MENU
TH EN

ศรีบัณฑิต ยวาหระลาล เนห์รู

First revision: April 10, 2013
Last revision: April 27, 2013
 

เนห์รู กับ พระพุทธศาสนา
"พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย พอ ๆ กับ พระราม และ พระกฤษณะ ดังนั้น ข้าพเจ้าจะมิขอนับถือศาสนาใดเลย หากมีการบังคับให้เลือกนับถือ ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือ พระพุทธศาสนา"

                                       - ยวาหระลาล เนห์รู

ศรีบัณฑิต ยวาหระลาล เนห์รู

 

เกิด: ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๒ อสัญกรรม: ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗ (สิริรวม ๗๔ ปี)
  • บทนำ
       ยวาหระลาล เนห์รู เป็นบุคคลสำคัญของอินเดียที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเมืองการปกครองของอินเดียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา เป็นเวลาถึง ๑๗ ปี ท่านได้รับสมญาว่า "บิดาแห่งประชาธิปไตยของอินเดีย" ท่านเนห์รูเป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาด ลึกซึ้ง ขยันขันแข็ง มีอุดมคติ เขามีสิ่งที่ตรงข้ามกับ มหาตมะ คานธี คือ ท่านเนห์รูเป็นชนชั้นสูงโดยกำเนิด เขาเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่งแห่งเมืองอัลลาฮาบัด บนฝั่งแม่น้ำคงคา บรรพบุรุษของท่านมาจากแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งอยู่ทางเหนือของอินเดีย บิดาของท่านเป็นนักกฎหมายและนักการเมืองคนสำคัญของอินเดีย ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านนั้น อยู่ท่ามกลางความร่ำรวยและสะดวกสบาย

       ท่านเป็นบิดาของ อินทิรา คานธี (Indira Gandhi) และเป็นปู่ของ ราจีพ คานธี (Rajiv Gandhi) ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ และ ๖ ของอินเดียในระยะต่อมา ตามลำดับ

       ท่านเป็นผู้เขียนถ้อยคำหลักในการประกาศเอกราชของอินเดีย (Indian Declaration of Indepedence) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ (ค.ศ.1929)

 
  • วัยเยาว์ และหน้าที่การงาน (พ.ศ.๒๔๓๒ - ๒๔๕๕ หรือ ค.ศ.1889 - 1912)
       ท่านได้ลืมตาขึ้นมาดูโลกเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๒ ที่เมืองอัลลาฮาบัด (Allahabad)  บริติชราช (British Raj) หรือ British India บิดาท่านชื่อ โมติลาล เนห์รู (Motilal Nehru) เป็นทนายความผู้มั่งคั่งและเป็นเจ้าของ ชุมชนบัณฑิตชาวแคชเมียร์ (Kashmiri Pandit Community) ซึ่งเป็นชุมชนฮินดูพราหมณ์ขนาดใหญ่ในแคชเมียร์ 
 
ท่านเนห์รู ถ่ายภาพร่วมกับบิดา (Motilal Nehru) และมารดา (Swaruprani Thussu) ราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๓๓

       เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ท่านได้ไปศึกษาเล่าเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร ณ โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ (Harrow school) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ตามลำดับ วิชาเอกที่เรียนในขณะนั้น ได้แก่ เคมี ชีววิทยา และธรณีวิทยา การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้เขาเชื่อมั่นในหลักของเหตุและผลและวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญในการทำงานของเขาในเวลาต่อมา เจตคติดังกล่าวยังทำให้ท่านแตกต่างกันอย่างมากกับชาวอนเดียส่วนใหญ่ ซึ่งยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ

       หลังจากท่านเรียนจบที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แล้ว ท่านได้ศึกษากฎหมายที่อินเนอร์ เทมเพิล (Inner Temple) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของอินส์ ออฟ คอร์ต (Inns of Court) ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพสำหรับทนายในศาลสูงและผู้พิพากษา ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถาบันที่ท่านมหาตมะ คานธีเคยศึกษามาก่อน ท่านศึกษาในสหราชอาณาจักรรวม ๗ ปี ก็ได้เดินทางกลับมาตุภูมิอินเดีย ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ (ค.ศ.1912)

       เมื่อท่านอายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้ทำงานด้านกฎหมายอยู่ในเมืองอัลลาฮาบัด เป็นเวลา ๘ ปี โดยมิได้สนใจในงานด้านกฎหมายที่ตนเองทำเท่าใดนัก อัตชีวประวัติของท่านได้กล่าวถึงช่วงชีวิตในเวลานั้นว่า ท่านได้ในชีวิตอย่างสนุกสนามโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย ประพฤติตามใจตนเอง เพ้อฝัน รักความสะดวกสบาย ปั้นปึ่งและหยิ่งยโสแบบลูกคนร่ำรวย แต่ก็มีเหตุการณ์ ๓ เหตุการณ์ ที่ทำให้ท่านเกิดความกระตือรือร้นทางการเมือง

        - เหตุการณ์แรก คือ การสังหารหมู่ที่เมืองอัมริตสาร์ (หรือบ้างก็เขียนอมฤตสาร์) (Amritsar massacre) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ (ค.ศ.1919) [ชาวเมืองอมฤตสาร์โกรธแค้นอังกฤษ ที่ผู้นำชาตินิยม ชื่อ คิชลู และสัตยปาล ถูกทหารอังกฤษจับกุม และทหารอังกฤษก็ยิงผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ต่างได้ไปรวมตัวกันที่เมืองอมฤตสาร์ เผาทำลายธนาคารและสังหารชาวอังกฤษหลายคน นายพล อาร์ อี เอช ไดเออร์ (Bridadier-General Reginald E.H. Dyer) ได้สั่งทหาร ๑,๐๐๐ นาย เข้าไปควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ

          ในวันที่ ๑๓ เมษายน ไดเออร์ ได้นำกำลังทหาร ๕๐ นายพร้อมอาวุธเข้าไปในสวนสาธารณะจัลเลียนวลาบาฆ (Jallianwala Bagh public garden) แล้วยิงกราดใส่ฝูงชนจำนวน ๑๐,๐๐๐ คน โดยไม่ประกาศเตือนล่วงหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๔๐๐ คน บาดเจ็บ ๑,๒๐๐ คน  (ต่อมามีการแจ้งข้อมูลการบาดเจ็บล้มตายด้วยตัวเลขที่ต่างกัน ทั้งข้อมูลของอังกฤษ และอินเดีย)การกระทำของไดเออร์ ได้รับการรับรองจากอังกฤษ แม้ว่าจะมีชาวอินเดียร้องเรียนเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่เขาเพียงได้รับคำสั่งให้พ้นจากหน้าที่ในแคว้นปัญจาบ ด้วยข้อหาทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ เมื่อไดเออร์ได้เดินทางกลับอังกฤษ เขากลับได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษ ได้ส่งผลตามมานำไปสู่การที่ชาวอินเดียสายกลางรวมทั้งมหาตมะ ตานธี เกิดความรู้สึกชาตินิยม ต่อต้านอังกฤษเพิ่มขึ้น
]

        - เหตุการณ์ที่สอง คือ เมื่อท่านเนห์รูได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตกับประชาชนอินเดียทั่วไปเป็นครั้งแรกในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากถนนและทางรถไฟ ทำให้ท่านสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชาวชนบทอินเดีย

        - เหตุการณ์สุดท้าย ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของท่านมากที่สุด ก็คือ การทำสัตยเคราะห์ครั้งแรกของท่านมหาตมะ คานธี ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ (ค.ศ.1921) [สัตยเคราะห์(Satyagraha) หมายถึง การต่อสู้บนรากฐานของความจริงหรือสัจจะ]

        ท่านได้หันมาทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่ขบานการชาตินิยมของอินเดียตั้งแต่นั้นมา ด้วยการต่อสู่ทางการเมืองด้วยวิธีสัตยเคราะห์ ทำให้เนห์รูต้องถูกจำคุกหลายต่อหลายครั้ง รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น ๙ ปี ในระหว่างที่ท่านถูกจองจำอยู่นั้น ท่านได้เขียนหนังสือออกมา ๓ เล่ม ดังนี้

         เล่มแรก  คือ "Glimpses of World History" เขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๗ (ค.ศ.1934) ซึ่งเขียนในรูปของจดหมายถึงอินทิรา (Indira Gandhi) (บุตรีคนเดียวของท่าน ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียคนที่ ๓ ในระยะต่อมา) เป็นจดหมายรวม ๑๙๖ ฉบับ หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์โลกที่มองจากสายตาของชาวเอเชีย (A Non-Eurocentric angle)

 
        หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เริ่มตั้งแต่ ๖๐,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาได้ครอบคลุมถึงความรุ่งเรืองและการล่มสลายของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ และความเจริญความศิวิไลซ์ตั้งแต่ช่วงกรีก โรมัน จีนและเอเชียตะวันตก เนื้อหาได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญอย่าง พระเจ้าอโศกมหาราช เจงกีสข่าน โมหันทาส กะรัมจันท คานธี และวลาดิเมียร์ เลนิน เป็นต้น สงครามและการปฏิวัติ ประชาธิปไตยและเผด็จการ

         เล่มที่สอง "Towards Freedom" เขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๗ (ค.ศ.1934) หนังสือเล่มนี้ นอกจากจะพิจารณาถึงสิ่งจูงใจในการต่อสู้เอกราชอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยังถือว่าเป็นเอกสารที่สำคัญของลัทธิชาตินิยมของอินเดียอีกด้วย นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ชาวตะวันตก เกิดความเห็นใจในการต่อสู้เพื่อเอกสารของชาวอินเดีย และเป็นเรื่องราวเผยแพร่โดยฝ่ายอินเดีย ไม่ใช่อังกฤษ เนื้อหาในเล่ม (จำนวน ๖๗๒ หน้า) ได้กล่าวถึงบรรพชนของท่านท่านอพยพมาจากแคชเมียร์ (Kashmir)  ตอนท้ายของหนังสือได้กล่าวถึงเส้นทางของ อารยะขัดขืน (Civil Disobedience) ซึ่งนำไปสู่การจองจำตัวท่านในที่สุด

         เล่มสุดท้าย คือ พบถิ่นอินเดีย "The Discovery of India" เป็นหนังสือเล่มที่ท่านเนห์รูเขียนได้ดีที่สุด ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ (ค.ศ.1944) ซึ่งเป็นเวลาที่เขาถูกคุมขังครั้งสุดท้ายและเป็นช่วงที่นานที่สุด หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียจากแนวความคิดที่ไม่ใช่ของคนอังกฤษเป็นครั้งแรก

 
       
       
        หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ จำนวน ๕๘๔ หน้า โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้แปลเป็นภาษาไทยโดย ท่านกรุณา กุศลาสัย มีการตีพิมพ์ครั้งล่าสุด คือครั้งที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๔๙)
 
  • การต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย (พ.ศ.๒๔๕๕ - ๒๔๙๐ หรือ ค.ศ.1912 - 1947)

ศรีบัณฑิต ยวาหระลาล เนห์รู กับ เอิร์ลที่ ๑ หลุยส์ เมาท์แบตเท็น แห่งพม่า
(Louis Moutbatten, 1st Earl Mountbatten of Burma) (อุปราชอังกฤษคนสุดท้ายแห่งอินเดีย)

        ในระหว่างที่่ท่านไม่ได้ถูกจองจำและในขณะที่การต่อสู้เพื่อเอกราชสงบลงชั่วคราว ท่านได้เดินทางไปทั่วยุโรปและเอเชีย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ (ค.ศ.1927)  ท่านได้ร่วมประชุมคองเกรสแห่งประชาชนที่ถูกกดขี่ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งจัดโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเขาเห็นว่าคอมมิวนิสต์ได้ให้ความสนใจต่อเป้าหมายลัทธิชาตินิยม และท่านได้ไปเยือนกรุงมอสโคว์ สหภาพโซเวียตในเดือนพฤศจิกายนปีถัดมา และท่านรู้สึกประทับใจในแผนการและเป้าหมายของพวกคอมมิวนิสต์ แต่ขณะเดียวกันท่านก็ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงและวิธีแบบเผด็จการ รวมทั้งการที่คอมมิวนิสต์ประนามทุกคนที่ไม่เห็นด้วย
 
  • แตกต่างจากท่านมหาตมะ คานธี
        แม้ว่าท่านเนห์รูจะทำงานใกล้ชิดกับคานธีตั้งแต่ปี  พ.ศ.๒๔๖๔ (ค.ศ.1921) เป็นต้นมา จนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราช และแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่คานธีสนับสนุนให้เป็นผู้นำต่อไป แต่แนวความคิดของท่านทั้งสองนั้น มีความแตกต่างกันมาก

        ในขณะที่คานธีเชื่อว่าหลักการสำคัญในการดำเนินชีวิตคือการไม่ใช้ความรุนแรง แต่เนห์รูเชื่อแต่เพียงว่าการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่อาจใช้ได้ผลในสถานการณ์เฉพาะอย่าง ท่านมักไม่เห็นด้วยกับคานธีว่าการทำสัตยเคราะห์จะเกิดผลดีแก่อินเดีย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเมื่อคานธีตั้งต้นทำสัตยเคราะห์ แต่แล้วก็ประกาศเลื่อนในเวลาต่อมา ซึ่งท่านเห็นว่า คานธีไม่มีเหตุผลเพียงพอและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

        สิ่งแตกต่างกันอีกประการหนึ่งก็คือ ท่านมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์และสนใจโลกแห่งวัตถุ ทำให้เนห์รูไม่เห็นด้วยกับวิธีการของคานธีที่นำศาสนามาผสมผสานกับการเมือง

 
ศรีบัณฑิต ยวาหระลาล เนห์รู กับ มหาตมะ คานธี ในปี พ.ศ.๒๔๘๕

        ในขณะที่คานธีเข้าถึงประชาชนด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดู ท่านกลับใช้ถ้อยคำสมัยใหม่และศัพท์ตะวันตกในการเข้าถึงประชาชน ที่สำคัญได้แก่ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งสองในด้านนโยบายทางเศรษฐกิจ ท่านไม่เห็นด้วยกับความคิดของคานธีที่คัดค้านการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่หรือการที่คานธีให้ความสำคัญต่อการปั่นด้ายและหัตถกรรมในครัวเรือน ท่านเชื่อมั่นว่าอินเดียจะต้องทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมและสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อแก้ปัญหาความล้าหลังทางเศรษฐกิจ

        ลักษณะตรงข้ามอีกประการหนึ่งคือ คานธีเป็นนักอนุรักษ์นิยม ส่วนท่านเป็นพวกหัวก้าวหน้า ท่านต้องการให้รัฐเป็นเจ้าของกิจการหรือควบคุมอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของประเทศ ท่านยังเชื่อมั่นในการกระจายรายได้ การเก็บภาษีมรดก การปฏิรูปที่ดิน

        ส่วนคานธีต้องการให้คนร่ำรวยสละทรัพย์สินของตนโดยสมัครใจ เพื่อพิทักษ์คนที่ยากจนกว่า ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นอุดมคติที่สูงส่งและยากที่จะนำมาปฏิบัติได้ ท่านต้องการให้พรรคคองเกรสแห่งชาติบรรจุแผนการปฏิรูปสังคมดังกล่าวไว้ เป็นนโยบายหลักของพรรค ท่านหวังที่จะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของพรรคให้เป็นสังคมนิยมทั้งหมด ด้วยความช่วยเหลือของนักสังคมนิยมรุ่นหนุ่มในพรรค ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของเขาว่า

        "โดยเหตุที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้ลัทธิสังคมนิยมนี้ เจริญก้าวหน้าอย่างมากในประเทศนี้และหวังว่ากาลเวลาจะกลับใจคองเกรสแห่งชาติและประเทศชาติให้หันมาหาลัทธิสังคมนิยมได้ เพราะว่าโดยอาศัยการแก้ปัญหาแบบสังคมนิยมเท่านั้นที่ข้าพเจ้าเห็นว่า จะทำให้อินเดียบรรลุถึงอิสรภาพได้"

        แต่ท่านก็ไม่สามารถทำให้บรรลุผลสำเร็จได้ในระหว่างที่ มหาตมะ คานธียังมีชีวิตอยู่

 
  • บทบาทของเนห์รูภายหลังเอกราช
        ท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานของพรรคคองเกรสแห่งชาติถึง ๔ ครั้ง ก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราช ในฐานะที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานพรรคคองเกรสแห่งชาติ ท่านจึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งขึ้นโดย ลอร์ด วาเวล์ (The Viscount Wavell) อุปราชอังกฤษประจำอินเดียในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ.1946)

        คุณสมบัติที่สำคัญประการสำคัญของท่านก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ เมื่อท่านได้เดินทางไปปราศรัยในที่ต่าง ๆ ท่านจะได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างเนืองแน่นเสมอ ทั้งนี้เนื่องจากท่านมีพรสวรรค์ในการพูด กอปรกับความจริงใจที่มีต่อประชาชน และความตั้งใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ รวมทั้งความสามารถในการพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ท่านจึงไม่เพียงแต่จะเป็นวีรบุรุษของการกู้อิสรภาพและทายาททางการเมืองของคานธีเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นผู้ที่ประชาชนนิยมยกย่องมาก

        แม้กระนั้นก็ตาม ท่านยังถูกขัดขวางจากสมาชิกพรรคองเกรสส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของท่าน นักการเมืองหลายคนแค้นเคืองในเรื่องที่ท่านต้องการจะแบ่งแยกอินเดีย และพยายามผลักดันให้รัฐบาลอินเดียแก้แค้นประเทศเกิดใหม่อย่างปากีสถาน และมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับท่าน เกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยม การวางแผนทางเศรษฐกิจ การเมืองของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่านแยกศาสนาออกจากการเมือง ทำให้ท่านได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มนักการเมืองดังกล่าว

        ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากคณะกรรมาธิการปฏิบัติการของคองเกรส ใน พ.ศ.๒๔๙๓ (ค.ศ.1950) แต่ในปีถัดมาท่านก็ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคคองเกรสอีกเป็นครั้งที่ ๕ ซึ่งเป็นสิ่งพิสูจน์ว่า ท่านยังได้รับความนิยมจากบรรดาสมาชิกพรรคฯ อยู่มาก ด้วยความสามารถอย่างยอดเยี่ยม ท่านสามารถประสานความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้และไม่ดึงดันที่จะทำตามวิถีของทางตนแต่ฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่โดยแท้จริงแล้ว ท่านสามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะมีมวลชนสนับสนุนเขาอยู่

        ประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศอินเดียของท่านก็คือ การพัฒนาประเศให้เจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก เป็นวิทยาศาสตร์และไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนา การวางแผนเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ท่านมีความเห็นว่ารัฐควรเป็นผู้ริเริ่มกิจการ(ขนาดใหญ่) ต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันท่านก็ไม่เชื่อว่าควรจะต้องโอนกิจการต่าง ๆ มาเป็นของรัฐเสียทั้งหมด เน้นให้อินเดียมีเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed economy) วิสาหกิจบางอย่าง (ทางด้านสาธารณูปการ) เป็นของรัฐ บางอย่างเป็นของเอกชน

       ในด้านสังคม ท่านต้องการให้อินเดียเป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้นวรรณะ โดยการสร้างโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ลัทธิสังคมนิยมของท่านจึงค่อนข้างจะสอดคล้องกับความเป็นจริง และยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวอินเดีย       

       จุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของท่านก็คือ ท่านไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายตามที่วางไว้เท่าที่ควร ในทางปฏิบัติ ท่านไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย ส่วนหนึ่งของความล้มเหลวนี้มาจาก การเหนี่ยวรั้ง การที่จะต้องประนีประนอมกับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มจารีตเดิม และกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ล้าหลังต่าง ๆ ที่เคยมีอภิสิทธิ์มาก่อน กอปรกับท่านไม่ได้มอบหมายอำนาจความรับผิดชอบให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเพียงพอและเหมาะสม

       นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านทุจริต การทำงานที่ไม่ประสิทธิภาพของภาครัฐ และผู้ร่วมงาน มิหนำซ้ำโครงการสำคัญ ๆ ที่จะปฎิรูปสวัสดิภาพของประชาชนก็ไม่ได้ถูกผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่แท้จริง แต่เนื่องจากบุคลิกภาพของท่าน ที่ประกอบด้วยความสามารถ สติปัญญา และความผูกพันทางจิตใจ จึงทำให้เขาได้รับความจงรักภักดีจากประชาชนในทุกชั้นวรรณะ

 
  • สงครามจีน-อินเดีย ปี พ.ศ.๒๕๐๕ (Sino-Indian War)
        หรือเป็นที่รู้จักในชื่อของความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย (Sino-Indian Border Conflict) สงครามนี้เกิดขึ้นระหว่าง ๒๐ ตุลาคม ถึง ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๕ ผลคือจีนเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งสร้างความขมขื่นให้แก่อินเดียมาก และยังตามมาหลอกหลอนสายสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดีย จวบจนปัจจุบัน
  • อสัญญกรรม
       สุขภาพของท่านทรุดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากปี พ.ศ.๒๕๐๕ ในปีต่อมาท่านได้ใช้เวลาหลายเดือนในการกลับไปฟื้นฟูสุขภาพที่แคชเมียร์ นักประวัติศาสตร์บางท่านได้ให้ความเห็นว่า ท่านเกิดความเสียใจมีความรู้สึกว่าถูกหักหลังเสมือนมิตรทรยศ จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับสงครามจีน-อินเดีย (Sino-Indian War) และในปี พ.ศ.๒๕๐๗ หลังจากที่ท่านกลับมาจากการพักฟื้นที่แคชเมียร์ ท่านเกิดอาการหัวใจวาย และถึงแก่อสัญกรรมในบ่ายของวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗

      อัฐฐิธาตุของท่านถูกเก็บไว้ ณ ศานติวนา (Shantivana หรือ Shantivan) บนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา (Yamuna river) นั่นเอง



ที่มาและคำอธิบาย:
๑.   ปรับปรุงจาก. en.wikipedia.org/wiki/Jawaharlal_Nehru, วันที่สืบค้น ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖.
.   ปรับปรุงจาก. socialitywisdom.blogspot.com, วันที่สืบค้น ๑๐ เมษายน ๒๕๕๖.
๓.   ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/การสังหารหมู่ที่อมฤตสาร์_พ.ศ.2462, วันที่สืบค้น ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖.
๔.   ปรับปรุงจาก. en.wikipedia.org/wiki/Glimpses_of_World_History, วันที่สืบค้น ๑๒ เมษายน ๒๕๕๖.
๕.   ปรับปรุงจาก. en.wikipedia.prg/wiki/Sino-Indian_War, วันที่สืบค้น ๑๔ เมษายน ๒๕๕๖.

 
info@huexonline.com