MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 5: เจ้านครอินทร์ และเจ้าสามพระยา

ภาพประกอบด้านข้างซ้าย เป็น "พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ" เป็นปรางค์ประธานของวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก นอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2173-2198) กษัตริย์กรุงศรีฯ องค์ที่ 24 โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2173 วัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่ง ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มีนักวิชาการส่วนหนึ่งได้สันนิษฐานว่า วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ.
ที่มา. จาก.travel.kapook.com/view75900.html, วันที่สืบค้น 03 ตุลาคม 2558.
 
First revision: Oct.03, 2015
Last change: Nov.06, 2021

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

 
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 5: เจ้านครอินทร์ และเจ้าสามพระยา 

7. สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์)1, 2
  พระอิสริยยศ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
  ราชวงศ์ สุพรรณภูมิ
  ครองราชย์ พ.ศ.1952 - 1967
  รวมระยะเวลาครองราชย์ 15 ปี
  รัชกาลก่อน สมเด็จพระพระรามราชาธิราช
  รัชกาลถัดไป สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
  พระราชสมภพ พ.ศ.1902
  สวรรคต พ.ศ.1967
  พระราชบิดา NA.-เป็นอนุชาของขุนหลวงพะงั่ว
  พระราชมารดา NA.-เป็นเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย
  ราชบุตร-ธิดา 1) เจ้าอ้ายพระยา
2) เจ้ายี่พระยา
3) เจ้าสามพระยา (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่่ 2)
 
        สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีนครินทราธิราช หรือ สมเด็จพระนครินทราธิราช สมภพเมื่อ พ.ศ.1902 พระองค์เป็นหลาน (พระราชนัดดา) ของขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1) และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.1952. คนทั่วไปรู้จักเจ้านครอินทร์ในนาม "พระร่วงผู้ไปเมืองจีน"04
  • พระราชประวัติ
        สมเด็จพระอินทราชา หรือ เจ้านครอินทร์ เป็นพระราชโอรสในเจ้าเมืองสุพรรณบุรี และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระองค์ได้ครองราชย์กินเมือง ณ เมืองสุพรรณบุรี มีหลักฐานตามตำนานและจารึกกล่าวว่า ก่อนจะได้ครองเมืองสุพรรณบุรี เคยเสด็จไปครองเมืองเหนือ คือเมืองกำแพงเพชร นอกจากนั้น เจ้านครอินทร์ยังได้ร่วมตรากฎหมายสลักไว้บนแผ่นศิลา แล้วปักไว้ที่เมืองสุโขทัย.

        จนกระทั่ง สมเด็จพระรามราชาธิราช เกิดข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี เป็นเหตุให้เจ้าพระยามหาเสนาบดีหนีมาขึ้นกับพระองค์และยกกำลังเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แล้วจึงทูลเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีฯ ส่วนสมเด็จพระรามราชาธิราชนั้น เจ้านครอินทร์ได้ให้ไปครองเมืองปทาคูจามแทน.

         สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) ครองราชย์ได้ 15 ปี และเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.1967 ในครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา พระราชโอรสของพระองค์ต่างยกพลเข้ามายังกรุงศรีฯ เพื่อหมายในราชสมบัติ จึงเกิดการชนช้างกันขึ้น ณ สะพานป่าถ่าน จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เป็นเหตุให้เจ้าสามพระยาพระราชโอรสองค์ที่ 3 ได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2.
  • พระราชกรณียกิจ
       ด้านการปกครอง
          เมื่อปี พ.ศ.1962 พระมหาธรรมราชาธิราช (ที่ 3) เสด็จสวรรคต เมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจลอันเนื่องมาจากพระยาบาลเมืองและพระยาราม พระราชโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ 3 แย่งชิงราชสมบัติแห่งกรุงสุโขทัยกัน เป็นเหตุให้พระองค์ต้องเสด็จขึ้นไปถึงเมืองพระบาง แล้วทรงไกล่เกลี่ยให้พระยาบาลเมือง เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ครองเมืองพิษณุโลกอันเป็นเมืองหลวงและให้พระยารามเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองเอก.

          นอกจากนี้ เจ้านครอินทร์ได้โปรดฯ ให้โอรสไปครองเมืองอันเป็นเมืองลูกหลวง ได้แก่
  • เจ้าอ้ายพระยา ครองเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง
  • เจ้ายี่พระยา ครองเมืองแพรกศรีราชา (เมืองสรรค์) (บริเวณอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) (คำว่าแพรก หมายถึงทางแยกของลำน้ำ)
  • เจ้าสามพระยา ครองเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือ (นักวิชการบางท่านเสนอแนะว่าควรเขียนว่า ชัยนาถ ซึ่งหมายถึงเมืองพิษณุโลก)
      ด้านการต่างประเทศ
          เจ้านครอินทร์เคยเสด็จไปเมืองจีนในปี พ.ศ.1920 เมื่อครั้งยังครองเมืองสุพรรณบุรี พระเจ้ากรุงจีนให้ความสนิทสนม อีกทั้งยังยกย่องว่าเป็นกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง โดยจดหมายเหตุทางจีนออกพระนามพระองค์ว่า "เจียวลกควนอิน" ซึ่งมาจากพระนาม เจ้านครอินทร์.

         เมื่อสมเด็จพระรามราชาธิราช เกิดข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี เป็นเหตุให้เจ้าพระยามหาเสนาบดีหนีมาขึ้นกับพระองค์และยกกำลังเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แล้วจึงทูลเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้น พระองค์และพระเจ้ากรุงจีนได้แต่งราชทูต เพื่อเจริญทางราชไมตรีระหว่างกันอีกหลายครั้ง โดยจดหมายเหตุจีนออกพระนามพระองค์ หลังขึ้นครองราชย์แล้วว่า "เจียวลกควนอินตอล่อทีล่า" ซึ่งมาจากพระนาม เจ้านครอินทราธิราช.

 
  • การกลับมาของราชวงศ์สุพรรณภูมิ
          ด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างฝ่ายสุพรรณภูมิกับฝ่ายสุโขทัย และความใกล้ชิดกับราชสำนักจีน ส่งผลให้เจ้านครอินทร์ช่วงชิงความเป็นใหญ่ได้สำเร็จ และส่งพระรามราชาธิราช เชื้อสายราชวงศ์อู่ทองออกไปจากกรุงศรีอยุธยา.

         การที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิกลับขึ้นเป็นใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาอีก โดยได้รับพลังหนุนจากพระญาติฝ่ายสุโขทัย ทำให้สมเด็จพระนครินทราธิราชมีฐานะยิ่งใหญ่กว่าพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์อื่น ๆ กล่าวคือ มีอำนาจไปถึงดินแดนแคว้นนครศรีธรรมราชทางใต้ และขึ้นไปถึงดินแดนแคว้นสุโขทัยทางเหนือ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ศูนย์กลางของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง และต่างชาติรู้จักในนาม ราชอาณาจักรสยาม.

03.
  • มีการค้าขาย Globalize ในอยุธยา
  • ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองถึงก่อนสมเด็จพระนครินทร์นั้น มีการแตกขั้วทางการเมืองเป็นสองขั้วคือ  หนึ่ง) สุพรรณภูมิ และ สอง) ละโว้ ได้ลงมารวมในสุพรรณภูมิ
  • กลุ่มผู้พูดภาษาไท-ลาวมีบทบาทอย่างมาก วรรณคดีภาษาไทยเริ่มมีมากขึ้น
  • สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ในกรุงศรีฯ เริ่มต้นขึ้นในสมัยสมเด็จพระศรีนครินทร์นี้ 
มีปัญหาการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระศรีนครินทราธิราช
  1. ปัญหาเรื่องการมองว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก - ทำให้ข้ามการมองบ้านเมืองอื่นทางใต้ ศูนย์กลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลงมาก็มีการตั้งเป็นราชธานีขึ้น ลืมมองสุพรรณ ลืมมองละโว้
  2. ปัญหาการมองว่า กรุงศรีอยุธยามีจุดกำเนิดที่ พ.ศ.1893 - แต่จริง ๆ ก่อนหน้าก็มีก่อนนี้ เช่น การกำเนิดโองการแช่งน้ำ กฎหมายบางมาตราในตราสามดวง เกิดขึ้นก่อนพระเจ้าอู่ทอง.
  3. ปัญหาการมองศูนย์กลางในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีเพียงหนึ่งเดียว จนทำให้ลืมนึกไปว่า "เสียน" คือ สุพรรณ - ก่อนหน้านี้มี ละโว้และสุพรรณ มีการแย่งชิงพื้นที่บริเวณเกาะกรุงศรีฯ 
  4. ปัญหาความเชื่อมั่นในพระราชพงศาวดาร (เนื้อหาท่อนนี้สั้นมาก) รวมถึงปัญหาการแปลความเอกสารจีน.- จดหมายเหตุหมิงสือลู่ มีการตีความที่สั้นมาก
วงศ์อินทร์วงศ์ราม
  • จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายว่า ในช่วงต้นของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเชื้อสายของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นิยมใช้คำว่า "ราม" เป็นนามสืบตระกูล เช่น รามาธิบดี ราเมศวร และ รามราชา ส่วนราชตระกูลฝ่ายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) นิยมใช้คำว่า "อินทร" เป็นนามสืบตระกูล เช่น อินทรราชา และ นครอินทร์.
  • วงศ์อินทร์ = วงศ์สุพรรณ, วงศ์ราม = วงศ์ละโว้
บางอย่าง ก็ไม่ได้หมายความว่าหมิงสือลู่ถูก และ/หรือพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ถูก แต่เป็นเพราะเรื่องความล่าช้า เข้ามาประกอบเป็นตัวแปรด้วย.
  •  https://www.youtube.com/watch?v=GEipWYVtXzE  [31:22/57:19]


ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระอินทราชา, วันที่สืบค้น 03 ตุลาคม 2558.
02. จาก. www.suphan.dusit.ac.th/sdsuphan/index.php?option=com_content&view=ar, วันที่สืบค้น 04 ตุลาคม 2558.
03. จาก. รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, การบรรยายเรื่อง "สมเด็จพระนครินทร์ราชาธิราชที่ถูกลืม," จัดโดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี และชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) จ.สุพรรณบุรี ณ อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี, เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564



 
8. เจ้าสามพระยา (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2)1
 

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา
 
        สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) และเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.1967 ภายหลังจากเหตุการณ์แย่งราชสมบัติของพระเชษฐาทั้งสอง จนสิ้นพระชนม์ไปทั้งสองพระองค์ โดยพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา.

       พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีการตีล้านนา และเมืองกัมพูชา นับเป็นการขยายพระราชอาณาเขตของ อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรม.
  • พระราชประวัติ
         สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 มีพระนามเดิมว่า เจ้าสามพระยา เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระอินทราชา มีพระเชษฐา 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าอ้ายพระยา และ เจ้ายี่พระยา พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปปกครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญทางเหนือ และได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) แห่งกรุงสุโขทัย ส่วนเจ้าอ้ายพระยาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ปกครองเมืองสุพรรณบุรีและเจ้ายี่พระยาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ปกครองเมืองสรรค์ (แพรกศรีราชา).

         เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.1967 เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา ต่างยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยา เพื่อชิงราชสมบัติ ทั้งสองพระองค์ได้กระทำยุทธหัตถีกันที่เชิงสะพานป่าถ่าน จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เป็นเหตุให้เจ้าสามพระยาได้ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 2) โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระเจดีย์ขึ้นสององค์ ณ บริเวณที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาชนช้างกันจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์.

 

เจดีย์คู่สองพี่น้อง ที่ริมคลองประตูข้าวเปลือก เชิงสะพานป่าถ่าน

         พระองค์มีพระราชโอรส 2 พระองค์ ได้แก่
        1.  พระอินทราชา หรือ พระนครอินทร์ เชื่อกันว่าประสูติจากมเหสีเดิมในสมัยที่เจ้าสามพระยาทรงครองเมืองชัยนาท ต่อมา พระอินทราชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองพระนครหลวง (นครธม) จนกระทั่งสิ้นพระชนม์.
        2.  พระราเมศวร ประสูติ แต่พระมารดาที่เป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัย

        สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ.1991 พระองค์ครองราชสมบัติรวม 24 ปี โดยสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราช มีพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

 
  • พระราชกรณียกิจ
        ด้านราชการสงคราม
        การศึกกับเขมร
           เมื่อ พ.ศ.1974 พระเจ้าธรรมาโศก กษัตริย์อาณาจักรเขมร ได้ยกกำลังมากวาดต้อนผู้คนตามหัวเมือง ชายแดนของกรุงศรีอยุธยาไป ทำให้เจ้าสามพระยา ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง (นครธม) เมื่อ พ.ศ.1975 พระองค์ตั้งทัพล้อมเมืองพระนครหลวงอยู่ 7 เดือน ก็สามารถตีเอาเมืองพระนครหลวงได้ ครั้งนั้นพระองค์ทรงให้พระอินทราชา พระโอรสปกครองเมืองนครหลวงในฐานะเมืองขึ้นประเทศราช ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา แล้วให้นำ พระยาแก้ว พระยาไทย และรูปภาพ (เทวรูป สมบัติศิลปะของขอม) ทั้งปวงพร้อมทั้งกวาดต้อนผู้คน และสิ่งของสำคัญ ๆ มายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฎชัดในอยุธยา.

          พระอินทราชานั้นครองราชย์ที่เมืองพระนครไม่นานก็สิ้นพระชนม์ เนื่องจากทนสภาวะอากาศไม่ได้ กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดขึ้นไปดูแลแทน จึงทำให้ชาวเขมรนั้น ไม่อาจกลับมายังที่เมืองพระนครได้ ปล่อยให้เมืองร้างลง ภายหลังเมื่อเขมรเริ่มคืนอำนาจ จึงได้มีการย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองพนมเปญ ทำให้เมืองพระนครล่มสลายในที่สุด.

       
การศึกกับล้านนา
        ในปี พ.ศ.1985 พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้รบกับท้าวช้อยผู้เป็นพระอนุชา ท้าวช้อยพ่าย จึงหนีไปอยู่เมืองเทิง (อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) เจ้าเมืองเทิงได้มาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาและขอให้ส่งกองทัพไปช่วยรบ เจ้าสามพระยาจึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ตีไม่สำเร็จ ประกอบกับทรงพระประชวร จึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา.

        เจ้าสามพระยายกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.1987 ทรงตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ครั้งนี้ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่กับเชลยอีก 120,000 คน จึงยกทัพหลวงกลับพระนคร. (มีนักวิชาการบางท่านได้ให้ข้อมูลแก้ไขว่า เจ้าสามพระยาไม่ได้ไปตีเชียงใหม่ในครั้งที่ 2 นี้ ความจริงคือไปตีเมืองเขมร แต่พงศาวดารจดคลาดเคลื่อน)


       
ด้านการพระศาสนา
        เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้สถาปนาเจดีย์ใหญ่ สองพระองค์ไว้ตรงบริเวณที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาชนช้างสู้รบกันถึงสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ณ ตำบลป่าถ่าน พร้อมกับได้โปรดให้สถาปนาวัดราชบูรณะ ประกอบด้วยพระธาตุ และพระวิหาร โดยสร้างไว้ ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา และสร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้น เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระราชบิดาในวาระนั้นด้วย.
 
   
ภายในวัดมเหยงคณ์2,
ที่มา: blog.thaicoding.net, วันที่เข้าถึง 24 มกราคม 2563.
        พ.ศ.1981 บ้างก็ว่า พ.ศ.1967 สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้น
       
ด้านการปกครอง       
        ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฎศึก) ขึ้น         การรวมสุโขทัยกับอยุธยา
        พระเจ้าติโลกราช (มหาราชติลก) กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา เป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการสงคราม ได้พยายามที่จะขยายอาณาเขตของเมืองเชียงใหม่ลงมาทางใต้ สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) ทรงเห็นว่าหากปล่อยให้เชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ปกครองสุโขทัยในฐานะเมืองประเทศราชอยู่เช่นนั้นแล้ว จะทำให้ผู้คนในหัวเมืองพากันไปเข้ากับล้านนา หรือไม่ก็ถูกล้านนาลงมารุกราน ด้วยสุโขทัยนั้นอ่อนแอลงไม่เข้มแข็งพอ ที่จะดูแลหัวเมืองต่าง ๆ นั้นได้.

        เพื่อให้หัวเมืองฝ่ายเหนือหรืออาณาจักรสุโขทัยในการดูแลของเมืองพิษณุโลก อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ ดังนั้นใน พ.ศ.1981 เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 43 กษัตริย์แห่งสุโขทัยซึ่งครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ได้สวรรคตลง เจ้าสามพระยาจึงทรงให้รวบรวมหัวเมืองเหนือที่เคยแยกการปกครองเป็นสองเขตนั้น รวมเป็นเขตเดียวกัน แล้วแต่งตั้งให้พระโอรสพระราเมศวร ซึ่งมีพระมารดาเป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 (พระยาไสลือไทย) เป็นพระมหาอุปราช ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เพื่อกำกับดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด โดยให้เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองมหาอุปราช จึงเป็นการทำให้ราชวงศ์พระร่วงหมดอำนาจในการปกครองสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัยจึงค่อย ๆ ถูกรวมกับกรุงศรีอยุธยา.

         เหตุการณ์สำคัญ
  • พ.ศ.1981 เมื่อพระราเมศวร ซึ่งเป็นพระราชโอรสได้เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก ทรงเห็นน้ำพระเนตรของพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นโลหิต.
  • พ.ศ.1983 เกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียร.
  • พ.ศ.1984 เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา.


ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่_2, วันที่สืบค้น 02 พฤศจิกายน 2558.
02. วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ.2310 วัดนี้ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 5 ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา ที่มาของชื่อ "วัดมเหยงคณ์" มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า "มหิยังค์" (แผลงสระอิ เป็นสระเอ จะได้คำว่า มเหยงคณ์) ซึ่งแปลว่า ภูเขา หรือเนินดิน หรืออาจตั้งชื่อตามสถานที่ในลังกา คือ "มหิยังคเจดีย์" (ซึ่งนำมาเป็นแบบสร้างเจดีย์ช้างล้อมในวัดมเหยงคณ์)
      วัดมเหยงคณ์ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงฝ่ายอรัญญาวาสี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงโปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์ และอยู่ห่างไกลจากพระนคร พระสงฆ์ปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระ.
      เมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองกรีฑาทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในคราวเสียกรุงฯ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2112 นั้น พระเจ้าบุเรงนองได้มาตั้งทัพหลวงบัญชาการอยู่ที่วัดมเหยงคณ์ เมื่อคราวเสียกรุงฯ นั้นตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราชและได้ถูกคุมพระองค์ออกไปถวายพระเจ้าบุเรงนอง ณ พลับพลา วัดมเหยงคณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งทัพหลวง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองกลับไปพม่า ได้พาสมเด็จพระมหินทราธิราชไปด้วย แต่ไปไม่ถึงพม่า ได้สวรรคตเสียกลางทาง ณ ดินแดนเมืองแครง, ที่มา: www.weloveayutthaya.com, วันที่สืบค้น 03 มกราคม 2559.
03. พระมหาธรรมราชาที่ 4 หรือ บรมปาล หรือ พระยาบาลเมือง หรือ พระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชา เป็นพระโอรสพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) ครองราชย์ในช่วง พ.ศ.1962-1989 และประทับที่เมืองพิษณุโลก.
04. เจ้านครอินทร์ แห่งรัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในระยะต่อมา หรือ  พระร่วงผู้ไปเมืองจีน จากเอกสารของประเทศจีนได้ระบุว่า กษัตริย์ไทยที่ไปเมืองจีนคือ เจียวหลกควานอิน หรือ เจ้านครอินทร์ นั่นเอง, ที่มา: พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร ในรายการสารคดี "อยุธยาที่ไม่รู้จัก" ทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2560 เวลา 21:10-22:00 น.
humanexcellence.thailand@gmail.com