MENU
TH EN

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช - บทที่ 5: ธำรงความเป็นรัฐไทย

พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงธนบุรีเขียนด้วยภาษาจีน มีตราบัวแก้วสีชาดประทับอยู่บนตัวอักษรจีน
อ่านว่า "บิ้น" ปั
จจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานพระราชวังแห่งชาติ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
01


สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
บทที่ 5: ธำรงความเป็นรัฐไทย

First revision: Nov.26, 2016
Last change: Aug.18, 2020

สืบค้น รวบรวมและเรียบเรียงโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา

ธำรงความเป็นรัฐไทย: หนึ่ง

กองทหารโพกหัวแดงชาวล้านนาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าตาก02
ในปี พ.ศ.2317 มีเหตุการณ์สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ล้านนา เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าต้อง "เลือกข้าง" ว่าจะอยู่ข้างใคร ระหว่างการอยู่ใต้บังคับของพม่าดุจช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา นับแต่พระเจ้าชนะสิบทิศ "บุเรงนอง" ยึดเมืองเชียงใหม่ พร้อมเมืองในบริวารเมื่อปี พ.ศ.2101 หรือ อยากเลือกข้างไปอยู่กับอำนาจใหม่เป็นประเทศราชของสยามแทน.
พญากาวิละ (พระบรมราชาธิบดี หรือ พระเจ้ากาวิละ) (พ.ศ.2285 - 2358)
พระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร

ผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในการตัดสินใจคือ พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และพญากาวิละ ขณะนั้นกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะได้มอบหมายให้พญาจ่าบ้าน เป็นผู้ดูแลนครเชียงใหม่ โดยให้ชื่อว่าพระยาสุรสงคราม03 ส่วนพญากาวิละเป็นผู้ดูแลนครลำปาง ภายใต้การควบคุมของ "โป่มะยุง่วน" ผู้ที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า "โป่หัวขาว" (คำว่าโป่ หมายถึง นายกอง ซึ่งพม่า ยังมองว่าเมืองเชียงใหม่นั้น ควรเป็นแหล่งในการระดมพลและเสบียงเพื่อเตรียมทำสงครามกับนครรัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะกรุงศรีอยุธยา นครเชียงใหม่ยังไม่มีฐานะเป็นเมืองพระยามหานคร) เนื่องจากเป็นหม่องที่ชอบโพกผ้าสีขาวเป็นสัญลักษณ์เสมอ

กองกำลังของพญาจ่าบ้านมีเพียงหยิบมือ (ราว ๆ 1,900 คน) ในขณะที่พม่ามีทหารนับหมื่น หนทางเดียวที่ล้านนาจะหาญสู้พม่าได้ ก็คือการหันไปสวามิภักดิ์ต่อเจ้าตาก พญาจ่าบ้านได้ส่งหลานชายซึ่งมีฐานะเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพม่าตั้งให้ดูแลเมืองลำพูน ชื่อ "ก้อนแก้ว" (บ้างก็เรียก "เจ้าน้อยก้อน")05 นำกองทัพ "ทหารโพกผ้าแดง" ไปเข้าเฝ้าเจ้าตาก ณ ถ้ำแห่งหนึ่งกลางลำน้ำปิง เวียงลี้.

อุปราชก้อนแก้วเป็นคนหนุ่ม ฝีมือเข้มแข็ง ซุ่มฝึกกองทหารโพกหัวด้วยผ้าแดงไว้ราวพันกว่าคน เป็นผู้นำทัพที่ชาวล้านนารักใคร่ เป็นที่เคารพยำเกรงมาก ถือว่าเป็นแม่ทัพมือขวาของพญาจ่าบ้านเลยทีเดียว

ประวัติศาสตร์ช่วง "ฟื้นม่าน" (ปฏิวัติหรือปลดแอกจากม่าน หรือ พม่า) ของชาวล้านนาได้ถูกนำมาแต่งเป็นกวีนิพนธ์เรื่องแล้วเรื่องเล่า อาทิบทกวี "โคลงค่าวริร่ำถ้อยเมืองพิงค์" ไม่ทราบนามผู้รจนา เขียนด้วยอักษรธรรมบนใบลานไม่ระบุปีที่แต่ง แต่ทางวัดป่าแพ่ง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเชียงใหม่ได้คัดลอกสำนวนเก็บไว้เมื่อปี พ.ศ.2406 กวีนิพนธ์มีความยาว 80 บท แต่ขอมาเพียง 3 บท เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหว

        หัวขาวโป่ม่านเถ้า                เพพลัด
        ตื่นแตกหนีกระจัด                พ่ายค้าน
        เครื่องยศเสตฉัตร                 ...ทอด ทุมเอย
        วิบากเลยถบพ้าน                 พรากห้องเสียเมือง
        กษัตริย์เสิกอยุธิเยศเจ้า04       เหนือหัว
        กวัดกวาดฝูงคนครัว              ลูกล้อน
        ช้างม้าหมู่งัวควาย                ริบร่าย รอมเอย
        เก็บรายกันเข้าข้อน              แต่งตั้งเวียงละพูน
        ตั้งจ่าบ้านหื้อครองอยู่           รักษา
        พลไพร่ฝูงประชา                ไพร่ฟ้า
        ก้อนแก้วเป็นอุปราชา            รองราช ลงเอย

        พิงเพิ่งหลานและน้า             อยู่เฝ้าเมืองละพูน


การขึ้นมาปราบพม่าที่เชียงใหม่ของเจ้าตากนั้น พระองค์ได้ตรึงทัพไว้ที่ถ้ำช้างร้อง กลางกระแสน้ำแม่ปิงที่ไหลเชี่ยวกราก ปัจจุบันถ้ำนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
 
ภาพจาก www.ท่องทั่วไทย.com/อุทยานแห่งชาติแม่ปิง-ลำพูน/ ภาพโดย None kanjanakuha, วันที่สืบค้น 18 ธันวาคม 2559.

เจ้าตากให้ทหารผูกพลับพลาไม้ไว้หลังหนึ่ง เป็นศาลาโถง หลังคามุงแป้นเกล็ด ตกแต่งหน้าบันเรียบง่ายด้วยจั่วหน้าพรหม มีจุดเด่นอยู่ที่คันทวยฉลุฉลักลวดลายเล็กน้อยพองาม มีพระธุดงค์มาจำศีลตลอด ชาวลี้เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "พลับพลาพระเจ้าตาก"

ในเมื่อชาวล้านนาได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ขอเลือกที่จะอยู่ข้างฝ่ายสยาม เจ้าตากจึงทรง "มอบบ้านเวนเมืองให้เป็นเจ้า" ด้วยการแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้านเป็นพระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพ็ชร ครองเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิละเป็นพญาลคอร(ลำปาง) ครองนครลำปาง ส่วนอุปราชก้อนแก้วให้ดูแลฐานทัพเสบียงที่เวียงป่าซางเมืองลำพูน และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้แต่งงานกับเจ้านางฟ้าศรีอโนชา น้องสาวของเจ้ากาวิละ.

แต่ประวัติศาสตร์ที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน คนไทยแทบไม่รู้เรื่องของพญาจ่าบ้านเลย ผิดกับพญากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพจักร หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ผู้เป็นต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน ฯลฯ พญาจ่าบ้าน หายไปไหน ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นถึงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรกก่อนพญากาวิละ 

เหตุที่ชื่อของพญาจ่าบ้านลบเลือนหายไปจากความทรงจำ ก็เนื่องด้วย "พระสัญญาที่ไม่วิปลาส" ของเจ้าตากที่ทรงมีต่อกองกำลังทหารโพกผ้าแดงของอุปราชก้อนแก้วนั่นเอง.

กล่าวคือ ช่วงที่พม่าบุกกลับเข้าหมายจะยึดเมืองเชียงใหม่คืนจากสยาม พญาจ่าบ้านกับอุปราชก้อนแก้วได้แบ่งกองกำลังทหารซุ่มโจมตีพม่าคนละทิศ การสู้รบครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนาน กองทัพพญาจ่าบ้านอดอยากแร้นแค้นถึงขนาดที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกไว้ว่า ต้องจับจิ้งจกตุ๊กแกกิ้งก่ากิน หรือแม้กระทั่งเมื่อจับทหารพม่าได้เจ็ดนาย แทนที่จะฆ่าทิ้ง กลับจำใจต้องแล่เนื้อเถือหนัง เพื่อประทังความหิวโหย (พม่าเคราะห์ร้ายปีนกำแพงเมืองเข้ามาทางแจ่ง (มุม) ศรีภูมิ)05

 

พญาจ่าบ้านได้ขอให้กองทัพของอุปราชก้อนแก้ว แบ่งปันเสบียงอาหารให้แก่กองทัพตน ซึ่งอุปราชก้อนแก้วเองก็อัตคัตเหลือทน มิอาจทำตามคำขอนั้น ท้ายที่สุดพญาจ่าบ้านรู้สึกขัดใจ จึงเกิดโทสะฆ่าอุปราชก้อนแก้วเสีย.

กองทหารโพกผ้าแดง เมื่อเห็นว่าเจ้านายถูกฆ่าด้วยสาเหตุเพียงเรื่องแย่งชิงเสบียงอาหาร ก็มิอาจร่วมรบรับใช้พญาจ่าบ้านได้อีกต่อไป ต่างคนต่างแตกหนีเข้าป่าไปคนละทิศละทาง เหตุการณ์นี้เมื่อล่วงรู้ถึงพระกรรณเจ้าตาก เมื่อปี พ.ศ.2323 ทรงมีท้องตราเรียกให้พญาจ่าบ้านหรือพระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพ็ชร ลงไปเข้าเฝ้าที่กรุงธนบุรีเพื่อไต่สวนคดี.

โดยก่อนหน้านี้ด้วยความที่มีเหตุการณ์วุ่นวาย ทำให้เมืองเชียงใหม่ร้างไปหลายปี พระยาจักรีได้เชิญคณะข้าหลวงคุมลาวจากเวียงจันทร์ราว 300 คนมาช่วยดูแลทุกข์สุขชาวแพร่ ชาวน่าน ชาวลำปาง แต่ปรากฎว่าพวกข้าหลวงกลับรีดนาทาเร้นชาวบ้าน ที่อดอยากอยู่แล้วให้กลับอดอยากหนักขึ้นไปอีก เจ้ากาวิละ เห็นขัดหูขัดตา จึงให้คนแอบซุ่มโป่งฆ่าคณะข้าหลวงเหล่านั้นตายเสียสิ้น. 

เมื่อทรงทราบความตามจริงก็สลดพระทัยและเสียดายอุปราชก้อนแก้ว ทแกล้วทหารหาญที่มีฝีมือเป็นถึงแม่ทัพของกองทหารโพกผ้าแดง ถูกน้าของตัวเองฆ่า แต่ก็มิได้ทรงลงอาญาแก่พญาจ่าบ้านถึงขั้นประหาร พิพากษาลงโทษให้เฆี่ยนร้อยที แล้วจำคุกไว้จนสิ้นชีวิตในปีต่อมา จากนั้นจึงได้เลื่อนสถานะของเจ้ากาวิละจากผู้ครองนครลำปาง ให้มาเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่แทน. โดยกว่าที่พญาจ่าบ้านจะลงมาให้เจ้าตากชำระความก็มีหมายแจ้งไป (ฐานฆ่าอุปราชก้อนแก้ว) หลายครั้ง ส่วนเจ้ากาวิละนั้น เจ้าตากก็มีหมายแจ้งไปให้มาชำระความที่กรุงธนบุรี (ความว่าถึงสามครั้ง) (ฐานฆ่าคณะข้าหลวงตาย) โดยบ่ายเบียงว่าจะไปปราบความวุ่นวายที่เมืองลอง (ชายแดนระหว่างลำปางกับแพร่ มีการค้าไม้ มีแร่เหล็กมาก พวกชาวไทยใหญ่หรือเงี้ยวลงมาอยู่ที่นี่กันมาก ถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองเหนือ) แต่ครั้นเมื่อเจ้ากาวิละมาถวาบบังคมเจ้าตาก ก็ให้ขลิบปลายหูสองข้าง ขังไว้ แต่ก็ขออภัยโทษไปตีเมืองเชียงแสนแทน เพื่อเป็นการไถ่โทษ.06

เจ้าตากทรงเล็งพระเนตรเห็นหน่วยก้านความองอาจของอุปราชก้อนแก้ว และกองทหารโพกผ้าแดงมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่มาเข้าเฝ้า ณ พลับพลาพระเจ้าตากที่เวียงลี้ จึงมีรับสั่งให้เจ้ากาวิละไปเกลี้ยกล่อมกองทหารโพกผ้าแดง นักรบผู้กล้าที่ไร้แกนนำ ซึ่งหนีกระจัดกระจายให้กลับออกจากป่ามาเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง.

ทหารโพกผ้าแดงกลุ่มนี้ เมื่อทราบว่าเจ้าตากมีรับสั่งให้มาตามพวกตน ก็ยินดีกลับมาเป็นนักรบฉกาจกล้า ช่วยฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขับไล่พม่าหรือ "กองทหารโพกหัวขาว" ออกไปจากล้านนาอย่างถวายชีวิตต่อไป 



ธำรงความเป็นรัฐไทย: สอง

พระราชสาสน์ของพระเจ้าตากข้างต้น (ด้านบนสุด) มีขึ้นราว ๆ พ.ศ.2321 หรือตรงกับรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง (Emperor Qianlong) จักรพรรดิองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ชิง
 
ภาพจักรพรรดิเฉียนหลง, ที่มา: พิพิธภัณฑ์ราชวัง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
 

พระราชสานส์จากพระเจ้ากรุงธนบุรี ถึง จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์ชิง
 
ภาพจำลองกรุงธนบุรี เครดิตภาพ "เมืองโบราณ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์" ผ่าน Facebook ห้อง "เวียงวังและคลังประวัติศาสตร์", วันที่เข้าถึง 3 พฤษภาคม 2563.




 
 

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ไม่ทันได้สร้าง เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน
ออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์), ที่มา: ผู้ใช้นามว่า Tony Nobra ใน Facebook, วันที่เข้าถึง 26 เมษายน 2562

 
ภาพถ่ายขณะกำลังเคลื่อนย้ายรูปปั้นพระบรมรูปพระเจ้าตากสินไปประดิษฐานที่วงเวียนใหญ่
เมื่อพ.ศ. 2492 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้อนุมัติเงินงบประมาณ 200,000 บาท สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของคนจริง โดยกรมศิลปากรออกแบบพระบรมรูปและพระแท่น ปั้นหล่อเรียบเรียงและจัดทำแผ่นจารึก กรมโยธาธิการตกแต่งบริเวณวงเวียนใหญ่ บริษัท สหการก่อสร้าง จำกัด สร้างแท่นฐาน พ.ศ. 2494 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ทำการปั้นพระบรมรูปเสร็จ ทางราชการจึงจัดประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองพระเศียรเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497
ขอบคุณเจ้าของภาพ weloveoldphoto









ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย:
01. จาก. www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_4378, ผู้เขียน เมฆา วิรุฬหก พฤหัสที่ 24 พฤศจิกายน 2559, ซึ่งอ้างอิงต่อมาจาก: พระราชสาสน์จารึกแผ่นสุพรรณบัฏพระราชทานจักรพรรดิจีน". เอริกะ มาซูดา. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2551., วันที่สืบค้น 26 พ.ย. 2559. ขอยกข้อความทั้งหมด (และปรับปรุงไว้เล็กน้อย) แสดงไว้ดังนี้:

เอกสารการติดต่อระหว่างจีนกับอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนดินแดนที่เรียกว่า "ไทย" ในปัจจุบันมีอยู่หลายแบบ แบบหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ พระราชสาสน์ที่ทำจากแผ่นทองคำที่เรียกว่าสุพรรบัฏ ซึ่งปรากฎหลักฐานอยู่ทั้งในเมืองฝรั่ง เมืองจีนและญี่ปุ่น

และในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ สยามได้ได้ติดต่อกับจีนอยู่บ่อยครั้ง โดยมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า ราชสำนักสยามมีผู้รู้ภาษาจีนให้การรับใช้อยู่ ส่วนมากเป็นชาวจีนสังกัดกรมท่าซ้ายซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดต่อค้าขายกับจีนอยู่ใต้การดูแลของเสนาบดีกระทรวงการคลัง ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นโกษาธิบดี

เอริกะ มาซูดา นักวิจัยจากศูนย์เอเชียแปซิฟิคศึกษา สถาบัน Academia Sinica ของไต้หวัน กล่าวว่าเอกสารที่ฝ่ายสยามใช้ในการติดต่อกับฝ่ายจีน นอกจากสุพรรณบัฏแล้ว ยังมีอีกสองแบบ แบบแรกเรียกว่า "พระราชสาส์นคำหับ" ซึ่งคำว่า "คำหับ" มาจากภาษาจีน มีหมายความว่า เปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายกันหรือความแตกต่างกัน

พระราชสาส์นแบบนี้จะเขียนด้วยภาษาจีนบนกระดาษสีเหลืองบนเอกสารประทับตราโลโตดวงหนึ่ง และตราพนมศกอีกดวงหนึ่ง โดยตราโลโตก็คือตราประทับที่จักรพรรดิจีนพระราชทานให้กับกษัตริย์ประเทศราชนั่นเอง

และเอกสารอีกแบบก็คือเอกสารที่ออกจากฝ่ายเสนาบดีคลังที่เรียกว่าหนังสือโกษาธิบดี ซึ่งจะเขียนด้วยภาษาจีนบนกระดาษขาวปิดตราโกษาหนึ่งดวง และตราพนมศกหนึ่งดวง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่พิพิธภัณฑสถานพระราชวังแห่งชาติ (National Palace Museum) ในกรุงไทเป สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน มีเอกสารชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้าตากสินมหาราชเขียนเป็นภาษาจีนในปี พ.ศ.2321 แต่มิได้เขียนขึ้นด้วยรูปแบบพระราชสาส์น

กลับกัน เอกสารชิ้นนี้เขียนบนกระดาษมีตราบัวสีชาดประทับอยู่ต้นหนังสือลงบนอัวอักษรจีนที่อ่านว่า "บิ้น" ซึ่ง เอริกะ มาซูดา อธิบายว่า เอกสารประเภท "บิ้น" เป็นเอกสารทางการประเภทหนึ่งในสมัยราชวงศ์ชิง ใช้สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการติดต่อกับจีน และไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าหรือทูต ก็ต้องส่งเอกสารประเภทนี้มาให้เจ้าหน้าที่จีนพิจารณาเสียก่อน

การใช้เอกสารผิดประเภทดังกล่าว เอริกะ มาซูดา อธิบายว่า ฝ่ายสยามในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับประเภทเอกสารของทางฝ่ายจีนมากนัก ส่วนเนื้อความในพระราชสาส์นนั้น เป็นเรื่องที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขอเลื่อนการส่งบรรณาการให้กับจีนออกไปก่อน เนื่องจากพระราชอาณาจักรของพระองค์ยังไม่พ้นความบอบช้ำจากการทำศึกกับพม่า.


02.  ปรับปรุงจาก. ปริศนาโบราณคดี: พลับพลาพระเจ้าตาก สัญญาที่ไม่วิปลาส ต่อกองทหารโพกหัวแดง, โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2559., มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com
03.  จาก. พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ), พงษาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, ประชุมพงษาวดารภาคที่ 3.
04.  กษัตริย์อยุธยาในที่นี้เป็นความเข้าใจของคนล้านนาที่ยังคงเรียกเมืองสยามว่าอยุธยาอยู่ แท้จริงได้ย้ายราชธานีไปอยู่กรุงธนบุรีแล้ว (อ้างจาก 02. ข้างต้น)
05.  จาก. www.wungfon.com, พญาจ่าบ้าน ขุนศึกใจสิงห์, วันที่สืบค้น 25 ธันวาคม 2559.
06.  ปรับปรุงจาก. สืบสานตำนานล้านนา ใน Facebook, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559.
info@huexonline.com