MENU
TH EN
"ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่าน สืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว"
 

จาก สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
ภาพที่ ๗๖
พระบรมศาสดาทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน

 
 

 
First revision: Oct.05, 2012
Last revision: Nov.04, 2012

๘. พระมหาจุนทะ
  • เพราะตั้งใจฟังครูสอน จึงได้ความรู้ ความรู้ทำให้ได้ปัญญา เพราะปัญญา จึงทำให้รู้ประโยชน์ประโยชน์ที่รู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้.
  • ภิกษุควรเสพเสนาสนะอันสงัด ควรประพฤติอันเป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด.
  • ถ้าในเสนาสนะและธรรมนั้น ยังยินดีเต็มที่ไม่ได้ เมื่ออยู่กับคณะ ก็ควรมีสติรักษาตน.
๙. พระขทิรวนิยเรวตะ
  • พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าเพียงทุติยฌานก็นิ่งได้ประเสริฐแล้ว.
  • เพราะหมดความหลง ภิกษุสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมั่นคงไม่หวั่นไหว คล้ายภูเขาหิน.
  • คนที่หมดกิเลส สะอาดทั้งกาย วาจา ใจ ย่อมเห็นความชั่วแม้เล็กน้อยขนาดเท่าปลายขนทราย ว่ามากมายเหมือนก้อนเมฆ.
  • ท่านทั้งหลายจงคุ้มครองตัวเอง ให้เหมือนนักรบคุ้มครองเมืองหน้าด่านอย่างแข็งขัน.
  • จะเป็นหรือตายเราไม่ใยดี เรารอแต่เวลา คล้ายลูกจ้างรอเวลางาน. จะเป็นจะตายเราไม่ใยดี เรารอแต่เวลาอย่างคนมีสติสัมปชัญญะ.
  • พระศาสดาเราก็รับใช้แล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็ทำตามได้แล้ว ภาระหนักเราก็ปลงได้แล้ว อีกทั้งตัณหาตัวการทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เราก็ถอนรากถอนโคนได้แล้ว.
  • ประโยชน์ที่คนออกบวชต้องการ คือ ความหมดกิเลสเราก็ได้รับแล้ว ขอท่านทั้งหลาย จงทำความดีให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด.
๑๐.  พระมหาโกฏฐิตะ
  • ภิกษุผู้สงบระงับไม่ฟุ้งซ่าน คิดรอบคอบก่อนแล้วจึงพูดเสมอ.
  • ย่อมปลิดบาปธรรมออกไปจากจิตได้ คล้ายลมปลิดใบไม้แก่หลุดจากขั้ว.
ปฏิสัมภิทา ๔
  ๑.  อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
  ๒.  ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
  ๓.  นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ
  ๔.  ปฏิภาณปฏิสัมภทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

วิชชา ๓
  ๑.  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้จักระลึกชาติได้
  ๒.  จุตูปปาตญาณ รู้จักกำหนดจุติ และเกิด
  ๓.  อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะ ให้สิ้น


วิโมกข์ ๓
  ๑.  สุญญตวิโมกข์ ความพ้นโดยเป็นสภาพว่าง คือว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ
  ๒.  อนิมิตรวิโมกข์ ความพ้นโดยหาเครื่องหมายมิได้เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องหมาย
  ๓.  อัปปณิหิตวิโมกข์ ความพ้นโดยหาที่ตั้งมิได้ คือ ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้ง


๑๑. พระองคุลิมาล (อสิงสกเถระ)

  • ผู้ใด เคยประมาทมาก่อนแล้วเลิกประมาทเสียได้ภายหลัง ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนพระจันทร์ที่โผล่พ้นเมฆหมอก คือ ทำให้โลกนี้สว่างไสวได้.
  • ผู้ใด ทำบาปกรรมไว้แล้ว ปิดกั้นได้ด้วยการทำกุศล ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนพระจันทร์ที่โผล่พ้นเมฆหมอก คือ ทำโลกนี้ให้สว่างไสวได้.
  • ภิกษุใด แม้ยังหนุ่ม แต่หมั่นปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทะเจ้า ภิกษุนั้นย่อมเป็นเหมือนพระจันทร์ที่โผล่พ้นเมฆหมอก คือ ทำโลกนี้ให้สว่างไสวได้.
  • คนโง่มัวแต่ประมาท แต่คนฉลาดจะรักษาความไม่ประมาทไว้ ให้เป็นเหมือนทรัพย์อันมีค่า.
  • ท่านทั้งหลายอย่าประมาทเลย อย่าสนิทสนมกับความยินดีในกามเลย เพราะคนไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ย่อมจะบรรลุถึงบรมสุขได้.
  • เรามาดีแล้วที่ได้มาเฝ้าพระพุทะเจ้า เราคิดดีแล้วที่ได้บวชเป็นสาวกของพระองค์ เพราะทำให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ตามลำดับ นับว่าได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว.
  • เมื่อก่อน เราอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นป่า โคนไม้ ภูเขา หรือในถ้ำ ก็อยู่อย่างหวาดเสียว มาบัดนี้ เราอยู่อย่างเป็นสุขทั้งยามยืน เดิน นั่ง นอน.
  • เพราะพระพุทธเจ้าทรงช่วยเหลือเราให้พ้นแล้ว จากมือมาร เมื่อก่อน เราเป็นพราหมณ์อุภโตสุชาต มาบัดนี้ ได้มาเป็นโอรสของพระพุทธเจ้าผู้ทรงธรรมราชา.
  • การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หมายถึง การอยู่อย่างรู้เท่าทันสภาวะและรู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ.
  • การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ ได้เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ.
  • การอยู่ประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นการอยู่อย่างอิสระ.
  • การอยู่อย่างอิสระ ก็คือการไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของตัณหาอุปาทาน หรือการอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น.
  • การอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาหรือการรู้และเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย.

๑๒. พระอนุรุทธะ๑๐
      
       ท่านได้กล่าวเตือนพระทั้งหลายที่หลงใหลในรูปโฉมของนางอุตตราผู้เป็นหญิงนครโสภิณีแห่งแคว้นมคธ ไว้ดังนี้.

 
  • ดูซี่ ดูร่างกายที่มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง ถูกตบแต่งให้สวยงาม แต่มีแผลอยู่ทั่ว ช่างน่ารังเกียจ แต่คนโง่จำนวนมากก็ยังอยากได้ มันช่างไม่มีความยั่งยืนเอาเสียเลย.
  • ดูซี่ ดูร่างกายที่ถูกตบแต่งให้สวยงามด้วยแก้วมณีและต่างหู แต่ส่วนลึก คือ หนังหุ้มกระดูกที่งดงามอยู่ได้ด้วยเครื่องพัสตราภรณ์.
  • ดูซี่ ดูเจ้าของร่าง หล่อนมีเท้าลูบไล้ด้วยน้ำครั่ง มีหน้านวลเนียนเนื่องจากลูบไล้ด้วยจุรณ์จันทน์ จึงดูสวยงาม พอที่จะหลอกให้คนโง่หลงได้ แต่จะให้คนที่แสวงหานิพพานหลงนั้น ไม่มีทางสำเร็จหรอก.
  • เส้นผมของหล่อนเป็นลอน คล้ายกระดานหมากรุก ดวงตาหยาดเยิ้มด้วยยาหยอด จึงดูสวยงาม พอที่จะหลอกให้คนโง่หลงได้ แต่จะให้คนที่แสวงหานิพพานหลงนั้นไม่มีทางสำเร็จหรอก.
  • กล่องยาหยอดตาใหม่ มีลวดลายสวยงาม ก็เหมือนกับร่างกายที่เน่าในแต่ภายนอกถูกตกแต่งให้สวยงาม พอที่จะหลอกให้คนโง่หลงได้ แต่จะให้คนที่แสวงหานิพพานหลงนั้น ไม่มีทางสำเร็จหรอก.
     เมื่อพระอนุรุทธะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ได้ตรึกตรองถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ คือ

       ๑.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก.
       ๒.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ.
       ๓.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ.
       ๔.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน.
       ๕.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง.
       ๖.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง.
       ๗.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม.


๑๓. พระอานนท์เถระ๑๑

จาก. สมุดภาพพระพุทธประวัติ ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร ภาพที่ ๗๔ พระอานนท์ไปยืนเหนี่ยวสลักเพชรพระวิหาร ร้องไห้รำพันถึงพระพุทธองค์
  • พระอานนท์ขอประทานพร ๘ ประการ พระอานนท์ได้กราบทูลขอพร ๘ ประการจากพระบรมศาสดา หากพระองค์ทรงประทานพร ๘ ประการนี้ ท่านจึงรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก ท่านกราบทูลขอพรว่า
                  (๑)  ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์.
                     (๒)  ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์.
                     (๓)  ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์.
                     (๔)  ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้.

                     (๕)  ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้.
                     (๖)  ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกล เพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว.
                     (๗)  ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น.
                     (๘)  ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก.


                           เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร ๘ ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์
                           พระบรมศาสดาได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร ๘ ประการนี้ ท่านได้กราบทูลว่า ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๑-๔ ก็จักมีคนพูดได้ว่า ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น ๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น ท่านจึงได้ทูลขอพร ๔ ข้อนี้ ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๕-๗ ก็จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว และหากท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๘ เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน? ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาของพระองค์อยู่เป็นเวลานาน ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?
                           ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่พระอานนท์กราบทูลขอทุกประการ ท่านจึงได้รับตำแหน่งพุทธุอุปัฏฐาก และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา ๒๕ พรรษา.
  • พระอานนท์ผู้ประหยัด ด้วยพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี เลื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ จึงได้ถวายจีวรจำนวน ๕๐๐ ผืน แด่พระอานนท์ เมื่อพระเจ้าอุเทนทราบจึงตำหนิพระอานนท์ว่ารับจีวรไปจำนวนมาก เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถามว่าเอาจีวรไปทำอะไร.
                        "พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า ๕๐๐ ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ"
                              "ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด"
                              "พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก"
                              "เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า"
                              "จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร"
                              "เอาไปทำผ้าปูที่นอน"
                              "จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร"
                              "เอาไปทำผ้าปูพื้น"
                              "จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร"
                              "เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า"
                              "จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร"
                              "เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา"


             พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด จึงถวายผ้าจีวรอีก ๕๐๐ ผืนแด่พระอานนท์.

หมายเหตุ
๑.  พระมหาจุนทะ ท่านเป็นเอตทัคคะผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ ท่านมีพี่ชายชื่อ อุปติสสะ หรือต่อมาคือพระสารีบุตร ท่านเป็น ๑ ใน ๘ อัครมหาสาวกเถระที่มาจากแคว้นมคธ อันประกอบด้วย พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระมหาปันถก พระจูฬปันถก และพระสภิยะ.
๒.  พระขทิรวนิยเรวตะ ท่านเป็นเอตทัคคะด้านความเป็นเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เดิมชื่อ เรวตะ ท่านเป็นน้องชายของพระมหาจุนทะ
๓.  พระมหาโกฏฐิตะเถระ ท่านเป็นเอตทัคคะในทางผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ (รายละเอียดแสดงไว้ในข้อ ๑๐. ข้างต้น) ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ชื่อ "อัสสลายนะ" และพราหมณีชื่อ "จันทวดี" ในเมืองสาวัตถี เดิมท่านชื่อว่า "โกฏฐตะ" ตระกูลของท่านจัดว่าอยู่ในระดับมหาเศรษฐี ท่านจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี แต่บิดาของท่านมีทิฏฐิแรงกล้ายึดมั่นในลัทธิพราหมณ์อย่างมั่นคง เมื่อท่านเจริญวัยได้ศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิศาสนาพราหมณ์จนจบไตรเพท เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เที่ยวจาริกเผยแพร่หลักธรรมคำสอนไปตามคามนิคมต่าง ๆ ทั้งในเมืองและชนบท ได้เสด็จถึงหมู่บ้านที่อัสสลายนพราหมณ์ตั้งนิวาสสถานอยู่ ได้ทรมานอัสสลายพราหมณ์ จนละทิฏฐิมานะและแสดงตนเป็นพุทธมามกะปวารณาตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
โกฏฐิตมาณพ เห็นบิดาหันมายอมรับนับถือพระรัตนตรัยก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส พระบรมศาสดาให้พระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ให้พระมหาโมคคัลานะเถระเป็นพระอาจารย์ ในขณะที่ท่านกำลังโกนผมอยู่นั้น ท่านได้พิจารณาในกรรมฐานไปเรื่อย ๆ พลผลัดเปลี่ยนผ้าสาฎกของคฤหัสถ์ออกแล้วนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ในขณะนั้น พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๓ และวิโมกข์ (รายละเอียดแสดงไว้ในข้อ ๑๐. ข้างต้น) (ที่มา.www.84000.org/one/1/39.html, วันที่สืบค้น ๙ ตุลาคม ๒๕๕๕)
๔. อรรถ หมายถึง เนื้อความ, ใจความ, ความหมาย, ความมุ่งหมาย, ผล, ประโยชน์
๕. นิรุตติปฏิสัมภิทา หมายถึง ปัญญาแตกฉานในภาษา คือเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจ ตลอดทั้งรู้ภาาาต่างประเทศ (ข้อ ๓ ในปฏิสัมภิทา ๔).
๖. ปฏิภาณ หมายถึง โต้ตอบได้ทันทีทันควัน, ปัญญาแก้การณ์เฉพาะหน้า, ความคิดทันการ.
๗. จุติ หมายถึง "เคลื่อน" (จากภพหนึ่ง ไมสู่ภพอื่น), ตาย (ในภาษาบาลี ใช้ได้ทั่วไป แต่ในภาษาไทยส่วนมากใช้แก่เทวดา); ในภาษาไทย บางทีเข้าใจกันผิดไปไกล ถึงกับเพี้ยนเป็นว่าเกิด ก็มี.
๘. อาสวะ หมายถึง ๑) ความเสียหาย, ความเดือดร้อน, โทษ, ทุกข์ ๒) น้ำดองอันเป็นเมรัย เช่น ปุปฺผาสโว น้ำดองดอกไม้, ผลาสโว น้ำดองผลไม้ ๓. กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลวึมซ่านไปย้อมจิตตืเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ   (ข้อ ๔.-๘. ที่มา. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, (พ.ศ.๒๕๕๓), พระพรหมคุณาภรณ์( ป. อ. ปยุตฺโต), )
๙. พระองคุลิมาล ท่านเป็นบุคคลสำคัญในยุคต้นแห่งพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะตามพุทธประวัติ พุทธฝ่ายเถรวาท เดิมนั้นเป็นโจรปล้นฆ่าคน แต่ภายหลังมีศรัทธาในพุทธศาสนา ได้กลับใจบวชเป็นพระภิกษุ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกทั้งยังมีบทสวดของท่านอีกด้วย ชื่อ องคุลิมาลปริตร (บทสวดมนต์สำหรับคนท้อง อานิสงส์ของบทสวดนี้คือ จะทำให้คลอดบุตรง่าย และป้องกันมารดา รวมทั้งบุตรให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง) แต่เดิมนั้น องคุลิมาลชื่อว่า อหิงสกะ เป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี มารดาชื่อ มันตานี อหิงสกะได้ไปศึกษาวิชาที่สำนักตักกสิลา สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว อีกทั้งยังปรนนิบัติอาจารย์อย่างดี จนเป็นที่รักใคร่ของอาจารย์เป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ศิษย์อื่นอิจฉา จึงยุยงอาจารย์ว่าองคุลิมาลคิดจะทำร้าย อาจารย์จึงคิดจะกำจัดองคุลิมาลเสีย โดยบอกองคุลิมาลว่า ถ้าจะสำเร็จวิชาต้องฆ่าคนให้ได้หนึ่งพันคนเสียก่อน องคุลิมาลจึงออกเดินทางฆ่าคน แล้วตัดนิ้วหัวแม่มือมาคล้องที่คอ เพื่อให้จำได้ว่าฆ่าไปกี่คนแล้ว เหตุนี้เอง อหิงสกะจึงได้รับสมญานามว่า "องคุลิมาล" เมื่อฆ่าได้ครบ ๙๙๙ คนแล้ว ก็มาพบพระบรมศาสดาโดยหมายจะสังหาร แต่ก็ได้ซึมซับพุทธวัจนะ องคุลิมาล "จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ" พระบรมศาสดา ตรัส "เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด" ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ออกบวชเป็นพุทธสาวก และบรรลุอรหัตตผลในท้ายที่สุด   (ที่มา. th.wikipedia.org/wiki/พระองคุลิมาลเถระ, วันที่สืบค้น ๙ ตุลาคม ๒๕๕๕).
๑๐. พระอนุรุทธะ ท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศทางทิพยจักษุยาน (ตาทิตย์) ท่านเป็นพระประยูรญาติของพระบรมศาสดา โดยท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ พระอนุรุทธเถระ ดำรงชนมายุมาถึงหลังพุทธปรินิพพาน ในวันที่พระบรมศาสดา นิพพานนั้น ท่านก็ร่วมอยู่เฝ้าแวดล้อม ณ สาลวโนทยานนั้นด้วย และท่านยังได้ร่วมทำกิจพระ ศาสนาครั้งสำคัญ ในการทำปฐมสังคายนากัลป์คณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระอุบาลีเถระวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เถระวิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม ท่านพระอนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธ์ เข้าสู่ นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี (ที่มา. th.wikipedia.org/wiki/พระอนุรุทธเถระ, วันที่สืบค้น ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕).
๑๑. พระอานนท์เถระ ท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระสาวกอื่นถึง ๕ ประการ และเป็นพหูสูต เนื่องจากเป็นผู้ทรงจำพระสูตรที่พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ และเป็นผู้สาธยายพระสูตร จนทำให้ปฐมสังคายนาสำเร็จเรียบร้อย ท่านเป็นเอตทัคคะ (เลิศ) ๕ ประการ คือ
     (๑)  มีสติรอบคอบ
     (๒)  มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
     (๓)  มีความเพียรดี
     (๔)  เป็นพหูสูต
     (๕)  เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดา
        ก่อนที่ท่านจะผนวชนั้น ท่านเป็นเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ โดยท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดา พระมารดาของท่านทรงพระนามว่า มฤคี พระอานนท์จึงถือว่าเป็นลูกผู้น้องของเจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นสหชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ (สหชาติ คือ เกิดใน วัน เดือน ปีเดียวกัน กับเจ้าชายสิทธัตถะ) (ที่มา. th.wikipedia.org/wiki/พระอานนท์, วันที่สืบค้น ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕).


 
info@huexonline.com