MENU
TH EN
 
"ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เราขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด".


                               ...ปัจฉิมโอวาท ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...

 
First revision: Sep.17, 2012
Last revision: Oct.02, 2012
อสีติ มหาสาวก และ

๑.  พระมหากัจจายนะ
  •  พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญาไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต ไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต. เพราะอดีตผ่านพ้นไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ผู้ใดเห็นแจ้งปัจจุบันอย่างไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ผู้นั้นครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว ทำธรรมนั้นให้เกิดขึ้นเนือง ๆ ควรรีบทำควรเพียรเผากิเลสเสียแต่วันนี้. เพราะพรุ่งนี้อาจตายเสียก็ได้ใครจะไปรู้. อีกทั้งพญามัจจุราช ผู้มีกำลังอันเกรียงไกร ใครจะไปผัดเพี้ยนได้. บุคคลผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ท่านผู้สงบระงับ ย่อมกล่าวสรรเสริญเป็น "ผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ".
  • พระมหากัจจายนะ ขยายความสรุปได้ว่า ที่ว่าไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต คือไม่ควรคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และสิ่งสัมผัสทางใจ ที่เคยได้ยินและเคยได้รับรู้มาแล้ว จนเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลินและติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น ผู้ที่คิดถึงด้วยความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน และติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น ชื่อว่าหมกหมุ่นอยู่กับอดีต.
  • ที่ว่าไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต คือไม่ควรคิดติดหวังว่า จักได้เห็นรูป จักได้ฟังเสียง จักได้ดมกลิ่น จักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย และจักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ (คิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ) ซึ่งแต่ละสิ่งที่เพ้อฝันถึงนั้น ก่อให้เกิดความกำหนัดพอใจ เพลิดเพลินและติดอยู่ ผู้ที่คิดคาดหวังถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ด้วยความกำหนัดพอใจเพลิดเพลินอยู่ ชื่อว่าเพ้อฝันถึงอนาคต.
  • การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ (คิดเรื่องราวต่าง ๆ) แล้วเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน และติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ชื่อว่าง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน.
  • การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ แล้วไม่เกิดความกำหนัดพอใจ เพลิดเพลินและไม่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน.
  • ผู้มีปัญญาไม่ควรแนะนำผู้อื่นให้ทำบาป ตนเองก็ไม่ควรทำด้วย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมคอยผูกพัน.
  • คำพูดของผู้อื่นทำให้คนเป็นโจนหรือเป็นมุนีไปไม่ได้ ตัวเองรู้จักตัวเองอย่างใด แม้ทวยเทพก็รู้จักตัวเองอย่างนั้น.
  • คนที่ไม่รู้ว่าการทะเลาะทำให้ตัวเองเองพินาศ ก็ยังทะเลาะกันอยู่ ส่วนคนที่รู้ก็จะเลิกทะเลาะกันไปเอง.
  • คนมีปัญญาถึงจะไม่มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ได้ แต่คนมีทรัพย์ ถ้าไร้ปัญญาก็เป็นอยู่ไม่ได้แน่.
  • หูมีไว้ฟังเสียงทุกเสียง ตามีไว้ดูรูปทุกประเภท ผู้มีปัญญาไม่ควรมองข้ามสิ่งที่ได้เห็นได้ยินไปเสีย.
  • คนฉลาด ถึงมีตาดีก็ทำเหมือนคนตาบอด. ถึงมีหูดีก็ทำเหมือนหูหนวก. ถึงมีปัญญาก็ทำเหมือนอ่อนแอ. แต่ถ้าประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะเจ็บป่วย นอนรอความตายก็ยังทำประโยชน์ได้.
      "พระบรมศาสดา" กล่าว "พาหิยะ เธอควรศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อทราบก็สักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้สึกก็สักแต่ว่ารู้สึก".

๒.  พระมหากัปปินะ
  • คนมีปัญญา ถึงจะไม่มีทรัพย์ก็เลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดได้ คนไม่มีปัญญา ถึงจะมีทรัพย์ก็อยู่ไม่ได้.
  • ปัญญาช่วยตัดสินสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ปัญญาช่วยให้ได้ชื่อเสียงและคำสรรเสริญ คนมีปัญญา ถึงคราวตกทุกข์ได้ยาก ก็ยังรู้จักหาความสุขได้.
  • มหากุศลจิต หมายถึง มีศรัทธา (ความเชื่ออย่างมั่นคง) มีปัญญา (การเข้าใจในเหตุผล) และทำด้วยตนเองไม่ต้องมีผู้อื่นคะยั้นคะยอ.
  • การเสียสละเป็นคุณธรรมสำคัญขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนให้เกิดการบรรลุธรรม เพราะในการเสียสละนั้น มิใช่แต่จะเสียสละเฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น แต่ร่วมไปถึงการเสียสละความสุข ยอมให้ตนเองลำบากเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น.
๓.  พระนาลกะ
        พระบรมศาสดาได้ตรัสแก่พระนาลกะถึง "โมเนยยปฏิปทา (ข้อปฏิบัติของมุนี)" ดังนี้
  • เธอจงทำใจให้มั่นคงวางตนให้เหมือนกับทั้งแก่คนที่ด่าและยกมือไหว้ ไม่มีความเย่อหยิ่ง (จงระลึกเสมอว่า) รูป เสียงกลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ไม่ต่างอะไรไปจากเปลวไฟในป่า (ย่อมไหม้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) มุนีทั้งหลายย่อมถูกนารีเล้าโลมให้หลงใหลด้วยอิตถีลีลาต่าง ๆ อาทิ การหัวเราะ การพูด และการร้องไห้.
  • เธออย่าถูกเล้าโลมเหมือนอย่างนั้นเลย มุนีต้องละกาม งดเว้นจากเมถุนธรรม มุนีต้องรักสัตว์อื่นให้เหมือนรักตัวเอง โดยตนเป็นที่เปรียบว่า เราเป็นฉันใด สัตว์อื่น ๆ ก็เป็นฉันนั้น.
  • ความปรารถนาและความอยากได้จนเกินไป ทำให้ปุถุชนข้องอยู่ มุนีจงละความปรารถนาและความอยากได้จนเกินไปนั้นเสีย. จงละความอยากไม่หยุดในเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเหตุให้ประกอบมิจฉาชีพ.
  • มุนีต้องไม่เห็นแก่กิน บริโภคอาหารแต่พอประมาณ. มักน้อย ต้องทำตนให้หายหิว หมดความอยาก ดับความเร่าร้อนให้ได้ทุกเมื่อ.
  • มุนีเที่ยวภิกขาจาร ได้อาหารแล้วจงไปยังชายป่า นั่งบริโภคตามโคนต้นไม้ จากนั้นจงบำเพ็ญฌาน ใช้ชีวิตอยู่ในป่า รุ่งเช้าจึงค่อยเข้าหมู่บ้านเที่ยวภิกขาจาร.
  • ได้อาหารอย่างใดก็บริโภคอย่างนั้น ไม่หวังอาหารที่ยังไม่ได้ ขณะฉันอาหารไม่ควรพูด มุนีจงทำใจให้ได้ว่า จะได้หรือไม่ได้ก็ดีทั้งนั้น เพราะทั้งการได้และไม่ได้ย่อมทำให้พ้นทุกข์ ขณะภิกขาจาร มุนีแม้ไม่เป็นใบ้ ก็ควรทำตนให้เหมือนคนใบ้ ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าเล็กน้อย ไม่ควรดูถูกบุคคลผู้ให้.
  • ในการบำเพ็ญเพียร ตามหลักที่มุนีปฏิบัติกันมาคือ ใช้ลิ้นกดเพดาน (กลั้นลมหายใจ) เดิน ยืน นั่ง นอน แต่ผู้เดียวในที่สงัด.
  • นาลกะ เธอจงรู้เถิดว่า น้ำในแม่น้ำน้อย ในหนอง ในห้วยย่อมไหลดัง แต่น้ำในแม่น้ำใหญ่ย่อมไหลเงียบ. สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมมีเสียงดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อมไม่มีเสียงดัง.
  • คนโง่ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว ส่วนคนฉลาด ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม.
  • เพราะเป็นผู้สงบ สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน. รู้เหตุแห่งความเสื่อมและความทุกข์แล้ว ไม่พูดมาก. สมณะนั้นแลได้ชื่อว่าเป็นมุนี และได้ชื่อว่าได้บรรลุธรรมที่ทำให้เป็นมุนีแล้ว.
๔. พระสารีบุตร
 


  พระสารีบุตร ขณะที่เป็น "อุปติสสปริพาชก" ได้เห็นกิริยาท่าทางของพระอัสสชิน่าเลื่อมใส จึงสนใจเข้าไปสนทนาถามถึงทางปฏิบัติ
  • พระอัสสชิอันเป็นพระอรหันต์และเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ วันหนึ่งท่านบิณฑบาตรมายังกรุงราชคฤห์ อุปติสสะ (ปริพาชก) ประทับใจในอริยาบทน่าเลื่อมใส อาการสำรวม และฝึกอินทรีย์ดีแล้วของพระอัสสชิ จึงเกิดความคิดว่าภิกษุผู้นี้เป็นพระอรหันต์ และได้ตามท่านอัสสชิเถระไป รอโอกาสอยู่ แล้วจึงได้มีโอกาสสอบถาม อัสสชิเถระได้แสดงความลึกซึ้งในคำสอนของพระบรมศาสดาว่า "ท่านกล่าวบทอันลึกซึ้งละเอียดทุกอย่าง เป็นเครื่องฆ่าลูกศร คือ ตัณหา เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ทั้งมวล ว่าธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้" เมื่ออุปติสสะไดฟังก็เกิดดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน.
  • ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ คิดชอบ เพ่งพินิจธรรมอยู่เป็นนิตย์ ไม่ประมาท. ยินดีอยู่กับการเจริญกรรมฐานในภายในตัวเอง มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามีตามได้ นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าภิกษุ.
  • ความเป็นความตายเราไม่ยินดี เราจักละทิ้งร่างกายนี้ไปอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะ ความเป็นความตายเราไม่ยินดี เรารอแต่ให้ถึงเวลา คล้ายลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน. ความตายนี้มีแน่ไม่เวลาแก่ก็เวลาหนุ่ม. แต่ที่จะไม่ตายไม่มีหรอก.
๕. พระมหาโมคคัลลานะ

 


รูปหล่อพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย
  • พระมหาโมคคัลานะ กล่าวสอนโสเภณีนางหนึ่งที่มาเล้าโลมท่านว่า กระท่อมคือร่างกาย มีกระดูกเป็นโครงสร้าง ฉาบทาด้วยเนื้อ ร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียด คนทั่วไปพากันยึดถือ แต่สำหรับเราเป็นของน่ารังเกียจ ร่างกายของเธอไม่ต่างอะไรกับถุงใส่อุจจาระ มีหนังหุ้มห่อปกปิดไว้ เหมือนนางปีศาจ มีผื่นขึ้นที่หน้าอก มีช่อง ๙ ช่องให้สิ่งสกปรกไหลออกอยู่เป็นนิตย์.
  • ภิกษุ (อย่างเรา) ย่อมไม่เหลียวแลร่างกายของเธอ เหมือนชายหนุ่มผู้รักความสะอาด ย่อมหลบหลีกอุจจาระปัสสาวะเสียห่างไกล สำหรับคนทั่วไป หากเขาได้เข้าใจร่างกายของเธอ อย่างที่เราเข้าใจ ต่างก็จะพากันหลีกไกล คล้ายชายหนุ่มผู้รักความสะอาดเห็นหลุมอุจจาระที่ฝนตกใส่ ย่อมหลบหลีกเสียไกล.
  • อากาศคือความว่างเปล่า ใครก็ตามที่หวังจะเอาขมิ้นหรือน้ำย้อมอย่างอื่นไปย้อมอากาศ ย่อมเหนื่อยเปล่า จิตของเราว่างเปล่าเหมือนกับอากาศ มั่นคงอยู่ในภายในฉะนั้น เธออย่ามาหวังความรักจากจิตที่ว่างเปล่านี้เลย เพราะจะพบแต่ความปวดร้าว เช่นเดียวกับแมลงบินเข้ากองไฟ.
๖. พระมหากัสสปะ๑๐
 


ภาพวาดพระมหากัสสปะ ตามคติมหายานฝ่ายจีนนิกาย (ที่มา: th.wikipedia.org/wiki/พระมหากัสสปเถระ วันที่สืบค้น ๒๖ ก.ย.๕๕)
 
  • ผู้ปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก การมัวแต่สงเคราะห์คนนั้นคนนี้อยู่เป็นความลำบาก ดังนั้นจึงไม่ชอบใจจะอยุ่กับหมู่คณะ.
  • ผู้มีปัญญา ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล.
  • มักติดรสอาหาร จึงทำให้ต้องละทิ้งประโยชน์ที่จะนำความสุขมาให้.
  • ผู้มีปัญญากล่าวว่า การไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย เป็นเปือกตมและเป็นลูกศรที่ละเอียดถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากอย่างยิ่ง.
 ๗. พระอุปเสนะ๑๑
  • ป่าที่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ แต่สงบสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง ภิกษุผู้หวังจะหลีกเร้น ควรอยู่ในเสนาสนะป่าเช่นนั้น ควรห่มจีวรเศร้าหมองที่ได้มา โดยเก็บผ้ามาจากกองขยะ จากป่าช้าจากตรอกซอกซอย แล้วมาทำเป็นจีวร.
  • ควรสงบจิตให้หมดมานะ คุ้มครองทวาร สำรวมอินทรีย์ เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก บิณฑบาตที่ได้มาแม้จะไม่ประณีตก็ควรยินดี ไม่ควรอยากได้อาหารมากรส เพราะคนที่ติดใจในรสอาหาร จิตย่อมไม่ยินดีในฌาน.
  • ไม่ควรคลุกคลีกับใคร ๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรชิตหรือคฤหัสถ์ ควรแสดงตนให้เป็นเหมือนคนบ้าและคนใบ้ คือไม่พูดมาก เมื่ออยู่ท่ามกลางหมู่คณะ.
  • ไม่ควรใส่ร้ายใคร ไม่ควรกระทบกระทั่งใคร ควรสำรวมในพระปาติโมกข์ และควรรู้จักประมาณในการฉันอาหาร.
  • ควรศึกษานิมิตรหมายที่ทำให้จิตเกิดให้ดี จิตเกิดแต่ละขณะเป็นอย่างไร ควรรู้ให้ทัน ควรบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเนือง ๆ ไม่ควรวางใจในเมือยังไม่สิ้นทุกข์.
  • ภิกษุผู้ปรารถนาความยริสุทธิ์เป็นอยู่อย่างนี้ อาสวะย่อมหมดไปได้ เธอย่อมบรรลุนิพพาน.
 
 
 
ที่มาและความหมาย:
 
 
ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ
 
๑. อสีติมหาสาวก ๘๐ พระอรหันต์, ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ, สำนักพิมพ์ธรรมลีลา (ผู้รวบรวมจำไม่ได้ว่าปีที่พิมพ์เป็นปีใด ซึ่งได้คัดลอกมาจากสมุดโน้ตที่ได้จดเก็บไว้นานแล้วเมื่อราว ๆ ปีปลายปี พ.ศ.๒๕๔๐ อีกต่อหนึ่ง).
๒. ความหมายของคำว่า "อสีติมหาสาวก" ตามรูปศัพท์ เป็นคำสมาสประกอบด้วยคำ "อสีติ" และ "มหาสาวก" .
"อสีติ" เป็นปกติสังขยา คือ จำนวนนับตามปกติ แปลว่า "๘๐".
"มหาสาวก" ประกอบด้วยคำว่า "มหา" ซึ่งเป็นคุณศัพท์แปลว่า ใหญ่, มาก, สำคัญ และคำว่า "สาวก" ซึ่งเป็น คำนามกิตก์ ประกอบรูปมาจากธาตุ "สุ" (ในความหมายว่าฟัง) + ปัจจัย ณฺวุ มีรูปศัพท์ว่า "สาวก" แปลว่า ผู้ฟัง ในที่นี้หมายถึง ภิกษุผู้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดคืออรหัตตผล.
ดังนั้นคำว่า "อสีติ" และ "มหาสาวก" เมื่อรวมเข้าด้วยกันเป็นคำสมาส เป็น "อสีติมหาสาวก" จึงแปลว่า พระสาวกผู้ใหญ่หรือผู้ยิ่งใหญ่หรือสำคัญ ๘๐ รูป (www.dhammajak.net วันที่สืบค้น. ๑๗ ก.ย.๕๕).
๓. พระมหากัจจายนะ เป็นเอตทัคคะ (ผู้ประเสริฐสุดในทางใดทางหนึ่ง) ในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร ท่านสามารถทำพระดำรัสโดยย่อของพระตถาคตให้บริบูรณ์ ทั้งโดยอรรถทั้งโดยพยัญชนะได้ บ้างก็เรียกว่าท่าน "พระมหากัจจานเถระ" - ท่านเป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรก ๆ ของพระบรมศาสดา ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (วิธีอุปสมบทเป็นภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้น ๆ โดยพระพุทธเจ้าประทานให้ด้วยพระองค์เอง).
๔. พระมหากัปปินะ  เป็นเอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ เดิมท่านเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์นครภุกฎวดีในปัจจันตชนบท มีพระนามเดิมว่า "กัปปินะ" เมื่อท่านบวชและได้บรรลุอรหัตตผล ตลอดจนปฏิบัติกิจน้อยใหญ่ช่วยเหลือพระศาสนาแล้ว ท่านได้รับมอบหมายจากพระบรมศาสดาให้เป็นผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย พระบรมศาสดาได้ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ.
๕. พระนาลกะ ท่านเป็นลูกของน้องสาวอสิตดาบส หรือ กาฬเทวิลดาบส ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งพระมหาบุรุษประสูติใหม่ กาฬเทวิลดาบส ไปเยี่ยมเยียน ได้เห็นพระลักษณะของพระมหาบุรุษถูกต้องตามตำราพยากรณ์ของพราหมณ์ว่า พระองค์จะเสด็จออกทรงผนวชแล้วจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก จึงมาแนะนำนาลกะผู้หลานชายให้ออกบวชประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์คอยพระองค์อยู่ นาลกะก็กระทำตามคำแนะนำ เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าเสด็จออกทรงผนวชได้ตรัสรู้แล้ว นาลกะได้ทราบข่าว จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาโมไนยปฏิบัติ พระองค์ก็ทรงพยากรณ์ให้โดยนัยเป็นต้นว่า พึงทำจิตให้เสมอในสัตว์และบุคคลทั้งปวง อย่าโกรธ อย่าโทมนัสขัดเคืองในเมื่อถูกบริภาษ เมื่อเวลาจบพยากรณ์ปัญหา นาลกะเกิดความเลื่อมใส จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ทูลลาพระบรมศาสดาเข้าไปสู่ป่า อุตส่าห์พยายามทำความเพียรในโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ ไม่ทำความสนิทสนมกับชาวบ้าน ไม่ติดในบุคคล และถิ่นที่อยู่ เป็นผู้มักน้อยในที่จะเห็น เป็นผู้มักน้อยในที่จะฟัง เป็นผู้มักน้อยในที่จะถาม ไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล และเป็นธรรมเนียมของผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ เป็นอย่างสูง และในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ๆ จะมีพระสาวกผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติเพียงองค์เดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม ว่า โคตมะนี้ พระนาลกะจัดว่าเป็นผู้บำเพ็ญเพียรโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ นับแต่วันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลมา ท่านดำรงอายุสังขารอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอิริยาบถยืน เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา  ในเรื่องราวของท่านที่ปรากฏในปกรณ์ต่าง ๆ กล่าวว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ ด้วย คือ เป็นยอดเยี่ยมกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ประพฤติในโมไนยปฏิบัติ แต่ในเอตทัคคะ บาลีไม่ปรากฏจึงไม่ได้กล่าวไว้ในประวัติของท่าน.
๖. โมเนยยปฏิปทา - ข้อปฏิบัติของมุนี - โมไนย (อ่านว่า โม-ไน-ยะ) หมายถึงความเป็นมุนี ความเป็นปราชญ์ คุณธรรมของนักปราชญ์ ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี.
๗. พระสารีบุตร พระอัครสาวกผู้เป็นเลิศหรือเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คู่กับพระมหาโมคคัลานะ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระบรมศาสดา ท่านได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเลิศกว่าพระสงฆ์ทั้งปวงในด้านสติปัญญา นอกจากนั้นท่านยังมีคุณธรรมในด้านความกตัญญู และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาอีกด้วย.
๘. ปริพาชก หมายถึง ผู้ขับไล่ธรรมชาติที่ให้ผลเป็นทุกข์ (ความชั่ว) ซึ่งมีอยู่ทั้งเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว เที่ยวไปด้วยปัญญา ทำลายมายา (เล่ห์เหลี่ยม) มานะ (ความถือตัว) ความโลภ ความโกรธ ความได้หมด ทำลายทางรูปได้ทั้งสิ้น ปกติใช้เรียกนักบวชนอกพระพุทธศาสนาเท่านั้น.
๙. พระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระบรมศาสดา เป็นเอตทัคคะด้านผู้มีฤทธิ์ เดิมท่านเป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านในหมู่บ้านโกลิตคาม ได้ชื่อว่า "โกลิตะ" ตามชื่อของหมู่บ้าน มารดาชื่อ โมคคัลลี คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่า "โมคคัลลานะ" ตามชื่อของมารดา ท่านเป็นสหายที่รักกันมากกับอุปติสสมาณพ (พระสารีบุตร) ซึ่งมีอุปนิสัยใจคอเหมือนกัน และยังได้ออกบวชพร้อมกัน.
๑๐. พระมหากัสสปะ เป็นเอตทัคคะในด้าน ผู้มีธุดงค์มาก (ผู้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์) ท่านเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระบรมศาสดาสรีระ ท่านได้รวบรวมพระธรรมหลักคำสอนเพื่อบันทึกไว้เป็นหมวดหมู่ หรือมีการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรก กล่าวคือท่านได้เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนา.
๑๑. พระอุปเสนเถระ เป็นเอตทัคคะในทางผูู้นำซึ่งความเลื่อมใส  ท่านพระอุปเสนเถระ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ และนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่านาลันทะ แคว้นมคธ เดิมชื่อว่า อุปเสนมาณพ อีกอย่างหนึ่ง เรียกชื่อตามที่เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ว่า อุปเสนวังคันตบุตร เป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๖ คน น้องชาย ๓ คน คือ พระจุนทะ,พระอุปเสนะ, และพระเรวตะ, น้องหญิง ๓ คน คือ นางจาลา,นางอุปจารา, และนางสีสุปจารา รวมท่านพระสารีบุตรด้วยจึงเป็น ๗ คน อุปเสนมาณพนั้นเมื่อเติบโตแล้วได้ไปศึกษาไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ต่อมาได้สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา แล้วเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านพระอุปเสนะ เมื่ออุปสมบทได้เพียง ๑ พรรษา ก็มาคิดว่าจะทำพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ จึงได้ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ทำการบวชกุลบุตร ต่อมาท่านได้พาคณะศิษย์ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ถูกพระบรมศาสดาทรงรุกรานว่า เป็นโมฆบุรุษผู้มีความมักมาก เมื่อท่านกลับจากการเข้าเฝ้าแล้วคิดว่า เราจะยังพระบรมศาสดาให้ประทานสาธุการ (แก่เรา) เพราะอาศัยบริษัทของเราให้จงได้ ท่านครั้นคิดอย่างนั้นแล้วไม่ประมาท เพียรพยายามเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต่อกาลไม่นาน ก็ได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ ในตำนานกล่าวว่า ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร จนมีสัทธิวิหาริกประมาณ ๕๐๐ องค์ เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้พาสัทธิวิหาริกไปเข้าเฝ้าอีก ในครั้งนี้พระบรมศาสดาได้ประทานสาธุการแก่ท่านว่า สาธุ สาธุ อุปเสนะ (ดูก่อนอุปเสนะ ดีละ ๆ) ฉะนี้ สมตามความที่ท่านได้คิดไว้แล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงคุณของท่านพระอุปเสนะ ซึ่งมีประการต่าง ๆ แล้วตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบในหมู่ชน ทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ท่านพระอุปเสนะดำรงชีพอยู่โดยสมควรแก่กาลสมัยแล้ว จึงดับขันธปรินิพพาน (อ้างถึง: www.dhammthai.org/monk/monk22.php วันที่สืบค้น ๒ ต.ค.๕๕)

 
humanexcellence.thailand@gmail.com