MENU
TH EN
Thumbnail Image: จารึกสด๊กก๊อกธม, ที่มา: anangpaser.wordpress.com, และ Hero Image: ปราสาทสด๊กก๊อกธม, ที่มา: renown-travel.com, วันที่เข้าถึง 07 ธันวาคม 2562
009. ปราสาทสด๊กก๊อกธม01,02.
First revision: Dec.07, 2019
Last change: Oct.25, 2022

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา

   ปราสาทสด๊กก๊อกธม (Sdok Kok Thom บ้างก็เรียก Sdok Kak Thom: ស្តុកកក់ធំ) หรือ ปราสาทสด๊อกก๊อกธม (แปลว่า เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านหนองเสม็ด หมู่ที่ 9 ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ห่างจาก อ.อรัญประเทศทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 35 กิโลเมตร อยู่ห่างจาก อ.ตาพระยามาทางใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายแดนประเทศกัมพูชาราวหนึ่งกิโลเมตร
     ในปี พ.ศ.2463 เรียกว่า "ปราสาทเมืองพร้าว" ต่อมาในปี พ.ศ.2478 เรียกว่า "ปราสาทสล๊อกก๊อกธม" ปัจจุบันเรียกว่า "ปราสาทสด๊กก๊อกธม".
     ได้พบสิ่งสำคัญอันมีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะ
จารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 2 (classified K.235) ที่พบทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เป็นจารึกภาษาสันสกฤตและเขมรโบราณ ยาว 340 บรรทัด แกะสลักลงบนหินทรายสีเทา ซึ่งมีความสูง 1.51 เมตร วันที่ในจารึกระบุไปถึง 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.1596 ระบุความเป็นมาของการก่อสร้างปราสาทนี้
     ปราสาทนี้สร้างในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมเทวะที่ 2 (Udayadityavarman II) สร้างโดยเหล่าครอบครัวของนักบวชที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น สร้างด้วยศิลาแลง และหินทราย ศิลปะเขมรแบบคลัง-บาปวน สร้างเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 11 (หรือราว พ.ศ.1595) เป็นปราสาทในศาสนาพราหมณ์ฮินดู แบบไศวนิกาย มีการกัลปนา ซึ่งชาวบ้านชาวนาโดยรอบนำข้าวปลาอาหารมาถวายนักบวช02.  ส่วนข้อมูลของ 03. บรรยายว่า ปราสาทนี้สร้างโดยพระบัญชาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมเทวะที่ 2 โดยประสงค์ที่จะให้แด่ "ศรีชเยนทรวรมเทวะ" นามเดิมว่า "สทาศิวะ" พระราชครูที่ลาสิกขาสมณเพศ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสุริยวรมเทวะที่ 1 (พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมเทวะที่ 2) และเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายพระองค์.
   
         

         
 
ปราสาทสด๊กก้อกธม เมื่อมองจากด้านข้าง บนข้าง และด้านบน ที่มา: drivetripper.com, วันที่เข้าถึง 08 ธันวาคม 2562

     สถาปัตยกรรมของปราสาทนี้เชื่อมโยงไปถึงอาณาจักรเขมรอันยิ่งใหญ่ ซึ่งปกครองในภูมิภาคนี้มาร่วม 700 ปี ปราสาทองค์กลางก่อสร้างด้วยหินทราย อาจกล่าวได้ว่ามีไว้เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ (Linga) อันเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ ประตูทางเข้าอยู่ด้านทิศตะวันออก มีทางเดินเป็นขั้น ๆ เข้ามาในปราสาท ส่วนสามประตูที่เหลือของปราสาทเป็นประตูหลอก เมื่อเดินเข้ามาอีกไม่กี่เมตรก็จะพบบรรณาลัย (Library) ที่ก่อสร้างด้วยหินทราย ทั้งทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีบัญชรหรือหน้าต่างหินขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนฐานหินดินดาน (Laterite  bases) ส่วนรอบล้อมปราสาทและบรรณาลัยไว้เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 42 * 36 เมตร และมีภาพสลักทั้งสี่ด้าน ทางด้านตะวันออกจะมีโคปุระ (Gopura Sanskrit: गोपुरम्, gopuram) หรือประตูทางเข้า ที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
     จุดต่าง ๆ ในปราสาท มีการแกะสลักหินทราย รวมทั้งการตกแต่งด้วยลวดลายไม้, พญานาค และมีภาคสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์.
    สระน้ำที่รายรอบทั้งสี่ด้าน แสดงให้เห็นถึงมหานที ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีเส้นทางนำไปสู่ทิศตะวันออก เมื่อเดินออกเริ่มจากโคปุระ กำแพงหินทรายทั้งสี่ทิศที่รายล้อมปราสาทนั้น สูงราว 2.5 เมตร ด้านยาว (ตะวันออก ไปตะวันตก) เป็น 126 เมตร ด้านกว้าง (จากเหนือไปใต้) เป็น 120 เมตร กลางกำแพงด้านตะวันออกเป็นโคปุระที่มีภาพสลักไว้สวยงาม วางบนฐานหินทราย เส้นทางเข้าทางทิศตะวันออกมายังโคปุระยาวราว 200 เมตร ปูด้วยหินทราย และมีเสานางเรียงวางด้านข้างเส้นทางซ้ายขวา สระสำรองน้ำ (บาราย - Baray) โดยรอบ มีขนาดราว 200 เมตร * 370 เมตร.
          
แผนผังและภาพมุมสูงปราสาทสด๊กก็อกธม, ที่มา: qrcode.finarts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.

     แผนผังเช่นนี้ได้รับความนิยมมากในพุทธศตวรรษที่ 16 โดยพบทั้งในราชอาณาจักรกัมพูชา และประเทศไทย เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ และปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. แก่นข้อมูลหลักมาจาก en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 9-11 ธันวาคม 2562.
02.
าก. ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง, การกัลปนาในจารึกสมัยสุโขทัย อยุธยา และธนบุรี-รัตนโกสินทร์ (Monastic Endowments in the Sukhothai Ayutthaya and Thonburi-Rattanakosin Inscriptions). มหาวิทยาลัยศิลปากร.2010.
03. จาก. qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.
04. จาก. "Stories in Stone: The Sdok Kok Thom, Inscription & The Enigma of Khmer History," เขียนโดย John Burgess, ISBN 978-616-7339-01-6, River Books, 2010, Printed and bound in Thailand.



PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-03: ที่มา: en.wikipeida.org, วันที่เข้าถึง 8 ธันวาคม 2562.
ภาพที่ 04: ภาพลายเส้นหน้าบันรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์และทับหลังรูปบุคคล, ที่มา: qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.
ภาพที่ 05: หน้าบันสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์และทับหลังรูปบุคคล, ที่มา: qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.
ภาพที่ 06: ทับหลังสลักภาพบุคคลประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา กึ่งกลางท่อนพวงมาลัย, ที่มา: qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.
ภาพที่ 07-09:
ที่มา: drivetripper.com, วันที่เข้าถึง 08 ธันวาคม 2562
ภาพที่ 10-11: แผนผังและภาพมุมสูงปราสาทสด๊กก็อกธม, ที่มา: qrcode.finarts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
humanexcellence.thailand@gmail.com