MENU
TH EN

04. ปราสาทพระขรรค์

Title Thumbnail & Hero Image: ปราสาทพระขรรค์ ถ่ายไว้เมื่อ 21 ตุลาคม 2561
04. ปราสาทพระขรรค์
First revision: Oct.19, 2019
Last change: Feb.15, 2022

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
       ปราสาทนี้อยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐ ประมาณ 17 กิโลเมตร ปราสาทพระขรรค์นี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเช่นเดียวกับปราสาทหลังอื่น ๆ (ภาษากัมพูชาเรียก ปราสาทเปรี๊ยะขรรค์) กล่าวกันว่าชาวบ้านเห็นอาคารหลังที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เป็นอาคารที่สร้างจากหินทราย มี 2 ชั้น ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในศิลปะขอมสมัยบายน จินตนาการว่าเป็นที่เก็บพระแสงขรรค์ชัยศรีของพระเจ้าแผ่นดินจึงเรียกว่า ปราสาทพระขรรค์.
       จากจารึกหลักฐาน ปราสาทพระขรรค์นี้ สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อ พ.ศ.1734 อุทิศถวายพระบิดาของพระองค์คือพระเจ้าธรณินทรวรมัน แล้วสถาปนาพระบิดาเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva) หนึ่งในรัตนตรัยมหายาน พระบิดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งมวล เรียกปราสาทหลังนี้ว่า ราชัยศรี (โชคลาภแห่งชัยชนะ) มีลักษณะเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง
     ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ กล่าวไว้ในหนังสือ The Angkor ว่า ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นบนสถานที่ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงรบชนะและรองรับโลหิตศัตรู  ของพระองค์.
       ปราสาทพระขรรค์เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นศิลปะขอมสมัยบายน กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 กว่าปีมาแล้ว)    
ที่มา: angkorguide.net, วันที่เข้าถึง 18 มีนาคม 2562
     
     จากผังข้างต้น แถบสีเหลือง: เป็นวิหารกลาง อุทิศแด่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva) และเป็นท้องพระโรงแห่งนางรำ (the Hall of Dancers) ด้านทิศตะวันออก
     พื้นที่แถบสีแดง: เป็นด้านตะวันตก อุทิศแด่พระวิษณุ (dedicate to Vishnu)
     พื้นที่แถบสีเขียว: แกนทิศเหนือและใต้ ทิศเหนืออุทิศแด่พระศิวะ (dedicate to Shiva) ทิศใต้อุทิศแด่พระปิตุลาของกษัตริย์.
 
ที่มา: www.researchgate.net, วันที่เข้าถึง 18 มีนาคม 2562

 
       ปราสาทพระขรรค์นี้ มีขนาดกว้าง x ยาว เป็น 700 x 800 เมตร มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรง มีประตูทางเข้า-ออกทั้งสี่ทิศ มีเสานางเรียง (ไนจุมมวล) ปักบอกขอบเขตทางทางเดิน ถัดมาเป็นสะพานข้ามคูน้ำที่ล้อมรอบปราสาท ราวสะพานมีหินทรายแกะสลักเป็นเทวาด้านหนึ่ง เป็นอสูรอีกด้านหนึ่งซึ่งกำลังยุดนาค (ดังปรากฎรายละเอียดในนารายณ์อวตาร: กุรมาวตาร) เหมือนประตูเมืองนครธม (ทิศใต้ ทิศเหนือ...ทิศอื่น ยังไม่ได้ศึกษาครับ) ข้าง ๆ ซุ้มประตูประดับด้วยหินทรายสลักเป็นครุฑขนาดใหญ่ทั้งสองข้าง (ศจ.ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าแสดงความเป็นพระอารามของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นวิมานของเทวดา) ตัวซุ้มประตูหรือโคปุระทำเป็นหลังคาชั้นซ้อนแบบดั้งเดิม ไม่เป็นรูปใบหน้าบุคคลสี่หน้าเหมือนอย่างซุ้มประตูศิลปะสมัยบายนในที่อื่น ๆ บริเวณด้านในมีปราสาทตั้งเรียงรายอยู่หลายหลัง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าปราสาทเหล่านี้อาจเปรียบเหมือนเป็นสุสานของพระราชวงศ์.
       ด้านทิศตะวันออกที่เป็นทางเข้าหลักอยู่ติดกับสระชัยตฏากะ (บารายพระขรรค์) ที่ขุดขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกัน (ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว) บริเวณด้านในปราสาทมีอาคารที่เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา ที่พักนักเดินทางหรือผู้แสวงบุญ.

ด้านนอกของปราสาทพระขรรค์ ราวสะพานแสดงหินทรายแกะสลักการยุดนาคโดยเหล่าเทวาและอสูร บนเกษียรสมุทร, ชุดหินทรายแกะสลักนี้ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่มา: Facebook เพจ "EFEO," วันที่เข้าถึง 04 สิงหาคม 2563.


 
[หาภาพมาใส่???]
นาคราวชาลา มีความวิจิตรบรรจงมาก เป็นนาคหลายเศียรถูกยุดไว้ด้วยครุฑ เป็นลักษณะที่นิยมมากในศิลปะบายน


 
เสานางเรียงต้นหนึ่งด้านหน้า ซ้ายมือของปราสาทพระขรรค์ มีภาพสลักพระพุทธรูป ที่หลงเหลืออยู่หลุดรอดจากการแกะสลักเปลี่ยนเป็นพราหมณ์-ฮินดู, ถ่ายไว้เมื่อ 21 ตุลาคม 2561.
 
  • จากจารึกปราสาทพระขรรค์ ใน BEFEO fasc.2 (1942) หน้า 296 บรรทัดที่ 117 ได้แสดงว่ามีเมืองเพชรบุรีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 (ปี พ.ศ.1725-1761)01.
  • จากจารึกปราสาทพระขรรค์02. ในบทที่ 114 ถึงบทที่ 121 ได้กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงประดิษฐาน พระชัยพุทธมหานาถ (รวม 25 แห่ง บ้างก็ว่า 23 แห่ง ดูใน 02. บทนำ: ปราสาทศิลปะเขมรในดินแดนไทย) ไว้ที่
    1. ศรีชยันตปุระ
    2. วันธยาบรรพต
    3. มรขลปุระ
    4. ศรีชยราชธานี...
    5. ศรีชยันตครี หรือ ศรีชยันตนครี... 
    6. ชยสิงหวตี...หรือ ศรีชัยสิงหวดี
    7. ศรีชยวีรวดี...
    8. ลโวทยปุระ...หรือ ลฺโว้ทยปุระ...เมืองโบราณลพบุรี ประเทศไทย.
    9. สุวรรณปุระ...หรือ เมืองโบราณหนองแจง ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ (บ้างก็ว่า เนินทางพระ) จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย.
    10. ศัมพูกปัฏฏนะ...หรือ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณข้างสระโกสินารายณ์ ใกล้แม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี  ประเทศไทย.
    11. ชยราชปุรี...มีศูนย์กลางที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ประเทศไทย.
    12. ศรีชยสิงหปุรี...หรือปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย.
    13. ศรีชยวัชรปุรี...หรือ ศรีชยวัชรปุระ...ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทกำแพงแลง จังหวีดเพชรบุรี ประเทศไทย.
    14. ศรีชยสตัมภปุรี...
    15. ศรีชยราชคีรี... 
    16. ศรีชยวีรปุรี...
    17. ศรีชยกีรติปุรี...
    18. ศรีชยเกษมปุรี...ซึงมีชื่อนามที่ตรงกับความหมายว่าสุโขทัย ซึ่งหมายถึง "มีความสุขใจ" ตรงกับ "สุโข ไท-ทัย" ที่มีความหมายว่า "ใจที่มีความสุข-คนมีความสุข"
    19. ศรีวิชยทิตยปุรี...หรือ ศรีวิชยาทิบุรี...
    20. ศรีชยสิงหาคราม...
    21. มัธยมครามกะ...
    22. สมเรนทรคราม...หรือ สมเรนทรครามะ
    23. ศรีชยปุรี...
    24. วิหาโรตตรกะ... และ
    25. ปุราวาวาสะ...หรือ ปูรพาพาส


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. อ้างจาก. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต), หน้าที่ 176, กรมศิลปากร พ.ศ.2548.
02. จาก. โดยนาย ม. แกลซ (M. Glaize) ได้ค้นพบจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ในบริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2482. แปลโดย มรว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, 2543: 122-123, พบใน Facebook เพจ "สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี," วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565.




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 001: ด้านนอกของปราสาทพระขรรค์ ราวสะพานแสดงหินทรายแกะสลักการยุดนาคโดยเหล่าเทวาและอสูร บนเกษียรสมุทร, ชุดหินทรายแกะสลักนี้ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่มา: Facebook เพจ "EFEO," วันที่เข้าถึง 04 สิงหาคม 2563.



 

PHOTO
GALLERY