MENU
TH EN

พม่า และพระมหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์

ภาพ: พระมหาธาตุมุเตา หรือพระมหาเจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwemawdaw Pagoda)
(ที่มา: www.tangmotour.com, วันที่สืบค้น 16 มีนาคม 2560)
First revision: Mar.16, 2017
Last change: Feb.28, 2020

 
พม่า และพระมหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์
ผมตัดสินใจไปเที่ยวเมืองพม่า กับทริปของบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ใช้ชื่อทริปว่า EASY BOUTIQUE MYANMAR : พม่า-ย่างกุ้ง-หงสาวดี-พระธาตุอินทร์แขวน 3 วัน 2 คืน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ PG ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2560 ทั้งคณะมีสมาชิกรวม 24 ท่าน ส่วนใหญ่ตั้งใจไปท่องเที่ยวและทำบุญกัน โดยมีหัวหน้าทัวร์คือคุณชฎาธร (เบลล์) และมีไกด์ท้องถิ่นชื่อ อาหลง เป็นชาวไทยใหญ่ มาจากเมืองเชียงตุง พูดภาษาไทยได้คล่อง รวมทั้งภาษาจีน ภาษาพม่าท้องถิ่น ภาษาอังกฤษ ทั้งสองท่านให้ความรู้ บริการแก่คณะทัวร์ได้เป็นอย่างดี มีคนขับรถบัสเป็นชาวพม่า เรียกกันว่าอาหม่อง และมีเจ้าหน้าที่ติดรถอีกท่านอาหลงแนะนำให้เรียกเป็น ผู้จัดการรถ ก็สนุกครื้นเครงไปอีกแนวหนึ่ง.

ซึ่งมีกำหนดการดังนี้01:
วันแรก (วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560) กรุงเทพฯ - ย่างกุ้ง - ตลาดสก๊อต - เจดีย์โบตาทาวน์ - เทพทันใจ - เทพกระซิบ - พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
10:00 น. คณะพร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4 ประตู 4 เคาน์เตอร์ F สายการบินบางกอกแอร์เวย์ (Bangkok Airway - PG) โดยมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก
13:45 น.
  • ออกเดินทางสู่กรุงย่างกุ้ง โดยเที่ยวบิน PG 707 ใช้เวลาราว ๆ ชั่วโมงเศษ **เวลาท้องถิ่นในประเทศพม่าช้ากว่าเมืองไทย 30 นาที** บนสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งมีผู้โดยสารเต็มเครื่อง แล้วเสิร์ฟอาหารกลางวันทุกท่านบนเครื่อง ด้วยเมนูที่ใช้วัตถุดิบ "ไก่" เป็นหลัก คือข้าวหน้าไก่ราดซอสไฮหนาน (ไหหลำ) รสชาติพอใช้ได้.
  • เครื่องบินลัดเบี่ยงน่านฟ้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ท้องฟ้าสว่างด้วยแดดบ่าย มีเมฆมากทำให้มองแผ่นดินจากทางหน้าต่างบนเครื่องบินไม่ชัด.  
 
 
14:40 น.
 
 02
 
  • เผลอแป๊ปเดียว เครื่องบินก็แลนด์ดิ้งยังสนามบินมิงกาลาดง อย่างนิ่มนวล
  • จากนั้นก็ผ่านพิธีการตรวจเข้าเมือง หัวหน้าทัวร์ของเรา (คุณเบลล์) ก็เจอเสน่ห์ของกระบวนการตรวจกระเป๋าเข้าให้ ด้วยมีกระเป๋าที่เตรียมอาหารแห้ง ของขบเคียว ถุงพลาสติก มีการรื้อค้นและของหายไปจำนวนหนึ่ง ก็ต้องเคลียร์ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินอยู่ร่วมครึ่งชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรมากนัก.
 
  • ระหว่างทางเข้าเมืองย่างกุ้ง {เท่าที่ฟังจากอาหลง ทราบว่า ย่างกุ้ง (Yangon) แปลว่า ปลอดหรือพ้นจากศัตรู (ย่าง หมายถึงศัตรู กุ้ง หรือกอน หมายถึงพ้น ปลอด)} ผ่านทะเลสาบอินยา (Inya lake)08 ที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางเมือง มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (Yangon University) พระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) {ซึ่ง ชเว (Shwe) แปลว่า "ทอง" ส่วน "ดากอง" เป็นชื่อเมือง (คนไทยเรียกว่า "ตะเกิง" ที่มาจากภาษามอญ) ซึ่งก็คือ พระมหาเจดีย์ทองที่เมืองตะเกิง นั่นเอง} .
    
 
  • คณะของเราก็เดินทางมายังตลาดสก๊อต (Scott market หรือ ตลาดโบโจ๊ก อองซาน - Bogyoke Aung San Market)03 ก่อนเลย คล้ายตลาดเจเจบ้านเรา แต่เล็กกว่า ผมซื้อถั่วตัดงาขาวงาดำมาทานและเป็นของฝาก เห็นตลาดซื้อขายพลอยย่อม ๆ อยู่ข้างตลาด พร้อมกับมีการทำหมากขายปลีกด้วย เดินดูในตลาดและบริเวณสักพัก. 
  • อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว พอราว ๆ ห้าโมงครึ่ง คณะก็ขึ้นรถบัสเดินทางไปชมพระมหาเจดีย์โบตาทาวน์ (หรือ พระมหาเจดีย์โบตะตอง - Botataung Pagoda)09, นัตโบโบยี (Bo Bo Gyi - เทพทันใจ)10, อะมาดอว์เมียะ (เทพกระซิบ)11.
     09          12
  • คณะต้องเดินผ่านจุดชำระค่าธรรมเนียมเข้าชมพระมหาเจดีย์ทุกคน จากนั้นผมเดินมายังห้องโถงของมหาเจดีย์ มีคนขวักไขว่ ผมถ่ายเก็บภาพประวัติมหาเจดีย์ เข้าไปสักการะพระเกศาธาตุของพระบรมศาสดา เดินชมของมีค่าภายในเจดีย์ มีการติดเครื่องปรับอากาศภายในทางเดินของพระเจดีย์ มีศาสนิกชนนั่งหันหน้าเข้ามุมสวดมนต์อยู่หลายคน. 
 
  • มีต้นไม้เงินต้นไม้ทองเก็บใส่ลูกกรงไว้ในพระเจดีย์ ผมสันนิษฐานว่า เป็นรัฐบรรณาการของเมืองหรือรัฐต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบจักรวรรดิพม่า (ราชวงศ์ตองอู) นั่นเอง (ตามภาพข้างต้น).
  • ผมได้เดินชมไปทั่วบริเวณ มีเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ชาวพม่าเข้ามาช่วยบริการสักการะให้และขอค่าบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป คณะของเราและนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนไทยมาสักการะนัตโบโบยี และอะมาดอว์เมียะกันมาก ผมก็เข้าไปร่วมสักการะด้วย แต่ผมจะเน้นการเก็บภาพและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร ตำนานมากกว่า ผมชักเริ่มคุ้น  ๆ กับการเดินเท้าเปล่าเข้าสถานที่ทางศาสนา ดูสงบ ให้ความเคารพสถานที่ และได้อารมณ์ปิติดี.
  • คณะของเราอยู่ที่บริเวณพระมหาเจดีย์โบตาทาวน์จนถึงราว 6 โมงเย็นก็เดินทางต่อไปทานอาหารกัน ระหว่างทางได้ชมบ้านเมืองในกรุงย่างกุ้ง เห็นร้านอาหารริมทาง ซึ่งไกด์ท้องถิ่น "อาหลง" ให้ข้อสังเกตว่าไม่มีมอเตอร์ไซต์ ซึ่งทางการพม่าในกรุงย่างกุ้งห้ามไว้.

 
  • ร้านอาหารอยู่ไกลนิดหนึ่ง ชื่อร้าน Western Park Ruby ตามภาพข้างต้น เมนูอาหารใช้ได้ รสชาติดี มีสลัดกุ้งมังกร เป็ดปักกิ่ง และผัดต่าง ๆ รสชาติถูกปากคนไทย ผมไปเปลี่ยนกางเกงเป็นนุ่งโสร่ง (ซึ่งทางกรุ๊บทัวร์ได้แจกบนรถบัส) มีบริกรในห้องน้ำช่วยแนะนำการนุ่งโสร่งให้ ผมรู้สึกสบาย กระชับไม่ร่วงหลุดง่าย เพื่อน ๆ ในคณะทั้งคนขับรถและผู้จัดการรถ ต่างมองและกล่าวว่า ผมดูเหมือนชาวพม่าเลย.
ค่ำ
  • คณะของเราก็เดินทางมายังพระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda)14 หรือเจดีย์ทองเมืองตะเกิง (คำว่าตะเกิงเป็นภาษามอญ ซึ่งไทยรับมาใช้เรียกเมืองดากอง ตามอย่างมอญ).
  • พระมหาเจดีย์ฯ ยามค่ำคืนดูสุกทองสง่ามาแต่ไกล บริเวณที่ตั้งพระมหาเจดีย์ฯ อยู่บนเนินดินสูง มีพื้นที่กว้างขวาง.
  • รถบัสของคณะเรามาจอดตรงลานจอดรถทางทิศใต้ของพระมหาเจดีย์ฯ ทุกคนเดินขึ้นลิฟท์ แล้วฝากรองเท้าไว้ หัวหน้าทัวร์ชำระค่าธรรมเนียมการเข้าชม พร้อมนำสติกเกอร์แสดงว่าชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้คณะติดไว้ที่แขนเสื้อ คณะได้ทะยอยขึ้นลิฟท์ แล้วมารวมตัวกันที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (ซึ่งนำกิ่งก้านจากรุ่นต่อรุ่นมาจากสถานที่ตรัสรู้ของพระบรมศาสดา)
  • ด้วยความอลังการ์ ความยิ่งใหญ่ของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ผมได้แสดงรายละเอียดต่างหากไว้ใน http://huexonline.com/knowledge/26/182/
 
  • คณะของเราได้เช็คอินและเข้าพักที่โรงแรม ๆ อยู่ใกล้ ๆ พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ชื่อโรงแรม Summit Park View Hotel เป็นโรงแรมชั้นดี ห้องพักสะอาดสะอ้าน
 
วันที่สอง (วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560) พระหินอ่อน - เมืองพะโค - เจดีชเวมอร์ดอร์ - พระราชวังบุเรงนอง - เจดีไจ้ปุ่น - พระนอนชเวตาเลียว -พระธาตุอินทร์แขวน (เจดีย์ไจ้ทีโย)
06:00-10:30 น.
  • คณะได้เช็คเอาน์จากโรงแรม Summit Park View Hotel พร้อมรับประทานอาหารเช้าในค้อฟฟี่ช้อปของโรงแรม ล้อหมุนราว ๆ 07:30 น.
        
ภาพหน้าโรงแรมยามเช้า และภาพทางเข้า Lobby มองเห็นยอดมหาเจดีย์ชเวดากอง อยู่ลิบ ๆ 
 
  • คณะแวะสักการะพระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี (Kyauk Htat Gyi Reclining Buddha - หรือ ที่คนไทยเรียกว่าพระนอนตาหวาน) วัดนี้ตั้งอยู่บนถนนชเวกองได (Shwe Gon Taing หรือ Shwe Gon Dine ตามคำอ่าน) อยู่ในเขตตามุย (Tamwe Township) 
  • นมัสการพระพุทธรูปที่มีความยาว 55 ฟุต สูง 16 ฟุต เป็นพระที่มีพระเนตรที่งดงาม (ทำจากกระจกที่ผลิตโดยเครื่องทำกระจกอันเป็นค่าปฏิกรณ์สงครามที่ญี่ปุ่นมอบให้พม่า เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) พระบาทมีภาพมงคล 108 ประการ พระบาทซ้อนกันซึ่งแตกต่างกับศิลปะของไทย.
  • พระพุทธไสยาสน์เจาทัตยีนี้ องค์เดิมสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1907 โดยเศรษฐีชาวมอญ (ที่ต้องการให้พม่าเกิดความตื่นตัวไม่เศร้าสร้อย นิ่งงันตกอยู่ในพะวงกับปัญหาความสูญเสียของสงครามที่กำลังรบอยู่กับอังกฤษ) ต่อมาเสียหายเนื่องจากสภาพอากาศ จึงทำลายทิ้งในปี ศ.ศ.1956 และสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.1966 บ้างก็ว่าพระพุทธไสยาสน์พระองค์นี้ยาว 65 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าพระนอนที่เมืองหงสาวดี หรือ บาโก หรือ พะโค พระพุทธไสยาสน์นี้มีลักษณะแบบพม่า คือหน้าหวาน และที่โดดเด่นคือพระเนตรหวาน สีสันหน้าพระพักตร์ตลอดจนสีเล็บสดใส มีความประณีตในการสร้างมาก ไม่ว่าจะเป็นรอยพับ การทับซ้อนของจีวร และลายพระบาท.
 
 
 
 12  12
 
  • ตรงไปยังเมืองพะโค (Bago หรือ Pegu) หรือหงสาวดี ในสมัยที่ราชวงศ์ตองอูรุ่งเรื่อง (โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง) เรียกว่า หันทาวัดดี (Hanthawadday)
       
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระเจดีย์ไจ๊ปุ่น ที่ได้บันทึกภาพมา และภาพพระเจดีย์ไจ๊ปุ่น ก่อนการบูรณะ (ไม่ทราบปีที่ถ่าย) ที่มา Facebook ห้อง Visual Storyteller, วันที่เข้าถึง 28 ก.พ.2563

 
  • คณะมาแวะนมัสการพระเจดีย์ไจ๊ปุ่น (Kyaikpun Pagoda)13 ผมขึ้นมานมัสการพระเจดีย์ อากาศร้อน รู้สึกพอง ๆ เท้าเล็กน้อย จากการเดินเท้าเปล่าขึ้นมาเดินวนขวารอบ ๆ พระเจดีย์ จากนั้นก็ลงมาซื้อขนมถั่วตัดหรือขนมตุ๊บตั๊บ และชานมซองพร้อมชงจากแม่ค้าแถว ๆ นั้น แม่ค้าพูดภาษาไทยได้ชัดเจนมาก พร้อมซื้อตะกร้อ (จินหลง) หวายพม่าแท้ ๆ ลูกหนึ่งราคาร้อยบาท
10:30-11:30 น.
  • รถโค้ชของคณะก็เดินทางมาที่วัดไจ้คะวาย เมืองหงสาวดี หรือพะโค แต่เพื่อความสะดวก หลบนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ที่มีจำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดที่จะมาวัดไจ้คะวาย "อาหลง" หัวหน้าทัวร์จึงให้คณะทานอาหารเที่ยงกันก่อนที่ภัตตาคารด้านหน้าเยื้อง ๆ กับวัดไจ้คะวาย
          
 
11:30-13:00 น.
  • หลังจากคณะรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็เดินเข้าวัดไจ้คะวาย (Kyakhat wine Monastery)15 มีแม่ค้ามาขายของกันมาก และเด็ก ๆ มาร้องขอสะตังค์กันเยอะ ระหว่างนั่งรอใส่บาตรพระ มีทัวร์คณะอื่น ๆ ก็ทะยอยมาร่วมใส่บาตรกันมากขึ้น ผมได้ร่วมใส่บาตรเป็นเงินสดย่อยสกุลจ๊าดให้ภิกษุและสามเณร ถวายสังฆทาน และทำบุญุถวายข้าวสารหนึ่งกระสอบ (กระสอบละพันบาท) รับพรจากพระผู้ใหญ่ของวัด รู้สึกปิติมาก
         
  • จากนั้นคณะก็ขึ้นรถบัสกลับเพื่อเดินทางไปชมสถานที่อื่นต่อไปตามโปรแกรม
13:00-13:45 น.
  • เดินทางมาไหว้พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียว บ้างก็เรียก ชเวตาลยอง (Shwethalyaung)  ซึ่งคณะทัวร์ยังอยู่เมืองหงสาวดี เป็นพระนอนขนาดใหญ่ แต่พระเนตรไม่สวยงามเท่าพระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี
       

       
  • มาอุดหนุนสินค้าแกะสลักเป็นร้านของภริยาไกด์ "อาหลง" ผมอุดหนุนพระพุทธรูปแกะสลักปางสมาธิ รูปลักษณ์ดูคล้ายอย่างไทยมากที่สุด แกะจากไม้หอมกฤษณา ที่นำไม้มาจากทางเหนือของพม่า
  • ผมเดินไหว้ไปและพร้อม ๆ กับถ่ายรูปรอบพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ มีภาพเขียนพร้อมคำบรรยายเป็นภาษาพม่ากล่าวถึงตำนานของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ ส่วนด้านพระบาทนั้น การวางพระบาททับกันแตกต่างจากพระพุทธไสยาสน์ของไทย การวางพระบาทไม่เสมอเช่นนี้ มีความหมายว่า ในขณะนั้นพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระนอนนี้มีความยาว 55 เมตร สูง 16 เมตร คณะอยู่ชอบด้วยสักพักหนึ่ง ก็เดินทางต่อไป
13:45-14:30 น.
  • ผมขึ้นรถบัส สักครู่ก็หลับไป อากาศร้อนอบอ้าว จากนั้นรถบัสก็พามายังพระราชวังบุเรงนอง และบัลลังก์ผึ้ง (The Grand Kanbawza Thardi Palace) ได้ขุดค้นและบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.2533 จากซากปรักหักพังที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าบุเรงนอง หรือ "ผู้ชนะสิบทิศ" และ(เป็นที่ประทับของพระนางสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระนเรศวร์ ครั้งเมื่อตกเป็นเชลยองค์ประกันหงสา)16 ซึ่งในปัจจุบันพระราชวังแห่งนี้ได้เหลือแต่เพียงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และถูกสร้างจำลองพระราชวังและตำหนักต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่โดยอ้างจากหลักฐานต่าง ๆ ที่อ้างอิงถึง. 
 
บัลลังก์ผึ้ง (The Grand Kanbawza Tharidi Palace)06
 
      

 
  • ท้ายต้นซุงที่ขุดค้นได้ จะมีหลักฐานว่าได้รับบรรณาการมาจากเมืองไหน (ดังภาพข้างต้น เป็นซุงที่นำมาเป็นเสาพระราชวัง นำมาจากเมืองมะละแม่ง)  และซุงต้นอื่น ๆ ก็นำมาจาก แปร พะสิม อื่น ๆ แสดงให้เห็นเมืองบริวารของอาณาจักรตองอู โดยมีเมืองหงสาวดีเป็นราชธานี ซึ่งเมืองหงสาวดีรุ่งเรืองอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดสงคราม มีทหารชาวยะไข่เข้ามารบตีและเผาราชธานีนี้ทิ้ง ทั้งนี้เพราะชาวยะไข่มาทวงคืนพระมหามัยมุนี (หรือพระมหาเมี๊ยะมุนี) แต่ปรากฎว่าไม่มี ทราบภายหลังว่า พม่าได้อัญเชิญพระมหาเมี้ยะมุนีมาไว้ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่ตอนกลางของพม่าแล้ว.
14:40-15:40 น.
  • ชมพระธาตุที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหงสาวดี เป็นเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองและเป็นหนึ่งในห้ามหาเจดีย์สำหรับบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ของพม่า นั่นคือ เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwe Mawdaw Paya หรือ Pagoda) หรือที่คนไทยเรียกว่าพระธาตุมุเตา (แปลว่าพระธาตุ "จมูกร้อน" ทั้งนี้เพราะกล่าวกันว่าพระมหาธาตุองค์นี้สูงมาก จนต้องแหงนหน้ามองต้องกับแสงแดด) ภายในบรรจุพระเขี้ยวแก้ว เข้านมัสการยอดเจดีย์หักซึ่งชาวมอญและพม่าเชื่อกันว่าเป็นจุดที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งเจดีย์นี้พระนเรศวร์ได้เคยเสด็จมาสักการะ เจดีย์องค์นี้เป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและมอญได้อย่างกลมกลืน.
  • พระเจดีย์สูง 377 ฟุต สูงกว่าพระเจดีย์ชเวดากอง 51 ฟุต มีจุดอธิษฐานอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงบริเวณยอดฉัตร ที่ตกลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2473 ด้วยน้ำหนักมหาศาล แต่ยอดฉัตรยังคงมีสภาพเดิม ถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์มีผู้คนมาสักการะกันมาก.
04
 
  • ป็นจุดที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (Tabinshwehti หรือ ตะเบ็งเฉวฺ่ที แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร - ร่มทอง, มังตรา - ในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ, พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ) ทำพิธีเจาะพระกรรณ เมื่อครั้งครองราชย์ใหม่ ๆ ภายใต้วงล้อมของทหารมอญหลายหมื่นนายที่เป็นศัตรู แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรพระองค์ได้.
 05
 
  • ทริปนี้ มีความเชื่อกันว่า "การได้นมัสการ ณ จุดอธิษฐานอันศักดิ์สิทธิ์ และสามารถนำธูปไปค้ำกับยอดของเจดีย์องค์ที่หักลงมาเพื่อเป็นสิริมงคล ซึ่งเปรียบเหมือนดั่งค้ำจุนชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป"
  • คณะได้เข้าไปกราบไหว้พระมหาเจดีย์ชเวมอว์ดอว์นี้ พร้อมนำธูปไปค้ำกับยอดของเจดีย์ฯ และผมได้เดินเท้าเปล่าได้ครู่หนึ่งข้าง ๆ พระมหาเจดีย์นี้ด้วย อากาศร้อนมาก ต้องรีบกลับเข้าที่ร่ม ผมรู้สึกเท้าพองมาหลายสัปดาห์ทีเดียว หลังจากกลับจากทริบนี้
   

   

 
15:40-16:30 น.
  • ต่อมาก็เดินทางสู่เมืองไจ้โท แห่งรัฐมอญ ระหว่างทาง เราก็จะได้พบกับสะพานเหล็กที่ข้ามผ่านชมแม่น้ำสะโตง (สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตที่สมเด็จพระนเรศวร์ กำลังรวบรวมคนไทยกลับอโยธยา ได้ถูกทหารพม่าไล่ตามซึ่งนำทัพ โดยสุรกรรมาเป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นทัพหลวง ยกติดตามกองทัพไทยมา ทัพหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว พระนเรศวร์ได้คอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการปะทะกันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวร์ทรงใช้พระแสงปืนคาบชุดยาวเก้าคืบยิงถูกสุรกรรมา แม่ทัพหน้าของพม่าเสียชีวิตบนตะพองช้าง ทัพพม่าเกิดขวัญเสีย ถอยทัพกลับกรุงหงสาวดี พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ ได้นามปรากฎต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสง อัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้)16.

ระหว่างนั่งรถบัสสู่เมืองไจ้โท ผมได้ถ่ายภาพแม่น้ำสะโตง ซึ่งมีความกว้างและน้ำเยอะมาก
  • หลังจากรถบัสเดินทางข้ามสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำสะโตงมาได้ราวครึ่งชั่วโมง รถบัสของคณะก็มาแวะจอดร้านอาหารจุดพักข้างทาง หลายท่านแวะทานกาแฟเย็น เครื่องดื่มต่าง ๆ อาหารทานยามว่าง (มีซาลาเปาและขนมจีบขายด้วย...ยี่ห้อสุรพลซีฟู้ด...!!!)
    
  • ผมตัดสินใจทานของหนัก เป็นอาหารเย็นเลย ผมลองทานแกงฮังเลและเครื่องเคียงต่าง ๆ แบบพื้นบ้านชาวพม่า อร่อยดี พร้อมกาแฟเย็น ราคาไม่แพง ราว ๆ 120-130 บาท ประกอบด้วยแกงฮังเล (เป็นแกงเครื่องในไก่และไก่บ้าง เนื้อสันบ้าง คั่วเครื่องเทศจนเคี้ยวน้ำมันพืชลอยฟ่อง รสชาติเข้มข้น) ข้าวสวยหนึ่งจาน ต้มผักกะหล่ำดองเปรี้ยว ๆ คล้าย ๆ ต้มเกี่ยมฉ่าย ผักพื้นเมืองต่าง ๆ มะนาวฝ่านลูกใหญ่ ๆ ของพม่า พริกแห้ง และบางอย่างผมไม่รู้จัก ทานได้แค่ครึ่งเดียวก็อิ่มแปร้แล้ว.
  • ผมเดินชม ซื้อถั่วลิลงมาทานเล่น เห็นถั่วพื้นเมืองชื่อ "แป๊ะหล่อ" วางขายอยู่ ผมรู้จักดี เพราะเป็นถั่วทานเล่นของคนพม่ามอญแถบนี้ รวมทั้งชาวไทยที่อยู่แถวจังหวัดตาก อ.แม่สอด (ญาติ ๆ ฝ่ายพ่อของผมเป็นคนแม่สอด) 
16:30-21:00 น.
  • เดินทางสู่พระธาตุอินทร์แขวน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที ก็ถึง คิ้มปูนแค้มป์ เพื่อทำการเปลี่ยนเป็นรถท้องถิ่น เป็นรถบรรทุกหกล้อ (เป็นรถประจำเส้นทางชนิดเดียวที่เราจะสามารถขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนได้) ใช้เวลาเดินทางสักพัก เพื่อเดินทางสู่ยอดเขา.
    
ภาพจากซ้ายไปขวา: นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกที่จะเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุ กำลังขึ้นรถบรรทุกหกล้อ อันหฤหรรษ์ ผสมกับหฤโหด และภาพระหว่างรอรถสวนลงมาจากพระธาตุ ก็มีพ่อค้าน้อย ๆ คอยขายชุดธูปเทียน และหัตถกรรมพื้นบ้านง่าย ๆ แก่ผู้โดยสาร

 
 
เจดีย์ไจ้ทีโย หรือ พระธาตุอินทร์แขวน (Kyaiktiyo Pagoda - Golden Rock)07
  • เส้นทางขึ้นยอดเขาใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ถนนไม่ค่อยดีนัก สูงชันขึ้นเรื่อย ๆ อากาศเย็นสบาย คนขับรถค่อนข้างซิ่ง คะนอง การจัดที่นั่งเป็นแถวตอนบนส่วนกระบะของรถบรรทุกหกล้อ ทำเก้าอี้และพนักเป็นสเตนเลสไว้ ทำหลังคาผ้าใบจุได้ 20-25 คน มีเซฟตี้เบลท์ง่าย ๆ เตรียมให้ด้วย ระหว่างรถกำลังขับขึ้น ผมและทุก ๆ ท่านที่โดยสารต่างจับยึดพนัก หรือส่วนที่ตึดกับตัวรถไว้แน่น
  • ระหว่างทาง เห็นภิกษุ และชาวบ้านเดินขึ้นลงเขาเป็นระยะ ๆ 
 
     
  • เมื่อรถบรรทุกหกล้อ มาถึงยอดเขา บริเวณรับส่งผู้โดยสาร ๆ ต่างทะยอยลง และมีผู้โดยสารกลุ่มอื่น ที่นมัสการพระธาตุณ เสร็จแล้ว ก็เตรียมผลัดเปลี่ยนขึ้นรถกลับ จากภาพข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีบริการเสลียง สำหรับผู้ที่ไม่แข็งแรง เหนื่อย วัยชรา ป่วย ฯ ไว้บริการอีกด้วย โดยมีคนหาบราว ๆ สี่คน
 
     
ภาพจากซ้ายไปขวา: มีร้านรวงขายของทั่วไปบนยอดเขา และมีหาบขนข้าวไว้คอยบริการ คณะของเราเมื่อขึ้นถึงยอดเขาก็เดินทางต่อราว ๆ หนึ่งกิโลเมตรเศษ ก็ถึงจุดที่เป็นประตูสิงห์คู่ นักท่องเที่ยวทุกคน ต้องถอดรองเท้าเพื่อแสดงความเคารพพระธาตุ นับจากจุดนี้
  • ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ไจ้ทีโย นี้ตรงกับ อ.แม่ตาก จว.ตาก ส่วนด้านตะวันตก ก็เป็นเชิงผาสูง มองไปไกล ๆ จะเห็นแม่น้ำสะโตง เป็นเส้นทางขาว ๆ ไหลเอื่อยลงอ่าวเมาะตะมะ 
 
    
  • ระหว่าง คณะทัวร์กำลังเดินด้วยเท้าเปล่าขึ้นไปบนยอดเขา และเข้าที่พักที่ YOYOLAE HOTEL นั้น เข้าสู่ช่วงเวลาพลบค่ำ อากาศเริ่มเย็นสบาย ลมโชยอ่อน มีชาวบ้านทั้งไทย มอญ พม่า ยืนนั่ง ถ่ายภาพอยู่ริมระเบียงจำนวนมาก เต็มทั้งสองข้างทางขึ้นไปยังยอดเขา มีพุทธศาสนิกชนนั่งนอน เตรียมฟูกผ้าห่ม เสื่อ เสื้อกันหนาวจัดวางปูลาดเต็มไปหมด. 
 
    

    
  • ไกด์อาหลงแนะนำ กำหนดการทานอาหารเย็น การรับกุญแจเข้าที่พัก เมื่อผมได้กุญแจห้องพัก ก็เอาสัมภาระส่วนตัวเก็บไว้ ทำธุระส่วนตัว แล้วออกมาถ่ายภาพ ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับเพื่อน ๆ คณะทัวร์ ที่ล็อบบี้เปิดกว้างของโรงแรม ที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง วิวดีมาก อาหารใช้ได้ รสชาติไทย ๆ แต่ไม่จัดจ้านมากนัก
  • มีแขก แทบทั้งหมดเป็นคนไทย มีหลายคณะมาพักกันที่นี่ 
  • เข้าชม เจดีย์ไจ้ทีโย หรือ พระธาตุอินทร์แขวน (Kyaiktiyo Pagoda - Golden Rock) หมายถึง หินรูปหัวฤๅษี ตั้งอยู่ที่เมืองไจก์โถ่ อ.สะเทิม เขตรัฐมอญ ลักษณะเด่นของพระธาตุอินทร์แขวน คือ เป็นก้อนหินทองอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์องค์เล็ก ๆ สูงเพียง 5.5 เมตร ตั้งอยู่บนก้อนหินกลม ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาอย่างหมิ่นเหม่ คนพม่ายืนยันว่าไม่มีทางตก เพราะพระเกศาธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์ย่อมทำให้หินก้อนนี้ทรงตัวอยู่ได้อย่างสมดุลเรื่อยไป ตามคติการบูชาพระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนา ถือว่าพระธาตุอินทร์แขวนนี้ เป็นพระธาตุปีเกิดของคนปีจอ แทนพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ โดยเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้มานมัสการพระธาตุอินทร์แขวนนี้ครบ 3 ครั้ง ผู้นั้นจะมีแต่ความสุขความเจริญ พร้อมทั้งขอสิ่งใดก็จะได้สมดังปรารถนาทุกประการ.
  • ตามคู่มือการท่องเที่ยวของทริปนี้กล่าวว่า สามารถเตรียมแผ่นทองคำไป เพื่อปิดทององค์พระธาตุอินทร์แขวน (เข้าไปปิดทองได้เฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิง สามารถอธิษฐานและฝากผู้ชายเข้าไปปิดแทนได้).
 
    

    
  • รับประทานอาหารค่ำในห้องอาหารของโรงแรม จากนั้นเราก็สามารถขึ้นไปนมัสการหรือนั่งสมาธิที่พระเจดีย์ได้ตลอดทั้งคืน แต่ประตูเหล็กที่เปิดสำหรับผู้ชาย จะเปิดถึงเวลา 22:00 น. เราควรเตรียมเสื้อกันหนาว หรือกันลมหรือผ้าห่ม ผ้าพันคอ เบาะรองนั่ง เนื่องจากบริเวณพื้นที่นั้นมีความเย็นมาก.
  • หลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว ผมก็เข้าห้องพักอาบน้ำอาบท่า (ห้องพักมีขนาดเล็ก ไม่มีหน้าต่าง อยู่ระเบียงใกล้ผา เดินลงไปด้านล่าง ห้องนั้นเพียงวางเตียงลงก็เต็มห้องแล้ว ขยับไปไหนลำบากเล็กน้อย) ผมออกมาร่วมไหว้พระ คนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ การขยับตัวไปข้างหน้าเข้าไปใกล้พระมหาเจดีย์ลำบาก มีคนจุดธูปเทียนบ้าง สรงน้ำพระพุทธรูปบ้าง สวดมนต์บ้าง แน่นขนัดไปทุก ๆ พื้นที่แม้แต่ริมระเบียง เห็นถึงพลังมหาศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจริง ๆ 
 
         

      

 
  • ผมถ่ายรูปไป และเดินไปรอบ ๆ พระธาตุพระเจดีย์ไจ้ทีโย ก็ดุแล้วมหัศจรรย์ว่าก้อนหินพระเจดีย์นั้น วางอยู่ในลักษณะนี้ได้อย่างไร ดูเหมือนจะตกแหล่มิตกแหล่ สักพักใหญ่ ๆ ก็กลับเข้าที่พัก พักผ่อนและหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย.

 
 
วันที่สาม(วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560)
 
วัดไจ๋ป๋อลอ (Kyaikpawlaw-วัดพระไฝเลื่อน) - พุทธคยาจำลอง - ปางช้างเผือก - สนามบินนานาชาติมิงกาลาดง กรุงย่างกุ้ง - กรุงเทพฯ
 
03:30-12:00 น.
  • ผมตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืดราว ๆ ตีสามกว่า ล้างหน้าล้างตาออกมาจากห้องพัก ที่อยู่ชั้นล่าง ๆ ของผาสูง อากาศเย็นต้องใส่เสื้อกันหนาว มีลมแต่ไม่แรงมากนัก
  • ผมมารอเข้าคิวเพื่อเข้าถึงและสัมผัสศิลาของพระเจดีย์อินทร์แขวน ซึ่งจะเปิดให้เข้าได้ ตั้งแต่ตีสี่ ผมเข้าไปในบริเวณพระเจดีย์ได้ในลำดับที่หก ของเช้าวันนี้.
  • เข้าไปสวดมนต์ ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองผมและอภิบาลญาติพี่น้อง บุคคลที่ผมรักเคารพ แผ่กุศลแก่เจ้ากรรมนายเวร สัมภเวสี เทวาอารักษ์ ฯ พร้อมกับเอาศีรษะของผมแนบกับศิลาของพระมหาเจดีย์อินทร์แขวนนี้
    
  • พอเช้าสว่างได้ที่ ผมก็กลับเข้าห้องพัก Check-out ผมนุ่งโสร่ง(ที่ไกด์แจกให้ตั้งแต่วันแรก) มาทานอาหารเช้า ชา-กาแฟ อิ้วจ๋าก๊วย และหมี่ผัด ที่บนลานล้อบบี้ของโรงแรม แล้วเดินแกร่ว ๆ ถ่ายรูป วิวต่าง ๆ อากาศเย็นสบายมาก.
    
ภาพจากซ้ายไปขวา: ถ่ายจากยอดเขามาทิศตะวันตก ยามเช้า แทบจะมองไม่เห็นแม่น้ำสะโตงเลย
และภาพผู้คนยามเช้า บ้างก็กำลังเตรียมตัวลงจากเขา
  • รอคณะ เช็ค-เอ้าท์ครบแล้ว ก็เดินลงจากยอดเขา มายังจุดรถบรรทุกหกล้อ เพื่อลงเขาไปยังด้านล่างต่อไป เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุด มีคนขึ้นมายอดเขา สวนกับที่คณะจะเดินลงไปอย่างแน่นขนัด เดินลงลำบาก แต่ก็สนุกดี ได้ประสบการณ์มัน ๆ แปลกหูแปลกตา
    
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพบริกรหาบของของนักท่องเที่ยวลงจากเขา
และภาพด้านตะวันออก เดินลงมาจากเนินเขาได้ครู่หนึ่ง รับแสงตะวันยามเช้า


     
  • ขาลงมาจากยอดเขาพบนักพรตลักษณะหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นกลุ่มฤๅษี (Yethe) ต่อสืบแนวปฏิบัติมาตั้งแต่ฤๅษีดิษะ17 หรือบ้างก็เรียก ติสสะ (ในสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นตัวแทนรับพระเกศาของพระพุทธเจ้า มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการะในดินแดนสุวรรณภูมิ)
  • คณะได้ขึ้นรถบรรทุกหกล้อลงมาจากยอดเขา คนขับค่อนข้างขับเร็ว  เสียวอยู่เหมือนกัน มีการชะลอจอดเป็นระยะเพื่อรอรถสวน สัก 40 นาที คณะก็มาถึงเชิงเขา เข้าห้องน้ำห้องท่าทำธุระส่วนตัว (ผมหาห้องน้ำไม่ได้ คิวยาวเหลือเกิน เลยยิงกระต่าย แนวรั้วต้นไม้แถว ๆ นั้น) แล้วขึ้นรถบัสเดินทางต่อเข้าเมืองหงสาวดี.
  • คณะมาแวะวัดพระไฝเลื่อน วัดไจ๋ปอลอ (Kyaikpawlaw) ตั้งอยู่ที่เมืองไจก์โถ่ ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองพะโคหรือหงสาวดีราว 70 กิโลเมตร เมื่อไจก์โถ่นี้ เป็นเมืองเล็ก ๆ แต่มีสถานที่ที่สำคัญ
  • พระไฝเลื่อน ไจ๋ปอลอนี้เป็นพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ร่วม 2,000 ปีเลยทีเดียว มีเรื่องเล่ากันว่า องค์พระได้ลอยน้ำมาติดอยู่ใกล้ ๆ วัด ชาวบ้านจึงนำมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แล้วมีการปิดทองเรื่อยมา แต่มีเรื่องแปลกคือ ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม ที่หางคิ้วขององค์พระจะมีจุดดำ ๆ เกิดขึ้นทุกครั้ง ชาวบ้านก็เลยเรียกว่าพระไฝเลื่อน
 
      
วัดไจ๋ป๋อลอ (Kyaikpawlaw-วัดพระไฝเลื่อน)
  • นอกจากนี้แล้ว ด้านหน้าซ้ายมือขององค์พระจะมีวิหารประดิษฐานพระนอนองค์หนึ่ง มีลักษณะงดงามไม่แพ้พระพุทธไสยาสน์เชาตาจีที่เมืองหงสาวดีเลยทีเดียว โดยความพิเศษก็คือการไสยาสน์ของพระองค์นี้จะไม่เหมือนกับการไสยาสน์หรือนอนโดยทั่วไป แต่จะเป็นเหมือนการนอนท้าวข้อศอกมากกว่า วันนี้มีนักท่องเที่ยวและชาวพม่ามาเที่ยวกันเยอะมาก ด้วยเพราะเป็นวันหยุด.
       
  • ใกล้ ๆ ด้านซ้ายมือของพระไฝเลื่อน ไจ๋ปอลอจะมี พุทธคยาจำลองที่พึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ ผมและคณะลงจากรถบัสไปนมัสการ ถ่ายภาพเก็บไว้ ผมยังไม่เคยไปพุทธคยาที่อินเดีย จึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบความเหมือนความต่าง และขนาดได้ เข้าใจว่าที่มีการสร้างพุทธคยาขึ้นมาที่นี่ ก็คงเป็นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพิ่มสถานที่ เป็นซิกเนเจอร์แห่งใหม่ ๆ. 
    

  
  • จากนั้น ผมและคณะก็เดินทางตรงไปยังสนามบินที่ย่างกุ้ง สองข้างทางระหว่างเดินทางกลับ ผมสังเกตเห็นท้องทุ่ง มีการปลูกข้าวและพืชล้มลุกต่าง ๆ เป็นระยะ ดินแดนแถบเมืองหงสาวดี นับได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของพม่าเลยทีเดียว
12:00-13:00 น.


แวะทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารในเมืองหงสาวดี
  • อาหารของแนวเดิม ๆ รสชาติถูกปากคนไทย แต่การทอดไข่เจียวของเขา ไม่อร่อยและฟูสวยเหมือนบ้านเรา ร่วมสามมื้อแล้วที่มีกุ้งเผาขนาดเขื่อง ๆ แจกให้ท่านละตัว 
13:00-15:35 น.
  • แวะปางช้างเผือก ที่อยู่ใกล้สนามบิน ที่ปางช้างเผือกนี้มีช้างเผือกอยู่สามเชือก มีอายุมากแล้ว มาจากโขลงช้างที่ต่างกัน ดูอารมณ์ดี ฉลาด 
  • เชือกแรกเป็นช้างพังชื่อ เทียงจี มาร์ลาร์ (Theingi Marlar) อายุ 39-40 ปี สูงราว 7 ฟุต 9 นิ้ว, ยาว 12 ฟุต 8 นิ้ว จับได้ที่เมืองยะไข่ (Rakhine State) นำมากรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2545.
 
    

    
  • เชือกที่สอง เป็นช้างพัง ชื่อ ราตี มาร์ลาร์ (Rati Marlar) อายุประมาณ 18-19 ปี สูง 7 ฟุต 3 นิ้ว, ยาว 10 ฟุต 4 นิ้ว จับได้ที่เมืองยะไข่ (Rakhine State) นำมากรุงย่างกุ้ง เมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ.2545.
    

    
  • เชือกที่สาม เป็นช้างพลาย ชื่อ Yaza Gaha อายุราว 23-24 ปี สูง 9 ฟุต ยาว 14 ฟุต ไม่มีข้อมูลว่าจับได้ที่ไหน.
  • คณะถ่ายรูป ชมปางช้างเผือกได้สักครึ่งชั่วโมง ก็เดินทางเข้าสู่สนามบิน เช็ค-อิน ตอนระหว่างนำกระเป๋าผ่านเครื่องสแกนอยู่นั้น มีชาวพม่า มั่ว ๆ เอากระเป๋าลัดคิวแทรกเฉยเลย ดูไม่ค่อยน่ารัก
  • มาแวะช้อบในร้านดิวตี้ฟรีของสนามบินฯ ของไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ ซื้อเสื้อทีเชิร์ต Myanmar ไปฝากหลานตัวหนึ่ง พบได้เวลาก็ขึ้นเครื่อง ออกเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ PG 708.
    
 
17:25 น.
 

 
  • ระหว่างเครื่องกำลัง Take-off จากสนามบินย่างกุ้งนั้น เมื่อมองลงไปด้านล่าง เห็นความใหญ่โตของกรุงย่างกุ้ง มีแม่น้ำย่างกุ้งไหลผ่าน เป็นที่ลุ่ม พื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง ไม่ค่อยเห็นโรงงานอุตสาหกรรม
  • ประมาณชั่วโมงเศษ ๆ ก็ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ โดยสวัสดิภาพ

 
ที่มาและคำอธิบาย:
01. ใช้เอกสารประกอบการนำเที่ยวของเอเย้นต์ชื่อ บจก.บ้านฮอลิเดย์ทราเวล เป็นเอกสารหลักในการแสดงรายละเอียดการท่องเที่ยว และบริษัทผู้นำเที่ยว CU Center , วันที่สืบค้นและปรับปรุง 17 และ 22 มีนาคม 2560.

02. จาก. pantip.com/topic/34528264, วันที่สืบค้น 18 มีนาคม 2560.

03. ปรับปรุงจาก. www.oceansmile.com/Phama/Skotmarket.htm, "ตลาดโบยก อองซาน (Bogyoke Aung San Market) สร้างโดยชาวสก๊อต สมัยเมื่อครั้งพม่าเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ (Pax Britannica) เป็นตลาดที่รวบรวมสินค้าหลากหลาย อาทิ ผ้าทอ งานไม้แกะสลัก งานสาน อัญมณี ภาพวาด ข้าวของเครื่องใช้ แป้งทานาคา ผ้าปักพื้นเมือง เครื่องเงิน เครื่องมุก เครื่องหยก และเป็นตลาดประมูลพลอยย่อม ๆ อยู่ข้างตลาด", วันที่สืบค้น 29 มีนาคม 2560.

04. จาก. 2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11716460/E11716460.html, วันที่สืบค้น 17 มีนาคม 2560.

05. จาก. www.komkid.com/ประวัติศาสตร์สังคม/หงสาวดีตะเบ็งชเวตี้, "พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ประกอบพิธีเจาะพระกรรณ", วันที่สืบค้น 17 มีนาคม 2560.

06, 07 จาก. yangondaytours.com, วันที่สืบค้น 23 มีนาคม 2560.

08. ทะเลสาบอินยา เดิมชื่อทะเลสาบวิคตอเรีย เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดกลางกรุงย่างกุ้ง ฝั่งทะเลสาบกับถนนที่คณะทัวร์ผ่านจะเป็นที่พำนัก (ช่วงถูกกักตัวทางเมือง) ของออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi).

09. ปรับปรุงจาก. en.wikipedia.org/wiki/Botataung_Pagoda, พระมหาเจดีย์โบตาทาวน์ หรือ โบตะตอง (Botataung Pagoda) แปลว่า "นายทหารพันนาย" (โบ = ผู้นำ หรือนายทหาร, ตะตอง = พัน) พระเจดีย์เป็นที่เก็บพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ชานกรุงย่างกุ้ง ใกล้แม่น้ำย่างกุ้ง แรกเริ่มสร้างโดยชาวมอญ เป็นยุคสมัยเดียวกับพระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) และพระมหาเจดีย์ซูเล (Sule Pagoda) ด้วยความเชื่อของคนท้องถิ่นกล่าวว่า สร้างมาร่วม 2,500 ปีแล้ว ในสมัยที่พระบรมศาสดายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ในภาษามอญเรียกว่า Kyaik-de-att, Kyaik อ่านว่า ไจ้ ซึ่งแปลว่าเจดีย์, วันที่สืบค้น 01 เมษายน 2560.

10. นัตโบโบยี (Bo Bo Gyi - เทพทันใจ) "นัต (Nat)" น่าจะมาจากคำว่า "นาถะ" ในภาษาบาลี ที่แปลว่า "ที่พึ่ง" หมายถึง ผีของชาวพม่า เป็นเทพท้องถิ่น เป็นความเชื่อพื้นเมืองที่มีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาในพม่า นัตเป็นผีบรรพบุรุษ ลักษณะกึ่งผีกึ่งเทวดา คล้ายเทพารักษ์ คอยดูแลคุ้มครองสถานที่ที่ตนมีความสัมพันธ์ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีฤทธานุภาพเทียบเท่าเทวดา โดยอาจจะมีศาลลักษณะคล้ายศาลเพียงตาตั้งบูชาอยู่ในสถานที่นั้น ๆ, (ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 25 เมษายน 2560). ส่วนนัตโบโบยี เป็นนัตผู้ชายที่เป็นที่เคารพนับถือ ประมาณพ่อปู่ เทพาอารักษ์ของไทยเรานั่นเอง เชื่อกันว่าจะทำให้สมปรารถนารวดเร็วทันใจ ขออะไรแล้วจะสมหวัง คำว่าเทพทันใจ น่าจะมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ได้ตั้งชื่อขึ้นมานั่นเอง ผู้ศึกษาได้ทราบจากมัคคุเทศก์ท่านหนึ่งว่า นัตโบโบยี ก็คือพ่อปู่ชาวพม่าที่ชี้แหล่ง ทำเลจุดตั้งของการก่อสร้างพระมหาเจดีย์โบตาทาวน์ นั่นเอง. (ที่มาและปรับปรุงจาก: horoscope.sanook.com, วันที่สืบค้น 25 เมษายน 2560).
 
11. อะมาดอว์เมียะ (เทพกระซิบ) ตามตำนานกล่าวว่า นางเป็นธิดาของพญานาค ที่เกิดศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า รักษาศีล ไม่ยอมกินเนื้อสัตว์จนเมื่อเสียชีวิตไปกลายเป็นนัต ซึ่งชาวพม่าเคารพกราบไหว้กันมานานแล้ว แต่ก็ไม่มีใครมากระซิบอธิษฐานทันท่านเลย แม้แต่คนเดียว จนกระทั่งนักท่องเที่ยวชาวไทยนั่นเองเป็นผู้เริ่มต้น โดยมีหัวหน้าทัวร์ไทยนำคณะมาไหว้เทพทันใจที่วัดนี้ ได้เห็นผู้คนมุงกันหนาแน่นหน้าศาลของนัตองค์นี้ และเห็นป้ายภาษาพม่าเขียนบอกอะไรสักอย่าง จึงถามไกด์ว่า ป้ายเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งไกด์ก็อ่านให้ฟังว่า ป้ายบอกว่า "ห้ามพูดส่งเสียงดัง" เนื่องเพราะบริเวณนั้น ชอบมีแม่ค้ามาร้องเสนอขายชุดเครื่องเซ่นไหว้องค์เทพ ส่งเสียงเอะอะ ทั้งที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดจึงปิดป้ายเตือนไว้ แต่กลับเป็นว่า หัวหน้าทัวร์ท่านนั้นเข้าใจว่า ถ้าจะไปอธิษฐานขอเทพองค์นี้ ห้ามพูดเสียงดัง จึงอธิบายให้คณะคนไทยฟังว่า ถ้าจะอธิษฐานขออะไรกับเทพองค์นี้ต้องกระซิบ แล้วก็เล่าลือต่อ ๆ ไป จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ถึงตอนนี้ มีคนได้รับผลอธิษฐานสมปรารถนา และบอกต่อกัน จนรายการไหว้เทพกระซิบถูกบรรจุเข้าไปในรายการทัวร์ไทยทุกบริษัท การบูชาเทพกระซิบ หรือ นัตอะมาดอว์เมียะนั้น นอกจากบูชาด้วยมะพร้าว กล้วยนากที่เขาจัดไว้เป็นชุดแล้ว ยังนิยมบูชาด้วยน้ำนมและข้าวตอก รวมทั้งดอกไม้ ซึ่งมักจะเป็นดอกมหาหงส์ ที่คนพม่านิยมใช้บูชากันทั่วไป, ที่มา: oknation.nationtv.tv/blog/akom/2014/04/03/entry-1, ซึ่งอ้างอิงจาก http://www.programtour.com/ อีกทีหนึ่ง, วันที่สืบค้น 26 เมษายน 2560

12. จาก. https://myanmar.cx, วันที่สืบค้น 11 เมษายน 2560.

13. พระเจดีย์ไจ๊ปุ่น (Kyaikpun Pagoda) หรือพระสี่ทิศ สร้างในปี ค.ศ.1476 หรือ 500 กว่าปีแล้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ไปทุกทิศทาง ทั้งนี้เพราะแทนความหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ในภัทรกัปนั่นเอง มีตำนานเล่าขานมาดังนี้ "...พระราชธิดาทั้งสี่องค์ของกษัตริย์มอญ ที่อุทิศตนแด่พระพุทธศาสนา ได้สร้างพระพุทธรูปแทนตนเองและได้สาบานไว้ว่าจะไม่ขอข้องแวะกับบุรุษเพส ต่อมาน้องสาวคนสุดท้อง ได้พบรักกับชายหนุ่มและแต่งงานกัน จึงเกิดอาเพศฟ้าผ่าพระพุทธรูปที่แทนตัวของน้องสาวคนสุดท้อง พระพุทธรูปนั้นได้พังทลายลงมา จนต้องมีการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ตามที่เห็นในปัจจุบัน โดยพระพุทธรูปองค์นี้จะมีลักษณะแตกต่างจากองค์อื่น ๆ คือ จะเป็นศิลปะแบบพม่า พระพักตร์ดูจะเศร้ากว่าองค์อื่น ๆ " "ไจ๊" คือ พระ หรือ เจดีย์ "ปุ่น" คือ สี่ ดังนั้น พระเจดีย์มีพระสี่ทิศ โดยพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ อายุกว่า 500 ปี หันพระพักตร์ไปยังสี่ทิศ สร้างขึ้นโดยสี่สาวพี่น้อง ที่อุทิศตนแด่พระพุทธศาสนา เมื่อมีการบูรณะวัดนี้ เมื่อ พ.ศ.2019 พระเจดีย์นี้ มีพระพุทธรูปปางประทับนั่งโดยรอบทั้งสี่ทิศ ประกอบด้วย
     หนึ่ง. สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ
     สอง. พระพุทธเจ้าโกนาคมโน หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้
     สาม. พระพุทธเจ้ากกุสันโธ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
     สี่.  พระพุทธเจ้ามหากัสสปะ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก.

     ปรับปรุงจาก: burma-travel.blogspot.com, วันที่สืบค้น 18 เมษายน 2560.

14. พระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ (Singuttara Hill) เมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น บนยอดสุดของพระเจดีย์ มีเพชรอยู่ 5,448 เม็ด ชั้นข้างบนสุดมีเพชรเม็ดใหญ่อยู่ 76 กะรัต และทับทิม 2,317 เม็ด มีมรกตเม็ดใหญ่อยู่ตรงกลาง เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ ผู้ที่เข้ามานมัสการหรือเยี่ยมชมจะต้องถอดรองเท้าทุกครั้ง ตามตำนานกล่าวว่า พระมหาเจดีย์ชเวดากองนี้สร้างเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างคริสต์ศจวรรษที่ 6-10 โดยชาวมอญ ตามตำนานนั้นเริ่มจากว่า มีพี่น้องพ่อค้า 2 คน (Trapusa และ Bahalika หรือ Bhallika) ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ประทานพระเกศามา 8 เส้น สำหรับให้พ่อค้าทั้งสองรับไว้บูชา 
     พระมหาเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าพินยาอู (King Binnya U) ได้ทรงสร้างปรับปรุงเพิ่มเติมพระเจดีย์ใหม่สูง 18 เมตร พระเจดีย์ได้ถูกซ่อมแซมเรื่อยมา จนมีความสูง 98 เมตร ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อย เรื่อยมา ทำให้พระเจดีย์ได้รับความเสียหาย และเมื่อปี พ.ศ.2311 (ในสมัยกรุงธนบุรี) ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้น ทำให้ยอดของพระเจดีย์หักถล่มลงมา., ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง และ en.wikipedia.org/wiki/Shwedagon_Pagoda, วันที่สืบค้น 20 เมษายน 2560.

15. วัดไจ๊คะวาย (Kyakhat wine Monastery) อยู่ในเมืองหงสาวดี ห่างจากย่างกุ้งไปประมาณ 92 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีภิกษุสามเณรไปศึกษาพระไตรปิฎก พระธรรมและ พระสูตรต่าง ๆ ของพระบรมศาสดาเป็นจำนวนมาก คณะของเราก็เตรียมเงินสกุลบาทและจ๊าตใส่ซอง สมุด ดินสอ ปากกา เครื่องเขียนต่าง ๆ ขนม ฯ มาร่วมตักบาตรคราวนี้ด้วย วัดแห่งนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงในเรื่องเจดีย์สูงใหญ่โต หรือพระพุทธรูปปางต่าง ๆ แต่มีชื่อเสียงเพราะเป็นโรงเรียนที่สอนพระพุทธศาสนาเปรียญธรรมชั้นตรี โท และเอก ของพม่า จึงมีชาวบ้านนิยมนำบุตรหลานมาบวชและให้เข้าเรียนเป็นจำนวนมาก พระและสามเณรที่มาศึกษาจะต้องอยู่ที่นี่ประจำ ไม่ต่างกับเป็นโรงเรียนกินนอนในสมัยก่อน, ปรับปรุงและที่มาจาก: www.wonderfulpackage.com/article/v/206/, วันที่สืบค้น 12 พฤษภาคม 2560.


16.  จากข้อมูลตามพงศาวดารซึ่งเอกสารขั้นรอง ที่บันทึกภายหลังจากเหตุการณ์จริงนั้น จะต้องมีการศึกษาค้นคว้า ทบทวนกันใหม่ทั้งหมด เพราะผู้บันทึกได้บรรยาย อาจกล่าวได้ว่าเป็น "จินตนิยาย" มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐไทย เป็นรัฐในความหมายว่า "Nation" ไม่ได้เป็นชาติในความหมายที่เป็น "Race-เทือกเขาเหล่ากอ" มีอาณาเขต ความเป็นรัฐ เพื่อแสดงต่อเหล่าอุดงคตประเทศ ในช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ว่าเรามิได้เป็นชาติป่าเถื่อนล้าหลัง มีหลายสันนิษฐานกล่าวว่า พระนเรศวร์ไม่ได้ประสูติที่พิษณุโลก ไม่ได้มีการตีไก่ชน ท่าชิงบ้านชิงเมืองกัน (ทั้งนี้เพราะกีฬาไก่ชน เป็นสันทนาการของเหล่าไพร่) การทำยุทธหัตถี ก็ทำกันข้าง ๆ กรุงศรีฯ มีผลสรุปการบันทึกเป็นหลายประเด็นจากพ่อค้าวานิช แขกเปอร์เซีย นักบวชคาทอลิก พม่า ไทย จีนและอื่น ๆ ที่อธิบายเรื่องสงครามยุทธหัตถีที่แตกต่างกันไป เป็นต้น.

17.  อ้างจากหนังสือ "ตำนานเมืองพม่า" ของเสด็จในกรมฯ พระยาดำรงราชนุภาพ หน้าที่ 95 ของสำนักพิมพ์โนเบิ้ลบุ๊คส์ พิมพ์เมื่อ 2560. ภาพฤๅษี (Yethe) ข้างต้น มีส่วนผสมผสานเข้าลักษณะดังนี้ "...ชนิดหนึ่งเรียกกันแต่ว่าฤษี โกนหัว นุ่งห่มกาสาวพัสตร์ และเลี้ยงชีพด้วยภิกขาจารเหมือนอย่างพระภิกษุ (ดูจะตรงกับที่ไทยเรียก "เถน") เป็นแต่สังวรสิกขาน้อยบทกว่าพระภิกษุ และกราบไหว้พระภิกษุสิกขาของฤษีจะเป็นอย่างไร ไม่ได้พรรณนาไว้ในอธิบาย กล่าวแต่ว่ารับเงินและทำไร่ได้ แต่มักอาศัยถ้ำหรือวัดร้างเป็นที่พัก และเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ เป็นปกติ 
 
ที่มา: pantip.com/topic/30665905, วันที่สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2561.
 
     ฤษีอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ดอชะ (Daucha) ก็ครองผ้ากาสาและภิกขาจารเหมือนฤษี ผิดกันแต่ไว้ผมยาว โพกหัวเป็นชฎา มีพระพุทธรูปไว้ในนั้น (รูปคล้ายชฎาหัวโขนฤษี) กับมักชอบเป็นหมอดูและเครื่องราง...
humanexcellence.thailand@gmail.com