Title Thumbnail & Hero Image: วัดป่าแดงหลวง จ.เชียงใหม่, ถ่ายไว้เมื่อ 5 เมษายน 2564
คำสอน คำกลอนจากปฏิทินธรรม ปี ๒๕๖๗
First revision: Dec.3, 2023
Last change: Jan.16, 2025
ชีวิตใหม่
คำว่า ชีวิตใหม่, ชีวิตใหม่ มันก็มีปัญหาว่า มันเป็นชีวิตใหม่มาจากไหน? มัน ก็คือชีวิตเก่า แต่ว่า พัฒนาให้ดีขึ้น ให้มากขึ้น, คือทำให้มันเจริญขึ้นมา ในลักษณะเหมือนกะว่ามันตรงข้ามกับของเดิม. เขาเรียกว่า ชีวิตใหม่ มันเหมือนกับการเกิดใหม่, เกิดใหม่โดยไม่ต้องตาย; อย่างนี้มีใช้พูดอยู่ในพระคัมภีร์: แม้การมาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนานี้ เขาก็เรียกว่าเกิดใหม่ เหมือนกัน; เพราะมันเปลี่ยนจิตใจ หรือเปลี่ยนอะไรใหม่หมด, เรียกว่าเกิดใหม่โดยอริยชาติ, เกิดในโลกใหม่ของพระอริยเจ้า. ฉะนั้น เราถึงแม้จะไม่ได้บวช อยู่ที่บ้านมันก็บวชได้โดยการทำให้มีผลเหมือนกับว่าชีวิตใหม่ หรือการเกิดใหม่, คือการปฏิบัติธรรมะให้สมบูรณ์, แล้วก็ได้รับผลชนิดที่ไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน. ดังนั้นจึงเรียกว่า ชีวิตใหม่, เป็นคำโลก ๆ เป็นคำนักประพันธ์อ่านเล่นอยู่มาก แต่ไปเป็นไรดอก ขอให้ใช้คำนี้แหละมันง่ายดี.
เดิม ๆ ที่เราเป็นมา เป็นชีวิตเก่าอย่างไร ขอให้สนใจให้ดี, ถ้าไม่รู้จักไม่สนใจให้ดี, แล้วก็ไม่มีทางที่จะรู้จักชีวิตใหม่; เพราะมันไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบ ในลักษณะที่ตรงกันข้าม, แม้ที่เป็นอยู่ตามธรรมดามาแต่ก่อน ก็ไม่รู้สึกว่ามันยังใช้ไม่ได้ มันยังไม่ดับทุกข์, มันยังระคนอยู่ด้วยความทุกข์. ถ้าว่ามันเป็น ชีวิตใหม่ มันก็ต้องแปลกอย่างตรงข้ามคือ ไม่ระคนอยู่ด้วยความทุกข์ นั่นเอง; ถ้าคนผู้นั้นไม่มองเห็นว่าตนมีชีวิตที่ระคนอยู่ด้วยความทุกข์ มันก็ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่ต้องการอะไรใหม่อีก, มันก็ปล่อยไปตามกรรม. เรื่องชีวิตใหม่จึงเป็นเรื่องของสติปัญญา, ของบุคคลผู้มีสติปัญญา..........
ในวันนี้ก็เป็นเรื่องเริ่มต้น ขอให้จัดให้เข้ารูปเข้ารอยว่ามัน จะต้องได้อะไร ในการที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา, จะได้รู้จักพระพุทธศาสนา; อันได้รับประโยชน์อันแท้จริงจากพระพุทธศาสนาเพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าของการที่ได้เกิดมา คือสามารถควบคุมชีวิตให้ดำเนินอยู่แต่ในความที่ถูกต้อง, ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์แต่ประการใดเลย.
ขอให้ทุกท่านมีความปรารถนา ตั้งใจที่จะเข้าให้ถึงจุด ๆ นี้ คือ มีความรู้ที่จะควบคุมสัญชาตญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกิเลส อันได้แก่สัญชาตญาณที่ควบคุมไว้ไม่ได้, มันเป็นเรื่องยากจริง แต่มัน เป็นเรื่องที่ทำได้; ถ้าเป็นเรื่องเหลือวิสัย พระพุทธเจ้าไม่นำมาตรัส, นี่ขอยืนยันแทนพระพุทธเจ้า. ถ้าเป็นเรื่องที่เหลือวิสัยปฏิบัติไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะไม่นำมาตรัสมาสอน; ถ้านำมาตรัสมาสอนก็ต้องเรียกว่ามันอยู่ในวิสัยที่คนผู้ฟังจะเข้าใจและประพฤติตามได้, ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจไว้อย่างนี้ มีความมุ่งหมายไว้อย่างนี้ มีเป้าหมายไว้อย่างนี้, แล้วก็คงจะได้ศึกษาให้มากยิ่งขึ้นไป ปฏิบัติให้สูงขึ้นไป, แล้วก็ได้รับผลเป็นชีวิตเย็น,
จากหนังสือ "ชีวิตใหม่" หน้า 8-9, 37-38 ธรรมบรรยาย โดย พุทธทาสภิกขุ
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
มกราคม ๒๕๖๗
ตรีคารวตา (เคารพ พระ รัตน ตรัย.)
คารวตรง องค พระพุทธ์
ผู้บริสุทธิ์ เหตุชนะมาร
เพื่อมนะมั่น ขันชนะการ
ทุกขประหาร เยี่ยงกะพระองค์
คารวยิ่ง ดิ่ง ณ พระธรรม
ซึ่งอุประถัมภ์ โลกะประจง
เพื่อประลุศุข ทุกขณะ, คง
เย็นมนะยง ยิ่ง ช ล เย็น
คารวรัก หนัก ณ พระสงฆ์
ซึ่งจะ ธ รง ศาสนาเพ็ญ
เพื่อจะประคอง ปองมนะเป็น -
เยี่ยง ก ล เห็น ซึ่งสุวนิทัศน์
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
ชี วิต ???
ชีวิตคือ อะไรกัน ? ฉันคิดว่า :-
เป็นความ "บ้า" ของธรรมชาติ ประหลาดขัน
ธาตุปรุงแต่ง แห่งกาย-ใจ ไขว่เป็นควัน
เป็นทาสความ อร่อยชั้น สัญชาตญาณ ฯ
ชีวิตมี ทำไมกัน ? ฉันเห็นว่า :-
เพื่อความ "บ้า" ถึงที่สุด สิ้นสังสาร
สงบกาย ใจเย็น เป็นนิพพาน
อวสาน แห่งความทุกข์ ทุกสิ่งอัน ฯ
ชีวิตทำ อย่างไรกัน ? ฉันถือว่า :-
ต้องหยุด "บ้า" ในอร่อย ; คอยผ่อนผัน
ตามองค์มรรค แปดประการ ประสานกัน
ทุกคืนวัน ให้ถูกต้อง คลองสัมมา ฯ
มีนาคม ๒๕๖๗
เรียนชีวิต.
เรียนชีวิต อย่าแสวง จากแหล่งนอก
อย่าเข้าไป ในคอก แห่งศาสตร์ไหน
อย่ามัวคิด ยุ่งยาก ให้ผากใจ
อย่าพิจารณา จาระไน ให้นุงนัง
อย่ายึดมั่น นั่นนี่ ที่เรียนกฎ
มันตรง ๆ คด ๆ อย่างหมดหวัง
จงมองตรง ลงไปที่ "ชีวิตัง !"
ดูแล้วหยั่ง ลึกลงไป ในชีวิต:
ให้รู้รส หมดทุกด้าน ที่ผ่านมา
ให้ซึมทราบ วิญญาณ์ อย่างวิสิฏฐ์
ประจักษ์ทุกข์ ทุกระดับ กระชับชิด
ปัญหาชีวิต จะเผยออก บอกตัวเอง ฯ
เมษายน ๒๕๖๗
สติสัตว์ - สติมนุษย์.
สติ "สัตว์" ตามบัญญัติ ว่า "สมปฤดี"
เพียงเท่านี้ มีกันได้ ไม่แปลกหนา
เพียงไม่เมา ไม่สลบ ไม่นิทรา
คนหรือปลา ก็มีได้ ไม่แปลกกัน
สติ "มนุษย์" สูงสุด กว่านั้นนัก
มีปัญญา อันประจักษ์ ประจวบมั่น
ระลึกอยู่ รู้สึกอยู่ และรู้ทัน
ไม่มีวัน ที่จะเกิด กิเลสมา :
ระลึกได้ ทันที ที่มีอะไร-
มาปรุงให้ เกิดจิต จริตบ้า
ว่า "ตัวกู"; หยุดอยู่; รู้ธรรมดา;
นี้เรียกว่า สติของ "มนุษย์แท้" ฯ
พฤษภาคม ๒๕๖๗
(อายตนะภายใน หก.)
ตา ฉันชอบ แต่รูป ที่ไร้ภาพ
ท่านคงไม่ อาจทราบ ว่ามันไฉน
หู ฉันชอบ เสียงเงียบ เชียบสุดใจ
หูของท่าน คงไม่ รู้จักฟัง
จมูก ฉัน ชอบกลิ่น ที่ไร้กลิ่น
มิใช่เพราะ จมูกวิ่น อย่างสิ้นหวัง
ลิ้น ของฉัน ชอบรส ที่ไม่รัง-
แต่จะรั้ง น้ำลายออก หลอกคนกิน
กาย ฉันชอบ สัมผัสเอก อุเบกขา
เกินกว่านิ่ม ธรรมดา อย่าเพ่อฉิน
ใจ ฉันชอบ อารมณ์ว่าง อย่างอกิญจน์
ดูให้สิ้น กระแสเถิด เลิศเหลือใจ ฯ
นี่ตาเลิศ หูเลิศ จมูกเลิศ
ลิ้นก็เลิศ กายก็เลิศ ประเสริฐใหญ่
ใจก็เลิศ รวมกันเลิศ ประเสริฐไกล
กว่าที่อะไร จะอาจทำ ให้ก่ำกาม ฯ
มิถุนายน ๒๕๖๗
(อายตนะภายนอก หก.)
รูป งามเลิศ คือรูป ที่ไร้ภาพ
ท่านคงไม่ เคยทราบ ว่าเป็นไฉน
เสียง สุดเพราะ คือเสียงเงียบ เชียบสุดใจ
เสียงใด ๆ ไม่ไพเราะ กว่าเสียงนั้น,
กลิ่น เอกอุตม์ สูงสุด กว่ากลิ่นใด
คือกลิ่นไม่ ส่งกลิ่น สักนิดนั่น
รส อร่อย กว่าทุกรส คือรสอัน -
ไม่ผูกพัน ลิ้นให้ หลงใหลรส
สัมผัส ใด ไม่นวลนิ่ม เสน่หา
เท่าสัมผัส อุเบกขา อันหมดจด
ธรรมารมณ์ ใดใด ไม่งามงด
เหมือนที่หมด กิเลสกวน รวนเร้าใจ.
นี่รูปเลิศ เสียงเลิศ กลิ่นก็เลิศ
รสก็เลิศ สัมผัสเลิศ ประเสริฐใหญ่
ธรรมารมณ์ รวมกันเลิศ ประเสริฐวิไล
ไม่ทำใคร ให้ก่ำกาม งดงามจริง ฯ
กรกฎาคม ๒๕๖๗
สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย.
สิ่งทั้งปวง ล้วนแต่ลวง ให้ยึดมั่น
ได้เท่ากัน ทั้งที่ ดี และ ชั่ว
ที่ว่าดี ยึดไว้เพราะ "ได้" แก่ตัว
ที่ว่าชั่ว ยึดเพราะกลัว ตัว "เสีย" อะไร
ก่อให้เกิด หนักใจ ได้เท่ากัน
ไม่ว่าจะ ยึดมั่น นั้นแง่ไหน
ดีดั่งหมาย เดี๋ยวก็กลาย เป็นจืดไป
สิ่งใด ๆ ก็ต้องเป็น เช่นว่ามา
ถ้าอย่าหลง ยึดมั่น ทั้งชั่ว ดี
จะวางจิต ถูกวิธี ทั้งหลัง-หน้า
ชั่วและดี กลายเป็นเครื่อง เรืองปัญญา
ไม่เป็นบ้า เพราะชั่ว-ดี, นี่! นิพพาน ฯ
1.
2.
สิงหาคม ๒๕๖๗
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา.
ธรรมทั้งมวล ล้วนไม่ควร ไปหมายมั่น
จะสำคัญ วิปริต ผิดวิสัย
กระทั่งเห็น เป็น "ตัว" เป็น "ตน" ไป
แล้วแยกได้ เป็น "ตัวกู" ตัว "สู" มา
แล้วเลยไป เป็น "ของกู" และ "ของสู"
แล้วจะจู่ ยึดว่า "เลว" หรือ "ดี" กว่า
เกิดยินดี หรือยินร้าย ในเวลา -
สมปรารถนา หรือผืดหวัง : คลั่งอารมณ์
บ้างร้อนใจ ดั่งไม้ อยู่ในนรก
บ้างสกปรก เมื่อได้กาม ตามทับถม
แสนสนุก เวียนว่าย ในเลนตม
หยุดหลงงม เมื่อเห็นชัด "อนัตตา"
1.
2.
กันยายน ๒๕๖๗
ความหงุดหงิด.
ความหงุดหงิด หลายชนิด น่าคิดดู :-
หงุดหงิดอยู่ อย่างเฉียวฉุน กรุ่นหนักหนา
หงุดหงิดอยู่ อย่างหนักแน่น ปักอุรา
บางอย่างเกิน จะรู้ว่า มันเรื่องอะไร
ปฏิฆะ เกิดปะทะ ที่ดวงจิต
โทสจริต สู่กระแส แผ่ซ่านไหล
เมื่อไม่ได้ กระทำต่อ ความพอใจ
ก็หงุดหงิด บิดหทัย อยู่ไปมา
ยิ่งคิดเก่ง อาจยิ่งเก่ง เพื่อหงุดหงิด
ให้เกิดพิษ มากมาย หลายสาขา:
ต้องมีสติ สลัดทัน ด้วยปัญญา
มีจิตตา- นุภาพพอ ก็ง่ายดาย ฯ
(ต่อท้ายด้วยจิตตานุภาพ)
1.
2.
ตุลาคม ๒๕๖๗
จิตตานุภาพ.
1.
จิตตานุภาพ แท้จริง สิ่งสูงสุด
ช่วยให้เกิด จิตวิมุตติ ที่สุดสูง
ถ้าใช้ผิด ก็เสื่อม, สุด จะฉุดจูง
ถึงเป็นยูง จะเป็นกา ไปท่าเดียว
หมั่นอบรม สะสม กำลังจิต
คราวละนิด ตามแผน ให้แน่นเหนียว
ให้ถูกต้อง ตามประสงค์ ลงในเกลียว -
แห่งธรรม, เหนี่ยว จุดมุ่ง ตรงนิพพาน
แต่ละวัน ถ้าใช้มัน ในการกิจ
ยิ่งเป็นการ ฝึกจิต ผสมผสาน
พร้อมกันไป กับได้ผล แห่งการงาน;
ปฏิบัติธรรม ทุกประการ ในท่านเอง ฯ
1.
2.
พฤศจิกายน ๒๕๖๗
แสง แห่ง ความ ว่าง!
1.
แสงกลางวัน นั้นทำให้ ไม่เห็นดาว
เป็นความมืด สีขาว มันเบ่งจ้า
แสงกลางคืน เห็นดาวพร่าง กระจ่างตา
เพราะเหตุว่า "แสงบ้า" หลบหน้าไป.
แม้กระนั้น ก็ไม่แรง เท่า "แสงธรรม"
ที่ไม่ขาว ไม่ดำ เป็นแสง "ใส"
เป็นแสงแห่ง "ความว่าง" กระจ่างใจ
จึงส่องให้ เห็นนิพพาน, :อย่าคร้านมอง,
แม้จิตว่าง ก็กระจ่าง "ธรรมจักษุ"
เห็นทะลุ เกินไกล ในธรรมผอง
ทั้งเกินกว้าง เกินลึก เกินตรึงตรอง
เชิญท่านลอง สืบแสวง แสง "ว่าง" ดู (เอย.)
1.
2.
ธันวาคม ๒๕๖๗
อยู่ เหนือ กำม์.
1.
อยู่เหนือกำม์ : ทำอะไร ไม่เป็นกรรม
ไร้กิเลส ที่ชักนำ ทำให้หมอง
แม้รับผล วิบากกรม ตามทำนอง
ก็ไม่มอง เขลาเห็น เป็นของตน.
คงเห็นเป็น สุทธธรรม ตามธรรมชาติ
ที่ไหลไป เกลื่อนกลาด ทุกแห่งหน
เหตุปัจจัย ปรุงแต่งไป ในวัฏฏ์วน:
เกิดเป็นผล : กลับเป็นเหตุ : สังเกตดู
จนไม่ยึด อะไร ๆ ไว้เป็นตน
หรือของตน ก็หายไป ไม่เหลืออยู่
การกระทำ กรรมใด ๆ ไร้ "ตัวกู" -
ซึ่งเป็นผู้ ที่กระทำ : เหนือกรรม เอย.