MENU
TH EN

14. อัศวเมธิกบรรพ

ภาพแสดงคำแนะนำของพระกฤษณะเกี่ยวกับม้าที่จะนำมาบูชายัญ, ที่มา: www.pinterest.com, วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2565.
14. อัศวเมธิกบรรพ - บรรพแห่งม้าอัศวเมธ01,01,02,03,04.
First revision: Aug.23, 2022
Last change: Dec.03, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
240
       ระหว่างที่ประกอบ พิธีศราทธ์ อยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั้น ท้าวยุธิษฐิระทรงอดเสียมิได้ที่จะระลึกถึงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย อีกทั้งครูอาจารย์ ตลอดจนทหารจำนวนนับไม่ถ้วนที่ได้เสียชีวิตไปในสงครามครั้งนี้ ด้วยความรันทดพระทัยในเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น และด้วยความสำนึกถึงบาปกรรม พระองค์ถึงกับประชวรพระวาโยสิ้นวิสัญญีภาพแน่นิ่งไปในขณะที่กำลังประกอบพิธี เป็นเหตุให้พระกฤษณะและพระประยูรญาติผู้ใหญ่ต้องเข้าช่วยกันประคอง และถวายการเยียวยาเป็นการใหญ่.
       เมื่อเสร็จพิธีศราทธพรตแล้ว พระกฤษณะได้ปลอบพระทัยท้าวยุธิษฐิระว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคนเราย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงเสียได้ ท่านเองก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านอย่างเหมาะสมและถูกต้องดีทุกประการแล้ว ภาระหน้าที่ใหม่กำลังรอคอยท่านอยู่ในนครหัสตินาปุระ ขอท่านจงคลายความโศกเศร้า และจงรีบกลับไปสู่นครหลวง เพื่อความร่มเย็นเป็นสูขของประชาราษฎรในแผ่นดินเถิด ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น เมื่อหมดภาระเช่นนี้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องกลับทฺวารกานคร อันเป็นถิ่นฐานของเราชาวยาทพ".
       ท้าวยุธิษฐิระน้อมกายลงถวายอัญชลีแด่พระกฤษณะ แล้วก็เดินทางกลับสู่นครหัสตินาปุระ พร้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าราชบริพารทั้งหลาย ส่วนพระกฤษณะก็เสด็จขึ้นราชรถ โดยมีสาตฺยกีเป็นนายสารถีมุ่งกลับนครทฺวารกา

---------------
01. บรรพนี้พรรณนาถึงการประกอบพิธีอัศวเมธหรือพิธีบูชายัญด้วยม้า อันเป็นพิธีประกาศเดชานุภาพของพระราชาธิราชในอินเดียสมัยโบราณ ด้วยเหตุนี้จึงมีชื่อว่า อัศวเมธิกบรรพ.
 
241
       ที่นครทฺวารกา พระกฤษณะได้รับการต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดีจากชาวนครทฺวารกาหรือทวาราวดี ท้าว วสุเทพ พระชนก และนาง เทวกี พระชนนีทรงดีพระทัยเป็นล้นพ้น ต่างก็ปราศรัยไต่ถามเรื่องราวเกี่ยวกับการรบพุ่ง ณ ทุ่งราบกุรุเกษตร ซึ่งพระกฤษณะก็ได้ทูลตอบให้ทรงทราบทุกประการ เว้นเสียแต่เรื่องการเสียชีวิตของ อภิมันยุ ทั้งนี้โดยที่พระกฤษณะมิได้ทรงออกพระโอษฐ์ตรัสถึงเรื่องนี้เลย.
       นาง สุภัทรา ซึ่งเป็นอนุภคินีของพระกฤษณะและเป็นชนนีของอภิมันยุ จึงทูลถามพระกฤษณะด้วยอัสสุชลนองพระเนตรว่า.
       "เหตุไฉนเจ้าพี่จึงทรงปล่อยให้นัดดา ต้องเสียชีวิตลงด้วยน้ำมือของเหล่าศัตรูเช่นนั้นเล่าเพคะ".
       "สุภัทราน้องรัก! ตัวพี่เอง สาตฺยกี และองค์ยุธิษฐิระ ได้พยายามอย่างสุดความสามารถ ที่จะมิให้หลานอภิมันยุต้องสิ้นชีวิตลงด้วยน้ำมือของฝ่ายศัตรู แต่มันก็เป็นเรื่องสุดวิสัยเสียจริง ๆ ขอน้องจงหยุดยั้งความเศร้าโศกไว้เสียเถิด เรื่องมันผ่านไปแล้ว ถึงอย่างไร ๆ หลานอภิมันยุก็ไม่มีวันจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก แต่ขณะนี้น้องกำลังมีโชคดีจะได้เป็นย่าคนอยู่แล้ว ด้วยว่าอุตตรา ชายาของหลานอภิมันยุกำลังจะให้กำเนิดบุตร ซึ่งจะเป็นผู้สืบเชื้อสายของราชวงศ์ภรตต่อไป" พระกฤษณะตรัสปลอบพระทัยนางสุภัทรา.
       ขณะนั้น นางอุตตราอยู่ในภาวะครรภ์แก่และกำลังประทับร่วมสนทนาอยู่ ณ ที่นั่นด้วย เนื่องจากได้ไปพำนักอยู่ในนครทฺวารกากับนางสุภัทราผู้ชนนีของสวามีเพื่อรอประสูติกาล.
       พระกฤษณะจึงผันพระพักตร์ไปตรัสกับนางอุตตราว่า.
       "จงรักษาลูกน้อยในครรภ์ไว้ให้จงดี เพราะจะเป็นคนสำคัญในแผ่นดินหัสตินาปุระต่อไปในกาลข้างหน้า".
       เมื่อครรภ์ครบกำหนด นางอุตตราก็ประทานกำเนิดแก่โอรส ซึ่งปรากฎว่า ประสูติออกมาโดยไม่มีชีวิต!.
       บรรดาฝ่ายในแห่งราชสำนักทฺวารกา อันมีนางเทวกี นางสุภัทรา และนางอุตตรา เป็นอาทิ ต่างก็โศกเศร้าอย่างสุดที่จะพรรณนา เมื่อข่าวนี้แพร่ไป


242
ถึงพระกรรณของพระกฤษณะ พระกฤษณะก็รีบรุดไปทรงช่วยแก้ไขสถานการณ์ตามที่ได้เคยประทานพรไว้แล้วในตอนท้ายของบรรพที่ 10.
       ด้วยเดชานุภาพของพระกฤษณะผู้อวตารมาปฏิสนธิในโลกมนุษย์ กุมารน้อยผู้นั้นก็พลันฟื้นคืนชีพในบัดดล และได้รับขนานพระนามว่า ปรีกษิต (Parīkṣit หรือ Parikshit) ยังความปลื้มปราโมชให้แก่ทั้งชาวทฺวารกานคร และชาวหัสตินาปุรนครเป็นอย่างยิ่ง.
       กาลเวลาได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามจักรราศี อยู่มาวันหนึ่ง ฤๅษีวฺยาสได้ไปเยี่ยมเยือนท้าวยุธิษฐิระถึงราชสำนัก และในตอนหนึ่งแห่งการสนทนาก็ได้ทูลขึ้นว่า.
       "มหาบพิตร! ทุกสิ่งทุกอย่างได้ดำเนินไปด้วยดีแล้ว อาตมภาพใคร่ขอถวายความเห็นว่า ณ บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่มหาบพิตรควรจะได้ประกอบพิธีอัศวเมธบูชายัญด้วยม้า ทั้งนี้เพื่อจะได้ชำระล้างมลทินโทษและบาปกรรมทั้งหลายให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินหัสตินาปุระ และเพื่อเป็นมงคล อีกทั้งเป็นการประกาศพระเกียรติคุณบุญญาบารมีของมหาบพิตรเองด้วย".
       ทูลเสร็จ ฤๅษีวฺยาสก็ถวายพรลาจากไป.
       ฝ่ายท้าวยุธิษฐิระจึงได้มีบัญชาให้ตระเตรียมพิธีอัศวเมธเป็นการใหญ่ ในการนี้ภราดาปาณฑพทั้ง 4 ตลอดจนหมู่เสวกามาตย์ข้าราชบริพารอีกทั้งปุโรหิตาจารย์ ต่างก็ได้ช่วยเป็นกำลังตระเตรียมงานให้อย่างแข็งขัน อรชุนผู้มีฝีมือรบเป็นยอดเยี่ยม ได้รับเลือกให้มีหน้าที่คุมกำลังทหาร เพื่อติดตามม้าอาชาไนยที่ใช้สำหรับประกอบพิธีสำคัญในครั้งนี้ไปยังเขตแคว้นต่าง ๆ โดยปกติแล้ว ม้าที่จะใช้ประกอบพิธีอัศวเมธจะต้องเป็นม้ามีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ เป็นประเภทอาชาไนยสีดำขลับตั้งแต่หัวจรดหาง และมีอัศวลักษณะครบถ้วนตามตำราทุกประการ.
       เมื่อได้ฤกษ์ ม้าพิธีก็ได้รับการปลดปล่อยให้สัญจรไปโดยอิสระสู่ยัง 4 ทิศของประเทศ ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่ทิศเหนือก่อน แล้วจึงไปทางทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศตะวันตกในที่สุด ม้าพิธีนี้ได้รับการตกแต่งด้วยเครื่องอัศวาภรณ์อย่างงดงาม มีอรชุนคุมกองทหารตามไปด้วยอย่างใกล้ชิด ม้าเหยียบย่างเข้าไปยังเขต-
243
แคว้นแดนใด หากเจ้าผู้ครองเขตแคว้นนั้นนำเครื่องบรรณาการมาต้อนรับ ก็หมายความว่า เขตแคว้นนั้นยอมรับความเป็นจักรพรรดิ หรือความเป็นใหญ่ของนครหัสตินาปุระ และยอมเป็นประเทศราช หากไม่ยอมก็ต้องมีการสู้รบกัน และหากรบแพ้ เจ้าผู้ครองนั้นก็จะต้องถูกจับกุมตัวเป็นเชลยร่วมมาในกระบวนด้วยม้าที่เข้าพิธีอัศวเมธจะสัญจรไปโดยวิธีนี้เป็นเวลาครบ 1 ปี จึงจะกลับยังถิ่นฐานเดิม.
       องค์ยุธิษฐิระซึ่งทรงมีสมญาว่าธรรมบุตร ได้สั่งอรชุนผู้อนุชาไว้ก่อนที่กระบวนม้าจะออกเดินทางจากนครหัสตินาปุระว่า หากแคว้นใดที่เจ้าผู้ครองนครได้เสียชีวิตไปแล้วในมหาสงคราม ณ สมรภูมิกุรุเษตร แม้ลูกหลานหรือทายาทของเจ้าผู้ครองนครนั้นจะไม่ยอมรับความเป็นใหญ่ของนครหัสตินาปุระและขัดขืนต่อสู้ ก็ขอให้อรชุนจงไว้ชีวิตเขาก่อน อย่าได้ถึงกับประหาร คำสั่งนี้ อรชุนก็ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตลอดเวลา.
       ม้าในพิธีอัศวเมธพร้อมด้วยกองทหารติดตาม ซึ่งมีอรชุนเป็นผู้บังคับบัญชานั้นได้สัญจรผ่านเขตแคว้นต่าง ๆ มามากมาย เช่น ทางทิศเหนือก็ผ่าน แคว้นตฺริครรตะ ซึ่งมีท้าวธฤตวรมันเป็นเจ้าผู้ครอง ท้าวธฤตวรมันแข็งข้อไม่ยอมถวายเครื่องราชบรรณาการ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้นกับกองทหารของอรชุน แต่ในที่สุดท้าวธฤตวรมันก็รบแพ้ ถูกอรชุนจับตัวเป็นเชลย.
       จากแคว้นตฺริครรตะ ซึ่งปัจจุบันว่ากันว่าอยู่ใกล้เมือง ชลันธร01. ม้าอัศวเมธก็ผ่านไปยังแคว้น ราชคฤห์ และแคว้น นิษาท ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งสองแคว้นนี้ เจ้าผู้ครองนครได้ยอมถวายเครื่องราชบรรณาการแก่กองทหารของอรชุนโดยดี จึงไม่มีการรบพุ่งเกิดขึ้น.
       ต่อจากนั้น ม้าอัศวเมธก็เข้าสู่แคว้น ปราคโชฺยติษ ซึ่งอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออก ใกล้แคว้น กามรูป ท้าววัชรทัตต์ เจ้าผู้ครองแคว้นปราคโชฺษติษ ซึ่งเป็นโอรสของราชา ภคทัตตะ พันธมิตรองค์หนึ่งของฝ่ายเการพในสงคราม ได้ขัดขืนต่อสู้จึงถูกกองทหารของอรชุนจับกุมตัวเป็นเชลย.
       ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ กระบวนม้าอัศวเมธก็ได้ไปจนถึง-
---------------

01. ชลันธร (Jalandhar) อยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นปัญจาบ ในภาคเหนือของอินเดีย.

244
แคว้นสินธุ และแคว้นคันธาระ หรือคันธารราษฎร์01. คงจะจำกันได้ว่า เจ้าผู้ครองแคว้นสินธุนี้คือท้าว ชยัทรัถ สวามีของนาง ทุหศลา ผู้เป็นธิดาของท้าวธฤตราษฎร์ และเป็นอนุภคินีขององค์ทุรโยธน์ด้วย แต่ชยัทรัถได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ในการรบ ณ สมรภูมิกุรุเกษตร นางทุหศลาจึงเป็นฝ่ายออกมาต้อนรับกระบวนม้าอัศวเมธ และได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแก่อรชุนด้วย นางได้เล่าให้อรชุนฟังว่า สุรถ ผู้เป็นโอรสของนางอันเกิดแต่ท้าวชยัทรัถนั้น พอได้ทราบว่าอรชุนกำลังคุมกองทหารตามหลังกระบวนม้าอัศวเมธมุ่งหน้ามาสู่แคว้นสินธุเท่านั้น ก็เกิดความกลัวจนหัวใจวายตาย พร้อมกันนั้นนางทุหศลาก็ได้แนะนำให้หลานของนาง คือลูกชายของสุรถ ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ได้รู้จักและฝากเนื้อฝากตัวกับอรชุนไว้.
       ส่วนที่คันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นของท้าวสุพล ชนกของนางคานธารี และศกุนิ ผู้เป็นลุงของกษัตริย์เการพทั้งร้อยองค์นั้น อรชุนก็ได้พบกับลูกชายของศกุนิ คงจะจำกันได้ว่า ศกุนิเป็นมันสมองคนสำคัญของฝ่ายเการพ และได้เสียชีวิตลงในการรบกับสหเทพ อนุชาปาณฑพด้วย มเหสีหม้ายของศกุนิได้ห้ามมิให้โอรสแข็งข้อสู้รบกับอรชุน อรชุนเองก็ได้ให้ความเมตตาปรานีแก่โอรสของศกุนิ ทั้งนี้เพราะตระหนักดีว่า ศกุนิก็เป็นพระญาติของทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพนั่นเอง.
       จากคันธาระ กระบวนม้าอัศวเมธขององค์อรชุนได้ลงสู่ทิศใต้ไปยังเจที อันเป็นแคว้นของ ศิศุปาละ ผู้ถูกพระกฤษณะสังหารในพิธีราชสูยะของท้าวยุธิษฐิระตามความซึ่งปรากฎแล้วในสภาบรรพ นครหลวงของแคว้นเจทีมีชื่อว่า ศุกติมตีศรภะ ทายาทของศิศุปาละ ซึ่งกำลังครองราชย์อยู่ ได้ออกมาสู้รบกับกองทหารของอรชุน แต่เป็นฝ่ายแพ้ จึงถูกจับเป็นเชลยเช่นเดียวกับราชาองค์อื่น ๆ อีกหลายองค์ที่รบแพ้.
       จากทิศใต้ กระบวนม้าอัศวเมธได้มุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันออก อันได้แก่แคว้นมณีปุระ ซึ่งอรชุนได้เคยท่องเที่ยวไปถึงแล้ว เมื่อคราวเนรเทศตนเองไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปี ตามความในตอนท้ายของอาทิบรรพ คงจะจำกันได้ว่า-
---------------

01. ปัจจุบันเป็นเมืองกันดาฮาร์  (Kandahar) ในอัฟกานิสถาน (ตะวันออก).
 
245
ในช่วงเวลานั้นอรชุนได้นางจิตรางคทา (Chitrāngadā - चित्रांगदा) ธิดาของท้าวจิตรวาหนะ (บ้างก็เรียก จิตราวรรณา - Chitravahana) เจ้าผู้ครองนครมณีปุระ เป็นชายา และมีโอรสด้วยกันองค์หนึ่งคือ พภฺรูวาหนะ (Babhruvahana - बब्रुवाहन) นอกจากจิตรางคทาแล้ว อรชุนยังได้นาง อุลูปี (Ulūpī ) ธิดาของพญานาคเป็นชายาอีกด้วย.
       พอได้ทราบว่า บิดาตนคุมกระบวนม้าอัศวเมธมาถึงชานนคร พภฺรูวาหนะ ก็ดีใจ เตรียมเครื่องบรรณาการออกไปต้อนรับอย่างมากมาย แต่อรชุนกลับรับสั่งกับโอรสเป็นเชิงทดลองความกล้าหาญของลูกชายว่า.
       "พภฺรูวาหนะ! เจ้าถือกำเนิดมาในตระกูลกษัตริย์ มีหน้าที่ที่จะต้องสู้รบเพื่อปกป้องแผ่นดินอันเป็นที่รักและหวงแหนของเจ้า เหตุไหนเล่าเจ้าจะมายอมมอบบ้านเมืองให้แก่ศัตรูเสียง่าย ๆ เช่นนี้ แม้เราจะเป็นพ่อของเจ้า แต่เราก็มาในฐานะเป็นศัตรูมีอาวุธอยู่ในมือ เพราะฉะนั้น อย่ามัวชักช้าอยู่เลย จงหยิบอาวุธขึ้นมารบ แม้แต่กับพ่อของเจ้าเถิด หากว่าเขามาในฐานะศัตรู!".
       ทั้งสองฝ่ายคือพ่อกับลูก จึงเปิดฉากต่อสู้กันอย่างดุเดือด ผลปรากฎว่าอรชุนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล่ำ ถูกศรของพภฺรูวาหนะเสียบเข้าที่อุระล้มลงสิ้นสติสมปฤดี.
       ทั้งนางจิตรางคทาและนางอุลูปีต่างตระหนกตกใจและโศกสลดเป็นล้นพ้น ในเมื่อได้ทราบว่า คู่ต่อสู้ของพภฺรูวาหะนั้นหาใช่ใครอื่นไม่ หากเป็นองค์อรชุนสวามีของนางทั้งสอง และเป็นชนกของพภฺรูวาหนะเอง นางอุลูปีซึ่งเป็นธิดาของพญานาคมีเพชรวิเศษชื่อ สัญชีวนี อันเป็นสมบัติที่เธอได้รับ เป็นมรดกจากบิดาของเธอ เพชรวิเศษนี้มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยให้คนที่สลบหรือตายแล้ว กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ได้ตามชื่อของมัน01. นางอุลูปีจึงรีบไปนำเอาเพชรสัญชีวนีมาวางบนอกของอรชุน ทันใดนั้น อรชุนก็ลืมตาฟื้นขึ้นมา ยังความปลื้มปิติให้แก่ทุกคนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพภฺรูวาหนะนั้นตรงเข้าสวมกอดบิดาพลางร่ำไห้ พร้อมกับขอขมาลาโทษต่าง ๆ นานา.
       "พ่อภูมิใจในฝีมือรบของเจ้ามาก! อย่างนี้สิจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาในตระกูลกษัตริย์ พ่อไม่นึกเลยว่าเจ้าจะรบเก่งถึงเพียงนี้!" อรชุนกล่าวชมลูกชายต่อหน้านางจิตรางคทาและอุลูปี.
---------------

01. สัญชีวนี แปลว่า ที่สามารถชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ได้.

246
       เมื่อได้สัญจรประกาศอานุภาพไปครบทั้ง 4 ทิศแล้ว กระบวนม้าประกอบพิธีอัศวเมธของราชาธิราชยุธิษฐิระก็กลับคืนสู่หัสตินาปุรนคร ในท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องต้อนรับอย่างกึกก้องของชาวประชา ต่อจากนั้น ก็ได้มีการประกอบพิธีอัศวเมธขั้นสุดท้าย โดยอาราธนาฤๅษีวฺยาสมาเป็นองค์ประธาน พร้อมกันนั้นก็ได้มีการปูนบำเหน็จรางวัลแก่หมู่เสวกามาตย์ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน อีกทั้งจัดถวายเครื่องไทยทานแก่สมณะชีพราหมณ์อย่างทั่วถึง บรรดาราชาใหญ่น้อยจากประเทศราชทั้งหลายที่เข้าร่วมพิธีด้วย ต่างก็ได้รับของกำนัลอันคู่ควรตามฐานานุรูปกันทุกองค์ นับว่าเป็นการประกอบพิธีอัศวเมธที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในดินแดนภารตวรรษ.
       ฝ่ายพระกฤษณะนั้น เมื่อพิธีอัศวเมธได้สิ้นสุดลงเรียบร้อยแล้ว ก็ได้อำลาธรรมบุตรยุธิษฐิระจอมจักรพรรดิแห่งนครหัสตินาปุระ กลับไปประทับยังนครทฺวารกา อันเป็นถิ่นฐานของพระองค์เช่นเดิม.

 
จบบรรพที่ 14: อัศวเมธิกบรรพ


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.


 
humanexcellence.thailand@gmail.com