MENU
TH EN

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 9 "พุทธาวตาร"

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 9
พุทธาวตาร04, 05
First revision: Dec.31, 2015
Last change: Apr.25, 2021

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 

ยถา  อคารํ  สุจฺฉนฺนํ
วุฏฺฐิ  น  สมติวิชฺฌติ
เอวํ  สุภาวิตํ  จิตฺตํ
ราโค  น  สมติวิชฺฌติ

เรีอนที่มุงเรียบร้อย
ฝนย่อมไหลย้อยเข้าไม่ได้
ใจที่อบรมเป็นอย่างดี
ราคะไม่มีวันเข้าครอบงำ


Even as rain gets not into a well-thatched house,
Even so lust penetrates not a well-developed mind.

ที่มา: เสฐียรพงษ์ วรรณปก, พุทธวจนะในธรรมบท, ธรรมสภา, หน้าที่ 16, พิมพ์ครั้งที่ 11, พ.ศ. 2552.
 

        พุทธาวตาร (BUDSHHA AVATARA) ปางนี้ เป็นปางที่มีปัญหา เป็นข้อพิพาทระหว่างชาวฮินดูและชาวพุทธมาอย่างยาวนาน ในคัมภีร์ของฮินดูกล่าวไว้ว่าทรงอวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อปราบ "พญาวัตสวัสตีมาร" และล่อลวงคนที่เข้ามาเชื่อถือ ละทิ้งพระเจ้าให้ตกนรก ซึ่งเนื้อความข้อนี้เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานระหว่างพุทธศาสนิกและฮินดูศาสนิก โดยชาวพุทธยืนยันว่าพระพุทธเจ้า "ไม่ใช่" ภาคอวตารของพระนารายณ์ เพราะศาสนาพุทธ "ไม่มี" และ "ไม่ยอมรับ" การอวตาร ทั้งยืนยันให้ชาวฮินดูแก้ไขภาคอวตารนี้ใหม่ แต่ชาวฮินดูกลับนิ่งเฉย ทั้งยังกล่าวว่าพุทธเป็นสาขาหนึ่งของฮินดู เป็นบทลงโทษต่อบาปของพระนารายณ์ จึงกลายเป็นปัญหาไม่มีสิ้นสุด.

        ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ได้ศึกษากรณีนี้ และลงความเห็นว่า แต่ก่อนปางที่ 9 ของพระนารายณ์คงไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่อาจเป็นปางอื่น ต่อมาภาคหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นพระสมณโคดม ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อแก่งแย่งความเคารพนับถือในดินแดนชมพูทวีป โดยการสร้างตำนานเทพ เพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เขียนตำนานเทพ สนับสนุนฐานะของสมเด็จพระจักรพรรดิ.

        เป็นความจริงที่ว่าในสมัยพุทธกาล มีชาวอินเดียหันมานับถือพระพุทธศาสนามากจนศาสนาพราหมณ์ถูกบดบังรัศมี แม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ยิ่งอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโมริยะ02 ซึ่งมีพระเจ้าอโศกมหาราช (King Ashoka) เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ยิ่งทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก แม้สิ้นยุคโมริยะเข้าสู่ยุคกนิษกะ ก็ยังไม่สามารถรื้อฟื้นอำนาจของศาสนาฮินดูกลับมาได้.

 

พระเจ้าอโศกมหาราช และเสาอโศก (Asokha Pillar) 03

        กระทั่งในยุค พ.ศ.1300 ได้มีพราหมณ์ชื่อว่า "ศังกราจารย์ (Sankaracharya หรือ Śaṁkara)"06 เป็นนักปราชญ์และนักศาสนาของฮินดูคนสำคัญ ได้ประกาศศาสนาฮินดูอย่างเอาจริงเอาจัง ไศวะนิกาย เกิดที่เกราลา (Kerala) ตอนใต้ของอินเดีย เป็นศิษย์ของโควินทะ ซึ่งเป็นศิษย์ของเคาฑปาทะ เคาฑปาทะเป็นคนแรกที่ได้ประยุกต์คำสอนของพุทธศาสนามหายาน มาใช้ปรัชญาฮินดูของศังกราจารย์ได้แนวคิดมาจากพุทธศาสนา มหายานนิกายมาธยมิกของท่านนาครชุน ผู้มีชีวิตในช่วง พ.ศ.693 - 793 เป็นผู้มีความรู้ในศาสนาทั้งหลายในอินเดีย ทั้งพุทธ พราหมณ์ และเชน เป็นอย่างดี.

อาทิศังกราจารย์ (Adi Shankara) และสานุศิษย์ ผลงานโดยราชา รวิ วรรมา (Raja Ravi Varma)
ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ค.ศ.1904) ที่มา: th.wikipedia.org/wiki/ศังกราจารย์ และ
en.wikipedia.org/wiki/Adi_Shankara, วันที่สืบค้น 06 พ.ค.2560.

        กล่าวกันว่า ศักราจารย์ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย และท้าโต้วาทีไปทั่วอินเดีย นอกจากลอกเลียนแบบทางด้านคำสอนและปรัชญาแล้ว ยังได้ตั้งคณะสงฆ์ฮินดูเลียนแบบพุทธศาสนา เพราะเดิมฮินดูไม่มีสถาบันสงฆ์ พร้อมตั้งวัดฮินดูนิกายไศวะทั้งสี่ทิศ คือ
  1. วัดศฤงคารีที่ภาคใต้
  2. วัดปุรีที่ภาคตะวันออก
  3. วัดทวารกะที่ภาคตะวันตก
  4. วัดพัทรีนาถที่ภาคเหนือ
        และหลาย ๆ วัดก็ยึดจากวัดพุทธ เช่น สวามีวิเวกานันทะผู้นำคนสำคัญของฮินดูกล่าวว่า "วัดที่ชคันนาถ เป็นวัดพุทธเก่า พวกเรายึดเอาวัดนี้และวัดอื่น แล้วทำให้เป็นวัดฮินดูเสีย เรายังจะต้องทำอย่างนี้อีกมาก" และที่สำคัญที่สุด ได้แต่ง "คัมภีร์ปุราณะ" ขึ้น โดยอ้างว่าพระพุทธองค์เป็นอวตารที่ 9 ของพระวิษณุ เพื่อหวังกลืนพุทธศาสนา ข้อความนี้เขียนไว้ในคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งแปลไว้เก่าแก่มีทั้งหมด 18 คัมภีร์ บางตอนเก่าแก่มีอายุราว พ.ศ.850 แต่ข้อความที่นำพระพุทธองค์ไปเป็นอวตาร มีอายุราว พ.ศ.1000 - 1300 ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า:

        "พวกอสูรมีประหลาทะเป็นหัวหน้า ได้ขโมยเครื่องบูชายัญของเทพยดาไป แต่เหล่าอสูรแกร่งกล้ามาก เทพยดาปราบไม่ได้ พระวิษณุเจ้าจึงเนรมิตบุรุษแห่งมายา (นักหลอกลวง) ขึ้นมาเพื่อชักพาเหล่าอสูรออกไปให้พ้นทางแห่งพระเวท บุรุษแห่งมายานั้น นุ่งห่มผ้าสีแดง และสอนเหล่าอสูรว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป ทำให้อสูรเป็นชาวพุทธและทำให้หมู่ชนอื่น ๆ ออกนอกศาสนา พากันละทิ้งพระเวท ติเตียนเทพยดาและพราหมณ์ทั้งหลาย สลัดทิ้งพระธรรมที่เป็นเกราะป้องกันตัว เทพยดาทั้งหลายจึงเข้าโจมตีและฆ่าอสูรเหล่านั้นได้".

 
        อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า: "เมื่อกลียุคเริ่มขึ้นแล้ว องค์พระวิษณุเจ้าจะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า โอรสราชาอัญชนะ (ความจริงคือ สุทโธทนะ) เพื่อชักพาเหล่าศัตรูของเทพยดาทั้งหลายให้หลงผิดไปเสีย มาสอนธรรมแก่เหล่าอสูร ทำให้พวกมันออกไปเสียจากศาสนา พระองค์จะสอนเหล่าชนผู้ไม่สมควรแก่ยัญพิธีให้หลงผิดออกไป ขอนอบน้อมแด่องค์พุทธ ผู้บริสุทธิ์ ผู้หลอกลวงเหล่าอสูร".

        นอกจากคัมภีร์ปุราณะแล้ว ก็ยังปรากฎในคัมภีร์มหาภารตะว่า "เมื่อกลียุค องค์พระวิษณุเจ้าจะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นโอรสราชาสุทโธทนะ เป็นสมณะโล้น ออกสั่งสอนด้วยภาษามคธ ชักพาเหล่าประชาชนให้หลงผิด ประชาชนเหล่านี้ก็กลายเป็นสมณะโล้นด้วย และนุ่งห่มผ้าพราหมณ์ ก็เลิกพิธีเซ่นสรวง และหยุดสาธยายพระเวท ลำดับนั้นเมื่อสิ้นกลียุค พราหมณ์นามว่า "กัลกี" เป็นบุตรแห่งวิษณะษยะจะถือกำเนิด และกำจัดเหล่าอนารยชนคนนอกศาสนาเหล่านั้นเสีย".

        นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เขียนถึงสถานะของพระพุทธองค์และชาวพุทธในคัมภีร์ฮินดู โดยถือว่าชาวพุทธเป็นอสูร การเกิดของพุทธศาสนาเป็นกลียุค ทำให้คนออกนอกศาสนา จึงต้องส่งคนมาปราบปราม จากบันทึกฉบับนี้ ทำให้เราทราบว่าพุทธศาสนาเจริญมาก จนผู้คนหนีออกจากศาสนาฮินดูเกือบหมด ดร.อาร์ซี มะชุมดาร์ (Dr.R.C. Mjumdar) นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของอินเดีย ได้วิเคราะห์เรื่องฮินดูอุปโลกน์พระพุทธเจ้าเป็นอวตารปางหนึ่งของฮินดูไว้อย่างน่าฟังว่า:

        "การที่ศาสนาฮินดูอุปโลกน์พระพุทธเจ้า ให้เป็นอวตารปางหนึ่งนับว่าเป็น กุศโลบายอย่างหนึ่งที่ชาญฉลาดล้ำลึก เพราะเท่ากับเป็นการทำลายฐานยืนของพระพุทธศาสนาในอินเดีย และในที่สุดก็นำไปสู่การเสื่อมสลายของพุทธศาสนาไปจากแผ่นดินถิ่นกำเนิด".

 
Dr. Ramesh Chandra Majumdar (Dec.4, 1888 - Feb.12, 1980)
Historian and Professor of Indian History

 
        นอกจากนี้ เหตุแห่งความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปก็เนื่องมาจาก มีการแตกเป็นนิกายต่าง ๆ มากมาย คนเริ่มหมดศรัทธา เพราะพระพุทธศาสนาสอนในสิ่งที่เป็น "ปรัชญา" ยากต่อการทำความเข้าใจ ทั้งยัง "ไม่ตอบโจทย์" ของการมีชีวิตอยู่ของชาวอินเดียที่เรียกได้ว่ายากจนข้นแค้น ปากกัดตีนถีบ ศาสนาฮินดูที่เน้นปาฏิหารย์และพิธีกรรม จึงกลับมามีบทบาท ยิ่งเมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในทางเป็นอวตารของพระนารายณ์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้คนกลับมานับถือศาสนาฮินดูมากยิ่งขึ้น.

 
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  จาก. web.facebook.com/AsianStudiesTH/photos/pp..., วันที่สืบค้น 31 ธันวาคม 2558.
02.  โมริยะ หรือ เมารยะ (Maurya) แปลว่า "นกยูง".
03.  เสาอโศก หรือ เสาแห่งพระเจ้าอโศก (Pillars of Ashoka) เป็นเสาสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาในผืนแผ่นดินแห่งชมพูทวีป เมื่อครั้งอดีตกาล สร้างขึ้นโดยพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศก โดยจะสร้างเสาศิลาปักตั้งไว้ ณ ตำแหน่งของสถานที่ที่เป็นสังเวชนียสถาน และสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สันนิษฐานว่า การสร้างเสาอโศกไม่เพียงแต่เป็นการระบุถึง ที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนการประกาศถึงพระพุทธศาสนาที่ได้ขยายขอบเขตแว่นแคว้นไปทั่วทุกหนแห่งในรัชสมัยของพระองค์ เป็นเครื่องหมายแทนพุทธบูชา และเตือนขุนนางทั้งปวงให้ปกครองราษฎรโดยธรรม. (ที่มา: http://forums.apinya.com/อภิญญา/ตามรอยบุญพระ/25-อภิญญา-ตามรอยพระเจ้าอโศกมหาราช-2.html, วันที่สืบค้น 01 มกราคม 2559).
04.  จาก. http://www.indiaindream.com/พุทธศาสนาในอินเดีย/พุทธาวตาร.htm, วันที่สืบค้น 01 มกราคม 2559.
05.  จาก. http://icenattapachara.blogspot.fr/2011/10/blog-post_8698.html, วันที่สืบค้น 01 มกราคม 2559.
06.  ความเห็นของผม เท่าที่ได้ศึกษางานเขียนของ ฯพณฯ สรวปัลลี ราธากฤษณัน เรื่อง ภควัทตีตา และปรัชญาอินเดีย มาบ้างนั้น อาทิ ศังกราจารย์ เป็นผู้ปราดเปรื่องเป็นที่ยกย่องในหมู่ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีปรัชญาแนวคิดที่สำคัญ ซึ่งผมกำลังศึกษาอยู่ หากมีประเด็นที่เป็นประโยชน์และสำคัญก็จะเขียนแจ้งให้ทราบต่อไป ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน พึงเปิดอายตนะทั้งหกให้กว้าง พิจารณาแนวคิดจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้จักเกิดความรู้แจ้งภายในจิตใจ หากไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจกับหลักปรัชญาของศังกราจารย์โดยตลอดแล้ว ก็ไม่พึงกล่าวหรือคิดในเชิงลบต่อท่าน จึงเรียนมาด้วยความเคารพ ทั้งนี้ผมจะ Update ข้อมูลใน ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.001 - บทนำ, และบทต่อ ๆ มา ต่อไปครับ.


 
humanexcellence.thailand@gmail.com