ศัลยบรรพ, ที่มา: mnrwebsite.blogdpot.com, วันที่เข้าถึง 26 กรกฎาคม 2565.
09. ศัลยบรรพ01,01,02,03,04.
First revision: Jul.26, 2022
Last change: Nov.14, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
"ตริวิธํ นีกเสฺยทมฺ, ทวารํ นาศนมาตฺมนะ
กามะ โกฺรธสฺตถา โลภสิ-, ตสฺมาเทตตฺตฺรยํ ตฺยเชตฺ"
ประตูนรกนี้มีสามอย่าง ซึ่งเป็นเครื่องฉิบหายของตนคือ
กาม โกรธ และโลภ ฉะนั้น ควรสละสามประตูนี้เสีย
"เอไตรฺวิมุกฺตะ เกานฺเตย, ตโมทฺวาไรสฺตฺริภิรินระ,
อาจรตฺยาตฺมนะ เศฺรยสฺ-, ตโต ยาติ ปรำ คติมฺ"
เกานฺเตยะ! นระผู้พ้นจากประตูสามอย่างแห่งตมะนี้แล้ว
ตั้งใจประพฤติความดีงามเพื่อตน แต่นั้นจะได้รับบรมคติ (นิพพาน)
จากหนังสือ "ศรีมัทภควัทคีตา" แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท.แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ
มรณกรรมของกรรณะ ทำให้กองทัพของฝ่ายเการพหมดกำลังใจลงเป็นอันมาก ทุรโยธน์เองก็เกิดความหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์กฤปะหรือกฤปาจารย์นั้นถึงกับพูดขึ้นกับทุรโยธน์ว่า.
"มหาบพิตร! อาจารย์มีความรู้สึกว่า สงครามครั้งนี้ได้บั่นทอนชีวิตและทรัพย์สมบัติของพวกเราชาวภารตะไปอย่างสุดที่จะคณนา และถึงแม้จะรบต่อไปอาจารย์ก็คิดว่า เราคงจะเอาชนะฝ่ายปาณฑพได้ยาก เพราะฉะนั้น อาจารย์จึงมีความเห็นว่า เราน่าจะยุติการรบและหันหน้าเข้าเจรจาสันติภาพกับภราดาปาณฑพจะดีกว่า".
ทุรโยธน์มองหน้าอาจารย์อย่างไม่สู้จะพอพระทัย แล้วตรัสว่า.
"ในเมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านมาถึงขั้นนี้แล้ว จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะให้เรายุติการรบกับฝ่ายปาณฑพ ญาติพี่น้องและเพื่อนสนิทมิตรสหายของฝ่ายเราต่างก็ได้เสียชีวิตกับไปเป็นจำนวนมากมาย ลักษมัณลูกชายของข้าพเจ้าก็ถูกอภิมันยุสังหารสิ้นชีวิตไปแล้ว เป็นเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะเอาหน้าไปซ่อนไว้ที่ไหน และจะกลับไปทูลพระชนกชนนีได้อย่างไร มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือจะต้องรบกับพวกปาณฑพต่อไป!".
---------------
01. หลังจากที่กรรณะต้องสิ้นชีวิตลงด้วยฝีมือธนูของอรชุน ราชาศัลยะแห่งแคว้นมัทระ (Madra) ก็ได้รับเลือกให้เป็นแม่ทัพของฝ่ายเการพ บรรพนี้ว่าด้วยการรบของศัลยะ จึงมีชื่อว่า ศัลยบรรพ.
200
บรรดาผู้ที่เห็นด้วยกับทุรโยธน์ต่างก็ปรบมือโห่ร้องและประกาศก้องว่าจะสู้รบต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่.
ครั้นแล้วฝ่ายเการพโดยมีทุรโยธน์เป็นผู้นำ ก็แต่งตั้งให้ ราชาศัลยะ แห่งมัทรเทศ เป็นแม่ทัพของฝ่ายตน ทำการสู้รบกับฝ่ายปาณฑพต่อไป.
วันนี้เป็นวันที่ 17 แห่งมหาภารตยุทธ หรือสงครามมหาภารตะ.
ทั้งสองฝ่ายต่างเคลื่อนกำลังเข้าสู่สมรภูมิ ณ ทุ่งราบกุรุเกษตรแต่เช้าตรู่ ฝ่ายปาณฑพมียุธิษฐิระ ผู้พี่ใหญ่เป็นผู้นำทัพ ฝ่ายเการพก็มีศัลยะเป็นผู้นำหน้ากระบวนรบ ยุธิษฐิระนั้นได้รับสมญาว่า ธรรมบุตร และในยามปกติมักจะสงบเสงี่ยมเต็มไปด้วยความสุภาพอ่อนโยน แต่ในทิวาวันนั้นปรากฎว่า ยุธิษฐิระมีความกะปรี้กะเปร่าและคล่องแคล่วเป็นพิเศษ นับรบทั้งสองตกลงกันว่าจะขี่ม้าและใช้หอกเข้าสู้รบกันตัวต่อตัว.
คงจะจำกันได้ว่า ศัลยะเป็นอนุชาของมาทรีผู้ชนนีของนกุลและสหเทพ ด้วยเหตุนี้ ศัลยะจึงเป็นมาตุลาหรือน้าชายของภราดาปาณฑพ.
ยุธิษฐิระกับศัลยะต่อสู้กันอย่างดุเดือดเป็นเวลานานในท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของกองทหารทั้งสองฝ่าย แต่แล้วในที่สุด ศัลยะก็เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกหอกของยุธิษฐิระเสียบเข้าที่กลางหลังพอดี ฤๅษีวฺยาส พรรณนาไว้ว่า ร่างของศัลยะพลัดหล่มจากหลังม้าลงมาสู่พื้นดิน "เสมือนกับธงขององค์อินทร์" ร่วงลงสู่ผืนปฐพี ฉันนั้น.
ทันใดนั้น น้อง ๆ ของทุรโยธน์ที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ 12 องค์ ต่างก็กรูกันเข้ารุมล้อมยุธิษฐิระ ภีมะหรือภีมเสนเห็นดังนั้นจึงเข้าช่วยปกป้อง นำองค์เชษฐภราดาออกมาจากวงล้อมของฝ่ายศัตรูได้โดยปลอดภัย.
ศกุนิซึ่งยืนเฝ้ามองดูการรบอยู่อย่างใกล้ชิด จึงกระตุ้นม้าแกว่งดาบเข้าช่วยกลุ่มอนุชาของทุรโยธน์.
ฝ่ายสหเทพซึ่งก็อยู่บนหลังม้าคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ เหมือนกัน เห็นดังนั้น จึงรีบควบม้าเข้าสกัดศกุนิไว้ แล้วทั้งสองต่างก็ใช้ดาบเข้าโรมรันกันอย่างน่าตื่นเต้น ศกุนิเป็นพี่ชายของนางคานธารี เพราะฉะนั้น จึงเป็นลุงของพี่น้องเการพ แต่สหเทพนั้นอาศัยที่ได้เปรียบในด้านกำลังวังชาและความคล่องแคล่วเพราะอ่อนวัยกว่า จึงสามารถเอาชนะศกุนิได้หลังจากที่ได้ต่อสู้กันอยู่พักใหญ่ สหเทพใช้ดาบอันคมกริบฟันคอศกุนิกระเด็นออกจากร่าง ในท่ามกลางความตกตะลึงของทวยทหารหาญของทั้งสองฝ่ายและสมตามคำสาปแช่งของนางเทฺราปทีด้วย
201
การตายของศกุนิเป็นเหมือนสัญญาณให้กองทหารของฝ่ายเการพและปาณฑพเข้าตะลุมบอนกันหนักยิ่งขึ้นโดยไม่คิดชีวิต ถึงตอนนั้นแล้วปรากฎว่า ไม่ว่าแต่ละฝ่ายมีกำลังรบเหลืออยู่เท่าใด แต่ละฝ่ายต่างก็ทุ่มเทกำลังนั้นเข้าประหัตประหารกันจนหมดสิ้น อนุชาของทุรโยธน์ซึ่งมีทั้งหมดถึง 99 องค์ ก็ปรากฎว่าไม่มีชีวิตเหลืออยู่เลยในวันที่ 17 คือหนึ่งวันก่อนวันสุดท้ายของมหาภารตยุทธ กำลังรบของฝ่ายเการพ ซึ่งเมื่อเริ่มรบมีจำนวนถึง 11 อักเษาหิณี บัดนี้ ก็ได้ล้มตายลงแทบหมดสิ้น ในบรรดาแม่ทัพนายกองของฝ่ายเการพเองเล่า ก็มีเพียงองค์ ทุรโยธน์ อัศวัตถามา กฤปาจารย์ และ กฤตวรมัน เท่านั้นที่ยังเห็นหน้ากันอยู่ แม้องค์ทุรโยธน์เองก็ได้รับบาดเจ็บและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการรบเป็นที่ยิ่ง จนแทบจะดำรงกายไว้ไม่ได้.
เหล่าภราดาปาณฑพ พบทุรโยธน์ในหนองน้ำ, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 11 พฤศจิกายน 2565.
ในท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว และในขณะที่กำลังรบของฝ่ายเการพและปาณฑพ กำลังพันตูกันอยู่อย่างหนักนั้น ทุรโยธน์ก็คว้าคทาวุธหรือตะบองคู่ชีพขึ้นมาถือไว้ แล้วค่อย ๆ เดินเล็ดลอดออกจากสนามรบ มุ่งตรงไปยังหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ชายป่า ห่างจากสมรภูมิไปไม่ไกลนัก.
ระหว่างที่แข็งใจเดินไปด้วยความทุกข์ทรมานและหดหู่ใจนั้น ทุรโยธน์เฝ้ารำลึกถึงคำเตือนของมหามติวิทูรผู้ใฝ่สันติ และผู้ห้ามมิให้ก่อศึกสงครามกับฝ่ายปาณฑพ "แต่....จะทำอย่างไรได้เล่า ทุกสิ่งทุกอย่างช้าเกินการณ์ไปเสียแล้ว!" เดินพลางคิดได้เช่นนี้ไปพลาง ทุรโยธน์ก็ให้เกิดความหม่นหมองเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุด เมื่อถึงหนองน้ำ ทุรโยธน์จึงหลบไปซ่อนตัวอยู่ในกอหญ้ากลางน้ำ.
พฤติการณ์ดังกล่าวของทุรโยธน์ หาได้รอดพ้นไปจากสายตาของพรานล่าเนื้อนายหนึ่ง ซึ่งบังเอิญซุ่มหาเหยื่ออยู่ ณ บริเวณชายป่านั้นไม่ พรานนายนั้นได้นำความไปบอกให้ภราดาปาณฑพทราบ ยุธิษฐิระกับน้อง ๆ พร้อมด้วยพระกฤษณะ จึงรีบรุดไปยังหนองน้ำ ซึ่งเป็นที่ซ่อนตัวของทุรโยธน์ พอเห็นหน้าทุรโยธน์ ยุธิษฐิระก็ตรัสขึ้นว่า.
202
"ท่านหลบหนีมาซ่อนหน้าอยู่ที่นี่ทำไม หลังจากได้สร้างความหายนะให้แก่ชีวิตและทรัพย์สมบัติของญาติมิตรมาอย่างสุดที่จะคณนาแล้ว อ้อ! ท่านหนีความตายมาอยู่ที่นี่คนเดียวเท่านั้นละหรือ ท่านไม่มีความละอายใจบ้างเลยหรือไร เสียแรงเกิดมาในวรรณะนักรบ จะมามัวกลัวตายอยู่ไย จงขึ้นจากน้ำมาสู้รบกันให้โลกเห็นเป็นพยานเถิด!".
"เรามิได้หนีท่านหรือหนีความตายมาอยู่ที่นี่หรอก หากความแค้นมันร้อนระอุภายในใจของเรา เราจึงมาแช่ตัวในหนองน้ำนี้ให้เย็นสบายลงสักหน่อย เพราะถึงอย่างไรน้อง ๆ และญาติสนิทของเราต่างก็สิ้นชีวิตกันไปหมดแล้ว เราจะสู้รบกันต่อไป ชัยชนะก็ไม่มีความหมายสำหรับเราแล้ว เพราะฉะนั้น เราขอมอบแผ่นดินหัสตินาปุระและอินทรปรัสถ์ให้แก่พวกท่าน ขอท่านจงอภิรมย์กับไอศวรรย์และทรัพย์สินศฤงคารโดยปราศจากคู่แข่งเถิด!" ทุรโยธน์ตอบโดยที่ไม่ยอมเผยอพักตร์ขึ้นสบเนตรกับยุธิษฐิระเลย.
"อ้อ! เดี๋ยวนี้ท่านมีใจกว้างถึงเพียงนี้แล้วหรือ จำได้หรือไม่ที่ท่านเคยพูดว่าแม้แผ่นดินเท่าปลายเข็มท่านก็จะไม่ยอมยกให้พวกปาณฑพ มิใยที่พวกเราพยายามขอเจรจาเพื่อสันติภาพ ท่านก็ไม่ยินยอม! พระกฤษณะอุตส่าห์เสด็จไปขอร้องกับท่าน ท่านก็ไม่ฟัง! มันน่าประหลาดเสียนี่กระไร ที่มาบัดนี้ ท่านต้องการจะยกแผ่นดินหัสตินาปุระและอินทรปรัสถ์ให้แก่พวกเรา! เราไม่ต้องการแผ่นดินดอกท่าน แต่เราต้องการชำระหนี้บาปกรรมที่ท่านได้ทำไว้กับเราและภรรยาของพวกเรา! ขอท่านจงขึ้นจากน้ำมาสู้กับเราเยี่ยงขัตติยชนเถิด!" ยุธิษฐิระตอบพร้อมกับทรงพระสรวล.
ทุรโยธน์ทนฟังคำเย้ยหยันของยุธิษฐิระต่อไปไม่ได้ จึงรีบขึ้นมาจากน้ำพร้อมด้วยคทาหรือตะบองกวัดแกว่งอยู่ในมือพลางพูดว่า.
"มา! ขอให้ท่านเรียงหน้าเข้ามาสู้กับเราตัวต่อตัวเถิด ขออย่าใช้วิธีรุมก็แล้วกัน เพราะเราตัวคนเดียว เกราะหรือก็ไม่มีสวมใส่ อาวุธก็มีแต่ตะบองเท่านั้น!".
"อย่ากลัวไปเลยทุรโยธน์เอ๋ย! เราพร้อมที่จะสู้กับท่านตัวต่อตัว เราจะไม่รุมฆ่าท่าน เหมือนพวกท่านรุมฆ่าอภิมันยุหลานรักของเราหรอก!" พูดพลางภีมะหรือภีมเสนก็คว้าตะบองกระโดดเข้าหาทุรโยธน์.
การต่อสู้ด้วยคทาหรือตะบอง ระหว่างภีมะกับทุรโยธน์, ที่มา: chandrasnotes.blog, วันที่เข้าถึง: 12 พฤศจิกายน 2565.
203
นักรบทั้งสองต่อสู้กันอย่างดุเดือด และผลัดกันรุกผลัดกันรับอย่างแคล่วคล่องว่องไว เป็นที่น่าตื่นเต้นยิ่งนัก.
พระกฤษณะผู้ซึ่งประทับยืนทอดพระเนตรดูทุรโยธน์และภีมเสนใช้ตะบองเข้าห้ำหั่นกันอยู่ใกล้ ๆ ได้ตรัสเปรยกับอรชุนคล้ายจะเตือนความจำของภีมเสนด้วยสุรเสียงค่อนข้างดังว่า.
"คราวนี้แหละ! ภีมเสนคงจะได้มีโอกาสปฏิบัติตามคำปฏิญาณของตนละ!"01.
ทันใดที่คำพูดของพระกฤษณะดังแว่วไปกระทบโสตประสาทของภีมเสน ภีมเสนก็รวบรวมสรรพกำลังเงื้อตะบองขึ้นฟาดลงไปยังเบื้องอูรุของทุรโยธน์อย่างสุดแรงเกิด ยังผลให้ร่างของทุรโยธน์เซถลา แล้วก็ล้มฮวบลงทันที!.
ภีมเสนกรากเข้าไปทำท่าจะใช้บาทเหยียบเศียรของทุรโยธน์ไว้ แต่...แล้วก็เพียงเขี่ยเศียรนั้นไปมา พร้อมกับยกหัตถ์ขึ้นร่ายรำอย่างมีความสุข.
"อย่า! อย่า! ภีมเสนน้องรัก! จงอย่าได้ทำเช่นนั้นเลย! เพราะถึงอย่างไร ๆ องค์ทุรโยธน์ก็เกิดมาในตระกูลกษัตริย์ และน้องก็ได้ล้างแค้นบาปกรรมของเขาสมดังคำปฏิญาณของน้องในสภาแล้ว" ยุธิษฐิระรีบโบกมือห้ามภีมเสน.
ทันใดนั้น พระกฤษณะก็เสด็จเข้ามาเตือนภราดาปาณฑพให้รีบกลับไปยังค่ายที่พัก.
พอเห็นพักตร์พระกฤษณะ ทุรโยธน์ก็ตรัสขึ้นด้วยความแค้นว่า.
"เพราะฝ่าบาทนั้นแหละเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ฝ่ายหม่อมฉันต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ หากฝ่าบาทใช้วิธีต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว แม่ทัพฝีมือเยี่ยมของฝ่ายหม่อมฉันเช่น ทูลกระหม่อมภีษมะ น้องชยัทรัถ พระอาจารย์โทฺรณะ และกรรณะผู้แกล้วกล้า ก็คงจะไม่เพลี่ยงพล้ำเสียชีวิตลงเป็นแน่ แม้แต่ในกรณีของหม่อมฉันเอง หากฝ่าบาทไม่ไปเตือนความจำของภีมะเข้า ภีมะก็คงจะไม่ฟาดต้นขาตัดกำลังของหม่อมฉันได้ นี่เป็นการรบอย่างผิดกติกาชัด ๆ และเป็นผลแห่งความเจ้าเล่ห์ของฝ่าบาททั้งสิ้น ฝ่าบาทช่างไม่รู้สึกละอายพระทัยบ้างหรืออย่างไร"02.
---------------
01. คงจะจำกันได้ว่า เมื่อครั้งที่นางเทฺราปทีถูกกลุ่มเการพหยามเกียรติกลางสภาเนื่องจากยุธิษฐิระเล่นสกาแพ้ และทุรโยธน์ได้กวักหัตถ์เรียกเทฺราปทีให้ไปนั่งบนเพลาของตนนั้น ภีมะโกรธมากถึงกับประกาศก้องว่า สักวันหนึ่งจะต้องฉีกตักของทุรโยธน์ล้างแค้นให้จงได้.
02. การรบด้วยคทาหรือตะบองนั้น มีกติกาห้ามตีคู่ต่อสู้ใต้สะเอวลงมา อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ นางเทฺราปทีและฤๅษีไมเตฺรยะ ได้สาปไว้ในสภาบรรพและวนบรรพตามลำดับ ให้ทุรโยธน์ต้องถูกอาวุธของศัตรูที่อูรุ.
204
"ทุรโยธน์! ท่านได้สร้างบาปกรรมไว้มากมาย ท่านตกเป็นทาสของความโลภและความหลง ท่านไม่เคยเชื่อฟังคำตักเตือนของครูบาอาจารย์และญาติผู้ใหญ่! สมควรแล้วที่ท่านจะต้องได้รับผลกรรมอันนั้น จงยอมรับผลกรรมเสียบ้างเถิด!". พระกฤษณะทรงผันพักตร์ไปทางทุรโยธน์ ผู้ซึ่งกำลังนอนแผ่อยู่บนพื้นดิน.
ทุรโยธน์ยังตอบโต้อย่างเคร่งขรึมว่า "เอาเถิด! ถึงหม่อมฉันจะตายก็จะตายอย่างชายชาตินักรบ หม่อมฉันจะได้ไปสู่สวรรค์ ซึ่งญาติมิตรกำลังรอคอยต้อนรับหม่อมฉันอยู่แล้ว แต่ฝ่าบาทนั่นสิที่จะต้องมีชีวิตอยู่อย่างทนทุกข์ทรมานและเต็มไปด้วยความอัปยศอดสูแก่มวลมนุษย์ต่อไป!".
ตรัสกับพระกฤษณะเช่นนั้นแล้ว ทุรโยธน์ก็ผันพักตร์ไปทางยุธิษฐิระแล้วเอ่ยว่า.
"ยุธิษฐิระเพื่อนรัก! เรามีความภูมิใจที่จะได้ตายอย่างขัตติยชน ท่านอย่าเป็นห่วงเลยที่ภีมเสนน้องชายท่านเหยียบย่ำและใช้เท้าเขี่ยหัวเราเล่น เพราะในไม่ช้าแร้งกาก็จะมาเหยียบย่ำหัวของเราเล่นเช่นเดียวกัน".
ต่อจากนั้น พระกฤษณะกับพี่น้องปาณฑพทั้งห้าก็จากหนองน้ำนั้นไปยังลำธาร โอฆวตี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณสมรภูมินัก ณ ลำธารแห่งนั้น บุคคลทั้ง 6 ได้กระทำพิธีชำระล้างมลทิน ซึ่งเกิดจากการศึกสงครามแล้วจึงกลับไปยังกระโจมที่พัก เฉพาะพระกฤษณะนั้นได้เสด็จเข้าไปในนครหัสตินาปุระเพื่อปลอบพระทัยท้าวธฤตราษฎร์และนางคานธารีผู้ชนกชนนีของกลุ่มเการพ ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในสภาพเศร้าโศกอย่างสุดซึ้ง.
"ท่านผู้เชษฐบุรุษและเชษฐสตรีแห่งราชสกุลภรต! โปรดอย่าได้เศร้าโศกเสียพระทัยไปเลย! ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกฎแห่งกรรม ไม่มีผู้ใดที่จะยับยั้งผลแห่งกุศลหรืออกุศลได้ ฝ่าพระบาททั้งสองได้ทรงพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ที่จะสกัดกั้นมิให้กลุ่มโอรสของฝ่าพระบาทประพฤติปฏิบัติไปในทางมิชอบมิควร แต่ก็ไม่ทรงประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะวิบากแห่งกรรมเก่าของโอรสเหล่านั้นเอง บัดนี้ เหตุการณ์ได้ผ่านพ้นมาถึงขั้นนี้แล้ว ขอฝ่าพระบาทจงทรงหักห้ามพระทัยและคลายความทุกข์โทมนัสเสียเถิด!".
205
ตรัสเสร็จ พระกฤษณะผู้อวตารปางที่ 8 แห่งพระวิษณุเทพเจ้าก็อำลาท้าวธฤตราษฎร์และนางคานธารี เสด็จกลับค่ายที่พักภราดาปาณฑพ ณ สมรภูมิกุรุเกษตร.
จะขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ขณะที่ทุรโยธน์กับภีมเสนกำลังพันตูกันด้วยอาวุธคทาหรือตะบองอยู่นั้น พลรามหรือพลเทพพี่ชายของพระกฤษณะและเป็นอาจารย์สอน "คทายุทธ" หรือการรบด้วยคทาให้แก่ทั้งทุรโยธน์และภีมเสน ก็ได้เดินทางมาถึงสมรภูมิ หลังจากที่ได้จาริกแสวงบุญไปยังบุณยสถานต่าง ๆ พลรามเห็นภีมเสนใช้ตะบองฟาดลงตรงโคนขาของทุรโยธน์ ซึ่งเป็นการผิดกติกาการรบด้วยตะบองเช่นนั้น ก็โกรธในความไม่เป็นธรรมของภีมเสน พลรามจึงถือคันไถซึ่งเป็นอาวุธประจำองค์ตรงรี่เข้าไป หมายใจจะลงโทษภีมเสน แต่พระกฤษณะได้ทรงห้ามไว้ และได้อธิบายให้ประจักษ์ถึงความผิดและถูกของแต่ละฝ่าย พลรามไม่ยอมฟังเสียงกลับพูดขึ้นว่า.
"จะอย่างไรก็ตาม ภีมเสนทำลายกติกาของคทายุทธ ไม่สมกับเป็นชายชาตินักรบเลย โลกจะประณามการกระทำของภีมเสนไปชั่วกาลนาน!".
คำพูดของพลรามทำให้พระกฤษณะ ท้าวยุธิษฐิระ ภีมเสน และปาณฑพอื่น ๆ เสียหน้าไปตาม ๆ กัน ครั้นแล้วพลรามก็ผลุนผลันเดินออกจากที่นั้นไปโดยไม่อำลาผู้ใดทั้งสิ้น แต่ในที่สุด พระกฤษณะก็ทำลายความเงียบขึ้น โดยรับสั่งเป็นทำนองปลอบใจพี่น้องปาณฑพว่า.
"ถ้าไม่ใช้ชั้นเชิงแล้ว เราก็ไม่มีทางรบเอาชนะทุรโยธน์กับพวกได้!".
จะขอกลับไปเล่าถึงเหตุการณ์ทางด้านทุรโยธน์บ้าง.
206
ข้างฝ่ายเการพซึ่งมีแม่ทัพนายกองฝีมือเอกเหลืออยู่เพียง 3 คน คือ อัศวัตถามา ผู้บุตรของอาจารย์โทฺรณะ กฤปาจารย์ และ กฤตวรมัน ทั้งสามคนต่างตกใจเมื่อได้ทราบจากทหารสอดแนมของฝ่ายตนว่า ทุรดยธน์ถูกฝ่ายปาณฑพค้นพบตัวและถูกภีมเสนตีด้วยตะบองจนตะโพกแหลกเดินไม่ได้ และบัดนี้ กำลังนอนรอความตายอยู่ ณ ริมหนองน้ำดังได้พรรณนามาแล้ว.
ทั้งสามคนจึงรีบรุดไปหาทุรโยธน์และกล่าวคำปลอบโยนต่าง ๆ นานา อัศวัตถามานั้นยังมีใจคุมแค้นอยู่เป็นอย่างมาก ที่บิดาของตนได้ถูกฝ่ายปาณฑพใช้กโลบายสังหารอย่างไม่เป็นธรรม จึงยังมีปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะล้างแค้นการตายของบิดาให้จงได้ ดังนั้น อัศวัตถามาจึงอาสาทุรโยธน์เป็นแม่ทัพทำการรบกับฝ่ายปาณฑพต่อไป และให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ยอมลดละการต่อสู้กับฝ่ายปาณฑพเป็นอันขาด.
ระหว่างทาง อัศวัตถามา กฤปาจารย์ และกฤตวรมัน ต้องพักแรมค้างคืนอยู่ ณ ใต้ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ตกดึกของคืนวันนั้น ขณะที่กฤปาจารย์และกฤตวรมันหลับสนิทอยู่ ณ โคนไม้ใหญ่ อัศวัตถามาไม่สามารถจะหลับตาลงได้เพราะครุ่นคิดถึงวิธีการว่าจะพิชิตกลุ่มปาณฑพได้อย่างไร ระหว่างที่นอนมือก่ายหน้าผากคิดอยู่นั้น อัศวัตถามาเหลือบไปเห็นนกฮูกตัวหนึ่งกำลังพยายามตะครุบนกอื่น ๆ ซึ่งเกาะกิ่งไม้หลับนกอยู่ อาศัยปฏิบัติการอันรวดเร็วและความเผลอเพราะหลับนกของฝ่ายตรงข้าม นกฮูกจึงสามารถตะครุบเหยื่อคือนกอื่นมาเป็นภักษาหารได้อย่างง่ายดาย พฤติการณ์ของนกฮูกในยามค่ำคืนนั้น ทำให้อัศวัตถามาฉุกใจได้คิดขึ้นมาว่า จะต้องทำอย่างนกฮูกจึงจะสามารถเอาชนะฝ่ายปาณฑพได้!.
คิดดังนั้นแล้ว อัสวัตถามาจึงรีบปลุกอาจารย์และกฤตวรมันให้ลุกขึ้นแล้วเล่าพฤติการณ์ของนกฮูกให้คนทั้งสองฟัง พร้อมกับให้ความเห็นว่าควรจะทำเช่นนกฮูก กล่าวคือลอบเข้าไปพิฆาตฝ่ายปาณฑพเสียแต่ในคืนวันนั้น ทั้งนี้เพราะเชื่อมั่นว่าฝ่ายปาณฑพจะต้องอยู่ในลักษณะประมาท เนื่องจากชัยชนะที่ได้รับจากการพ่ายแพ้ของทุรโยธน์เมื่อตอนกลางวันนั้นแล้ว.
207
กฤปาจารย์และกฤตวรมันไม่เห็นด้วยในตอนแรก เพราะผิดกติกาการรบที่ได้ตกลงกันไว้กับฝ่ายปาณฑพ ทั้งเป็นการผิดประเพณีของการรบทั่วไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้โต้เถียงกันพอสมควร และหลังจากที่อัศวัตถามาได้ให้ความเห็นอย่างโกรธกริ้วว่า ถึงขั้นนั้นแล้ว หากยังจะต้องปฏิบัติตามกติกาและประเพณีของการรบโดยเคร่งครัดอยู่ ก็ให้เตรียมตัวตายไว้ นั่นแหละกฤปาจารย์และกฤตวรมันจึงยอมคล้อยตามข้อเสนอของอัศวัตถามาในลักษณะเลือดเข้าตา และเห็นว่าไม่มีทางอื่นใดให้เลือกอีกแล้ว.
สมควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ระหว่างที่ทุรโยธน์นอนรอความตายด้วยความเจ็บปวดอยู่ ณ ริมหนองน้ำดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั้น สัญชัย สารถีของท้าวธฤตราษฎร์และผู้ทำหน้าที่เป็น "นักข่าวตาทิพย์" คอยรายงานการรบให้กษัตริย์ผู้เฒ่าและมเหสีได้ทรงทราบอยู่ทุกระยะนั้น เกิดความสงสารทุรโยธน์เป็นกำลัง จึงรีบรุดออกจากพระราชวังหัสตินาปุระ ตรงไปยังสมรภูมิกุรุเษตร เพื่อจะได้เห็นพระพักตร์ขององค์ทุรโยธน์เป็นวาระสุดท้าย พอทอดพระเนตรเห็นสัญชัย ทุรโยธน์ก็ตรัสละล่ำละลักด้วยอัสสุชลนองพักตร์ว่า.
"สัญชัยที่รัก! เราขอลาท่านไปก่อน หากเราได้ล่วงเกินต่อท่านจะโดยประการใดก็ตาม ขอท่านได้โปรดอโหสิให้แก่เราด้วย อนึ่ง ขอท่านได้โปรดกลับไปทูลลาทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์ของเราแทนตัวเราด้วยว่า เราขอฝากถวายบังคมลาแทบเบื้องยุคลบาทมากับท่านด้วย เราได้ทำหน้าที่ของเราตามที่ได้เกิดมาในวรรณะกษัตริย์อย่างครบถ้วนแล้ว ในชีวิตของเรา เราได้ปฏิบัติตนเพื่อ อรรถะ เพื่อ ธรรมะ เพื่อ กามะ และเพื่อ โมกษะ ตามคำสอนแห่งพระศาสนาโดยสมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดที่เราจะต้องการในโลกนี้อีกแล้ว เราขอลาท่านและทุกคนไปอยู่กับเสด็จปู่ภีษมะ พระอาจารย์โทฺรณะ สหายกรรณะ และวีรบุรุษอื่น ๆ ในสรวงสวรรค์ ลาก่อน!".
สัญชัยฟังคำพูดของทุรโยธน์แล้วก็ไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้ รีบเบือนหน้าหนีจากทุรโยธน์ แล้วก็ผลุนผลันขึ้นหลังม้าห้อกลับยังนครหัสตินาปุระ.
จบบรรพที่ 9: ศัลยบรรพ
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03. จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.