MENU
TH EN

ง. อาณาจักรล้านนา - ยุคฟื้นม่าน (หลังการปกครองของพม่า) (ช่วง พ.ศ.2318-2325 และ ช่วง พ.ศ.2325-2482)

ง. อาณาจักรล้านนา - ยุคฟื้นม่าน (หลังการปกครองของพม่า) (ช่วง พ.ศ.2318-2325 และ ช่วงพ.ศ.2325 - 2482)
First revision: Jul.08, 2021
Last change: Aug.20, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       
 ลำดับที่   ผู้ปกครอง  ช่วงเวลา
 1  พญาจ่าบ้าน หรือ พระยาวิเชียรปราการ หรือ พระยาจ่าบ้าน (บุญมา)  พ.ศ. 2317 - 2319
 เชียงใหม่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ประมาณ 20 ปี พ.ศ. 2319 - 2339
 ราชวงศ์ทิพย์จักร (ตระกูลเจ้าเจ็ดตน)
 1  พระยากาวิละ หรือ พระบรมราชาธิบดี  พ.ศ. 2317 - 2325 (พระยานครลำปาง) 
 พ.ศ. 2325 - 2345 (พระยาเชียงใหม่)

 พ.ศ. 2345 - 2356 (พระเจ้าเชียงใหม่)
 เมืองเชียงใหม่ เว้นว่างจากการมีกษัตริย์ (4 ปี) พ.ศ. 2356 - 2359
 2  พระยาธรรมลังกา หรือ พระยาเชียงใหม่น้อยธรรม  พ.ศ.2359 - 2565 (9 ปี)
 3   พระยาคำฟั่น หรือ พระญาคำฝั้น หรือ เจ้ามหาสุภัทรราชะ  พ.ศ. 2357 - 2358 (เจ้าผู้ครองนครลำพูน)
 พ.ศ.2366 - 2368 (2 ปี)
 4  พระยาพุทธวงศ์ หรือ พระยากากวรรณาทิปะราชวชิรปราการ หรือ เจ้าหลวงแผ่นดินเย็น  พ.ศ.2369 - 2389 (20 ปี)
 5  พระเจ้ามโหตรประเทศ  พ.ศ.2390 - 2397 (7 ปี)
 6  พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ หรือ เจ้าชีวิตอ้าว  พ.ศ.2399 - 2413 (14 ปี)  
 7  พระเจ้าอินทวิชยานนท์  พ.ศ.2416 - 2440 (24ปี)
 8  เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์   พ.ศ.2444 - 2453 (8 ปี)
 9  เจ้าแก้วนวรัฐ  พ.ศ.2454 - 2482 (29 ปี)
 

1. พระยาวิเชียรปราการ หรือ พญาจ่าบ้าน หรือ พระยาจ่าบ้าน 
รายละเอียดวีรกรรมของท่านดูเพิ่มเสริมได้ใน กองทหารโพกหัวแดงชาวล้านนาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าตาก     

 

ภาพแสดงการเสียดินแดนใน ร.ศ.111 จาก Facebook เพจ "กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," โดยผู้ใช้นามว่า Papontanai Krudngern, มีผู้ติงใน Comment ว่า ตำแหน่งเมืองเชียงของ ไม่ถูกต้อง02 วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2564.


สยามเทศะ สูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำสาละวินให้กับอังกฤษ01.

       ล้านนาสูญเสีย 5 หัวเมืองเงี้ยวและหัวเมืองกระเหรี่ยงให้อังกฤษ
       เสียฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน ให้กับจักรวรรดิบริเทนใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในห้วงปี 2433 เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและทรัพยากร อันอุดมด้วยดินแดนผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง.

       การเสียดินแดนใน ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) สาเหตุที่อังกฤษเข้ายึดครอง "รัฐชายขอบล้านนา"บริเวณหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า และหัวเมืองกะเหรี่ยงตะวันออกเป็นดินแดนรวม 13 หัวเมือง (บริเวณที่เป็นดินแดนของประเทศเมียนม่าร์ในปัจจุบัน) อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เพราะความสำคัญทางเศรษฐกิจ ของดินแดนดังกล่าว ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้สัก นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุมาจากปัญหากรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และปัญหาโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองชายแดน ที่ทำให้รายได้ของอังกฤษจากการเก็บภาษีป่าไม้ที่เมืองมะละแหม่งลดลง อังกฤษถือว่าเป็นการเสียผลประโยชน์มาก และประการสุดท้ายเป็นเพราะเชียงใหม่ ไม่สามารถควบคุมดูแลหัวเมืองชายแดนฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำสาละวินได้ ส่วนรัฐบาลกลางเข้าไปดูแลและแก้ไขสถานการณ์ ไม่ทันท่วงที ขณะที่อังกฤษแทรกอำนาจลงไปรวดเร็วกว่า ด้วยสาเหตุข้างต้น เปิดโอกาสให้อังกฤษยึดครองดินแดนชายขอบล้านนา.

       ความต้องการเข้าครอบครองดินแดน 13 หัวเมือง เริ่มขึ้นหลังจากที่อังกฤษได้ครอบครองพม่าทั้งประเทศแล้วใน พ.ศ.2428 โดยอังกฤษได้ทำการปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ทางด้านตะวันออกของพม่าที่ก่อความวุ่นวายตามบริเวณชายแดน ครั้นอังกฤษ สามารถควบคุมได้ถึงหัวเมืองชายแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินแล้ว อังกฤษก็ได้เห็นความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของบริเวณดังกล่าวซึ่งเต็มไปด้วยป่าไม้สัก อังกฤษจึงอ้างสิทธิของตนเข้าครอบครอง โดยใช้วิธีอ้างว่าดินแดน 13 หัวเมืองนี้ พม่าเคยมีสิทธิครอบครองมาก่อน ส่วนสยามก็อ้างสิทธิว่าบริเวณชายขอบนั้นเป็นดินแดนของล้านนามาร้อยปีเศษแล้ว โดยยกข้อความในพงศาวดารที่กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ยกทัพปราบหัวเมืองต่าง ๆ ประกอบ และอ้างว่า ดินแดนฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำสาละวินเป็นของเชียงใหม่ ตามข้อตกลงระหว่างพระเจ้ากาวิละแห่งเมืองเชียงใหม่กับเจ้าเมืองยางแดง ที่ถือเอาแม่น้ำ สาละวินเป็นเขตแดน มีเขาควายที่ยึดถือไว้คนละซึกเป็นหลักฐานการแบ่งเขตแดน.

       อย่างไรก็ตาม ระยะแรกที่ทำสัญญาเชียงใหม่ ฉบับ พ.ศ.2416 และฉบับ พ.ศ.2426 นั้น อังกฤษก็ยอมรับว่าเขตแดนของไทย จดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน แต่ต่อมาอังกฤษต้องการยึดดินแดน 13 หัวเมือง อังกฤษกลับอ้างว่าไม่ยอมรับประเพณีการแบ่งเขตแดนที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรที่ไทยอ้าง และยังอ้างว่ารัฐบาลสยามไม่ได้มีอำนาจปกครองเมืองต่าง ๆ ตามชายแดน ซึ่งราษฎรเป็นชาติพม่าและเงี้ยวเลย. แท้จริงแล้วในพ.ศ.2427 เมื่อกรมหมื่นพิชิตปรีชากรเข้ามาปฏิรูป เชียงใหม่ได้เข้าไปอ้างสิทธิ์ และส่งกำลังไปรักษาตามเมืองชายแดนที่มีปัญหา แต่รัฐบาลสยามไม่ดำเนินการต่อเนื่อง ประกอบกับท่าทีอังกฤษ หลังจากยึดครองพม่าตอนเหนือ (พ.ศ.2428) แล้วได้ให้ความสนใจกับหัวเมืองเงี้ยวมาก ถึงกับทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอย่างชัดเจนใน พ.ศ.๒๔๓๑ ว่า
       "...คอนแวนต์ของสมเด็จพระนางเจ้าได้มีความประสงค์แล้วที่จะเอาหัวเมืองทั้งห้านี้ไว้ในความปกครองของอังกฤษ เหตุนั้นจึงมีคำสั่งแล้ว..."

       ภายใต้ความต้องการของอังกฤษ ในที่สุดรัฐบาลสยามก็เป็นฝ่ายยอมยุติยกหัวเมืองเงี้ยวและกะเหรี่ยงให้อังกฤษตามความใน ประกาศของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยดังนี้
       "...ด้วยมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า แนวพระราชอาณาเขตต่อกับเมืองพม่า ของอังกฤษซึ่งเป็นข้อโต้เถียง ยังไม่ตกลงกันมาแต่ก่อนนั้น บัดนี้ได้ปฤกษาปรองดองกันกับราชาธิปไตยฝ่ายอังกฤษ ยอมยกเมืองเชียงแขงแลหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเมืองเชียงแสนถวายไว้ในพระราชอาณาเขต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหัวเมืองเงี้ยวและกะเหรี่ยง ยางแดง คือที่เรียกว่า เมืองแจะ เมืองใหม่ เมืองทา เมืองจวด เมืองหาง เมืองต่วน เมืองสาด เมืองยวม เมืองตูม เมืองกวาน เมืองไฮ บ้านฮ่องลึก เมืองโก ให้เป็นของอังกฤษ ตกลงกันดังนี้... "

       การเสียดินแดนดังกล่าวให้อังกฤษนั้น เป็นเพียงดินแดนที่อำนาจรัฐล้านนามีอยู่อย่างเบาบางและไม่สม่ำเสมอ เพราะเป็นรัฐชายขอบที่มิใช่ดินแดนล้านนา ส่วนดินแดนล้านนาที่แท้จริงยังอยู่ในเขตสยามประเทศ01.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. oknation.nationtv.tv,  "การเสียดินแดนครั้งที่ 9", วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2564.
02.  ซึ่งโอกาสต่อไปในเบื้องหน้าจะตรวจทาน และแก้ไขให้ถูกต้องครับ.  

 
humanexcellence.thailand@gmail.com