MENU
TH EN

คำสอน คำกลอนจากปฏิทินธรรม ปี ๒๕๔๖

First revision: Feb.14, 2016
Last revision: Feb.14, 2016

     ส.ค.ศ.

@ ปีใหม่มี     สำหรับดี     กว่าปีเก่า
     พืชมีเหง้า   ครบปี   ทวีหัว
     ทั้งขนาด     และจำนวน     ล้วนเกินตัว
     แต่คนชั่ว     กลับถอยถด     ดีลดลง

@ คือปีหน้า     เลวลงกว่า     ในปีนี้
     ไม่กี่ปี     จะหมดดี     เพราะมีหลง
     รู้สึกตัว     ละชั่ว     เพราะเห็นตรง
     ดีจะคง     ดีขึ้นไป     ชื่อใจเอยฯ

                           จากปกหน้าของปฏิทินธรรม
                           พุทธศักราช ๒๕๔๖



 

มกราคม ๒๕๔๖
มากินเวลากันเถิด


จงดูเถิด     คืนกับวัน     ไม่ผันแผก
ไม่มีแปลก     กันตรงไหน     ให้ศึกษา
ดูให้ดี     อย่างผู้ที่     มีปัญญา
จะเห็นเป็น     เพียง "เวลา"     ค่าเท่ากัน

:แจ้งหรือมืด     ไม่หดยืด     ให้เวลา
สั้นเข้ามา     หรือยาวไป     อย่างไรนั่น
มีแต่กิน     อายุสัตว์     กัดทั้งวัน
จงระวัง     อย่าให้มัน     ห้ำหั่นเอา


คือ อย่ามี     "ตัวกู"     เป็น "ของกู"
ที่ต้องอยู่     ต้องตาย;     จงหายเขลา
ให้จิตว่าง     จาก "ตัวกู"  :  รู้ว่างเปล่า
นั่นแหละเรา     กินเวลา     ฆ่ามันเตียน ฯ

 
 
 
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
วันนี้เอง   เร่งกระทำ   ซึ่งหน้าที่


ที่ล่วงแล้ว     แล้วไป     อย่าใฝ่หา
ที่ไม่มา     ก็อย่าพึ่ง     คะนึงหวัง
อันวันวาน     ผ่านพ้น     ไม่วนวัง
วันข้างหน้า     หรือก็ยัง     ไม่มาเลย,

ผู้ใดเฟ้น     เห็นชัด     ปัจจุบัน
เรื่องนั่นนั้น     แจ่มกระจ่าง     อย่างเปิดเผย
ไม่แง่นง่อน     คลอนคลั่ง     ดั่งเช่นเคย
รู้แล้วเลย     ยิ่งเร้า     ให้ก้าวไป,


วันนี้เอง     เร่งกระทำ     ซึ่งหน้าที่
อันวันตาย     แม้พรุ่งนี้     ใครรู้ได้
เพราะไม่อาจ     บอกปัด     หรือผัดไว้
ต่อความตาย     และมหา-     เสนามัน.


 
 
 
มีนาคม ๒๕๔๖
ขโณโว   มา   อุปจฺจคา


อันเวลา     จากอนันต์     สู่อนันต์
เวลานั้น     จำเพาะมี     นาทีหนึ่ง
เพียงหกสิบ     ตากะพริบ     รีบคะนึง
บังคับผึง     อย่าให้พลาด     เชิงชาติชาย,

อย่าหาพ้น     ภูมิของตัว,     หรือมัวคลำ
มันมีมา     ให้ท่านทำ     กำหนดหมาย
ภ้าปล่อยล่วง     เลยไป, ต้อง     เข้าคลองร้าย
จักเกิดเรื่อง     เคืองระคาย     ถ้านายแพ้,


สหายเอ๋ย     ระยะที่     นาทีเอก
อย่าโหยกเหยก     มีหกสิบ     กะพริบแน่
นาทีน้อย     กระจิดริด     พินิจแล้
อนันตศุข     มีแน่     ในนั้น เอย ฯ
 
 
 
เมษายน ๒๕๔๖
ขอบใจธรรมชาติ


ตัวฉัน มั่นหมาย ไม่ล้น     ไปกว่า ว่าตน เกิดมา เพียงเพื่อ ทำงาน
ตามเหตุ คือปัจ จยาการ     เพื่อตน และท่าน รู้โลก ชนะโลก โศกสูญ

ธรรมชาติ สร้างให้ สมบูรณ์     กายใจ จำรูญ ขอบใจ ธรรมชาติ เหลือหลาย
แม้สร้าง เพื่อเกิด แก่ตาย        แต่ก็ สร้างให้ ฉันได้ สามารถ แข็งขัน


ฟันผ่า หน้าที่ ทุกอัน     รุดหน้า ตะบัน เพื่อถึง ที่สุด ก่อนใคร
เมื่อเพื่อน พากัน หลับไหล     ฉันขยันใหญ่ ดุจใคร ไล่ติด ตามหลัง.
 

 
พฤษภาคม ๒๕๔๖
ทั้งวันเรามิได้ทำอะไร


"ทั้งวัน นั้นมิได้ ทำอะไร!"     เพราะรู้ แจ่มใจ ว่า "เรา" นั้นไม่ มีตัวตน
กาย&ใจ ทำใด ได้ผล     น้อยมาก หรือล้น ยกให้ เป็นของ กาย&ใจ

มิใช่ "กู" ทำ "กู" ได้     หรือ "กู" กำไร, ขาดทุน, งุ่นง่าน พล่าน "กู"
เหตุนี้ จึงว่า เราอยู่     สำราญ หราหรู ทั้งวัน มิได้ ทำอะไร!


เราเอง เตือนกัน ตะบันไป     คุมจิต อย่าให้ "ตัวกู-ของกู" จู่มา :
แม้งาน เสร็จสม ปรารถนา     อย่าไปหลงว่า เป็นงาน "กู" ทำ; ขำเอย ฯ

 
 

มิถุนายน ๒๕๔๖
ผู้มิได้ทำอะไร


ทั้งวัน ฉันมิได้ ทำอะไร     แต่สุข สนุกใจ เกินเปรียบ เกินกล่าว เล่ากัน!
ความสุข พิเศษ เช่นนั้น     ไม่ต้อง รำพัน; พูดกัน แต่จะทำ ฉันใด-

จึงจะเป็น "ผู้ไม่ ทำอะไร"     ทั้งวัน, อยู่ได้ ทั้งสุข ทั้งสนุก เหลือประมาณ.
เงื่อนงำ คือทำ จิตง่าน     อยู่แต่ ในงาน ที่ทำ, จนกระทั่ง ลืมไป-


ว่ามี "ฉัน" ผู้ ทำอะไร;     จิตไม่ มีใจ หลงไป ว่า "กู" ทำงาน :
สมาธิ ดิ่งเดี่ยว ที่ทำการ-     กระทำ ชำนาญ; ไม่ตู่ กูทำ เพื่อกู ฯ


 

 
กรกฎาคม ๒๕๔๖
มีไม่ต้องเป็นของกู


ถ้าจะอยู่     ในโลกนี้     อย่างมีสุข
อย่าประยุกต์     สิ่งทั้งผอง     เป็น "ของฉัน"
มันจะสุม     เผากระบาล     ท่านเป็นควัน
ต้องปล่อยมัน     เป็นของมัน,     อย่าผันมา-

เป็นของกู     ในอำนาจ     แห่งตัวกู
ท่านจะอยู่     วุ่นวาย     คล้ายคนบ้า
อย่างน้อยก็     เป็นนกเขา     เข้าตำรา
มันคึกว่า     "กูของกู"     อยู่ร่ำไป ฯ


ท่านหามา,     มีไว้,     ใช้หรือกิน
ตามระบิล,     อิ่มหนำ     ก็ทำไหว
โดยไม่ต้อง     มั่นหมาย     ให้อะไร ๆ
ถูกยึดไว้     ว่า "ตัวกู"     หรือ "ของกู" ฯ






สิงหาคม ๒๕๔๖
มีโดยไม่ต้องมีใครมี


ถ้ามีอะไรแล้วใจรู้สึกเหนื่อย
สำนึกเรื่อยว่ากูมีสิ่งนี้หนา
มีทั้ง "กู" ทั้ง "ของกู" อยู่อัตรา
นั่นอัตตามาผุดขึ้นในการมี ฯ

ถ้ามีอะไรมีไปตามสมมุติ
ไม่จับยุดว่า "ของกู" รู้วิถี
แห่งจิตใจไม่วิปริตผิดวิธี
มีอย่างนี้ย่อมไม่เกิดตัวอัตตา ฯ


ฉะนั้นมีอะไรอย่าให้มีอัตตาเกิด
เพราะสติอันประเสริญคอยกันท่า
สมบูรณ์ด้วยสัมปชัญญ์และปัญญา
นี้เรียกว่ารู้จักมีที่เก่งเกิน ฯ

เป็นศิลปะแห่งการมีที่ชั้นยอด     ไม่ต้องกอดไฟนรกระหกระเหิน
มีอย่างว่างว่างอย่างมีมีได้เพลิน     ขอชวนเชิญให้รู้มีอย่างนี้แล ฯ


 
 
 
กันยายน ๒๕๔๖
ใครชอบจิตไหน


จิตเดิมแท้     ไม่ แส่     หาอะไร
จิตใหม่ ๆ     แส่ หา     เป็นบ้าหลัง
จิตเดิมแท้     หยุด เย็น     เป็นกำลัง
จิตใหม่ ๆ     ร้อน คลั่ง     นั่งไม่ลง

จิตเดิมแท้     อิ่ม แปล้     ตลอดกาล
จิตใหม่ ๆ     หิว พล่าน     ด้วยความหลง
จิตเดิมแท้     แน่วแน่     แลมั่นคง
จิตใหม่ ๆ     พะว้า พะวง     หลงโลเล


จิตเดิมแท้    หา ได้     ที่หน้าผาก
จิตใหม่ ๆ     ไกล ไปมาก     ทั้งไขว้เขว
จิตเดิมแท้     อยู่ กับจิต     อย่างจำเจ
จิตใหม่ ๆ     ไถลเถล     เร่ร่อนแรง ฯ


 
 
 
ตุลาคม ๒๕๔๖
ความหงุดหงิด


ความหงุดหงิด     หลายชนิด     น่าคิดดู :-
หงุดหงิดอยู่     อย่างเฉียวฉุน     กรุ่นหนักหนา
หงุดหงิดอยู่     อย่างแน่นหนัก     ปักอุรา

ปฏิฆะ     เกิดปะทะ     ที่ดวงจิต
โทสจริต     สู่กระแส     แผ่ซ่านไหล
เมื่อไม่ได้     กระทำต่อ     ตามพอใจ
ก็หงุดหงิด     บิดหทัย     อยู่ไปมา


ยิ่งคิดเก่ง     อาจยิ่งเก่ง     เพื่อหงุดหงิด
ให้เกิดพิษ     มากมาย     หลายสาขา;
ต้องมีสติ     สลัดทัน     ด้วยปัญญา
มีจิตตา-     นุภาพพอ     ก็ง่ายดาย ฯ


 
 
 
พฤศจิกายน ๒๕๔๖
จิตตานุภาพ


จิตตานุภาพ     แท้จริง     สิ่งสูงสุด
ช่วยให้เกิด     จิตวิมุตติ     ที่สุดสูง
ถ้าใช้ผิด     ก็เสื่อม, สุด     จะฉุดจูง
ถึงเป็นยูง     จะเป็นกา     ไปท่าเดียว

หมั่นอบรม     สะสม     กำลังจิต
คราวละนิด     ตามแผน     ให้แน่นเหนียว
ให้ถูกต้อง     ตามประสงค์     ลงในเกลียว-
แห่งธรรม, เหนี่ยว     จุดมุ่ง     ตรงนิพพาน


แต่ละวัน     ถ้าใช้มัน     ในการกิจ
ยิ่งเป็นการ     ฝึกจิต     ผสมผสาน
พร้อมกันไป     กับได้ผล     แห่งการงาน;
ปฏิบัติธรรม     ทุกประการ     ในท่านเอง ฯ





ธันวาคม ๒๕๔๖
ชีวิต???


ชีวิตคือ     อะไรกัน?     ฉันคิดว่า :-
เป็นความ "บ้า" ของธรรมชาติ     ประหลาดขัน
ธาตุปรุงแต่ง     แห่งกาย-ใจ     ไขว่เป็นควัน
เป็นทาสความ     อร่อยชั้น     สัญชาตญาณ ฯ

ชีวิตมี     ทำไมกัน?     ฉันเห็นว่า :-
เพื่อความ "บ้า"     ถึงที่สุด     สิ้นสังสาร
สงบกาย     ใจเย็น     เป็นนิพพาน
อวสาน     แห่งความทุกข์     ทุกสิ่งอัน ฯ


ชีวิตทำ     อย่างไรกัน?     ฉันถือว่า :-
ต้องหยุด "บ้า"     ในอร่อย;     คอยผ่อนผัน
ตามองค์มรรค     แปดประการ     ประสานกัน
ทุกคืนวัน     ให้ถูกต้อง     คลองสัมมา ฯ
info@huexonline.com