MENU
TH EN
พระยาพิชัยดาบหัก
First revision: Apr. 14, 2014
Last change: Nov. 09, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโด
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
       ขอสดุดีวีรกรรมของทหารหาญคู่พระทัยของพระเจ้าตากสินมหาราช "พระยาพิชัยดาบหัก"  ที่ต่อสู้กับอริราชศัตรู  ด้วยดาบสองมือ ออกต่อสู้จนกระทั่งดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองพิชัยไว้ได้                                                     
14 เมษายน พ.ศ.2557

         พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ "จ้อย" เกิดที่บ้านห้วยคา อำเภอพิชัย (หรือในภาษาพม่าเรียก "เปกแซ")08. จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ.2284 (ท่านมีอายุน้อยกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 7 ปี - สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชสมภพเมื่อ 7 เมษายน พ.ศ.2277) ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ - เจ้าฟ้าพร) ท่านมีพี่น้อง 4 คน แต่เสียชีวิตไป 3 คน. ท่านได้ศึกษาอยู่กับพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลังท่านได้เปลี่ยนชื่อใหม่ จาก "จ้อย" เป็น "ทองดี" หรือ "ทองดีฟันขาว" มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ.

        ท่านได้เข้ารับราชการรับใช้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์ มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบ จึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ.

        ต่อมา พม่าตะเลงรามัญ ยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือ ออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงได้รับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"

 

วัดมหาธาตุ เมืองพิชัยในปัจจุบันได้ซ่อมแซมปรับปรุงไปมากแล้ว อุโบสถหลังเก่า ได้แปรเปลี่ยนเป็นวิหาร ได้มีการก่อสร้างอุโบสถใหม่ขึ้น

วัยเยาว์
        เด็กชายจ้อย มีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย บิดาได้พร่ำสอนเสมอว่า ถ้าจะชกมวยให้เก่ง ก็ต้องขยันเรียนหนังสือด้วย เมื่อายุได้ 14 ปี บิดาได้นำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย. จ้อยสามารถอ่านออกเขียนได้จนแตกฉาน ทั้งนี้เพราะเป็นคนขยันและเอาใจใส่ในตำราเรียน คอยรับใช้อาจารย์และซ้อมมวยไปด้วย ทั้งหมัด เข่าและศอก และสามารถเตะได้สูงถึงสี่ศอก (1 ศอก เท่ากับ 0.5 เมตร) ในขณะที่เป็นเด็กวัดนั้น ท่านมักจะถูกกลั่นแกล้งจากเด็กที่โตกว่าเสมอ แต่ไม่นานนัก ท่านก็สามารถปราบเด็กวัดทุกคนได้ด้วยชั้นเชิงมวย.

        ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตร (ชื่อ "เฉิด") มาฝากที่วัด เพื่อร่ำเรียนวิชา เฉิดกับพวกมักจะหาทางทะเลาะวิวาทกับท่านเสมอ ท่านจึงได้ตัดสินใจหนีออกจากวัดขึ้นไปทางเหนือ โดยมิได้บอกบุพการีและพระอาจารย์ ท่านเดินตามลำน้ำน่านไปเรื่อย ๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักตามวัดที่วัดบ้านแก่ง ท่านได้พบกับครูฝึกมวยผู้หนึ่งชื่อ "เที่ยง" จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ จาก "จ้อย" เป็น "ทองดี" ท่านครูเที่ยงรักท่านมาก และมักเรียกท่านว่า "นายทองดีฟันขาว" (สันนิษฐานว่า ท่านไม่ได้เคี้ยวหมากพลูเหมือนดั่งคนในสมัยนั้น) ด้วยความสุภาพเรียบร้อย และขยันขันแข็งเอาใจใส่การฝึกมวย ช่วยการงานบ้านครูเที่ยงด้วยดีเสมอมา. ทำให้ลูกหลานครูเที่ยงอิจฉาท่านมาก จนหาทางกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา ท่านจึงเห็นว่า หากอยู่บ้านแก่งต่อไป ชะรอยคงจะลำบาก ประกอบกับครูเที่ยงก็ได้ถ่ายทอดวิชาจนหมดสิ้นแล้ว จึงกราบลาครูขึ้นเหนือต่อไป.


ชื่อเสียงเลื่องลือ
        เมื่อเดินถึงบางโพ ท่านได้เข้าไปพักที่วัดวังเตาหม้อ (ปัจจุบันคือ วัดท่าถนน) กอปรกับเวลานั้น วัดวังเตาหม้อมีการแสดงงิ้ว (อุปรากรจีน) ขึ้น ท่านจึงอยู่ชมการแสดงงิ้วร่วมเจ็ดคืน ท่านสนใจการแสดง ท่าทาง การหกคะเมน ตีลังกา ได้จดจำไปฝึกหัด จนกระทั้งจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมด ท่านสามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืนได้อย่างสบาย จากนั้นท่านก็ลาพระสงฆ์ที่วัดวังเตาหม้อขึ้นไปท่าเสา ขอสมัครเป็นลูกศิษฐ์ครูเมฆ ซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวยมาก ครูเมฆก็รักนิสัยใจคอของท่าน จึงได้ถ่ายทอดวิชาด้านการหมัดมวยจนหมดสิ้น ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ 18 ปี.

        ต่อมาท่านได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล นายถึกสู้ท่านไม่ได้เลย ถูกเตะสลบไปนานชั่วนาฬิกากะลาเจาะรูจมน้ำไปสองครั้ง (ร่วม 10 นาที) ครูนิลรู้สึกอับอายมาก จึงได้ท้าครูเมฆมาชกกัน ท่านจะได้กราบอ้อนวอนขอเป็นผู้ชกแทนครูเมฆ ๆ ก็ยินยอม ท่านได้ตลุยเตะต่อยจนครูนิลฟันหลุดถึงสี่ซี่ เลือดกลบปาก สลบไปครู่หนึ่ง ชื่อเสียงของท่าน "นายทองดี ฟันขาว" ได้กระฉ่อนไปทั่วทั้งเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และเมืองฝาง.

        ท่านได้อยู่เป็นศิษฐ์กับครูเมฆได้สองปี ก็กราบลาไปศึกษาการฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก ด้วยการที่ท่านฉลาดมีไหวพริบ ท่านได้ใช้เวลาเพียงสามเดือน ก็สำเร็จวิชาการฟันดาบ เป็นที่พิศวงของครูผู้สอนมาก หลังจากนั้น ท่านก็ท่องไปเมืองสุโขทัย และเมืองตาก ระหว่างที่เดินทางอยู่นั้น ท่านได้รับศิษย์ไว้คนหนึ่ง ชื่อ บุญเกิด (หมื่นหาญณรงค์) โดยเมื่อครั้งที่บุญเกิดถูกเสือคาบไปนั้น ท่านได้ช่วยบุญเกิดไว้ ด้วยการแทงมีดเข้าปากเสือ จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว.
รับราชการ ทหารเอกพระเจ้าตาก
        เมื่อท่านได้เดินทางมาถึงเมืองตาก ขณะนั้นได้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่ เจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) จัดให้มีมวยฉลองด้วย ท่านดีใจมาก ได้เข้าไปเปรียบมวยกับครูห้าว ซึ่งเป็นครูมวยมือดีของเจ้าเมืองตาก และมีอิทธิพลมาก ท่านได้ใช้ความว่องไวด้วย หมัด ศอก และเตะขากรรไกร จนครูห้าวสลบไป เจ้าเมืองตากจึงถามว่า สามารถชกนักมวยอื่นอีกได้หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าสามารถชกได้อีก เจ้าเมืองตากจึงให้ชกกับครูหมึกครูมวยร่างสูงใหญ่ ผิวดำ ท่านได้เตะซ้ายเตะขวา บริเวณขากรรไกร จนครูหมึกล้มลงสลบไป.

        เจ้าเมืองตากพอใจมากให้เงิน 3 ตำลึง และชักชวนให้อยู่ด้วย ท่าน(นายทองดี ฟันขาว) จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ตั้งแต่บัดนั้น ท่านรับใช้จนเป็นที่โปรดปรานมาก ได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการ ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างใกล้ชิด และเป็นเวลาเดียวที่พม่ายกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยา.
     
        พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสาและทหารหาญ ได้เข้าปะทะต่อสู้จนได้ชัยชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร เข้าสู้รบกับทัพพม่า มีชัยชนะหลายครั้งหลายคราว พระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการต้อนรับจากประชาชน และได้รับการยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรีและได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสา เป็นจมื่นไวยวรนาถ เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์.

        ต่อมาในปี พ.ศ.2311 พม่าได้ยกทัพมาอีกหนึ่งหมื่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พร้อมด้วยจมื่นไวยวรนาถ ได้เข้าโจมตีจนตะเลงแตกพ่ายไป และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับกรุงธนบุรี พระองค์ได้โปรดตั้งจมื่นไวยวรนาถ เป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบก๊กพระเจ้าฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัย อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย.

ภาพในอาคารอนุสรณ์สถานพระยาพิชัยดาบหัก มีภาพวาดแสดงจินตนาการการสู้รบกับตะเลงของพระยาพิชัยฯ4.
 
       ในปี พ.ศ.2313-2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว และทุกคราวที่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้สร้างความอัปยศอดสูแก่แม่ทัพนายกองเป็นทวีคูณ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลา ยกกองทัพมาหมายตีเมืองพิชัยอีก "ศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน ณ สมรภูมิบริเวณ "วัดเอกา" จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2316).

ถวายชีวิตเป็นราชพลี
       ในปี พ.ศ.2325 หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถูกสำเร็จโทษ  สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีฝีมือและมีความซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่ แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่ง ด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และถือคติว่า "ข้าสองเจ้า บ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก สำเร็จโทษตนเป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.

        หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษก เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้มีรับสั่งให้สร้างพระปรางค์ นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร5. ซึ่งพระปรางค์นี้ก็ยังปรากฎสืบมาจนปัจจุบัน.
พระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก ณ วัดราชคฤห์6.

       พระยาพิชัยดาบหัก ได้สร้างวีรกรรมอันควรเป็นเยี่ยงอย่าง อันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญ รวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป.

       ต่อมาลูกหลานของท่านนั้นได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "วิชัยขัทคะ" บ้างก็เรียก วิชัยขัธคะ (อ่านว่า วิ-ไช-ขัด-ทะ-คะ) ซึ่งแปลโดยอนุโลมว่า "ดาบวิเศษ" โดยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงให้ไว้ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 24567.

       และนอกจากนี้ ท่านยังเป็นต้นตระกูล วิชัยลักขณา, ศรีศรากร, พิชัยกุล, ศิริปาลกะ, ดิฐานนท์ ฯลฯ (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527: 105).


ที่มาและคำอธิบาย:
1.   ต้นเรื่องประวัติพระยาพิชัยดาบหักนี้เรียบเรียบมาจากเค้าโครงเรื่องที่พระยาศรี สัชนาลัยบดี อดีตเจ้าเมืองพิชัยสมัยหนึ่ง ได้รวบรวมเรียบเรียงเอาไว้ เพิ่มเนื้อหาสาระขึ้นบ้างเท่าที่ค้นคว้าเพิ่มเติมได้.
2.   ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/พระยาพิชัยดาบหัก, วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2557.
3.   ปรับปรุงจาก. en.wikipedia.org/wiki/Phraya_Phichai, retrieved date: April 14, 2014.
4.   จาก. www.oknation.net/blog/print.php?id=822699, วันที่สืบค้น ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗.
5.   วัดราชคฤห์วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๔๓๔ ถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร.
6.   จาก. www.watrajkrueh.com, วันที่สืบค้น ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗.
7.   จาก. phuengbanhan.blogspot.com/2011/08/blog-post_12.html., วันที่สืบค้น 3 พฤษภาคม 2557.
8.   จาก. นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 3, หน้า 21.

 

 
info@huexonline.com