MENU
TH EN

น้าองุ่น


ภาพข้างต้น นำมาจาก www.broadcasthai.com เมื่อ 6 กันยายน 2559 เพื่อนำมาประกอบเรื่องเท่านั้น


เรื่องราวของ "เจ๊กุ่ย", "ป้าณีย์" และ "น้าองุ่น"  เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา โดยประสมประสาน ประสบการณ์ ตัวละคร ผู้ที่ข้าพเจ้าได้พบปะ โคจรมาเจอกันในฐานะ บทบาทที่แตกต่างกัน ช่วงเวลาที่สั้นบ้างยาวบ้าง มีทั้งความประทับใจ ขมขื่น ชื่นชม ปิติ หัวเราะ ฯ แต่ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นคุณค่าที่ได้รับ เข้าใจโลก ชีวิต และความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และถือว่า ทุก ๆ อย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมีประโยชน์มีเหตุผลของมัน และ (ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากที่ไหนไม่ทราบ นานแล้วแต่ยังจำได้เสมอมาว่า สิ่งที่เราได้ตัดสินใจเลือกไว้แล้วนั้น ถูกต้องเสมอ..!!)

หากบางบทบางตอน หรือบางชื่อของตัวละครไปซ้ำหรือพ้องชื่อกับใครบางท่าน หรืออาจจะมีเนื้อหาไปกระทบกับใครบางคน ก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอให้ท่านอโหสิ รวมทั้งถือว่าเป็นการปันประสบการณ์แก่ผู้อ่านทั่วไปด้วยนะครับ...

หวังว่าผู้อ่านคงได้รับประโยชน์ในเชิงสังคมวิทยา (Sociology) และคงสอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิต ที่ว่า "สัตว์ทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีกรรมเป็นทายาท และมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์" บ้างไม่มากก็น้อย

อภิรักษ์ กาญจนคงคา
3 ตุลาคม 2552 (ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 24 ส.ค.56)


ประวัติชีวิตของนางวาธินี จันทร์พราหมณ์

 

บทที่ 1 เหตุการณ์สำคัญก่อนเกิด

 

ก่อนที่นางวาธินี จันทร์พราหมณ์ จะเกิดนั้น ได้มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ระหว่างประเทศ ในประเทศและระดับภาคฯ ดังนี้

§  ยุทธนาวีเกาะช้าง ไทยรบกับฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2484 เป็นเหตุการณ์รบทางเรือที่เกิดขึ้นในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเรียกร้องให้ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส เสียใหม่ โดยใช้แนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ ร.ศ.112 ให้ไทย

ยุทธภูมิในการรบครั้งนี้เกิดขึ้นที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2484 และถือเป็นการรบทางทะเลครั้งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และรัฐบาลฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อีกด้วย

ผลการรบ:        ฝรั่งเศสได้รับชัยชนะ

 

ไทย

ฝรั่งเศส

ผู้บัญชาการ: 

หลวงพร้อมวีรพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี (เสียชีวิตในการรบ)

เรจี เบรังเยร์

กองกำลัง

เรือตอร์ปิโด 2 ลำ

เรือปืนยามฝั่ง 1 ลำ

เรือลาดตระเวนเบา 1 ลำ

เรือสลุป 2 ลำ

เรือปืน 2 ลำ

ความสูญเสีย

เรือตอร์ปิโดทั้ง 2 ลำอับปาง

เรือหลวงธนบุรีได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ทหารเรือเสียชีวิต 36 นาย

เรือลามอตต์ ปิเกต์ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ความสูญเสียของทหารไม่ทราบจำนวน

§  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคต เป็นเหตุการณ์เสียงปืนนัดแรกในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน ด้วยพระองค์ทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ จนเรียบร้อยแล้ว จึงจะเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวรและทรงเข้ารับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 เมื่อเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

§  ผู้นำชาวไทยเชื้อสายมลายู ประชุมที่ปัตตานี ยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาล 7 ข้อ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2490 นำโดยหะยี สุหลง อับดุลกาเดร์ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาสะสมอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างปัญหาให้แก่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก ข้อเสนอ 7 ข้อ มีดังนี้

1)           ขอปกครอง 4 จังหวัดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด

2)           การศึกษาในชั้นประถม (ขณะนั้นชั้นประถมมีเรียนแค่ชั้น ป.4) ให้มีการศึกษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย

3)           ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น

4)           ในจำนวนข้าราชการทั้งหมด ขอให้มีข้าราชการชาวมลายู ร้อยละ 85 (คิดตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 85% พุทธ 15%)

5)           ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย เป็นภาษาราชการ

6)           ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด

7)           ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอฎี หรือดาโต๊ะยุติธรรมตามสมควรและมีเสรีภาพในการพิจารณาคดี

ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ยังมีข้อเสนอในเชิงลับที่อยู่ในหน่วยงานความมั่นคง ที่เรียกร้องหนักมากกว่าข้อเรียกร้องที่อ้างว่า หะยี สุหลงได้ทำขึ้น

หะยี สุหลงจึงถูกมองว่าเป็นกบฏ เป็นผู้นำแบ่งแยกดินแดน แต่ศาลได้ตัดสินให้หะยี สุหลงพ้นมลทินข้อหากบฏ แต่มีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาล ศาลสั่งจำคุก 3 ปี หลังพ้นโทษเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2497 หะยี สุหลง พร้อมเพื่อน 2 คนและนายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชาย เดินทางกลับจากเรือนจำนครศรีธรรมราชมาบ้านที่ปัตตานี แต่ได้หายสาบสูญไป มีเสียงร่ำลือว่าเขาได้ถูกวิสามัญฯ หรือถูกอุ้มฆ่าถ่วงน้ำในทะเลสาบสงขลา (สรุปและเรียบเรียงจาก www.wikipedia.org และจากสกู๊ปข่าว นสพ.ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ.2547 หน้าที่ 1, 5) บ้างก็ว่าหายไปที่หาดสะมิหลา บริเวณหน้าเกาะหนู เกาะแมว จังหวัดสงขลาและเรื่องนี้ก็เป็นในหลาย ๆ เรื่องที่เป็นประเด็นคุกรุ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จวบจนถึงปัจจุบัน

 

บทที่ 2 วัยเด็กก่อนวัยเรียน

 

            นางวาธินี จันทร์พราหมณ์ เกิดที่อำเภอหนองจิก  จังหวัดปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม ปี พ.ศ.2490 ปีกุน นามสกุลเดิมคือ นาคนาม เป็นบุตรีคนที่สุดท้องของบรรดาพี่น้องทั้งหมดหกคน ต่อไปนี้ผู้ศึกษาจะเรียก นางวาธินีว่า น้าองุ่น

บ้านเดิมของน้าองุ่นอยู่ใกล้วัดสำคัญวัดหนึ่งชื่อวัด มุจลินทวาปีวิหารหรือวัดตุยง เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ.2388 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ มาถึงเมืองหนองจิก และมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดมุจลินทวาปีวิหารปัจจุบันเป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม จุดเด่นของวัดคือวิหารซึ่งประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังสีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ซึ่งมีเชื้อสายของตระกูล คณานุรักษ์ซึ่งเป็นตระกูลของคนจีนตระกูลใหญ่เก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา และเมื่อนับสาแหรกแยกลงมาแล้ว ก็เป็นต้นสายของตระกูลสำคัญ ตระกูลหนึ่ง คือ สุวรรณบงกชที่มีชื่อเสียงในจังหวัดยะลา ซึ่งหลวงพ่อดำนี้มีศักดิ์เป็นตาของนางสาวแก้วกาญจน์ ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไปในเบื้องหน้า

  บิดาและมารดาของน้าองุ่นเป็นเกษตรกร รับจ้างทั่วไป เป็นคนไทยแถวอำเภอหนองจิกนั่นเอง มีฐานะยากจน บิดาและมารดานั้น เดิมเป็นคนอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แล้วย้ายมาที่อำเภอหนองจิก ตอนเด็ก ๆ น้าองุ่นจะผ่ายผอม ตัวดำ เล็กและขี้โรค ไม่ได้เรียนหนังสือ เอาแต่วิ่งเล่นแถว ๆ บ้านและลานวัดตุยง มีเพื่อนทั้งที่เป็นไทยพุทธและไทยมุสลิม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 เมื่อน้าองุ่นอายุได้ 7 ขวบ นางสาวแก้วกาญจน์  สุวรรณบงกช (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ป้าแก้ว”) ได้นำมาเลี้ยงไว้ช่วยงานที่บ้าน โดยสอบถามจากญาติ ๆ แถววัดตุยงนั้น ว่ามีเด็กผู้หญิงที่บิดามารดายากจนมาให้เลี้ยงและมาช่วยงานที่บ้านบ้างหรือไม่ ญาติ ๆ ของป้าแก้วก็สอบถามและได้น้าองุ่นมาช่วยงานที่บ้านในตลาดเก่า จังหวัดยะลา

ป้าแก้ว เกิดราว ๆ ปี พ.ศ. 2472-2474 (ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมไปร่วม 10 กว่าปีแล้ว) เป็นสาวโสดมีอาชีพรับจำนำของ รับขายฝาก และปล่อยเงินกู้และชาวบ้านทั่วไปในตลาดเก่า อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งอาชีพนี้ ป้าแก้ว ได้รับตกทอดมาจากบิดา ท่านเป็นคนขยัน ผิวคล้ำเล็กน้อย สูงใหญ่ (เมื่อเทียบกับหญิงไทยทั่วไป) มีระเบียบวินัย ประหยัด สะอาดเรียบร้อย เป็นคนตรง ดุ ใจดี แต่เสียตรงที่พูดเร็วและรัว โดยเฉพาะเวลาโมโหจะพูดเร็วมาก จนบางทีน้าองุ่นก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ป้าแก้ว ดุว่าอะไรเธอ แต่ดูจากอากัปกิริยา สีหน้าก็รู้ว่าโมโหและน้าองุ่นจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ขณะเมื่อสัมภาษณ์ ผู้ศึกษาสังเกตอาการอมยิ้ม แล้วหัวเราะของน้าองุ่น เท่าที่สังเกต น้าองุ่นตัวค่อนข้างเตี้ย ไม่อ้วนไม่ผอม ผมสีดอกเลา ยังคล่องแคล่ว ผิวดำออกจะคล้ำเหมือนคนไทยปักษ์ใต้ทั่วไป น้าองุ่นอาศัยอยู่ในหมู่บ้านพุทธธานีมาได้แค่ 2 ปี อยู่บ้านทาวเฮ้าส์ 2 ชั้น ในซอย 10 กลางซอยของหมู่บ้าน อาศัยอยู่รวมกันสี่คน ประกอบด้วย น้าองุ่น อาหนุ่ย ซึ่งเป็นสามีของน้าองุ่น สามารถ ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่สอง และ อนุสรา ลูกสะใภ้ สภาพทาวเฮ้าส์ค่อนข้างใหม่ ข้าวของเต็มล้นบ้านเลยมาลานกว้างฝั่งตรงข้ามของทาวเฮ้าส์ เป็นกรงสุนัขที่เสร็จแล้วพร้อมส่ง และกรงที่กำลังประกอบอยู่จำนวนหนึ่ง   วันที่สัมภาษณ์วันแรกนี้ น้าองุ่นแต่งกายง่าย ๆ นุ่งผ้าถุงใส่เสื้อยืดมีปกแขนสั้นเรารักในหลวงสีเหลืองหม่น ไม่มีเครื่องประดับใด ๆ นอกจากสร้อยเงิน แหวนทองเกลี้ยง ๆ และมีพระหลวงพ่อทวดห้อยคอเท่านั้น

ป้าแก้วมีพี่น้องรวมตัวป้าแก้วเอง เก้าคน ต่อมาภายหลังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับพินัยกรรมการแบ่งสมบัติ ญาติพี่น้องโกรธแตกกันไปคนละทิศละทาง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

น้าองุ่นเล่าให้ฟังว่า ป้าแก้วตอนสาว ๆ นั้นสวยเอาการอยู่ บิดาและมารดาของป้าแก้วได้ให้หนุ่มเชื้อสายจีน ที่มีสกุลรุนชาติระดับเดียวกันกับตระกูลสุวรรณบงกชมาดูตัวป้าแก้ว ๆ กระโดดหน้าต่างหนีไปเสีย งานดูตัวดังกล่าวจึงล่มไป

เมื่อน้าองุ่นมาอยู่กับป้าแก้วที่ตลาดเก่าช่วงแรก ๆ นั้น น้าองุ่นงอแงมาก พี่ชายและญาติของน้าองุ่นก็มาเยี่ยมโอ๋และอุ้มอยู่นานจึงจะเงียบ พอนาน ๆ เข้าพี่ชายและญาติที่มาจากหนองจิกก็หายไปและไม่มาเยี่ยมอีกเลย ตอนเด็ก ๆ นั้น น้าองุ่นดื้อมาก โดยป้าแก้วตีด้วยไม้เรียวเอาบ่อย ๆ โดยเฉพาะใช้กิ่งมะยมและกิ่งต้นชมพู่ที่อยู่หลังบ้านตีที่ก้นและน่อง ยังรู้สึกเจ็บ จำได้จนเดี๋ยวนี้ ทุก ๆ สัปดาห์น้าองุ่นจะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานราเล่ย์ (Raleigh) (เป็นจักรยานชั้นดีผลิตในประเทศอังกฤษ สมัยนั้นราคาแพงมาก คันหนึ่งก็ตกราว ๆ 700 บาท ในสมัยนั้น หากใครได้ขี่แล้วละก็ เท่เหมือนกับขี่รถเบนซ์ในสมัยนี้ก็ว่าได้) ไปเก็บดอกเบี้ยและเงินต้นกับลูกค้าตามจุดต่าง ๆ ในตัวเมืองยะลา บางทีลูกค้าก็มาชำระที่บ้านตลาดเก่า

ตอนกลางคืนน้าองุ่นจะร้องไห้บ่อย ๆ เพราะคิดถึงบิดามารดาที่บ้าน ได้สักพักหนึ่งก็ลืมหายไป ไม่คิดถึงอีกเลย

นอกจากน้าองุ่นจะช่วยงานบ้านด้วยแล้ว ก็มีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยจัดร้านขายผ้าให้น้าอุษา ซึ่งเป็นน้องสาวของป้าแก้ว ในตลาดเก่าทุกเช้า โดยช่วยกันกับคนงานอีกคนหนึ่งชื่อ ลุงสม น้าองุ่นเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นพูดภาษายาวีได้ สื่อสารกับชาวไทยมุสลิมได้คล่องแคล้ว แต่เดี๋ยวนี้ลืมหมดแล้ว ผู้ศึกษาได้เห็นน้าองุ่นก็หัวเราะร่วนขึ้นมาอีกครั้ง

ในตลาดเก่านี้ มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมค้าขายกันคึกคัก อยู่กันได้ด้วยดี สงบสุขมาก (ไม่เหมือนสมัยนี้ กล่าวว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา มีปัญหาเรื่องความไม่สงบ มีระเบิด มีการยิงปะทะ มีการไม่ไว้วางใจกัน จนคนไทยพุทธอยู่แทบไม่ได้ มีการย้ายออกกันมาก ปัจจุบันตัวเมืองยะลาเงียบจนน่ากลัว ขาดความปลอดภัย) ผ้าจะขายดีมากในช่วงเทศกาลรอมมาฎอน (ช่วงถือศีลอด) ช่วงเทศกาลฮารีรายอ (วันเฉลิมฉลองของชาวไทยมุสลิมหลังช่วงถือศีลอด)

 

บทที่ 3 วัยเรียน

 

            พอน้าองุ่นโตพอที่จะเรียนหนังสือ ก็เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านนิบง (ปัจจุบันชื่อโรงเรียนนิบงชนูปถัมภ์) ก่อนหน้าที่จะเข้าเรียนหนังสือนั้น น้าองุ่นก็พอจะได้เรียน ก ไก่ ข ไข่ และ A B C มาบ้าง โดยมีป้าแก้วเป็นคนสอนให้ ผลการเรียนหนังสือของน้าองุ่นอยู่ในเกณฑ์อ่อนถึงพอใช้เท่านั้น หลังจากยื่นสมุดพกแสดงผลการเรียนให้ป้าแก้วดู ก็โดนป้าแก้วตีเอาหลายครั้งกับผลการเรียนที่ไม่ดี

น้าองุ่นทราบและสัมผัสได้ แม้ว่าดูภายนอกป้าแก้วจะเป็นคนดุ ใจร้าย ไม่มีเมตตาเลย แต่ลึก ๆ แล้วตรงกันข้าม ป้าแก้วเป็นแม่พระใจดีอย่างที่สุด มีพระคุณอย่างสุดประมาณ ผู้ศึกษาได้สัมภาษณ์ถึงตรงนี้ น้าองุ่นถึงกับน้ำตาร่วงร้องไห้ออกมาเลย เธอเอาผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา ผู้ศึกษาก็ตะลึงเอาเหมือนกัน ว่าทำไมน้าองุ่นถึงแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้ตรง ๆ เช่นนี้

การไปเรียนหนังสือของน้าองุ่นนั้น ช่วงแรก ๆ ป้าแก้วจะขี่จักรยานไปส่ง-รับ แต่ช่วงหลัง ๆ ป้าแก้วยุ่งมีธุระมากขึ้น ก็ได้จ้างรถตุ๊ก ๆ ให้ไปรับส่งแทน ซึ่งสะดวกดี

ป้าแก้วประหยัดมาก น้าองุ่นได้ซึมซับข้อดีเรื่องนี้ไว้ เป็นแนวปฏิบัติของท่านมาตลอด ขนาดยาสีฟันเมื่อใกล้จะหมด ป้าแก้วจะเอาขวดแก้วมากดรีดยาสีฟันจนหมดหลอดจริง ๆ แล้วจึงจะซื้อใหม่ บางครั้งก็ให้น้าองุ่นไปซื้อกวยจั๊บมาทานเพียงไม่กี่บาท แต่ป้าแก้วเอาปอดหมูต้มใส่เพิ่ม สามารถทานกันได้ทั้งบ้าน

หลังจากเรียนจบชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านนิบงแล้ว ก็มาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสตรียะลา การเรียนก็ยังไม่ดีนัก ป้าแก้วปรึกษากับน้อง ๆ ที่เป็นครูสอนหนังสืออยู่โรงเรียนประจำจังหวัดและโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัด จึงตัดสินใจให้น้าองุ่นเข้าเรียนที่วิทยาลัยพละศึกษา จังหวัดยะลาต่อ

ในปี พ.ศ.2507 ตอนนั้นน้าองุ่นอายุ 17 ย่าง 18 ปี เป็นสาวรุ่น ป้าแก้วได้รับ ด.ช.ทรงพล ซึ่งเป็นลูกชายคนที่สองของน้องสาวป้าแก้วแท้ ๆ มาเลี้ยง ซึ่งขณะนั้นทรงพลอายุเพียง 8-9 เดือน ขาวน่ารักมาก ป้าแก้วรักและให้ทรงพลเป็นลูกบุญธรรมตามกฎหมาย น้าองุ่นทราบและตระหนักได้ ว่าตนเองเป็นบุตรบุญธรรมชั้นสอง เทียบกับทรงพลไม่ได้ เพราะยังไง ๆ ทรงพลก็เป็นเชื้อสายแท้ ๆ ของตระกูลสุวรรณบงกช

แต่น้าองุ่นก็ไม่อิจฉาทรงพลแต่อย่างใด กลับรักและเอ็นดูทรงพลเหมือนน้องแท้ ๆ เสียด้วยซ้ำ ฐานะความเป็นอยู่และธุรกิจของป้าแก้วก็ดีขึ้นโดยลำดับ ป้าแก้วซื้อที่ดินไว้หลายแปลง ปลูกห้องแถวให้คนเช่าหลายสิบหลัง ทั่วเมืองยะลา แต่ท่านฯ ก็ยังประหยัดมัธยัสถ์เหมือนเดิม ยังขี่จักรยานราเล่ย์ไปตามปกติ ซึ่งน้าองุ่นก็ซึมซับเรื่องนี้มาตลอด

ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดความไม่พอใจ ในบรรดาพี่น้องของป้าแก้ว เพราะบิดามอบงานด้านการรับจำนำของถ่ายทอดให้ป้าแก้วคนเดียว ลูก ๆ ที่เหลืออีกแปดคนนั้น บิดาก็แบ่งสมบัติที่ดินห้องแถวให้แล้วเท่า ๆ กัน แต่ก้ไปไม่รอด ลูก ๆ หลายคนต้องขายสมบัติกิน ลูกหลานบางคนได้สะใภ้และเขยที่ไม่ค่อยเก่ง รายจ่ายมากกว่ารายรับ ต้องขายสมบัติไปเรื่อย ๆ จึงมองย้อนกลับมาดูป้าแก้ว ที่มีแต่รุ่งเรืองเจริญก้าวหน้าก่อสร้างขยายห้องแถวเก็บค่าเช่าอยู่ตลอด ทั้งน้าองุ่นและทรงพลก็ทราบเรื่องนี้ดี มีประสบการณ์ตรง เกิดการดุว่า นินทาหาเรื่อง กระทบกระทั่งป้าแก้วให้ได้ยินตลอด ทรงพลนั้นยิ่งโดนหนักกว่าเพื่อน เพราะลุงป้าน้าอาทั้งหลาย มองว่าทรงพลจะได้รับมรดกโดยตรง และมากที่สุด ทรงพลจากเด็ก ๆ ตัวขาวน่ารักไม่รู้เรื่องอะไร เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้ยิน ได้เห็นป้าแก้วนอนร้องไห้แค้นใจญาติ ๆ ซึมซับ วิเคราะห์ แยกแยะ สังเคราะห์และประมวลสรุปเรื่องที่เกิดขึ้น ทรงพลจะแสดงอาการเฉย ๆ เมื่ออยู่ท่ามกลางญาติพี่น้อง แต่จะบ่นเรื่องลุงป้าน้าอาทั้งหลายให้น้าองุ่นทราบเสมอ ๆ

น้าองุ่นทราบดี ถึงสงครามประสาท การด่าทอกันและการเมืองภายในตระกูลสุวรรณบงกช แต่ก็ดูห่าง ๆ เพราะน้าฯ ตระหนักดีว่าตนเองเป็นคนนอก

ทรงพลเป็นเด็กเรียนหนังสือดี สามารถสอบเข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่กรุงเทพฯได้ และสอบเข้ามหาวิทยาลัย จนเรียนจบปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมาจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในภายหลัง ทรงพลรับช่วงธุรกิจต่อจากป้าแก้ว หลังจากนั้นราว ๆ ปี พ.ศ.2538 ทรงพลก็แต่งงานมีครอบครัว และเมื่อป้าแก้วได้ถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ.2540 ก็เกิดกรณีพิพาทเรื่องพินัยกรรมกัน ซึ่งทรงพลได้รับมรดกส่วนใหญ่ แต่ญาติ ๆ ก็ไม่พอใจฟ้องร้องกล่าวหาว่าตนต้องได้ส่วนแบ่งด้วย ถือว่าพินัยกรรมนั้นปลอม เป็นเรื่องเป็นราว เกิดการแตกแยกร้าวฉานในหมู่พี่น้องของป้าแก้วจนยากที่จะประสานคืนดีเหมือนเดิมได้ และเมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หนักมากเข้า ทรงพลเห็นถึงความไม่ปลอดภัยของลูก ๆ ตน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2548 นี้เองก็ย้ายครอบครัวมาอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยาจวบจนปัจจุบัน

 

บทที่ 4 วัยทำงาน

 

หลังจากน้าองุ่นเรียนจบที่วิทยาลัยพละศึกษา จังหวัดยะลาแล้ว ก็ว่างงานอยู่ปีกว่า ๆ ช่วยงานที่บ้านและดูแลทรงพล ซึ่งขณะนั้นยังเด็กอยู่มาก ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2510  น้าองุ่นก็สอบบรรจุเป็นครูพละที่โรงเรียนประจำอำเภอที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซี่งอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองประมาณ 18-20 กิโลเมตร ต้องนั่งรถประจำทางไปกลับทุกวัน การงานก็ปกติไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น สนุกกับการเป็นครูพละ โดยเฉพาะการสอนบาสเกตบอลให้แก่นักเรียน แต่ก็หวาดหวั่นเป็นบางครั้ง เพราะบางวันมีการปิดถนน มีการปะทะกันระหว่างโจรหรือผู้ก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร

น้าองุ่นทราบและได้รับประสบการณ์ตรงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนั้น บางคนก็ข่มเหงชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอยู่เนือง ๆ โดยเมื่อปีไหนไม่ทราบ (น้าองุ่นนึกไม่ออก) แต่เป็นช่วงปี พ.ศ.2510-2514 เย็นวันหนึ่งขณะที่รอรถประจำทางที่อำเภอยะหาจะกลับตัวเมืองยะลาอยู่นั้น รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับตรงและเซไปเซมา แฉลบเฉียวชาวบ้านที่ยืนรอรถ รวมทั้งน้าองุ่นจนผลัดตกลงไปในคูข้างทาง บาดเจ็บหลายคน บ้างก็ขาแขนหัก แต่ไม่ถึงกับมีผู้เสียชีวิต ส่วนน้าองุ่นนั้นโชคดี แขนขาถลอกเล็กน้อย ตำรวจสองสามคนเดินออกมาจากรถด้วยอาการเมาสุรา ขู่สำทับชาวบ้านว่าอย่าบอกใคร เดี๋ยวจะมีเรื่อง แล้วกล่าวหาชาวบ้านรวมทั้งน้าองุ่นว่าทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ให้น้าองุ่นและชาวบ้านลงบันทึกรับสารภาพ น้าองุ่นไม่ยอม ไปฟ้องน้องชายของป้าแก้วซึ่งเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงของจังหวัดยะลา พอเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเรื่องเข้าก็ประนีประนอมยอมความกันไป จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้น้าองุ่น 500 บาท (น้าองุ่นจำตัวเลขยอดเงินได้ดี ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาร่วมเกือบ 40 ปีแล้ว)  

และน้าองุ่นก็ได้รู้จักกับประภาส ซึ่งต่อไปนี้ผู้ศึกษาจะเรียกว่า อาหนุ่ยๆ เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นรุ่นพี่วิทยาลัยพละศึกษายะลาแก่กว่าน้าองุ่น 2 ปี รู้จักและสนิทกันเมื่อครั้งได้ซ้อมและแข่งกีฬาประจำจังหวัด โดยน้าองุ่นจะถนัดกีฬาบาสเกตบอล ส่วนอาหนุ่ยจะเป็นถนัดด้านกรีฑา และวิ่งชนะเลิศวิ่งผลัดสี่คูณร้อยเมตรชายเสมอ ๆ หลังจากจบการศึกษาอาหนุ่ยได้กลับมารับราชการเป็นครูพละสอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนชาย-หญิงราว 1,500-2,000 คน

อาหนุ่ยได้ติดต่อกับน้าองุ่นเรื่อยมา ซึ่งเรื่องนี้ป้าแก้วทราบโดยตลอด ช่วงแรกท่านก็ไม่เห็นด้วย เห็นว่ามีฐานะไม่สู้ดีนัก เกรงว่าจะเลี้ยงดูน้าองุ่นไม่ได้ แต่ต่อมาท่านได้เห็นน้าองุ่นติดต่อกับอาหนุ่ยมาตลอดและอาหนุ่ยก็เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ป้าแก้วก็ไม่คัดค้านใด ๆ ถือว่าเป็นการพิจารณาและการตัดสินใจกันเอง

ฐานะทางบ้านของอาหนุ่ยนั้น ไม่ดีนัก ออกจะยากจน มีอาชีพทำสวน รายได้ที่บ้านไม่ค่อยแน่นอนและอาหนุ่ยจึงต้องขับรถสองแถววิ่งในตัวเมืองสุราษฎร์ฯ เป็นรายได้เสริม

 

บทที่ 5 การครองเรือน

 

ในปี พ.ศ.2515 อาหนุ่ยก็ขอน้าองุ่นแต่งงาน โดยได้แต่งงานกันอย่างเรียบง่ายที่บ้านตลาดเก่ายะลา ป้าแก้วออกค่าใช้จ่ายให้เกือบทั้งหมด สินสอดก็เป็นแค่เงินสองหมื่นบาท ทองคำอีก 3 บาทเท่านั้น ซึ่งแท้จริงป้าแก้วเป็นคนจัดการให้ทั้งสิ้น น้าองุ่นจึงได้เปลี่ยนนามสกุลจาก สุวรรณบงกชเป็น จันทร์พราหมณ์ตามสามี

หลังจากแต่งงานแล้ว น้าองุ่นก็ขอย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ฯ แต่ก้ไม่มีตำแหน่งว่างเลย จึงตัดสินใจลาออก มาทำอาหารและแกงต่าง ๆ ใส่ถุงพลาสติกขายในตลาดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในตัวเมืองสุราษฎร์ฯ นั้นเอง แต่รายได้ของท่านทั้งสองไม่ค่อยเพียงพอ ออกจะขัดสน

ป้าแก้วทราบเรื่องเข้า จึงยกรายได้ค่าเช่าบ้านจำนวน 3 ห้องที่ยะลาให้น้าองุ่นเป็นคนเก็บและจะยกบ้านเช่าให้ภายหลัง น้าองุ่นปลาบปลื้มใจมาก ที่ช่วงหลัง ๆ และแทบทุกอย่างป้าแก้วได้ช่วยน้าองุ่นไว้มาก ครอบครัวน้าองุ่นจึงอยู่กันได้พอมีพอใช้

การยกห้องแถว 3 ห้องให้น้าองุ่นนี้ ก็กลายเป็นหนึ่งในประเด็นย่อยต่าง ๆ ที่ญาติพี่น้องของป้าแก้วนำมาถกเถียงทะเลาะวิวาทกันในภายหลัง หลังจากที่ป้าแก้วถึงแก่กรรมแล้ว น้าองุ่นก็ต้องขายห้องแถวทั้ง 3 ห้องนั้นไปในปี พ.ศ. 2543 หลังจากที่ป้าแก้วถึงแก่กรรมไปแล้ว 4 ปี เพื่อตัดปัญหาไม่อยากเข้าไปอยู่ในวังวน ท่ามกลางการทะเลาะวิวาทดังกล่าว และน้าองุ่นก็ตระหนักเสมอว่า ตนเองนั้นเป็นคนนอก การที่ได้รับทรัพย์สินแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ต่อมาปี พ.ศ.2520 น้าองุ่นได้กำเนิดบุตรชายชื่อ เสถียรและในสามปีถัดมาคือในปี พ.ศ.2523 ก็กำเนิดบุตรคนที่สองชื่อ สามารถทั้งสองมีสุขภาพดีแข็งแรง สูงใหญ่ เรียบร้อย ช่วยบิดามารดาได้มาก เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่น้าองุ่นและอาหนุ่ยไม่น้อย

มีอยู่ครั้งหนึ่งราว ๆ ปี พ.ศ.2530 อาหนุ่ยรับจ้างขับรถสองแถวไปรับ-ส่งฝรั่งที่บ้านดอน แถว ๆ อำเภอกาญจนดิษฐ์ เพื่อให้ฝรั่งนั่งเรือข้ามฝากต่อไปเกาะสมุย หรือบางทีก็พาฝรั่งขึ้นเกาะสมุยด้วยเลย ซึ่งอาหนุ่ยรับ-ส่งมาหลายครั้งแล้ว เป็นรายได้เสริมที่สำคัญ ต่อมาได้ถูกผู้มีอิทธิพลที่ควบคุมดูแลวินรถตู้ที่รับ-ส่งฝรั่งไป-กลับเกาะสมุยข่มขู่และเรียกร้องเงินค่าคุ้มครอง

อาหนุ่ยไม่ยอม เกิดการทะเลาะวิวาท อาหนุ่ยก็มีพรรคพวกที่ขับสองแถวอยู่ด้วย จึงเกิดการตะลุมบอนขึ้น และโดนทำร้าย แต่ไม่เป็นอันตรายมากนัก ผู้มีอิทธิพลก็ได้มารังควานต่อถึงโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีที่อาหนุ่ยสอน จนไม่เป็นอันทำงาน สอนหนังสือนักเรียน เป็นเรื่องราวใหญ่โต น้าหนุ่ยก็ถูกผู้บริหารโรงเรียนเพ่งเล็งกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม

ทั้งสองได้หารือกันว่าคงจะอยู่ที่สุราษฎร์ฯ ต่อไปลำบากแล้ว อาหนุ่ยจึงตัดสินใจลาออกจากการรับราชการเป็นครูพละ เมื่อปี พ.ศ.2530 นั้นเอง และได้ย้ายมาเช่าบ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบ้านหลังเล็กพออยู่กันได้ โดยมีญาติ ๆ คอยช่วยเหลือจัดหาบ้านให้ บ้านที่เช่านี้อยู่ในตัวเมืองริมถนนศรีปราชญ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงพัก บุตรชายทั้งสอง เสถียรและสามารถก็ย้ายมาด้วย

น้าองุ่นก็เริ่มต้นค้าขายกับข้าวกันใหม่อีกครั้ง และอาหนุ่ยก็มีอาชีพขับรถสองแถวเต็มตัว แต่สภาพเศรษฐกิจในจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่สู้ดีนัก ต่างกับจังหวัดสุราษฎร์ฯ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวมีฝรั่งเข้าออกและเป็นเมืองเปิดมากกว่า รายได้ไม่ค่อยเพียงพอ ป้าแก้วก็ส่งเงินมาช่วยเหลือน้าองุ่นทุกเดือน

ชีวิตความเป็นอยู่ที่นครศรีธรรมราชนั้นเรียบง่าย น้าองุ่นได้แต่เฝ้าดูการเติบโตของลูกชายทั้งสอง โดยลูกชายคนแรก เสถียรได้เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลประจำจังหวัด เป็นตัวแทนกีฬาเขตได้เหรียญเงินทีมบาสเกตบอลชายกลับมา เสถียรจบปริญญาตรีที่สถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช ต่อมาได้ทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในจังหวัด มีรายได้พอประมาณ ปัจจุบันยังไม่มีคู่ชีวิต ยังคงอยู่เป็นโสดจนถึงปัจจุบัน

ส่วนลูกชายคนที่สอง สามารถจบโรงเรียนเทคนิคประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านช่างไฟฟ้า ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ได้มาสมัครเป็นช่างไฟฟ้าที่โรงงานกะทิชาวเกาะ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้รู้จักกับ อนุสราซึ่งเป็นพนักงานธุรการในโรงงานกะทิชาวเกาะนั้นเอง เธอเป็นคนในพื้นที่ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ญาติ ๆ ของอนุสราได้ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระทุ่มล้ม  และทีมผู้บริหารอบต. ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นญาติ ๆ กัน อนุสราได้ย้ายมาทำงานเป็นข้าราชการประจำที่ อบต.กระทุ่มล้มในปีเดียวกัน เพราะเห็นว่ามั่นคงกว่า และได้ทำงานอยู่กับญาติพี่น้อง

หลังจากศึกษาดูใจกันมาพักใหญ่ สามารถก็แต่งงานกับอนุสราในปีต่อมา และอนุสราก็ชวนให้ย้ายมาทำงานที่ อบต.กระทุ่มล้มด้วยกัน โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าฝ่ายช่าง และทั้งคู่ก็ได้ตัดสินใจซื้อทาวเฮ้าส์ในหมู่บ้านพุทธธานี ซึ่งอยู่ใกล้กับ อบต. โดยห่างเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งสะดวกต่อการไปทำงานมาก ชีวิตความเป็นอยู่ลงตัว ทั้งคู่ลงหลักปักฐานได้เร็ว เป็นสัดเป็นส่วน อนุสราก็สามารถเยี่ยมเยียนบิดามารดาและญาติ ๆ ในละแวกนั้นได้สะดวก เงินที่นำมาดาวน์บ้านนั้น ก็มาจากส่วนที่น้าองุ่นได้รับมาจากการขายห้องแถวที่ยะลานั่นเอง โดยแบ่งให้กับเสถียรและสามารถคนละครึ่ง ปัจจุบันทั้งสองยังไม่มีบุตรด้วยกัน

ต่อมาในตอนต้นปี พ.ศ.2550 กระแสความนิยมด้านวัตถุมงคล จตุคามรามเทพมีมากและต่อเนื่องทั่วทั้งประเทศ ช่วงแรก ๆ อาหนุ่ยและลูกชายคนโต เสถียรยังไม่ค่อยสนใจนัก แต่ได้เห็นผู้ที่เป็นกรรมการที่จัดทำวัตถุมงคล จตุคามรามเทพรุ่นแล้วรุ่นเล่า รวยขึ้นอย่างผิดหูผิดตา จึงนำเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งที่ได้จากการขายห้องแถวที่ยะลา (หลังจากแบ่งให้สามารถลูกชายคนรองแล้ว) และเงินทองที่เก็บสะสมไว้ นำมาลงทุนจัดทำจตุคามรามเทพรุ่นใหม่อีก 2 รุ่น โดยร่วมทุนกับโกอ๊อดซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำในท้องถิ่น ซึ่งรู้จักกับเกจิอาจารย์ดัง ๆ ทั้งที่เป็นหลวงพี่หนุ่ย วัดคอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และหลวงพี่บางรูปในวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร ตั้งแต่ต้นปี โกอ๊อดได้จัดทำและปลุกเสกเหรียญจตุคามฯ ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายรุ่น

แต่การไม่เป็นดังคาด กระแสความนิยมวัตถุมงคลลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว มีผู้จัดทำวัตถุมงคล จตุคามฯกันทั่วไป ไม่เพียงแต่ที่นครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่จัดหามวลสาร นำมาปลุกเสกวัตถุมงคลจตุคามรามเทพทั่วทั้งประเทศ วัตถุมงคลที่อาหนุ่ยและเสถียรมีนั้น นับดูคร่าว ๆ แล้วมีเหลืออยู่นับหมื่นชิ้น กรอบพระและสักหลาดทั้งที่ซื้อและสั่งทำมาจากท่าพระจันทร์ที่กรุงเทพฯ ก็เก็บใส่ลังกระดาษไว้จนแทบจะเต็มบ้าน แทบไม่มีราคา สุดท้ายก็ต้องแจกให้กับเพื่อน ๆ ญาติ ๆ คนรู้จัก และนำมาฝากไว้ที่วัดพระศรีฯ ตลอดจนวัดใกล้เคียง ได้หารือกับโกอ๊อดเพื่อหาวิธีการจัดการแก้ไขกับปัญหาดังกล่าว โกอ๊อดก็เฉยเสีย ไม่รับโทรศัพท์บ้าง เหมือนกับบอกให้ทราบว่าผลขาดทุนนี้ต่างฝ่ายต่างรับภาระกันไป

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดทำวัตถุมงคล จตุคามรามเทพทั้งสองรุ่นของอาหนุ่ยและเสถียรนั้น ประสบความขาดทุน จนแทบหมดตัว น้าองุ่นกลุ้มใจและเครียดมาก จนไม่มีกำลังจะทำแกงถุงขายที่ตลาดเหมือนเดิม และทั้งคู่ก็มีอายุมากแล้ว (โดยในปลายปี พ.ศ.2550 นั้นเอง อาหนุ่ยและน้าองุ่นมีอายุได้ 63 ปี และ 61 ปีตามลำดับ)

ทรงพล เมื่อได้ทราบข่าวคราวของน้าองุ่นเข้า ก็ส่งเงินช่วยเหลือได้ตามสมควรแต่ไม่มากนัก เพราะลำพังทรงพลนั้น ก็มีภาระต้องเลี้ยงดูลูก ๆ อีก 3 คน และได้ลงทุนเปิดร้านขายของเป็นมินิมาร์ทเล็ก ๆ ให้ภรรยาอีกด้วย แต่ก็ได้เจียดเงินส่งมาช่วยน้าองุ่นประมาณสองสามเดือนหน ตามสมควร พอจะบรรเทาภาระของครอบครัวน้าองุ่นได้บ้าง

เสถียรก็หันกลับไปมุ่งทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเหมือนเดิม สมถะมากขึ้น เงียบครึม ไม่ค่อยพูดจาอะไร บางครั้งก็เครียดขึ้นเสียงดัง ๆ กับอาหนุ่ยและน้าองุ่นหลายครั้ง ซึ่งทั้งสองท่านก็เข้าใจ

 

บทที่ 6 วัยเกษียณ และชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน

 

ปลายปี พ.ศ.2550 ทั้งสองท่านก็มาเยี่ยมสามารถที่นครปฐม สามารถและอนุสราทราบและเข้าใจบิดาและมารดาทั้งสองท่านดี จึงชวนให้ทั้งท่านสองย้ายมาอยู่กับตน อาหนุ่ยและน้าองุ่นก็ตกลงย้ายมาอยู่ด้วย ให้เสถียรอยู่ที่นครศรีธรรมราชโดยลำพัง แต่ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อกัน และไปมาหาสู่กันเสมอ ทุกคนเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางออก ลืมเรื่องผลขาดทุนจากวัตถุมงคลเสีย

น้าองุ่นเมื่อได้มาอยู่ที่บ้านทาวเฮ้าส์ในหมู่บ้านพุทธธานีแล้ว ก็ไม่อยู่เฉยจึงขายไก่ทอดและข้าวเหนียวหน้าปากทางเข้าหมู่บ้านฯ บ้าง ขายแกงเหลือง แกงไตปลาที่ตลาดนัดวันอาทิตย์ที่หมู่บ้านปาริชาติบ้าง ก็มีกำรี้กำไรเล็กน้อย ไม่เหงาพอมีอะไรให้ทำ

ส่วนอาหนุ่ย ช่วงแรก ๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ก็สังเกตดูว่าพอจะทำอะไรได้บ้างโดยไม่ต้องใช้เงินทุนสูงนัก และได้ตัดสินใจทำกรงสุนัขขนาดต่าง ๆ นำส่งร้านค้าในตลาดนัดสนามหลวง 2 ริมคลองทวีวัฒนา บุตรชาย สามารถก็มาช่วยบ้าง และเมื่อ เสถียรลูกชายคนโตขึ้นมาเยี่ยมท่านทั้งสอง ก็ได้ช่วยหาซื้อวัสดุอุปกรณ์และช่วยกันทำกรงสุนัข

ช่วงแรก ๆ นั้นขายดี แต่ก็ต้องลดการทำกรงสุนัขลง และย้ายมาทำกรงฯ ที่ลานฝั่งตรงข้ามของทาวเฮ้าส์ เนื่องจากเพื่อนบ้านร้องเรียนกับกรรมการหมู่บ้าน ด้วยมีเสียงดังรบกวนจากการเชื่อมกรงเหล็กและการตัดเหล็ก มีกลิ่นเหม็นของทินเนอร์ รวมทั้งสารเคมีระเหยต่าง ๆ จากการทาสีกรง เมื่อสรุปรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็มีเหลือเดือนละ 7,000-8,000 บาท ก็เพียงพอแล้วสำหรับภาวะเศรษฐกิจในระยะนี้

ราว ๆ เดือนกันยายนของทุกปี น้าองุ่นจะมาที่ยะลา เพื่อร่วมทำบุญให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับของตระกูลสุวรรณบงกชมิได้ขาด น้าองุ่นสังเกตดูญาติ ๆ ที่เคยทะเลาะวิวาทกันมาก่อน ก็ดูจะเงียบและสงบลง ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละคนก็เข้าสู่วัยชรามากแล้ว เฉย ๆ ลืม ๆ กันไป หากใครไม่ชอบพอใจใคร ก็จะอยู่ห่าง ๆ และเมินเฉยไม่ทักทาย จนกระทั่งงานทำบุญที่วัดเสร็จสิ้น ต่างฝ่ายต่างก็แยกย้ายกันไป

น้าองุ่นก็ยังคงติดต่อญาติพี่น้องที่อำเภอหนองจิก แถววัดมุจลินทวาปีวิหารอยู่บ้าง ซึ่งขณะนี้บิดาและมารดาแท้ ๆ ของน้าองุ่นได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว อัฐิของท่านก็ได้เก็บรักษาไว้ในช่องกำแพงของวัดฯ น้าองุ่นได้ส่งเงินช่วยเหลือพี่น้องบ้างตามอัตภาพ

 

บทที่ 7 ความคาดหวังในอนาคต

 

            น้าองุ่น ไม่คาดหวังอะไรมากนัก แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงก็ความไม่แน่นอนในอนาคต ที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุตรชายทั้งสอง แม้ว่าบุตรทั้งสองและครอบครัวของสามารถจะมีงานทำเป็นหลักเป็นฐานแล้วก็ตาม

น้าองุ่นท่านไม่ได้คาดหวังอะไรกับตนเอง แต่อยากให้บุตรทั้งสองเจริญก้าวหน้ามีความสุข ไม่มีหนี้สิน ไม่เบียดเบียนใครก็เพียงพอแล้ว และอยากให้สะใภ้ อนุสรามีบุตรไว ๆ จะได้ไม่เหงา เพราะเชื่อว่า หากมีเด็ก ๆ ในบ้านแล้ว แม้ว่ายามเด็กหลับ ในบ้านก็ยังมีเสียงดังมีชีวิตชีวา

แต่น้าองุ่นก็อดที่จะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในทุกงวดไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอาจจะมีโอกาสร่ำรวยได้เหมือนกัน ใครจะไปรู้ น้าองุ่นคิดเช่นนั้น.

และทุก ๆ เช้า หากฝนไม่ตก และไม่ใช่วันพระ น้าองุ่นก็จะมาร่วมตักบาตรกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันที่หัวมุมถนน ปากซอย 11 ของหมู่บ้านฯ มิได้ขาด

 

 

บทที่ 8 สิ่งสำคัญของชีวิต

ทั้งสองท่าน ทั้งอาหนุ่ยและน้าองุ่น เห็นว่าบุตรทั้งสองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต อยากให้เจริญก้าวหน้า ฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ ไปได้ แต่ก็วิตก เครียดจากการได้ดูข่าวทางทีวี ได้เห็นเหตุการณ์ความเสื่อมถอยของสังคมและศีลธรรมของคนปัจจุบัน ก็อดเป็นห่วงลูก ๆ ไม่ได้

 

 

bbbbbbaaaaaa

 

humanexcellence.thailand@gmail.com