อภิมันยุสังหารนักรบของฝ่ายเการพ "เจ้าชายลักษมัณกุมาร" ลงได้, ที่มา: www.vyasaonline.com, วันที่เข้าถึง: 25 กรกฎาคม 2565.
07. โทรณบรรพ01,01,02,03,04.
First revision: Jul.25, 2022
Last change: Nov.07, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
หลังจากท้าวภีษมะได้รับบาดเจ็บสาหัสจนทำการรบต่อไปไม่ได้แล้ว ทุรโยธน์กับกรรณะจึงปรึกษากันโดยเร่งรีบว่า ควรจะตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแทน จึงจะเหมาะสม กรรณะให้ความเห็นว่า ไม่มีใครอื่นที่จะเหมาะสมและมีความสามารถมากไปกว่าโทฺรณาจารย์ เพราะแม้จะมีอายุล่วงเข้า 85 ปีแล้ว อาจารย์โทฺรณะก็ยังแข็งแรงและคล่องแคล่ว นอกจากนี้ อาจารย์โทฺรณะยังได้เคยเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ในวิชาการรบให้แก่ภราดาปาณฑพทั้งห้ามาก่อนด้วย เพราะฉะนั้น จึงย่อมจะทราบทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของพี่น้องปาณฑพได้เป็นอย่างดี ทุรโยธน์เห็นด้วยกับข้อคิดของกรรณะ จึงได้นำเรื่องนี้เข้าเสนอให้ที่ระชุมแม่ทัพนายกองของฝ่ายตนพิจารณา ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยราชามหาราชาอันเป็นพันธมิตรจากเขตแคว้นต่าง ๆ เห็นด้วยกับทุรโยธน์และกรรณะเป็นเอกฉันท์ โดยเหตุฉะนั้น ต่อมาทุรโยธน์จึงเข้าไปกราบโทฺรณาจารย์ พร้อมกับขอร้องให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดแทนภีษมะ ซึ่งโทฺรณาจารย์ก็ยอมรับ เพราะได้เคยให้คำมั่นสัญญากับฝ่ายเการพไว้แล้วว่าจะช่วย ข่าวการเข้ารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ของโทฺรณาจารย์ ได้ช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจให้แก่กองทัพของฝ่ายเการพเป็นอันมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า พระอาจารย์โทฺรณะนั้นมีฝีมือในการรบเป็นยอดเยี่ยม โดยเฉพาะวิชาธนุรวิทยา อันได้แก่การยิงธนู.
---------------
01. ในบรรพนี้ โทฺรณาจารย์หรืออาจารย์โทฺรณะ ได้ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ของฝ่ายเการพ เพราะฉะนั้นบทนี้จึงมีชื่อว่า โทฺรณบรรพ.
175
การรบในช่วงเวลา 10 วันที่ได้ผ่านมาจวบจนภีษมะต้องได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ฝ่ายเการพเห็นกำลังและความสามารถของฝ่ายปาณฑพได้เป็นอย่างดี ผู้ที่มีความวิตกกังวลใจในเรื่องนี้มากที่สุดเห็นจะได้แก่ทุรโยธน์ ซึ่งตั้งตัวเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งกับฝ่ายปาณฑพมาแต่ต้น ทุรโยธน์กับน้องชายคือทุหศาสันพร้อมด้วยศกุนิและกรรณะที่ปรึกษาคนสำคัญ จึงต้องหันหน้าเข้าหารือกับอย่างใกล้ชิด และมีความเห็นพ้องกันว่า.
"การทำศึกกับฝ่ายปาณฑพนั้นออกจะหนักหนามาก เพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถรบชนะฝ่ายปาณฑพได้ เนื่องจากฝ่ายปาณฑพได้พระกฤษณะไปเป็นกำลังสำคัญ อย่างไรก็ดี หัวใจของฝ่ายปาณฑพนั้นอยู่ที่ยุธิษฐิระ หากจับเป็นยุธิษฐิระมาได้ น้อง ๆ อีกสี่คนก็คงจะไม่มีจิตใจรบพุ่งต่อไปเป็นแน่ สงครามจะยุติและพี่น้องสองตระกูลก็จะไม่ต้องมาประหัตประหารกันเอง อีกทั้งแผ่นดินภารตะก็จะไม่ต้องนองเลือด เพราะฉะนั้น เราควรจะขอร้องให้พระอาจารย์โทฺรณะใช้ยุทธวิธีที่สามารถจะจับเป็นยุธิษฐิระมาให้ได้ และเมื่อได้องค์ยุธิษฐิระมาแล้ว เราก็จะเชิญให้ท้าวเธอเล่นสกา ซึ่งตามขัตติยราชประเพณีเธอจะปฏิเสธไม่ได้พี่น้องปาณฑพไม่มีทางที่จะเล่นสกาชนะลุงศกุนิของเราได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะสามารถจัดการให้พี่น้องปาณฑพไปอยู่ในป่าได้อีกช่วงระยะเวลาหนึ่งเช่นที่ได้เคยทำมาแล้ว ต่อจากนั้นกลุ่มปาณฑพก็คงจะแก่ตายไปเอง!".
เมื่อได้ปรึกษากันเช่นนี้แล้ว ทั้งสี่คนคือ ทุรโยธน์ ทุหศาสัน ศกุนิ และกรรณะ ก็เข้าไปหาโทฺรณาจารย์พร้อมทั้งเล่าแผนการให้ฟัง อาจารย์โทฺรณะเห็นด้วยแต่ตั้งข้อสังเกตว่า.
"แผนการนี้ก็ดีอยู่ดอก แต่อาจารย์เกรงว่าตราบใดที่อรชุนยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นการจับเป็นยุธิษฐิระคงจะกระทำกันได้ไม่ง่ายนัก".
ข่าวการวางแผนจับเป็นยุธิษฐิระได้ล่วงรู้ไปถึงหูของฝ่ายปาณฑพโดยสายลับของฝ่ายปาณฑพซึ่งประจำอยู่ในกองทัพของฝ่ายเการพ เป็นผู้ส่งไปให้ เพราะฉะนั้น ข้างฝ่ายปาณฑพจึงได้มีการวางมาตรการกันอย่างเข้มงวดกวดขันเพื่อมิให้เหตุร้ายนี้เกิดขึ้นได้.
การรบในวันที่ 11 ได้เป็นไปอย่างดุเดือด พราหมณ์โทฺรณะผู้เฒ่าได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งว่า
176
ฝีมือการรบของตนทั้งในด้านการยิงธนูและการใช้ศัสตราวุธชนิดอื่น ๆ นั้น ยากที่จะหาตัวจับได้ โทฺรณะผู้เดียวสามารถสังหารฝ่ายตรงข้ามได้เป็นจำนวนมากมาย ทำให้ทหารของฝ่ายปาณฑพเสียขวัญเป็นอย่างมาก โทฺรณาจารย์ได้ใช้รถรบตะลุยเข้าไปในแนวทหารของฝ่ายปาณฑพ โดยหมายมั่นปั้นมือจะจับเป็นยุธิษฐิระให้จงได้ แต่ก็ไม่สามารถจะต้านทานห่าฝนแห่งลูกศรซึ่งอรชนระดมยิงมาได้ จึงต้องสั่งให้สารถีถอยรถรบกลับ.
นอกจากการรบหมู่แล้ว ก็มีการรบกันตัวต่อตัวระหว่างทหารเอกและนักรบคนสำคัญ ๆ ของทั้งสองฝ่าย เช่น ราชาศัลยะ แห่งแคว้นมัทระรบกับ นกุล
กฤปาจารย์ รบกับท้าว ธฺฤษฏเกตุ แห่งแคว้นเกกยะ
สาตฺยกี รบกับ กฤตวรมัน
ราชา วิราฏ รบกับ กรรณะ
อภิมันยุ รบกับราชา เปารฺวะ เป็นต้น.
อรชุนเป่าสังข์ "เทวทัตตะ", ที่มา: www.hinduwebsite.com, วันที่เข้าถึง 29 ตุลาคม 2565.
ในการรบในวันที่ 12 โทฺรณาจารย์ได้ใช้กลยุทธ์ใหม่ กล่าวคือ ได้วางแผนแยกอรชุนออกไปเสียจากยุธิษฐิระ ทั้งนี้เพื่อตัดกำลังคุ้มกันองค์ยุธิษฐิระ ในการนี้อาจารย์โทฺรณะได้สั่งสั่งหน่วยทหารกล้าตายหน่วยหนึ่งมีชื่อว่า สังศัปตกะ ซึ่งสังกัดอยู่ในกองทัพของราชาแห่ง แคว้น ตริครรตะ ให้เคลื่อนกำลังรุดหน้าไปกล่าวคำปรามาสและยั่วโทสะอรชุน แล้วท้าทายอรชุนให้ไปรบกัน ณ อีกด้านหนึ่งของสมรภูมิ ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากยุธิษฐิระ แผนการของอาจารย์โทฺรณะได้ผลสมคาด เพราะอรชุนนั้นเป็นบุรุษเจ้าอารมณ์อยู่แล้ว เมื่อถูกยั่วยุเข้าก็ทนไม่ได้จึงเป่าสังข์ เทวทัตตะ (Devadatta - shankha) คู่ชีพ แล้วสั่งพระกฤษณะผู้ทำหน้าที่เป็นสารถี ให้ขับรถรบติดตามหน่วยทหารสังศัปตกะผู้ท้าทายไป แล้วทั้งสองฝ่ายก็เปิดฉากสู้รบกันอย่างดุเดือด โดยที่หน่วยทหารกล้าตาย สังศัปตกะ มีจำนวนนับเป็นสิบ ๆ ส่วนอรชุนนั้นยืนสู้อยู่บนรถรบพร้อมด้วยธนูคาณฑีพคู่ชีพแต่เพียงผู้เดียว.
ฝ่ายอาจารย์โทฺรณะเมื่อเห็นอรชุนรับคำท้าทายและตามไปรบกับหน่วยทหารสังศัปตกะ ตามแผนที่ได้วางไว้เช่นนั้นแล้ว ก็รีบนำกองทหารเข้าโจมตีจุดที่ยุธิษฐิระยืนบัญชาการอยู่ ทหารของทั้งสองฝ่ายเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือดในครั้งนี้ ทหารเอกหลายคนของฝ่ายปาณฑพต้องเสียชีวิตลงด้วยฝีมือรบของอาจารย์โทฺรณะ และในจำนวนนี้มีเจ้าชาย สัตยชิต แห่งแคว้นปัญจาละ และเจ้าชาย ศตานีกะ โอรสของนกุลรวมอยู่ด้วย.
177
ภีมะหรือภีมเสน อนุชาผู้ทรงพลังของยุธิษฐิระ ซึ่งยืนสังเกตการณ์อยู่ไม่ห่างจากเชษฐานัก เห็นท่าไม่ดี กลัวโทฺณาจารย์จะจับเป็นยุธิษฐิระตามคำบอกเล่าของสายลับ จึงทุ่มกำลังส่วนใหญ่ที่มีอยู่เข้าปะทะกับกองทหารของโทฺรณาจารย์ ทำให้โทฺรณาจารย์ซึ่งขณะนั้นได้รุดหน้าเข้าไปใกล้จะถึงองค์ยุธิษฐิระอยู่แล้ว ต้องถอยหลังกลับ.
ทุรโยธน์ซึ่งคุมกำลังทหารช้างหนุนอาจารย์โทฺรณะอยู่เบื้องหลัง เห็นดังนั้นจึงรีบสั่งให้กองทหารช้างทั้งหมดเข้าช่วยอาจารย์โทฺรณะ ทันใดนั้นความโกลาหลอลหม่านก็พลันเกิดขึ้นระหว่างม้าและช้างรบของทั้งสองฝ่าย ราชาภคทัตตะ (King Bhagadatta) แห่งแคว้น ปฺราคโชฺยติษ (Pragjyotisha) ซึ่งเป็นพันธมิตรองค์หนึ่งของฝ่ายเการพ และมีความชำนาญในการรบบนหลังช้างเป็นพิเศษ ได้โอกาสจึงขับช้าง สุประติกะ เข้าเข่นฆ่าทหารของฝ่ายปาณฑพเป็นการใหญ่ ยังผลให้แม้แต่ภีมะเองก็ต้องล่าถอยและแทบจะเอาชีวิตไม่รอด.
เสียงร้องของช้างรบฝ่ายเการพได้ยินไปถึงกรรณของอรชุน ซึ่งกำลังรบติดพันอยู่ ณ อีกด้านหนึ่งของสมรภูมิ อรชุนเกรงว่าฝ่ายพี่ชายจะเพลี่ยงพล้ำแก่กองทหารช้างของฝ่ายเการพ จึงรีบทูลพระกฤษณะว่า.
"ขอเดชะ หม่อมฉันจำได้ว่า เสียงนี้เป็นเสียงร้องของช้างสุประติกะอันมีฤทธิ์เดชเกรียงไกรประดุจช้างไอราพตของพระอินทร์ หม่อมฉันเกรงว่าภคทัตตะผู้เป็นเจ้าของช้างสุประติกะคงกำลังรังควานฝ่ายเราเป็นการใหญ่ ขอฝ่าพระบาทได้โปรดหันรถกลับไปช่วยพวกเราจะดีกว่า เพราะทางนี้พวกสังศัปตกะก็ดูจะอ่อนกำลังลงแล้วละพ่ะย่ะค่ะ".
ทันทีที่อรชุนทูลจบ พระกฤษณะก็ทรงหักราชรถออกไปจากกองทหารสังศัปตกะ แต่... ในบัดดลนั้นเอง! สองยอดนักรบได้แสดงฝีมือต่อสู้กันอยู่พักใหญ่ ในท่ามกลางความตะลึงพรึงเพริดของเหล่าทหารหาญของทั้งสองฝ่าย ในที่สุดด้วยความแม่นยำอันเป็นพรจากสวรรค์ อรชุนก็สามารถยิงธนูทะลุเกราะไปต้องจุดอ่อนบนร่างของช้างสุประติกะและของภคทัตตะได้ ยังผลให้ทั้งช้างทั้งคนล้มลงบนพื้นปฐพีดังครืนใหญ่ ประดุจต้นไทรยักษ์ถูกลมมรสุมถอนรากแก้วล้มลงฉะนั้น!.
178
ในวินาทีอันวิกฤตนั้นเอง ท้าววฤษะ และ ท้าวอจละ สองอนุชาของศกุนิ ผู้มาตุลาของกลุ่มภราดาเการพ ได้พยายามจะเข้าไปช่วยภคทัตตะให้รอดพ้นจากห่าฝนลูกศรของอรชุน แต่ทั้งสองก็ต้องพ่ายแพ้แก่อรชุนถึงแก่ความตายลง ณ ยุทธภูมินั้นเอง.
ศกุนิเป็นนักรบคนสุดท้ายของฝ่ายเการพ ซึ่งเข้าพันตูกับอรชุนด้วยคาถาอาคมและอาวุธหลายชนิด แต่ก็ไม่สามารถจะยับยั้งห่าฝนลูกศรจากธนูคาณฑีพของอรชุนได้.
ขณะนั้นพอดีเป็นโคธูลีกาล อันได้แก่ยามพลบค่ำ พระอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยลงลับขอบฟ้า ความมืดผนวกกับความเยียบเย็นเริ่มเข้าคลุมครอบสมรภูมิกุรุเกษตร เสียงสังข์สัญญาณหยุดรบได้ดังขึ้นตามกติกาการรบซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ ครั้นแล้วทหารของแต่ละฝ่ายก็ถอยหลังกลับไปตั้งยังแนวที่มั่นของตน ทหารของฝ่ายเการพนั้นถอยกลับด้วยความโศกสลด อันเนื่องจากความพ่ายแพ้ที่ฝ่ายตนต้องได้รับในการรบ ณ ทิวาวันนั้น.
วันที่ 12 แห่งมหาภารตยุทธก็สิ้นสุดลงด้วยประการฉะนี้.
ค่ายกลจักรพยุหะ, ที่มา: quora.com, วันที่เข้าถึง: 01 พฤศจิกายน 2565.
ในราตรีนั้น โทฺรณาจารย์กับทุรโยธน์ได้ปรึกษากันอย่างหนักหน่วงถึงยุทธวิธีที่จะต้องใช้กับฝ่ายปาณฑพในวันรุ่งขึ้น โทฺรณาจารย์ให้ความเห็นว่าจะต้องแปรทัพให้เป็นรูปจักร ซึ่งเรียกกันว่า จักรพยุหะ (The Chakravyuha) แล้วใช้อุบายลวงอรชุนให้ออกไปรบกับหน่วยทหารกล้าตายสังศัปตกะของท้าวตริครรตะอีกเช่นวันวานระหว่างที่อรชุนไม่อยู่ กองกำลังจักรพยุหะก็จะเคลื่อนเข้าประชิดทัพกลางของฝ่ายปาณฑพ เพื่อพยายามจับเป็นองค์ยุธิษฐิระให้จงได้.
เมื่อได้ตกลงในเรื่องยุทธวิธีกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โทฺรณาจารย์ก็สั่งให้แม่ทัพนายกองของฝ่ายตน เตรียมตัวและรับแผนไปปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด.
เนื่องจากเหตุที่ว่า ในการรบเมื่อวันที่ 12 อรชุนยังสังหารหน่วยกล้าตายสังศัปตกะของราชาแคว้นตริครรตะได้ไม่หนำใจ ฉะนั้น พอทั้งสองฝ่ายเปิดฉากพันตูกันอีกครั้งหนึ่งในรุ่งอรุณของวันที่ 13 และพอได้ยินผรุสวาจาและคำท้าทายของฝ่ายตรงข้าม อรชุนจึงมิรอช้า รีบทูลพระกฤษณะให้ขับราชรถตามหน่วยทหารสังศัปตกะไปในทันที!.
179
ทันใดที่อรชุนแยกตนออกไปจากทัพหลักของฝ่ายปาณฑพ อาจารย์โทฺรณะก็สั่งกองกำลังจักรพยุหะให้เข้าโอบล้อมกองทหารของยุธิษฐิระในบัดดล บรรดาแม่ทัพนายกองของยุธิษฐิระมีภีมเสน สาตฺยกี เจกิฏาน ธฤษฏะทฺยุมัน กุนตีโภช ทรุปัท ฆโฏตกัจ อภิมันยุ ศิขัณฑิน อุตฺตเมาช ราชาวิราฏ ท้าวธฤษฏเกตุ แห่งแคว้นเกกยะ และราชาศรีชัย เป็นต้น ต่างก็พยายามที่จะต่อต้านและตีฝ่าจุดใดจุดหนึ่งของกองกำลังจักรพยุหะออกมา แต่ก็ไม่มีใครสามารถจะทำได้ เพราะนอกจากอรชุนและบุตรชายคืออภิมันยุแล้ว ไม่มีแม่ทัพนายกองคนอื่นใดของฝ่ายปาณฑพได้เรียนรู้ถึงกลรบแบบนี้.
ขณะที่ทุกคนกำลังงงงันต่อการแปรทัพแบบใหม่ของโทฺรณาจารย์ ซึ่งไม่มีใครคาดฝันอยู่นั้น ยุธิษฐิระเห็นว่าภัยพิบัติกำลังคืบหน้าเข้ามาใกล้ฝ่ายตนอย่างรวดเร็ว อีกทั้งอรชุนก็หาได้อยู่ในที่นั้นไม่ จึงกวักหัตถ์เรียกอภิมันยุผู้นัดดาเข้าไปหาแล้วรับสั่งว่า.
"อภิมันยุหลานรัก! ถึงเวลาแล้วที่เจ้าจะต้องกู้ศักดิ์ศรีของตระกูลของเราไว้ กลยุทธแบบจักรพยุหะที่พระอาจารย์โทฺรณะ กำลังใช้ล้อมกองทัพของเราอยู่ขณะนี้ เจ้าและพ่อของเจ้าเท่านั้นที่ได้เรียนรู้มา และสามารถจะตีฝ่าออกไปได้ แต่โดยเหตุที่อรชุนพ่อของเจ้า กำลังรบติดพันอยู่กับหน่วยกล้าตายสังศัปตกะของราชาแห่งแคว้นตริครรตะ เพราะฉะนั้น จึงต้องตกเป็นหน้าที่ของเจ้าแล้วที่จะต้องเข้าแก้ไขสถานการณ์แม้จะอยู่ในเยาว์วัย แต่ลุงก็มั่นใจว่าเจ้าจะสามารถช่วยพวกเราได้ ขอให้เจ้านำพวกเราตะลุยเข้าไปในแนวรบของฝ่ายข้าศึก ลุงกับอาตลอดจนพรรคพวกทั้งหมดจะเป็นกำลังหนุนอยู่เบื้องหลัง".
"หม่อมฉันยินดีที่จะสนองพระบัญชาของทูลกระหม่อมลุง และแม้แต่ชีวิตก็ยินดีถวายให้ได้! หม่อมฉันเคยเรียนรู้ถึงการโจมตีขบวนรถแบบจักรพยุหะนี้มากับเสด็จพ่อ แต่ขอกราบทูลไว้เสียก่อนว่า เมื่อโจมตีแนวรบของข้าศึกได้สำเร็จแล้ว ทูลกระหม่อมลุงต้องตามรถรบของหม่อมฉันเข้าไปด้วยให้ทันท่วงที มิฉะนั้นแล้วหม่อมฉันก็จะถูกฝ่ายศัตรูบดขยี้เป็นภัสมธุลีลงแน่ ๆ !".
ทูลจบ อภิมันยุก็สั่งให้ สุมิตร สารถีคู่ใจเร่งรถรบเข้าสู่แนวรบของข้าศึกด้วยความแกล้วกล้าสามารถและด้วยความรู้ถึงจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม ภายในเวลามิช้านานอภิมันยุก็สามารถสังหารชีวิต ลักษมัณ (Laxman Kumara) โอรสขององค์ทุรโยธน์ผู้เป็นแม่ทัพของฝ่ายตรงข้ามได้.
180
และทันทีที่ข่าวการสิ้นชีวิตของลักษมัณแพร่สะพัดออกไป ทหารของฝ่ายเการพก็เกิดความระส่ำระสายเสียขวัญจนรวมตัวกันไม่ติด อภิมันยุเห็นเป็นโอกาสจึงเร่งรถรบตามตะลุยเข้าไปในแนวรบของข้าศึกแต่ผู้เดียว โดยคิดว่าลุงแลอาคงจะติดตามมาทัน....
แต่.... เหตุการณ์หาได้เป็นไปดังคาดหมายเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะ ท้าวชยัทรัถ (जयद्रथ: Jayadratha) ราชาแห่งแคว้นสินธุผู้เป็นชามาดา01. ของท้าวธฤตรษฎร์ และใช้ธงรบรูปหมูป่าเป็นสัญลักษณ์ ได้เร่งเคลื่อนกองทหารของตนเข้าสกัดกั้น มิให้องค์ยุธิษฐิระและพรรคพวกสามารถติดตามอภิมันยุไปทันได้! และด้วยเหตุนี้ อภิมันยุจึงตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายศัตรูแต่ผู้เดียว!.
แม้จะตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายศัตรู และแม้จะเหลียวหลังมองไปไม่เห็นลุง อาหรือผู้ใดที่เป็นฝ่ายตนเลย อภิมันยุก็หาได้สะทกสะท้านหรือเกิดความหวาดกลัวแต่ประการใดไม่ ตรงกันข้าม หนุ่มน้อยเลือดขัตติยะได้แสดงฝีมือในการรบอย่างยอดเยี่ยมสมกับเป็นโอรสผู้แกล้วกล้าของอรชุน อภิมันยุได้สังหารศัตรูล้มตายลงเป็นจำนวนมากมาย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ปรากฎว่ารถรบของอภิมันยุ ต้องถูกรถรบของฝ่ายศัตรูล้อมไว้อย่างหนาแน่นถึงหกคัน ซึ่งได้แก่รถรบของอาจารย์โทฺรณะ อาจารย์กฤปะ กรรณะ อัศวัตถามา พฤหัทพละ และ กฤตวรมัน ซึ่งเป็นโอรสของ ท้าวหฤทิกะ ราชาแห่งชาวยาทพ.
เมื่ออยู่ในสภาพถูกรุมด้วยนักรบชั้นเยี่ยม ๆ แบบหกต่อหนึ่งเช่นนั้น แม้จะเก่งกาจสักเพียงไร ก็เป็นที่แน่นอนว่าอภิมันยุย่อมไม่สามารถจะต่อกรไปได้นานนัก รถรบของมานพน้อยอภิมันยุถูกฝ่ายศัตรูทำลายอย่างยับเยิน สารถีสุมิตรสิ้นชีวิตลงพร้อมกับม้า และองค์อภิมันยุเองต้องกระเด็นตกลงจากรถ ทันใดนั้น ลูกชายของทุหศาสันก็ตรงเข้าไปใช้ตะบองกับอภิมันยุ แต่โดยเหตุที่ต้องต่อสู้แต่ลำพังผู้เดียวมาเป็นเวลานาน อภิมันยุจึงเกิดความอ่อนเพลียและพลาดท่าล้มลง แต่พอจะลุกขึ้นมาสู้อีก ก็ถูกโอรสของทุหศาสันใช้ตะบองฟาดลงบนเศียรสิ้นชีพในบัดดล!
---------------
01. ชามาดา = ลูกเขย ชยัทรัถเป็นสวามีของนางทุหศลา.
181
การตายของอภิมันยุ ได้รับการไชโยโห่ร้องอย่างกึกก้องจากทหารของฝ่ายเการพ อย่างไรก็ตาม แม้ในระหว่างนักรบของฝ่ายเการพด้วยกันเอง ก็มีอยู่หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรุมสังหารอภิมันยุ เช่นที่ได้พรรณนามาแล้วข้างต้น.
ฝ่ายปาณฑพเมื่อได้ทราบข่าวการตายของอภิมันยุก็ให้เกิดความโศกเศร้าเป็นกำลัง โดยเฉพาะท้าวยุธิษฐิระนั้นทรงพิลาปคร่ำครวญอย่างน่าเวทนาแทบว่าจะสิ้นสติสมปฤดี พระองค์ทรงสาปแช่งพระองค์เองในฐานที่เป็นผู้ออกคำสั่งให้อภิมันยุนำทัพเข้าโจมตีการแปรทัพแบบจักรพยุหะของโทฺรณาจารย์ จนในที่สุดอภิมันยุต้องสิ้นชีวิตไปด้วยกลยุทธ์ที่เหนือกว่าของราชาชยัทรัถแห่งแคว้นสินธุ ดังที่ได้พรรณนามาแล้ว ตอนหนึ่งท้าวยุธิษฐิระถึงกับทรงปรารภว่าจะยุติการสู้รบกับฝ่ายเการพ แล้วเสด็จเข้าป่าเพื่อบำเพ็ญศีลภาวนาเช่นฤๅษีมุนีผู้สละโลกทั้งหลาย แต่ด้วยญาณอันวิเศษ ฤๅษี กฤษณะ ไทฺวปายนะ วฺยาส ทราบความในพระทัยของท้าวยุธิษฐิระ จึงรีบรุดไปเฝ้าท้าวยุธิษฐิระแล้วถวายอนุศาสน์นานาประการ ซึ่งโดยสาระแล้วก็พอจะสรุปความได้ว่า ให้ทรงเลิกท้อถอยพระทัย ขอให้ทรงทำสงครามต่อไป ที่ใดมีความเป็นธรรมที่นั่นย่อมได้รับชัยชนะ ในที่สุดท้าวยุธิษฐิระก็ทรงได้สติและกลับพระทัยทำสงครามต่อไป.
ตกเย็น เมื่อรบกับหน่วยทหารสังศัปตกะจนได้ชัยชนะแล้ว อรชุนก็กลับยังกระโจมที่พัก โดยมีพระกฤษณะเป็นสารถีขับราชรถให้เช่นเคย แม้จะรบมีชัยมาสด ๆ ร้อน ๆ แต่อรชุนก็ให้รู้สึกกระวยกระวายใจเป็นกำลัง ตลอดทางอรชุนมิได้ปริปากเจรจาสิ่งไรกับพระกฤษณะเลย และพอเข้าเขตค่ายทหารของตนก็พบแต่บรรยากาศอันเงียบสงัดผิดปกติ ทันใดนั้น ท้าวยุธิษฐิระผู้เชษฐภราดาก็เสด็จออกมาต้อนรับอนุชา พร้อมกับทรงเล่าเหตุการณ์ให้ฟังตั้งแต่ต้นด้วยอัสสุชลนองพระพักตร์.
ทันทีที่ท้าวยุธิษฐิระเล่าจบ อรชุนก็เป็นลงล้มแน่นิ่งไปครู่หนึ่ง และเมื่อได้สติฟื้นขึ้นมาก็คร่ำครวญว่า.
"อนิจจา! อภิมันยุลูกพ่อ! เจ้าไม่น่าจะจากพ่อไปในวัยหนุ่มแน่นเช่นนี้เลย แล้วนี้จะให้พ่อแบกหน้าไปแจ้งให้สุภัทรามารดาของเจ้าทราบได้อย่างไร ชยัทรัถเอย! ท่านไม่น่าจะใช้กลยุทธ์เช่นนี้กับเด็กขนาดลูกหลานของท่านเลย เราขอสาบานว่าหากพลบค่ำในวันพรุ่งนี้ เราไม่สามารถสังหารท่านเป็นการแลกเปลี่ยนกับชีวิตของลูกเราได้เราก็จะไม่ขออยู่ดูโลกต่อไปโดยเด็ดขาด!".
182
กล่าวเสร็จ อรชุนก็หยิบธนูคาณฑีพมาขึ้นสาย พลางติดสายธนูอันขึงตึงเต็มที่นั้นดังสนั่นขึ้นสามลา เป็นการประกาศปณิธานอันแน่วแน่ของตน และพร้อมกันนั้นพระกฤษณะก็ทรงเป่าสังข์ ปาญจชันยะ เป็นการสนับสนุนอย่างเปิดเผยด้วย.
ทันใดนั้น ภีมเสนก็ตะโกนขึ้นว่า.
"เการพทั้งหลายเอย! พวกท่านจงทราบ ณ บัดนี้เถิดว่า การดีดสายธนูคาณฑีพของอรชุนและการเป่าสังข์ปาญจชันยะของพระกฤษณะครั้งนี้ เป็นการมอบท่านทั้งหลายให้อยู่ในอุ้งหัตถ์ของพญามัจจุราชแล้ว!".
พฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งได้เกิดขึ้นในกองทัพฝ่ายปาณฑพตามที่ได้พรรณนามานี้ สายลับของฝ่ายเการพซึ่งประจำอยู่ในกองทัพของปาณฑพ ได้รีบรายงานไปให้เการพทราบโดยด่วน.
ทันทีที่ได้ทราบ ชยัทรัถก็ให้ตกใจเป็นกำลัง จึงรีบเข้าปรึกษาความกับอาจารย์โทฺรณะและทุรโยธน์ ทั้งอาจารย์โทฺรณะและทุรโยธน์ต่างก็ให้ความมั่นใจแก่ชยัทรัถว่า กองทัพของฝ่ายเการพนั้นยังมีกำลังเข้มแข็งเป็นอันดี แม่ทัพนายกองผู้ชำนาญการรบเล่าก็ยังอยู่กันครบถ้วน ขอให้ชยัทรัถจงอย่าได้มีความหวาดหวั่นหรือวิตกกังวลแต่ประการใด จงสู้รบต่อไปให้สมกับที่ได้เกิดมาในวรรณะกษัตริยืเถิด โดยเฉพาะอาจารย์โทฺรณะนั้นได้ให้กำลังใจว่า จะแปรขบวนรถแบบใหม่ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะให้ความปลอดภัยแก่ชยัทรัถได้เป็นอย่างดี.
รุ่งขึ้นอันเป็นวันที่ 14 แห่งสงครามมหาภารตะ พอท้องฟ้าเริ่มสาง กองทัพของทั้งสองฝ่ายก็เคลื่อนกำลังเข้าประชิดกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าในวันนี้ อรชุนนำหน้ากองทหารออกรบด้วยสีหน้าอันหม่นหมองและเคร่งเครียดเป็นพิเศษ ส่วนพระกฤษณะผู้สารถีนั้นทรงมีพระพักตร์ยิ้มแย้มแจ่มใสเช่นเคย.
183
อาจารย์โทฺรณะได้จัดขบวนรถ01.ชนิดที่ให้ความอารักขาแก่ท้าวชยัทรัถราชาแห่งแคว้นสินธุเป้นพิเศษ ทั้งนี้โดยจัดให้ชยัทรัถร่นไปอยู่ในตอนกลางของทัพหลังห้อมล้อมด้วยนักรบฝีมือเอกของฝ่ายเการพ ได้แก่ อาจารย์กฤปะ กรรณะ จิตรเสน ศัลยะ ปุรุมิตร ชัยะ โภชะ กัมโพชะ สุทักษิณ สัตยพรต ทุหศาสัน สุพาหุ อัศวัตถามา และ ศกุนิ เป็นต้น.
พอเสียงสังข์อันเป็นสัญญาณให้ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากรบกันดังขึ้น พระกฤษณะสารถีของอรชุนก็ทรงขับรถรบ02.ตรงเข้าสู่แนวข้าศึกทันที อรชุนนั้นชำนาญการใช้ธนูเป็นยอดเยี่ยมอยู่แล้ว เมื่อได้สารถีผู้ชำนาญการรบเช่นพระกฤษณะเป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่ง จึงสามารถใช้ธนูและอาวุธอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง และด้วยความแค้นที่ต้องสูญเสียอภิมันยุลูกรักไปด้วยน้ำมือของฝ่ายศัตรูเมื่อวันวาน อรชุนจึงรบอย่างสุดฝีมือ ทั้งนี้เพื่อสังหารชีวิตของชยัทรัถตามปณิธานที่ได้ประกาศไว้ให้จงได้.
ภายในเวลาไม่นานนัก รถรบของอรชุนก็สามารถตะลุยแนวหน้าของฝ่ายเการพ ซึ่งมีทุรโยธน์เป็นแม่ทัพเข้าไปได้ ทุรโยธน์ยิงธนูแลกเปลี่ยนกับอรชุนอยู่พักหนึ่ง เห็นทีจะสู้ไม่ได้ จึงถอยรถไปสมทบกับทัพของอาจารย์โทฺรณะซึ่งเป็นทัพกลาง.
พระกฤษณะทรงขับรถรบติดตามทุรโยธน์ไปอย่างกระชั้นชิด ทั้งอรชุนและพระกฤษณะได้รับการต่อต้านจากแม่ทัพนายกองของฝ่ายเการพอย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ตาม ในที่สุด รถรบของอรชุนก็รุดหน้าไปจนถึงใจกลางของทัพหลังซึ่งกำลังห้อมล้อมให้ความอารักขาแก่ชยัทรัถอยู่อย่างเข้มแข็ง พระกฤษณะทรงพยายามที่จะเข้าไปให้ใกล้รถของชยัทรัถให้มากที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้อรชุนใช้ธนูสังหารชยัทรัถได้โดยไม่ผิดพลาด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะรถของชยัทรัถมีแม่ทัพนายกองฝีมือเอกให้ความคุ้มกันอยู่มากมายดั่งได้พรรณนามาแล้ว.
ฝ่ายท้าวยุธิษฐิระเมื่อได้เห็นอนุชาคืออรชุนกับพระกฤษณะ ขับราชรถตะลุยลึกเข้าไปในแนวรบของฝ่ายข้าศึกแต่ลำพังผู้เดียวเช่นนั้น ก็ให้เกิดความเป็นห่วงและวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ท้าวเธอจึงหันไปรับสั่งกับสาตฺยกีและภีมเสนว่า
---------------
01. จัดทัพไว้อย่างรัดกุม รวมสามชั้น ชั้นหนึ่ง (ชั้นนอกสุด) เป็นรูปกงจักร (จักรพยุหะ) ชั้นที่สอง เป็นรูปตะกร้าเหล็ก (ศกฏะพยุหะ) ชั้นที่สาท เป็นรูปรูของเข็มเย็บผ้า (ศูจิมุขพยุหะ), ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 01 พฤศจิกายน 2565.
02. จัดทัพเป็นรูปพระขรรค์ (ขัฑคะพยุหะ), ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 01 พฤศจิกายน 2565.
184
"การที่น้องอรชุนกับพระกฤษณะบุกฝ่ายข้าศึกเข้าไปแต่ลำพังเช่นนี้ นับว่าเป็นการหมิ่นเหม่ต่ออันตรายเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะถูกกลลวงของฝ่ายศัตรูเข้าเมื่อไรก็ได้ เราจึงขอให้ท่านทั้งสองจงรีบติดตามรถรบของอรชุนไปให้ทันเถิด จะได้ให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที".
"ขอเสด็จพี่จงอย่าได้ทรงเป็นห่วงสองคนนี้แต่ประการใดเลย หม่อมฉันเชื่อเหลือเกินว่า ตราบใดที่อาวุธยังอยู่ในมืออรชุน ตราบนั้นฝ่ายเการพจะไม่สามารถทำอันตรายอรชุนได้เลย อนึ่งเล่า ก่อนจะออกรถไปนั้น องค์อรชุนก็ได้สั่งให้น้องทั้งสองถวายความอารักขาแด่เสด็จพี่ไว้ และห้ามไม่ให้ไปไหนห่างไกลเป็นอันขาด" ภีมเสนทูลตอบเชษฐา.
"ไม่เป็นไรดอกน้องรัก! สำหรับความปลอดภัยของพี่นั้น ขอน้องและท่านสาตฺยกีอย่าต้องเป็นห่วงเลย พวกเรามีอยู่ด้วยกันที่นี่หลายคน" ท้าวยุธิษฐิระตรัสตอบอนุชาภีมเสน และพร้อมกันนั้นก็โบกพระหัตถ์ประทานสัญญาณให้สาตฺยกีและภีมเสนรีบรุดไปช่วยอรชุนกับพระกฤษณะ.
แม้ไม่อยากจะจากไปเพราะเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยแก่องค์ธรรมบุตรยุธิษฐิระ แต่ทั้งภีมเสนและสาตฺยกีก็ไม่กล้าขัดบัญชาแห่งราชายุธิษฐิระ ดังนั้นสองจึงต่างก็รีบเร่งรถขับตรงไปยังแนวรบของฝ่ายเการพข้าศึก อย่างไรก็ตามก่อนจะจากไปภีมเสนไม่ลืมที่จะขอร้องท้าวธฤษฏะทฺยุมัน แห่งแคว้นปัญจาละผู้ภราดาของนางเทฺราปที ให้ช่วยดูแลอารักขายุธิษฐิระผู้เชษฐภราดาไว้ให้จงดี.
ข้างฝ่ายเการพเมื่อเห็นทหารเอกของปาณฑพขับรถรบตรงมายังที่ตั้งกองทหารของตนเช่นนั้น ก็รีบแปรทัพเข้ารับหน้า กรรณะรีบขับรถของตนเข้าสกัดภีมเสน พร้อมกันนั้น ภูริศฺรวัส ก็รีบเข้าเผชิญหน้า สาตฺยกี.
เฉพาะที่เกี่ยวกับสาตฺยกีและภูริศฺรวัส แม่ทัพฝีมือเอกของทั้งสองฝ่ายนี้ จะขอเท้าความหลังเพื่อความกระจ่างแจ้งของเรื่องสักเล็กน้อย และเพื่อเรื่องจะได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น.
พระชนนีของพระกฤษณะนั้นทรงพระนามว่า เทวกี ธิดาของท้าว เทวกะ ราชาแห่งแคว้นศูรเสน สมัยที่ยังอยู่ในวัยดรุณรุ่นสาวนั้น นางเทวกีมีรูปโฉมโนมพรรณสคราญตา เป็นที่ปรารถนาของกษัตริย์หนุ่มทั้งหลายเป็นอย่างมาก.
การแต่งงานของท้าววสุเทพ กับ นางเทวกี, ที่มา: quora.com, วันที่เข้าถึง: 1 พฤศจิกายน 2565.
185
ในจำนวนนี้มีท้าว โสมทัตต์ และ ท้าว วสุเทพ ผู้เป็นชนกของพระกฤษณะรวมอยู่ด้วย ท้าววสุเทพมีสหายอยู่องค์หนึ่งชื่อ ศินี ซึ่งเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถมาก ศินีได้ช่วยวสุเทพรบกับโสมทัตต์แย่งนางเทวกีมาเป็นมเหสีของวสุเทพได้ ด้วยเหตุนี้ตระกูลของโสมทัตต์และตระกูลของศินีจึงเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันตั้งแต่นั้นมา สาตฺยกีเป็นหลานของศินี ส่วนภูริศฺรวัสนั้นเป็นลูกของโสมทัตต์.
เมื่อมาเผชิญหน้ากันเช่นนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงลงมือโรมรันกันด้วยความแค้นซึ่งคั่งค้างมาเป็นเวลาช้านาน โดยเหตุที่เป็นนักรบฝีมือดีด้วยกันทั้งคู่ สาตฺยกีและภูริศฺรวัส จึงต่อสู้กันด้วยอาวุธนานาชนิดอยู่เป็นเวลานาน ทั้งสองผลัดกันรุกผลัดกันรับอย่างน่าดู ในท่ามกลางเสียงปรบมือและไชโยโห่ร้องของทหารทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดสาตฺยกี ซึ่งมีอายุน้อยกว่า ก็สามารถสังหารชีวิตภูริศิรวัสลงด้วยมีดดาบได้.
ส่วนกรรณะกับภีมเสนก็รบกันอย่างน่าตื่นเต้น ในท่ามกลางความตะลึงพรึงเพริดของบรรดาทหารหาญซึ่งยืนดูเป็นสักขีพยานอยู่ ณ สมรภูมิกุรุเกษตรแห่งนั้น ภีมเสนนั้นแม้จะมีพลังและร่างกายประดุจช้างสาร แต่เมื่อต้องมาเผชิญหน้าและสู้รบกับนักรบฝีมือเยี่ยมเช่นกรรณะผู้ได้ชื่อว่า เป็นลูกพระอาทิตย์01.เช่นนั้น ก็ปรากฎว่าความคล่องแคล่วและชั้นเชิงในการรบของชายหนุ่มอ่อนลงไปถนัด หลังจากที่ได้สู้รบกันตัวต่อตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง ภีมเสนก็เพลี่ยงพล้ำล้มลงเปิดโอกาสให้กรรณะเข้าประชิดติดตัว และอันที่จริงก็จะสามารถปลิดชีวิตได้อย่างง่ายดาย แต่กรรณะหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ ตรงข้าม เขากลับประกาศก้องว่าเขาจะไว้ชีวิตภีมเสนตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับนางกุนตีผู้มารดา ทั้งนี้ทำให้ภีมเสนต้องเดินก้มหน้ากลับไปยังแนวพักรบของตนด้วยความอับอาย.
จะขอกลับไปเล่าถึงอรชุนและพระกฤษณะ.
การที่ภีมเสนและสาตฺยกีบุกเข้าไปช่วยรบจนถึงใจกลางของกองทัพฝ่ายเการพนี้ ทำให้ทั้งอรชุนและพระกฤษณะมีกำลังใจขึ้นเป็นอันมาก ทั้งสองยังคงพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงกองหลังของทัพเการพซึ่งชยัทรัถได้หลบเข้าไปอยู่ แต่ไม่สามารถจะฝ่าแนวอารักขาเข้าไปได้.
---------------
01. กรรณะเป็นโอรสองค์แรกของนางกุนตี เกิดจากสูรยเทพเจ้า.
186
คงจะจำกันได้ว่า อรชุนนั้นได้ลั่นวาจาไว้ก่อนที่จะออกรบในวันที่ 14 ว่า หากไม่สามารถสังหารชีวิตชยัทรัถได้ภายในพลบค่ำของวันนั้น ตนจะไม่ขออยู่ดูโลกต่อไปโดยเด็ดขาด คำประกาศนี้ก้องอยู่ในกรรณของพระกฤษณะซึ่งทรงเป็นห่วงว่า อรชุนจะไม่สามารถทำตามคำประกาศได้ ดังนั้น เวลายิ่งล่วงไปมากเท่าใด โดยที่อรชุนยังไม่สามารถสังหารชยัทรัถได้ พระกฤษณะก็ยิ่งทรงกระวนการะวายพระทัยมากขึ้นเท่านั้น ในที่สุดเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนคล้อยลงใกล้จะจรดขอบฟ้าอันจะเป็นเวลาพลบค่ำ พระกฤษณะจึงทรงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้ท้องฟ้ามืดมน ทำให้ชยัทรัถเข้าใจว่าค่ำแล้วอรชุนคงจะหยุดรบ และชยัทรัถเองก็เกิดความประมาทคิดว่า ไม่จำเป็นต้องระมัดระวังตัวต่อไปอีกแล้ว.
ทันใดนั้น พระกฤษณะก็รับสั่งกับอรชุนว่า.
"ชยัทรัถกำลังเผลอตัว-แหงนหน้าขึ้นมองดูท้องฟ้า-คงคิดว่าเป็นเวลาค่ำแล้ว บัดนี้! ท่านจงถือโอกาสกระทำการให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้โดยเร็วเถิด!".
พระกฤษณะยังตรัสมิทันจะขาดคำ เสียงกระหึ่มก็ดังขึ้นจากธนูคาณฑีพของอรชุน! ในบัดดล ศรลูกหนึ่งก็ทะยานเข้าตัดเศียรของชยัทรัถขาดออกจากร่าง ชยัทรัถล้มลงขาดใจตายทันที!.
เป็นอันว่าอรชุนแก้แค้นแทนอภิมันยุลูกรักของตนได้สำเร็จสมดังวาจาที่ได้ลั่นไว้แล้ว.
รูปปั้นฆโฏตกัจ (Ghaṭotkacha Statue - Sanskrit घटोत्कच) กำลังสู้กับกรรณะ, ใกล้สนามบินนานาชาติ Ngurah Rai, บาหลี, อินโดนีเซีย, ที่มา: flickr.com, วันที่เข้าถึง 1 พฤศจิกายน 2565.
คงจะจำกันได้ว่า ระหว่างที่พี่น้องปาณฑพทั้งห้าพร้อมด้วยมารดาคือนางกุนตีต้องระเหเร่ร่อน ใช้ชีวิตรอนแรมอยู่ในป่าตามความดังกล่าวในอาทิบรรพนั้น ครั้งหนึ่ง กลุ่มพี่น้องได้พบกับอสูรหรือรากษสพี่น้องสองตน คนแรกเป็นชายชื่อหิฑิมพะ ตนที่สองเป็นหญิงชื่อหิฑิมพา ภีมะหรือภีมเสนอนุชาองค์ที่สองของท้าวยุธิษฐิระได้ต่อสู้และสังหารชีวิตรากษสชายหิฑิมพะ แล้วสมสู่กับนางรากษสีหิฑิมพาผู้น้องจนเกิดบุตรด้วยกันตนหนึ่งชื่อ ฆโฏตกัจ เมื่อถึงเวลาที่กลุ่มปาณฑพต้องระเหระหนออกเดินทางไปสู่ที่อื่นต่อไป ฆโฏตกัจไม่ยอมไปด้วยกับพ่อภีมเสน.
187
หากขออยู่กับแม่ในป่านั้นเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ ฆโฏตกัจ จึงเติบใหญ่อยู่ภายในป่า พอได้ทราบว่าสงครามเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มปาณฑพกับกลุ่มเการพ ฆโฏตกัจซึ่งมีพลังและความแกล้วกล้าในการรบไม่แพ้บิดา จึงได้รวบรวมกองทัพรากษสซึ่งมีกำลังถึง 1 อักเษาหิณีแล้วรีบรุดไปช่วยบิดารบกับฝ่ายเการพ.
ฆโฏตกัจได้ทำความเสียหายให้แก่ฝ่ายเการพเป็นอย่างมาก ได้ต่อสู้กับกรรณะตัวต่อตัว และในที่สุด ก็ได้สิ้นชีวิตด้วยหอกวิเศษชื่อ "ศักติ" ของกรรณะ ซึ่งกรรณะได้รับมาจากพระอินทร์ อันว่าหอกวิเศษ "ศักติ" นี้ กรรณะได้สงวนไว้ใช้เพื่อสังหารอรชุนโดยเฉพาะ แต่ในที่สุดก็ต้องนำออกมาใช้กับฆโฏตกัจ เพราะความโมโหและกลัวว่าฝ่ายเการพจะรบแพ้ในวันนั้น.
สมควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในวันที่ 14 แห่งมหาภารตยุทธนี้ ความเคียดแค้นชิงชังของทั้งสองฝ่าย ได้ทับทวีหนักขึ้น ๆ จนไม่มีฝ่ายใดยอมปฏิบัติตามกติกาของการรบ ซึ่งได้ตกลงกันไว้หนึ่งในบรรดาหลายข้อว่า ทั้งสองฝ่ายจะไม่รบกันในเวลากลางคืน ผลก็คือในรัตติกาลแห่งการรบวันที่ 14 นั้นเอง กองทัพของทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งพันตูกันตลอดคืน จวบจนสว่างการรบก็หาได้ยุติลงไม่ หากได้รบติดต่อกันไปจนถึงวันที่ 15 เลย.
ในวันที่ 15 แห่งการรบนี้ โทฺรณาจารย์ได้นำยุทธวิธีใหม่มาใช้ ยังผลให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายปาณฑพเป็นอย่างมาก พระกฤษณะเห็นท่าไม่เข้าที จึงตรัสกับอรชุนและพี่น้องปาณฑพว่า.
"ตราบใดที่ในมือของอาจารย์โทฺรณะยังมีอาวุธ ตราบนั้นเราจะไม่มีวันรบชนะฝ่ายเการพได้เลย เพราะฉะนั้น เราจะต้องใช้กโลบายสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้พราหมณ์เฒ่าผู้นี้วางอาวุธ พวกท่านคนหนึ่งจะต้องไปตะโกนหลอกพราหมณ์เฒ่าว่า บัดนี้ อัศวัตถามาลูกของแกได้ตายเสียแล้วในสนามรบ เราเชื่อว่า เมื่อนั้นแหละพราหมณ์เฒ่าผู้นี้จะเสียใจแล้วก็วางอาวุธหยุดรบ".
ยุธิษฐิระและอรชุนไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการกล่าวคำเท็จขึ้นหลอกลวงโทฺรณาจารย์ ผู้เคยเป็นครูประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้ แต่ก็มิได้แสดงอาการคัดค้านปรากฎออกมาให้เห็นแต่ประการใด.
การล้มช้างชื่อ "อัศวัตถามา" ของฝ่ายปาณฑพ เพื่อหลอกโทฺรณาจารย์, ที่มา: blockdit.com, วันที่เข้าถึง: 07 พฤศจิกายน 2565.
188
ภีมเสนเห็นด้วยกับคำแนะนำของพระกฤษณะ จึงใช้ตะบองสังหารช้างรบเสียเชือกหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า อัศวัตถามา เหมือนชื่อลูกชายของโทฺรณาจารย์ แล้วตะโกนขึ้นดัง ๆ ให้เข้าหูโทฺรณาจารย์ซึ่งกำลังยืนบัญชาการรบอยู่บนรถรบ.
ด้วยความเสียใจที่คิดว่า อัศวัตถามาลูกชายตายจริงตามเสียงตะโกนบอกของภีมเสน อาจารย์โทฺรณะนักรบผู้เฒ่าวัย 85 ปี ถึงกับน้ำตาคลอ ยืนเกาะราวพนักรถรบ อยู่เฉย ๆ ด้วยท่าทีมึนและซึม.
"ยุธิษฐิระ! ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นธรรมบุตรผู้บูชาความสัตย์ยิ่งกว่าชีวิต ท่านจะบอกเราสักหน่อยได้หรือไม่ว่า อัศวัตถามาลูกชายของเรา ตายจริงตามคำประกาศของภีมเสนน้องของท่าน" โทฺรณาจารย์ถามยุธิษฐิระด้วยความคิดว่าจะได้ทราบความจริงยิ่งกว่าจากผู้อื่นใด.
ยุธิษฐิระเกิดความกระอักกระอ่วนพระทัยอยู่ครู่หนึ่ง แต่แล้วด้วยความเห็นแก่องค์เองและพวกน้อง ๆ จึงตรัสตอบโทฺรณาจารย์ว่า.
"ใช่แล้ว! อัศวัตถามาตายจริง แต่เป็นช้างนะ".
คำว่า "อัศวัตถามาตายจริง" นั้น ยุธิษฐิระตรัสออกมาดัง ๆ ส่วน "แต่เป็นช้างนะ" นั้นตรัสค่อย ๆ ซึ่งในท่ามกลางเสียงโกลาหลอลหม่านในสนามรบ โทฺรณาจารย์จึงได้ยินแต่คำพูดในประโยคแรกเท่านั้น!.
ผลแห่งการกล่าวคำอาสัตย์ ทำให้รถรบของยุธิษฐิระซึ่งตามปกติแล้วม้าและล้อจะวิ่งสูงเหนือพื้นดินถึง 4 นิ้วมือ ครานี้ ให้มีอันเป็นวิ่งตกระดับลงกล่าวคือทั้งม้าและล้อวิ่งเลียดติดกับพื้นดินเหมือนรถทั้งหลายทั่ว ๆ ไป ในทันที!.
ด้วยความเสียใจอย่างสุดที่จะพรรณนา และด้วยความมั่นใจว่าไหนเลยธรรมบุตรอย่างองค์ยุธิษฐิระจะกล่าวคำเท็จได้ โทฺรณาจารย์ปล่อยให้อาวุธวิเศษซึ่งมีชื่อว่า พรหมศาสตร์ หล่นลงจากมือ พร้อมกันนั้นก็นั่งลงบนพื้นของรถรบเริ่มบริกรรมทำสมาธิเข้าสู่ภวังคจิต.
กลุ่มหรือร่องอวกาศขนาดใหญ่สัปตฤษี, ที่มา: pvgspace.blogspot.com, วันที่เข้าถึง: 7 พฤศจิกายน 2565.
ทันใดนั้น สัปตฤษี01. หรือฤๅษีทั้ง 7 ซึ่งได้แก่
หนึ่ง) มรีจิ (Marichi)
สอง) อัตริ (Atri)
สาม) อังคิรัส (Angiras)
สี่) ปุลัสตยะ (Pulastya)
ห้า) ปุลหะ (Pulaha)
หก) กระตุ (Kratu)
เจ็ด) วสิษฐ์ (Vasistha)
ก็ปรากฎตน ณ สมรภูมิกุรุเกษตร แล้วกล่าวกับโทฺรณาจารย์ ณ ท่ามกลางความงงงันของทุกคนว่า.
"ท่านโทฺรณะผู้ปราดเปรื่อง! ท่านเป็นพราหมณ์ การใช้ศัสตราวุธหาใช่เป็นกิจของท่านไม่ เวลาของท่านในมนุษยโลกได้สิ้นสุดลงแล้ว จงกลับไปอยู่กับพวกเราในพรหมโลกเถิด!"01.
---------------
01. ฤๅษีทั้ง 7 ที่มีชื่อในภาษาสันสกฤตว่า "สัปตฤๅษี" นี้ คัมภีร์ศาสนาของฮินดูกล่าวไว้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับฟังเนื้อหาแห่งคัมภีร์พระเวท (ศรุติ) จากปากของพระพรหม แล้วนำมาถ่ายทอดให้มนุษย์ฟังอีกต่อหนึ่ง.
หมายเหตุ และขยายความ
01. สัปตฤษี (Saptarishi) หรือ ฤๅษีทั้ง 7 นี้ หมายถึงมหาฤๅษีหรือผู้ทรงภูมิปัญญาเป็นเลิศเจ็ดตน มีแสดงไว้ในพระเวทและวรรณกรรมฮินดูต่าง ๆ เช่นใน มัตสยาวตาร พระวิษณุได้อวตารเป็นปลาใหญ่ช่วยพระมนูและสัปตฤษี (ในมัตสยาวตาร เรียก สัตยพรต) ในจารีตประเพณีดาราศาสตร์ของฮินดู ได้กล่าวถึงดาวเจ็ดดวงมีร่องขนาดใหญ่ ซึ่งได้ระบุชื่อของสัปตฤษีไว้ ซึ่งสัปตฤษีนี้มีชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละมันวันตระ (manvantara) ของกัล์ปปัจจุบัน (เศวตะ-วาราทะกัล์ป - Śveta-Vārātha Kalpa) สัปตฤษีที่ปรากฎในมหาภารตะนี้ อิงชื่อจากดาราศาสตร์อินเดียโบราณ ดวงดาวเจ็ดดวงของสัปตฤษีมณฑล (มันดะละ-Mandala) หรือร่องขนาดใหญ่ในอวกาศ. อ้างอิงจาก: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 7 พฤศจิกายน 2565.
โทฺรณาจารย์ (แสดงโดย Nissar Khan), ที่มา: www.quora.com, วันที่เข้าถึง: 7 พ.ย.2565.
189
ท่ามกลางความตะลึงพรึงเพริดในเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นนั้น ธฤษฏะทฺยุมัน ผู้โอรสของท้าวทรุปัทและพี่เขยของพี่น้องปาณฑพ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นแม่ทัพนายหนึ่งของฝ่ายปาณฑพ เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงรีบคว้าดาบกระโดดขึ้นไปบนรถรบของโทฺรณาจารย์ พลันก็ใช้ดาบนั้นตัดศีรษะพราหมณ์ผู้เฒ่ากระเด็นออกจากร่างภายในพริบตาเดียว โดยที่ไม่มีผู้ใดจะสามารถเข้าไปขัดขวางหรือยับยั้งได้ทันท่วงที ทั้งนี้ยังให้เกิดความโศกสลดอย่างสุดที่พรรณนาแก่ผู้ได้เห็นเหตุการณ์ มิว่าจะเป็นฝ่ายใดทั้งสิ้น.
ด้วยประการฉะนี้ โทฺรณาจารย์พราหมณ์เฒ่าวัย 85 ปี ผู้ประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาการนานาชนิดให้แก่กุลบุตรทั้งฝ่ายปาณฑพและเการพ ก็สิ้นชีวิตลงในวันที่ 15 แห่งมหาภารตยุทธ ณ ทุ่งราบกุรุเกษตรนั้นเอง.
ผู้ที่เห็นวิญญาณของโทฺรณาจารย์ลอยออกจากร่างขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ณ ทุ่งราบกุรุเกษตร อันเป็นสมรภูมิชุ่มโลหิตในวันนั้น มีอยู่ 5 คนเท่านั้นคือ พระกฤษณะ สัญชัย ยุธิษฐิระ อรชุน และอัศวัตถามา.
ฤๅษีกฤษณะ ไทฺวปายนะ วฺยาส ผู้รจนามหากาพย์มหาภารตะ ได้วาดภาพโทฺรณาจารย์เมื่อตอนอยู่ในสนามรบ ไว้เป็นโศลกภาษาสันสกฤตดังต่อไปนี้.
"อากรฺณปลิตศฺศฺยาโม วยสา'ศีติปญฺจกะ
รเณ ปรฺยจรทฺโทฺรโณ วฺฤทฺธะ โษฑศวรฺษวตฺ"
แปลความว่า.
"โทฺรณะผู้ชราวัย 85 ปี ผิวคล้ำ ผมขาวโพลนทั้งศีรษะ เคลื่อนไหวอยู่ในสนามรบเสมือนเด็กหนุ่มวัย 16 ปี".
190
หลังจากโทฺรณาจารย์ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายเการพ ต้องสิ้นชีวิตลงด้วยน้ำมือของธฤษฎะทฺยุมันดังได้พรณณนามาแล้ว กองทัพของทั้งสองฝ่ายก็ถอยกลับยังแนวที่พักของตนด้วยความเศร้าสลด ในท่ามกลางความมืดสนิทของท้องฟ้าและความเงียบสงัดแห่งรัตติกาล.
จบบรรพที่ 7: โทฺรณบรรพ
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03. จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.