MENU
TH EN

คำสอน คำกลอนจากปฏิทินธรรม ปี ๒๕๕๙

First revision: Feb.14, 2016
Last change: Jan.01, 2023
อยู่เย็น
เป็นสุข


#อยู่ให้เหมือนลิ้นงูในปากงู
LIVING PEACEFULLY AND HAPPILY

SIT LIKE THE TONGUE IN A SERPENT'S MOUTH


                                        จากปกแรกของปฏิทินธรรม ปี ๒๕๕๙
                                        จัดทำโดย ธรรมทานมูลนิธิ



 

 
มกราคม ๒๕๕๙
โลกไม่ มี ธรรม ทำ ยาตา.


โลกกำลัง     มีปัญหา     ว่าพระธรรม
สำคัญกว่า     ข้าวน้ำ     นั้นใช่ไหม
เราดีได้     เพราะศีลธรรม     บำรุงใจ
โลกวิไล     เลิศล้ำ     เพราะธรรมพา ?

พวกหนึ่งว่า : หิวนัก     ต้องอิ่มก่อน
แล้วค่อยสอน     ศีลธรรม์     กันเถิดขา
พวกหนึ่งว่า : จะอิ่มท้อง     ธรรมต้องมา
จนเจียนบ้า     เพราะศีลธรรม     ไม่ค้ำใจ ฯ


คนส่วนน้อย     สนใจ     ใคร่ธรรมะ
ส่วนมากผละ     หันเห     เถลไถล-
หาเนื้อหนังล     ทั้งแก่หนุ่ม     ฟุ่มเฟือยไป :
โลกเลยไม่     มีพระธรรม     ทำยาตา ฯ




กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
โลกพัฒนา

 
โลกพัฒนา     ที่เรียกว่า     developed
ดูจะทรุด      เพื่อจุดจบ     เสียมากกว่า
หรืออย่างน้อย     ให้จบเร็ว     กว่าธรรมดา
นึกแล้วพา     อนาถใจ,     ใคร่ท้วงติง :

เร่งพัฒนา     เหมือนเร่งฆ่า     ให้ตนตาย
ทรัพย์ธรรมชาติ     วอดวาย     คล้ายกับวิ่ง
ผลได้มา     เฟ้อกว่า     จำเป็นจริง
จนยุ่งขิง     กันไปหมด     อดเยือกเย็น


โลกพัฒนา     วัตถุเหลือ     เหนือภูมิธรรม
ไม่อิ่มหนำ     ไม่คิดเปลื้อง     พวกเรื่องเหม็น
เรื่องอวกาศ     เรื่องอาละวาด     เกินจำเป็น
ยิ่งโลดเต้น     ยิ่งสุมโศก     โลกพัฒนา !






มีนาคม ๒๕๕๙
คน จม โลก.


เมื่อยามว่าง     ขึ้นภูเขา     เราส่องกล้อง
เพื่อนเขาบอก     ให้ลอง     ส่องที่นก
ดูตรงที่     สีสรร     มันไม่ตก
ไม่สกปรก     เหมือนสี     ที่หล่อนทา,

โอ้นกเอ๋ย     เสียอย่างเดียว     เจียวหนอเจ้า
เจ้าดูแล้ว     ดูเล่า     ไม่เห็นฟ้า
เพราะมันอยู่     ชินชิด     ติดลูกตา,
เห็นเวหา     ได้เมื่อไร,     ไม่มีตาย ;


โอ้นกเอ๋ย     เคยคิด     กันบ้างไหม
ว่ามนุษย์     น้อยใหญ่     ให้เหลือหลาย
อยู่ในโลก     ไม่เห็นโลก     โรคงมงาย
จนวางวาย     ไม่เห็นคุณ     แห่งสุญญตา ฯ







เมษายน ๒๕๕๙
  ขอพระคุณ.
 
ขอพระคุณ     ทั้งผอง     คุ้มครองโลก
ได้พ้นโศก     ทุกข์ภัย     ไม่เสียดสี
มีสุขเด่น     ดังวิสา-     ขปุณณมี
ได้หลุดจาก     โลกีย์     เป็นอุดร ฯ

ให้ความเห็น     แก่ตัว     ทั่วโลกา
กลายเป็นอา-     รีรัก     สโมสร
มุทิตา     ต่อกัน     ทุกขั้นตอน
รับพระพร     คือพระธรรม     ใส่น้ำใจ ฯ


ให้กล้า     กลัวบาป     บังคับจิต
สุจริต     ระบบพุทธ์     วิสุทธิ์ใส
เกิดศาสนา     พระศรีอา-     รยเมตไตรย
ได้ทันใจ     ประจักษ์ตา     ทั่วหน้ากัน ฯ


 
 
พฤษภาคม ๒๕๕๙
วันวิสาขบูชา


บัดนี้ขอ     บังคม     บรมบาท
สมเด็จพระ     โลกนาถ     ชินสีห์
เนื่องในวัน     วิสาข     ปุณณมีนี้
พระปัญญา     บารมี     พิชิตชัย

ขจัดเสีย     ซึ่งความ     เห็นแก่ตน
ประสพผล     เป็นมหา-     อัตตาใหญ่
เป็นที่พึ่ง     แก่หมู่สัตว์     กำจัดภัย
ทั่วภพไตร     มีพระธรรม     กำจัดมาร


พระทรงมี     เมตตา     มหาพลัง
ขนสัตว์ขึ้น     จากฝั่ง     แห่งสงสาร
ได้พร้อมพรั่ง     ดังพระ     ประณิธาน
มวลหมู่มาร     พ่ายแพ้     แก่พระบารมี ฯ


 
 
 
มิถุนายน ๒๕๕๙
เมื่อ ธรรมะ โผล่ มา.


เมื่อพระธรรม     ถูกเฉลย     เผยให้เห็น
อย่างชัดเจน     แจ่มแจ้ง     แห่งศาสนา
ชนเหล่าใด     ยิ่งใหญ่     ด้วยปัญญา
ก็รับมา     ปฏิบัติ     ตามอรรถธรรม

ข้างพวกที่     มีปัญญา     อย่างสุกดิบ
ไม่รู้หยิบ     เอาคดี     ที่ลึกล้ำ
มัวลังเล     เก้กัง     ดั่งจะรำ
ก็ไม่รู้     จะระบำ     รำท่าใด


ข้างพวกโง่     เง่ากล้า     บ้าเนื้อหนัง
ก็ประดัง     โห่ธรรมะ     ว่า "บ้าใหญ่!
ธรรมะนี้     ไม่เห็นมี     ประโยชน์อะไร
เก็บเอาไว้     ให้คนโง่,     เราโห่กัน" ฯ


 
 
 
กรกฎาคม ๒๕๕๙
มัชฌิมาปฏิปทา.


พุทธศาสตร์     ถือมาตร     มัชฌิมา
: ไม่ถือว่า     "มีอยู่"     หรือ "สูญเปล่า" ;
ที่ความคิด     ปรุงเตลิด     เกิดเป็น "เรา"
นั่นเพราะเขลา     แห่งจิต     เห็นผิดเอง ฯ

: เอกกระแส     อิทัปปัจ     -จยตา
ไปจัดค่า     ว่าดี-ชั่ว     กันโฉงเฉง
"เกิด" หรือ "ตาย"     "แก" หรือ "ฉัน"     กันครื้นเครง

"อื่น" หรือ "เอง"     "นี้" หรือ "โน้น"     โพนทนา

ผิดไปหมด     จากกฎ     แห่งสัมมัตต์*
เป็นมิจฉัตต์     วนอยู่     ในสังสาร์
เป็นตัว "กู"     เกิด-ตาย-เกิด     ไม่เริศรา
มัชฌิมา     ไม่ปรากฎ :   อดนิพพาน ฯ

 
                                                                        * ความเป็นแห่งความถูกต้อง คือสมดุลย์:
                                                                           ที่ตรงกันข้าม เรียกว่า มิจฉัตต์:
 



 
 

สิงหาคม ๒๕๕๙
มณี ใน ปทุม.
 
"ดวงมณี"     นี้ค่า     เป็นอนัคฆ์
ประเสริฐศักดิ์     กว่าสิ่งใด     ในโลกหลาย
ใครมีไว้     ก็คือได้     ความไม่ตาย
มาเป็นของ     ประจำกาย,     หาไหนมี ฯ

มันเกิดอยู่     กลางดอก     ปทุมมาลย์
ยามเบิกบาน     ด้วยแสง     รวีศรี
มีอยู่ใน     ดวงหทัย,     ดูให้ดี
เมื่อคราวที่     ธรรมสว่าง     กระจ่างใจ.


ประพฤติธรรม     ให้สมควร     แก่ธรรมเถิด
ย่อมจะเกิด     ปทุมทอง     อันผ่องใส
ดอกบัวบาน     อยู่ในเรา     เขลาไปใย
ยิ่งหาไกล     ยิ่งไม่พบ     ยิ่งซบเซา ฯ

โอม มณี ปัทเม -หุม.



 
 

กันยายน ๒๕๕๙
วาง - ว่าง - ว้าง.


วาง จิตไว้     มิให้     หลงยึดมั่น -
ทุกสิ่งอัน     ไว้เพื่อ     เหยื่อตัณหา
มีสติ     ปล่อยมัน     ทันเวลา
เห็นธรรมดา :    ไม่ยึดมั่น     สิ่งอันใด ฯ

ว่าง จากความ     ยึดมั่น     เช่นนั้นแล้ว
จิตผ่องแผ้ว      ประภัสสร      สุดแจ่มใส
ว่างกิเลส     เผาลน :   พ้นจากไฟ
ทุกข์ไร ๆ     ว่างหมด     สุดงดงาม ฯ


ว้าง เวิ้งว้าง     กว่าทะเล     กว่าเวหา
ไม่มีสิ่ง     บีฑา     ที่น่าขาม
อยู่เหนือทุกข์     เหนือสุข     ทุกโมงยาม
วาง-ว่าง-ว้าง     นั่นคือความ     "งาม" นิรันดร์ ฯ




 

 
ตุลาคม ๒๕๕๙
หวง - ห่วง - ห้วง.


หวง อะไร     ก็เพราะใจ     ไปยึดมั่น ;
ย่อมหวงกั้น     ไปทุกท่า     น่าเวียนหัว,
มีความรัก     ความหึง     ตรึงใจตัว
ต้องหวาดกลัว     อยู่เพราะมัน     ทุกวันคืน ฯ

ห่วง เช่นนี้     มีมา     จากความหวง ;
ใครมีห่วง     ก็ตรอมตรม     ข่มใจฝืน
ซังกะตาย     มีชีวัง     ตายทั้งยืน ;
เมื่อหยุดห่วง     ทรวงระรื่น     จิตชื่นบาน ฯ


ห้วง เพราะห่วง     อันใหญ่หลวง :   ห้วงวัฏฏะ
มีจังหวะ     สามระยะ     เป็นสังสาร -
แห่งกิเลส     -กรรม-วิบาก     อนันต์นาน
หวง-ห่วง-ห้วง     นั่นทรมาน     นานนิรันดร์ ฯ



 

 
พฤศจิกายน ๒๕๕๙
อยู่ เหนือ กรรม.


อยู่เหนือกรรม     คือไม่ทำ     อะไร ๆ
ด้วยกิเลส     น้อยใหญ่ :   ด้วยใจหมอง ;
หากรับผล     กรรมเก่า     มาเข้าคลอง
ก็ไม่มอง     เขลาเห็น     เป็นของตน ฯ

เห็นเป็นเพียง     สุทธธรรม     ตามธรรมชาติ
ที่เป็นเอง     เกลื่อนกลาด     ทุกแห่งหน :
เหตุปัจจัย     ปรุงแต่งไป     ในวัฏฏ์วน :
เกิดเป็นผล :   กลับเป็นเหตุ ;   สังเกตดู ฯ


จนไม่ยึด     อะไร ๆ     ไว้เป็น "ตน"
หรือ "ของตน"     ก็หายไป     ไม่เหลืออยู่ ;
การกระทำ      ใด ๆ     ไม่ยึดว่า "กู" -
ซึ่งเป็นผู้     ที่กระทำ :   เหนือกรรมเอย ฯ



 

 
ธันวาคม ๒๕๕๙
อยู่ให้เหมือนลิ้นงูในปากงู.*


นั่นลูกตา     มองเห็น     ไม่เป็นหมัน
เขาใช้มัน     เล็งแล     แก้ปัญหา
อยู่ในโลก     อย่างไร     ไม่ทรมาน์
พิจารณา     ตรองไป     ให้จงดี.

อยู่ให้เหมือน     ลิ้นงู     ในปากงู
ไม่เคยถูก     เขี้ยวงู     อยู่สุขศรี
อยู่ในโลก     ไม่เคยถูก     เขี้ยวโลกีย์
เป็นเช่นนี้     อุปมา     อย่าฟั่นเฟือน.


คิดดูบ้าง     นั่งได้     ในปากงู
ก็ไม่ถูก     เขี้ยวงู     อยู่เสมือน
นั่งในห้อง     แสนสบาย     ภายในเรือน
มีเค้าเงื่อน     เหมือนพระ-     ภควันต์.


อยู่ในโลก     ไม่กระทบ     โลกธรรม
อยู่เหนือกรรม     เหนือทุกข์     เป็นสุขสันติ์
ใครมีตา     รีบเคารพ     นอบนบพลัน
รีบพากัน     ทำตาม     ยามนี้เอย ฯ


                                           *จากหนังสือ หัวข้อธรรมในคำกลอน และ
                                             บทประพันธ์ของสิริวยาส




 


 
humanexcellence.thailand@gmail.com