MENU
TH EN

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช - บทที่ 1: พระราชสมภพ - สร้างกลุ่มชุมนุมและกอบกู้เอกราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 1 : พระราชสมภพ - สร้างกลุ่มชุมนุมและกอบกู้เอกราช

 
First revision: June 06, 2014
Last change: Apr.28, 2021

 
          
 
         สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 มีพระนามเดิมว่า สิน (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน) พระราชบิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว13 ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง ภายหลังเป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ (สวรรคตเมื่อวันอังคารเดือน 8 ขึ้น 6 ค่ำ พ.ศ.2317)18เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 เมื่อมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี พระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 30 พระองค์.
       ทรงมีสมเด็จพระน้านาง พระนามเดิมว่า อ้น ดำรงพระราชอิศริยยศเป็น กรมหลวงเทวินทรสุดา อยู่มาถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนดกสินทร์ ถูกลดพระยศลงเป็นเพียง หม่อมอ้น18.

         พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่า ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น. และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัย เพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปกว้างขวาง นอกจากนี้พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช.

 
  • พระปรมาภิไธย2
         สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามเรียกแตกต่างกันดังนี้
  1. เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงใช้พระนามว่า "พระศรีสรรเพชร (บ้างก็เขียน ศรีสรรเพ็ชญ์)18. สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฎวิสุทธิ์ มกุฎประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน".
  2. พระราชพงศาวดาร กรุงศรีสัตนาคนหุต เรียกว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ.บ้างก็เรียก สมเด็จพระเอกาทศรฐ18.
  3. พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เรียกว่า พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า.
  4. จดหมายเหตุกรุงธนบุรีในสมุดไทยดำ ชื่อพระราชสาสน์และศุภักษรโต้ตอบกรุงธนบุรีและกรุงศรีสัตนาคนหุต จุลศักราช 1140 ใช้ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบรมบพิตร.
  5. ตอนปลายรัชกาล พระรัตนมุนี ได้ถวายพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร.17
  6. พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4.
  7. พระนามที่เรียกกันตามหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี.
  8. ประชาชนทั่วไปขนานนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.
  • พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์3

       พระราชสมภพ
          
            สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเกิดแต่บิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว นาม "จีนไหยฮอง ซื่อหยง แซ่แต้"  (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไทฮอง หรือ ไหยฮอง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)1 เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา ครั้นเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2277 ได้มีบุตรชายคนหนึ่ง เกิดแต่นางนกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย (พระยาเพชรบุรีครั้งปลายอยุธยานั้น มีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นพระญาติฝ่ายมารดาของพระเจ้าตากสิน) ต่อมาได้รับพระราชทานศักดิ์เป็น กรมสมเด็จพระเทพามาตย์ สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น น่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา13. บ้างก็ว่าไม่ปรากฎนามมารดาในอภินิหารบรรพบุรุษ เมื่อเข้ามาตั้งตัวในกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย และตำแหน่ง ขุนพัฒ (บ้างก็ว่า ขุนพัฒน์)ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงกรุงเก่า แต่มีฐานะไม่มั่นคงมากนัก.

            มีหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ว่า พระองค์ถือกำเนิดที่ภาคกลางมากกว่าที่จะเป็นบ้านตาก (เพราะขณะนั้นยังไม่มีนิคมถาวรของชาวจีน) และเพราะคนแต้จิ๋ว15 ไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกขึ้นไปทางเหนือและทางภาคอิสาน14 มักจะอยู่ภาคกลางมากกว่า (พระมารดาของพระองค์เคยลี้ภัยไปอยู่บ้านแหลม เพชรบุรี เมื่อคราวพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แสดงว่าพระมารดาของพระองค์มีถิ่นฐานในแถบภาคกลาง).
         


 
     
จังหวัดซัวเถา หรือ ซ่านโถว ในภาษาจีนกลาง (Shantou) เป็นหนึ่ง
ในจังหวัดของจีน ที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง, ซัวเถา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง
ทิศตะวันออกและใต้ติดทะเลจีนใต้

       



บ้านโบราณและเก๋งจีนในซัวเถา แสดงถึงความเป็น
เมืองที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก


 
            จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารราชวงศ์เช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..."5

            จากประวัติพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จะแสดงต่อไปนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่เสริมขึ้นมาภายหลัง:- 
 
            
...ทารกคนนี้คลอดได้ 3 วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดรอบตัวทารก เป็นทักขิณาวัฎ ขุนพัฒ ผู้บิดาเกรงว่าเรื่องนี้อาจเป็นลางร้ายแก่สกุล จึงยกบุตรคนนี้ให้แก่เจ้าพระยาจักรี แล้วเจ้าพระยาจักรีได้เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีได้เด็กน้อยคนนี้มา ลาภผลก็เกิดมากมูลพูนมั่งคั่งขึ้นแต่ก่อน เจ้าพระยาจักรีจึงกำหนดเอาเหตุนี้ขนานนามให้ว่า สิน....

              จากหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี หน้าที่ 80-81 น่าจะมีหลักฐานเค้ามูลความจริงมากกว่า ดังนี้ "...ดังที่กล่าวว่ามีเจ้าพระยาจักรีซึ่งรับเลี้ยงเด็กชายสิน ก็ดูไม่น่าจะเป็นใครอื่น นอกจากเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งน่าจะยังมีชีวิตอยู่ใน พ.ศ.2277 เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชสมภพ และเป็นคนเดียวที่เป็นถึงเจ้าพระยา ในขณะที่ "จักรี" คนต่อมาเป็นเพียงพระยาเท่านั้น..."

     
ขณะทรงพระเยาว์
            ครั้นเมื่ออายุได้ 7 ขวบ เจ้าพระยาจักรีนำเข้าฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ต่อมาได้เข้า ต่อมาได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดงานมงคลตัดจุกนายสิน เป็นการเอิกเกริกและในระหว่างนั้น มีผึ้งหลวงมาจับที่เพดานเบญจารดน้ำปรากฎอยู่ถึง 7 วันจึงหนีไป และในระหว่างนี้ นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ในภาษาต่างประเทศ มีภาษจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดคล่องได้ทั้ง 3 ภาษา และยังได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอม และคัมภีร์พระไตรปิฎก.

            วันหนึ่ง นายสินคิดตั้งตนเป็นเจ้ามือบ่อนถั่ว ชักชวนบรรดาศิษย์วัดเล่นการพนัน พระอาจารย์ทองดีทราบเรื่องจึงลงโทษทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสิน โดยให้มัดมือคร่อมกับบันไดท่าน้ำประจานให้เข็ดหลาบ นายสินถูกมัดแช่น้ำตั้งแต่เวลาพลบค่ำ พอดีเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พระอาจารย์ทองดีไปสวดพระพุทธมนต์ลืมนายสิน จนประมาณยามเศษ พระอาจารย์นึกขึ้นได้ จึงให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นอันเตวาสิก ช่วยกันจุดไต้ค้นหาก็พบนายสินอยู่ริมตลิ่ง มือยังผูกมัดติดอยู่กับบันได แต่ตัวบันไดกลับหลุดถอนขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ เพื่อภิกษุสงฆ์ช่วยกันแก้มัดนายสินแล้ว พระอาจารย์ทองดีจึงพาตัวนายสินไปยังอุโบสถให้นั่งลงท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วพระภิกษุทั้งหลายสวดพระพุทธมนต์ด้วยชัยมงคลคาถาเป็นการรับขวัญ.

 
วัดโกษาวาส4 หรือวัดเชิงท่า
          
       การศึกษาและผนวช
            สำหรับการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะทรงได้เคยบวชเรียนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละครและอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาในภาษาไทยและภาษาบาลีครั้นเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ส่วน อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ตรัสได้ 4 ภาษา คือ ไทย จีน ญวน และลาว.1


            ข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้นั้น มีความเป็นไปได้สูงมากที่มีการต่อเติมเสริมแต่ง กฤษดาอภินิหารที่เกินความจริง: -

            ....ต่อมาเมื่อนายสินเรียนจบการศึกษา เจ้าพระยาจักรีก็ได้นำไปถวายตัวรับราชการภายใต้หลวงนายศักดิ์นายเวร ภายหลังเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ จนมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์. เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ โดยได้อุปสมบทอยู่กับพระอาจารย์ทองดีวัดโกษาวาส และบวชอยู่นานถึง 3 พรรษา ในระหว่างอุปสมบทพระภิกษุสิน ได้ออกบิณฑบาตพร้อมพระภิกษุ ทองด้วง เป็นประจำ เพราะรับราชการเป็นมหาดเล็กทำงานด้วยกันมาหลายปี ทั้งสองมีความรักใคร่กลมเกลียวกันมาก ได้อุปสมบทพร้อมกัน.

            วันหนึ่ง ทั้งสองได้พบกับซินแสหมอดูชาวจีนผู้หนึ่ง ซึ่งทำนายว่าทั้งสองมีลักษณะมีบุญ ที่จะขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งในเวลาต่อมา ทองด้วง สหายของสิน ได้กลายมาเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลถัดจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก....

           เพราะ....พระภิกษุทองด้วง น่าจะบวชที่วัดสุวรรณดาราราม อันเป็นวัดที่พระบรมอัยกาของท่านที่เป็นผู้สร้างมากกว่า แต่กลับไปบวชที่วัดมหาทะลาย ชื่อวัดนี้หาไม่ได้ในตัวเกาะที่พบก็อยู่ไกลมากอีกฝั่งของเกาะเมือง จะไปรับบิณฑบาตถึงในวังก็ผิดวิสัยเพราะไกลเกินไป16 ไม่น่ามีเหตุหรือสถานการณ์ใดให้รู้จักสนิทสนมกลมเกลียวกันได้ ระหว่าง ภิกษุสิน กับ ภิกษุทองด้วง.

       
อาชีพค้าขาย
            พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย1 เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า1 ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ การเป็นพ่อค้าดังกล่าว ทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน1

       
รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
            สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งได้กล่าวไว้ในทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตาก โดยติดต่อ (เดินเรื่อง หรือ กล่าวตรง ๆ ก็คือ วิ่งเต้น) ผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ทรงทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยตาย จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากก่อนที่จะทรงได้รับเลื่อนตำแหน่ง.

          เมื่อพิจารณาตรวจสอบหลักฐานร่วมสมัยแล้ว ไม่ปรากฎในที่ใดเลยว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยได้ดำรงตำแหน่งสูง ถึงเจ้าเมืองกำแพงเพชร (หน้าที่ 117 การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พิมพ์ครั้งที่ 3)

 

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ6
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 33 พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ.2252 - 2310)


            ครั้นเมื่อกองทัพพม่ายกมารุกรานกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพผ่านเมืองตาก พระยาตากเห็นสู้ไม่ไหวจึงได้นำไพร่พลลงมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังปรากฎในพงศาวดารว่า พระยาตากมีความชอบในการนำทหาร 500 นาย มาช่วยป้องกันพระนคร จึงได้รับพระราชทานของบำเหน็จ ในระหว่างการปิดล้อมนั้น ก็ได้ปรากฎฝีมือเป็นนายทัพเข้มแข็ง ปฏิบัติงานตามคำสั่งของราชการ.
           
         
สร้างกลุ่มชุมนุมและกอบกู้เอกราช
            ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตก ล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนา เป็นไปอย่างยากลำบาก ทรัพย์สิน วัวควาย ถูกยึดไว้หมด. จนกระทั่งช่วงดึกของคืนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 (ก่อนกรุงแตกประมาณ 3 เดือน) นั้น กองทัพพม่ายิงถล่มพระนครศรีอยุธยาอย่างหนัก. เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือน วัด วัง ได้รับความเสียหาย เฉพาะบ้านเรือนราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง. ทว่าเพลาวันของวันที่ 3 มกราคมนั้น กองกำลังของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก. ได้รวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย (ข้อมูลหลักฐานบางแหล่งอ้างว่ารวบรวมไพร่พลได้ 500 นาย)19. หนีออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว.
 
 
แผนที่ทัศนียภาพกรุงศรีอยุธยา วาดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
โดย วิลาศ อแลง มาเลต์ พ.ศ.2226
7
 



ภาพจาก www.taksinmaharaj.com, วันที่สืบค้น 26 มิถุนายน 2557

          จึงได้เห็นแสงเพลิงลุกไหม้ในกรุงศรีอยุธยาที่บ้านสัมบัณฑิตในเวลาเที่ยงคืนของวันนั้น โดยมีนายทหารคนสำคัญในกองทัพคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชสเน่หา ขุนอภัยภักดี (มีสี่ทหารหาญคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินนี้ มักปรากฎอยู่เคียงข้างพระบรมราชานุสาวรีย์หลายแห่ง ที่น่าแปลกคือไม่ค่อยจะพบภาพหรือรูปปั้นของขุนอภัยภักดีเท่าใดนัก) (แต่บางหลักฐานกล่าวว่านายทหารคู่พระทัยที่ตีฝ่าพร้อมเจ้าตากนั้น มี 4 ท่านประกอบด้วย พระเชียงเงิน หลวงพิชัยอาสา และขุนอภัยภักดี) พระองค์ตั้งค่ายอยู่ในค่ายวัดพิชัย. ได้เริ่มออกเดินทางมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาพลบค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมา แล้วปะทะต่อรบกันจนพม่าพ่ายแพ้กลับไป ก่อนจะเดินทางมาถึงบ้านข้าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน.
 
 
พระบรมอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ณ อนุสรณ์สถานบ้านพรานนก โรงเรียนวัดพรานนก
ตำบลโพธิ์สาวหาญ อำเภออุทัย พระนครศรีอยุธยา
 
 
แผนที่เส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี12

          เช้าวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2309 กองกำลังของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้เดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพสังหาร พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้รบกันพม่าแตกพ่ายกลับไป มาถึงบ้านพรานนกเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง 2,000 นาย ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงทรงม้ากับทหารหาญอีก 4 ม้าออกรับศึก จนสามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง วันนี้เหล่าทหารม้าจึงถือเอาเป็น วันทหารม้า ของไทย.

           วันที่ 3 ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ก็มีขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้าง มาขอสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ ทั้งยังถวายช้างพลาย 5 ช้าง ช้างพัง 1 ช้างอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่น ไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม 3 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงต้องปะทะไพร่พลชาวบ้านกง ซึ่งมีกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่ก็ถูกกองกำลังพระยาตากตีพ่ายไป ยึดช้างได้เพิ่มอีก 7 ช้าง เงินทองและเสียอาหารอีกจำนวนมาก วันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2509 หรือ 6 วันนับตั้งแต่หนีออกจากพระนคร เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ซุ่ม แล้วหยุดพัก ณ จุดนี้เป็นเวลา 2 วัน ก่อนที่จะออกเดินทัพต่อมาถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายก แล้วหยุดพักอีก 1 คืน

           ต่อมาพระยาตากจึงนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ เมืองปราจีนบุรี แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนจะเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ และต้องหยุดรอนายทหาร 3 นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชา ที่ตามกองทัพมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้น ได้เกิดการปะทะกับกองทัพทั้งทัพบกทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำโจ้โล้ เมืองฉะเชิงเทรา "พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ"

 
 
สภาพแม่น้ำโจ้โล้ในปัจจุบัน

          พระยาตากจึงมีรับสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ เรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว 240 เมตร จึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น แนวแรกของพม่าแตกพ่ายไป แต่ยังมีกองหนุนเข้ามาอีก 3 กอง ซึ่งก็ถูกยิงแตกพ่ายไปเช่นกัน "จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง" จากแนวปะทะและการติดตามสังหารพม่ามาทางปากแม่น้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้กองทัพพระยาตาก เปลี่ยนแนวการเดินทัพตามชายป่าชายดง มาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี "จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ".

           ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) นายชุมชนที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระเจ้าตาก แต่เพียงพระเจ้าตากแสดงแสนยานุภาพ "เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ" เท่านั้น นายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไปพัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่าแขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้น ได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น.

 

ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดลุ่มมหาชัยชุมพล จังหวัดระยอง9

 
          หลังจากพระองค์ยึดเมืองระยองได้ ขณะเมื่อได้พักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล ได้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์พายุหมุนบิดต้นตาลเป็นเกลียว โดยไม่คลายตัว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ตาลขด บรรดาทหารทั้งหลายต่าง ได้ยกพระยาวชิรปราการเป็น เจ้าตาก ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัย 23 วัน พระองค์ได้มีพระราชปณิธานว่า "กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองตะวันออกทั้งปวง ให้ได้มากแล้วจะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย".

          การประกาศตั้งตัวขึ้นในครั้งนี้มีศักดิ์เทียบเท่าพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม ก็อาจพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองได้เช่นกันว่าพระยาตากประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว. เจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบูร ซึ่งก่อนเข้าตีเมือง ได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด หมายจะให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบูร จนตีได้เมืองจันทบูรเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2310 หลังจากนั้น ก็มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบูรและเมืองตราดไม่ถูกยึดครองโดยทหารพม่า.

           พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน 5,000 นาย จึงได้ยกกองทัพเรือ (ร่วม 100 ลำ โดยมีคนจีนและราษฎรที่เมืองจันทบูรช่วยกับสร้างและซ่อม).17 ออกจากเมืองจันทบูร ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดธนบุรีคืนจากพม่าได้ นายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้น ถูกประหารชีวิต ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้ และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครอง ใช้เวลาเพียงเจ็ดเดือนหลังเสียกรุง.

          
ค่ายโพธิ์สามต้นในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระเจ้าตาก10

             ที่ค่ายโพธิ์สามต้นนั้น มีนายทองสุก หรือสุกี้พระนายกอง (สุกี้ ภาษาพม่าแปลว่า "นายอำเภอ") ชุมนุมที่ค่ายโพธิ์สามต้นนี้ มีชาวมอญมาตั้งหลักแหล่งกันมากตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา และไม่สู้จะจงรักภักดีต่อกรุงศรีอยุธยาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าพวกกับพม่าได้ดี เพราะมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน นายทองสุกเป็นคนมอญหรือคนไทยเชื้อสายมอญ ที่พม่าแต่งตั้งให้คุมกำลังรวบรวมเสบียง ทรัพย์สินที่ปล้นมาได้ไว้ เป็นชุมนุมทื่เข้มแข็งมากที่สุด (นายทองสุกนี้ เคยอาสาพม่าตีค่ายบางระจันจนสำเร็จ จึงได้ความดีความชอบเป็น หัวหน้าค่ายโพธิ์สามต้น นี้ในระยะต่อมา)
ที่มาและคำอธิบาย:
01. นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, ISBN 974-7049-34-1, พิมพ์ครั้งที่ 3, มกราคม 2536.
02. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, วันที่สืบค้น 7 มิถุนายน 2557.
03. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในอภินิหารบรรพบุรุษ, วันที่สืบค้น 9 มิถุนายน 2557.
04. จาก. www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/oldcity/ayuthaya4.htm, วันที่สืบค้น 10 มิถุนายน 2557, มีชื่อเรียกในสมัยก่อนว่าวัดคอยท่า บ้างก็เรียกว่าวัดตีนท่า เพราะตั้งอยู่ตรงตีนท่าข้ามมาฝั่งเกาะเมือง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกษาปานได้ปฏิสังขรณ์ และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าวัดโกษาวาส และได้มีการซ่อมแซมอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเชิงท่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
05. จาก. ประยุทธ์ สิทธิพันธ์, มหาราชและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระภัทรมหาราช (กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2520) หน้า 223.
06. จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอัมรินทร์, วันที่สืบค้น 16 มิถุนายน 2557.
07. จาก. www.rungsimun.com, วันที่สืบค้น 18 มิถุนายน 2557.
08. จาก. www.gotoknow.org/posts/485580 และ www.pwa.co.th/province/view.php?pr_id=21203., วันที่สืบค้น 18 มิถุนายน 2557.
09. จาก. www.thairayong.com/webboard/index.php?topic=2514.0, วันที่สืบค้น 28 มิถุนายน 2557.
10. ปรับปรุงจาก. www.gotokhow.org/posts/489868, วันที่สืบค้น 28 มิถุนายน 2557, ค่ายโพธิ์สามต้น ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของ ต.พุทเลา และ ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นรอยต่อของสองตำบล ริมแม่น้ำโพธิ์สามต้นที่ไหลมารวมกับแม่น้ำลพบุรีที่บริเวณหัวรอซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา.

 

เนเมียวสีหบดี (จากภาพยนตร์เรื่อง "บางระจัน" ธ.ค.2543, ผู้สร้าง Uncle, ผู้กำกับ ธนิตย์ จิตนุกูลและคณะ)

11. คัดลอกข้อมูลจาก. www.gotokhow.org/posts/489868, วันที่สืบค้น 28 มิถุนายน 2557 "ในประวัติศาสตร์เนื่องจากพื้นที่ บริเวณนี้อยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ 6 กม.จึงเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางเดินทัพของข้าศึกที่เข้าตีกรุงศรีอยุธยา ตลอดมา เมื่อ พ.ศ.2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นำทัพหลวง เสด็จยกทัพมาตั้งค่ายหลวง ณ ทุ่งพุทเลา ทรงช้างพระที่นั่งกระโจมทอง  นำกำลังกองหลวงข้ามโพธิ์สามต้น มาตามทุ่งเพนียด และตั้งค่าย ณ วัดสามวิหาร เตรียมเข้าตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2290  พระยารามัญสามคนคือ พระยาราม พระยากลางเมืองและพระยาน้อยวันดี พร้อมครอบครัวมอญประมาณสี่ร้อยเศษหนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยา และทรงตรัสสั่งให้ครอบครัวมอญเหล่านี้ไปอยู่ที่ชุมชน โพธิ์สามต้น พ.ศ.2309  ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งทิ่ 2 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าได้ส่งแม่ทัพพม่า 2 คน คือ เนเมียวสีหบดี และ มังมหานรธาเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุก ๆ ด้าน กองทัพของเนเมียวสีหบดียกกองทัพเข้ามาตั้ง “ค่ายใหญ่ที่โพธิ์สามต้น” ส่วนกองทัพมังมหานรธาตั้งค่ายที่บ้านสีกุก อยู่ทางด้านตะวันตก หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 แล้ว " ค่ายโพธิ์สามต้น " ถือว่าเป็นกองบัญชาการใหญ่ของพม่าที่ควบคุมดูแลกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับเป็นสถานที่รวบรวมเชลยศึกคนไทยและทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อส่งไปพม่า โดยมีสุกี้พระนายกอง เป็นแม่ทัพอยู่ที่ ค่ายโพธิ์สามต้น สุกี้พระนายกอง หรือ สุกี้ เดิมชื่อนายทองสุก เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ มีถิ่นฐานอยู่ ณ บ้านโพธิ์สามต้น ระหว่างสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง นายทองสุกเข้าเป็นฝ่ายพม่าช่วยทำการรบอย่างแข็งขันจนเนเมียวสีหบดีตั้งให้ เป็นตำแหน่งสุกี้และให้เป็นนายทัพคุมพลมอญและพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยสืบจับผู้คนและทรัพย์สินสิ่งของต่าง ๆ ส่งไปพม่า นายทองสุกหรือสุกี้พระนายกองได้สิ้นชีวิตในที่รบที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากยกทัพมายึดค่ายโพธิ์สามต้นเพื่อกอบกู้อิสรภาพ ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมกำลังคน ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรี เข้าตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาโดยเข้าตียึดค่ายโพธิ์สามต้น คืนจากพม่า ขณะนั้นมีคนและทรัพย์สมบัติที่สุกี้ยังมิได้ส่งไปพม่า จึงรวบรวมเก็บรักษาไว้ใน ค่ายโพธิ์สามต้น และ เมื่อพระองค์ทรงสำรวจดูสภาพกรุงศรีอยุธยาแล้วทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสีย หายเกินกว่าจะปฏิสังขรณ์ได้ จึงโปรดให้ไปตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี".
12. จาก. www.taksincamp.org/html/kingtaksin_his.htm. วันที่สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557.
13. จากการศึกษาของ นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนลูกจีนแต้จิ๋ว แถบคลองสวนพลู กรุงศรีอยูธยา มีมารดาเป็นไทยซึ่งมีญาติพี่น้องแถบบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พระองค์ท่านระเหเร่ร่อนไปอย่างกว้างขวางเพื่อธุรกิจ พระองค์น่าจะตรัสภาษาจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยนและกวางตุ้งได้ รวมทั้งภาษาลาว (คำเมือง-ใช้ในแถบล้านนา เลย พิชัย อุตรดิตถ์และตาก).
14. ชาวจีนที่บุกเบิกเหนือปากน้ำโพขึ้นไปทางอิสาน ตลอดลุ่มแม่น้ำน่าน ยม วัง ล้วนเป็นไหหลำ.
15. ยังมีเรื่องเล่าที่กล่าวกันมาตามประเพณีในหมู่ชาวจีนในเมืองไทยด้วยว่า เมื่อพวกจีนอพยพหลบภัยแมนจูเข้าสู่ประเทศไทยนั้น พากันมาสองสาย จากแต้จิ๋วจะไปตั้งถิ่นฐานอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่บางปลาสร้อย จากฟูเกียน (หรือฮกเกี้ยน) จะไปตั้งถิ่นฐานยังภาคใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่สงขลา. (นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พิมพ์ครั้ง 3 หน้า 142)
16. ปรับปรุงจาก. นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พิมพ์ครั้งที่ 3 หน้าที่ 124.
17. อ้างเพิ่มเติมจาก. รายการอาทิตย์สโมสร โดย ดร.วิษณุ เครืองาม ออกอากาศ TNN24 เมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ.2556 เวลา 19:05-19:30 น.
18. จาก. https://archive.org/details/anupongchaiwong_gmail_201802/page/n11/mode/2up, วันที่เข้าถึง 28 เมษายน 2564.
19. จาก. การบรรยาย "ธนบุรีในวัฏจักรการเปลี่ยนแปลง" ของ รศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์, ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม พ.ศ.2561. ที่กล่าวว่าเจ้าตากนำไพร่พลตีฝ่ากองทหารพม่าออกไปทางตะวันออก 500 นายนั้น คำว่า 500 น่าจะแปลว่ามาก ไม่ได้หมายความว่าจำนวน 500 นายจริง จากหลักฐานต่าง ๆ ระบุว่าไพร่พลที่ไปพร้อมเจ้าตากอาจจะร่วมนับพันนาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทหารที่เรียกว่า professional กล่าวคือ การตั้งรับตีกลับพม่าของทหารชุดนี้ ตั้งแถวพลปืนเป็น 2 ตับ ยิงสลับกัน (เมื่อตับแรกยิงเสร็จก็หลบไปบรรจุกระสุน ตับที่ก็ตั้งแถวยิงต่อเนื่องทันที เป็นเช่นนี้สลับกัน ในคราวหนีพม่าไปทางหัวเมืองตะวันออก แทบลุ่มน้ำโจ้โล้).
info@huexonline.com