MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 8: สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 8: สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

ในปีพระองค์สวรรคต (พ.ศ.2072) นั้นเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์โคจรมาใกล้โลก โดยมีปรากฎในราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า

"...ศักราช 891 ฉลูศก (พุทธศักราช 2072) เห็นอากาศนิมิตเป็นอินทรธนูแต่ทิศหรดี ผ่านอากาศมาทิศพายัพ มีพรรณขาว วันอาทิตย์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน..."
11. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 201
First revision: Jun.05, 2016
Last Change: Dec.22, 2019

        สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระนามเดิม "พระเชษฐา" เป็นโอรสในพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสมภพที่เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2015 ที่เมืองพิษณุโลก ครองราชย์ยาวนานถึง 38 ปี นับเป็นลำดับที่สองรองจากพระบรมไตรโลกนาถ พระบิดา.
 
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
พระบรมนามาภิไธย พระเชษฐา
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
ราชวงศ์ สุพรรณภูมิ
ครองราชย์ พ.ศ.2034-2072
รัชกาล 38 ปี
รัชกาลก่อน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
สมภพ พ.ศ.2015
สวรรคต พ.ศ.2072
พระบิดา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
 
  • พระประวัติ
            พระรามาธิบดีที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระเชษฐา ทรงสมภพเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2015 ที่เมืองพิษณุโลก ทรงเป็นโอรสในพระบรมไตรโลกนาถ มีพระเชษฐาได้แก่ พระอินทราชาและพระบรมราชา (ต่อมาคือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3)

            เมื่อปี พ.ศ.2027 ทรงผนวชพร้อมด้วยโอรสในพระบรมราชาธิราชที่ 3 เมื่อได้ลาผนวชแล้ว พระบรมไตรโลกนาถได้สถาปนาพระองค์ไว้ที่พระมหาอุปราช ขณะมีพระชันษาได้ 13 ปี แต่มิได้ระบุว่าเป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลกหรือกรุงศรีอยุธยา.

            พระบรมไตรโลกนาถสวรรคตในปี พ.ศ.2031 ขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้ 16 พรรษา พระบรมราชาธิราชที่ 3 ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ ได้ย้ายราชธานีมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง หลังจากที่พระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายราชธานีไปยังเมืองพิษณุโลก ส่วนพระองค์ยังคงประทับที่เมืองพิษณุโลก พระองค์ประทับที่พิษณุโลกในตำแหน่งพระมหาอุปราช จนกระทั่งพระบรมราชาธิราชที่ 3 สวรรคตในปี พ.ศ.2034 พระองค์ (สมเด็จพระเชษฐา) จึงเสด็จจากเมืองพิษณุโลกมาครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระชนม์ได้ 19 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2.

            พระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคตเมื่อ พ.ศ.2072 ขณะมีพระชนม์ได้ 57 พรรษา ครองราชย์รวม 38 ปี ในปีที่พระองค์สวรรคตนั้นเป็นปีที่ ดาวหางฮัลเลย์ (Halley's comet)02 โคจรมาใกล้โลก โดยมีปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า


 

ดาวหางฮัลเลย์ (Halley's comet) ที่ ศ.ดร.ระวี ภาวิไล บันทึกภาพไว้ได้ที่แคมป์สน เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

            "...ศักราช 891 ฉลูศก (พุทธศักราช 2072) เห็นอากาศนิมิตเป็นอินทรธนูแต่ทิศหรดี ผ่านอากาศมาทิศพายัพ มีพรรณขาว วันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน..."

            ในรัชสมัยของพระรามาธิบดีที่ 2 มีเหตุการณ์สำคัญ คือ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า มีผู้ทอดบัตรสนเท่ห์ จึงโปรดให้มีการประหารชีวิตขุนนางเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีชำระตำราพิชัยสงครามเป็นครั้งแรก และยังนับเป็นช่วงแรกที่มีชาวตะวันตก อันได้แก่ ทหารรับจ้าง เช่น โปรตุเกส เข้ามามีบทบาทในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา.

 
  • พระโอรส
            กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สัณนิษฐานว่าพระรามาธิบดีที่ 2 มีพระโอรสสามพระองค์ ประกอบด้วย
  1. พระอาทิตย์วงศ์ ประสูติกับพระอัครมเหสี ต่อมาขึ้นครองราชย์ พระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร
  2. พระไชยราชา ประสูติกับพระสนม ต่อมาขึ้นครองราชย์ พระนามว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช
  3. พระเฑียรราชา เป็นอนุชาต่างพระสนมกับพระไชยราชา ต่อมาขึ้นครองราชย์ พระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
  • พระกรณียกิจ
            การพระศาสนา
                  * พ.ศ.2035 พระรามาธิบดีที่ 2 โปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของพระบรมราชาธิราชที่ 3 ในวัดพระศรีสรรเพชญ์03 ในเขตพระราชวัง และโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของพระบรมไตรโลกนาถในวัดเดียวกัน.
                  * พ.ศ.2042 พระรามาธิบดีที่ 2 โปรดฯ ให้สร้างพระวิหารในวัดพระศรีสรรเพชญ์
                  * พ.ศ.2043 พระรามาธิบดีที่ 2 โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ เริ่มหล่อในวันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6
                  * พ.ศ.2046 ทรงให้มีงานฉลองสมโภชพระศรีสรรเพชญ์ วันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8

            การเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุเกส
               ใน พ.ศ.2054 ทูตนำสารของ อะฟองซู ดือ อะบูแกร์ แม่ทัพใหญ่ของโปรตุเกสได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า พระองค์ทรงรับไมตรีจากโปรตุเกส ได้ทำสัญญาทางการค้ากัน เมื่อ พ.ศ.2059 ซึ่งนับเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ โปรตุเกสถือว่าเป็นชาติแรกในทวีปยุโรปที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา.
 
วาสโก ดา กามา บ้างก็เรียก วัชกู ดา กามา (Vasco da Gama) ชาวโปรตุเกส
ผู้เปิดเส้นทางเดินเรือจากยุโรปมาอินเดีย (เมื่อ พ.ศ.2041 หรือ ค.ศ.1498) 

               ผลจากการเข้ามาสร้างไมตรีของชาวโปรตุเกส ได้มีการนำเอาอาวุธแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาถวาย ไก้แก่ ปืนประเภทต่าง ๆ และกระสุนดินดำ ต่อมาชาวโปรตุเกส ได้เข้ามาเป็นทหารอาสาฝรั่ง ได้ช่วยฝึกอาวุธแบบตะวันตกให้กับกรุงศรีอยุธยา.
  • การสงคราม
            สงครามกับมะละกา04
               เมื่อ พ.ศ.2043 พระรามาธิบดีที่ 2 ได้ส่งกองทัพทั้งทางบกและทางเรือไปทำสงครามกับมะละกาถึงสองครั้ง โดยเข้าโจมตีชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก แม้ไม่ประสบผลสำเร็จแต่ก็ทำให้มะละกาได้ตระหนักถึงอำนาจของกรุงศรีอยุธยา ที่มีอิทธิพลเหนือหัวเมืองในคาบสมุทรภาคใต้ โดยมีเมืองนครศรีธรรมราช05 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ใช้เป็นฐานในการควบคุม

            สงครามกับล้านนา   
               ** พ.ศ. 2056 พระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ แห่งอาณาจักรล้านนา06 ยกทัพมาตีกรุงสุโขทัย พระรามาธิบดีที่ 2 ได้ออกทัพขึ้นไปป้องกันทางเหนือ จนกองทัพเชียงใหม่แตกกลับไป.
               ** พ.ศ. 2058 พระรามาธิบดีที่ 2 ได้ยกกองทัพไปตีล้านนาอีกหน คราวนี้สามารถตีเมืองลำปางได้.  

             สถาปนาพระมหาอุปราช
                 พ.ศ. 2069 พระรามาธิบดีที่ 2 ได้สถาปนาพระอาทิตย์วงศ์ พระโอรสเป็นพระบรมราชาตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธางกูร หรือสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า รัชทายาท โปรดฯ ปกครองหัวเมืองเหนือประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ทำให้อาณาจักรล้านนาไม่มารบกวนเมืองเหนืออีกเลย ตลอดรัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2.

             จัดระเบียบกองทัพ
                 พระรามาธิบดีที่ 2 ได้มีการจัดระเบียบกองทัพ และแต่งตำราพิชัยสงคราม โปรดฯ ให้จัดทำบัญชีกำลังพล เมื่อ พ.ศ. 2061 เพื่อเกณฑ์พลเมืองเข้ารับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยกำหนดให้ไพร่ที่เป็นชาย อายุตั้งแต่ 18-60 ปี ต้องเข้ารับราชการทหาร ยกเว้นผู้ที่มีบุตรชายแล้วเข้ารับราชการ ตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้เป็นบิดาจึงพ้นหน้าที่รับราชการทหาร

                 ชายที่มีอายุ 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนทหารเพื่อเข้ารับการฝึกหัดทหาร เรียกว่า ไพร่สม07เมื่ออายุ 20 ปี จึงเรียกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการเรียกว่า ไพร่หลวง08 ส่วนพวกที่ไม่สามารถมารับราชการทหารได้ ก็ต้องมีของมาให้ราชการเป็นการชดเชยเรียกว่า ไพร่ส่วย09.
 
                 ได้มีการตั้งกรมพระสุรัสวดี ให้เป็นหน่วยรับผิดชอบ โดยมีการออกพระราชสุภาวดี เป็นเจ้ากรมรับผิดชอบในมณฑลราชธานี พระสุรัสวดีขวา รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือ และพระสุรัสวดีซ้าย รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายใต้
  • เหตุการณ์สำคัญ
            * พ.ศ. 2039 ทรงประพฤติการเบญจาพิธ และทรงให้มีเล่นการดึกดำบรรพ์
            * พ.ศ. 2040 ทรงให้ทำการปฐมกรรม
            * พ.ศ. 2067 งาช้างต้นเจ้าพระยาปราบแตกข้างขวายาวไป ในเดือนเดียวกันมีผู้ทอดบัตรสนเท่ห์ พระรามาธิบดีที่ 2 ทรงให้ประหารขุนนางจำนวนมาก
            * พ.ศ. 2068 น้ำน้อย ข้าวมีการเน่าเสีย แผ่นดินไหวทุกเมือง และเกิดเหตุอุบาทว์หลายอย่าง
            * พ.ศ. 2069 ข้าวสารแพงเป็น 3 ทะนานต่อเฟื้องเบี้ยแปดร้อย เกวียนหนึ่งเป็นเงินชั่งหกตำลึง
  • การกล่าวถึงพระองค์ในวรรณคดีไทย
             พระรามาธิบดีที่ 2 เป็นที่เชื่อกันว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกับที่ปรากฎพระนามว่า สมเด็จพระพันวษา ในวรรณคดีพื้นบ้านเรื่องขุนช้างขุนแผน เนื่องจากในพงศาวดาร อาทิ คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุถึงรัชสมัยของพระองค์ มีตอนที่กล่าวถึงทหารคนสำคัญคนหนึ่งที่ชื่อ ขุนแผน ด้วย.


ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย:
01. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระรามาธิบดีที่_2, วันที่สืบค้น 5 มิถุนายน 2559.
02. เอดมันด์ แฮลลีย์ (Edmond Halley) เป็นคนแรกที่พบว่าดาวหางฮัลเลย์โคจรกลับมาให้เห็นบนท้องฟ้าทุก ๆ 75-76 ปี หลังจากที่เขาคำนวณวงโคจรของดาวหาง 24 ดวงที่มาปรากฎระหว่างปี ค.ศ.1337-1698 และพบว่าในจำนวนนี้มีดาวหางกลุ่มหนึ่งมีวงโคจรใกล้เคียงกันมาก และพยากรณ์ว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาในปี ค.ศ.1758 แต่หลังจากนั้น แฮลลีย์ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1742 ก่อนที่ดาวหางดวงนี้จะกลับมาตามที่เขาคาดการณ์ไว้ ซึ่งนับเป็นดาวหางดวงแรกที่เราพบว่าดาวหางก็โคจรรอบดวงอาทิตย์อย่างเป็นคาบเช่นเดียวกับดาวเคราะห์.

     เมื่อนักดาราศาสตร์ทราบวงโคจรที่แม่นยำขึ้นและตรวจสอบจากบันทึกเก่า ๆ ในอดีตจึงพบว่าชาวจีนได้บันทึกการปรากฎของดาวหางฮัลเลย์ไว้เมื่อปี 240 ก่อนคริสต์ศักราช นับว่าชาวโลกได้ยลโฉม (ตามที่มีหลักฐานปรากฎ) มานานกว่าสองสหัสวรรษแล้ว และในปี ค.ศ.837 ก็ได้ชื่อว่าเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์ผ่านใกล้โลกมากที่สุดด้วยระยะห่างเพียง 5.1 ล้านกิโลเมตร (ประมาณ 13 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์) ในปีนั้นดาวหางฮัลเลย์สว่างไสวและมีหางทอดยาวออกไปถึง 60 องศา (???) ซึ่งพบบันทึกเรื่องราวการมองเห็นดาวหางฮัลเลย์ทั้งในบันทึกของชาวจีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และอาหรับ.

      แม้วงโคจรของดาวหางฮัลเลย์ไม่ได้ตัดกับวงโคจรของโลกโดยตรง (ปัจจุบันอยู่ห่างประมาณ 0.15 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 22 ล้านกิโลเมตร) แต่การที่เราสามารถมองเห็นดาวตก ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีต้นกำเนิดจากดาวหางฮัลเลย์ได้ แสดงว่าธารสะเก็ดดาวหางที่เกิดจากดาวหางดวงนี้ ได้ถูกแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวเคราะห์ จนทำให้มีเส้นทางตัดผ่านวงโคจรของโลก นอกจากฝนดาวตกนายพรานแล้ว ธารสะเก็ดดาวของดาวหางฮัลเลย์ยังมีวงโคจรผ่านใกล้โลก ทำให้เกิดฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำในเดือนพฤษภาคมของทุกปีด้วย. (ที่มา. guru.sanook.com/7393/, วันที่สืบค้น 05 มิถุนายน 2559.)
03. วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือวัดพระศรีสรรเพชญ เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ อยุธยา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร. เดิมในสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาพระบรมไตรโลกนาถ ได้สร้างพระมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ "สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง".
     ต่อมาในปี พ.ศ.2035 รัชสมัยของพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์องค์ตะวันออก เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระบิดา พระบรมไตรโลกนาถ และพระสถูปเจดีย์องค์กลาง เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระบรมราชาธิราชที่ 3 ผู้เป็นพระเชษฐา.

     หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2043 พระรามาธิบดีที่ 2 โปรดฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้น

     ในปีต่อมา พ.ศ.2043 พระรามาธิบดีที่ 2 ได้สร้างพระวิหาร ทรงหล่อพระพุทธรูป ยืนสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ต่อมารัชกาลที่ 1 (กรุงรัตนโกสินทร์) โปรดฯ ให้ย้ายมาประดิษฐานไว้ในวิหารวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ และบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้น แล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ เจดีย์องค์ที่ 3 ถัดมาจากด้านทิศตะวันตกเป็น เจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระโอรสได้โปรดฯ สร้างขึ้น เจดีย์ทั้งสามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา.

    ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมพระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งจอมทอง ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กำแพงทางด้านติดกับวิหารพระมงคลบพิตร เพื่อให้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์บอกเล่าหนังสือพระสงฆ์.

    ราวรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวงแห่งนี้เป็นครั้งแรก ในสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าได้ดำเนินการขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์ พบพระพุทธรูป เครื่องทองมากมาย และในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะวัดพระศรีสรรเพชญ์ จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน. (ปรับปรุงและที่มาจาก. th.wikipedia.org/wiki/วัดพระศรีสรรเพชญ์, วันที่สืบค้น 9 มิ.ย.59)
04.  มะละกา (Melaka) (พหุลักษณ์ทางสังคมแห่งเมืองท่า) เป็นรัฐทางตอนใต้ของประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ตรงข้ามกับเกาะสุมาตรา ในทะเลอันดามัน ที่เรียกว่า "ช่องแคบมะละกา" รัฐมะละกาเป็นหนึ่งในสองรัฐของมาเลเซียที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นประมุข แต่มีผู้ว่าราชการแทน
       ในอดีต มะละกาเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกบนช่องแคบมะละกามากว่า 500 ปี มีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมโปรตุเกส ดัตช์ และมาเลย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นนครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกาจากองค์การยูเนสโก
       มะละกาเป็นเมืองท่าเก่าแก่และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรมลายู ก่อนหน้านี้มีเมืองท่าที่สำคัญบนเกาะสุมาตรา เช่น อูรู เปเดร์ และปาไซ พ่อค้ามุสลิมจากแอฟริกา อาหรับ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น จึงรู้จักกันดี เพราะเป็นเส้นทางผ่านไปสู่เอเซียตะวันออกโดยเฉพาะเมืองจีน.

 

        ประวัติศาสตร์ข้อมูลด้านหนึ่งกล่าวว่า: ราว พ.ศ.1800 เจ้าชายปรเมศวรหรือปารามาสวารา (PARAMASWARA) ได้ทรงนำผู้คนอพยพจากเมืองปาเล็มบัง เหตุเนื่องด้วยการรุกรานจากอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งก่อนที่จะมาถึงมะละกานั้น เจ้าชายปรเมศวรได้เข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองตูมาซิก (TUMASIK) หรือ เตมาเซก หรือ เทมาเสก หรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากในขณะนั้นเทมาเสก ตกอยู่ใต้อำนาจของสยาม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับสยาม และเจ้าชายองค์นี้จึงต้องออกเดินทางออกมาจนมาถึงที่มะละกา ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นี่ ข้อมูลอีกด้านหนึ่งกล่าวว่า: กษัตริย์ปรเมศวร หรือราชาอีสกันดาร์ ที่กล่าวกันว่าสืบเชื้อสายมาจาก "อเล็กซานเดอร์มหาราช" (Alexander the Great) ผู้ครอบครองนครเทมาเสกหรือเกาะสิงคโปร์คนสุดท้ายในปี พ.ศ.1939 ปรเมศวรเป็นผู้นับถือฮินดูจากเกาะชวา

        ตำนานกล่าวว่า "ปรเมศวร" ประพาสล่าสัตว์ในแถบนี้ เมื่อพักเหนื่อยอยู่ใต้ต้นมะละกา (???) ใกล้กับแม่น้ำมะละกาปัจจุบัน กวางวิ่งออกมาทำให้หมาไล่เนื้อตกใจจนตกลงไปในแม่น้ำ จึงเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ดี เมื่อความอ่อนแอสามารถเอาชนะความเข้มแข็งได้ จึงตั้งเมืองในบริเวณนี้ ส่วนอีกทางหนึ่งกล่าวว่า "มะละกา" มาจากคำในภาษาอาหรับ "Malakat" ที่แปลว่า ตลาด (ประชาชนพร้อมผู้นำใน) มะละกาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามอย่างเป็นทางการเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19 และกลายเป็นศูนย์กลางเมืองท่าริมชายฝั่งในช่องแคบของคนทุกเชื้อชาติศาสนา

        หลังจากการเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ได้รับการปกป้องจากการโจมตีของอยุธยา มะละกาจึงเป็นรัฐในอารักขาของราชวงศ์หมิง สุลต่านแห่งสมุทร-ปาไซเป็นผู้ก่อตั้งรัฐอิสลาม มีการกล่าวว่าได้มีการแต่งงานระหว่างผู้ปกครองมะละกากับเจ้าหญิงจากราชวงศ์หมิงด้วย. ต่อมาโปรตุเกส ดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ต่างแย่งชิงเมืองท่าแห่งนี้ เพื่อแข่งกับทำการค้าเป็นลำดับ.

        มะละกาได้ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส เมื่อ พ.ศ.2054 ต่อมาพวกดัตช์แย่งชิงตีมาได้เมื่อ พ.ศ.2194 หลังจากนั้นมากกว่าศตวรรษ เมื่อเกิดสงครามนโปเลียนในปี พ.ศ.2338 ดัตช์ได้มอบมะละกาให้อังกฤษ เพื่อเป็นกันชนแก่ฝรั่งเศส ก่อนจะถูกส่งกลับคืนและนำมาแลกกับ "บังกาลูรู (Bangaluru)" ในเกาะสุมาตรา (???) หรือ "บังกาลอร์ (Bangalore)" ทางตอนใต้ของอินเดีย. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2469 เป็นต้นมา บริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษปกครองฝั่งตะวันตกของมาลายา ตั้งแต่เกาะสิงคโปร์ไปจนถึงปีนัง โดยอยู่ภายใต้การบริหารงานอาณานิคมที่กัลกัตตา ศูนย์กลางอาณานิคมใหญ่ของอังกฤษที่อินเดีย.

        ดัตช์ปกครองมะละกา มากว่าร้อยห้าสิบปี ก่อสร้างอาคารไว้มาก ปัจจุบันยังหลงเหลืออยู่ใกล้เขามะละกาหรือเขาเซนต์ปอล ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาคารจากยุคอาณานิคมจนกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน

        อาหารอร่อยของมะละกา คือ อาหารจีนแบบลูกครึ่งที่รวมเอาอาหารแบบจีนและมาเลย์ที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศรสจัดและความจัดเจนในการปรุงอาหารแบบคนจีน มะละกาจึงเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมแบบเปอระนะกัน (Peranakan Culture) (Perranakan หมายถึง คนจีนโพ้นทะเลที่เกิดนอกแผ่นดินแม่ (Mainland China)) เนื่องจากคนจีนยุคแรก ๆ มาเมืองมะละกาเพื่อเป็นคนงานในเหมืองและแต่งงานกับสตรีชาวมลายู ได้ปรับรับเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ ผลคือ เป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างมลายูและจีน ฝ่ายชายเรียกว่า บาบ๊า หรือ บ้าบ๋า (Baba) ฝ่ายหญิงเรียกว่า นันย๊า หรือ ย่าหยา (Nonya) (ซึ่งเป็นภาษาที่มาจากปากีสถาน) อาหารจะเรียกว่า อาหารแบบเนียงยา.
         (ที่มาและปรับปรุง: จาก lek-prapai.org/home/view.php?if=341 และ th.wikipedia.org/wiki/รัฐมะละกา, วันที่สืบค้น 20 มิ.ย.2559)
05.  นครศรีธรรมราช รายละเอียดดูใน "ราชวงศ์ตามพรลิงค์
06.  อาณาจักรล้านนา รายละเอียดดูใน "อาณาจักรล้านนา
07.  ไพร่สม ในสังคมไทยสมัยโบราณ ไพร่ หมายถึง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในฐานะทาส หรือเจ้าขุนมูลนาย มีอิสระในการประกอบอาชีพ การตั้งบ้านเรือน มีครอบครัว มีศักดินา 10-25 ไร่ และต้องสังกัดมูลนาย จะโยกย้ายสังกัดไม่ได้ ไพร่ที่ขึ้นสังกัดหรือสักเลกแล้ว จะปรากฎเครื่องหมายสังกัดที่ข้อมือ หากสามัญชนผู้ใดไม่ได้สังกัดมูลนายจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ไพร่มีหน้าที่ในการถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสีย "ส่วย" และถูกเกณฑ์ทหารในยามที่มีศึกสงคราม มีสองประเภทคือ ไพร่หลวง และ ไพร่สม
       ไพร่สม เป็นไพร่ที่กษัตริย์พระราชทานให้มูลนายและขุนนางที่มีตำแหน่งทางราชการ เพื่อประโยชน์ตอบแทน มูลนายจะมีไพร่มากน้อยขึ้นอยู่กับ ยศ ตำแหน่ง ศักดินา ไพร่สมต้องทำงานให้ราชสำนักปีละ 1 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือรับใช้มูลนายหรือส่งเงินแทน เมื่อถึงยามสงครามทุกคนต้องเป็นทหารป้องกันอาณาจักร เมื่อมูลนายถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรจะ(มูลนาย)ขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา.
08.  ไพร่หลวง คือไพร่ที่สังกัดกรมกองต่าง ๆ เป็นไพร่ของกษัตริย์โดยตรง ประเภทที่ต้องถูกเกณฑ์มาทำงานตามราชการกำหนด
09.  ไพร่ส่วย คือ ไพร่ที่ต้องเสียเงินหรือสิ่งของมาแทนการเกณฑ์แรงงาน เงินที่ส่งมาเรียกว่า "เงินค่าราชการ"
info@huexonline.com