MENU
TH EN

สายสกุลหลัก - โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นปฐมวงศ์

เหตุที่กระผมได้เขียนบทความในบล็อกนี้ขึ้นมา ก็เพราะด้วยความรู้สึกเทิดทูนเคารพรักพระองค์ท่านมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย ทุกครั้งที่ได้รับฟังรับทราบพระราชประวัติของพระองค์ท่าน แม้เพียงตอนหนึ่งเศษเสี้ยวหนึ่ง ก็รู้สึกสะสมทบทวีความภาคภูมิใจความประทับใจในวีรกรรมของบูรพมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้เป็นอย่างมาก  ด้วยพระปรีชาญาณ กอปรกับพระวิริยะอุตสาหะ ตลอดจนการมีทหารหาญคู่พระทัยที่มากด้วยความสามารถ ได้สู้รบกับอริราชศัตรูจนตะเลงแตกพ่ายไป ทำให้สยามประเทศเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์มาจวบจนปัจจุบัน นับเป็น "กฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้"

บทความ ภาพประกอบและข้อมูลต่าง ๆ ในบล็อกนี้ ผมขอเริ่มต้นที่สายสกุลหลักโดยมีพระบาทสมเด็จพระตากสินมหาราชเป็นปฐมวงศ์ก่อน เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็จะ Up-date พร้อมกับขยายบริบทไปเรื่อย ๆ เท่าที่ขีดความสามารถและภูมิปัญญาของผมมี

ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่แสดงไว้ ผมจะแจ้งถึงแหล่งที่มา ข้อมูลอ้างอิงให้มากที่สุดเท่าที่จักกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์และความสมบูรณ์ในช่วงหนึ่งชาติประวัติศาสตร์ชาติสยาม โดยพยายามเบี่ยงเบนหรือบิดเบือนให้น้อยที่สุด

ท่านใดต้องการเสริม เพิ่มเติม ตัดทอน ชี้แนะ เพื่อความสมบูรณ์ข้อมูล ขอเชิญส่งข้อความมาได้ที่ info@huexonline.com ใคร่ขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

อภิรักษ์ กาญจนคงคา
๑๖ มกราคม ๒๕๕๖

 
First revision: Jan.16, 2013
Last change: Apr.28, 2021
 
                
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   (ภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ด้านขวา ปัจจุบันได้ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี)
(พระราชสมภพเมื่อ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๒๗๗ บ้างก็ว่า ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๒๗๗, เสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕, รวมสิริ ๔๘ พระชันษา)

พระองค์ท่านมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๓๐ พระองค์ (พระราชโอรส ๒๑ พระองค์ พระราชธิดา ๙ พระองค์ ) ดังนี้

พระราชโอรส ประกอบด้วย:-
๑.   กรมพระราชวังหน้า สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย)  (HRH Front Palace Krom Khun Intarapitak) พระราชโอรสที่ ๑ ในสมเด็จพระราชินี ดำรงตำแหน่งรัชทายาท (มีปรากฎในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๙ หน้า ๑๓๔) ถูกสำเร็จโทษเมื่อวันเสาร์เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ พ.ศ.๒๓๒๕ ....ดูราชสกุลสินศุข (สินสุข) และ อินทรโยธิน(ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๒.   สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย (HRH Prince Noi) พระราชโอรสที่ ๒ ในสมเด็จพระราชินี ถูกสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
๓.   สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์ (HRH Prince Tassaphong) ....ที่ ๑ ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม หรือเรียกในราชสำนักนครศรีธรรมราชว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่ ราชธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราช) ในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระพงษ์อำมรินทร์ (หรือเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า พระพงษ์นรินทร์) ดูราชสกุลพงษ์สิน (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๔.   สมเด็จเจ้าฟ้านเรนทรราชกุมาร (HRH Prince Narendhorn Raja Kumarn) ....ที่ ๓ ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงรัชกาลที่ ๒ เป็นพระนเรนทรราชา ดำรงพระชนม์มาถึงรัชกาลที่ ๓ ดูราชสกุลรุ่งไพโรจน์ (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๕.   สมเด็จเจ้าพระทัศไภย (HRH Prince Tassabhai)  ....ที่ ๒ ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงราชกาลที่ ๒ เป็นพระอินทอำไพ (หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า พระอินทรอภัย) ถูกสำเร็จโทษใน พ.ศ.๒๓๕๗ เป็นพระบิดาเจ้าจอมมารดา น้อย  ดูราชสกุลนพวงศ์ และ สุประดิษฐ์ (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๖.   สมเด็จเจ้าฟ้าสุพันธูวงศ์ (เจ้าฟ้าเหม็น) (บ้างก็ว่า พันธุวงศ์ บ้างก็ว่า พันธวงศ์) (HRH Prince Subandhuwong) พระองค์ท่านเป็นเจ้าของวังท่าพระ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระในปัจจุบัน...ในเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ (พระราชธิดาในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) ถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ แล้วได้ทรงกรมเป็นกรมขุนกษัตรานุชิต ทรงสถาปนาวัดอภัยธาราม สามเสน เมื่อจะเริ่มรัชกาลที่ ๒ วันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ พ.ศ.๒๓๕๒ ถูกสำเร็จโทษ พร้อมกับเจ้าชายที่เป็นโอรสเล็ก ๆ อีก ๖ องค์

 
                
วังท่าพระในปัจจุบัน และวัดอภัยทายาราม

๗.   สมเด็จเจ้าฟ้าศิลา (HRH Prince Sila) ในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระยาประชาชีพ  ....ดูราชสกุลศิลานนท์ (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๘.   สมเด็จเจ้าฟ้าสิงหรา (HRH Prince Singhara)
๙.   สมเด็จเจ้าฟ้าเล็ก (HRH Prince Lek) (แผ่นดินไหว) (สันนิษฐานว่าช่วงที่พระองค์ประสูติอาจเกิดมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ่้น - ผู้ศึกษา)
๑๐. พระองค์เจ้าอรนิกา (HRH Price Onica) .....บรรพบุรุษแห่งสกุลรัตนภาณุที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาอำพัน (ธิดาเจ้าอุปราชจันทร์ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นต้นสกุลจันทโรจวงศ์) ถูกสำเร็จโทษเมื่อจะเริ่มรัชกาลที่ ๒ วันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ พ.ศ.๒๓๕๒ พร้อมสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตดูราชสกุลจันทโรจวงศ์ (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๑๑. พระองค์เจ้าอัมพวัน (HRH Prince Ampawan) ในเจ้าจอมมารดาทิม (ธิดาท้าวทรงกันดาล ทองมอญ) พระญาติแห่งสกุล ศรีเพ็ญ
๑๒. พระองค์เจ้าดำรง (บ้างก็ว่า พระองค์เจ้าธำรง) (HRH Prince Damrong)
๑๓. พระองค์เจ้าละมั่ง (HRH Prince Lamang) ในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระยาสมบัติบาล
๑๔. พระองค์เจ้าคันธวงศ์ (HRH Prince Kandhawong)
๑๕. พระองค์เจ้าเมฆินทร์ บ้างก็เรียก พระองค์เจ้าชายเมฆิน (HRH Prince Mekin)
๑๖. พระองค์เจ้าอิสินทร (HRH Prince Isindhorn)
๑๗. พระองค์เจ้าบัว (HRH Prince Bua)
๑๘. พระองค์เจ้าชาย (ไม่ทราบพระนาม)
๑๙. พระองค์เจ้าหนูแดง (HRH Prince Nu Dang)
๒๐. เจ้าพระยานคร (น้อย) (Chao Phraya Nakhon Noi) ....บ้างก็เรียก เจ้าน้อย (ในฐานะเป็นพระราชบุตรบุญธรรมแห่งพระมหาอุปราชนครศรีธรรมราช) ในฐานะเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง (ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงเล็กของนครศรีธรรมราช) กนิษฐภคินีของกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงรัชกาลที่ ๒ เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมราช  ดูราชสกุล ณ นคร, ยอดชีวัน ณ นคร, จาตุรงคกุล และ โกมารกุล ณ นคร  (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๒๑. เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) (Chao Phraya Nakhonratchasima Thong In) ...ดูราชสกุลอินทรกำแหงณ ราชสีมา, มหาณรงค์, คชวงศ์ (คชวงษ์), อินทโสฬส, ชูกฤส (ชูกริส) , เนียมสุริยะ, เชิงธงไชย, อินทนุชิต, ศิริพร และนิลนานนท์ (นินนานนท์)   (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)



พระราชธิดา ประกอบด้วย:-
๑.   สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี  (HRH Princess Panjapapee) ....ที่ ๔ ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงรัชกาลที่ ๑ เป็นพระชายาเจ้าฟ้ากรมขุมอิศรานุรักษ์ ราชภาคิไนย (หลาน คือ ลูกของพี่สาวหรือน้องสาว) ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ดูราชสกุลอิศรางกูร (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๒.   สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงโกมล (HRH Princess Komol)
๓.   สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุปผา (HRH Princess Bubpha)
๔.   สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสำลีวรรณ  (HRH Princess Samleewan) หรือ เจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าสำลีวรรณ....เป็นที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาอำพัน (ธิดาเจ้าอุปราชจันทร์) ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์เจ้าสำลีวรรณเป็นพระราชชายากรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๒ แล้วถูกสำเร็จโทษ วันพุธเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ พ.ศ.๒๓๕๒ พร้อมสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต  ดูราชสกุลอิศรเสนา (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า)
๕.   พระองค์เจ้าประไพพักตร์ (HRH Princess Prapaipak) ในจอมมารดาเงิน
๖.   พระองค์เจ้าสุมาลี (HRH Princess Sumalee)
๗.   พระองค์เจ้าจามจุรี (HRH Princess Chamchuree)
๘.   พระองค์เจ้าสังวาลย์ บ้างก็เรียก พระองค์เจ้าหญิงสังวาล (HRH Princess Sangwal)
๙.   พระองค์เจ้าสุดชาตรี (HRH Princess Sudchartee)
ที่มาและคำอธิบาย:
๑.   จาก.  en.wikipedia.org/wiki/Taksin, วันที่สืบค้น ๐๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖.
๒.   จาก. หนังสือ "ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๔ สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี", ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิง หม่อมราชวงศ์อรุณ วรพงศ์พิพัฒน์ ท.จ.ว. ณ วัดเทพศิรินทราวาส, พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ข.-ง.
info@huexonline.com