คำสอน คำกลอนจากปฎิทินธรรม ปี ๒๕๖๕
First revision: Jan.21, 2022
Last change: Sep.30, 2022
ชีวิตสดใส ใจเบิกบาน
มกราคม ๒๕๖๕
มณี ใน ดอก บัว.
แมลงผึ้ง หึ่งมา หาน้ำหวาน
เป็นอาหาร ตามประสา ต้องอาศัย
ข้างฝ่ายเรา เสาะหา กว่านั้นไป
: หามณี วิสุทธิ์ใส ในดอกบัว
อันดอกบัว คือพระโอษฐ์ จอมมุนี
ดูเถิด, มี ธรรมกระสวน อยู่ถ้วนทั่ว
แสดงอรรถ ลึกเหลือ เหนือตนตัว -
ที่ควรกลัว ควรทำลาย ให้หายไป
ปฏิบัติ แล้วครบ พบนิพพาน
ด้วยประหาร กิเลสกล้า หมดฝ้าไฝ
พบมณี โชติช่วง แห่งดวงใจ
ใช่หลงไหล น้ำหวาน หนอท่าน เอย.
จากบทกลอนชื่อ มณีในดอกบัว ประพันธ์ภาษาไทยโดย สิริวยาสุ (พุทธทาสภิกขุ)
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
การ งาน ที่ น่า รัก.
อันที่จริง การงาน นั้นน่ารัก
เมื่อยังไม่ รู้จัก มักอางขนาง
ไม่รู้รัก ก็ปล่อยปละ แล้วละวาง
บ้างร้องคราง เมื่อรอหน้า ว่าเบื่อจริง
แต่ที่แท้ การงาน นั้นน่ารัก
สอนให้คน รู้จัก ไปทุกสิ่ง
ถ้ายิ่งทำ ยิ่งฉลาด ไม่พลาดยิง
ได้ตรงดิ่ง สิ่งอุกฤษฏ์ : จิตเจริญ,
การงานนี้ ดูให้ดี มันน่ารัก
เป็นการชัก ธรรมะมา น่าสรรเสริญ
คือมีสติ ฉันทะ ทมะ ฯลฯ เกิน ;
ครั้นหยุดเพลิน จิตก็วาง ทางนิพพาน ฯ
มีนาคม ๒๕๖๕
การ งาน แห่ง สังคมนิยม.
อันการงาน นั้นประเสริฐ ตรงที่สนุก
ยิ่งทำงาน ยิ่งเป็นสุข ทุกสถาน
ทำชีวิต ให้สดใส ใจเบิกบาน
ในการงาน ประจำวัน นั่นเองนา.
เมื่ออย่างนี้ มีแต่คน วิมลจิต
เย็นสนิท ดวงใจ ไร้โทษา
เกิดสังคม ที่อุดม ด้วยเมตตา
อยากเรียกว่า ธรรมิก สังคมนิยม.
ผลของงาน ล้นเหลือ เผื่อแผ่ทั่ว
สัตว์ทุกตัว ใหญ่น้อย พลอยศุขสม
ทั้งเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ได้ชื่นชม
โลกระดม ศุขวาง ทางนิพพาน ฯ
เมษายน ๒๕๖๕
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.
ดูให้ดี การจะพึ่ง ซึ่งพระเจ้า
ของพวกเรา ชาวพุทธ ศาสนา
ผู้เชื่อฟัง โอวาท พระศาสดา
พึ่งธรรมา คือพึ่ง ซึ่งตัวเอง :
ประกอบกรรม นำมา ซึ่งโภคผล
ตั้งแต่ต้น จนปลาย ได้เหมาะเหม็ง
ทั้งทางโลก ทางธรรม ก็ยำเกรง
ถือเลบง สร้างตัว อยู่ทั่วกัน.
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ, แปล
ว่า "ตัว-พึ่ง- ตัว" แน่ ถ้าบิดผัน
เป็นอื่นไป วนเวียน พาเหียรครัน
พึ่งเขานั้น ไม่ "หนึ่ง" เหมือนพึ่งตัว.
พฤษภาคม ๒๕๖๕
เพื่อน เวียน ว่าย.
แรกทีไร เราไม่ชอบ พวกเทวดา
ถึงเทวาฯ ก็คงคิด อางขนาง
เพราะเดินหน คนละทิศ คนละทาง
มีอาชีพ คนละอย่าง ต่างชั้นกัน
ครั้นเวียนว่าย มาด้วยกัน ดั้นสงสาร
เห็นอาการ ทนทุกข์ เพื่อศุขศันติ์
เป็นเพื่อนเกิด แก่-เจ็บ-ตาย ไม่วายวัน
ผูกพันกัน เต็มที่ ทวีคูณ
ความถือชั้น "ฉันเลวกว่า, หรือดีกว่า"
ค่อยสร่างซา, ในที่สุด ก็สิ้นสูญ
เห็นทุกคน ทนทุกข์ เสมอมูล
เกิดเกื้อกูล มีมหา- เมตตากัน ฯ
มิถุนายน ๒๕๖๕
มอง ดิน เห็น ฟ้า.
เมื่อมองดิน เห็นว่าง จาก "ตัวกู"
พร้อมมองดู เนื้อหนัง สิ้นทั้งผอง
เห็นเป็นเพียง ธรรมชาติ มีใจครอง
ล้วนเป็นของ ว่างทั่ว จาก "ตัวกู"
ครั้นมองย้าย ไปยอ คนอื่นเขา
ก็เห็นความ ว่างเปล่า จาก "ตัวสู"
ทั้งสากล จักรวาล มองมันดู
เห็นว่าง "กู" ว่าง "ของกู" อยู่ทุกพรรค์
มองแผ่นดิน เห็นว่าง อย่างกะฟ้า
จิตไม่อาจ ไขว่คว้า มายึดมั่น
จิตเลยว่าง อย่างกะฟ้า มาด้วยกัน
นี่แล มัน "มองดิน แล้วเห็นฟ้า" ฯ
กรกฎาคม ๒๕๖๕
มองฟ้า-ปะดิน.
แรกมองฟ้า ก็เห็นว่าง อย่างก่อนมา
เพราะไม่เห็น พวกเทวดา คลาสวรรค์
ยิ่งมองไป ยิ่งว่างมา สารพัน
จิตใจมัน ยิ่งเห็นว่าง อย่างสุดใจ
บัดเดี๋ยวเห็น สาระหนึ่ง ซึ่งความว่าง -
มอบให้อย่าง เป็นแก่นสาร ปาน "ดินใหม่"
เป็นสภาพ เย็นและหยุด กว่าจุดใด
ทรงคุณใหม่ เรียกอมตะ มหานคร
เป็นที่ตั้ง เย็นสนิท เมื่อจิตว่าง
กิเลสร้าง ทุกข์หาย ไร้โศกศร
เป็นท้องถิ่น ที่คงมั่น นิรันดร
นี่แล ตอน "มองฟ้า แล้วปะดิน" ฯ
สิงหาคม ๒๕๖๕
มองดินเห็นฟ้า-มองฟ้าปะดิน.
เมื่อมองดิน เห็นฟ้า นิจจาเอ๋ย
มองฟ้าเห็น ดินใหญ่ กระไรเลย
ฉันจะเอ่ย ฟังฟังดูหนา บ้าหรือดี? ฯ
คือมองโลก เห็นว่าง จากอัตตา*
ว่างจาก อัตตนิยา* ทุกวิถี
มันว่างจริง ยิ่งจากฟ้า เพราะว่ามี -
สิ่งหนึ่งที่ เรียก "มหา- สุญญตา" ฯ
ครั้นมองดู โลกว่าง อย่างแท้จริง
ก็เห็นสิ่ง ที่เรียก ว่า "มหา-
อมฤต- นคร" ซ้อนอยู่นา
นี่เรียกว่า มองฟ้า แล้วปะ "ดิน"** ฯ
คิดดูเถิด บ้าหรือดี มีให้ดู
ถ้าไม่เห็น อย่าเพ่อจู่ มาติฉิน;
ถ้าจะมั่ว อยู่ที่เห็น ดินเป็นดิน
ก็ดูดกิน มันไป เป็นไส้เดือน ฯ
* อัตตา = ตัวตน; อัตตนิยา = ของของตน.
** "ดิน" ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งให้อาศัยได้.
กันยายน ๒๕๖๕
ถ้า เรา รู้ ความ ลับ.
ทำอย่างไร จึงจะไม่ ถูกใครทำ
ให้ชอกช้ำ กร่ำใจ ดั่งไฟสุม
ทั้งไฟรัก ไฟโกรธ โทษกลุ้มรุม
มาประชุม อยู่ในทรวง ทะลวงฟัน,
ง่ายนิดเดียว ถ้าเรา รู้รหัส
ว่าจิตโง่ สารพัด ไปยึดมั่น
ให้มีเรา มีเขา มีใครมัน
มาเป็นคู่ ฟาดฟัน กันนุงนัว,
ไม่เข้าใจ คำว่า "ไม่ มีตัวตน"
ก็ยึดมั่น สัตว์คน หรือเมียผัว
แน่นกระสัน มั่นไว้ ในเนื้อตัว
จึงต้องมัว แต่ระกำ กร่ำทุกข์เอย ฯ
ตุลาคม ๒๕๖๕
เพชรในหัวคางคก.
มหัศจรรย์ มีอยู่ ในธรรมะ
แต่ลึกมาก อยากที่จะ สังเกตเห็น
ศุขหรือทุกข์ ที่มีอยู่ คู่เช้าเย็น
ถ้าดูเป็น ให้ค่าเรา ได้เท่ากัน
แม้มีทุกข์ แทบว่า เลือดตาไหล ;
ถ้าดูไป มันสอนมา อย่างน่าขัน
คือให้เห็น อรรถธรรม อันสำคัญ :
"ไม่ยึดมั่น มันยิ่งศุข กว่าศุขมี -
ตามธรรมดา ที่มา หลอกลวงเรา
ให้โง่เขลา ยึดเห็น เป็นสุขี
แต่ที่แท้ มีแต่ให้ ทุกข์ทวี
มันมีสี เสน่ห์นอก ไว้หลอกคน" ฯ
ในความทุกข์ มีเพชร เม็ดใหญ่ ๆ
หาไม่ได้ อวิชชา พาฉงน
จะหาแต่ ในความสุข ยิ่งทุกข์ทน
ได้ทำตน เป็นทาษศุข สนุกเอย ฯ
พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ระวัง ศร ดอก ที่สอง.
เมื่อรู้สึก เจ็บปวด อย่างรวดเร้า
ก็รู้เท่า ว่า "เจ็บหนอ" เท่านั้นหนา
ไม่เกิดยึด ว่า "กู" เจ็บ "กู" ทรามาน์
นี้เรียกว่า มีศรตอก เพียงดอกเดียว ฯ
ถ้าเกิดความ คิดผิด อีกนิดหนึ่ง
ว่า "กู" ถึง ทุกข์ร้าย ให้หวาดเสียว
ยึดว่า "กู" ตายแย่ เป็นแน่เทียว
ศรดอกเดียว กลายเป็นสอง ต้องกายา :
ศรดอกแรก ไม่กระไร ไร้ยาพิษ
ไม่เผาจิต, เพียงเจ็บกาย ไร้โทษา
ดอกที่สอง อาบยาพิษ ฤทธิ์มหึมา
มันเจ็บกล้า ทุกข์กล้า ยิ่งกว่าตาย ฯ
ธันวาคม ๒๕๖๕
พระอรหันต์ไม่ถูกศรที่สอง.
เมื่อรู้สึก เจ็บปวด อย่างรวดเร้า
ก็รู้เท่า ว่า "เจ็บหนอ" เท่านั้นหนา
ไม่เกิดยึด ว่า "กู" เจ็บ "กู" ทรามาน์
นี้เรียกว่า มีศรตอก เพียงดอกเดียว ฯ
ถ้าเกิดความ คิดผิด อีกนิดหนึ่ง
ว่า "กู" ถึง ทุกข์ร้าย ให้หวาดเสียว
ยึดว่า "กู" ตายแย่ เป็นแน่เทียว
ศรดอกเดียว กลายเป็นสอง ต้องกายา :
พระอรหันต๋์ นั้นไม่มี ศรที่สอง
ไม่ยึดครอง เวทนา นานาหลาย -
ว่าตัวเรา ว่าของเรา, เบาสบาย
รู้จักย้าย แยกวาง ไว้ห่างกัน ฯ