MENU
TH EN

01.2 อาทิบรรพ - บรรพแห่งการเริ่มต้น

กรรณะในสงคราม ณ ทุ่งคุรุเกษตร, ที่มา: www.wikiwand.com, วันที่เข้าถึง 19 สิงหาคม 2565.
01.2 อาทิบรรพ - บรรพแห่งการเริ่มต้น01,02,03,04.
First revision: Aug.19, 2022
Last change: Jun.30, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

   ในบล็อค "มหาภารตยุทธ" ภาคภาษาไทยนี้ กระผมขอน้อม และใคร่ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ นำการแปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย มาเป็นเนื้อหาหลัก และผมจะเสริมสิ่งที่ได้ค้นคว้ามาจากแหล่งอื่น ๆ ประกอบเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจะอ้างอิง และให้ความเคารพเป็นอย่างสูง หวังว่างานนี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจใคร่ศึกษาต่อไปได้บ้างไม่มากก็น้อย ใคร่ขอขอบคุณ และขอให้ดวงวิญญาณของท่านกรุณาและคุณเรืองอุไร กุศลาสัย ได้เข้าสู่ภพภูมิที่สูงส่ง ละเอียด และประณีตด้วยเทอญ.
 
65
       กรรณะผู้นี้ปรากฎว่าสายตาไม่กินกับอรชุนมาแต่เริ่มแรกที่รู้จักกัน กาลเวลายิ่งล่วงไป มาณพทั้งสองก็ยิ่งไม่ถูกชะตากันมากยิ่งขึ้น จนในที่สุด กรรณะเลยไปเข้าพวกกับมาณพหนุ่มกลุ่มเการพซึ่งมีทุรโยธน์เป็นหัวหน้า กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อกลุ่มปาณฑพทั้งลับหลังและต่อหน้า.

       ในบรรดากุมารหนุ่มที่เรียนวิชาธนูกับโทฺรณาจารย์นั้น อรชุนมีฝีมือเก่งกว่าเพื่อน และโทฺรณาจารย์ก็รักอรชุนมากเป็นพิเศษด้วย.

       ส่วนในด้านการใช้ศัสตราวุธอื่น ๆ โทฺรณาจารย์ได้สอนให้ทุรโยธน์และภีมะมีความชำนาญในการใช้ตะบองหรือ คฑา เป็นพิเศษ เฉพาะนกุลกับสหเทพนั้นเก่งในวิชาฟันดาบ ด้วยประการฉะนี้ โทฺรณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวิชารบทุกแขนงก็ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ความชำนาญให้แก่บรรดาศิษย์ของตนอย่างเต็มความสามารถ.

       วันหนึ่ง อาจารย์โทฺรณะต้องการจะทดสอบความสามารถของศิษย์ จึงสั่งให้ช่างทำนกตัวเล็ก ๆ สีน้ำเงินขึ้นตัวหนึ่ง แล้วนำไปวางไว้บนยอดไม้สูง พลางก็สั่งให้ศิษย์ทั้งหมดเตรียมธนูและลูกศรออกมายืนเข้าแถว พร้อมกับชี้ไปทางยอดไม้นั้นแล้วพูดว่า.

       "ศิษย์ทั้งหลาย บนยอดไม้นั้นมีนกเกาะอยู่ตัวหนึ่ง ใครมีฝีมือต้องยิงหัวนกให้ขาดตกลงมาบนพื้นดินให้ครูดู".

       ครั้นแล้ว โทฺรณาจารย์ก็เรียกศิษย์ให้ออกมายืนขึ้นศรแต่ละคน แล้วให้เล็งเป้าหมายไปยังนกบนยอดไม้นั้น พลางถามว่า.

       "เจ้าเห็นอะไร"

       "ข้าเห็นกิ่งไม้ ใบไม้ และนก" ศิษย์ตอบเหมือน ๆ กันเช่นนี้ทั้งหมด.


 
66

ภาพโทฺรณาจารย์ทดสอบการยิงธนูแก่ศิษย์ (อรชุน), ที่มา: Facebook เพจ "สามก๊ก," วันที่เข้าถึง 19 สิงหาคม 2565.

       อรชุนเป็นศิษย์คนสุดท้ายที่อาจารย์โทฺรณะเรียกให้มายืนขึ้นศรเล็งไปยังนก.

       "เจ้าเห็นอะไรบ้าง อรชุน" โทฺรณาจารย์ถาม.

       "ข้าพเจ้าเห็นนก" อรชุนตอบ.

       "นอกจากนกแล้วเจ้าเห็นอะไรบ้าง"

       "ไม่เห็นอะไรอีกเลยท่านอาจารย์ แม้แต่นก ข้าพเจ้าก็เห็นแต่หัวของมันอย่างเดียว"

       อาจารย์โทฺรณะดีใจมาก ตรงเข้าสวมกอดอรชุนพร้อมกับตบหลังแล้วพุดขึ้นดัง ๆ ว่า

       "ดีมาก! ดีมาก! เจ้าคือนักแม่นธนูที่แท้จริง เอ้า! ยิงได้เลย!"

       สิ้นเสียงของโทฺรณาจารย์พราหมณ์ผู้เฒ่า ก็ปรากฎว่าหัวของนกจำลองตัวนั้นตกลงมาอยู่บนพื้นดิน ในท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดของผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้นทั้งหมด.

       หลังจากนั้นไม่นาน โทฺรณาจารย์ก็พาศิษย์ทั้งหมดไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา ระหว่างที่อยู่ในน้ำนั้น มีจระเข้ตัวหนึ่งว่ายเข้ามางับขาของโทฺรณาจารย์ แล้วพยายามจะลากตัวลงสู่น้ำลึก โทฺรณาจารย์ส่งเสียงตะโกนให้ศิษย์ช่วย ทั้งนี้เนื่องจากต้องการจะทดลองดูความกล้าหาญและว่องไวของบรรดาศิษย์ เพราะอันที่จริงนั้น โทฺรณาจารย์ก็สามารถช่วยตัวเองได้.

       ชั่วพริบตาเดียว อรชุนก็คว้าศรขึ้นโก่งคันธนูแล้วยิงไปยังจระเข้ตัวนั้นถึง 5 ลูก ยังผลให้ร่างของจระเข้ขาดเป็นหลายท่อนและตายในทันที ศิษย์คนอื่น ๆ ต่างก็ยืนดูเหตุการณ์อย่างปากอ้าค้างไปตาม ๆ กัน.

       นับวันความรักที่อาจารย์โทฺรณะมีอยู่ในตัวศิษย์คนโปรดคือ อรชุน ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น วันหนึ่งอาจารย์ได้เรียกอรชุนเข้ามาใกล้แล้วพูดว่า.

       "พ่อขอมอบอาวุธวิเศษชื่อ พรหมเศียร นี้ให้ไว้แก่เจ้า แต่ขอเตือนว่าเจ้าจะใช้อาวุธนี้ก็ต่อเมื่อต้องต่อสู้กับเทวดาเท่านั้นนะ สำหรับมนุษย์ด้วยกันแล้ว หากเจ้าใช้ โลกมนุษย์ก็จะกลายเป็นเถ้าถ่านไปในพริบตาเดียว เจ้าจงเก็บรักษาอาวุธนี้ไว้ให้ดี".

       ต่อจากนั้น โทฺรณาจารย์ก็สอนมนต์และเคล็ดลับในการใช้พรหมเศียรอาวุธวิเศษนี้ให้แก่อรชุน.


 
67
       จำเนียรกาลผ่านมา การฝึกสอนอาวุธให้แก่ราชโอรสตระกูลเการพและปาณฑพก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการ พราหมณ์โทฺรณะผู้อาจารย์จึงจัดให้มีการประลองฝีมือระหว่างศิษย์ทั้งหมดบรรดาที่เรียนอยู่ด้วยกัน ในการนี้ ได้จัดและตกแต่งสถานที่ขึ้นเป็นพิเศษ และได้ทูลเชิญท้าวธฤตราษฎร์ ท้าวภีษมะ มหามติวิทูร ตลอดจนเจ้านายฝ่ายใน คือ พระนางกุนตี ชนนีของภราดาปาณฑพทั้ง 5 และพระนางคานธารีมเหสีของท้าวธฤตราษฎร์ และชนนีของภราดาปาณฑพทั้ง 5 และพระนางคานธารีมเหสีของท้าวธฤตราษฎร์ และชนนีของภราดาเการพทั้ง 100 องค์ ให้ไปชมเป็นสักขีพยานด้วย อาจารย์โทฺรณะเองก็ได้พาบุตรชายของตน คือ อัศวัตถามา เข้ามาชมการประลองฝีมือครั้งใหญ่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน.

       การประลองฝีมือได้เป็นไปอย่างน่าตื่นเต้นและน่าดู ทุรโยธน์ได้คู่กับภีมะในการซ้อมอาวุธตะบองหรือที่เรียกกันในภาษาสันสกฤตว่า คทา ทั้งคู่ได้ขับเคี่ยวผลัดกันรุกผลัดกันรับอย่างน่าหวาดเสียว เนื่องจากพี่น้องสองตระกูลนี้มีความกินแหนงแคลงใจกันเป็นไฟสุมขอนอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ระหว่างพี่น้องสองตระกูลนี้มีความกินแหนงแคลงใจกันเป็นไฟสุมขอนอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ระหว่างที่ประลองฝีมือกันอยู่ พอมีเสียงให้กำลังใจจากคนดูดังกึกก้องมากขึ้น ๆ หนุ่มนักรบทั้งสองจึงมีทีท่าคล้ายกับว่าจะสู้รบกันอย่างจริงจัง ทำให้โทฺรณาจารย์ต้องสั่งให้หยุดซ้อมกลางคัน.

       อรชุนผู้ได้ชื่อว่ามีฝีมือเยี่ยมในการยิงธนูนั้น ได้รับคำสั่งจากอาจารย์โทฺรณะให้แสดงการยิงธนูและการใช้อาวุธนานาชนิดให้ฝูงชนชมเป็นขวัญตา ในบรรดาธนูและอาวุธ ซึ่งมีฤทธิ์เดชต่าง ๆ กันนั้น มี
  • อัคนิพาณ  ซึ่งได้แก่ ศรไฟ
  • วรุณาสฺตฺร อาวุธฝน
  • วายุอัสฺตฺร อาวุธลม
  • เมฆาสฺตฺร อาวุธเมฆ
  • เภามาสฺตฺร อาวุธดิน
  • บรรพตอัสฺตฺร อาวุธภูเขา และ
  • อันตรธาน อัสฺตฺร ซึ่งได้แก่ อาวุธหายตัว
       อรชุนได้สาธิตการใช้อัสฺตฺรหรืออาวุธดังกล่าวแล้วให้ฝูงชนชม และได้รับการปรบมือสดุดี ดังกึกก้องไปทั่วท้องสนาม.

       หลังจากที่ศิษย์คนสำคัญ ๆ ต่างได้แสดงฝีมือให้ดูกันเรียบร้อยและงานทำท่าว่าจะสิ้นสุดลง ทุกคนที่อยู่ในสนามก็ต้องพากันงงงวยในเมื่อได้ยินเสียงชายหนุ่มคนหนึ่งรูปร่างกำยำล่ำสันวิ่งมาจากด้านหลังของปะรำพิธีพลางตะโกนก้องว่า


 
68
       "บัดนี้ ท่านจะได้ชมฝีมือของข้าพเจ้าบ้าง!".

       เมื่อทุกคนหันหน้าไปมองทางที่มาของเสียงก็ได้พบว่าชายหนุ่มผู้นั้นคือ กรรณะ นั่นเอง.

       โดยทั่วไปแล้ว คนเข้าใจกันว่า กรรณะเป็นบุตรของนายสารถีอธิรถะ แต่ความจริงแล้ว กรรณะเกิดจากนางกุนตีผู้มารดาของพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 ก่อนที่นางจะตกเป็นมเหสีของท้าวปาณฑุ บิดาของกรรณะคือสูรยเทพเจ้า ดังกล่าวมาแล้วตอนต้น กรรณะเองก็หาทราบไม่ว่าตนเป็นลูกของนางกุนตีและเป็นพี่ของห้าพี่น้องปาณฑพ.

       ได้กล่าวมาแล้วว่า กรรณะนั้นไม่ถูกกับอรชุน หากเป็นฝ่ายพี่น้องเการพมาตั้งแต่ต้น กรรณะต้องการให้ผู้ชมเห็นว่าฝ่ายเการพก็มีตนเองผู้มีฝีมือเยี่ยมในการรบเป็นกำลังอยู่ จึงได้แสดงการใช้ธนูและอาวุธนานาชนิดให้ฝูงชนชมและได้รับการปรบมือชื่นชมไม่น้อยกว่าอรชุนเท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะอันที่จริงแล้วกรรณะนั้น มีฝีมือรบคู่คี่กับอรชุนมาก.
กรรณะ (कर्ण) หรือ ราเธยะ (राधेय) หรือ อังคราช สูรยบุตร, ที่มา: news.nangdee.com, วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2565.

       เมื่อได้แสดงฝีมือรบให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่สาธารณชนแล้ว กรรณะก็ท้าทายอรชุนให้ออกมาประลองฝีมือกับตนเพื่อให้ประชาชนชม แต่ถูกกฤปาจารย์ทัดทานไว้ โดยอ้างว่า การประลองฝีมือครั้งนี้กระทำกันในระหว่างราชบุตรหรือผู้ที่เป็นกษัตริย์เท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปประลองฝีมือด้วยได้.

       ทันใดนั้น ทุรโยธน์ซึ่งยืนอยู่ใกล้ ๆ ก็ได้พูดขึ้นมา.

       "ถ้าอาจารย์เห็นว่า ต้องเป็นกษัตริย์เสียก่อนจึงจะเข้าร่วมการประลองฝีมือได้ ข้าพเจ้าก็ขอประกาศตั้งกรรณะให้เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นอังคะ01. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป".

       ครั้นแล้ว ทุรโยธน์ก็ประกาศตั้งกรรณะขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นอังคะ ในสนามประลองฝีมือต่อหน้าประชาชนอันเนืองแน่นนั้นเอง.

       ภีมะให้รู้สึกโกรธทุรโยธน์และกรรณะเป็นกำลัง จึงตะโกนขึ้นว่า
.
---------------

01. ปัจจุบันคือรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย.

 
69
       "จะให้ลูกสารถีมาตายด้วยฝีมือน้องชายเราทำไมกัน บอกให้เขากลับไปจับสายบังเหียนม้าขับรถจะดีกว่า!".

       "หากใครขัดขวางการที่เราตั้งกรรณะขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นอังคะ ก็ขอเชิญให้ออกมาสู้กับเราตัวต่อตัว" ทุรโยธน์ประกาศกึกก้องขึ้นในกลางสนาม.

       นางกุนตีซึ่งนั่งชมการประลองฝีมือรบของกุมารทั้งหลายอยู่ด้วย ให้รู้สึกอกสั่นขวัญแขวนเป็นกำลัง เพราะเกรงว่าเหตุการณ์จะลุกลามไปกันใหญ่ และโอรสของนางแต่ต่างบิดากัน คือกรรณะกับพี่น้องปาณฑพทั้งห้า อาจจะรบราฆ่าฟันกันจนถึงตายก็ได้ แต่นางก็ไม่สามารถจะยับยั้งหรือชี้แจงอะไรได้ คงได้แต่นั่งใจเต้นระทึกอยู่แต่ผู้เดียว.

       เดชะบุญ เมื่อเหตุการณ์เข้าถึงขั้นวิกฤตนั้น พระอาทิตย์กำลังอัสดงลงลับขอบฟ้า ความมืดกำลังคืบคลานเข้ามาปกคลุมทั่วผืนปฐพี ราชโอรสแห่งตระกูลเการพและปาณฑพจึงแคล้วคลาดจากการต้องปะทะกันไปได้อย่างหวุดหวิด.

       การศึกษาในอินเดียสมัยโบราณมีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นักศึกษาจะต้องประกอบพิธี "คุรุทักษิณา"01. อันได้แก่การถวายทานให้แก่อาจารย์ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาอันสมควร ราชโอรสแห่งตระกูลเการพและปาณฑพจึงได้จัดให้มีพิธีนี้ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พราหมณ์โทฺรณะผู้อาจารย์ ในโอกาสนั้น โทฺรณาจารย์ก็ได้กล่าวแก่ศิษย์ทั้งหมดที่มาชุมนุมกันพร้อมหน้าว่า

       "ทักษิณาที่อาจารย์ต้องประสงค์ก็คือ ขอให้ศิษย์ทั้งหลายจงไปจับตัวท้าวทรุปัทราชาแห่งแคว้นปัญจาละมาให้อาจารย์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้!".

       เมื่อได้ฟังคำบัญชาของอาจารย์ดังนี้ ราชโอรสทั้งหลายต่างก็จัดกำลังทหารรีบรุดไปยังแคว้นปัญจาละเพื่อจับองค์ท้าวทรุปัทมาถวายเป็น "ทักษิณา" ให้แด่อาจารย์ของตน ราชโอรสในตระกูลเการพซึ่งมีทุรโยธน์ กรรณะ และทุหศาสัน เป็นต้น ต้องการจะช่วงชิงเกียรติแห่งการรับใช้อาจารย์เสียก่อนฝ่ายปาณฑพจึงรีบกรีฑาทัพไปก่อน และได้ลงมือต่อสู้กับกองทหารของท้าวทรุปัทอย่างหนักหน่วง
---------------

01. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ "ทักษิณา" ว่า "ทานเพื่อผลอันเจริญ" ในราชพิธีของประเทศไทยในปัจจุบันก็ยังมี "การถวายทักษิณา" อยู่


70
 แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายท้าวทรุปัทได้ ตรงกันข้าม ดูเหมือนจะเพลี่ยงพล้ำแก่ฝ่ายท้าวทรุปัทเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้กองทหารของท้าวทรุปัทส่งเสียงไชโยโห่ร้องกึกก้องไปทั่วสมรภูมิ.

       ฝ่ายกองทหารของราชโอรสในตระกูลปาณฑพซึ่งมีภีมะและอรชุนเป็นผู้นำได้ไปถึงสมรภูมิแห่งแคว้นปัญจาละ ในเวลาที่กองทหารของฝ่ายเการพกำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่พอดี จึงตรงเข้าช่วยฝ่ายเการพได้ทันท่วงที.

       ภีมะและอรชุนนำทหารของตนบุกตะลุยเข้าไปในแนวหน้าของฝ่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ ภีมะนั้นใช้คทาหรือตะบองเข้าฟาดฟันทั้งคนและสัตว์ซึ่งขวางหน้าตนจนไม่มีผู้ใดรอต่อรบอยู่ได้ อรชุนก็เช่นเดียวกัน ได้ใช้ความแม่นธนูของตนเข้ายิงจนแนวรบของศัตรูแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงไปเป็นแถบ ๆ ท้าวทรุปัทเป็นทหารของตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็ให้รู้สึกท้อแท้พระทัยเป็นกำลัง.

       ในที่สุด ทหารของฝ่ายท้าวทรุปัทก็พ่ายแพ้แก่ฝ่ายภีมะและอรชุนอย่างสิ้นเชิง รถรบของท้าวทรุปัทพังพินาศ สารถีถูกลูกศรของอรชุนยิงตายคารถและธงรบก็ถูกยิงขาดกระจุย องค์ท้าวทรุปัทเองถึงกับพลัดตกลงมายืนอยู่ข้างรถ.

       อรชุนรีบวางคันธนูและลูกศรลง ชักดาบออกจากฝักซึ่งแขวนติดกับสะเอวแล้ววิ่งตรงไปยังท้าวทรุปัท พอถึง อรชุนก็ผลักท้าวทรุปัทล้มลงบนพื้นดิน พลางใช้เชือกมัดมือไพล่หลังแล้วคุมตัวมายังโทฺรณาจารย์ พอประจันหน้าท้าวทรุปัท พราหมณ์โทฺรณาจารย์ก็พูดขึ้นว่า.

       "เป็นอย่างไรทรุปัทเพื่อนรัก! บัดนี้เพื่อนเป็นฝ่ายแพ้สงครามแก่ศิษย์เราแล้ว เพื่อนไม่มีอะไรเหลือหลออยู่เลย แต่ก็เอาเถอะ! ไหน ๆ เราก็เคยคบหากันมาแต่เล็กแต่น้อย เราจะเปิดโอกาสให้ เพื่อนจะขออะไรก็จงเอ่ยปากขอมาเถิด!".

       ทรุปัทก้มหน้านิ่งด้วยความละอาย ไม่ยอมเอ่ยวาจาว่ากระไร.

       โทฺรณาจารย์จึงพูดต่อไปว่า

       "เพื่อนไม่ต้องกลัวเราหรอก เราเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด วิสัยของพราหมณ์ย่อมไม่เอาชีวิตผู้ใด และการให้อภัยก็คืออาภรณ์ของพราหมณ์ โดยเฉพาะแล้ว เรายังรำลึกอยู่เสมอว่าเพื่อนกับเราเคยเล่นหัวกันมาแต่เด็ก เราขอเสนออย่างนี้ เพื่อนจะเห็นด้วยหรือไม่ คืออาณาจักรของเพื่อนที่ฝ่ายเรายึดได้นั้น เราจะคืนให้เพื่อนครึ่งหนึ่ง ส่วนที่อยู่ใต้แม่น้ำคงคาลงไปเป็นของเพื่อน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งคือที่อยู่เหนือแม่น้ำคงคาขึ้นมาเป็นของเรา ที่ต้องแบ่งสันปันส่วนกันเช่นนี้ก็เพื่อต่อไปเพื่อนจะได้ไม่พูดว่า "พราหมณ์ผู้ยังชีพด้วยการบริจาคของผู้อื่น กับกษัตริย์ผู้เพียบพร้อมด้วยทรัพย์ศฤงคารนั้น จะเป็นเพื่อนกันได้อย่างไร" ขอทราบว่าเพื่อนจะตกลงตามที่เราเสนอมาหรือไม่".

 

แคว้นปัญจาละ (पञ्चाल, Pañcāla), ช่วงประมาณ 900 ปีก่อนคริสตกาล - ประมาณ ค.ศ. 400 อยู่ทางตะวันออกของแคว้นกุรุ, อหิฉัตระ (Ahicchatrā) เมืองหลวงเหนือแม่น้ำคงคา, กัมปิลละ หรือ กามฺปิลฺย (Kāmpilya) เมืองหลวงด้านใต้แม่น้ำคงคา, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 21 สิงหาคม 2565.
 
71
       เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ท้าวทรุปัทจะตอบเป็นประการอื่นกระไรได้ นอกเสียจากจะยอมรับตามข้อเสนอของพราหมณ์โทฺรณาจารย์ เพราะหากทำเช่นนี้ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอาณาจักรจะยังคงอยู่ในมือของพระองค์ต่อไป เมื่อคิดได้เช่นนั้น ท้าวทรุปัทจึงแสร้งแสดงความขอบใจต่อพราหมณ์โทฺรณะพร้อมกับยอมปฏิบัติตามข้อเสนอ ต่อจากนั้นท้าวทรุปัทก็เดินทางสู่นครกามฺปิลฺยทางภาคใต้ของแม่น้ำคงคา อันเป็นส่วนแบ่งที่ตนได้รับ แต่ในใจนั้นพระองค์ครุ่นคิดมาตลอดทางถึงวิธีที่จะแก้แค้นพราหมณ์โทฺรณะกับพวกให้จงได้.

       หลังจากเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นประมาณหนึ่งปี ท้าวธฤตราษฎร์ก็ทรงแต่งตั้งเจ้าชายยุธิษฐิระขึ้นเป็นองค์ยุพราช ทั้งนี้เป็นไปตามขัตติยราชประเพณีและข้อเสนอแนะของหมู่เสวกามาตย์ข้าราชบริพาร อาศัยคุณงามความดีที่มีอยู่นานัปการ ปรากฎว่า เจ้าชายยุธิษฐิระทรงเป็นที่รักใคร่ของบรรดาหมู่เสวกามาตย์ข้าราชบริพาร ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาราษฎร์เป็นอย่างยิ่ง ส่วนภราดาปาณฑพอีก 4 พระองค์อันได้แก่ ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพนั้นเล่า ต่างก็ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน อีกทั้งป้องกันอริราชศัตรูจากภายนอก มิให้มาย่ำยีบีฑาราชอาณาจักรได้.

 

ทุรโยธน์ กำลังแสดงกองกำลังของตน ต่อ โทรณาจารย์, ที่มา: www.wikiwand.com, วันที่เข้าถึง: 17 กุมภาพันธ์ 2560.
 
        ความจงรักภักดีที่ไพร่ฟ้าประชาชีมีต่อภราดาปาณฑพทั้งห้าเป็นเสมือนหนามแหลมที่คอยทิ่มแทงจิตใจของทุรโยธน์และน้อง ๆ ทั้งหมดอยู่ตลอดเวลา ท้าวธฤตราษฎร์เองเล่า แม้พระเนตรจะพิการไม่สามารถมองเห็นอะไรได้ แต่พร
ะกรรณของพระองค์ก็ได้ยินเสียงแซ่ซ้องสดุดีคุณธรรมความดีของพี่น้องปาณฑพอยู่เป็นนิจศีล วันหนึ่งพระองค์จึงดำรัสสั่งให้พราหมณ์กณิกะ ผู้เป็นปุโรหิตและที่ปรึกษาเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสว่า

72
        "ท่านมีความรู้สึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับพี่น้องปาณฑพทั้งห้า".

        ปุโรหิตกณิกะผู้ใกล้ชิดและทราบพระทัยของท้าวธฤตราษฎร์และพี่น้องเการพดี ทูลตอบว่า

       "ข้าพระพุทธเจ้าเองก็รู้สึกว่า พี่น้องปาณฑพทั้งห้านี้ออกจะมีพฤติการณ์ที่ล้ำฐานะของตนเกินไป สมควรที่เราจะต้องกำจัดเสียแบบตัดไฟแต่ต้นลมแหละพ่ะย่ะค่ะ".

       ระหว่างนั้น ทุรโยธน์และน้อง ๆ ให้กระวนกระวายใจเป็นกำลัง ทั้งนี้เพราะได้สังเกตเห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่า ประชาชนให้ความเคารพรักแก่พี่น้องปาณฑพทั้งห้ามากกว่าที่จะให้แก่ตนและน้อง ๆ ของตน วันหนึ่ง ทุรโยธน์จึงเรียกกรรณะ ศกุนิ และทุหศาสัน เข้ามาหารือถึงวิธีการที่ต้องหาทางกำจัดพี่น้องปาณฑพให้จงได้.

       เมื่อได้ปรึกษากันในระหว่างพี่น้องเรียบร้อยแล้ว ทุรโยธน์จึงเข้าเฝ้าท้าวธฤตราษฎร์ผู้บิดา พลางกราบทูลว่า.

       "พวกลูกไม่เข้าใจเลยว่า เหตุใดเสด็จพ่อจึงทรงตั้งให้ยุธิษฐิระเป็นยุพราชทั้ง ๆ ที่ทูลกระหม่อมปู่ภีษมะก็ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ เสด็จพ่อก็ทรงทราบดีอยู่แล้วว่า พวกเกล้ากระหม่อมทั้งหมดกับไอ้พวกปาณฑพทั้งห้าคนนั้นไม่มีวันที่จะอยู่ร่วมกันได้ เสด็จพ่อประสงค์จะให้พวกลูกเป็นขี้ข้าพวกปาณฑพไปจนตลอดชาติกระนั้นหรือพ่ะย่ะค่ะ".

       ทูลเสร็จ ทุรโยธน์ก็ร่ำไห้เฉพาะพักตร์ของท้าวธฤตราษฎร์ผู้บิดาอย่างโศกาดูร ทำให้ราชันผู้เฒ่าอดที่จะทรงเวทนาโอรสของพระองค์เสียมิได้.

       ระหว่างนั้น ทุหศาสันผู้อนุชาของทุรโยธน์ ศกุนิผู้มาตุลา (พี่ชายของแม่) และกรรณะ ซึ่งยืนอยู่ใกล้ ๆ ต่างก็ทูลท้าวธฤตราษฎร์ขึ้นพร้อมกันว่า.

       "ขอใต้ฝ่าพระบาทได้ทรงเมตตาแก่พวกเกล้ากระหม่อมด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ ขอพระองค์ได้โปรดส่งพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคนไปอยู่เสียที่เมือง วารณาวัต01. เถิด ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องมีเรื่องเดือดร้อนกับพวกเกล้ากระหม่อมอีก ขณะนี้ยุธิษฐิระเป็นเพียงยุพราช แต่ยังมีเรื่องกับพวกเกล้ากระหม่อมถึงเพียงนี้ หากนานไปในวันข้างหน้า เขาได้เป็นกษัตริย์ขึ้นมา พวกเกล้ากระหม่อมก็คงจะเท่ากับว่า ต้องตกนรกทั้งเป็นแน่นอนทีเดียวพระเจ้าค่ะ".
---------------
หมายเหตุ ขยายความ

01. วารณาวัต (Varanāvata) ปัจจุบันเรียก บารนวะ (Barnava) อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ อินเดีย อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงนิวเดลี (หรือหัสตินาปุระ) ราว 100 กิโลเมตร ชาวอินเดียเชื่อว่า บารนวะนี้เป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ในมหากาพย์รามายณะอีกด้วย เชื่อมโยงกับ ลักชคฤห (Lakshagraha - บ้านที่มีการลงรัก ทาด้วยแลคเกอร์).

 
73
       อันที่จริงแล้ว ท้าวธฤตราษฎร์นั้นก็ทรงเป็นขัตติยะที่มีความเป็นธรรมอยู่ในพระทัยพอสมควร แต่ภาษิตโบราณมีอยู่ว่า "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ" และโดยเฉพาะเมื่อลูก ๆ มาร้องห่มร้องไห้เฉพาะพระพักตร์เช่นนั้น พระทัยของท้าวเธอก็ย่อมจะแปรปรวนไปเป็นธรรมดา หลังจากทรงนิ่งเงียบอยู่ชั่วขณะหนึ่ง พระองค์จึงหันไปรับสั่งกับทุรโยธน์ผู้โอรสว่า.

       "เจ้าต้องคิดดูให้รอบคอบนะ หากเราส่งพี่น้องปาณฑพไปอยู่ ณ เมืองวารณาวัต เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นประการใด เจ้าแน่ใจแล้วหรือว่า บรรดาหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาชนเขาจะไม่ว่ากระไร เพราะพ่อนั้นได้ยินว่า พี่น้องปาณฑพทั้งห้าเป็นที่รักใคร่ของประชาชนอยู่ไม่น้อย อนึ่ง เจ้าต้องไม่ลืมทูลกระหม่อมปู่ภีษมะ พระอาจารย์โทฺรณะ และกฤปาจารย์ ตลอดจนมหามติวิทูร เพราะท่านเหล่านี้ต่างก็เมตตารักใคร่พี่น้องปาณฑพทั้งนั้น".

       "เรื่องนี้เสด็จพ่อไม่ต้องเป็นห่วงพระเจ้าค่ะ พวกลูกจะใช้อำนาจเงินดึงหมู่อำมาตย์และประชาชนให้มาอยู่ข้างเรา ทูลกระหม่อมปู่ภีษมะนั้นท่านทรงวางพระทัยเป็นกลางในส่วนที่เกี่ยวกับเราและพี่น้องปาณฑพ พระอาจารย์โทฺรณะและพระอาจารย์กฤปะเล่าก็เป็นพ่อและลุงของอัศวัตถามา อัศวัตถามาเป็นเพื่อนสนิทของลูก เพราะฉะนั้น ในกรณีใดก็ตาม พระอาจารย์ทั้งสององค์นี้ย่อมจะเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายเราไม่ได้แน่ ๆ เหลือแต่มหามติวิทูรอยู่คนเดียว จะมาทำอันตรายแก่เราอย่างไรได้" ทุรโยธน์พยายามชี้แจงให้พระบิดาเชื่อ.

       ด้วยอำนาจฉันทาคติที่มีต่อสายเลือดของพระองค์ และด้วยความเป็นผู้ที่มีจิตใจขาดความเข้มแข็งเด็ดขาด ท้าวธฤตราษฎร์จึงทรงฟังคำพูดของโอรสโดยดุษณีภาพ และมิได้ทรงห้ามปรามแต่ประการใด.

       ฝ่ายทุรโยธน์เมื่อได้เจรจาโน้มน้าวพระทัยของพระบิดาสำเร็จถึงขั้นนั้นแล้ว ก็หันไปดำเนินมาตรการด้านอื่น เช่น เชิญปุโรหิตกณิกะผู้ใกล้ชิดท้าวธฤตราษฎร์มาปรับความเข้าใจ เพื่อจะได้ "เป่าหู" ท้าวธฤตราษฎร์ให้หนักมือยิ่งขึ้น ในด้านหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพารตลอดจนมุขประชาหัวหน้าหมู่ชน ทุรโยธน์ก็ไม่ลืมที่จะดึงมาเป็นพวกโดยจ่ายเงินทองเป็นการติดสินบนให้อย่างไม่อั้น.


 
74
       ในที่สุด กองไฟที่ทุรโยธน์กับพวกพยายามเป่าด้วยลมปากและอามิสสินจ้างก็ลุกโชติช่วงขึ้น.

       วันหนึ่ง ท้าวธฤตราษฎร์รับสั่งให้ภราดาปาณฑพทั้งห้าเข้าเฝ้า แล้วก็ตรัสว่า.

       "ดูกรหลานรัก ลุงเห็นว่าเจ้าและแม่ของเจ้าก็ได้อยู่ในกรุงหัสตินาปุระมาช้านานแล้ว น่าจะได้แปรราชฐานไปอยู่ที่แห่งอื่นเสียบ้าง จะได้ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ทั้งจะเป็นผลดีแก่สุขภาพด้วย ลุงเห็นว่าเมืองวารณาวัตซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนี้ไปเท่าไรนัก ขณะนี้กำลังมีงานเทศกาลประจำปี ณ เทวาลัยของพระศิวะเทพเจ้า ลุงอยากจะให้พวกเจ้าได้ไปเที่ยวในงานนี้พร้อมกับแม่ของเจ้า และหลังจากเที่ยวงานเทศกาลแล้ว หากชอบใจจะพักผ่อนอยู่ที่นั่นลุงก็ไม่ขัดข้อง เพราะอากาศที่เมืองนั้นดี อีกทั้งประชาชนก็รักใคร่นับถือพวกเจ้าอยู่ เจ้าจะลองนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับแม่ของเจ้าดูก่อนก็ได้ เมื่อตกลงประการใด ขอให้มาบอกให้ลุงทราบก็แล้วกัน".

       ด้วยความซื่อ เมื่อได้ฟังคำพูดของท้าวธฤตราษฎร์ผู้เป็นลุงเช่นนั้น พี่น้องปาณฑพทั้งห้าก็เกิดความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ต่างลิงโลดใจไปทูลให้นางกุนตีผู้มารดาทราบ พร้อมทั้งวิงวอนขอให้ไปเที่ยวยังเมืองวารณาวัตตามคำแนะนำของทูลกระหม่อมลุงให้จงได้ นางกุนตีเองก็หาได้ทราบถึงกโลบายอันแยบยลของฝ่ายเการพไม่ และด้วยความรักและสงสารลูก ๆ ที่จะได้มีโอกาสไปเที่ยวกับเขาบ้าง นางจึงยินดีตกลงไปโดยมิได้เฉลียวใจในแผนอันชั่วร้ายของฝ่ายเการพแม้แต่น้อย.

       ครั้นแล้ว ก็มีการตระเตรียมให้พี่น้องปาณฑพทั้งห้าพร้อมด้วยนางกุนตีผู้มารดาได้เดินทางไปยังเมืองวารณาวัตกันอย่างรีบด่วน.

       เมื่อได้ทราบว่าพี่น้องปาณฑพและมารดาตกลงใจเดินทางไปยังเมืองวารณาวัต ทุรโยธน์ก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้แผนการที่จะกำจัดฝ่ายปาณฑพได้ลุล่วงไปโดยดี จึงเรียก ปุโรจนะ อำมาตย์คนสนิทเข้ามาแล้วกระซิบที่หูว่า.

       "ปุโรจนะเพื่อนยาก ท่านจงให้ความร่วมมือแก่พวกเราในเรื่องที่จะชี้แจงให้ทราบต่อไปนี้ เราสัญญาว่าหากอาณาจักรหัสตินาปุระตกอยู่ในกำมือของพวกเราแต่ฝ่ายเดียวเมื่อใด เมื่อนั้น เราจะสมนาคุณท่านอย่างสาสม และท่านจะเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งคนหนึ่งในราชอาณาจักรนี้".


 
75
       "ท่านย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายเรากับฝ่ายลูกพี่ลูกน้องของเรา คือกลุ่มปาณฑพนั้นเป็นประการใด ตราบใดที่พวกนี้ยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นพวกเราจะมีความสุขกายสบายใจโดยสมบูรณ์ไม่ได้เป็นอันขาด".

       "ในเวลา 2-3 วันข้างหน้านี้ พวกปาณฑพทั้งห้าพร้อมด้วยนางกุนตีจะเดินทางไปชมงานเทศกาลศิวบูชา ณ เมืองวารณาวัต และอาจจะพักผ่อนอยู่ในเมืองนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ท่านจะต้องร่วมมือกับเรากำจัดพวกนี้พร้อมทั้งมารดาให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินผืนนี้".

       "เราขอแนะนำให้ท่านทำดังต่อไปนี้คือ ท่านจะต้องสร้างตำหนักให้พวกนี้ใช้เป็นที่ประทับได้ชั่วคราว ตำหนักนี้จะต้องสร้างด้วยวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายที่สุดและเมื่อตกกลางคืนในยามที่พี่น้องปาณฑพทั้งห้าคนพร้อมทั้งมารดา พักผ่อนหลับสนิทนิทราด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการเที่ยวเตร่ในเวลากลางวันแล้ว ท่านจะต้องลอบวางเพลิงให้ตำหนักดังกล่าวไหม้เป็นเถ้าถ่าน และเมื่อนั้นพี่น้องทั้งห้าคนพร้อมทั้งมารดาก็จะถูกไฟคลอกตาย แผ่นดินแห่งนครหัสตินาปุระก็จะสูงขึ้นถนัด เราและท่านพร้อมทั้งพวกน้อง ๆ ของเราก็จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้แต่ฝ่ายเดียว ขออย่างเดียวท่านจะต้องให้ความร่วมมือแก่พวกเราอย่างดีที่สุดและจะต้องไม่นำความลับนี้ไปแพร่งพรายแก่ผู้ใดทั้งสิ้น".

       ด้วยความโลภที่จะ "เป็นใหญ่ในแผ่นดิน" อำมาตย์ปุโรจนะรีบตอบทุรโยธน์ว่า "ขอให้ท่านวางใจได้ ข้าพเจ้าจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีที่สุด".

       ต่อจากนั้น ปุโรจนะก็รีบรุดเดินทางล่วงหน้าไปยังเมืองวารณาวัต เพื่อจัดการตามแผนอันเหี้ยมโหดของทุรโยธน์.

       จะด้วยกุศลผลบุญประการใดของกลุ่มปาณฑพทั้งห้าและมารดาก็ตามที ปรากฎว่า แผนการอันชั่วร้ายของทุรโยธน์ดังที่ได้พรรณนามาข้างต้น ได้ล่วงรู้ไปถึงหูของมหามติวิทูรเข้า มหามติวิทูรผู้นี้เป็นที่ปรึกษาของแผ่นดินหัสตินาปุระมาตั้งแต่ท้าวปาณฑุผู้ราชบิดาของภราดาปาณฑพยังทรงมีพระชนม์ชีพ และเป็นผู้ที่รักความเป็นธรรมและมีความเที่ยงตรงเป็นที่สุด.

       นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแล้ว มหามติวิทูรยังเป็นเจ้าอาของพี่น้องปาณฑพและเการพอีกด้วย ดังนั้น พอพี่น้องปาณฑพพร้อมด้วยนางกุนตีผู้มารดากับคณะออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองวารณาวัต มหามติวิทูรก็รีบรุดตามไปทันในระหว่างทาง และแอบกระซิบให้ยุธิษฐิระผู้เชษฐภราดาของปาณฑพทั้งห้าได้ทราบถึงแผนอันอุบาทว์ของทุรโยธน์ และพร้อมกันนั้นก็ได้แจ้งให้ยุธิษฐิระทราบด้วยว่า ปุโรจนะคนสนิทของทุรโยชน์ได้เดินทางล่วงหน้าไปยังเมืองวารณาวัตแล้ว.

ประติมากรรมรูปหล่อโลหะ "อาทิโยคี ศิวะ" (ปฐมโยคีมหาเทพศิวะ) ด้วยระบบปรัชญาอินเดียนั้น ตระหนักว่า พระศิวะเป็นปฐมผู้ก่อกำเนิดโยคะ รูปหล่อโลหะนี้มีความสูง 112 ฟุต เสมือนแทนถึง 112 จักรราศีของร่างกายมนุษย์ที่ถูกกำหนดเพื่อใช้ในการบำเพ็ญญาณ ประติมากรรมนี้มีน้ำหนักรวม 500 ตัน สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2560 ประทับอยู่ที่รัฐทมิฬ นาดู ภารตะใต้ ออกแบบโดย Sadhguru Jaggi Vasudev ก่อสร้างโดย Isha Foundation, ที่มา: www.mybestplace.com, วันที่เข้าถึง 26 สิงหาคม 2565. 


76
       คณะพี่น้องปาณฑพเดินทางรอนแรมมาในป่าหลายเพลาจึงถึงเมืองวารณาวัตโดยสวัสดิภาพ.

       ระหว่างนั้นงานเทศกาลบูชาพระศิวะกำลังดำเนินไปอย่างสนุกสนาน พี่น้องปาณฑพกับมารดาได้เข้าไปนมัสการพระประติมาขององค์พระศิวะในเทวาลัยและได้ร่วมงานฉลองกับชาวเมืองเยี่ยงสามัญชนคนธรรมดา พฤติการณ์เช่นนี้แหละยิ่งทำให้กลุ่มปาณฑพกับมารดาเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง.

       ในระยะเริ่มแรกที่ไปถึงและพำนักอยู่ในตำหนัก ซึ่งปุโรจนะได้สร้างขึ้นตามแผนทุรโยธน์นั้น มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งลักลอบเข้าไปพบยุธิษฐิระโดยแจ้งให้ทราบว่า ตนเป็นคนที่มหามติวิทูรส่งมาดูแลให้ความปลอดภัยแก่พี่น้องปาณฑพและมารดา ในเวลากลางวัน ขณะที่พี่น้องปาณฑพออกไปเที่ยวเตร่หรือไปล่าสัตว์ในป่า ชายผู้นี้ก็จะขุดอุโมงค์ไว้ใต้ตำหนักเพื่อใช้เป็นทางหนีไฟในเมื่อมีการลอบวางเพลิงที่พักตามแผนของทุรโยธน์ ขอให้ยุธิษฐิระและพี่น้องจงได้ไว้ใจเขา และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเขาเถิด ยุธิษฐิระได้แจ้งเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ที่ได้รับทราบจากมหามติวิทูรให้มารดาและน้อง ๆ ทราบทุกประการ พร้อมกันนั้นก็กำชับให้ทุกคนระมัดระวังตัวให้จงดี.

       อยู่มาวันหนึ่งซึ่งเป็นวันแรม 14 ค่ำ นางกุนตีได้อาราธนาพราหมณ์มาทำบุญด้วยการเลี้ยงอาหารและถวายไทยทาน ณ ตำหนักที่พัก ปุโรจนะซึ่งตลอดเวลาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลความสะดวกสบายของพี่น้องปาณฑพแทนท้าวธฤตราษฎร์ ก็ได้รับเชิญให้มาร่วมงานบุญและงานเลี้ยงด้วย ทุกคนต่างรับประทานอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อย.

       ตกดึกของราตรีนั้น ขณะที่ปุโรจนะเองก็กำลังครุ่นคิดว่าจะลงมือจุดไฟเผาตำหนักตามแผนที่ได้วางไว้กับทุรโยธน์ดีหรือไม่อยู่นั้น ภีมะเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงรีบลงมือชิงทำเสียก่อน ทั้งนี้โดยได้แอบกระซิบให้มารดาและพี่น้องทราบล่วงหน้า.


 
77
       บังเอิญในคืนนั้นลมค่อนข้างจะพัดแรง และโดยเหตุที่ตัวตำหนักเองก่อสร้างด้วยวัสดุติดไฟง่ายดังกล่าวไว้แล้ว ไฟที่ภีมะลอบจุดจึงลุกโพลงโชติช่วงภายในเวลาอันรวดเร็ว ยุธิษฐิระและน้อง ๆ ทั้งสี่รีบจูงมือนางกุนตีผู้มารดาหนีลงอุโมงค์ออกมาได้โดยปลอดภัย ส่วนปุโรจนะนั้นได้ถูกไฟคลอกตายไปกับความวอดวายของตำหนักซึ่งตัวเขาเองเป็นผู้สร้าง สมกับคำพังเพยที่ว่า "กรรมสนองกรรม".

       หลังจากที่ได้หนีอัคคีภัยมาได้แล้ว พี่น้องปาณฑพพร้อมด้วยมารดาก็ค่อย ๆ ลัดเลาะเข้าในป่า เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีคนของฝ่ายเการพติดตามมาคอยสังหารพวกตนอีกหรือไม่ การเดินทางในป่าแสนจะระหกระเหินและทุรกันดารยิ่ง โดยเฉพาะนางกุนตีนั้นเมื่อเดินไปได้ระยะหนึ่งก็หมดเรี่ยวแรง ต้องขึ้นขี่คอภีมะไป.

       มหามติวิทูรซึ่งอยู่ในนครหัสตินาปุระและมีจิตใจห่วงใยในสวัสดิภาพของพี่น้องปาณฑพอยู่ตลอดเวลานัั้น สามารถอนุมานเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ดี จึงส่งคนของตนออกติดตามคอยไปให้ความช่วยเหลือกลุ่มพี่น้องปาณฑพภายในป่า คนของมหามติวิทูรตามไปพบพี่น้องปาณฑพ ขณะที่เขาเหล่านั้นกำลังจะข้ามแม่น้ำคงคา จึงได้ช่วยจัดหาหาเรือให้ข้ามฟากไปได้โดยปลอดภัย.

       หลังจากที่ได้ข้ามฟากไปแล้ว พี่น้องปาณฑพก็มุ่งหน้าลงสู่ทิศใต้ของแม่น้ำคงคา และได้รอนแรมไปในป่าชัฏ ซึ่งเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ดุร้ายตลอดทาง ครั้งหนึ่งระหว่างที่เดินทางมาในเวลากลางวันท่านกลางแสงแดดที่แผดจ้า นางกุนตีให้รู้สึกกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงขอร้องให้ลูก ๆ หยุดพัก ณ ภายใต้ต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง พลางขอร้องให้ภีมะผู้มีความแข็งแรงเป็นที่สุดในบรรดาลูก ๆ ให้ไปหาน้ำมาให้นางดื่ม ภีมะตระเวณไปรอบ ๆ จนในที่สุดก็ได้พบสระน้ำจึงตักใส่กุณโฑ ซึ่งทำด้วยผลน้ำเต้าแห้งมาให้มารดาและพี่น้อง พอมาถึงก็ได้พบว่ามารดาและพี่น้องต่างนอนหลับด้วยความเหนื่อยอ่อนกันไปหมดแล้วทุกคน ด้วยความสงสารมารดาและแสนจะแค้นใจในความอาภัพอับโชคของตน ภีมะซึ่งตามปกติแล้วเป็นคนที่มีความเข้มแข็งอดทนมาก แต่คราวนี้ภีมะถึงกับทรุดกายลงนั่งข้างมารดาแล้วร่ำไห้ออกมาอย่างน่าเวทนา.


78
       ภายในป่าดงดิบซึ่งนางกุนตีและภราดาปาณฑพกำลังพักผ่อนด้วยความเหนื่อยอ่อนอยู่นั้น มีรากษสดุร้ายอาศัยอยู่ตนหนึ่งชื่อ หิฑิมพะ (हिडिम्ब - Hiḍimba) เมื่อได้เห็นมนุษย์ซัดเซพเนจรเข้ามาในป่าลึกเช่นนั้น หิฑิมพะก็ดีใจเป็นกำลัง เพราะนาน ๆ จึงจะมีโอกาสได้กินเนื้อมนุษย์เป็นภักษาหารสักครั้ง หิฑิมพะมีน้องสาวชื่อ หิฑิมพา บ้างก็เรียก หิฑิมพี (हिडिम्बी - Hiḍimbā or Hiḍimbī ) อาศัยอยู่ด้วยกัน เพื่อให้แน่ใจว่ามนุษย์ทั้ง 6 นั้นเป็นใคร หิฑิมพะจึงส่งน้องสาวไปดูลาดเลาล่วงหน้า พอเห็นหน้าภีมะเข้า หิฑิมพาก็เกิดเสน่หาภีมะขึ้นมาทันที จึงเล่าความจริงให้ภีมะและนางกุนตีฟัง พร้อมกับเตือนให้รีบหนีไปจากที่นั้นเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นพี่ชายของนางคือ หิฆิมพะจะมาจับตัวไปกินเป็นอาหารเสีย ระหว่างที่รากษสีหิฆิมพากำลังเจรจากับภีมะอยู่นั้น หิฆิมพะเห็นล่าช้าผิดปกติ จึงรีบรุดไปดูด้วยตนเอง ครั้นแล้วการต่อสู้ระหว่างภีมะกับหิฑิมพะก็เกิดขึ้นอย่างดุเดือด ยังผลให้หิฆิมพะตายด้วยฝีมือของภีมะ.

ภีมะและนางหิฆิมพา, จิตรกร: Raja Ravi Varma, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 28 สิงหาคม 2565.

       ส่วนนางรากษสีหิฆิมพานั้นได้ตกเป็นภรรยาของภีมะ ภีมะมีบุตรกับนางหิฑีมพา ชื่อ ฆโฏตกัจ (घटोत्कच - Ghaṭotkaca แปลว่าหม้อเกลี้ยง ๆ ด้วยฆโฏตกัจมีศีรษะล้าน) ฆโฏตกัจมิได้ติดตามไปด้วยกับภีมะผู้บิดา หากคงอยู่ในป่ากับมารดาเช่นเดิม ฆโฎตกัจมีฝีมือในการรบอย่างยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับภีมะ ปรากฎว่าในมหาสงครามซึ่งเกิดขึ้นในเวลาต่อมาระหว่างเการพและปาณฑพ ณ ทุ่งคุรุเกษตรนั้น ฆโฎตกัจได้นำกองทัพรากษสเข้าช่วยฝ่ายปาณฑพ และได้ทำความเสียหายให้แก่ฝ่ายเการพเป็นอย่างมาก แต่ตัวฆโฎตกัจเองได้ถูกอาวุธมีชื่อว่า "ศักติ" ของกรรณะสิ้นชีพในสมรภูมิกุรุเกษตรนั้นเอง.

       ต่อจากนั้น พี่น้องปาณฑพทั้งห้าพร้อมด้วยมารดาคือนางกุนตีก็ได้ปลอมตัวเป็นนักบวช แล้วเดินทางต่อไปในแนวป่า ได้ผ่านเขตแดนต่าง ๆ ไปหลายแคว้นมี มัตสยะ (อาณาจักรมัสยตะ เมืองหลวงคือ เมืองวิราฎนคร) ตริครรตะ (แคว้นตรีครรตะ เมืองหลวงคือ เมืองปรัสถาล) ปัญจาละ (อาณาจักรปัญจาละ เมืองหลวงคือ เมืองกัมปิละ) และกีจกะ (แคว้นกีกฎะ เมืองหลวงคือ เมืองคยา เป็นประเทศราชของแคว้นมคธ) เป็นต้น ในที่สุดก็ได้มาถึงอาศรมของฤษีวฺยาส.

 

สองภาพข้างต้น เป็นแผ่นหินทรายแกะสลัก ตรงระเบียงคดชั้นนอกทิศเหนือปีกตะวันตกของปราสาทบันเตีย ฉมาร์ ที่จังหวัดบันเตีย เมียนเจย กัมพูชา แสดงถึงการปราบรากษส "พกะ" ของภีมะ ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565. รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ใน 19. ปราสาทบันทายฉมาร์
79
       ฤษีวฺยาสได้ต้อนรับนางกุนตีและลูก ๆ เป็นอย่างดี ได้พาแม่ลูกทั้งหกไปพักอาศัย ณ นิวาสสถานของพราหมณ์ผู้หนึ่งในเมืองเอกจักร และก่อนจะจากกันได้ให้กำลังใจแก่นางกุนตีและพี่น้องปาณฑพทั้งห้าว่า ขอให้อดทนต่อไปเถิดอนาคตต้องเป็นของกลุ่มปาณฑพแน่ เพราะเป็นฝ่ายธรรมะ ต่อจากนั้นฤษีวฺยาสก็ลากลับไปพร้อมกับสัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยมพี่น้องปาณฑพกับมารดาอีก.

       ระหว่างที่พำนักอยู่ในบ้านของพราหมณ์นั้น วันหนึ่งนางกุนตีและลูก ๆ ได้ยินเสียงพราหมณ์ส่งเสียงร้ำไห้ละล่ำละลักอยู่ในห้องกับภรรยาพร้อมด้วยลูกสาวและลูกชาย ซึ่งอายุน้อยทั้งคู่ ด้วยความสงสัย นางกุนตีกับภีมะจึงเข้าไปไต่ถามถึงมูลเหตุของความทุกข์โทมนัสของบุคคลทั้งสี่ ก็ได้ความว่า.

       ในละแวกบ้านนั้น มี รากษสตนหนึ่งชื่อ พกะ ทำหน้าที่ปกป้องดูแลมิให้สัตว์ร้ายจากป่าบางชนิดเช่น เสือและหมี เป็นต้น เข้ามาทำร้ายผู้คนในละแวกบ้านนั้น แต่ชาวบ้านก็ต้องมีหน้าที่จะต้องผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกันออกหาอาหาร ซึ่งได้แก่วัว ควาย ข้าว และคน แล้วนำไปให้พกะรากษสกินเป็นประจำเหมือนกัน มิฉะนั้นแล้ว รากษสก็จะเข้ามาจับเอาครอบครัวของผู้ที่มีหน้าที่เช่นนั้นไปกินเสียเอง บัดนี้ ถึงวาระของพราหมณ์ผู้นั้นที่จะต้องรับหน้าที่ดังกล่าว แต่เนื่องด้วยความขัดสนไม่มีเงินทองจะไปซื้อหาคนหรือสัตว์หรือข้าวเพื่อนำไปให้พกะรากษสกินได้ พราหมณ์จึงนั่งปรับทุกข์กับนางพราหมณีผู้ภรรยาและลูก ๆ ว่าจะทำประการใดดีจึงจะหาทางออกได้ นางพราหมณีเสนอว่า ตนจะขออุทิศร่างกายเป็นอาหารให้แก่พกะรากษส ทั้งนี้เพื่อพราหมณ์ผู้สามีและลูกทั้งสองจะได้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป พราหมณ์และลูกไม่ยอมที่จะให้ภรรยาและแม่ทำเช่นนั้น ในที่สุดทั้งสี่คนจึงตัดสินใจว่าจะยอมตายพร้อมกัน โดยจะมอบตัวให้พกะรากษสกิน และนี่คือสาเหตุแห่งการพิลาปร่ำไห้ดังกล่าวแล้ว.

       ภีมะซึ่งยืนฟังพราหมณ์เล่าเรื่องราวอยู่กับมารดาจึงกล่าวขึ้นว่า

       "ท่านพราหมณ์ผู้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ ขอท่านจงอย่าได้วิตกในเรื่องนี้แต่ประการใดเลย เรารับรองว่าจะจัดการกับพกะรากษสให้เรียบร้อยเอง ขอท่านภรรยาของท่าน และลูกทั้งสองจงอยู่แต่ในบ้านเถิด อย่าได้เคลื่อนไหวไปไหนเลย".

       ว่าแล้วภีมะก็หยิบคทาอาวุธคู่ใจแล้วรีบรุดไปยังป่าชานเมืองอันเป็นที่อาศัยของพกะรากษส ณ ที่นั้น ภีมะได้ท้าทายพกะรากษสให้ออกมาสู้กันตัวต่อตัว และหลังจากได้โรมรันพันตูกันเป็นเวลาถึงหนึ่งวันและหนึ่งคืนเต็ม ๆ ภีมะก็สังหารพกะรากษสได้ด้วยคทาคู่ชีพ.


 
80
       นับแต่นั้นมา ชาวเมืองเอกจักรก็มีชีวิตอยู่กันด้วยความผาสุก โดยไม่ต้องหวาดกลัวภัยจากรากษสตนใดอีก.

       อยู่มาวันหนึ่ง มีพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งเดินทางจากที่อื่นมาขอพักแรม ณ บ้านซึ่งพี่น้องปาณฑพพักอยู่ และจากคำบอกเล่าของพราหมณ์ผู้นี้เอง พี่น้องปาณฑพก็ได้ทราบว่า ท้าวทรุปัทราชาแห่งแคว้นปัญจาละกำลังจัดให้มีพิธีสยุมพรเจ้าหญิงกฤษณา ธิดาผู้เลอโฉมของพระองค์.

       ได้พรรณนามาแล้วว่า ท้าวทรุปัททรงเป็นสหายของอาจารย์โทฺรณะหรือโทฺรณาจารย์มาแต่เยาว์วัย แต่เกิดขัดใจกันจนถึงกับต้องทำสงครามแล้วกลายเป็นศัตรูต่อกันไปในที่สุด หลังจากได้พ่ายแพ้แก่ฝ่ายโทฺรณาจารย์และได้ถูกแบ่งแยกราชอาณาจักรไปครึ่งหนึ่งแล้ว ท้าวทรุปัทก็ทรงครุ่นคิดถึงวิธีที่จะแก้แค้นฝ่ายโทฺรณาจารย์อยู่ตลอดมา.

       ท้าวทรุปัททรงทราบดีว่า ลำพังด้วยกำลังและฝีมือของคนธรรมดาแล้ว ไม่มีทางที่จะรบชนะโทฺรณาจารย์ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ของฤษีมุนีเข้าช่วยด้วย โดยเหตุฉะนี้ ท้าวทรุปัทจึงทรงส่งข้าราชบริพารออกไปค้นหาอาศรมของฤษีมุนีที่จะสามารถช่วยให้พระองค์รบชนะอาจารย์โทฺรณะได้ในที่สุด ข้าราชบริพารก็พบว่า บนริมฝั่งแม่น้ำกะละมะษี มีฤษีที่มีชื่อเสียงอยู่สองตน ชื่อว่า ยาชกะ และ อุปยาชกะ ฤษีทั้งสองมีความสามารถในเรื่องอำนาจจิตและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงสืบเรื่องราวได้ความแน่นอนเช่นนั้นแล้ว ท้าวทรุปัทจึงเสด็จไปอาราธนาฤษียาชกะและอุปยาชกะให้ไปยังราชธานีของพระองค์ เพื่อประกอบยัญกรรม คือการบูชาอันมีชื่อว่า ปุเตฺรษฺฎิ01. เพื่อให้เกิดโอรส จะได้เป็นกำลังแก่พระองค์ในกาลข้างหน้า.

       พิธียัญ "ปุเตฺรษฺฏิ" ได้กระทำกันอย่างมโหฬารเป็นที่พอใจของฤษียาชกะและอุปยาชกะเป็นอย่างยิ่ง และโดยเหตุที่ทราบพระทัยของท้าวทรุปัทด้วยอำนาจจิตเป็นอย่างดี ฤษีทั้งสองจึงถวายพรแด่ท้าวทรุปัทว่า "พระองค์จะทรงได้ราชโอรสและราชธิดาเป็นผู้สืบสันตติวงศ์สมพระทัย ราชโอรสองค์นี้จะเป็นผู้สังหารโทฺรณาจารย์ผู้ศัตรูของพระองค์ และราชธิดาของพระองค์ก็จะเป็นที่ประหวั่นพรั่นพรึงแก่พี่น้องตระกูลเการพเป็นอย่างยิ่ง".
---------------
01. ปุเตฺรษฺฏิ = ปุตฺร + อิษฺฏิ คือ พิธีบูชาขอลูก; ปุตร = บุตร + อิษฺฏิ = ความปรารถนา.
 
 
81
       ในกาลต่อมา ท้าวทรุปัทก็ได้โอรสและธิดาสมพระทัยจริง ๆ โอรสทรงพระนามว่า ธฤษฎะทฺยุมัน (Dhristadyumna เป็นพี่ชายฝาแฝดกับเทฺราปที) และ ศิขัณฑิน (Shikandini, Shikhandi - จากหญิงแปลงเป็นชาย) ส่วนธิดาทรงพระนามว่า กฤษณา (Krishnaa - Kṛṣṇā) หรือ เทฺราปที01. บ้างก็ว่ามีน้องชายคนสุดท้องอีกคนชื่อ สัตยชิต (Satyajit - ต่อมาได้ปกครองแคว้นปัญจาละ) โดยเหตุที่เทฺราปทีมีฉวีวรรณค่อนข้างดำ จึงได้นามว่า กฤษณา ซึ่งแปลว่า ดำ นิล หรือ ม่วงแก่ก็ได้ ศิขัณฑินนั้นเป็นกระเทยและต่อมาเป็นมูลเหตุการตายของภีษมะดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น.

อรชุนและนางเทฺราปที - อรชุนกำลังยกศรยิงไปยังตาปลาในการแข่งเอาชนะเพื่อให้ได้สยุมพรกับนางเทฺราปที, ภาพสีน้ำบนกระดาษ วาดราว พ.ศ.2438, ไม่ทราบชื่อจิตรกร, พบที่เมืองกัลกัตตา ภารตะ, ที่มา: collection.vam.ac.uk, วันที่เข้าถึง 28 สิงหาคม 2565.

       พิธีสยุมพรหรือพิธีเลือกคู่ดั่งได้เคยกล่าวมาแล้ว เป็นพิธีสยุมพรของเจ้าหญิงกฤษณา ธิดาของท้าวทรุปัทองค์นี้เอง.

       เมื่อได้ทราบข่าวพิธีสยุมพรของเจ้าหญิงเทฺราปทีหรือกฤษณาจากพราหมณ์ดังได้พรรณนามาแล้ว พี่น้องปาณฑพจึงทูลให้นางกุนตี พระมารดา ทรงทราบและพร้อมกันนั้นก็แสดงความปรารถนาที่จะได้ไปชมพิธีสยุมพรนั้น ด้วยความสงสารโอรสทั้งห้า และทรงเห็นว่าได้พักผ่อนอยู่ในเคหสถานของพราหมณ์ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตามาหลายเพลาแล้ว สมควรจะได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่เสียบ้าง นางกุนตีจึงทรงยินดีที่จะปฏิบัติตามความปรารถนาของลูก ๆ .

       ระยะนั้นเป็นเวลาพอดีกับฤษีวฺยาส ได้กลับมาเยี่ยมนางกุนตีและพี่น้องปาณฑพตามที่สัญญาไว้ ฤษีวฺยาสก็แสดงความเห็นชอบด้วย และได้กล่าวอวยชัยถวายพรขอให้การเดินทางลุล่วงไปโดยปราศจากอุปัทวันตรายใด ๆ .

       เหล่ากษัตริย์ปาณฑพและมารดาเดินทางรอนแรมผ่านป่าเขาลำเนาไพรไปเป็นเวลาหลายวัน ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่แม่ลูกเดินทางเลียบฝั่งแม่น้ำคงคาอยู่ มีคนธรรพ์ตนหนึ่งเล่นน้ำอยู่ในกระแสธารอันเยือกเย็นและใสสะอาดของพระแม่คงคาพร้อมด้วยภรรยาและลูก ๆ เมื่อเห็นมนุษย์ล่วงล้ำเข้ามาโดยผิดกาละและเทศะเช่นนั้น คนธรรพ์จึงบันดาลโทสะหยิบธนูขึ้นกระหน่ำยิงมายังกลุ่มปาณฑพและมารดาดั่งห่าฝน.
---------------

01. เทฺราปที (เทฺรา-ปะ-ที - द्रौपदी - draupadī) เกิดจากคำว่า ทรุปัท เมื่อเป็นเพศหญิงจึงเป็น เทฺราปที แปลว่า มีกำเนิดจากทรุปัท. 


82
       ทันใดนั้น อรชุนก็หยิบอาวุธวิเศษที่มีชื่อว่า อาคฺเนยาสฺตฺร01. ขึ้นมายิงโต้ตอบไปยังคนธรรพ์ตนนั้นบ้าง ยังผลให้ลูกศรทั้งหมดของคนธรรพ์สิ้นอำนาจ ตกลงมายังพื้นปฐพีเหมือนใบไม้ร่วง และตัวคนธรรพ์เองก็ต้องล้มลงสิ้นสติสมปฤดีในทันที.

       อรชุนรีบตรงไปยังร่างของคนธรรพ์แล้วมัดตัวนำมาให้นางกุนตีและยุธิษฐิระผู้พี่ชายใหญ่ดู พร้อมกันนั้น ภรรยาและลูก ๆ ของคนธรรพ์ก็กรูตามติดมาพลางส่งเสียงร่ำไห้อย่างน่าเวทนา.

       "ข้าแต่ท่านมนุษย์ผู้ทรงเกียรติ ขอได้โปรดไว้ชีวิตสามีของข้าพเจ้าด้วยเถิด เขาได้กระทำผิดพลาดไปแล้ว โดยเป็นฝ่ายหยิบอาวุธขึ้นมาทำร้ายพวกท่านก่อน" นางคนธรรพ์พูดอ้อนวอนอย่างละล่ำละลัก.

       ยุธิษฐิระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมจึงสั่งให้อรชุนแก้เชือกที่มัดตัวคนธรรพ์แล้วปล่อยตัวอมนุษย์ผู้นั้นเป็นอิสระไป.

       คนธรรพ์ตนนั้นมีนามว่า จิตรรถ หรือ อังคารบรรณ จิตรรถมีความรู้เป็นญาณพิเศษอยูู่อย่างหนึ่งชื่อ จากฺษุษี ความรู้พิเศษนี้สามารถช่วยให้ผู้รู้ได้เห็นประจักษ์ในเหตุการณ์ทั้งสามโลกได้อย่างแจ่มแจ้ง สามโลกที่ว่านี้ได้แก่ โลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และโลกบาดาล ด้วยความซาบซึ้งในความกล้าหาญและเมตตาธรรมของนางกุนตีและพี่น้องปาณฑพทั้งห้า คนธรรพ์จิตรรถจึงถ่ายทอดความรู้พิเศษนั้นให้แก่อรชุนด้วย พร้อมกันนั้น จิตรรถก็มอบม้าวิเศษ 100 ตัวให้แก่กลุ่มปาณฑพ คุณสมบัติของม้าวิเศษเหล่านี้คือ มีฝีเท้าเร็วที่สุดในสามโลก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการวิ่งและไม่รู้จักแก่ด้วย.

       "พวกเรายังไม่มีนิวาสสถานอยู่เป็นที่เป็นทาง ขอให้ท่านเลี้ยงดูม้าเหล่านี้ไว้ก่อนเถิด หากจำเป็นเมื่อไร เราจะมาขอรับม้าเหล่านี้ไป" อรชุนพูดกับคนธรรพ์.
---------------
01. อาคฺเนยาสฺตฺร คือ อาวุธไฟ อคฺนิ + อสฺตฺร = อาคฺเนยาสฺตฺร

 
83
      เพื่อเป็นการตอบแทนความเอื้ออารีของจิตรรถ อรชุนได้มอบอาวุธวิเศษซึ่งมีชื่อว่า พฺรหฺมาสฺตฺร ให้แก่จิตรรถในโอกาสนั้นด้วย โดยเหตุที่จิตรรถเป็นคนธรรพ์อาวุโส มีประสบการณ์และความรู้มาก ก่อนจะจากกัน อรชุนจึงปรารภกับจิตรรถว่า.

       "ท่านจิตรรถ เรามีความประสงค์จะได้พราหมณ์มาเป็นปุโรหิตที่ปรึกษาของเราสักคนหนึ่ง ท่านจะกรุณาให้คำแนะนำในเรื่องนี้แก่เราได้บ้างหรือไม่".

       "ท่านอรชุน ณ บุณยสถานอันมีชื่อว่า อุตโกจัก มีพราหมณ์ผู้ทรงความรู้ในไตรเพท และสรรพวิทยานานาแขนงอยู่คนหนึ่งชื่อว่า เธามฺยะ ขอท่านจงไปเจรจาติดต่อกับพราหมณ์ผู้นั้นเถิด ข้าพเจ้าเชื่อว่าเขาจะทำหน้าที่เป็นปุโรหิตที่สามารถให้แก่ท่านได้".

       ต่อจากนั้น นางกุนตีและลูก ๆ ก็อำลาคนธรรพ์จิตรรถมุ่งหน้าเดินทางไปยังบุณยสถานอุตโกจัก และก็ได้พบกับพราหมณ์เธามฺยะ คามคำบอกเล่าของจิตรรถ เมื่อได้ทราบความจริงว่า นางกุนตีและพี่น้องปาณฑพเป็นใคร พราหมณ์เธามฺยะก็ยินดีรับเป็นปุโรหิตให้ด้วยความเต็มใจ.

       ด้วยประการฉะนี้ คณะพี่น้องปาณฑพผู้เดินทางไปสู่แคว้นปัญจาละจึงมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง รวมทั้งหมดสมาชิกในคณะจึงมีเจ็ดคนด้วยกัน.

       ระหว่างทาง คณะของปาณฑพได้พบกับผู้คนจำนวนมากมายซึ่งต่างก็มุ่งหน้าไปยังแคว้นปัญจาละ เพื่อชมพิธีสยุมพรของเจ้าหญิงเทฺราปที หรือกฤษณาผู้ธิดาของท้าวทรุปัท.

       เมื่อเดินทางถึงนครหลวงของแคว้นปัญจาละแล้ว คณะของปาณฑพก็ได้เข้าพักอาศัยอยู่ในบ้านของช่างปั้นหม้อคนหนึ่งในนครนั้น.

       พิธีสยุมพรเจ้าหญิงกฤษณาได้จัดขึ้นอย่างมโหฬารที่สุด มีมหรสพนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารซึ่งเรียกว่า ปรีติโภช แก่สมณะชีพราหมณ์และประชาชนที่ไปร่วมงานด้วยอย่างทั่วถึงและไม่จำกัด.

       ในพระทัยของท้าวทรุปัทนั้น พระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้เจ้าหญิงกฤษณาได้อรชุนเป็นคู่ครอง ทั้งนี้เพราะพระองค์ตระหนักถึงฝีมือในการยิงธนูของอรชุนมาแล้วเป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่านอกจากอรชุนผู้มีความแม่นยำในการยิงธนูแล้ว จะไม่มีใครอื่นได้ธิดาของพระองค์ไปเป็นคู่ครอง.


 
84
       ท้าวทรุปัทจึงได้รับสั่งให้สร้างธนูอันมหึมาที่แสนหนักขึ้นมาคันหนึ่ง สายของธนูนี้ตึงมาก ยากที่ใครจะขึ้นคันน้าวหน่วงได้ง่าย ๆ บนยอดเสาสูงมีรูปปลาจำลองแขวนอยู่ตัวหนึ่ง ณ พื้นดินใต้เสามีน้ำขังอยู่ในอ่างใหญ่ เงาของปลาจำลองซึ่งแขวนอยู่บนยอดเสานั้นจะสะท้อนลงมาให้เห็นบนผิวน้ำในอ่าง ใครก็ตามที่ปรารถนาจะได้เจ้าหญิงกฤษณาไปเป็นคู่ครองจะต้องก้มหน้ามองดูเงาของปลาในอ่าง แล้วใช้ธนูคันดังกล่าวยิงธนูขึ้นไปให้ถูกตัวปลา ที่กล่าวมานี้คือเงื่อนไขของพิธีสยุมพรของเจ้าหญิงกฤษณาผู้ทรงความงามระบือลือเลื่องไปทั่วทุกทิศานุทิศ.

       ครั้นถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ พิธีสยุมพรก็เริ่มขึ้นท่ามกลางเสียงประชาชนจำนวนล้นหลามที่มาชุมนุมกัน ณ สถานที่ที่ได้จัดการตกแต่งไว้อย่างสวยงาม โดยเฉพาะในกลุ่มชายวรรณะกษัตริย์แล้ว มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเป็นพิเศษ เพราะทุกคนต่างก็หมายมั่นปั้นมือที่จะได้เจ้าหญิงกฤษณามาเป็นคู่ครอง.

       พี่น้องปาณฑพได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีสยุมพรครั้งนี้ด้วย โดยได้ทูลขอร้องให้นางกุนตีผู้มารดาคอยท่าพวกตนอยู่ ณ บ้านของช่างปั้นหม้อ ปรากฎว่าในที่ประชุมประกอบพิธีสยุมพรนั้น ภราดาทั้งห้าได้เลือกที่นั่งปะปนอยู่กับชนวรรณะพราหมณ์ ทั้งนี้เพราะว่าตลอดเวลาที่ต้องหลบลี้หนีราชภัยจากกลุ่มเการพอยู่นั้น พี่น้องปาณฑพได้ปลอมแปลงตนเป็นคนในวรรณะพราหมณ์เที่ยวเร่ร่อนและยังชีพอยู่ได้ด้วยการภิกขาจารจากผู้อื่น.

       ขณะที่ทุกคนชะเง้อคอคอยดูการเริ่มต้นพิธีสยุมพรอยู่นั้น เจ้าชาย ธฤษฎะทฺยุมัน ผู้เป็นพี่ชายของเจ้าหญิงกฤษณาก็พาเจ้าหญิงกฤษณามาปรากฎองค์ ณ ท่ามกลางสโมสรสันนิบาต เจ้าหญิงกฤษณาทรงแต่งพระวรกายสวยสดงดงามเป็นพิเศษ ทันใดที่สายตาของฝูงชนในปะรำพิธีเหลือบไปเห็นเจ้าชายธฤษทฺยุมันและเจ้าหญิงกฤษณาเข้า ก็เกิดเสียงฮือฮาและเบียดเสียดเยือดยัดกันเป็นการใหญ่ ทั้งนี้เพื่อจะได้ยลโฉมของเจ้าหญิงแห่งแคว้นทรุปัทให้ถนัดชัดเจนยิ่งขึ้น.

       พอเสียงเซ็งแซ่ของประชาชนค่อยสงบลง ธฤษทฺยุมันก็ประกาศก้องขึ้นว่า.

       "ดูกรท่านทั้งหลาย สาวน้อยผู้ยืนเคียงข้างเราอยู่นี้คือเจ้าหญิงกฤษณา น้องสาวของเรา สมเด็จพระราชบิดาของเราทรงมีโองการให้เราประกาศแก่นักแม่นธนูทั้งหลายว่า ผู้ใดก็ตามที่มองดูเงาของปลาในอ่างน้ำแล้วสามารถยิงธนูขึ้นไปให้ถูกตัวปลาซึ่งแขวนอยู่บนยอดเสาเบื้องบนได้ เขาผู้นั้นจะได้เจ้าหญิงกฤษณาน้องสาวของเราไปเป็นคู่ครอง".


 
85
       สมควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในบรรดาฝูงชนที่ไปชุมนุมดูพิธีสยุมพรเลือกคู่เจ้าหญิงเทฺราปที หรือกฤษณา ธิดาแห่งท้าวทรุปัทอยู่นั้น มี พระกฤษณะ และพี่ชายคือ พลราม แห่งแคว้นทฺวารกา รวมอยู่ด้วย สองคนนี้เท่านั้นที่จำพี่น้องปาณฑพได้ แม้ว่าพี่น้องทั้งห้าจะปลอมแปลงร่าง แล้วนั่งปะปนอยู่กับกลุ่มชนในวรรณะพราหมณ์ก็ตาม.

       สิ้นเสียงประกาศของะฤษฎะทฺยุมัน ก็ปรากฎว่ามีชายหนุ่มในวรรณะกษัตริย์ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาใช้ความพยายามที่จะขึ้นธนูยิงไปให้ถูกตัวปลาตามกติกา แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำได้สำเร็จ มีหลายคนที่อย่าว่าแต่จะยิงให้ถูกตัวปลาบนยอดเสาเลย แม้แต่จะยกหรือขึ้นคันธนูก็ยังไม่มีแรงพอ ในบรรดาเจ้าชายหนุ่มที่ใช้ความพยายามแต่ไม่ประสบผลสำเร็จนี้มี ศิศุปาละ ชราสันธ์ และเจ้าชายศัลยะ รวมอยู่ด้วย.

       กรรณะก็อีกผู้หนึ่งที่เข้าใช้ความพยายาม เขาสามารถขึ้นสายธนูและยิงได้แต่ปรากฎว่าไม่ถูกตัวปลาซึ่งเป็นเป้าหมาย จึงต้องกลับไปนั่งยังที่ตามเดิมด้วยความผิดหวัง.

       ถึงตอนนี้ ที่ประชุมเงียบกริบไปครู่หนึ่ง เพราะไม่มีผู้ใดหาญที่จะเข้าแสดงฝีมือ.

       ครั้นแล้ว....อรชุนจึงลุกจากที่นั่ง ค่อย ๆ เดินตรงไปยังที่วางธนู เขาขึ้นสายธนูด้วยความง่ายดาย พลางนัยน์ตาก็เพ่งมองดูเงาปลาซึ่งทอดลงมาให้เห็นในอ่างน้ำเบื้องล่าง แล้วก็ปล่อยลูกธนูออกจากคัน เสียงหวือของลูกธนูแหวกอากาศได้ยินไปทั่วทุกทิศานุทิศ ยังให้ใบไม้และกิ่งไม้สั่นสะเทือนไปทั่วบริเวณ และในชั่วพริบตาเดียว ตัวปลาจำลองที่แขวนบนยอดเสาก็ตกลงมากลิ้งอยู่บนพื้นดิน โดยมีลูกธนูของอรชุนเสียบอยู่ที่ลำตัว.

       บัดดล เสียงปรบมือและเสียงไชโยโห่ร้องก็ดังกึงก้องขึ้นทั่งบริเวณพิธีมณฑล สายตาของบรรดาผู้ที่มาในสยุมพรต่างก็หันไปทางเจ้าหญิงเทฺราปที ผู้ซึ่งขณะนั้นกำลังสาวเท้าออกมาสวมพวงมาลัยให้แก่อรชุน อรชุนก้มศีรษะลงรับพวงมาลาพร้อมกันนั้นก็สบเนตรกับเทฺราปที ทั้งสองต่างมีใบหน้ายิ้มละไมด้วยความปลื้มปีติ.

พิธีสยุมพรของนางเทฺราปทีกับอรชุน, ที่มา: indianyug.com, วันที่เข้าถึง 2 กันยายน 2565.

86
       บรรดาหนุ่มในวรรณะกษัตริย์ซึ่งมาประชุมอยู่ ณ ที่นั่น ต่างก็แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นชายหนุ่มจากกลุ่มวรรณะพราหมณ์มีฝีมือเหนือหนุ่มในวรรณะกษัตริย์ สามารถยิงธนูถูกตัวปลาแล้วคว้าเอาเจ้าหญิงเทฺราปทีไปเป็นคู่ครองได้ โดยเฉพาะแล้วกรรณะนั้นมีความแค้นเคืองเป็นพิเศษ ถึงกับกล่าวชักชวนเพื่อนฝูงบรรดาที่ไปด้วยกับตน ให้เข้าแย่งชิงเจ้าหญิงเทฺราปทีซึ่งเป็นสตรีในวรรณะกษัตริย์กลับคืนมาเป็นคู่ครองของชายในวรรณะกษัตริย์ให้จงได้.

       ครั้นแล้วศึกชิงนางระหว่างชายหนุ่มในวรรณะพราหมณ์ฝ่ายหนึ่งกับชายหนุ่มในวรรณะกษัตริย์อีกฝ่ายหนึ่งก็มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น กรรณะกับศัลยะผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายหนุ่มในวรรณะกษัตริย์เดินตรงเข้าไปยังเจ้าหญิงเทฺราปทีซึ่งยืนเคียงข้างอยู่กับอรชุน แล้วแสดงทีท่าว่าจะใช้กำลังกับเธอ อรชุนกับภีมะซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้วจึงตรงเข้าขัดขวาง พลันการสู้รบก็เกิดขึ้นระหว่างนักรบสองคู่ คืออรชุนกับกรรณะ และภีมะกับศัลยะ.

       อรชุนกับกรรณะนั้นได้ชื่อว่ามีฝีมือทางธนูทั้งคู่ จึงสู้กับด้วยธนู ส่วนภีมะและศัลยะสู้กันด้วยมวยปล้ำ เพราะทั้งสองมีรูปร่างใหญ่โตและมีชื่อเสียงในการสู้รบแบบนี้.

       คู่ต่อสู้ทั้งสองคู้สู้กันอยู่เป็นเวลานานในท่ามกลางสายตาของฝูงชนอันล้นหลาม ในที่สุด กรรณะกับศัลยะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ซึ่งทั้งอรชุนและภีมะก็ได้แสดงจิตใจอันสูงส่งออกมาให้เป็นที่ปรากฎ กล่าวคือ แทนที่จะเข่นฆ่ากรรณะและศัลยะเสียให้สิ้นชีพ อรชุนกับภีมะกลับปล่อยให้ทั้งสองคนเป็นอิสระ มีชีวิตรอดไปได้.

       เมื่อได้เห็นฝีมือรบอันฉกาจฉกรรจ์ของอรชุนและภีมะเช่นนั้น ฝูงชนต่างก็แสดงความฉงนสนเท่ห์ว่า เหตุไฉนสองชายหนุ่มในวรรณะพราหมณ์จึงมีฝีมือรบเหนือกว่าหนุ่มในวรรณะกษัตริย์ และต่างก็แสดงความคิดเห็นกันไปต่าง ๆ นานา ทันใดนั้น พระกฤษณะแห่งแคว้นทฺวารกา01. ก็ปรากฎพระองค์ขึ้นต่อหน้าฝูงชน แล้วทรงเตือนว่า ทุกอย่างได้ผ่านไปแล้วโดยเรียบร้อย เพราะบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ชายหนุ่มผู้ได้เจ้าหญิงเทฺราปทีไปเป็นคู้ครองนั้น มีฝีมือในการรบเป็นเยี่ยม และได้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งพิธีสยุมพรแล้วทุกประการ.
---------------

01. องค์เดียวกับที่ปรากฎในคัมภีร์ภควัทคีตาอันลือชื่อของฮินดู.

 
87
       เมื่อได้ฟังคำพูดอันเปี่ยมไปด้วยเหตุผลของพระกฤษณะเช่นนั้น ทุกคนก็พอใจและต่างก็กลับคืนสู่นิวาสสถานของตน.

       ฝ่ายนางกุนตีซึ่งคอยท่าลูกชายอยู่ ณ บ้านของช่างปั้นหม้อ  พอตกเย็นยังไม่เห็นลูก ๆ กลับมา ก็ให้เกิดความเป็นห่วงกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่มานพเหล่านั้น เช่นอาจจะถูกคนของธฤตราษฎร์ลอบทำร้าย หรืออาจจะถูกรากษส รากษสีลอบหนีลักพาตัวไปก็เป็นได้.

       ระหว่างที่นางกุนตีรอคอยด้วยความกังวลอยู่นั้น พี่น้องปาณฑพก็มาถึงประตูบ้านพอดี อรชุนพลันส่งเสียงเรียกว่า.

       "แม่จ๋า! แม่! พวกลูกกลับมาแล้ว วันนี้ไปภิกขาจารได้ของดีมีค่ามาฝากแม่ด้วยจ๊ะ!"

       นางกุนตีซึ่งขณะนั้นอยู่ในห้อง ไม่สามารถมองเห็นลูก ๆ ได้ แต่ด้วยความดีใจจึงตะโกนตอบไปก่อนว่า

       "อ้อ! ลูกรักจ๋า! มาแล้วก็ดีแล้ว แม่กำลังเป็นห่วงอยู่ เจ้าไปได้ของดีอะไรมาหรือ อย่าลืมนะว่า เจ้าจะต้องแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ให้สมกับเป้นพี่น้องกัน".

       พูดขาดคำ นางกุนตีก็กระวีกระวาดออกจากห้องมารับลูก ๆ ที่หน้าประตูบ้าน ทันใดนั้นเอง นางก็ถึงกับตะลึง! เพราะภาพที่ได้เห็นนั้นไม่ใช่ลูก ๆ เพียง 5 คนของนางเท่านั้น หากแต่ยังมีหญิงสาวร่างสะคราญยืนรวมอยู่ด้วยนางหนึ่ง!
       นางกุนตีทราบได้ในทันทีว่าหญิงงามนั้นต้องเป็นเจ้าหญิงเทฺราปที ราชธิดาของท้าวทรุปัท ซึ่งลูกชายทั้ง 5 ของนางขอนุญาตไปร่วมพิธีสยุมพรด้วยในตอนเช้าวันนั้นนั่นเอง.

       ครั้นแล้วทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายแม่กับฝ่ายลูกก็นิ่งเงียบไปด้วยกันครู่หนึ่ง เพราะคำพูดของมารดานั้นถือเป็นประกาศิต ซึ่งพี่น้องปาณฑพไม่เคยละเลยหรือไม่ปฏิบัติตาม แต่การที่จะให้หญิงคนเดียวเป็นสมบัติร่วมแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ในระหว่างชาย 5 คนพร้อมกันนั้น01. ก็ไม่ใช่เป็นประเพณี หรือเป็นสิ่งที่กระทำกันโดยทั่วไป และด้วยเหตุนี้ ทั้งแม่และลูกจึงงงงันนิ่งอึ้งพร้อมกันไปครู่หนึ่ง

ภาพซ้าย: แม่น้ำสรัสวตี และแม่น้ำทริษัทวตี ในยุคพระเวท ภาพขวา: ภาพปัจจุบัน แม่น้ำสรัสวตีที่เป็นแอ่งแห้งผาก แนวแม่น้ำต่าง ๆ บ้างก็หายและเปลี่ยนแปลงไป, ที่มา: medium.com, วันที่เข้าถึง 2 กันยายน 2565.
---------------
หมายเหตุ ขยายความ

01. ประเด็นเรื่องระบบการมีสามีหลายคนในคราวเดียวกัน (polyandry) แพร่หลายอยู่ในกลุ่มปาณฑวะ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถนำผู้หญิงมาพร้อมพวกเขาได้ {พวกอารยันเดินผ่านจากคอเคซัสผ่านช่องแคบที่ยากลำบากมายังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเรียกว่าพรหมาวรรต (Brahmavarta) นั้น อยู่ระหว่างแม่น้ำสรัสวตี (Saraswati) กับแม่น้ำทริษัทวตี (Driṣadwati)} เพราะการเดินทางผ่านช่องแคบเข้าอินเดียเต็มไปด้วยความยากลำบาก, ที่มา: ประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ, โดย ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ, สรุปอ้างถึงผลงานของ C.V. Vaidya, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2555, หน้าที่ 17.


88
       นับตั้งแต่สิ้นบุญท้าวปาณฑุผู้ราชบิดาและต้องนิราศร้างห่างบ้านเมืองมา นางกุนตีพยายามอยู่เสมอที่จะให้ลูก ๆ รักใคร่ปรองดองกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของกุมารเหล่านั้นเอง.

       ในที่สุด ยุธิษฐิระผู้เชษฐาภราดาในกลุ่มปาณฑพทั้ง 5 ก็กล่าวขึ้นว่า.

       "แม่จ๋า! คำพูดของแม่คือคำสั่งสำหรับพวกเรา น้องหญิงเทฺราปทีจะเป็นของพวกเราเท่า ๆ กันจ้ะ".

       นางกุนตีเองก็ไม่ทราบว่าจะแก้ไขประการใดดี เพราะได้ลั่นวาจาออกไปเสียแล้ว และด้วยประการฉะนี้ เจ้าหญิงเทฺราปทีหรือกฤษณาจึงตกเป็นชายาของภราดาปาณฑพทั้ง 5 ในคราวเดียวกัน.

       ระหว่างที่นางกุนตีและพี่น้องปาณฑพยังพำนักอยู่ ณ บ้านของช่างปั้นหม้อนั้น พระกฤษณะและเจ้าชายพลรามผู้เชษฐาได้เสด็จไปเยี่ยม พอพบพักตร์พระกฤษณะ ยุธิษฐิระก็กล่าวขึ้นว่า.

       "พวกเราอุตส่าห์ปลอมตัวมาหลบซ่อนอยู่ถึงที่นี่แล้ว เจ้าพี่ทราบได้อย่างไร จึงมาเยี่ยมพวกเราได้ถูก".

       "อันธรรมชาติของไฟนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ย่อมจะปรากฎประกายออกมาให้เห็นได้เสมอ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เราทั้งสองได้เฝ้าดูพฤติการณ์ของท่านในระหว่างพิธีสยุมพรอยู่ตลอดเวลา ฝีมือแม่นธนูเช่นที่ปรากฎในพิธีนั้น นอกจากท่านแล้วไม่มีใครในโลกนี้จะทำได้ เราพี่น้องขอแสดงความยินดีในความสำเร็จของท่าน และดีใจเป็นอย่างมากที่พวกท่านรอดพ้นมาได้จากการกลุ้มรุมทำร้ายของกรรณะกับพวก" พระกฤษณะเอ่ยขึ้น.

       ต่อจากนั้น พระกฤษณะและพลรามก็อำลากลับ.

       จะขอกลับมากล่าวถึงท่าวทรุปัทบ้าง นับแต่เสร็จพิธีสยุมพรและต้องยกธิดาสาวให้แก่อรชุนตามกติกาแล้ว ท้าวเธอก็ให้รู้สึกเป็นห่วงในชะตากรรมของธิดาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะไม่ทราบว่าชายหนุ่มที่ได้นางเทฺราปทีไปนั้น เป็นใคร มีฐานะอย่างไร และอยู่แห่งหนตำบลใด ดังนั้น พอกลุ่มพี่น้องปาณฑพเคลื่อนคล้อยจากสถานที่ไปแล้ว ท้าวเธอจึงมีคำสั่งให้ธฤษฏะทฺยุมัน ผู้บุตรและเป็นภราดาของเทฺราปทีพร้อมด้วยทหารคู่ใจรีบรุดตามไปสังเกตพฤติกรรมของพี่น้องปาณฑพ ธฤษฏะทฺยุมันก็ได้ไปถึงนิวาสสถานของช่างปั้นหม้ออันเป็นที่พำนักของภราดาปาณฑพ และได้เฝ้าดูความเคลื่อนไหวตลอดจนสดับตรับฟังเรื่องราวของพี่น้องปาณฑพ พร้อมด้วยมารดาและพราหมณ์เธามฺยะผู้เป็นปุโรหิตอย่างใกล้ชิดทุกประการ.


 
89
       เมื่อได้ทราบว่าผู้ที่ได้ขนิษฐาเทฺราปทีไปเป็นคู่ครองนั้น หาใช่ใครอื่นไม่ หากเป็นหนุ่มในวรรณะกษัตริย์ และมีทีท่าว่าจะเป็นพี่น้องปาณฑพซึ่งกำลังหลบลี้ราชภัยจากราชตระกูลเการพอีกด้วย ธฤษฏะทฺยุมันก็บังเกิดความดีใจเป็นล้นพ้น รีบกลับมารายงานให้ท้าวทรุปัทผู้บิดาทราบ เพื่อให้เป็นที่แน่นอนยิ่งขึ้น ท้าวทรุปัทจึงรับสั่งให้ปุโรหิตประจำราชสำนักไปสืบสวนเรื่องนี้ด้วยตนเองอีกคำรบหนึ่ง และเมื่อได้รับการยืนยันจากปุโรหิตว่าเป็นกลุ่มพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 และนางกุนตีผู้มารดาแน่ ท้าวทรุปัทจึงส่งทหารพร้อมด้วยกองเกียรติยศไปเชิญบุคคลเหล่านั้นให้มาพำนักอยู่ในพระราชวังของพระองค์ ณ นครปัญจาละ.

       เมื่อมาอยู่พร้อมหน้ากันแล้ว ยุธิษฐิระจึงเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ท้าวทรุปัทฟังตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากท้าวทรุปัทเป็นอย่างยิ่ง.

       "พวกท่านจะต้องได้รับราชสมบัติคืนอย่างแน่นอน เพราะธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม" ท้าวทรุปัทกล่าวขึ้นหลังจากได้ฟังเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นแก่พี่น้องปาณฑพโดยละเอียดแล้ว.

       ต่อจากนั้น ก็ได้มีการเตรียมอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงเทฺราปทีกับพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 ได้มีการโต้เถียงกันมากเพราะไม่เคยมีประเพณีที่จะให้หญิงคนเดียวแต่งงานกับชายถึง 5 คนในเวลาเดียวกัน ระหว่างที่ข้าราชบริพารและนักปราชญ์ราชบัณฑิตกำลังชี้แจงแสดงเหตุผลอยู่นั้น ฤๅษีวฺยาสก็ปรากฎกายขึ้น และเมื่อได้ทราบถึงปัญหาที่กำลังถกเถียงกันอยู่ ท่านจึงอธิบายถึงสาเหตุเบื้องหลังให้ฟังว่า

       "พวกท่านจะมัวเสียเวลาโต้เถียงกันไปทำไม เกี่ยวกับการมีคู่ครองของเทฺราปทีนี้นั้น พระศิวะเทพเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เธอจะต้องแต่งงานกับชาย 5 คนพร้อมกัน เพราะในชาติก่อนที่จะมาเกิดเป็นธิดาของท้าวทรุปัทนี้ เทฺราปทีได้เกิดเป็นลูกสาวของฤๅษีรูปหนึ่ง เธอมีความงามและมีคุณสมบัติของกุลสตรีทุกประการ เธอปรารถนาที่จะได้ชายที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเป็นสามี จึงเฝ้าบำเพ็ญภาวนา เพื่อให้พระศิวะผู้เป็นอิษฎเทพพอพระทัยจะได้ประทานพรให้สมมโนรถ พระศิวะเทพเจ้าทรงพอพระทัยในความพากเพียรของเทฺราปที จึงปรากฎพระวรกายให้นางได้เห็น อารามดีใจ นางเทฺราปทีได้ทูลพระศิวะเทพเจ้าอย่างละล่ำละลักถึง 5 ครั้งว่า



90
       "ขอเดชะพระเป็นเจ้า! ได้โปรดประทานสามีที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า".

       พระศิวะตรัสตอบว่า.

       "พรอย่างเดียวกันเจ้าขอเราถึง 5 ครั้ง เพราะฉะนั้น เจ้าจะได้สามีที่ดี 5 คน เป็นคู่ครองพร้อมกัน".

       ตรัสแล้ว พระศิวะก็อันตรธานไป ในชาตินี้ลูกสาวของฤๅษีได้มาเกิดเป็นเทฺราปที ธิดาของท้าวทรุปัท และจะต้องอภิเษกสมรสกับพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 ตามพรของพระศิวะเทพเจ้า ขอท่านทั้งหลายจงอย่าได้มีความเคลือบแคลงใจในเรื่องนี้แต่ประการใดเลย".

       ทุกคนพอใจในคำอธิบายของวฺยาส.

       ครั้นแล้วพิธีอภิเษกสมรสระหว่างภราดาปาณฑพกับเจ้าหญิงเทฺราปทีก็ได้มีขึ้นอย่างมโหฬารยิ่ง ประชาชนทั่วแคว้นแดนปัญจาละได้มาร่วมในพิธีนี้อย่างคับคั่ง ท้าวทรุปัทได้ถวายจตุปัจจัยไทยทานแก่สมณะชีพราหมณ์อย่างทั่วถึง และต่อแต่นั้นมาภราดาปาณฑพพร้อมด้วยนางกุนตี และปุโรหิตเธามฺยะก็พำนักอยู่ในแคว้นปัญจาละด้วยความผาสุกตราบจนกระทั่ง....

       ฝ่ายพี่น้องเการพซึ่งมีทุรโยธน์เป็นหัวหน้านั้น แรกเริ่มเดิมทีเมื่อได้ยินว่าไฟไหม้ตำหนักซึ่งกลุ่มพี่น้องปาณฑพกับมารดาพำนักอยู่ ณ เมืองวารณาวัตก็ให้รู้สึกดีใจเป็นกำลัง เพราะเข้าใจว่าแผนการของตนที่ได้มอบให้อำมาตย์ปุโรจนะไปปฏิบัตินั้นคงจะได้สำเร็จสมปรารถนา ครั้นต่อมาเมื่อได้รับรายงานว่ากลุ่มปาณฑพหาได้สิ้นชีวิตในกองไฟไม่ หากแต่ได้เล็ดลอดหนีเข้าป่าไป จนในที่สุดก็ได้เข้าร่วมในพิธีสยุมพรและได้นางเทฺราปทีเป็นคู่ครองไปเรียบร้อยแล้ว ทุรโยธน์รวมทั้งน้องอีก 99 องค์ก็ให้เป็นเดือดเป็นแค้นเป็นอย่างยิ่ง.

       ด้วยความกลัดกลุ้มในหัวใจ จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ทุรโยธน์กับกรรณะจึงได้เข้าเฝ้าท้าวธฤตราษฎร์ แล้วทูลว่า "หากเราปล่อยให้พี่น้องปาณฑพอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไป สักวันหนึ่งพวกมันคงจะต้องทำลายล้างพวกเราเป็นแน่แท้ โดยเฉพาะท้าวทรุปัทผู้เป็นสัสสุระ01. ของพี่น้องปาณฑพนั้น ก็เป็นผู้ที่มีพรรคพวกเพื่อนฝูงและมีกำลังอยู่ไม่น้อยทีเดียว".
---------------

01. สัสสุระ = พ่อตา.

พระกฤษณะและพระพลราม, ที่มา: twitter.com, วันที่เข้าถึง 3 กันยายน 2565.
 
91
       ท้าวธฤตราษฎร์จึงนำเรื่องนี้เข้าปรึกษาพระญาติและอาจารย์ผู้ใหญ่คือภีษมะ วิทูร และโทฺรณาจารย์ ทั้งสามคนเห็นว่า ควรจะแบ่งดินแดนให้พี่น้องปาณฑพไปครึ่งหนึ่ง และไม่ควรจะก่อกรรมทำเวรกันอีกต่อไป เพราะเท่าที่เป็นมาแล้วก็นับว่าฉกาจฉกรรจ์พอดูอยู่แล้ว ท้าวธฤตราษฎร์เห็นด้วย จึงขอให้วิทูรเป็นผู้แทนไปเชิญภราดาปาณฑพพร้อมทั้งพระมารดากลับคืนมาประทับเสีย ณ นครหัสตินาปุระตามเดิม.

       มหามติวิทูรจึงเดินทางไปนครปัญจาละ และได้เข้าเฝ้าท้าวทรุปัทและพี่น้องปาณฑพพร้อมทั้งนางกุนตี โดยเหตุที่วิทูรเป็นทั้งญาติและอำมาตย์ผู้ใหญ่ผู้เคยมีอุปการคุณมาแต่ต้น พี่น้องปาณฑพจึงยอมกลับนครหัสตินาปุระโดยดี ในการเดินทางกลับไปหัสตินาปุระครั้งนี้ ได้มีพระกฤษณะและพลรามร่วมเป็นสักขีพยานด้วย.

       เมื่อได้เห็นหลาน ๆ กลับมาพร้อมหน้ากันแล้ว ท้าวธฤตราษฎร์จึงทรงปรารภขึ้นว่า.

       "หลานรักของลุง อะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็ขอให้มันผ่านพ้นไปเถิดนะ อย่าได้ไปคิดถึงมันอีกเลย เพราะอย่างไรเสียเราก็เป็นสายเลือดเดียวกัน ตั้งแต่นี้ต่อไปลุงขอยกอาณาจักรให้พวกหลานครึ่งหนึ่ง คือขอยกเขต ขาณฑวปรัสถ์ ให้หลานปกครอง หลานจะจัดการอย่างไรกับดินแดนแห่งนี้ ก็ขอให้เป็นเรื่องของพวกหลานเถิด".

       ยุธิษฐิระก้มลงกราบท้าวธฤตราษฎร์ด้วยความปลื้มปีติ ต่อจากนั้นพี่น้องปาณฑพและมารดาก็ย้ายนิวาสสถานไปอยู่ ณ เขตขาณฑวปรัสถ์และเริ่มบูรณะเขตรกร้างและทุรกันดารแห่งนั้นจนกลายเป็นนครที่เจริญและอุดมสมบุรณ์ไม่แพ้นครหัสตินาปุระของพี่น้องเการพ เมื่อได้สร้างความเจริยทันตาเห็นขึ้นเช่นนั้นแล้ว กลุ่มปาณฑพจึงขนานนามนครขาณฑวปรัสถ์เสียใหม่ โดยให้ชื่อว่า อินทรปรัสถ์01. ต่อแต่นั้นมาพี่น้องทั้งห้าพร้อมด้วยพระมารดาก็ได้ดำเนินชีวิตอยู่ในนครนั้นด้วยความผาสุกสืบมา.
---------------

01. ตามศัพท์ "อินทรปรัสถ์" แปลว่า ที่ราบสูงหรือนครแห่งพระอินทร์ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของนครหลวงเดลลีของอินเดีย ส่วนหัสตินาปุระนั้นว่ากันว่าอยู่ห่างจากนครเดลลีไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 57 ไมล์.


92
       ฝ่ายพระกฤษณะและพลรามผู้พี่ชาย เมื่อได้เห็นพี่น้องปาณฑพมีบ้านเมืองอยู่ด้วยความสุขสงบแล้ว ก็กลับคืนสู่นครทฺวารกา อันเป็นนิวาสสถานของตน.


แผนที่แสดงอาณาจักรต่าง ๆ ในภารตะ ยุคมหาภารตะ, ที่มา: discover.hubpages.com, วันที่เข้าถึง 3 กันยายน 2565.
 
       แม้จะมีชายาองค์เดียวกัน แต่ภราดาปาณฑพทั้งห้าก็อยู่ครอบครองด้วยความสุขเสน่หาต่อกันเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหกไม่มีความหึงหวงกันเลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้เพราะความเป็นกุลสตรีของนางเทฺราปทีนั่นเองเป้นปัจจัยสำคัญ อนึ่ง นางกุนตีผู้มารดาก็เป็นหลักสำคัญที่คอยประคับประคองอยู่เบื้องหลังด้วย.

       สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส รัตนกวีองค์หนึ่งแห่งบรรณพิภพไทยได้ทรงนิพนธ์ชีวิตตอนนี้ของนางเทฺราปทีหรือกฤษณาไว้ดังต่อไปนี้.

                     "อัครเรศเกศแก้วกฤษณา              ยิ่งยศปรีชา              เฉลียวเฉลิมโลกีย์
                     ประติบัติกษัตราสวามี              ห้าองค์นฤบดี              เสน่ห์สนิทนิจกาล
                     ห่อนเคียดขึ้งคำรำคาญ              เขษมสุขสำราญ              ภิรมย์ฤดีปรีดา
                     ผลัดเปลี่ยนเวียนเวรราชา              ถนอมแนบนิทรา              ละวันบรรโลมโฉมสมร       ฯลฯ       ฯลฯ
"
(จาก หนังสือกฤษณาสอนน้องคำฉันท์)
 
       แต่พี่น้องทั้งห้ามีข้อตกลงกันอยู่อย่างหนึ่งว่า หากพี่น้องคนใดคนหนึ่งกำลังอยู่กับนางเทฺราปทีสองต่อสองแล้ว พี่น้องคนอื่นจะเข้าไปในที่นั้นไม่ได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อตกลงนี้ จะต้องเนรเทศตนเองไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้พี่น้องทั้งห้าก็ยอมรับว่าจะปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด.

 
93
       อยู่มาวันหนึ่ง มีพราหมณ์เฒ่าชาวเมืองคนหนึ่งกระหืดกระหอบมาครวญคร่ำร่ำไห้อยู่ที่หน้าประตูวังว่า ตนมีแม่โคใช้รีดนมให้ลูกกินที่บ้านอยู่ตัวหนึ่ง บัดนี้แม่โคนั้นได้ถูกคนร้ายใจอำมหิตชโมยไปเสียแล้ว ตนไม่มีเงินพอที่จะซื้อน้ำนมมาเลี้ยงลูกได้ จึงขอให้ปาณฑพผู้เป็นเจ้าบ้านผ่านเมือง ได้เมตตาช่วยจับตัวคนร้ายและนำแม่โคนมตัวนั้น กลับคืนมาให้ตนและลูกน้อยด้วยเถิด.

       อรชุนเป็นคนแรกที่ได้ทราบเรื่องนี้ ด้วยความสำนึกในหน้าที่และด้วยคารวจิตที่มีต่อพราหมณ์ผู้เป็นปูชนียชน อรชุนจึงรีบรุดเข้าไปหยิบอาวุธในห้องซึ่งบังเอิญขณะนั้นยุธิษฐิระกับนางเทฺราปทีกำลังอยู่ด้วยกันเพียงสองต่อสอง.

       เมื่อคว้าอาวุธได้แล้ว อรชุนก็รีบตามไปจับตัวคนร้ายและสามารถนำแม่โคนมกลับคืนมาให้พราหมณ์ผู้เฒ่าได้ ทั้งนี้ยังความปีติให้แก่พราหมณ์และครอบครัว ตลอดจนเพื่อนบ้านเป็นอย่างยิ่ง.

       อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ได้ละเมิดข้อตกลงซึ่งได้กระทำกันไว้ในระหว่างพี่น้อง อรชุนจึงสำนึกถึงความผิดของตน และได้เข้าไปร่ำลายุธิษฐิระผู้พี่ชาย เพื่อขอเนรเทศตนเองไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปีตามข้อตกลง.

       "อรชุนน้องรักของพี่ เจ้ามิได้ละเมิดข้อตกลงที่เราได้กระทำกันไว้แต่ประการใดดอก การที่เจ้าต้องผลุนผลันเข้าไปในห้องของพี่ ก็เพราะเจ้าต้องรีบไปหยิบอาวุธเพื่อตามจับตัวคนร้าย ซึ่งนับว่าเป็นหน้าที่ของเราที่พึงมีต่อไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ โดยเฉพาะต่อสมณะชีพราหมณ์ผู้เป็นปูชนียชน พี่มิได้ติดใจคิดว่าน้องเป็นผู้กระทำผิด เพราะเหตุฉะนั้น ขอน้องจงอย่าได้ทิ้งพวกเราไปเลย ทั้งนี้เพื่อสวัสดิภาพของตัวน้องเองและของพวกเราผู้อยู่เบื้องหลังด้วย" ยุธิษฐิระพยายามปลอบใจที่จะให้อรชุนเลิกล้มความคิดที่จะเนรเทศตนเองไปอยู่ป่า.

       แต่....ไม่ว่ามารดาและพี่น้องทั้งสี่จะชักแม่น้ำทั้งห้ามาชี้แจงและปลอบใจสักเท่าใด ก็มิสามารถเปลี่ยนใจอรชุนได้ ในที่สุดอรชุนก็เนรเทศตนเองไปอยู่ในป่า.

       ระหว่างที่ท่องเที่ยวฆ่าเวลาอยู่ในป่าถึง 12 ปีนั้น อรชุนได้ผ่านพบประสบการณ์หลายอย่างหลายประการ เช่น ได้ไปถึงนครของพวก นาค และได้นาง อุลูปี ธิดาของราชาของพวกนาคเป็นชายา อีกตอนหนึ่งได้ท่องเที่ยวไปถึงนคร มณีปุระ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และได้แต่งงานกับเจ้าหญิง จิตรา หรือ จิตรางคทา ธิดาของท้าว จิตรวาหนะ มีโอรสด้วยกันคือ พภรูวาหนะ01.
---------------

01. โปรดอ่านเรื่อง "จิตรา" ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของรพินทรนาถ ฐากูร ชื่อ "เหมือนหนึ่งนกที่จากรัง" แปลโดย เรืองอุไร กุศลาสัย.
 

อภิมันยุ ในวันที่ 13 ของสงครามมหาภารตะ, ที่มา: www.blockdit.com, วันที่เข้าถึง 04 กันยายน 2565.


94
       ต่อจากนั้นก็ได้ผจญภัยไปจนถึงนครทฺวารกา หรือทวารวดี ซึ่งเป็นนครของพระกฤษณะแห่งพวกยาทพ และได้แต่งงานกับเจ้าหญิง สุภัทรา กนิษฐภคินีของพระกฤษณะ ต่อมาได้มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อ อภิมันยุ ซึ่งเป็นนักรบที่สำคัญคนหนึ่งในสงครามมหาภารตะ.

       ครั้นครบ 12 ปีแล้ว อรชุนก็เดินทางกับนครขาณฑวปรัสถ์ หรืออินทรปรัสถ์ พร้อมด้วยพระกฤษณะและเจ้าหญิงสุภัทรา และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ในท่ามกลางพี่น้องและพระมารดา เฉพาะพระกฤษณะนั้น โดยเหตุที่กนิษฐาอยู่ในนครอินทรปรัสถ์ จึงประทับอยู่ในนครทฺวารกาบ้าง นครอินทรปรัสถ์บ้าง ตามแต่อัธยาศัย ทั้งนี้โดยได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของพี่น้องปาณฑพด้วย.

       พี่น้องปาณฑพทั้ง 5 นั้นแต่ละองค์ก็มีบุตรองค์หนึ่งกับนางเทฺราปทีดังต่อไปนี้
  • ยุธิษฐิระ มีบุตรชื่อ ประติวินธัย
  • ภีมะ มีบุตรชื่อ ศรุตโสม
  • อรชุน มีบุตรชื่อ ศรุตกรรม
  • นกุล มีบุตรชื่อ ศตานีกะ และ
  • สหเทพ มีบุตรชื่อ ศรุตเสน.
       ในนครอินทรปรัสถ์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นป่าชัฏมีสิงสาราสัตว์และเหล่าทานพ01. อาศัยอยู่ ประชาชนพลเมืองได้รับภัยพิบัติจากสัตว์และรากษสร้ายเหล่านั้นอยู่เนือง ๆ อยู่มาวันหนึ่ง พี่น้องปาณฑพจึงปรึกษากับพระกฤษณะว่า จะทำลายล้างป่านั้นโดยใช้ไฟเผาแล้วสร้างให้เป็นเมืองขึ้นมาจะดีหรือไม่ พระกฤษณะเห็นด้วย พี่น้องปาณฑพจึงจัดการให้คนลงมือเผาป่านั้นทั้งหมด.

       พระกฤษณะกับอรชุนเป็นนายงานจัดการเผาป่าอยู่เป็นเวลา 21 วันจึงเสร็จเรียบร้อย ในบรรดาสิ่งที่รอดมาได้จากไฟล้างป่าขาณฑวปรัสถ์ครั้งนั้น
---------------

01. ทานพ = อมนุษย์จำพวกหนึ่ง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) อาจเป็นอนารยชนหรือคนป่าในสมัยนั้นก็ได้.

 
95
มีอยู่ด้วยกันเพียง 6 ชีวิต คือ
  • อัศวเสน พญางูเหลือม 1
  • มัยทานพ ผู้มีฝีมือในการก่อสร้าง 1 และ
  • นกกระเรียน (สันสกฤต = สารงฺค) อีก 4 ตัว
 
จบบรรพที่ 1: อาทิบรรพ

 
แหล่งอ้างอิง:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.




 
humanexcellence.thailand@gmail.com