สมเด็จพระไชยราชาธิราช ในภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยทัย"
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 10: พระรัษฎาธิราช และ สมเด็จพระไชยราชาธิราช
First revision: May 19, 2018
Last revision: Sep.24, 2018
ค้นคว้า เพิ่มเสริมโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา
สมเด็จพระรัษฎาธิราช01
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ZW5shwODYRw, วันที่สืบคืน 10 กันยายน 2561.
สมเด็จพระรัษฎาธิราช (บ้างก็เรียก รัษฐาธิราช หรือ สมเด็จพระรัฏฐาธิราชกุมาร) ทรงเป็นกษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 12 แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร)
พระราชประวัติ
สมเด็จพระรัษฎาธิราช เสด็จพระราชสมภพปี พ.ศ.2072 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สันนิษฐานว่าพระมารดาเป็นพระอัครชายา พระธิดาของพระยายมราช...จาก https://www.youtube.com/watch?v=ZW5shwODYRw อ้างถึงภาพยนตร์ "สุริโยทัย") เมื่อพระบิดาสวรรคตในปี พ.ศ.2076 จึงขึ้นครองราชย์สืบต่อ แต่ครองราชย์ได้เพียง 5 เดือน ตรงกับ พ.ศ.2077 พระไชยราชา (คำให้การชาวกรุงเก่าเรียก สมเด็จพระปรเมศวร) ก็ชิงราชสมบัติแล้วนำพระองค์ไปสำเร็จโทษ02 ขณะมีพระชันษาเพียง 5 ปี.
หมายเหตุและคำอธิบาย
01. ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 08 กันยายน 2561.
02. ประเด็นเรื่องการสำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราช มีนักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นที่แตกต่างกันไป ค่อนข้างคลุมเครือ พงศาวดารต่าง ๆ กล่าวไว้ไม่ตรงกัน เช่น
- พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ "ครั้นถึงศักราช ๘๙๖ มะเมียศก พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า"
- พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) "ศักราช ๘๗๖ ปีจอฉอศก สมเด็จพระราชกุมารท่านเถิงแก่พิราลัย"
- บันทึกของ Fernao Mendes Pinto ดูใน Link ของห้องสมุดแห่ง มหาวิทยาลัยคอร์เนล https://ia600205.us.archive.org/34/items/cu31924011271826/cu31924011271826.pdf.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขปของวันวลิต หรือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) ประจำกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ "วรรัตสาทธิรายา (Woo-Rhae Rassae Thae Thieraya) พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๓ แห่งสยาม ครองราชย์อยู่เพียง ๕ เดือน พระองค์ทรงเป็นเป็นพระราชโอรสของหน่อพุทธา เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ทรงพระนามว่าวรรัตสาทธิรายา เนื่องจากไม่มีผู้ใดเหมาะสม เจ้าชายองค์นี้จึงได้รับเลือกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะหน่อพุทธาไม่มีอนุชาหรือพระโอรสที่มีพระชนมายุแก่กว่านี้ พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๕ เดือน ก็ถูกพระญาติปลงพระชนม์ (เป็นญาติห่าง ๆ และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
- พงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน และพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (สมัยรัตนโกสินทร์) "ศักราช ๘๗๖ ปีจอ ฉ้อศก พระไชยราชาธิราชเจ้าเปนราชวงษ์สมเดจ์พระรามาธิบดี คิดประทุษฐร้ายจับพระรัษฐาธิราชกุมารสำเรจ์โทษเสียแล้ว สมเดจ์พระไชยราชาธิราชเจ้าได้เสวยราชสมบัติ"
- เอกสาร "สังคีติยวงศ์" ซึ่งแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นภาษามคธ โดยสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรมก็ระบุไว้สอดคล้องกับหลักฐานของฟาน ฟลีต (เชื่อว่าหลักฐานทั้งสองมีที่มาจากเอกสารสมัยอยุทธยาชิ้นเดียวกัน เพราะเนื้อความใกล้เคียงกันมาก ทั้งพระชนมายุและระยะเวลาครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน)
"ตทนนฺตรํ ตสฺส ปุตฺโตว อฏฺฐาธิราชกุมาโร นาม ปญฺจวสฺสิโก ปญฺมาสํ รชฺชํ กาเรสิ ตฺสสํ รามาธิปติโน ชยราชาสี นาม ภาคิเนยฺโย ตํ กุมารํ ฆาเฏตฺวา"
ลำดับนั้น พระราชบุตรของสมเด็จพระพุทธางกูรนั้น ทรงพระนามว่าอัฏฐาธิราชกุมาร มีพระชนม์ได้ ๕ พรรษา ขึ้นเสวยราชย์ได้ ๕ เดือน พระภาคิไนยของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีนั้น ทรงพระนามว่า สมเด็จพระชัยราชาสี ได้สำเร็จโทษพระกุมารนั้นเสีย
(จากผู้ใช้นามว่า สมาชิกหมายเลข 3571246, 3757941 และ ศรีสรรเพชญ์: 21-22 มีนาคม 2560)
(ที่มาหลัก: https://pantip.com/topic/36245461, วันที่สืบค้น 09 กันยายน 2561.)
สมเด็จพระไชยราชาธิราช01
First revision: Sep.10, 2018
Last revision: Oct.17, 2018
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=-yr_Krhry6Q, วันที่สืบค้น 22 กันยายน 2561.
กษัตริย์ลำดับที่ 13 แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ พ.ศ.2077 - 2089 (13 ปี) ราชวงศ์สุพรรณภูมิ หลังจากครองราชย์ได้ทรงเป็นผู้นำทัพออกรบปราบกบฎหัวเมืองอยู่เนือง ๆ
พระราชประวัติ
สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จพระราชสมภพ ราว พ.ศ.2042 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่ประสูติแต่พระสนม (มีเชื้อสายราชวงศ์เชียงราย) ในปี พ.ศ.2077 ได้ปราบดาภิเษกโดยการสำเร็จโทษพระรัษฐาธิราช แล้วขึ้นครองราชย์
ในเอกสารของโปรตุเกส กล่าวกันว่าในปี ค.ศ.1544 (พ.ศ.2087) มีความเป็นไปได้ที่พระองค์อาจเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก โดยมีนามทางศาสนาว่า ดง จูอาว (โปรตุเกส: Dom João) ซึ่งนอกจากนี้ก็ไม่มีเอกสารอื่นใดที่ยืนยันเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนาในครั้งนี้อีก.
พระมเหสี พระราชโอรสธิดา
คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระมเหสีสองพระองค์คือ
1. พระมเหสีจิตรวดี (บ้างก็เรียก จิตราวดี) โดยมีพระสุริโยทัยเป็นพระญาติใกล้ชิด07
2. แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์04 จากราชวงศ์อู่ทอง (ละโว้-อโยธยา)
สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระราชโอรสที่ปรากฎในพงศาวดารสองพระองค์ ประสูติแต่นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ (บางแหล่งข้อมูล07 แจ้งว่า พระแก้วฟ้าและพระศรีศิลป์ เป็นโอรสของพระมเหสีจิตรวดี ต่อมาพระนางสิ้นพระชนม์ จึงให้แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ดูแล) คือ
1. สมเด็จพระยอดฟ้า ได้ครองราชย์หลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตไม่ถึงสองปี ก็ถูกขุนวรวงศาธิราชสำเร็จโทษ
2. พระศรีศิลป์ ยังถูกเลี้ยงไว้หลังจากสำเร็จโทษสมเด็จพระยอดฟ้า ต่อมาเมื่อขุนนางฝ่ายพระไชยราชาได้สังหารขุนวรวงศาและท้าวศรีสุดาจันทร์ที่คลองสระบัว พระศรีศิลป์ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่รอดชีวิตกลับมาได้ ในรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ พระศรีศิลป์ได้กบฎต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจนต้องปืนสิ้นพระชนม์.
ภาพงานพระเมรุมาศสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2090),
ที่มา: www.crownproperty.or.th, วันที่สืบค้น 22 กันยายน 2561.
เฟอร์ดินาน เมนเดธ ปินโต บ้างก็เขียนว่า แฟร์เนา เมนเดซ ปินโต02 นักเดินทางชาวโปรตุเกส ได้เขียนถึงสยามในช่วงสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชไว้ละเอียดในหนังสือ เปเรกรินาเซา Pérégrinação หรือ Pérégrinaçam แปลว่า “long tour,long travels” ตรงกับคำว่า “Peregrination“ หรือ “Pilgrimage” หมายถึง การเดินทางการท่องเที่ยว หรือการเดินทางแสวงบุญ
ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
- โปรดให้ทำการพูนดินขึ้นอุทิศถวายวัดชีเชียง (พ.ศ.2061) - (ข้อมูลช่วงเวลาคลาดเคลื่อนกันมาก)07 หรือวัดสีเชียง หรือวัดพระสีเชียง เป็นต้นกำเนิดพระมงคลบพิตร ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว แต่ปรากฎมีวิหารแกลบวัดชีเชียงในปัจจุบัน.
เพลิงไหม้ในเขตแดนพระนคร
เมื่อ พ.ศ.2067 (ข้อมูลช่วงเวลาคลาดเคลื่อนกันมาก) เกิดเพลิงไหม้พระนครครั้งใหญ่ ตั้งแต่ท่ากลาโหมไปจนถึงท้ายพระราชวัง ท้ายตลาดยอด เพลิงลุกไหม้ตกลงตะแลงแกง แล้วลามไปป่าตองโรงคราม ฉะไกร สามวันไฟจึงดับ บ้านเรือนศาลากุฎิวิหารไหม้จำนวนมาก (บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าสูงถึง 100,050 แห่ง)07
การสวรรคต
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า หลังทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้ว สมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จยกทัพกลับมายังกรุงศรีอยุธยา แล้วสวรรคตระหว่างทาง เมื่อ พ.ศ.2089 (บ้างว่าปีมะเมีย พ.ศ.207007 - ข้อมูลช่วงเวลาคลาดเคลื่อนกันมาก).
อย่างไรก็ดี บันทึกของพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในอาณาจักรอยุธยาในสมัยนั้นชื่อ เฟอร์ดินาน เมนเดธ ปินโต (บ้างก็เขียนว่า แฟร์เนา เมนเดซ ปินโต) กลับระบุว่าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ซึ่งลักลอบมีความสัมพันธ์กับพันบุตรศรีเทพ (ขุนวรวงศาธิราช) พราหมณ์ผู้คุมหอพระ ได้ลอบลองปลงพระชนม์พระองค์ด้วยยาพิษในปี พ.ศ.2089 ซึ่งเป็นข้อมูลหลักในบทภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท.
การสงคราม
สงครามเชียงกราน05
ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามไทยกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.2081 (ปีจอ จุลศักราช 900) (ถือเป็นสงครามไทยกับพม่าครั้งแรก) ปรากฏว่าพม่ายกทัพมาตีอาณาเขตสยามที่เมืองเชียงกราน เมืองเชียงกรานนี้เป็นเมืองเดียวกับเมืองแครง มอญเรียกว่า "เดิงกรายน์" (ทุกวันนี้อังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน) เดี๋ยวนี้อยู่ในแดนมอญไม่ห่างด่านเมียวดี ทำครั้งนั้นอาณาเขตไทยจะออกไปถึงแม่น้ำสาละวิน เมืองเชียงกรานจึงอยู่ในอาณาเขตไทย สงครามคราวนี้มีเรื่องปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร หนังสือพงศาวดารพม่า และจดหมายเหตุของปินโตโปรตุเกสประกอบกันว่า มังตราพม่าเป็นโอรสของเจ้าเมืองตองอูตั้งตัวเป็นใหญ่ได้หัวเมืองพม่ารามัญเป็นอันมากแล้วราชาภิเษกขนานพระนามว่า "พระเจ้าตะเบงชเวตี้" แปลว่า พระเจ้าสุวรรณเอกฉัตร แล้วยกกองทัพเข้ามาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชายกกองทัพหลวงไป ได้สู้รบกันเป็นสามารถ กองทัพไทยตีกองทัพพม่ารามัญพ่ายถอยไป ไทยได้เมืองเชียงกรานคืน
จากข้อมูลใน 07 บ้างก็เรียก เชียงไตร เชียงตราน เชียงไกร เชียงกราน, เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชตีเอาเมืองได้แล้ว พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองนั้นจนถึงเดือนสี่ ขึ้นเก้าค่ำ ก็เกิดเหตุการณ์ลมพายุพัดหนักตอนยามหนึ่ง วาตภัยในคราวนั้นได้พัดแรงจัดจนทำให้เรือไกรแก้วแตกเสียหาย และพัดต้องโชนเรืออ้อมแก้วแสนเมืองม้าหักลง.
ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ยกทัพมาถึงเมืองกำแพงเพชร มีความแจ้งเหตุเข้ามาว่า พระนารายณ์ที่เมืองกำแพงเพชรทำการก่อการกบฎขึ้น พระองค์จึงได้นำกองทัพเข้าปราบปรามและจับกุมตัวเอาไปประหารเสียในเมืองกำแพงเพชร.07
ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟ ในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกราน กลับคืนมาได้
เมื่อพระองค์ยกทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาชาวโปรตุเกส พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณตำบลบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาเรียกว่าบ้านโปรตุเกส และทรงอนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้มีบาทหลวงเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา, ภายหลังชาวโปรตุเกสกลุ่มนี้ได้สืบเชื้อสายและพากันมาตั้งบ้านเรือน อยู่ทางตอนใต้บริเวณบางกอกใกล้เมืองธนบุรีศรีสมุทร ซึ่งเป็นด่านขนอนเก็บภาษีเรือสินค้าเข้าออกของกรุงศรีอยุธยา07.
สงครามกับล้านนา
เกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นที่เชียงใหม่ พระเมืองเกษเกล้า06 ถูกลอบปลงพระชนม์ โดยแสนคล้าวขุนนางผู้ทุริยศ บรรดาเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงราย และเมืองพานได้ยกกำลังเข้ายึดเมืองนครเชียงใหม่ได้ แล้วพร้อมใจกันแต่งตั้งพระนางจิรประภาเทวี พระมารดาของพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองนครเชียงใหม่ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงพิจารณาเห็นว่าล้านช้างอาจแผ่อำนาจเข้ามาปกครองล้านนา จึงทรงแต่งทัพไปตีเชียงใหม่ในกลางปี พ.ศ.2088 แต่ไม่สำเร็จ
ทั้งนี้พระองค์ได้ยกทัพไปตีเชียงใหม่ โดยให้พระยาพิษณุโลก เป็นแม่ทัพยกพลออกไปตั้งทัพชัย (ตั้งทัพทำพิธีชัยชนะ - คล้าย ๆ "กลาโหม" ของเขมร ที่จะต้องโหมไฟ ก่อนทำการสัประยุทธ์) อยู่ที่ตำบลบางบาล พอวันเสาร์ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ พระองค์จึงยกทัพหลวงจากทัพชัยขึ้นไปยังเมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงของ แล้วเดินทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่สำเร็จ (ปรับปรุงจาก 07)
ในปลายปีต่อมาจึงยกทัพไปตีอีกครั้ง ตีได้เมืองลำพูน เมื่อถึงเชียงใหม่ พระมหาเทวีได้ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระไชยราชธิราช พระองค์ได้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระเมืองเกษเกล้าร่วมกับพระมหาเทวี ณ วัดโลกโมฬี แล้วเสด็จฯ กลับอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตระหว่างทาง พระนางจิรประภาจึงหันไปพึ่งล้านช้าง โดยถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ปกครองนครเชียงใหม่สืบแทน.
การคมนาคม
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้โปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดบางกอก เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำไปถึงกรุงศรีอยุธยานั้น มีความคดเคี้ยวหลายแห่ง ทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ บางจุดมีเส้นทางคดเคี้ยวคอดกิ้วเหมือนกระเพาะหมูอยู่หลายแห่ง การเดินทางโดยเรือนั้นใช้เวลาเดินทางมาก ต้องพักกลางทางถึง 3-4 คืน จึงจะสามารถเดินทางไปถึงกรุงศรีอยุธยาได้07 พระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า แผ่นดินระหว่างคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อยเดิมนั้นแคบ สามารถเดินถึงกันได้ ผลจากการขุดคลองลัดบางกอก ทำให้สายน้ำเปลี่ยนทางเดินจนคลองลัดบางกอกกลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยา จึงโปรดเกล้าให้ขุดคลองลัด ณ บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ด้านท่าราชวรดิษฐ์ในปัจจุบัน.
หมายเหตุและคำอธิบาย
01. ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 22 กันยายน 2561.
02. เฟอร์ดินาน เมนเดธ ปินโต บ้างก็เขียนว่า แฟร์เนา เมนเดซ ปินโต (Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583)
แฟร์เนา เมนเดส ปินโต และปกหนังสือเรื่อง เปเรกรินาเซา ของปินโต,
ที่มา: en.wikipedia.org และ bidyarchan.blogspot.com/2010/06/395.html, วันที่สืบค้น 22 กันยายน 2561.
ปินโตเคยเดินทางเข้าสยามสองครั้ง (กรมวิชาการ, 2531: 115) ครั้งแรกเข้าในปัตตานีและนครศรีธรรมราชาก่อน ค.ศ.1548 และครั้งที่สอง เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) งานเขียนของเขากล่าวถึงพระราชพิธีบรมศพพระไชยราชาธิราช การสงครามของสยาม การจ้างทหารรับจ้างของสยาม มีผู้วิจารณ์และล้อเลียนว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก แต่จดหมายเหตุของซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (บ้างก็เรียก ซิมง เดอ ลา ลูแบร์)03(Simon de Laloubère) ที่เดินทางมาสยามในรัชสมัยของพระนารายณ์นั้น ไม่พบข้อวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของปินโตในงานของลาลูแบร์แต่อย่างใด.
จากซ้ายไปขวา: ภาพ ลา ลูแบร์ และ จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
(ที่มา: www.facebook.com/historyofAyutthaya/posts/จดหมายเหตุลาลูแบร์-ฉบับพิมพ์ครั้งแรก/1986692398037407/, วันที่สืบค้น 26 กันยายน 2561)
03. ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (ฝรั่งเศส: Simon de La Loubère; 21 เมษายน พ.ศ. 2185-26 มีนาคม พ.ศ. 2272) เป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสได้เดินทางเข้ามาใน ประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย โดยเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยาพร้อมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และทหารของฝรั่งเศสประมาณ 600 คน (ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 26 กันยายน 2561)
04. พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ในกฎหมายตราสามดวง ให้ชื่อ สนมเอกสี่คนของกษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาว่า ประกอบไปด้วย อินทรสุเรนร์, ศรีสุดาจันทร์, อินทรเทวี, และศรีจุฬาลักษณ์
สุจิตต์ วงษ์เทศ ขยายความบรรดาชื่อเหล่านี้ว่า ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อตำแหน่งไม่ใช่ชื่อตัว ดังนั้นสนมต่าง ๆ จะมีชื่อตัวอย่างไรก็ได้ก่อนหน้า แต่เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกแล้วก็ต้องได้ชื่อตำแหน่งชื่อใดชื่อหนึ่งตามบทพระไอยการฯ ที่มีร่องรอยว่า แต่ละตำแหน่งล้วนเป็นเชื้อสายราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งที่อยู่โดยรอบกรุงศรีอยุธยา คือ สุโขทัย, ละโว้, สุพรรณภูมิ, และนครศรีธรรมราช.
แล้วพบว่า ศรีจุฬาลักษณ์ คือบุคคลเชื้อสายสุโขทัย ทั้งนี้เพราะที่จริง "ศรีจุฬาลักษณ์" เป็นตำแหน่งมเหสีกษัตริย์แคว้นสุโขทัย เมื่อแคว้นสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาแล้ว เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยถูกลดฐานะและต้องลงไปรับราชการที่พระนครศรีอยุธยา ชื่อ "ศรีจุฬาลักษณ์" ก็ถูกริบลงเป็น "สนมเอก"
ขณะที่อินทรสุเรนทร์ ก็คือเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ
โดยรู้ได้จากการใช้ "อินทร" ที่เป็นชื่อแพร่หลายในสุพรรณภูมิ ดังเห็นได้จากพระนครอินทร์ หรือ อินทรราชาธิราช ซึ่งเข้ามาเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่มาจากเมืองสุพรรณบุรี
ส่วน อินทรเทวี นั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งข้อสังเกตจาก ขุนอินทรเทพ หนึ่งในสี่ปฐมคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ซึ่งน่าจะเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า อินทรเทพ น่าจะเกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช ฉะนั้นชื่อสนมเอกว่า อินทรเทวี จึงน่าจะเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางใต้ที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา
และ ศรีสุดาจันทร์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่มีข้ออ้างอิง กระนั้นเมื่อเทียบตำแหน่งสนมเอกทั้งสามว่ามาจากเหนือคือ ศรีจุฬาลักษณ์ ใต้คือ อินทรเทวี ตะวันตกคืออินทรสุเรนทร์ ดังนั้นขาดแต่ตะวันออก สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงตั้งข้อสังเกตว่าน่าเชื่อว่าศรีสุดาจันทร์ น่าจะเป็นชื่อตำแหน่งเชื้อสายราชวงศ์ละโว้-อโยธยา นั่นเอง.
อีกทั้งยังได้สรุปเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า สนมเอกทั้งสี่ ของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดา ๆ หากเป็นนารีมีเชื้อสายเจ้านาย ที่เคยเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองแว่นแคว้นอิสระที่อยู่โดยรอบกรุงศรีอยุธยา เมื่อแคว้นเหล่านั้นถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาแล้ว สิ่งที่แสดงให้เห็นอำนาจของกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาก็คือ เจ้าเมืองเหล่านั้นต้องถวายธิดาเข้าเป็นสนมเอก ฉะนั้นถ้ามองอีกแง่หนึ่ง สนมเอกทั้งสี่ก็คือสัญลักษณ์ของอำนาจกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ปกแผ่ออกไปทั้งสี่ทิศนั่นเอง. {ที่มา: สุจิตต์ วงษ์เทศ, แคว้นสุโขทัย: ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว? (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2544) หน้า 61-70 และ วัฒนา ภาคสถาพร, เรื่องเล่าและตำนาน อยุธยา อาณาจักรสยามสมัยรุ่งเรือง (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศรีปัญญาพิมพ์ครั้งที่ 1, กุมภาพันธ์ 2560), หน้า 121-122}
05. มีข้อมูล ข้อสันนิษฐานที่เห็นต่าง
การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นัง มังเดซ ปินโต ค.ศ.1537-1558 ตอนที่เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามไม่มีตอนใดที่กล่าวถึงการสงครามกับพม่า แต่เป็นสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ดังนี้
“เราไปถึงกรุงศรีอยุธยา [Odia] ข้าพเจ้าใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มที่นั่นใช้เงิน 100 ดูกาต์ ที่เพื่อนให้ยืมมานั้นเพื่อซื้อสินค้าตั้งใจว่าจะเอาไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นขณะเดียวกันกับที่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบว่าพระเจ้ากรุงเชียงใหม่[Chiammay] อันเป็นพันธมิตรกับพวกทิโมกูโฮ[Timocouhos] พวกลาวและแกว ชนชาติซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตอนเหนือเมืองกำแพงเพชร [Capimper]กับพิษณุโลก[Passiloco] ได้มาล้อมเมืองกีติรวัน[Quitirvan] อยู่ จึงโปรดฯให้ป่าวประกาศไปทั่วราชธานีว่า บุคคลใดที่ยังไม่แก่เฒ่าและไม่ง่อยเปลี้ยเสียขา ให้เตรียมพร้อมที่จะไปในกองทัพทุกคน ตลอดแม้คนต่างด้าวก็เช่นกัน นอกจากว่าจะเลือกเอาทางออกไปให้พ้นประเทศของพระองค์เสียภายใน 3 วันเท่านั้น สำหรับชาวโปรตุเกสซึ่งได้รับความยกย่องในประเทศนี้เหนือกว่าชนชาติอื่น ๆ นั้น พระองค์ก็โปรดฯให้กรมพระคลัง [Combracalam]ผู้รักษาพระนครมาขอร้องให้ร่วมไปในกองทัพของพระองค์ด้วยความสมัครใจ โดยพระองค์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นกองร้อยรักษาพระองค์อันเป็นการบังคับเราอย่างยิ่ง กระทั่งว่าในจำนวนชาวโปรตุเกส 130 คนนั้น ต้องโดยเสด็จงานพระราชสงครามด้วยถึง 120 คน
กองทัพนั้นเคลื่อนที่ไปโดยทางชลมารคเป็นเวลา 9 วัน จึงถึงเมืองหน้าด่านชื่อเมืองสุโรพิเสม [Suropisem] ห่างจากเมืองกีติรวันประมาณ 12-13 ลิเออ และพักอยู่ที่นั่นถึง 7 วัน เพื่อรอขบวนช้างที่เดินมาโดยทางสถลมารค พอขบวนช้างมาถึงพระองค์ก็ทรงนำเข้าโจมตีพวกที่ล้อมเมืองอยู่ทันที เป็นผลให้ข้าศึกแตกพ่ายไปภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงบังคับให้พระนางแห่งกีเบน[la reine de Guiben] ถวายเครื่องราชบรรณาการ เข้ายึดค่ายรอบทะเลสาบเมืองสิงกะปาโมร์[Singapamor]หรือเชียงใหม่ได้ 12 แห่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา มีการฉลองชัยกันอย่างครึกครื้นถึง 12 วันตามธรรมเนียมทางศาสนาของพวกนอกศาสนาเหล่านั้น” (การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นัง มังเดซ ปินโต ค.ศ.1537-1558,สันต์ ท. โกมลบุตร(แปล) :2526 :หน้า 65-67)
พม่าย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองจากตอนเหนือของลุ่มอิระวดีสู่บริเวณหัวเมืองมอญแถบเมาะตะมะของกษัติรย์พม่าในราชวงศ์ตองอู เมื่อราว พ.ศ.2084 ซึ่งทำให้ควบคุมเมืองท่าการค้าในยุคเริ่มแรกของการค้าทางทะเลที่ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทได้ และเริ่มต้นทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองท่าเช่นเดียวกัน พม่าเข้าโจมตีที่พระนครศรีอยุธยาครั้งแรกคราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้างเมื่อพ.ศ.2091 และยึดเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ.2101 ก่อนจะถึงสงครามช้างเผือกและสงครามเสียกรุง ในพ.ศ.2106 และ พ.ศ.2111 ตามลำดับ
แต่พงศาวดารพม่าก็ไม่มีเรื่องที่รบกับกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ชัยชนะเหนือเมืองเมาะตะมะเมื่อพ.ศ.2084 หลังจากสงครามเมืองเชียงกรานราว 3 ปี (สุเนตร ชุตินธรานนท์ :พม่ารบไทย, 2537 หน้า 146-147)
ในสงครามครั้งนั้น จึงเป็นการสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ในยุคที่กำลังอ่อนแอในเรื่องศูนย์อำนาจ พ.ศ.2081 ที่เกิดสงครามเมืองเชียงกรานเป็นปีสุดท้ายของพระเมืองเกษเกล้า มหาเทวีจิรประภาครองเมืองชั่วคราวระหว่างพ.ศ.2088-2089 ก่อนที่พระไชยเชษฐาจากล้านช้างจะมาครองเมืองเชียงใหม่ และปล่อยให้พม่ายึดครองเชียงใหม่ในราวอีก 10 กว่าปีต่อมา
เมืองเชียงกรานน่าจะอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองกำแพงเพชรและเมืองพิษณุโลก ในจดหมายเหตุลาลูแบร์การเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาถึงนครสวรรค์โดยทางเรือใช้เวลา 25 วัน แต่ถ้ารีบเร่งอาจใช้เวลาเพียง 12 วัน ปินโตชาวโปรตุเกสเล่าว่าใช้เวลาเดินทาง 9 วันจึงถึงเมืองหน้าด่าน Suropisem ซึ่งน่าจะอยู่เหนือขึ้นไปจากนครสวรรค์ไม่ไกลนักเพื่อรอทัพทางบก แล้วรวมทัพทางบกต่อไปถึงเมืองเชียงกรานหรือ [Quitirvan]ที่ห่างไปราว 50-60 กิโลเมตร
แผนที่แสดงตำแหน่งบริเวณปากลำน้ำเกรียงไกร หรือลำเชียงไกรในอดีต
ที่แยกออกจากแม่น้ำน่าน เหนือเมืองนครสวรรค์
บริเวณเมืองเชียงกรานจึงควรจะอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างอำนาจทางการเมืองของล้านนาและกรุงศรีอยุธยา เหนือกำแพงเพชรและพิษณุโลกขึ้นไปแต่ไม่น่าจะเข้าเขตทุ่งเสลี่ยมเมืองเถินเมืองลี้ซึ่งอยู่ในเขตล้านนา บริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงกรานที่เหมาะสมคือ ในกลุ่มเมืองสุโขทัยและเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย ซึ่งระยะทางจากสุโขทัยถึงศรีสัชนาลัยอยู่ในราวระยะ 50-60 กิโลเมตร เมืองเชียงกรานจึงน่าจะอยู่ที่ศรีสัชนาลัยมากที่สุด ซึ่งเป็นบริเวณเหนือปากน้ำโพขึ้นไป ลำเชียงไกรต่อกับแม่น้ำยมผ่านบริเวณกลุ่มเมืองเหล่านี้ ดังพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อลำน้ำและตำบลในแถบนี้เป็น แม่น้ำเกรียงไกรและตำบลเกรียงไกร ตามชื่อกำนันคือ ขุนเกรียงไกรกำราบพาล ในสมัยรัชกาลที่ 7 ปากน้ำเชียงไกรอยู่เหนือปากน้ำโพเล็กน้อย อยู่ฝั่งตรงข้ามและต่ำกว่าปากคลองบอระเพ็ดไม่มากนัก ปัจจุบันปากคลองแคบลงกว่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกกันว่าปากคลองบางพระหลวงมากกว่าแม่น้ำเกรียงไกร และแทบไม่มีผู้ใดรู้จักในชื่อลำเชียงไกรแล้ว
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : เคยพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543
ที่มา: ใน http://lek-prapai.org/home/view.php?id=884, วันที่สืบค้น 26 กันยายน 2561
06. พระเมืองเกษเกล้า (ท้าวอ้ายเกล้า, เคล้า) เริ่มครองราชย์ พ.ศ.2068 สิ้นสุดรัชกาล พ.ศ.2079 บ้างก็ว่า พ.ศ.2081 ทรงเป็นพระโอรสในพญาแก้วกับพระนางจิรประภามหาเทวี, ที่มา: http://huexonline.com/knowledge/22/152/
07. ที่มา: https://sites.google.com/site/nakrbthiy/nakrb-thiy-smay-xyuthya/smdec-phra-chiy-rachathirach, วันที่สืบค้น 10 ตุลาคม 2561.