MENU
TH EN

คำสอน คำกลอนจากปฏิทินธรรม ปี ๒๕๖๖

คำสอน คำกลอนจากปฏิทินธรรม ปี ๒๕๖๖
First revision: Jan.01, 2023
Last change: Sep.21, 2023
 
ทางชนะ  | มันมีทางชนะทุกข์ทุกประเด็น
     
       การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา: ต้องเกี่ยวข้องกับสติสัมปชัญญะและสมาธิ.
       ทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงการที่จะมีชีวิตด้วยปัญญา; ข้อนี้มันคาบเกี่ยวกันกับธรรมะข้ออื่นอยู่บางข้อ. ปัญญามันเป็นความรู้ มันเก็บไว้ในส่วนลึกของจิตใจ, ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งขนเอาออกมา; เหมือนกับว่าอาวุธมีเก็บไว้ในที่เก็บเรียบร้อย มันต้องมีการไปหยิบเอามาทำการต่อสู้ข้อศึกศัตรู.
       ปัญญาเหมือนอาวุธ เก็บไว้ในที่เก็บ คือส่วนลึกของจิตใจ. ครั้นเหตุการณ์เกิดขึ้น มันต้องมีอะไรไปหยิบเอามา; สิ่งนั้นคือ สติ สติ ๆ ๆ . สติมันระลึกได้ แล้วมันก็มีอาการเหมือนกับว่าไปขนเอามา ไปขนเอาปัญญามา. แต่ต้องด้วยลักษณะที่รวดเร็ว รวดเร็ว. คำว่า สติ แปลว่า สิ่งที่แล่นไปเร็ว; คำคำนี้เป็นคำเดียวกับคำว่า สร (สะระ) หรือ ลูกศร. คนโบราณเขาไม่มีปืนใช้ เขามีลูกศรใช้, แล้วก็เห็นความเร็วของลูกศร เอาเป็นมาตรฐานสำหรับความเร็ว; เป็นคำเดียวกันกับคำว่าสติ. สติแล่นเร็ว สติคือสิ่งที่แล่นไปเร็ว, มันก็คือความระลึกของจิตที่ระลึกได้เร็ว, ระลึกถึงปัญญาที่ได้สะสมไว้อย่างไร.
       ได้สะสมอบรมปัญญาไว้อย่างมากมายอย่างไรในสันดาน; พอเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา ต้องมีสติเกิดขึ้น ระลึกถึงปัญญานั้น ไปเอาปัญญาที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์มา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร, อย่างน้อยที่สุดก็รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เอามา สำหรับจะเผชิญหน้ากับอารมณ์และเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น.
       ครั้นปัญญานั้นถูกสตินำเอามาแล้ว; ปัญญาเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นี่เราจะเรียกชื่อใหม่หรือต้องเรียกชื่อใหม่ว่า สัมปชัญญะ. เมื่อเก็บไว้มาก ๆ ตามธรรมดาปกติ เรียกว่า ปัญญา; แต่พอหยิบเอามาใช้เฉพาะหน้าเหตุการณ์ให้ตรงกับเรื่องราวแล้ว ก็เรียกว่า สัมปชัญญะ แปลว่า รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่, ก็เป็นปัญญาเหมือนกัน.
       ปัญญาเมื่อเก็บไว้ในคลัง เรียกว่า ปัญญา, ปัญญาเมื่อทำหน้าที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ เรียกว่า สัมปชัญญะ. ปัญญา แปลว่ารู้ทั่ว. สัมปชัญญะ แปลว่า รู้ทั่วพร้อม, สัม แปลว่า พร้อม, ปะ แปลว่า ทั่ว, ชัญ ชัญญา แปลว่า รู้, ทีนี้ ปัญญา : ปะ แปลว่า ทั่ว, ญา แปลว่า รู้; ปัญญาแปลว่า รู้ทั่ว. สัมปชัญญะ แปลว่า รู้ทั่วพร้อม, มันก็คือปัญญานั่นแหละ แต่ปัญญาที่เผชิญหน้ากันอยู่กับข้าศึก; นี่ก็เกิดมีสัมปชัญญะ ที่เผชิญหน้าอารมณ์.
       ถ้าว่าสัมปชัญญะมีกำลังน้อย ๆ . น้อยไป ก็เอากำลังของสมาธิมาเพิ่มให้; ให้สมาธิเพิ่มกำลังแก่สัมปชัญญะ, ไอ้ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมหรือปัญญานั้นมันก็แรงมาก มีแรงมาก มันจึงจะสามารถขจัดปัญหาที่เกิดมาแต่อารมณ์นั้น ๆ ได้ : ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์นั้น ๆ มันก็ถูกระงับไปได้ด้วยอำนาจของปัญญาที่มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนในทางกำลัง.
       ปัญญา เปรียบเหมือนกับความคม, สมาธิ เปรียบน้ำหนักหรือกำลัง; ถ้ามีแต่ความคม ไม่มีกำลังหรือน้ำหนัก แล้วมันก็ตัดอะไรไม่เข้า. เช่นมีดมันจะคมอย่างไร วางเฉย ๆ มันก็ตัดไม่ได้; มันต้องมีน้ำหนักหรือกำลังที่จะกดลงไป มันจึงจะตัดอะไรได้.
       นี่ปัญญามาแล้ว เป็นสัมปชัญญะเผชิญหน้าอารมณ์อยู่แล้ว; แต่น้ำหนักก็ยังไม่พอ ต้องเพิ่มสมาธิเข้าไป. สมาธินี้เอามาจากไหน? มันก็เอามาจากที่เราฝึกไว้ดี ฝึกไว้คล่องแคล่วนั่นแหละ. ขอยืนยันโดยเฉพาะอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าฝึกจิตในระบบอาณาปานสติที่เคยสอนกันอยู่ทุกวันนี้แล้วละก็ จะเป็นผู้มีสติมากพอ จะเป็นผู้มีปัญญามากพอ จะมีสัมปชัญญะมากพอ จะมีสมาธิมากพอ และอื่น ๆ อีก,ไม่ใช่เฉพาะ 4 อย่างนี้เท่านั้น. 4 อย่างที่ต้องใช้จำเป็นออกหน้าออกตานี้มีเกินพอแหละ, ถ้าฝึกอานาปานสติสำเร็จนะฝึกสำเร็จนะ, ไม่ใช่แต่สักแต่ว่าฝึกหยอง ๆ แหยง ๆ นี่มันก็ไม่ได้. มันต้องฝึกชนิดที่ประสบความสำเร็จแล้วคนนั้นก็จะมีสติมากพอ ปัญญามากพอ สัมปชัญญะมากพอ สมาธิมากพอ.
       ขอให้สนใจเถิด มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องจะไปนิพพานดอก; แม้เรื่องที่จะอยู่ในโลกนี้ จะทำนา จะค้าขาย จะทำราชการ หรืออะไรมันก็ต้องมี 4 สิ่งนี้แหละเผชิญหน้ากับอารมณ์และเหตุการณ์ จึงจะเอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้ : มีสติระลึกถึงปัญญาที่มีอยู่เพียงพอ, เอาปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ สู้หน้ากับเหตุการณ์, แล้วเพิ่มกำลังจิตคือสมาธิให้มัน.

 
จากหนังสือ "พุทธวิธีชนะความทุกข์" หน้า 263-265 ธรรมบรรยาย โดย พุทธทาสภิกขุ
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

 


มกราคม ๒๕๖๖
คาถาช่วยโชค.


พวกเราเอ๋ย     จงกระทำ     กรรมดี ๆ
ให้ทั้งคน     และผี     ชมเชยได้
พอทำดี     เราก็อิ่ม     กริ่มในใจ
คนทั่วไป     ก็ป่าวบอก     ออกทั่วเมือง


ทุกคนรู้     ทุกคนชม     อยู่ในใจ
แล้วจะเป็น     อย่างไร     ใคร่รู้เรื่อง:
มันจะซวย     หรือจะสวย     ด้วยรุ่งเรือง
จะขุ่นเคือง     หรืออะเคื้อ     เมื่อรับกรรม


ที่แน่นั้น     มันส่งไป     ให้เจริญ
ไม่เก้อเขิน     เปล่งปลั่ง     วันยังค่ำ
เป็นสวรรค์     เป็นในใจ,     ไม่ระกำ
ผีชมคำ     คนชมคำ     ทำให้รวย ฯ




กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
ตัวเอง.


สิ่งรู้จัก     ยากที่สุด     กว่าสิ่งใด
ไม่มีสิ่ง     ไหน ๆ      ได้ยากเท่า
สิ่งนั้นคือ     "ตัวเอง"     หรือตัวเรา
ที่คนเขลา     หลงว่ากู     รู้จักดี ฯ


ที่พระดื้อ    เณรดื้อ     และเด็กดื้อ
ไม่มีรื้อ     มีสร้าง     อย่างหมุนจี๋
เพราะความรู้     เรื่อง "ตัวกู"     มันไม่มี
หรือมีอย่าง     ไม่ประสี     ประสาตรง ฯ


อัน "ตัวกู"  -  "ของกู"     ที่รู้สึก
เป็นตัวลวง     เหลือลึก     หลอกคนหลง ;
ส่วนตัวธรรม     เป็นตัวจริง     ที่ยิ่งยง
หมดพิษสง :  เลิก "ตัวกู"     รู้ตัวธรรม ฯ




มีนาคม ๒๕๖๖
จงรู้จักตัวเอง.


"จงรู้จัก     ตัวเอง"     คำนี้หมาย
มิดีร้าย     อยู่เท่าไร      เร่งไขขาน
ข้างฝ่ายดี     มีไว้     ในดวงมาน
ข้างฝ่ายชั่ว     รีบประหาน     ให้หมดไป


จงรู้จัก    ตัวเอง     คำนี้หมาย
ว่าในกาย     มีกิเลส     เป็นเหตุใหญ่
จึงสาระแน     แต่จะทำ     บาปกรรมไกล
ต้องควบคุม     มันไว้     ให้รักบุญ.


จงรู้จัก     ตัวเอง     คำนี้หมาย
สังขารไร้     ตนตัว     มัวแต่หมุน
ไปตามเหตุ     ปัจจัย     ที่ไส-รุน
พ้นบาปบุญ    ชั่วดี     มีนิพพาน ฯ



เมษายน ๒๕๖๖
บุ ถุ ชน.


หนาด้วยความ     เห็นแก่ตัว     มั่วยึดมั่น
ว่า "ตัวฉัน"     "ของฉัน"      มั่วมั่นหมาย
เป็นตัวตน     นอกใน     ใจหรือกาย
ตั้งแต่เกิด     จนตาย     ไว้เป็นตัว


ด้วยอำนาจ    อวิชา     ดั่งตาบอด
เกิดขึ้นสอด     ไปทุกกาล     สถานทั่ว
ต้องหลงรัก     หลงโศก     เกิดโรคกลัว
เป็นไฟคั่ว     ใจ-กาย     ให้ร้อนรน.


อย่างนี้แล     เวียนว่าย     ในวัฏฏทุกข์
ไม่เยือกเย็น     เป็นศุข     สักเส้นขน
เห็นตัวทุกข์    ว่า เป็น     ตน-ของตน
นี่แหละหนา    "บุถุชน"     คนหนาจริง ฯ



พฤษภาคม ๒๕๖๖
กัลยาณชน.


กัลยาณชน     นั้นละได้     ในส่วนผิด
มายึดติด     มากมาย      ฝ่ายกุศล
หมายมั่นเห็น     ว่าเป็น     ตน-ของตน
เท่ากันกับ     บุถุชน     ยึด "กาม-กู" ฯ


แม้ความยึด    จะเท่ากัน     แต่มันแปลก
มันเกิดแยก     ทางกัน     ดูขันอยู่:
ข้างหนึ่งยึด     ความทราม     กาม-เชิดชู
ข้างหนึ่งยึด     ความหรู     กุศลงาม ฯ


บุถุชน     เคยหนาทึบ     ด้วยฝ้าตา
ครั้นบางมา     เริ่มเห็นรัต-     นะสาม
คือพระพุทธ์    พระธรรม     พระสงฆ์, ตาม-
ความเป็นจริง    ใจหยุดทราม     นาม "กัลยาณ์" ฯ



มิถุนายน ๒๕๖๖
อริยชน.


อริยะ     แปลว่า "ผละ     จากข้าศึก"
ไม่จมลึก     อยู่ในโลก :     โศกสลาย
จนไม่มี     ข้าศึกใหญ่     ทางใจ-กาย
เพราะจางคลาย     คือวิโยค     เป็นโลกเย็น ฯ


เป็นบุถุชน    กันทำไม     ให้นานเล่า ?
จะตายเปล่า     ไปทั้งชาติ,     ฉลาดเห็น:
มันมีทาง     ชนะทุกข์     ทุกประเด็น
อย่ามัวเป็น     ปู่โสม*     เรื่องโคมลอย ฯ


ทิฏฐิว่า     "ตัวกู"     และ "ของกู"
มุ่งมล้าง     มันอยู่     ไม่ท้อถอย
กิเลสหลาย    เริ่มมลาย     ไม่รัดร้อย
นี่คือรอย    อริยา     รีบหาเอย ฯ
*เฝ้าวัฏฏสงสาร


กรกฎาคม ๒๕๖๖
พระอรหันต์.


"อรหันต์"     นั้นคือ "ถูก"     ถึงที่สุด
ทางวิมุตติ     จากทุกข์     ทุกสาขา
ถึงความเต็ม     แห่งมนุษย์     สุดพรรณนา
ควรแก่การ     วันทา     ยิ่งกว่าใคร ฯ


ท่านหักแล้ว    ซึ่งวง     แห่งวัฏฏ์วน
ไม่มีตน     เวียนว่าย     ในภพไหน
เหนือบุญ-บาป     ชั่ว-ดี :     มีแต่ใจ-
ที่ว่างไป     จาก "ตัวกู"     และ "ของกู" ฯ


จิตหลุดจาก     ทุกอย่าง     ที่เคยติด
ไม่มีพิษ     มีภัย     ได้เหลือ อยู่-
เหนือความเกิด    ความตาย ;     ใคร่ครวญดู
จะได้รู้    พระนิพพาน     อย่างท่าน แล ฯ




สิงหาคม ๒๕๖๖
ความ เป็น พระ.


ความเป็นพระ     คือจิตพราก     จากกิเลส
รู้สังเกต     ไม่ประมาท     ฉลาดเฉลียว
สำรวมระวัง     รักษาใจ     ไปท่าเดียว
เพื่อหลีกเลี้ยว     ภัยทั้งสาม     ไม่ตามตอม


จากเรื่องกิน    เรื่องกาม     และเรื่องเกียรติ
เห็นเสนียด     ในร้อนเย็น     ทั้งเหม็นหอม
ไม่ยินดี     ไม่ยินร้าย     ไม่ออมชอม
กิเลสล้อม     ลวงเท่าไร     ไม่หลงลม


จิต-สะอาด     ใจ-สว่าง     มโน-สงบ
ทั้งครันครบ     กายวจี     ที่เหมาะสม
ความเป็นพระ    จึงชนะ     เหนืออารมณ์
โลกนิยม   กระหยิ่มใจ     จึงไหว้ แล ฯ




กันยายน ๒๕๖๖
โพธิสัตว์.


โพธิสัตว์     คือสัตว์     มุ่งพัฒนา
ให้โพธิ     แก่กล้า     เต็มความหมาย
ดูให้ดี     มีอยู่จริง     สิ่งใกล้กาย
ดูงมงาย     ไม่เห็นมี     ที่ไหนเวย ฯ


ถ้าทุกคน    ดิ้นรน     ปรนโพธิ
มันค่อยผลิ     ออกไป     ไม่หยุดเฉย
ถ้ามัวแต่     ร้องว่าแย่     ยอมแพ้เว้ย
ในโลกเลย     ไม่มี     โพธิชน ฯ


อย่ายอมแพ้     มุ่งแต่     ปลุกโพธิ
ให้เต็มสติ     เต็มกำลัง     หวังเอาผล
ไม่เสียที    ที่ได้เกิด     มาเป็นคน
ได้ผ่านพ้น    อวิชชา     เพราะกล้ากระทำ ฯ




ตุลาคม ๒๕๖๖
อริยอริยา.


"อริยา"     แปลว่า     "แบบการฝึก-
เพื่อพ้นจาก     ข้าศึก"     ตามประสงค์
มีศาสดา     นานาพรรค์     ต่างบรรจง
บัญญัติองค์     อริยา     ตรากฎเกณฑ์


เลยเกิดมี    อริยา     นานาแบบ
มียลแยบ     หลายหลาก     ยากจะเห็น
ว่าแบบไหน     พออาศัย     ให้ได้เป็น
เครื่องดับเย็น     จากทุกข์     ได้ทุกทาง


ชาวพุทธ์เรา     ถือเอา     อริยมรรค
มีองค์แปด*     โดยประจักษ์     ไม่อางขนาง
เรียก    "อริยอริยา"     มาสายกลาง
เพื่อแตกต่าง    อริยา     นานาพรรค์ ฯ


ความถูกต้อง    แปดประการ     ประสานสนิท
อาจพิชิต     กิเลสร้าย     ในกองขันธ์
ทำลายเหง้า     อวิชชา     จึงพากัน
ลุถึงขั้น     อริยา     มาเหนือดี ฯ


* ซึ่งรู้หรือได้ยินจนชินหู
(ที่มา มหาสีหนาทสูตร มู.ม. 12/162/186 บรรทัด 10 นับลง)



พฤศจิกายน ๒๕๖๖
มัชฌิมาปฏิปทา.


พุทธศาสตร์     ถือมาตร     มัชฌิมา
: ไม่ถือว่า     "มีอยู่"     หรือ "สูญเปล่า";
ที่ความคิด     ปรุงเตลิด     เกิดเป็น "เรา"
นั่นเพราะเขลา     แห่งจิต     เห็นผิดเอง - ฯ


: เอากระแส   อิทัปปัจ-     จยตา
ไปจัดค่า     ว่าดี-ชั่ว     กันโฉงเฉง
"เกิด" หรือ "ตาย"     "แก" หรือ "ฉัน"     กันครื้นเครง
"อื่น" หรือ "เอง"     "นี้" หรือ "โน้น"     โพนทะนา ฯ


ผิดไปหมด     จากกฎ     แห่งสัมมัตต์*
เป็นมิจฉัตต์     วนอยู่     ในสังสาร์
เป็นตัว "กู"    เกิด-ตาย-เกิด     ไม่เริศรา
มัชฌิมา    ไม่ปรากฎ :     อดนิพพาน ฯ


* ความเป็นแห่งความถูกต้องคือสมดุลย์;
ที่ตรงกันข้าม เรียกว่ามิจฉัตต์.




ธันวาคม ๒๕๖๖
อริยมรรคมีองค์ ๘.


พญานาค     หกเศียร     เฉวียนฉวัด
เที่ยวขบกัด     อารมณ์หก     อยู่ผกผัน
ตา-หู-จมูก     -ลิ้น-กาย-ใจ     ไล่พัลวัน
รูป-เสียง-กลิ่น     -รส-ฉวิกระสัน     -ธรรมารมณ์


พญาครุฑ   ยุดขยำ     กำนาคไว้
คนก็ผ่าน     ไปได้     โดยเหมาะสม
ด้วยเรือฝูง     แปดลำ     ทวนน้ำลม
ในธารธรรม     งามอุดม     สะดวกดี


มีมนุษย์     ถึงก่อน     วอนเรียกขาน
"ให้ทุกท่าน     ตามมา     อย่าผันหนี
ขอจงช่วย    กันและกัน     ให้ทันที
ถึงบุรี    นิรวาณ     ก่อนการตาย" ฯ

 
info@huexonline.com