครสอบ เป็นผู้ช่วยล่ามที่กรมแผนที่ สอบได้ที่หนึ่งแต่ถูกเรียกไปต่อรองเงินเดือน จากอัตราที่ประกาศไว้ โดยเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ อยากจะให้คนอื่นที่สอบได้ที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ หรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ตำแหน่งนี้ เมื่อถูกต่อรอง เป็นครั้งที่ 2 คุณกุหลาบก็แน่ใจว่าเป็นการกีดกันและเล่นพรรคพวก ตั้งแต่นั้นก็ไม่คิดจะทำราชการอีก.

       เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ได้ถือกำเนิด หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ออกฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม ของนายวรกิจบรรหาร ออกจำหน่ายทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน มีกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ และเจ้าของ มี"ห้องสมุดไทยหนุ่ม" เป็นเอเยนต์ ใช้ "ห้องเกษมศรี หน้าวัดชนะสงคราม" เป็นสำนักงาน ค่าบำรุง 1 ปี 6 บาท ครึ่งปี 3.50 บาท (เมล์อากาศ และต่างประเทศเพิ่ม 1 บาท) ราคา จำหน่ายขายปลีก เล่มละ 30 สตางค์ เงินค่าบำรุงส่งล่วงหน้า.

       "บันทึก ความ ทรงจำของ "ฮิวเมอริสต์" ว่าด้วย สุภาพบุรุษ ที่เขียนตอนแรกลงในนิตยสาร ไทยกรุง ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ศ. 2531 และต่อมา ได้เขียนขยาย ความทรงจำว่าด้วย สุภาพบุรุษ ให้ยาวมากขึ้น โดยลงติดต่อกันเป็นตอน ๆ ในนิตยสารลลนา ระยะใกล้เคียงกัน "ฮิวเมอริสต์" ได้ยกตัวอย่างด้วย อารมณ์ขันว่า
เพราะกุหลาบมีปัญหากับทหารยามที่เฝ้าประตู เนื่องจากเป็นพลเรือน เวลาจะผ่าน ประตูเข้าไปทำงาน ในกรมทหาร เขาต้องลงจากรถจักรยานก่อน ส่วนพวกพล ทหารนายทหารไม่ต้องลง ขี่จักรยานผ่านเข้าไปได้เลย กุหลาบเห็นว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจ "เขียนใบลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ" และได้ตรงไปหาครูอบในทันที "ครูครับ ผมลาออกแล้ว" ครูอบได้ฟังเหตุผลก็ตอบในทันทีเช่นเดียวกัน "เอา ออกก็ออกกัน สมเหตุสมผลแล้ว แล้วจะทำอะไรยัง ไงกันต่อไป" "เราออกหนังสือพิมพ์ของเราเองซีครู" "เอาก็เอา มีโครงการยังไงว่าไปซี" "เรื่องอยากออก หนังสือพิมพ์ของเรา กันเองนี้ ผมก็คิดอยู่นานแล้ว เพราะมัวแต่ทำงานเป็นลูกจ้างของเขาอยู่ยังงี้ เมื่อไหร่ จะก้าวหน้าไปในทางที่เราคิดจะไปให้ใหญ่กว่า นี้ ผมก็หาทางจะทำของเรากันเอง ให้ผลประโยชน์ตกอยู่แก่พวกเรา เราพอจะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ พอจะสามารถรับงาน หนังสือพิมพ์รายอะไรได้สักฉบับหนึ่ง พอจะมีผู้ออกทุนให้ยืมมาก่อน เพื่อเริ่มงานได้ขนาด ออกรายปักษ์ ผมคิดอยู่นานแล้วว่า จะใช้คำว่า สุภาพบุรุษ เป็นชื่อหมู่คณะที่เราจะรวมกัน" หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ รายปักษ์.

       สิ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญในหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ อยู่ที่ข้อเขียนในลักษณะ บทบรรณาธิการของตัว ผู้เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ ดังมีปรากฏอยู่ในเรื่อง เชิญรู้จักกับเรา และ พูดกันฉันท์เพื่อน ข้อเขียนเรื่อง เชิญรู้จักกับเรา กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้ประกาศหมุดหมายที่สำคัญไว้เป็นตัวอย่างให้แวดวงวรรณกรรม ชั้นหลังได้ประจักษ์อย่างสำคัญก็คือทัศนะที่บอกว่า งานเขียนหนังสือเป็นงานที่มีเกียรติและเป็นอาชีพได้ "เพื่อที่จะให้ หนังสือ สุภาพบุรุษ อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยเรื่องอันมีค่ายอดเยี่ยมจึงขอประกาศไว้ในที่นี้ว่า เราปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะรับซื้อเรื่องจากนักประพันธ์ทั้งหลายทั้งที่เป็นเรื่องบันเทิงคดีและสารคดี..." "ทำไมเราจึงซื้อเรื่อง" สำหรับ หนังสือพิมพ์ที่ออกเป็นรายปักษ์หรือรายเดือน ดูเหมือนยังไม่เคยมีฉบับใด ได้นำประเพณีการซื้อเรื่องเข้ามาใช้ การซึ่งเราจะกระทำขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ก็เพราะเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะกระทำแล้ว... การประพันธ์ของชาวเราทุกวันนี้ เป็นเล่นเสียตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่จัดว่าเป็นงานเห็นจะได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ดอกกระมัง บัดนี้จึงควรเป็นเวลาที่เราจะ ช่วยกันเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ให้หันจาก เล่น มาเป็น งาน...".

       สำหรับข้อเขียนของบรรณาธิการอีกชิ้นหนึ่ง พูดกันฉันท์เพื่อน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ คำว่า "สุภาพบุรุษ" อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเช่นเดียวกัน และนี่คือเหตุหมายสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าจะติดตัวอยู่ในจิตวิญญาณของ สามัญชนที่ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ตลอดไปจนชั่วชีวิต เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้เขียน พูดกันฉันท์เพื่อน ว่าด้วยความหมายของคำว่า สุภาพบุรุษ อย่างชนิดที่เป็นเหมือน "คำมั่นสัญญา" บางอย่างของตัวเขาเอง ดังต่อไปนี้
       "...เรามีความเข้าใจหลายอย่างในคำ 'สุภาพบุรุษ' แต่ความเข้าใจนั้น ๆ หาถูกแท้ทั้งหมดไม่ บางคนยกมือชี้ ที่บุรุษแต่งกาย โอ่โถง ภาคภูมิ แล้วเปล่งวาจาว่า 'นั่นแลคือสุภาพบุรุษ' ความจริงเครื่องแต่งกายไม่ได้ช่วยให้คน เป็นสุภาพบุรุษกี่มากน้อย เครื่องแต่งกายเป็นเพียง 'เครื่องหมาย' ของสุภาพบุรุษเท่านั้น และ 'เครื่องหมาย' เป็นของที่ทำเทียมหรือปลอมขึ้นได้ง่ายเพราะฉะนั้นผู้ที่ติด 'เครื่องหมาย' ของสุภาพบุรุษ จึงไม่จำเป็นต้องเป็น สุภาพบุรุษทุกคนไป หนังสือเล่มหนึ่งแนะนำให้เรารู้จักสุภาพบุรุษของอังกฤษ โดยนัยดังต่อไปนี้
       1. ชอบการกีฬา
       2. สุภาพเรียบร้อย
       3. ถือตัว (คือไม่ยอมประพฤติชั่วง่าย)
       4. ไม่อึกทึกครึกโครม
       5. ชอบอ่านหนังสือพิมพ์
       6. มีนิสัยซื่อสัตย์




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. www.baanjomyut.com/library/2548/thaiwritters/kulap.html, วันที่เข้าถึง 9 มิถุนายน 2561.
02. จาก. Facebook เพจ "สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ - Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university," วันที่เข้าถึง 9 ธันวาคม 2564. อันมาจาก ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา (๑): ศรีบูรพากับพัฒนาการนวนิยายไทย ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร บทความพิเศษในวาระเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลกุหลาย สายประดิษฐ์. สารไทยศึกษา ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 2548.
info@huexonline.com