Title Thumbnail: นครวัดจำลอง ในงานแสดงสิ่งเด่น ๆ ของประเทศในอาณานิคมฝรั่งเศส (Paris Colonial Exposition) ปี พ.ศ.2474 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส, Hero Image: ด้านหน้าของปราสาทบายน, ที่มา: เว็บไซต์ของ EFEO, วันที่เข้าถึง 30 มีนาคม 2562,
II. อาณาจักรพระนครโบราณ: ก่อนเมืองพระนคร - สมัยเมืองพระนคร ตอนที่ 203.
First revision: Jun.14, 2021
Last change: Aug.15, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
10. พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 5 (Jayavarman V) (บรมวีรโลก)
ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1511-1544 (ค.ศ.968-c.1000)
เมื่อพระเจ้าราเชนทรวรมเทวะ เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.1511 /ค.ศ.968 พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 5 พระโอรสที่มีอายุยังน้อยขึ้นครองราชย์ มีการสร้าง ปราสาทบันทายสรี (ป้อมสตรี) ขึ้นเสร็จในสมัยนี้ (มีการสร้างกันแล้วก่อนหน้า) ก็อาจกลายเป็นว่าสร้างถวายพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 5 เมื่อตอนต้นรัชกาล โดยอำมาตย์ข้าราชบริพารท่านหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ของพระองค์ "พราหมณ์ยัชญาวราหะ" ซึ่งมีหลักฐานปรากฎ ปราสาทหลังน้อยที่สลักเสลาอย่างงดงามประณีตนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเขตสำคัญของเมือง แต่ปัจจุบันถูกปกคลุมด้วยป่าโปร่ง ห่างจากศูนย์กลางเมืองพระนครไปทางเหนือราว ๆ 16 กิโลเมตร คณะนักสำรวจชาวฝรั่งเศสเพิ่งค้นพบเมื่อ ค.ศ.1916.
ภาพด้านข้างแสดงการวางหินโดยรวมทั้งหมดของประสาทตาแก้ว ถ่ายที่ศาลาหน้าปราสาทเจ้าสายเทวดา
ที่ดำเนินการบูรณะโดยหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน, ถ่ายไว้เมื่อ 22 ตุลาคม 2561.
แม้พระองค์ทรงนับถือไศวนิกายเช่นเดียวกับพระบิดา แต่พระองค์ก็ทรงมีขันติธรรมต่อพระพุทธศาสนา มีการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างก้าวหน้าไพบูลย์ มีจารึกอันไพเราะงดงามที่วัดสีทอร์ (Sithor) ในเขตสีทอร์ กันดาล (ស្រុកស៊ីធរកណ្ដាល) กำปงจาม (ปัจจุบันคือจังหวัดไพรแวง หรือ เปรยแวง) ที่แสดงถึงการประนีประนอมรับความคิดแบบพระพุทธศาสนา มีการประสมประสานพุทธปรัชญากับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย.
จารึกดังกล่าว ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 5 ในฐานะผู้สร้างเทวาลัย แม้แต่เทวาลัยปราสาทประจำรัชกาลของพระองค์เอง "ปราสาทตาแก้ว" ก็สร้างไม่แล้วเสร็จ.
พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 5 เสด็จสวรรตในปี พ.ศ. 1544 หรือ ค.ศ.1001 กัมพูชาก็เข้าสู่ยุคแห่งความยุ่งยากเสื่อมทรุด [chapter3-102/458 appendix 429]
11. พระเจ้าอุทัยทิตยวรมเทวะที่ 1 (Udayadityavarman I)
ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1511-1544 (ค.ศ.968-c.1000)
เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
12. พระเจ้าชัยวีรมเทวะ (Jayaviravarman)
ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1545-1553 (ค.ศ.1002-1010)
13. พระเจ้าสูริยวรมเทวะที่ 1 (Suryavarman I) (บรมนิรวาณบท)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1553-1593 (ค.ศ.1002-1049)
ได้แผ่อำนาจขึ้นไปทางเหนือตามลำน้ำโขง02. แล้วมุ่งตะวันตก ขยายตัวข้ามทิวเขาดงรัก และลงใต้สร้างนครวัด
ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 5 มีความวุ่นวายภายในราชอาณาจักร พระองค์มาทางเหนือของอาณาจักร มีนักวิชาการระบุว่าพระองค์มีได้มีสายเลือดทางกัมพูชา และก็มีนักวิชาการท่านหนึ่ง (ไมเคิล วิคเคอรี - Michael Vickery)08 แย้งขึ้นมาว่า พระองค์เป็นสมาชิกของราชวงศ์หรือชนชั้นนำในกัมพูชา. ทรงมีอำนาจด้วยการทำสงครามอย่างกว้างขวาง พร้อม ๆ กับหาพันธมิตร ทั้งโดยการใช้กำลังบังคับ การเสกสมรส เกลี้ยกล่อมหว่านล้อม ลดอำนาจผู้นำในท้องถิ่นลงได้ ทรงมีอำนาจเหนือพราหมณ์ปุโรหิต พระองค์ค่อยแผ่อำนาจไปทางทิศตะวันตกทีละน้อย ในการพิชิตศึกครั้งสุดท้าย จารึกได้บอกเราว่า "ทรงแวดล้อมด้วยกษัตริย์พระองค์อื่น ๆ " พระองค์ทรงทำลายรูปปั้นเคารพ (หากพระองค์เป็นพุทธศาสนิก ก็หมายถึง พยายามทำลายลัทธิบูชารูปเคารพ) ทรงพยายามทำลายความมั่งคั่งของตระกูลชนชั้นนำที่สะสมทรัพย์สมบัติ ซึ่งอาจจะเป็นภัยทางการเมืองแก่พระองค์ในเบื้องหน้า.
ทรงสถาปนาเทวาลัย 4 ทิศ สำหรับประดิษฐานศิวลึงค์
ทางทิศเหนือคือ ศิขรีศวร (เขาพระวิหาร) ที่ภูเขาดงรัก
ด้านตะวันออกคือ อีสานตีรถะ
ด้านใต้คือ สุริยาดริ หรือ พนมจีสอร์ หรือ พนมชีศูร
ด้านตะวันตกใกล้พระตะบองคือ ไชยเกษตร.
พระราชกรณียกิจแรกที่พระเจ้าสูริยวรมเทวะที่ 1 ทรงกระทำคือ เมื่อครั้นเสด็จไปถึงยโศธรปุระ ก็ให้ข้าราชการราวสี่พันคน ที่รู้จักในนาม "ตฺมรวต" (หากแปลเป็นภาษาไทย นั่นจะหมายถึง "ตำรวจ") ถวายสัตย์ต่อหน้าประชาชน ณ ราชวังแห่งใหม่ [tbpj058.pdf...105/458 appendix Chapter 3 p.429].
รายได้ของเหล่า ตฺมรวต ที่มาจากการจงรักภักดีต่อกษัตริย์สูริยวรเทวะที่ 1 คือ สิทธิในการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่วนเกินในดินแดนภายใต้การดูแลของตน.
พระองค์ได้ขยายเขตการครอบครองไปถึงดินแดนตะวันตกของทะเลสาบหลวง พร้อมน้ำหลักการศาสนาเข้าไปใหม่ สามารถผนวกอาณาจักรละโว้ ที่มีศูนย์กลางที่ลพบุรี ซึ่งนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ทรงขยายพัฒนาระบบชลประทาน มีนโยบายต่าง ๆ ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้น .
สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า รัชสมัยของสูริยวรมเทวะที่ 1 เป็นยุคที่มีการใช้ "ระบบการผลิตแบบเอเชีย" และภายใต้การปกครองขององค์ บทบาทหน้าที่ของพราหมณ์ปุโรหิต และอำมาตย์ข้าราชการ ในทางปฏิบัติแล้วแยกจากกันแทบไม่ออก.
ระบบการบริหารยุคนี้เป็นแบบเมืองใหญ่ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส "เมสตรีเย ดูบวร์ก - Mestrier du Bourg" กล่าวว่า ในขณะที่ 3 รัชกาลก่อนหน้านี้ มีเมืองเกิดใหม่ 20 แห่ง ที่ปรากฎในจารึกซึ่งลงท้ายว่า ปุระ แต่ในรัชสมัยของพระองค์มีปุระเกิดขึ้นรวม 47 เมือง.
หลักฐานอื่น ๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า พระองค์ขึ้นมามีอำนาจก็ด้วยการรวบรวมชาวชนบทที่เร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ ปกครองกันอย่างหลวม ๆ เข้ามาเป็นกลุ่มก้อน มีความเป็นไปได้ว่า ปุระ เหล่านี้ เป็นเมืองก็แต่ชื่อ เพียงเพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีให้แก่ชนชั้นผู้นำในท้องถิ่นนั้น ๆ .
มีหลักฐานแสดงว่า รัชสมัยของพระเจ้าสูริยวรมเทวะที่ 1 พ่อค้าที่ทำการค้าทั้งในท้องถิ่นและโพ้นทะเล เพิ่มจำนวนและธุรกรรมการค้าขึ้นอย่างกว้างขวาง มีชาติพันธุ์ต่างขาตืปรากฎ อาทิ จาม จีน หรือ เวียดนาม การค้ากับต่างประเทศมักจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า "ของป่า" จากเขตป่าดง กับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ถ้วยชาม จากประเทศที่เจริญแล้ว
14. พระเจ้าอุทัยทิตยวรมเทวะที่ 2 (Udayadityavarman II)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1593-1609 (ค.ศ.1050-1066)
15. พระเจ้าหรรษวรมเทวะที่ 3 (Harshavarman III) (สหศิวบท)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1609-1623 (ค.ศ.1066/7-1080)
16. พระเจ้านฤปตินทรทิตยวรมเทวะ
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1623
17. พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 6 (Jayavarman VI) (บรมไกวัลยบท)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1623-1650 (ค.ศ.1080-c.1107)
18. พระเจ้าธรณินทรวรมเทวะที่ 1 (Dharanindravarman I) (บรมนิษกลบท)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1650-1656 (ค.ศ.1107-1112)
19. พระเจ้าสูริยวรมเทวะที่ 2 (Suryavarman II) (บรมวิษณุโลก)
ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1656-ประมาณ 1693 (ค.ศ.1113-c.1150)
เป็นพระนัดดาของพระเจ้าธรณินทรวรมเทวะที่ 1 โปรดให้สร้างนครวัด หรือ พระพิษณุโลก หรือ พระเชตพน หรือ พระเชตไพร04. [113/458]
20. พระเจ้าธรณินทรวรมเทวะที่ 2 (Dharanindravarman II)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1693-1703 (ค.ศ.1150-1160)
21. พระเจ้ายโศวรมเทวะที่ 2 (Yasovarman II)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1703-17xx?? (ค.ศ.c.1150-1165)
22. พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมเทวะ (Tribhuvanadityavarman)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.17xx??-1720 (ค.ศ.c.1165-1177)
23. พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 (Jayavarman VII) (มหาบรมสุคตบท)05,06,07.
ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1724 - 1763 (ค.ศ.1181-c.1220)
ภาพสลักเหมือนพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7, ที่มา Facebook เพจ"กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," วันที่เข้าถึง 15 สิงหาคม 2564.
จากหลักฐานในศิลาจารึกกล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 เป็นโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมเทวะที่ 2 (ราชวงศ์รามาธิบดี - มอญ-กลิงค์ นับถือศาสนาพราหมณ์ ไวษณพนิกาย เป็นชนชั้นปกครองของแคว้นศรีจนาศะ-อีสานใต้ ประกอบด้วย พิมาย บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ)09. กับพระนางจุฑามณี (พระนางศรีชยราชจุฑามณี เป็นพระธิดาในพระเจ้าหรรษวรมเทวะ กษัตริย์เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี)09. หลังจากพระมเหสีของพระองค์ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 จึงทรงเสด็จไปสู่อาณาจักรจัมปา (ข้อมูลจาก อ.ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร กล่าวว่า ต้องเรียกว่าจัมปา ไม่ใช่จามปา และเรียกผู้คนว่าชาวจาม - จากไลน์กรุ๊ป "สุโขทัยคดี" ปี 2563) เป็นเวลาหลายปี ทิ้งพระเทวีให้มีทุกข์หนัก ภายหลังพระนางได้ระงับความโศกเศร้า และปฏิบัติพระธรรมในพระพุทธศาสนา เมื่อพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 กลับคืนสู่เมืองพระนคร พระนางจึงเสด็จมาประทับอยู่กับพระสวามี.
เมื่อพระมเหสีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าชัยวรเทวะที่ 7 จึงยกพระนางอินทรเทวี ซึ่งเป็นพระพี่นางในพระเทวีองค์ก่อนขึ้นเป็นพระอัครมเหสี พระนางอินทรเทวีมีความสนพระทัยในความรู้ในปรมัตถธรรม ทรงสนพระราชหฤทัยการบูชาปฏิบัติทางด้านพระพุทธศาสนามาก พระนางทรงมีเมตตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสตรีที่ชอบศึกษาวิชาความรู้.
ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 นี้ ได้มีสงครามกับจัมปาเทศะ (ประเทศจัมปา) บ่อยครั้ง อาศัยความชำนาญของพระองค์ในด้านยุทธศาสตร์ พระองค์ประสบชัยชนะจากจัมปาเทศะ และสามารถปราบปรามความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเมืองพระนครอีกด้วย พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 ยังทรงสร้างปราสาท และสถานที่สำคัญไว้เป็นอันมาก ซึ่งเป็นมรดกของกัมพุชประเทศจวบจนปัจจุบัน อาทิ
- วหนิคฤหะ อโรคยศาล (102 แห่ง)
- ที่พักคนเดินทาง หรือธรรมศาลา (121 แห่ง)
- ปราสาทตาพรม
- ปราสาทพระขรรค์
- ชยตฎากะ บาราย
- ปราสาทนาคพัน
- ปราสาทตาสม
- ปราสาทตาไน (ตาเนย)
- ปราสาทบันทายฉมาร์
- นครธม
- ปราสาทจรุง
- ปราสาทบายน (สถานบรรยงค์)
- ลานช้าง
- ปราสาทบันทายกุฎี
- ปราสาทตาโสม
- ปราสาทนคร ที่เขตกำปงจาม
- ปราสาทพรหมบาตี ในจังหวัดตาแก้ว
- ปราสาทตาพรหมเกล
- ปราสาทกรอลโก (โกรลโค)
- สระสรง
- พระราชวังหลวง
- กู่บ้านแดง
- ฯลฯ
เมื่อพวกจามเข้ารุกรานประเทศกัมพูชา พวกจามทำให้กรุงยโศธรปุระทรุดโทรมเป็นอันมาก ไม่เพียงแต่บูรณะปราสาทเหล่านั้นขึ้นใหม่ พระองค์ยังได้สร้างเมืองหลวงใหม่อีกแห่งหนึ่งคือนครธม พระองค์ได้สร้างกำแพงใหม่ล้อมรอบกรุงซึ่งมีความยาว 12 กิโลเมตร และได้สร้างปราสาทบายนขึ้นเป็นศูนย์กลางของพระนคร.
พระองค์ทรงสร้างปราสาทพระขรรค์ เพื่อระลึกถึงพระวิญญาณของพระบิดา ทรงสร้างปราสาทตาพรหมสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปของพระมารดา.
พระองค์ทรงสร้างปราสาทบันทายฉมาร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย (รศ.ดร.ศานติ เขียนว่า บ็อนเดียยเมียนเจ็ย) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระราชโอรสของพระองค์พระนาม "ศรีนทกุมาร" ซึ่งมีคุณูปการในการรบกับจาม.
24. พระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 2 (Indravarman II)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1763-1786 (ค.ศ.c.1220-1243)
25. พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 8 (Jayavarman VIII) (ปรเมศวรบท)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1786-1838 (ค.ศ.c.1243-1295)
26. พระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 3 (Srei Indravarman III) บ้างก็เรียก ศรีนทรวรมเทวะ (Sridravarman)
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1838-1850 (ค.ศ.1295-1307)
27. พระเจ้าอินทรชัยวรมเทวะ (Srindrajayavarman) บ้างก็เรียก ศรีนทรชัยวรมเทวะ
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1850-1870 (ค.ศ.1307-1327)
28. พระเจ้าแตงหวาน หรือ พระเจ้าตระซ็อกประแอม (Trasak Paem) หรือ พระองค์ชัย (Ponhea Chey)01.
ครองราชย์ช่วงพ.ศ.1879-1883 (ค.ศ.1336-1340???)
พระเจ้าแตงหวาน, ที่มา: Facebook ห้อง "สยามกุฏิ์" ซึ่งบันทึกไว้เมื่อ 21 กันยายน 2563, วันที่เข้าถึง 4 มิถุนายน 2564.
พระเจ้าแตงหวาน ผู้โค่นล้มราชวงศ์วรมันแห่งกัมพูชา พระเจ้าแตงหวาน หรือสมเด็จพระองค์ชัย หรือที่รู้จักในพระนาม “พระเจ้าตระซ็อกประแอม” พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองพระนครหลวงกัมพูชา ทรงครองสิริราชสมบัติในปี พ.ศ.1833-1884 (ค.ศ.1290-1341).
ในพระราชพงศาวดารซึ่งพระราชนิพนธ์โดยสมเด็จนักองค์เอง พระเจ้าแผ่นดินแห่งพระราชอาณาจักรเขมรในขณะนั้น (ปัจจุบันคือเมืองอุดงฦาไชย จังหวัดกำปงสปือ) กล่าวว่า พระเจ้าแตงหวานนี้เป็นปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์ของราชสกุลนโรดม และเป็นทรงเป็นผู้สร้างพระแสงหอกลำแพงชัย อันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญมากที่สุดของของอาณาจักรกัมพูชาคู่กับ พระขรรค์ราช พระเจ้าแตงหวานมีชื่อเดิมว่า “องค์ชัย” พระราชบิดาเป็นเจ้าชายเชื้อพระวงศ์แห่งอาณาจักรจัมปา.
เมื่อสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 แห่งอาณาจักรพระนครหลวงยกกองทัพหลวงจากลพบุรีเข้าโจมตีเมืองนครธมได้คืนจากพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรจัมปาที่ปกครองพระนครหลวงแล้วทรงยกทัพหลวงบุกต่อไปถึงอาณาจักรจัมปา จนมีชัยชนะสามารถผนวกดินแดนจัมปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเขมรได้สำเร็จ เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะเหนืออาณาจักรจัมปา พระองค์ได้กวาดต้อนเชื้อพระวงศ์จัมปารวมถึงไพร่ทาสชาวจัมปาเข้าเป็นเชลยเกณฑ์เป็นแรงงานสร้างปราสาทหิน.
เจ้าชายปทุมะแห่งจัมปาผู้เป็นพระราชบิดา ได้ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนี้ด้ว โดนเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สวามิภักดิ์ จึงได้รับการดูแลเยี่ยงเชลยศักดิ์อย่างดี ต่อมาพระองค์ได้ทูลขอเสด็จออกบวชเป็นพราหมณ์ขึ้นไปบำเพ็ญตบะอยู่บนเขาพนมกุเลน ส่วนพระนางโสภาวดีพระชายาทรงพระครรภ์ปลอมปนพระองค์อยู่กับเชลย เมื่อพระนางคลอดบุตรชายตั้งชื่อว่าองค์ชัย เป็นเด็กฉลาดและมีบุญญาธิการมากพออายุได้ 7 ปีมารดาให้ออกตามหาบิดาที่ออกบวชอยู่บนเขา บิดาได้มอบเมล็ดแตงให้ 3 เมล็ด และเหล็กอีกก้อนหนึ่งเชื่อว่าเป็นของวิเศษ องค์ชัยได้นำเมล็ดแตงมาปลูก ต่อมาเด็กเลี้ยงวัวมาเก็บกินพบว่ารสชาติดีมีรสหวานฉ่ำ องค์ชัยจึงหวงแตงนั้นมากวันหนึ่งมีวัวจะมากินแตงที่ปลูกไว้องค์ชัยได้นำเหล็กที่บิดามอบให้ขว้างใส่วัวจนทะลุตัววัวเสียชีวิต.
เรื่องราวของผลแตงหวานนั้นดังไปถึงหูพระราชา พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 9 พระองค์จึงโปรดที่จะเสวยแตงนั้น เมื่อเสวยแล้วทรงโปรดปรานยิ่งนักจึงทรงแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสวนหลวง และโปรดให้นำเหล็กที่ขว้างวัวจนตายไปตีเป็นหอก ไว้ป้องกันโจรขโมยมาลักขโมยแตง พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 9 ทรงพระราชทานพระแสงหอกลำแพงชัยนั้นให้เป็นอาญาสิทธิ์ อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 9 ปรารถนาเสวยแตงขึ้นมากลางดึก จึงเสด็จลงไปในสวนจะไปเก็บแตงมาเสวย ซึ่งนายแตงหวานนึกว่าเป็นโจรมาลักแตง จึงขว้างพระแสงหอกลำแพงชัยอันเป็นอาญาสิทธิ์โดนพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 9 ถึงแก่สวรรคต บรรดานาหมื่นสรรพมุขมนตรีทั้งหลายจึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติให้ขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงพระนครหลวง โดยเฉลิมพระนามหลังจากเสวยราชสมบัติว่า “พระบาทกมรเตง อัญศรีสุริโยพันธุ์ บรมมหาบพิตรธรรมิกมหาราชาธิราช” และทรงรับพระนางจันทรวรเทวี อันพระราชธิดาในพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 9 เป็นสมเด็จพระอัครมเหสี.
เรื่องราวตำนานของพระเจ้าแตงหวานนี้มีลักษณะแบบเดียวพระเจ้าญองอู้ ซอยะฮ่านแห่งราชวงศ์พุกาม นักวิชาการกัมพูชาเชื่อว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแตงหวานไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนและมีการเตรียมการไว้โดยพระปทุมราชาพระราชบิดาและเชลยทาสชาวจัมปาที่ต้องการยึดอำนาจเพื่อปลดแอกจากพวกชนชั้นปกครอง เพราะหลังจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ แตงหวานได้ทำการกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าจนเกือบสิ้น นั่นคือเชื้อพระวงศ์วรมเทวะและขุนนางแห่งเมืองพระนครธมจนหมดสิ้น.
พระเจ้าแตงหวานจึงถือได้ว่าเป็นผู้โค่นล้มราชวงศ์วรมเทวะจากอินเดียจนหมดสิ้น และรัชกาลถัดมาไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดต่อท้ายด้วยคำว่า “วรมเทวะ” อีกเลย หลังจากพระเจ้าแตงหวานสวรรคตได้ราว 12 ปี พระเจ้าอู่ทองผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้ยกกองทัพมาตีนครธมในยุคของพระบรมลำพงษ์ราชา แต่ยังทรงให้มีกษัตริย์ปกครองนครธมต่อไป แต่ถึงอย่างไรก็ตามกรุงศรีอยุธยาได้พยายามปราบปรามกัมพูชามาโดยตลอด โดยอีก 40 ปีต่อมา เจ้าสามพระยา รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ยกกองทัพไปตีนครธมจนล่มสลาย กวาดล้างอิทธิพลตระซ็อกประแอมจนหมดสิ้น ปิดฉาก “จักรวรรดิเขมร” อย่างสมบูรณ์ ถึงแม้จะยังมีผู้พยายามรวมรวมอาณาจักรเขมรขึ้นมาใหม่ แต่กลับไม่มีอำนาจเท่าเดิมแล้ว เขมรต้องย้ายเมืองหลวงหนีสยามเทศะลงใต้ไปเรื่อย ๆ จนถึงกรุงพนมเปญในปัจจุบัน.
29. พระเจ้าชัยวรมเทวะปรเมศวร (พระบรมลำพงษ์ราชา) (Jayavarman IX or Jayavarman Paramesvara)
ที่มา แหล่งอ้างอิง หมายเหตุและคำอธิบายเพิ่มเติม
01. ข้อมูลหลักจาก. Facebook เพจ "สยามกุฏิ์" ซึ่งบันทึกไว้เมื่อ 21 กันยายน 2563, วันที่เข้าถึง 4 มิถุนายน 2564.
02. อ้างอิงจาก. ปราสาท (เขา) พระวิหาร, ดร.ธิดา สาระยา, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม 2552, หน้า 108
03. เดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler), ประวัติศาสตร์กัมพูชา (A History of Cambodia), ISBN 974 91090 3 1, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, วงเดือน นานาสัจจ์, พิมพ์ครั้งที่ 3: 2546, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กรุงเทพฯ.
04. จากหนังสือ เขมรสมัยหลังพระนคร, ผศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ, สำนักพิมพ์มติชน ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, พิมพ์ครั้งแรก, กรกฎาคม 2556, หน้าที่ 199.
05. จาก. บทความของ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ใน facebook ห้อง "ทัวร์มติชนอคาเดมี", วันที่เข้าถึง 29 กรกฎาคม 2564.
06. จาก. Michael Freeman และ Claude Jacques, ANCIENT ANGKOR Book guides, ISBN 974 8225 27 5, จัดพิมพ์ที่ บมจ.อมรินทร์ พรินติ้ง ประเทศไทย, ครั้งที่ 11 พ.ศ.2556.
07. จาก. Michel Petrotchenko, Focusing On The Angkor Temples, The Guidebook 2017 Edition, ISBN 978-616-423-531-1, จัดพิมพ์ที่ บมจ.อมรินทร์ พรินติ้ง ประเทศไทย, ครั้งที่ 4 พ.ศ.2560.
08. ไมเคิล วิคเคอรี (Michael Vickery) นักประวัติศาสตร์และนักอ่านจารึกบุคคลสำคัญ (ชาตะ 1 เม.ย.2474 รัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา - มรณะ 29 มิ.ย.2560 เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา) ผลงาน: พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับไมเคิล วิคเคอรี, บทความในสยามสมาคม (Journal of the Siam Society ปีที่ 66 ฉบับที่ 2-ก.ค.2521) ซึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับอักขรวิธีในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ผลงานของท่าน ดูได้ใน http://michaelvickery.org/ , ที่มา: matichon.co.th, วันที่เข้าถึง 12 สิงหาคม 2564.
09. จากผู้ใช้นามว่า Yong Boonjitpitak, ที่มา Facebook เพจ"กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," วันที่เข้าถึง 15 สิงหาคม 2564.