MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 13: สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1)


อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 13:
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1)
01.
First revision: May 19, 2018
Last change: Dec.03, 2020

 

แผนที่อุษาคเนย์สมัยพระมหาธรรมราชา อายุกว่า 456 ปี: แผนที่อุษาคเนย์ (แสดงราชอาณาจักรอยุธยา) ที่งดงามที่สุดเขียนโดย ฟิร์เนา วาซ ดูราโด (Fernao Vaz Dourado) นักเขียนแผนที่ชาวโปรตุเกส ในปี พ.ศ.2118 ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระธรรมราชา, อ้างอิง: ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. 2549. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ: มติชน.
 
   ครองราชย์  พ.ศ.2112 - พ.ศ.2133
   ก่อนหน้า   สมเด็จพระมหินทราธิราช
   ถัดไป  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สม-เด็จ-พระ-นเรศ-วอ-ระ-มหา-ราช)
   ราชวงศ์  สุโขทัย
   พระราชบิดา  มีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง
   พระราชมารดา  เชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ
   พระราชสมภพ  พ.ศ.2057
   สวรรคต  พ.ศ.2133 (76 พรรษา)
   พระอัครมเหสี  พระวิสุทธิกษัตริย์
   พระราชบุตร/บุตรี  พระสุพรรณกัลยา
 สมเด็จพระนเรศ
 สมเด็จพระเอกาทศรถ

       สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 หรือมักที่จะเรียกกันว่า พระมหาธรรมราชา นั้น ถือเป็นต้นและผู้สถาปนาราชวงศ์สุโขทัยในสมัยอาณาจักรอยุธยา. ด้วยพระบิดาเป็นเจ้านายชั้นสูงเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ส่วนพระมารดามีเชื้อสายมาทางสมเด็จพระไชยราชาธิราช อันเป็นเชื้อสายสืบมาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ.
       ได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิเรนทรเทพ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจขวา ขุนพิเรนทรเทพร่วมมือกับ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศ พร้อมทั้งมีพระเทียรราชา (ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน) ประชุมวางแผนร่วมกันก่อการรัฐประหารขุนวรวงศาธิราชและนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์.
       ครั้นเมื่อก่อการรัฐประหารเสร็จ พระเทียรราชา ได้เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาเจ้า ครองกรุงศรีอยุธยา.
       ขุนพิเรนทรเทพ ได้เป็น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า (สันนิษฐานว่าบรรดาศักดิ์นี้ได้มาแต่หนหลัง ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแล้ว) ครองเมืองพิษณุโลกสองแคว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งให้พระสวัสดิราชธิดา เป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์ ให้เป็นอัครมเหสี ประทับที่พิษณุโลก มีพระประสูติกาลพระราชโอรสธิดาตามลำดับ พระสุพรรณกัลยา พระนริศหรือพระนเรศ และ พระเอกาทศรถ.
       การปูนบำเหน็จ02.
       ขุนอินทรเทพ ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช สำเร็จราชการเมืองสุโขทัยและนครศรีธรรมราช.
       หมื่นราชเสน่หา เป็นพระยามหาเทพ.
       หลวงศรียศ (บ้านลานตากฟ้า) เป็นพระยามหาเสนาบดี ที่สมุหกลาโหม.
       และมีขุนทหารอื่น ๆ ก็ได้รับการปูนบำเหน็จอีกไม่น้อย.


      ถึงปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนองยกทัพมาตีพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเห็นว่าครั้งนี้ทัพหงสาวดีมากจนเหลือกำลังจะต้านทานได้ ในวันอาทิตย์ แรม 5 ค่ำ เดือน 2 จึงทรงยอมแพ้ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาจัดทัพไตีกรุงศรีอยุธยาร่วมกับพระองค์ (ในการนี้ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์บางท่าน วิเคราะห์ว่าพระมหาธรรมราชา เข้ากับฝ่ายพม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นทุรยศ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ในกาลก่อน ความเป็นชาติในความหมายที่เป็น Nation นั้นไม่มี ชาติ หมายถึง สกุลรุนชาติ หรือ race เมืองต่าง ๆ หรืออาณาจักรที่แข็งแรงกว่าก็จะอยู่รอด เมืองเล็ก ๆ หากจะอยู่รอดได้ก็ต้องอ่อนน้อม เหมือนต้นหลิวที่พริ้วไหวโอนอ่อนไปตามทิศทางลม) สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็จัดพล 30,000 ไปกับทัพบุเรงนอง จนกระทั้งเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ ในปี พ.ศ.2112.  
       พระเจ้าบุเรงนอง ทรงถอดสมเด็จพระมหินทราธิราชจากราชสมบัติ แล้วราชาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าให้ครองกรุงศรีอยุธยาแทน มีราชทินนามว่า สมเด็จพระเจ้าสรรเพชญวงศ์กุรสุริโคดม บรมราชาธิราชราเมศ ปริเวทธรรมิกราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรเทพสมมติราชบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว. 

       ในรัชสมัยของพระองค์นั้น สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก) ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ถึง 2 ครั้ง แต่ก็ทรงป้องกันพระนครไว้ได้ และได้โปรดให้ขุดขยายคูเมืองด้านทิศตะวันออกของเกาะเมืองให้กว้างขึ้น สร้างป้อมมหาชัย และสร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช (สมเด็จพระนเรศ หรือ พระนริศ). โดยมีรายละเอียดดังนี้


การตีกรุงศรีอยุธยาของเขมร (2 ครั้ง)
       ครั้งที่ 1: ครั้นในปี พ.ศ.2113 พระยาละแวกหรือสมเด็จพระบรมราชา กษัตริย์เขมร ซึ่งครั้งเป็นประเทศราชของกรุงศรีฯ มาแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เห็นกรุงศรีฯ บอบช้ำจากการทำงสครามกับพม่า จึงถือโอกาสยกกองกัพเข้ามาซ้ำเติมโดยมีกำลังพล 20,000 นาย เข้ามาทางเมืองนครนายก เมื่อมาถึงกรุงศรีฯ ได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลบ้านกระทุ่มแล้วเคลื่อนพลเข้าประชิดพระนครและได้เข้ามายืนช้างบัญชาการรบอยู่ในวัดสามพิหาร รวมทั้งวางกำลังพลรายเรียงเข้ามาถึงวัดฆ้องต่อไปถึงวัดกุฎีทอง และนำกำลังพล 5,000 นาย ช้าง 30 เชือก เข้ายึดแนวหน้าวัดพระเมรุราชิการาม พร้อมกับให้ทหารลงเรือ 50 ลำแล่นเข้ามาปล้นพระนครตรงมุมเจ้าสนุก ในครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จออกบัญชาการการรบป้องกันพระนครเป็นสามารถ กองทัพเขมรพยายามยกพลเข้าปล้นพระนครอยู่ 3 วัน แต่ไม่สำเร็จจึงยกกองทัพกลับไปและได้กวาดต้อนผู้คนชาวบ้านนาและนครนายกไปกัมพูชาเป็นอันมาก.

       ครั้งที่ 2: ต่อมาในปี พ.ศ.2117 ในขณะที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาภายใต้การบังคับบัญชาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระนเรศได้ยกกองทัพไปช่วยหงสาวดี เพื่อตีเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาละแวกได้ถือโอกาสยกกองทัพมาทางเรือเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง แต่การศึกครั้งนี้เป็นโชคของกรุงศรีฯ กล่าวคือขณะที่กองทัพกรุงศรีฯ ยกไปถึงหนองบัวลำภู เมืองอุดรธานีนั้น พระนเรศประชวรเป็นไข้ทรพิษ ดังนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงโปรดให้กองทัพกรุงศรีฯ ยกทัพกลับไป โดยกองทัพกรุงศรีฯ กลับมาทันเวลาที่กรุงศรีฯ กำลังถูกโจมตีจากกองทัพเรือเขมร ซึ่งขึ้นมาถึงกรุงศรีฯ เมื่อเดือนอ้าย พ.ศ.2118 โดยได้ตั้งทัพชุมนุมพลอยู่ที่ตำบลขนอนบางตะนาวและลอบแฝงเข้ามาอยู่ในวัดพนัญเชิง รวมทั้งใช้เรือ 3 ลำเข้าปล้นชาวเมืองที่ตำบลนายก่าย ฝ่ายกรุงศรีฯ ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงไปยังป้อมค่ายนายก่าย ซึ่งถูกข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก แล้วให้ทหารเรือเอาเรือไปท้าทายให้ข้าศึกออกมารบพุ่ง จากนั้นก็หลอกล่อให้ข้าศึกรุกไล่เข้ามาในพื้นที่การยิงหวังผลของปืนใหญ่ เมื่อพร้อมแล้วก็ระดมยิงปืนใหญ่ถูกทหารเขมรแตกพ่ายกลับไป.

       คราวรบกับเขมรที่ไชยบาดาล ในปี พ.ศ.2121 สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้คุมทหารลงเรือหนุนตามพระราชบุตร (สมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระเอกาทศรถ) ในการติดตามจับพระยาจีนจันตุ (ขุนนางจีนของกัมพูชา) ที่มีพฤติกรรมเป็นอุปนิกขิต (สายลับ) หนีกลับเมืองเขมร. (รายละเอียดดูใน อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 14.1: สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2) (พระนเรศ))

       สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประชวรและสวรรคตในปี พ.ศ.2133 สิริพระชนมพรรษา 76 พรรษา ครองราชย์ได้ 22 ปี.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 26 พฤศจิกายน 2563.
02.  จาก. https//site.google.com/site/thraphyakrmnusy/phra-mha-cak-phr-rdi?tmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&showPrintDialog=1, วันที่เข้าถึง 26 พฤศจิกายน 2563.


 
humanexcellence.thailand@gmail.com